World

บทครุ่นคำนึงหลังงาน World Musiq ที่เซ็นทรัลเวิร์ล

6 February, 2010 - 16:53 -- parid

ภฤศ ปฐมทัศน์

ผมได้ยินข่าวเรื่อง "จังหวะแผ่นดิน World Musiq & World Bar B Q" วันเดียวก่อนวันงานนั่นเอง ได้ยินคุณทอดด์ ทองดี พูดผ่านวิทยุว่าจะมีศิลปินจากหลายประเทศทั่วโลกมาเข้าร่วม และมีการแสดงร่วมกันของเพื่อแสดงให้เห็นว่าดนตรีมันไร้พรมแดน

ผมเองเข้าใจความรู้สึกของคนที่พูดอะไรที่เป็นอุดมคติครับ และรู้สึกที่สิ่งที่คุณทอดด์แกพูดแกไม่ได้ตอแหล (แบบพวกอ้างศีลธรรม) ผมรู้สึกได้จากน้ำเสียงและการไหว้วอนขอให้ภาครัฐและกระทรวงวัฒนธรรมหันมาสนใจ ทำให้รู้สึกว่าแกมีความตั้งใจตรงนี้จริง ๆ

แต่ว่าอุดมคติที่สวยงามบางทีมันเป็นแค่สิ่งที่ฉาบเคลือบอะไรที่ยังแหว่งโหว่อยู่ภายใน ซึ่งมันยากที่จะชี้ตัวว่าความแหว่งโหว่นี้เป็นความผิดของใคร เรื่องนี้ผมจะพูดในภายหลัง ในตอนนี้ผมกำลังรู้สึกสนุกกับสิ่งที่ได้เห็นอยู่บนเวที ที่ลานของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล

งานจำพวกศิลปินกับลานเบียร์นี้มีให้เห็นกันทั่วไป แต่สิ่งที่โดดเด่นในงานนี้คือวงดนตรีที่เข้าร่วม แน่นอนว่าผมไม่เคยได้ยินเพลงจากวงดนตรีของทวีปแอฟริกามาก่อน ถึงผมจะพอเดาทางได้จากอิทธิพลของดนตรีซึ่งส่งผ่านไปยังดนตรีของคนผิวสีแบบอื่น ๆ เช่น เร้กเก้, แจ็ซซ์ , ฟังค์ หรืออิเล็กโทรนิกบางจำพวก เนื่องจากดนตรีของชาวแอฟริกันโดดเด่นมากในส่วนของการให้จังหวะ (Rhythm Section)

และวง Yunasi วงจากประเทศเคนย่าที่มาเล่นในงานนี้ก็ทำได้น่าประทับใจ พวกเขาแสดงสดได้เยี่ยมและเอนเตอร์เทนคนดูได้อยู่หมัด ราวกับเคยผ่านเวทีประมาณนี้มานักต่อนักแล้ว ดนตรีของวง Yunasi ไม่เชิงเป็นแนวแอฟริกันดั้งเดิมเสียทีเดียว เพราะมันคือการผสมผสานกันของดนตรีสมัยใหม่โดยยังคงความเป็นแอฟริกันไว้ในส่วนของจังหวะเท่านั้นเอง ผมเคยลองฟัง Yunasi จากแหล่งอื่นครั้งหนึ่งก็พบว่าเสียงกีต้าร์ในเพลงนั้นสุดละม้ายคล้ายของเพลงเซิ้งภาคอิสานบ้านเราเหลือเกิน ขณะที่เสียงขลุ่ย (ซึ่งจริง ๆ มาจากเสียงคีย์บอร์ด) ในงานนี้ก็ไม่วายชวนให้นึกถึงเพลงพื้นบ้านของบ้านเราอยู่ดี

ตัวนักร้องของวง Yunasi บอกว่าดนตรีในบ้านเขามีไว้เฉลิมฉลอง เพลงของพวกจึงเต็มไปด้วยจังหวะเต้นรำสนุก ๆ วง Yunasi อาจเป็นแค่อีกวงหนึ่งที่นำเสนอความเป็นเคนย่าในแบบร่วมสมัย เพราะเคนย่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางดนตรีสูงมากแห่งหนึ่ง

 

การแสดงของวงต่อมาเป็นวงดนตรีจากชนเผ่าของไต้หวัน ผมไม่ทันได้ฟังเพลงแรก ๆ เพราะมัวไปดูการแจมกลองและเครื่องให้จังหวะในอีกมุมหนึ่ง จนเริ่มเมาจากเครื่องดนตรีเน้นจังหวะทั้งหลายแล้วจึงวกกลับมาดูเวที

ประเทศไต้หวันก่อนหน้าการเข้ามาของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ มีชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่หลายสิบกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเชื้อสายออสโตรเนเชี่ยน คือเชื้อสายของหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้อย่างชาวอินโดนีเซีย หรือ ฟิลิปปินส์ พวกเขาต้องต่อสู้ขับเคี่ยวเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา

ในแง่ของดนตรีแล้ว ชาวพื้นเมืองของไต้หวันมีบทบาทในวงการดนตรีป็อบของไต้หวันอย่างมาก แต่ก็ในแง่ของดนตรีป็อบแบบเต็ม ๆ ล่ะครับ เช่น นักร้องสาวที่ชื่อ A-mei ที่ร้องเพลงด้วยภาษาจีนกลาง ส่วนดนตรีของชนเผ่าไต้หวันที่นำมาแสดงในงานนี้ พอผมได้ฟังเมโลดี้จากเสียงร้องของเขาแล้วก็พาลนึกถึงดนตรีพื้นบ้านของชนเผ่าที่ราบสูงทางภาคเหนือ (ซึ่งผมมีโอกาสได้ฟังสดหลายครั้งมาก ส่วนใหญ่ในงานที่จัดเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเรื่องพม่า) ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้

แน่ละว่าดนตรีพื้นบ้านหลายพื้นที่ในโลกอาจมีลักษณะบางอย่างร่วมกันอยู่ เนื่องจากมนุษย์แม้จะอยู่ในต่างวัฒนธรรมกันแต่ก็ล้วนมีความรู้สึกบางอย่างในแบบของมนุษย์ทั่วไปที่แสดงออกผ่านศิลปะที่เรียกว่าดนตรี แต่ลึก ๆ แล้วผมเชื่อว่ามันต้องมีจุดต่างที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละวัฒนธรรมอยู่

เวลาเราพูดถึงดนตรีที่เป็นพื้นฐานของโลกแล้ว มักจะมีแต่คนพูดถึงดนตรีคลาสสิก เนื่องจากประวัติศาสตร์ของดนตรีทางตะวันตกถูกรวบรวมมาสอนกันแบบนี้ (และผมเองก็ยอมรับว่าเรียนรู้ทฤษฎีอะไรหลายอย่างจากดนตรีคลาสสิกเหมือนกัน) อาจมีนักวิชาการบางสายที่เน้นไปศึกษาเรื่องดนตรีของชนเผ่าพวก Ethnic music อยู่บ้าง และมีบางคนที่เน้นพูดถึงชนชาวแอฟริกันในแง่ของความเป็นต้นธารอารยธรรมทางดนตรีที่แท้จริง (บางคนเสนอว่าจังหวะร็อคไม่ได้เพิ่งจะมีในศตวรรษที่ผ่านมา แต่มีมาตั้งแต่ชนชาวแอฟริกันรู้จักเคาะจังหวะกันแล้ว)

โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบคำว่า World music หรือ Ethnic music เท่าไหร่ คำว่า World music (ที่แปลตรงตัวว่าดนตรีโลก) มันเหมือนเป็นคำที่วงการป็อบตะวันตกคิดมาเพื่อใช้เรียกดนตรีอะไรสักอย่างที่พวกเขาไม่เคยรู้จัก และส่วนใหญ่จะเป็นดนตรีพื้นบ้าน ไม่ก็ป็อบที่มีอิทธิพลจากดนตรีพื้นบ้าน ขณะที่คำว่า โฟล์ค (Folk) กลับถูกใช้เรียกดนตรีพื้นบ้านยุโรปเสียมากกว่า

แต่ผมเชื่อว่าดนตรีมันไม่ได้มาจากที่ใดอื่นไกลนอกจากอะไรพื้น ๆ รอบตัวมนุษย์ ดนตรีป็อบหลายแขนงซึ่งปัจจุบันมีชื่อเรียกเป็นร้อยเป็นพัน มีพื้นฐานมาจากดนตรีพื้นบ้านทั้งนั้น และการเรียกว่า World music พูดตรง ๆ คือมันเหมือนการบรรจุหีบห่อแบบเอ็กโซติก (Exotic) เข้าไปแบบเหมารวม แล้วไม่ได้ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์เฉพาะของมันจริง ๆ

(...เอาง่าย ๆ มันเหมือนกับเวลาที่ชาวต่างชาติบอกว่าไอ่พวกคนจีน คนญี่ปุ่น คนพม่า นี้หน้าตาเหมือนกันไปหมด เรียกว่าเป็น World Faces ซะดีไหม)

ดนตรีบลูส์ (Blues) มันก็คือดนตรีพื้นบ้านของทาสผิวดำพลัดถิ่นที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นดนตรีที่ไม่ได้เล่นแต่กับในหมู่คนผิวดำอีกต่อไป ทั้งยังกลายเป็นพื้นฐานของดนตรีแนวอื่น ๆ ส่วนดนตรีพวกเรกเก้ และสกา ก็พัฒนามาจากดนตรีพื้นบ้านของจาไมก้าที่เรียกว่าเมนโต (Mento)

ขณะที่คำว่า Ethnic music อาจใช้อธิบายดนตรีของชนกลุ่มน้อยได้ แต่ในระยะยาวมันจะกลายเป็นการแบ่งดนตรีพื้นเมืองของพวกเขาออกจากดนตรีพื้นเมืองของ 'ชนกลุ่มใหญ่' เสียเปล่า ๆ ผมอาจคิดแบบโหดร้ายต่อผู้นิยมรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมไปเสียหน่อยว่า ในความเป้นจริงแล้วดนตรีพวกนี้ควรถูกทำให้ป็อบหรือปรับเข้ากับดนตรีร่วมสมัยให้ได้

ผมก็เป็นคนที่ไม่ได้คิดว่า เราควรรักษาความเป็นพื้นบ้านอะไรเอาไว้แบบแช่แข็ง อย่างที่ผมเปรยไว้ก่อนหน้านี้ ถ้าคนผิวสียังคงแช่แข็งบลูส์เอาไว้ ป่านนี้เราคงไม่มีแจ็ซซ์ให้ฟัง และแม้ดนตรีป็อบตะวันตก อย่างพวกร็อค หรือแดนซ์ จะมีอิทธิพลอย่างมากทั่วโลก แต่ผมเชื่อว่าตัวดนตรีป็อบในแต่ละประเทศเองก็มีคาแรกเตอร์ของมันอยู่ และตรงจุดนี้แหละคือความไร้พรมแดนที่แท้จริง

(...จุดนี้ขออภัยด้วยที่ผู้เขียนยังหาคำอธิบายเป็นทฤษฎี หรือเป็นคำพูดไม่ได้ว่ามันมีลักษณะเฉพาะยังไง แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งมันมาจากความเป็นโฟล์คในตัวของทุกคนนั่นแหละครับ)

ผู้ขึ้นเวทีรายต่อไปคือหลวงไก่ นักร้องลูกทุ่งจากภาคใต้ เป็นตัวแทนของประเทศไทยในวันนี้ อาจเป็นเพราะช่วงเวทีของเขาเป็นช่วงเวลาที่ดึกไปหน่อย และพบเจอกับวัฒนธรรมคนดูที่แตกต่าง ทำให้หลวงไก่ดูตื่นเวทีไปนิด ความพยายามแสดงให้เห็นวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างเพลงหนังตะลุง ก็ดูไม่สามารถสื่อสารกับผู้ชมได้มากนัก และโดยส่วนตัวผมคิดว่า การจะแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทย ไม่จำเป็นต้องใช้เพลงพื้นบ้านขนาดนั้นก็ได้

แต่ต่อมาหลวงไก่ก็กลับมากับดนตรีลูกทุ่งร่วมสมัยแบบไทย ๆ ในเพลงดังที่ชื่อ "ขวัญใจพี่หลวง" ซึ่งผมว่านี่แหละคือความเป็นไทยในระดับของวัฒนธรรมมวลชนจริง ๆ และเรื่องการแสดงดนตรีสดแง่มุมทางวัฒนธรรมของมันไม่ได้มีแต่เรื่องดนตรีอย่างเดียว การสื่อสาร ทักทาย หรือเอนเตอร์เทนคนดู ก็เป็นส่วนหนึ่ง

หลวงไก่และวงพยายามเอนเตอร์เทนคนดูด้วยการทักทายและปล่อยมุขกันแบบตลกคาเฟ่ แต่ในงานที่ครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติและกลุ่มคนดูที่เป็นชนชั้นกลางในเมือง เสียงตอบรับจึงเป็นความเงียบ ตรงนี้ผมแอบคิดเองเออเองว่าไม่ใช่ว่ามุขเขาไม่ขำ แต่คงเป็นเรื่องของกลุ่มคนดูเองที่ไม่ได้แสดงปฏิสัมพันธ์กับเวที

ตรงนี้หลวงไก่แกถึงขั้นแสดงความน้อยใจ เปรย ๆ ว่าได้มาแสดงเวทีแบบนี้เป็นครั้งแรก ทุกครั้งเคยแต่ไปแสดงในงานวัดให้คนที่กินเหล้าขาว ไม่เคยมาแสดงในลานเบียร์แบบนี้

แต่ชีวิตคือ เดอะ โชว์ มัสโก ออน แกยังคงไม่เลิกปล่อยมุขแม้จะไม่มีปฏิกิริยาตอบรับมากนัก (ผมเห็นมีวัยรุ่นบางกลุ่มดูเชียร์ ๆ แกอยู่) และต่อด้วยการคัฟเวอร์เพลงของเสือ ธนพล ซึ่งคนที่ผ่าน "18 ฝน" มาแล้วคงคุ้นเคยดี

จบงานในคืนนี้แม้ว่าดนตรีต่างชาติ ต่างภาษา จะสามารถข้ามผ่านพรมแดนของผู้ฟังในคนละซีกโลกได้ ผมอาจจะยินดีกับการที่ผู้จัดสนใจศิลปินเป็น Mass อย่างหลวงไก่ นำมาขึ้นเวทีเดียวกับศิลปินหลากหลายชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีพรมแดนบางอย่างในระดับของกลุ่มผู้ฟังที่ท้าทายให้ก้าวข้าม

พรมแดนทางรสนิยมยังคงบดบังให้ผู้ฟังดนตรีคลาสสิคหลายคนดูถูกดนตรีป็อบ ผู้ฟังดนตรีป็อบกระแสหลักทับถมดนตรีป็อบกระแสรอง เหล่าผู้ฟังกระแสรองก็เดียจฉันท์กระแสหลักเป็นการตอบโต้

ผมออกจากลานที่เต็มไปด้วยการสังสรรค์ของแสงสีที่หลากหลาย มานั่งครุ่นคิดถึงโลกความจริง

...คลอด้วยเสียงเพลงโฆษณาในรถไฟฟ้า ที่ให้ความรู้สึกต่างจากจังหวะกลองแอฟริกันโดยสิ้นเชิง

สุดท้ายนี้ก็ขอเก็บบรรยากาศงานวันแรกมาฝากกันหน่อย
ต้องขออภัยด้วยที่คุณภาพไม่ดีเท่าไหร่ทั้งจากคุณภาพกล้องและฝีมือคนถ่ายเอง

(...ช่วงท้าย ปลาย ๆ นาทีที่ 2 มีเซอร์ไพรซ์ ...This is it!!)
 

เราและโลก

“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย

อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ การที่สิ่งเหล่านี้ชัดเจนเหลือเกินทำให้เป็นเรื่องสุดแสนเจ็บปวดและน่าขันสิ้นดี

ภัยพิบัติและหายนะภัยทางธรรมชาติต่างๆ เช่นพายุทอร์นาโด เฮอริเคน ภูเขาไประเบิด อุทกภัย หรือความโกลาหลเชิงกายภาพของโลก ไม่ได้เกิดจากเธอคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะหรอก เธอมีส่วนทำให้เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนให้ดูจากระดับที่เหตุการณ์เหล่านั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตเธอ...”

(สนทนากับพระเจ้า : นีล โดนัล วอลซ์ ,รวิวาร โฉมเฉลา แปล ,สำนักพิมพ์ โอ้ มายก๊อด พิมพ์ครั้งที่ 2 มีค.50)

เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะยอมรับและเชื่อว่า
1. สิ่งเลวร้าย เกิดขึ้นเพราะเราเรียกมันว่า เลวร้าย
2. เราแต่ละคนมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นบนโลก
3. เรามีส่วนต่อความเลวร้ายที่เกิดบนโลกมากน้อยแค่ไหน ดูจากผลกระทบของมันที่มีต่อเรา

คำอธิบายเรื่องกรรม น่าจะใกล้เคียงที่สุดแล้วกับข้อความนี้ แน่นอน เราแต่ละคนมีสิทธิ์ไม่เชื่อ และสามารถหาเหตุผลตั้งร้อยแปดพันเก้าเพื่อโต้แย้ง แต่ข้อโต้แย้งเหล่านั้น สามารถเปลี่ยนวิธีการมองโลก และ/หรือ เปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่ ?

การประณามนั้นง่ายกว่าการลงมือเปลี่ยนแปลงมากมายนัก เมื่อเกิดสิ่งใดที่ถูกเรียกว่าเลวร้ายขึ้น ผู้คนจึงยินดีที่จะกล่าวโทษ ซึ่งโดยนัยยะของมันก็คือการผลักความรับผิดชอบออกไปให้พ้นตัว เมื่อเราผลักความรับผิดชอบออกไป โดยบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากเรา นั่นหมายความว่า เรากำลังปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น

เมื่อเราปฏิเสธความเกี่ยวข้อง ปฏิเสธความรับผิดชอบเสียแล้ว เราจึงไร้พลังที่จะเปลี่ยนแปลง หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง เรายกย่องการประณามสิ่งเลวร้าย และละอายที่จะรับผิดชอบว่าเรามีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น

เราจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย ถ้าเรายังกล่าวโทษสิ่งนั้นอยู่
เราจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย ถ้าเราไม่เริ่มต้น รับผิดชอบ

มนุษย์ทุกคนบนโลกล้วนเกี่ยวข้องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย ทั้งไม่ง่ายที่จะเชื่อ และยังยากยิ่งกว่าที่จะเชื่อว่าเราทั้งหมด “ล้วนเป็นหนึ่งเดียว” แต่ความจริงที่เราต้องยอมรับคือ อำนาจแห่งการเปลี่ยนแปลงของคนๆ หนึ่งนั้นมากมายมหาศาลยิ่งนัก ทั้งยังยิ่งใหญ่และส่งผลสะเทือนต่อคนทั้งโลก ทั้งเมื่อเขายังมีชีวิตอยู่และเมื่อเขาได้สิ้นชีวิตไปแล้ว

หากไม่มี มหาตมคานธี ประเทศอินเดียจะเป็นอย่างไร
หากไม่มี เช กูวารา เราคงไม่รู้จักคำว่า ปฏิวัติ ดีเท่านี้
หากไม่มีแม่ชีเทเรซา ผู้ทุกข์ยากนับล้านๆ อาจไม่พบแสงสว่างตลอดชีวิต
หากไม่มีท่านพุทธทาส สังคมไทยในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา อาจมืดมนยิ่งกว่านี้

บุคคลสำคัญของโลกทั้งหลายล้วนเป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกับเรา แต่สิ่งที่ท่านเหล่านั้นมีมากกว่า คนธรรมดาคือความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลง มิใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อผู้อื่น บุคคลสำคัญของโลกคือผู้ลงมือเปลี่ยนแปลง มิใช่ผู้ได้แต่กล่าวประณามสิ่งต่างๆ เราทุกคนล้วนเป็นบุคคลสำคัญของโลกทั้งสิ้น หากเรามีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ต่อสิ่งที่เราเรียกมันว่า เลวร้าย เลิกกล่าวโทษแล้วลงมือเปลี่ยนแปลงมัน ลงมือทำ มิใช่เพียงกล่าวประณาม โลกนี้ไม่มีวันดีขึ้นมาได้จากการกล่าวโทษกัน เมื่อถึงจุดหนึ่งของความรู้สึกรับผิดชอบ อาจต้องอาศัย ความกล้าหาญ และพลังใจอย่างมหาศาลเพื่อที่จะกระทำ แต่ทั้งสองสิ่งนี้ก็คล้ายพลังงานอย่างหนึ่ง เหมือนดวงไฟที่รอให้มีคนจุด เมื่อผู้อื่นมองเห็นเขาก็จะเดินตามมา และช่วยทำให้ไฟดวงนี้สว่างมากยิ่งขึ้น

แท้จริงแล้ว มนุษย์ไม่เคยเดียวดาย แต่ความเห็นแก่ตัวมักจะทำให้มนุษย์โดดเดี่ยวตนเองอยู่เสมอ ขณะที่ถูกเหวี่ยงไปมาระหว่างขั้วของ “ความรัก” และ “ความเกลียด” เราจึงสับสนกับการแสดงออกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่หากเราเชื่อว่า ความรักเท่านั้นที่จะทำให้ทุกสิ่งดีขึ้น ไม่ใช่ความเกลียด เชื่ออย่างลึกซึ้งแท้จริง เรา และ โลก จะไม่ใช่สิ่งแปลกแยกต่อกันอีกต่อไป

ความรักเท่านั้น ที่จะเปลี่ยนแปลงได้ทุกสิ่ง ไม่ใช่ความเกลียด

Subscribe to World