ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมมีความเชื่อว่าคนที่เป็นนักปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาบ้านเรา ถ้าหากไม่หลงไปปฏิบัติผิดที่ผิดทาง ท่านคงจะรู้กันดีทุกคนนะครับ ว่าเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรม คือการปฏิบัติเพื่อลดละและปล่อยวาง ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นตัวของเรา – เป็นของของเรา ซึ่งทางพุทธบ้านเราถือว่าเป็นต้นตอรากเหง้าของความทุกข์ทางใจทั้งหลายทั้งปวงส่วนจะเป็นทุกข์มากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับใจของเรา ที่เข้าไปยึดเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวกำหนด พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเข้าไปยึดถือมากก็ย่อมเป็นทุกข์มาก ถ้าเข้าไปยึดถือน้อยก็เป็นทุกข์น้อยนั่นเองครับนี่เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมที่เข้าใจได้ยาก หรือถ้าสามารถเข้าใจได้แล้ว...ก็ยังมีเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือการปฏิบัติให้ได้จริงและเป็นจริง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝืนใจปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา ที่ล้วนแล้วแต่เกิดมาเพื่อเรียนรู้การยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการลดละและปล่อยวาง...จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรื่องนี้ ซึ่งถือกันว่าเป็นแก่นของพุทธศาสนาที่พระเดชพระคุณท่านพุทธทาสภิกขุ เคยพูดเอาไว้ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้คน จะกลายเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่คนจะเข้าใจและปฏิบัติได้ พวกเราส่วนมากที่สักแต่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ จึงกลายเป็นคนที่อยู่ใกล้...แต่กลับไกลจนสุดหล้าฟ้าเขียวจากของดีที่อยู่ใกล้ตัว เพราะมันฝืนความเคยชิน ฝืนใจคนกิเลสหนาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ เหลือเกินครับพระคุณเจ้า...จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกอีกเหมือนกันที่คนที่หันหลังให้กับทางโลกย์เข้าไปหาทางธรรม ถึงขั้นเข้าวัดวาหรือสำนักปฏิบัติธรรม เพื่อปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง จึงมักจะเป็นคนที่ได้ประสบกับความทุกข์ทางใจอันใหญ่หลวงมาแล้วอย่างหนักหนาสาหัส และมองเห็นความทุกข์นั้นด้วยตัวเองจริง ๆ เท่านั้น ที่มักจะพากันเข้าไปด้วยความสมัครใจ และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเมื่อเดินมุ่งหน้าเข้าไปแล้ว ก็ยากยิ่งที่จะถอยหลังกลับมาดังเช่นกรณี ท่านศาสตราจารย์ อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง นักปฏิบัติธรรม อาวุโส ผู้มีชื่อเสียงขจรขจายในวงการพุทธ ศาสนา ได้ให้สัมภาษณ์ คุณขวัญใจ เอมใจ เอาไว้ในหนังสือสารคดีประจำเดือนมีนาคม 2543 เกี่ยวกับเส้นทางการปฏิบัติธรรมของท่านเอาไว้ตอนหนึ่ง ซึ่งตรงกับประเด็นที่ผมได้เกริ่นกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจ และควรค่าแก่การศึกษา ดังต่อไปนี้สารคดี : เหตุผลหลักที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ท่านตัดสินใจบวชคืออะไรคะ ดิฉันได้ยินมาว่า มีความ คิดสองทาง มองว่าคนที่มาบวชนั้น หนึ่ง เพราะมีความทุกข์ สอง เป็นคนที่กำลังแสวงหา บางคนมองไกลไปถึงว่า พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้แสวงหาอีกท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติอ.รัญจวน : เห็นทุกข์ค่ะ แต่ก่อนนี้ไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่อาการของความทุกข์ก็คืออาการซัดส่ายของใจ วุ่นวายไม่เป็นปกติ แต่ไม่รู้ว่าอยู่กับความทุกข์ เพราะไม่เคยศึกษา พอมาตอนหลังก็มีเหตุที่ทำให้เริ่มเห็นความทุกข์ชัดขึ้น คือเรื่องหลานชาย ดิฉันมีหลานชายที่ดิฉันเลี้ยงเอาไว้ตั้งแต่เล็ก ๆ เขาเป็นเด็กเก่ง เด็กฉลาด เรียนหนังสือดี อยู่มหาวิทยาลัยก็เรียกว่าเป็นดารา แต่เขาเป็นคนคิดมาก ดิฉันไม่รู้ว่าเขาคิดมากขนาดไหน ภายนอกของเขาเป็นคนที่รื่นเริงบันเทิงใจมาก อยู่ที่ไหนมีแต่จะทำให้ที่ตรงนั้นมีเสียหัวเราะ เพื่อนฝูงจะไปไหนก็มาขอให้เขาไปด้วย เพราะเขาเป็นคนนำ ทำให้เพื่อนฝูงสนุกสนาน มีปัญหาอะไรก็แก้ไขปัญหาให้เพื่อน แต่ผลที่สุด เขาก็แก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้ ต้องเข้าไปอยู่โรงพยาบาลจนทุกวันนี้ เขาไม่ก้าวร้าว แต่จะพูดจะคิดอะไรเลื่อนลอย อยู่กับความหลัง อยู่กับอนาคต แต่ไม่อยู่กับปัจจุบัน ตอนนั้นดิฉันเริ่มรู้แล้วว่า อ้อ...ความทุกข์มันเป็นเช่นนี้เองแล้วก็นั่งคิด เอ...นี่เราเลี้ยงเขาผิดหรือเปล่า ทั้งที่เราก็ประชาธิปไตยพอสมควร มีอะไรก็พูดอภิปรายกัน ไม่ได้เก็บกักอะไรเขาเลย ก็ถามตัวเอง โทษตัวเอง รู้สึกเศร้าใจ ยิ่งเมื่อเห็นดอกเตอร์หนุ่ม ๆ ก็นึกในใจ หลานเราก็เป็นได้ แล้วเขาก็เป็นได้อีกตั้งหลายอย่าง เป็นนักดนตรี นักพูด นักเขียน แต่กลับมาเป็นอย่างนี้ นี่ละจิตที่ทุกข์จริง ๆ ก็ตอนนั้นสารคดี : เรื่องหลานชายถือเป็นเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้เห็นทุกข์ กระทั่งตัดสินใจบวชอ.รัญจวน : ใช่ค่ะ เริ่มเห็นความทุกข์ชัดเจนขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราอยู่กับความทุกข์มาตลอดชีวิตอย่างที่เล่ามาแล้ว นี่ที่สำคัญมากนะคะ คนทุกคนในโลกนี้คลุกคลีกับความทุกข์มาตลอด แต่ทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันกลับมองไม่เห็น มันมีอยู่ตลอดทั้งวัน ตลอดระยะทางของชีวิต เกือบจะทุกขณะทุกชั่วโมง ก็ที่เดี๋ยวเราดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจอีกแล้ว นั่นละ แต่เพราะไม่เคยเรียนรู้ ก็เลยไม่รู้ว่า เรามีชีวิตอยู่กับความทุกข์ จนกระทั่งวันหนึ่ง สิ่งที่เรารักมาก ยึดถือมาก...ว่ามันเป็นของเราเกิดวิปริตขึ้นมา มันถึงตีตูมเข้ามาที่ใจ ทำไมถึงเห็นว่าเป็นทุกข์มาก ทุกข์ใหญ่ เพราะเราไม่เคยได้ฝึกอบรมใจ เพื่อจะต้อนรับทุกเล็ก ๆ ที่ผ่านใจเข้ามาตลอดชีวิตของเรา เราไม่เคยรู้ เราไม่เคยจัดการ ที่หลังมันก็จะสะสมความทุกข์ ความไม่พอใจมาเรื่อยทีละน้อย ๆ แล้วพอมีอะไรใหญ่มาก ๆ ลงมาตูมเดียว จึงไม่มีความต้านทานที่จะรับแต่สำหรับตัวเอง พอจะรับได้บ้าง ไม่ถึงเป็นบ้าเป็นหลังไปกับความทุกข์ ไม่ได้ล้มสลบสิ้นสติลงไป ที่เน้นเรื่องนี้ก็อยากจะบอกทุกคนว่า เราควรจะต้องศึกษาเรื่องความทุกข์ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอริยสัจสี่ และเมื่อเกิดอะไรขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นทุกข์ใหญ่ เช่นไฟไหม้บ้าน เกิดอุบัติเหตุตายทั้งหมู่ ลูกสาวหลานสาวถูกข่มขืน ยำยี มันก็จะไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ชอกช้ำจนถึงเสียสติสารคดี : อาการของท่านเองตอนที่เจอทุกข์ใหญ่มากในตอนนั้น เป็นอย่างไรบ้างอ.รัญจวน : ข้างนอกนี่ไม่เป็นอะไร แต่ข้างในรู้สึกเหนื่อย...เหนื่อยมากเหลือเกิน เพราะพอหลานชายออกจากโรงพยาบาล แล้วก็ต้องเอาเขามานอนเตียงข้าง ๆ ติดกัน แล้วก็ต้องคอยพูดคอยปลอบใจ ให้กำลังใจ แนะนำต่าง ๆ ไหนจะงานสอนที่รามคำแหง แล้วตอนนั้นเป็นประธานสภาอาจารย์รามคำแหง ซึ่งเริ่มมีเป็นครั้งแรกด้วย พอมาถึงบ้านก็ต้องมาทำงานพยาบาลด้วย แล้วพยาบาลโรคทางใจนี่หนักกว่าโรคทางกายนัก เพราะฉะนั้น นอกจากทุกข์เพราะสงสารว่าเขาเป็นอย่างนี้แล้ว ยังทุกข์เพราะเหนื่อยอีก มันเหนื่อยสายตัวแทบขาดทีเดียว เหนื่อยทุกอย่างทั้งกายและใจ เลยรู้ว่า อ๋อ...ลักษณะของความทุกข์ที่เกิดขึ้นมันเป็นเช่นนี้เองถ้ามองจากตอนนี้ ถามว่า ที่ตอนนั้นตัวเองทุกข์เพราะอะไร ก็ตอบว่า ทุกข์เพราะอุปทาน ยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ทุกข์ มีเด็กหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่มีอาการอย่างหลานชายของเราอีกนับพันนับหมื่น ทำไมเราไม่ไปทุกข์กับเขา ก็เพราะเขาไม่ใช่หลานเรา นี่ธรรมะบอก เพราะเราไปยึดมั่น เพราะฉะนั้นจึงทุกข์มาก นี่ถ้าไม่ใช่หลานของเรา มีอะไรจะช่วยได้ก็คงช่วยกันไปเท่าที่กำลังจะช่วยได้ แต่ไม่ต้องเสียใจเศร้าหมองจนไม่คิดถึงเหตุผลอย่างใช้สติปัญญาครับ ผมหวังว่า บทสัมภาษณ์ บทนี้ของอาจารย์รัญจวน ที่สูญเสียหลานชายที่ท่านรัก และเป็นเหตุทำให้ท่านหันหน้าเข้ามาปฏิบัติธรรมตราบจนเท่าทุกวันนี้ คงจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจคำว่า ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นต้นตอความทุกข์ทางใจของคนเราได้ง่ายขึ้น และได้รับประโยชน์จากความเข้าใจนี้กันทุกคนนะครับ.17 ตุลาคม 2550กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่ภาพประกอบจาก http://dungtrin.com ขอบคุณครับ