TITV

ระหว่าง 'สาระ' และ 'สาธารณ์'

ตติกานต์ เดชชพงศ

คงรู้กันหมดแล้วว่า สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีถูกยึด และต่อจากนี้ ทีวีช่องนี้จะไม่มีรายการบันเทิง ไร้แก่นสาร' อีก จะมีก็แต่รายการที่มีประโยชน์ สร้างสรรค์สังคม มีคุณค่า ประเทืองปัญญากว่ารายการทีวีแบบเดิมๆๆๆๆ ฯลฯ แล้วทีวีช่องนั้นก็ถูกเรียกเสียใหม่ว่า ทีวีสาธารณะ'

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งซึ่งเติบโตมากับสิ่งที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับ รสนิยมสาธารณ์' ไม่ว่าจะเป็น ละครน้ำเน่า (ผ่านยุคของ พจมาน สว่างวงศ์, ดาวพระศุกร์ หรือ โสรยา ใน จำเลยรัก' มามากกว่าหนึ่งยุค!) รวมถึงเกมโชว์ที่ ได้รับแรงบันดาลใจ' มาจากต่างประเทศ และการ์ตูนญี่ปุ่นที่เอะอะก็ต่อสู้กัน (แม้แต่การ์ตูนแมวหุ่นยนต์ โดราเอมอน' ที่ไม่มีฉากต่อสู้ ก็ยังอุตส่าห์มีฉากยั่วยุทางเพศอย่าง ฉากอาบน้ำ' จนต้องเซ็นเซอร์เบลอๆ ให้เป็นที่เลื่องลือ) ฯลฯ ต้องสารภาพว่า...สิ่งที่เห็นในทีวีบ้านเราตอนนี้ ไม่ได้แตกต่างหรือพัฒนาจากที่เคยเห็น (หรือเคยเป็น) เมื่อหลายปีก่อนสักกี่มากน้อย

เชื่อว่าน่าจะมีประชาชนไทยอีกหลายสิบล้านคนที่เติบโตมาในยุคไล่เลี่ยกัน และมีความรู้สึกทำนองเดียวกันนี้อยู่บ้าง...

การตั้งเป้าหมายของทีวีสาธารณะว่าจะผลิตรายการที่มี สาระ' ออกสู่สังคม เพื่อยกระดับทางความคิดความอ่านและให้ความรู้กับผู้เสพสื่ออันทรงอิทธิพลอย่างโทรทัศน์เป็นประจำ จึงเป็นเรื่องที่ดีและน่าสนับสนุน

ความบันเทิงที่เราเคยเสพ ผ่านทางละครน้ำเน่า ละครเกาหลี-ญี่ปุ่นสุดรันทด การ์ตูนบ้าพลัง รวมถึงเกมโชว์ที่ระดมกำลังดารานักร้องมาเล่นเกมกระชากเรตติ้ง จึงถูกจัดหมวดหมู่ให้อยู่ นอกกลุ่ม' สาระ อย่างไม่มีทางเลี่ยง โทษฐานที่รายการเหล่านี้ ไม่สร้างสรรค์' ในสายตาของคนที่ (ถูกเรียกว่า) เป็นปัญญาชน

แต่คำถามหนึ่งซึ่งซ้อนทับขึ้นมาก็คือว่า รสนิยมสาธารณ์ซึ่งปรากฏอยู่ในทีวีมาเนิ่นนาน กลับกลายเป็น ความสามานย์' ที่ต้องกำจัดให้สิ้นซากไปเสียแล้วหรือ...

ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า คนที่เติบโตมากับสื่อด้อยคุณภาพซึ่งยึดครองพื้นที่ฟรีทีวีมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีคือคนไม่มีคุณภาพ ไร้สาระ และถูกมอมเมา อย่างนั้นหรือ?

อีกคำถามที่น่าสนใจก็คือ บรรดาคนใหญ่คนโตผู้มีอำนาจตัดสินชี้ขาดให้ทีวีช่องหนึ่ง-ซึ่งเคยสร้างความบันเทิงให้กับคนจำนวนมาก-ต้องมากลายเป็น ทีวีในฝัน' ที่พวกเขาอยากจะเห็นนั้น เติบโตมากับทีวียุคไหน?

การหล่อหลอมแบบไหนที่ทำให้พวกเขากล้าตัดสินใจ ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้ถกเถียงกันอย่างจริงจังเลยว่า ระหว่าง สาระ' และ สาธารณ์' อย่างไหนที่คนดูต้องการมากกว่ากัน?

เพราะอะไร พวกเขาถึง ลืมถาม' ความเห็นของพนักงานกว่า 800 คนที่มีชะตากรรมเกี่ยวพันกับสถานีโทรทัศน์ที่กำลังจะเป็นทีวีสาธารณะนั่นด้วย

000

สิ่งที่สร้างความบันเทิงให้กับคนส่วนใหญ่ได้ง่ายๆ ไม่ต้องอาศัยประสบการณ์หรือความรู้ขั้นสูงก็สามารถเข้าถึงได้ทุกคน ถูกมองว่าเป็นสิ่งไร้สาระ มักง่าย ฉาบฉวย ไม่ต่างอะไรกับการกล่าวหาว่า รสนิยมสาธารณ์มีส่วนในการมอมเมาให้คนในสังคมคุ้นชินกับความตื้นเขินและรสชาติสีสันอันฉาบฉวยของลูกกวาดที่หวานหอมแต่ขาดแคลนคุณค่าทางโภชนาการ?

แต่ถึงแม้ว่าลูกกวาดจะไม่มีประโยชน์เมื่อเทียบกับอาหารมื้อหลัก ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะทำให้ลูกกวาดหายสาบสูญไปจากการรับรู้ของ ผู้บริโภค' เพราะถึงที่สุดแล้ว ลูกกวาดก็ให้รสชาติที่อาหารจานหลักไม่มีทางให้ได้

ถ้ามีทีวีสาธารณะแล้ว เราไม่จำเป็นต้องพูดถึง การพัฒนาระบบการศึกษา, การเปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็น หรือการปรับระบบโครงสร้างให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรหรือองค์ความรู้ต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน อย่างนั้นหรือ?

คำตอบก็คือ ไม่ใช่' เพราะปัจจัยที่จะสร้างคุณภาพให้กับคนในประเทศ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ทีวีสาธารณะเท่านั้น

ส่วนความคลุมเครือประการอื่นๆ ที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้กับสาธารณชนกันอีกยาว ก็คงจะเป็นเรื่องของงบประมาณจำนวนมากมาย ปีละ 2 พันล้านบาท คิดกันหรือยังว่าจะจัดการกับมันอย่างไร? และจะมีกลไกการตรวจสอบขั้นตอนบริหารจัดการสถานีแบบไหน? โปร่งใสหรือเปล่า?

ประเด็นคำถามเหล่านี้ ถือเป็นแรงเสียดทานอย่างหนึ่ง ซึ่ง (อาจ) ทำให้ทีวีสาธารณะคืบหน้าไปได้ช้ากว่าที่คิด

ลำพังแค่การเอาชนะใจสาธารณชนในขั้นแรกก็ทำไม่ได้เสียแล้ว...

ต่อให้จุดหมายปลายทางทีวีสาธารณะสวยหรูอย่างไรก็ตาม จะมีคนยอมเดินไปด้วยจนตลอดรอดฝั่งล่ะหรือ?

000

คำว่า สาธารณ์' ปรากฏในงานเขียนเรื่อง The Unbearable Lightness of Being ของ มิลาน คุนเดอรา' ซึ่งถูกแปลออกมาเป็นภาษาสวยงามโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์

ส่วนรากศัพท์ในภาษาเยอรมันคือคำว่า Kitsch และได้รับการอธิบายว่าเป็น ความดาษดื่น' การเลียนแบบ' หรือการเสแสร้งว่ามีรสนิยมต่ำ' (ในกรณีที่พูดถึงงานศิลปะ) หรือแม้กระทั่งการถูกเรียกว่า ความตื้นเขินทางอารมณ์'

แต่ถึงที่สุดแล้ว คนที่มีจิตใจฝักใฝ่รสนิยมสาธารณ์ก็มีความสุขดีี่ ในการที่ได้ซึมซับและชื่นชมสิ่งต่างๆ ซึ่งถูกจัดประเภทว่าเป็น Kitsch เหล่านั้น...

Subscribe to TITV