Skip to main content
ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ การที่สิ่งเหล่านี้ชัดเจนเหลือเกินทำให้เป็นเรื่องสุดแสนเจ็บปวดและน่าขันสิ้นดีภัยพิบัติและหายนะภัยทางธรรมชาติต่างๆ เช่นพายุทอร์นาโด เฮอริเคน ภูเขาไประเบิด อุทกภัย หรือความโกลาหลเชิงกายภาพของโลก ไม่ได้เกิดจากเธอคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะหรอก เธอมีส่วนทำให้เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนให้ดูจากระดับที่เหตุการณ์เหล่านั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตเธอ...”(สนทนากับพระเจ้า : นีล โดนัล วอลซ์ ,รวิวาร โฉมเฉลา แปล ,สำนักพิมพ์ โอ้ มายก๊อด พิมพ์ครั้งที่ 2 มีค.50)เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะยอมรับและเชื่อว่า1. สิ่งเลวร้าย เกิดขึ้นเพราะเราเรียกมันว่า เลวร้าย2. เราแต่ละคนมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นบนโลก3. เรามีส่วนต่อความเลวร้ายที่เกิดบนโลกมากน้อยแค่ไหน ดูจากผลกระทบของมันที่มีต่อเราคำอธิบายเรื่องกรรม น่าจะใกล้เคียงที่สุดแล้วกับข้อความนี้ แน่นอน เราแต่ละคนมีสิทธิ์ไม่เชื่อ และสามารถหาเหตุผลตั้งร้อยแปดพันเก้าเพื่อโต้แย้ง แต่ข้อโต้แย้งเหล่านั้น สามารถเปลี่ยนวิธีการมองโลก และ/หรือ เปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่ ?การประณามนั้นง่ายกว่าการลงมือเปลี่ยนแปลงมากมายนัก เมื่อเกิดสิ่งใดที่ถูกเรียกว่าเลวร้ายขึ้น ผู้คนจึงยินดีที่จะกล่าวโทษ ซึ่งโดยนัยยะของมันก็คือการผลักความรับผิดชอบออกไปให้พ้นตัว เมื่อเราผลักความรับผิดชอบออกไป โดยบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากเรา นั่นหมายความว่า เรากำลังปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น เมื่อเราปฏิเสธความเกี่ยวข้อง ปฏิเสธความรับผิดชอบเสียแล้ว เราจึงไร้พลังที่จะเปลี่ยนแปลง หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง เรายกย่องการประณามสิ่งเลวร้าย และละอายที่จะรับผิดชอบว่าเรามีส่วนทำให้มันเกิดขึ้นเราจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย ถ้าเรายังกล่าวโทษสิ่งนั้นอยู่เราจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย ถ้าเราไม่เริ่มต้น รับผิดชอบมนุษย์ทุกคนบนโลกล้วนเกี่ยวข้องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย ทั้งไม่ง่ายที่จะเชื่อ และยังยากยิ่งกว่าที่จะเชื่อว่าเราทั้งหมด “ล้วนเป็นหนึ่งเดียว” แต่ความจริงที่เราต้องยอมรับคือ อำนาจแห่งการเปลี่ยนแปลงของคนๆ หนึ่งนั้นมากมายมหาศาลยิ่งนัก ทั้งยังยิ่งใหญ่และส่งผลสะเทือนต่อคนทั้งโลก ทั้งเมื่อเขายังมีชีวิตอยู่และเมื่อเขาได้สิ้นชีวิตไปแล้วหากไม่มี มหาตมคานธี ประเทศอินเดียจะเป็นอย่างไรหากไม่มี เช กูวารา เราคงไม่รู้จักคำว่า ปฏิวัติ ดีเท่านี้หากไม่มีแม่ชีเทเรซา ผู้ทุกข์ยากนับล้านๆ อาจไม่พบแสงสว่างตลอดชีวิตหากไม่มีท่านพุทธทาส สังคมไทยในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา อาจมืดมนยิ่งกว่านี้บุคคลสำคัญของโลกทั้งหลายล้วนเป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกับเรา แต่สิ่งที่ท่านเหล่านั้นมีมากกว่า คนธรรมดาคือความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลง มิใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อผู้อื่น บุคคลสำคัญของโลกคือผู้ลงมือเปลี่ยนแปลง มิใช่ผู้ได้แต่กล่าวประณามสิ่งต่างๆ เราทุกคนล้วนเป็นบุคคลสำคัญของโลกทั้งสิ้น หากเรามีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ต่อสิ่งที่เราเรียกมันว่า เลวร้าย เลิกกล่าวโทษแล้วลงมือเปลี่ยนแปลงมัน ลงมือทำ มิใช่เพียงกล่าวประณาม โลกนี้ไม่มีวันดีขึ้นมาได้จากการกล่าวโทษกัน เมื่อถึงจุดหนึ่งของความรู้สึกรับผิดชอบ อาจต้องอาศัย ความกล้าหาญ และพลังใจอย่างมหาศาลเพื่อที่จะกระทำ แต่ทั้งสองสิ่งนี้ก็คล้ายพลังงานอย่างหนึ่ง เหมือนดวงไฟที่รอให้มีคนจุด เมื่อผู้อื่นมองเห็นเขาก็จะเดินตามมา และช่วยทำให้ไฟดวงนี้สว่างมากยิ่งขึ้นแท้จริงแล้ว มนุษย์ไม่เคยเดียวดาย แต่ความเห็นแก่ตัวมักจะทำให้มนุษย์โดดเดี่ยวตนเองอยู่เสมอ ขณะที่ถูกเหวี่ยงไปมาระหว่างขั้วของ “ความรัก” และ “ความเกลียด” เราจึงสับสนกับการแสดงออกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่หากเราเชื่อว่า ความรักเท่านั้นที่จะทำให้ทุกสิ่งดีขึ้น ไม่ใช่ความเกลียด เชื่ออย่างลึกซึ้งแท้จริง เรา และ โลก จะไม่ใช่สิ่งแปลกแยกต่อกันอีกต่อไปความรักเท่านั้น ที่จะเปลี่ยนแปลงได้ทุกสิ่ง ไม่ใช่ความเกลียด