"รณรงค์เลิกเหล้า" เพียงพอที่จะแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงได้จริงหรือ?

30 November, 2007 - 08:23 -- kanjana

วันที่ 25 เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ทั่วโลกพร้อมใจกันทำกิจกรรมรณรงค์กับสังคมสาธารณะ แต่หลายๆ องค์กรก็เลือกที่จะทำให้เดือนพฤศจิกายนทั้งเดือนเป็นเดือนแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรง และพ่วงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปด้วย ไม่ใช่จัดกิจกรรมเฉพาะวันที่ 25 พฤศจิกายนกันเพียงวันเดียวเท่านั้น

จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมกันตลอดทั้งเดือน และสื่อทุกแขนงก็พร้อมใจกันนำเสนอข่าวหรือกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง

ในหน้าข่าวของประชาไทดอทคอม ได้นำเสนอบทความข่าวในหัวข้อ "ขบวนการแรงงานฯ จัดงานวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ระบุ 'เหล้า' สาเหตุสำคัญของปัญหา" (ติดตามอ่านรายละเอียดได้ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/10346)  ซึ่งเป็นการรายงานข่าวการรณรงค์ของมูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมกับ ชมรมเพื่อนเพื่อเพื่อน และสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2550 ในเขตจังหวัดลำพูน ในรายงานข่าวได้นำเสนอข้อมูลจากนายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ตัวแทนมูลนิธิเพื่อนหญิงว่า การให้บริการคำปรึกษาของศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง มีผู้มาขอคำปรึกษา 719 กรณี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ สามีไปมีหญิงอื่น สามีทำร้ายร่างกาย สามีไม่รับผิดชอบครอบครัว ซึ่งในจำนวนนี้มี 114 กรณี หรือประมาณร้อยละ 16 มีเหล้าเข้ามาเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง หากจะพูดอย่างง่ายๆ คือ ในความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกๆ 6 กรณี มีเหล้าเป็นส่วนก่อความรุนแรง 1 กรณี

โดยคุณสุชาติได้กล่าวสรุปว่าต้นเหตุของปัญหาสำคัญที่สุดในปัจจุบันก็คือ การดื่มเครื่องดื่มมึนเมาแล้วก่อเหตุรุนแรงโดยผู้ชายนั่นเอง

ข้อสรุปดังกล่าว พลอยทำให้นึกย้อนไปถึงกิจกรรมเสวนาของกลุ่มนักวิจัยจากคณะทำงานเรื่องผู้หญิงในงานเอดส์ที่ได้ลงไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำวิจัยเรื่อง "เรื่องเล่าความรุนแรงและเอชไอวี/เอดส์ ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนจังหวัดสุรินทร์ เนื่องในงานรณรงค์ยุติความรุนแรงไปเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในช่วงหนึ่งของการสนทนา ก็มีตัวแทนผู้หญิงในชุมชนคนหนึ่งลุกขึ้นมาหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาอภิปรายเช่นเดียวกัน แต่ในครั้งนั้นได้มีการเปิดประเด็นคำถามที่ชวนกันคิดต่อไปอีกว่า

แท้จริงแล้ว ‘เหล้า’ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ชายกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง จริงหรือไม่? แล้วเหตุใดผู้ชายอีกหลายคนที่ดื่มเหล้า แต่ก็ไม่ได้เลือกที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงเสมอไปล่ะ น่าคิดเหมือนกัน

หรือว่านั่นเป็นเพียงมายาคติที่คนมักเข้าใจว่า ผู้ชายที่ดื่มเหล้ามักจะกระทำความรุนแรง ด้วยแรงขับจากฤทธิ์เหล้ากันแน่ สมมติฐานเช่นนี้ มักจะอธิบายว่าผู้ชายดีๆจะแปลงร่างเป็นผู้ชายเลวเมื่อเหล้าเข้าปากไปแล้ว

คุณพ่อท่านหนึ่งที่นั่งฟังการสนทนาได้ให้ความเห็นไว้น่าสนใจว่า พฤติกรรมความรุนแรงนั้นมีสาเหตุมาจากสภาพจิตใจของแต่ละคน การควบคุมจิตใจให้มีสติสัมปชัญญะนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ คนยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม

อีกหนุ่มหนึ่งที่มาจากเครือข่ายครอบครัว ช่วยเพิ่มเติมมุมมองปัญหาที่มาจากสาเหตุของสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูในครอบครัวว่า พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกๆ และความอบอุ่นในครอบครัวจะช่วยหาทางออกให้ปัญหา ก็ว่ากันไปตามฐานความคิดความเชื่อของแต่ละคน

ฉันเห็นด้วยอย่างแรงว่า เหล้านั้นเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดความรุนแรง แต่การวิเคราะห์ว่า เหล้าเป็นสาเหตุของปัญหานั้นอาจจะต้องมองไปให้ลึกซึ้งมากขึ้นไปกว่านี้ เหล้าอาจเป็นเพียงภาพสะท้อนปัญหาและสภาพจิตใจของผู้ที่กระทำความรุนแรง ที่อาจถูกกดดันจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจรอบตัว เพราะการที่ผู้ชายคนหนึ่งตัดสินใจจะใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงและเด็ก ในหลายๆครั้ง ก็ไม่ได้ปฏิบัติการในขณะที่ตัวเองอยู่ในสภาพเมามายเสมอไป แต่ทำลงไปในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะดีๆ อยู่นี่เอง

คุณมลฤดี ลาพิมล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสนทนาได้ให้แง่มุมความคิดเห็นต่อข้อเสนอต่อการสร้างสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูในครอบครัวไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า  การที่พ่อแม่ให้ความอบอุ่นและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกๆ นั้นเป็นเรื่องดีแน่ แต่การเป็นแบบอย่างที่ดีนั้นเป็นแบบอย่างที่ดีแบบไหน ก็อาจต้องมาทำความเข้าใจกันอีกว่ามาจากความคิดความเชื่อแบบใด หากครอบครัวนั้นเชื่อว่า ลูกชายเป็นผู้สืบสกุลและต้องได้รับโอกาสและความก้าวหน้าในการเรียนมากกว่าลูกสาว หากว่าต้องเลือกด้วยข้อจำกัดทางการเงินของครอบครัว

และในฐานะที่คนๆ หนึ่งที่น่าจะได้รับโอกาสเท่าเทียมกันในสังคม ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม แต่ความคิดระหว่างลูกชายกับลูกสาว ก็มักถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการเลือกปฏิบัติ จนนำมาสู่การกระทำความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง ที่แทบไม่มีใครมองเห็น

มุมมองของฉันและเพื่อนๆ ที่อยู่ข้างผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง การโยนความผิดให้เหล้า จนมองข้ามวิธีคิดของผู้ชายคนนั้นว่า เหตุใดจึงเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา (หรือเพิ่มปัญหาขึ้นมาอีกไม่ทราบ) นั้นยังมาจากวิธีคิดที่ถูกสั่งสมมาจากโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การใช้ความรุนแรงก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ผู้ชายแสดงความเหนือกว่า(ทางร่างกาย) ที่กระทำกับร่างกายของผู้หญิง เป็นการใช้ความรุนแรงมากำราบเพื่อให้คนๆ นั้นหยุดนิ่งและยอมจำนนกับอำนาจของตน

จะกินเหล้าอีกกี่ขวด หรือจะไม่กินมันเลย  แต่ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิดของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง ทั้งในเรื่องอำนาจ – ความอ่อนโยน - ความแข็งแรง-ความอ่อนแอ ปัญหาความรุนแรงก็ยังอยู่ ไม่ไปไหน และจะยังแข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ใครตบตีใคร ใครทำร้ายใคร ก็อยู่ที่ว่า คนๆนั้นกำลังเชื่อเรื่องอะไรอยู่...

ความเห็น

Submitted by แพรจารุ on

กลับมาเขียนแล้วหนูนา เริ่มต้นด้วยความรุนแรงต่อผู้หญิง

แล้วจะตามต่อไป

Submitted by Parid on

"การโยนความผิดให้เหล้า จนมองข้ามวิธีคิดของผู้ชายคนนั้นว่า เหตุใดจึงเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา (หรือเพิ่มปัญหาขึ้นมาอีกไม่ทราบ) นั้นยังมาจากวิธีคิดที่ถูกสั่งสมมาจากโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ"

เห็นด้วยครับ
ขี้เหล้าอารมณ์ติสท์โรแมนติก ก็มีนะ
ฮิ ๆ

Submitted by เต้า on

สวัสดีครับ
เย้ๆ ได้อ่านผู้หญิงนอกกรอบแย้ววว
รอคอยมานาน...

Submitted by หมี่เกี๊ยว on

เหล้าเป็นแค่ทางเลือกอย่างหนึ่งเท่านั้น ยามเหล้าเข้าปากแล้วปรากฏเป็นอวตารมาก็หลายรูปก็มีอยู่น่ะ..... ประเภทไม่เคยหวาน ก็หวานซะหยดย้อยแทบจะเป็นเบาหวาน....ประเภทติสท์ ก็ติสท์แตก....ประเภทเงียบก็อวตารเป็นตลกซะฮาไปเลย....ประเภทไม่ลงกะคนลงกะของก็มี เห็นจานข้าวบินทุกวันยังมี....มีหลากหลาย...... ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดและจิตใต้สำนึกว่าซ่อนอะไรไว้อย่างที่คุณว่า ในขณะเดียวกันกับที่อยู่ข้างผู้หญิงที่ถูกทำร้าย คุณมองเห็นอีกด้านหรือไม่ว่า ผู้ชายก็ถูกสังคมที่สร้างกรอบไว้กระทำเหมือนกันและเริ่มมาแต่เด็ก "เป็นผู้ชายต้องเข้มแข๊ง ไม่ร้องไห้" ถ้าร้องปล่อยให้เงียบเอง ถ้าเป็นผู้หญิงโอ๋ทันที ผู้ชายถูกสอนไม่ให้แสดงความรู้สึกมาแต่เด็ก ผู้ชายก็มีความไม่มั่นคงทางจิตใจเป็น เขารู้สึกแต่พูดไม่ได้ เพราะสังคมไม่อนุญาต เขาแทบไม่รู้ว่าเขาพูดได้หรือไม่ เขาควรรู้สึกหรือไม่ เขาถึงไม่มีทางออก เพราะเราคาดหวังกับบทบาทจากผู้ชายมาก ผู้ชายไม่เคยได้พูดสิ่งที่อยู่ข้างในใจ เรามีบ้างไหมหน่วยงานที่รับฟังปัญหาจากปากผู้ชายแล้วช่วยแก้ไข เท่าที่รู้ก็ไม่มี ถ้าใครรู้ว่ามีช่วยบอกด้วย จะเป็นพระคุณมากๆ ถ้าหากจะหลุดกรอบนี่คือการหลุดกรอบ

Submitted by หมี่เกี๊ยว on

ต่ออีกหน่อย อิอิ

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ให้ผู้ชายเลิกทำทารุณกรรมผู้หญิงเสร็จแล้ว มันจะหายไป ....มันจะยังคงอยู่ เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ มันเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องลึกมาก แก้เรื่องผู้หญิงไปเรื่อยๆแต่ถ้าหากเราไม่ได้แก้ที่มานั่งทำความเข้าใจว่าผู้ชายเขาก็ถูกกรอบสังคมครอบไว้เหมือนกัน อย่างที่พี่แพ็ท มลฤดี ลาพิมลพูดเห็นชัด "...ก็อาจต้องมาทำความเข้าใจกันอีกว่ามาจากความคิดความเชื่อแบบใด หากครอบครัวนั้นเชื่อว่า ลูกชายเป็นผู้สืบสกุลและต้องได้รับโอกาสและความก้าวหน้าในการเรียนมากกว่าลูกสาว หากว่าต้องเลือกด้วยข้อจำกัดทางการเงินของครอบครัว..."
ราก็จะยังไม่หลุดจากกรอบผู้หญิง ลองมองมุมผู้ชายบ้างแล้วจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น มองไม่ยึดกรอบ

บังเอิญเป็นผู้หญิงที่เห็นทั้งสิทธิสตรี และสิทธิบุรุษ และ มองหลุดกรอบผู้หญิงค่ะ

Submitted by หมี่เกี๊ยว on

อุ๊ย...เมื่อวานลืมสนิท ลืมชื่นชมว่าเขียนดีมากๆๆๆเลยค่ะ เขียนอีกนะคะ

Submitted by kanjana on

ตั้งใจเขียนจริงๆ ค่ะ ว่าตัวเองมองจากมุมที่เข้าข้างผู้หญิงที่ถูกทำร้าย แต่ในขณะเดียวกัน ก็เห็นด้วยกับประเด็น คุณหมี่เกี๊ยว(ไม่ชอบใส่หมูแดง) ว่า ผู้ชายก็ถูกกระทำจากวิธีคิดความเป็นชายเหมือนกัน ที่กำหนดบทบาทของความเข้มแข็ง และการให้สิทธิอำนาจในหลายๆเรื่อง ซึ่งหลายๆครั้ง ก็กลายเป็นแรงกดดันจากสังคม ยกตัวอย่างง่ายๆ จากประสบการณ์ของตัวเองที่คลุกคลีกับงานเอดส์ ผู้ชายมักจะถูกหยิบยกให้เป็นต้นเหตุของการถ่ายทอดเชื้อไปสู่ผู้หญิง ด้วยวิธีคิดที่ว่า ผู้ชายต้องมีประสบการณ์และชำชองทางเพศมากกว่าผู้หญิง ถุงยางเป็นตัวลดทอนความแมนทางเพศของผู้ชาย เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ชายเปราะบางต่อการรับเชื้อ ได้เช่นเดียวกับที่เราอธิบายว่าผู้หญิงเปราะบาง ด้วยวิธีคิดว่า จะต้องไร้เดียงสาเรื่องเพศ จนไม่สามารถปกป้องและต่อรองทางเพศได้
ที่สุดแล้ว ทั้งหญิงและชาย ก็สามารถตกเป็นผู้ถูกกระทำจากชุดวิธิคิดจากความเป็นหญิงเป็นชายเหมือนกันๆน่ะแหละ ว่าไหมคะ

Submitted by หมี่เกี๊ยว on

ดีเลยค่ะคุณหนูนา จะได้ไม่แย่งกัน ชอบหมี่เกี๊ยวแห้งใส่หมูแดงเยอะๆค่ะ อิอิ

มายกมือเห็นด้วยอีกรอบค่ะ กับชุดความคิดทั้งสองที่ว่า และจากทั้งสองชุดความคิดมันเห็นความสัมพัทธ์อื้นๆด้วยเนอะ

คุณหนูนาเขียนเรื่องมุมผู้ชายให้เราอ่านกันมั่งนะค่ะ อยากรู้มากๆเลยค่ะ จะรออ่านแบบนับคืนรอเลยเนี่ย อิอิ อยากรู้ๆๆๆ

เคยอ่านงานเขียนเชิงสารคดีเล่มหนึ่ง ชื่อเรื่องว่า "What men don't talk about?" ใครเขียนจำไม่ได้แล้ว ไว้จะค้นมาฝากนะคะ อิอิ

จะรออ่านงานอีกค่ะ มันดี อิอิ

Submitted by เกรียน ศิษย์โรซ... on

คุณต้องไปไกลกว่าแนว เฟมินิสต์ในกระแส ที่มีแต่ผู้ชายๆๆๆๆๆๆ เป็นศัตรูกับผู้หญิง โดยละเลยประเด็นชนชั้น ซึ่งมันกดทับเรามาเป็นทอดๆ ผู้หญิงชนชั้นล่างยังไงก็ซวยก็ ผู้หญิงชนชั้นนำและชนชั้นสูง

ถ้าละเลยประเด็นชนชั้นมันก็ไม่ได้ให้คำตอบอะไร

ยิ่งมองด้วยแว่นของชนชั้นกลางอย่างพวกคุณแล้วล่ะก็ยิ่งไปกันใหญ่ หรือเอาทฤษฎีอย่าง power relations ของ Foucault มาอธิบายผิดๆ ถูกๆ ยิ่งไปกันใหญ่

Submitted by เกรียน ศิษย์โรซ... on

ลองไปหาอ่าน Eros and civilization ของ Herbert Marcuse ดู จะได้มุมมองเรื่องเพศที่ไปไกลมากๆ งานที่เจ๋งมากรับรองได้

เพศสภาพ เซ็กส์ การกดขี่ ชนชั้น มันเป็นเรื่องเดียวกัน

Submitted by kanjana on

ขอบคุณ คุณหมี่เกี้ยวอีกรอบ และคุณกรียน ทั้งสองท่านที่แนะนำหนังสือดีๆ ให้อ่าน และช่วยกันมองต่างมุมค่ะ

ตัวเองไม่ใช่เฟมินิสต์ และก็ไม่ได้เติบโตมาจากพื้นฐานด้านวิชาการ อาศัยว่ามีโอกาสได้ทำงานและแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้หญิงที่ประสบกับปัญหาในชุมชน และพี่ๆนักวิชาการในกลุ่ม เห็นและรู้สึกอะไรก็ว่ามาอย่างนั้น คิดอะไรแวบๆ ขึ้นมาก็รีบเขียนออกมา บ่อยครั้งก็ขาดการมองปัญหาในหลายมิติ

เป็นประโยชน์จริงๆค่ะ กับความคิดเห็นของหลายๆท่านที่เสนอกันเข้ามา ชอบมากค่ะ และจะนำไปพิจารณาค่ะ

Submitted by แสงดาว ศรัทธามั่น on

อ้ายก้อชอบดื่มน้ำมังสะวิรัติประเภทนี้ อ้ายมิเคยทำร้ายเพศแม่มีแต่เคารพ เห็นตวย กับ หมี่เกี๊ยว ... โรมานซ์แคทอลิก จะตายยยย ปายยยย

มันขึ้นกับความคิดจิตสำนึกและสภาพโครงสร้างสังคมด้วย

Submitted by ปธ.องค์กรสิทธิบุรุษ on

เป็นบทความค่อนข้างดีครับ แต่หากเอาความคิดเฟมินิสต์ที่มีอคติกับเพศชายเป็นแกนกลางแล้วไซร้ก็คงต้องเป็นผู้ชายนี่แหละที่เลวทราม แต่ในความคิดเห็นของผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยนะครับที่ว่าผู้ชายจะชอบใช้กำลัง แม้แต่ผู้ชายด้วยกันเองก็เป็นเช่นนั้น ประเด็นที่อยากจะเอ่ย คือ บางครั้งผู้ชายอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมที่ถูกปลูกฝังว่า ผู้ชายอ่อนแอไม่ได้ ห้ามร้องไห้ และสังคมมักไม่รับฟังปัญหาของผู้ชาย ทำให้ผู้ชายเหล่านั้นต้องพึ่งพาเหล้าและสุดท้ายบาปกรรมต้องกลายเป็นผู้หญิงรับหมัดและเท้าไปจนหน้าบวมไปหมด

เอ้อ อีกอย่างที่อยากจะพูดก็คือ ปัญหาที่เกี่ยวพันระหว่างผู้ชาย-หญิง นั้น ปัญหาหรือความรุนแรงใดๆที่ผู้ชายได้รับมักไม่ถือว่าเป็นปัญหา เช่นการตัดเจ้าโลกของผู้ชายก็ไม่ต่างจากการกระทำร่างกายเหมือนกัน แต่แปลกเรามักเห็นตอนจบของฉากที่ชายหญิงกอดคอสมานฉันณ์ได้อย่างชื่นบาน ทั้งๆที่ทุกอย่างมีที่มาที่ไปทั้งนั้น

ปล...เห็น คห.บางอันกล่าวถึงเรื่องชนชั้น ผมขอบอกตรงๆว่าชนชั้นล่างนั้นคือปัญหาที่สุดในการเกิดความรุนแรงแต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่าชนชั้นล่างนั้น ฝ่ายชายต้องไปใช้แรงงานให้บ้านฝ่ายหญิง แต่ฝ่ายชายปรับสภาพได้ดีกว่าผู้หญิง..

Submitted by หมี่เกี๊ยว on

มาแล้วค่ะ หนังสือเล่มที่ว่าเขียนโดย Maggie Hamilton
ชื่อเรื่อง What men don't talk about? สำนักพิมพ์ Penguins ปีที่พิมพ์ 2006 (365 หน้า) ค่ะ
อ่านสบายภาษาไม่ยาก เพราะเขียนแบบไม่ใช้ศัพท์วิชาการใด
มุ่งให้คนทั่วไปอ่านเพื่อสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ และความรู้สึกนึกคิด
ทั้งสุขและทุกข์ ของผู้ชายค่ะ
ผู้ชายก็อ่านได้ ผู้หญิงอ่านจะดีมากๆๆๆๆ อ่านแล้วเข้าใจผู้ชายขึ้นเยอะ

Submitted by nara on

คุณ ปธ.องค์กรสิทธิบุรุษ
รบกวนช่วยขยายความทีคะ "ปล...เห็น คห.บางอันกล่าวถึงเรื่องชนชั้น ผมขอบอกตรงๆว่าชนชั้นล่างนั้นคือปัญหาที่สุดในการเกิดความรุนแรงแต่จะมีสัก กี่คนที่จะรู้ว่าชนชั้นล่างนั้น ฝ่ายชายต้องไปใช้แรงงานให้บ้านฝ่ายหญิง แต่ฝ่ายชายปรับสภาพได้ดีกว่าผู้หญิง.."

ไม่เข้าใจน่ะ...
ขอบคุณคะ

(ขอโทษคุณกาญจนาด้วยคะ--ไม่รู้พาออกนอกเรื่องไหม)

Submitted by เกรียน ศิษย์โรซ... on

ความเห็นของ ปธ.องค์กรสิทธิบุรุษ

ความรู้เท่าหางอึ่งมากเรื่องชนชั้น เฮ้อ แล้วจะมาพูด

ชนชั้นที่คุณพูดน่ะ มันคอนเสปแบบข่าวช่องสาม สะเก็ดข่าว สรยุทธ์ หรือพวกหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

เซ็งแสรด

เอาง่ายๆ ไปอ่านก่อนนะ
Marx's Theory of Social Class and Class Structure
http://uregina.ca/~gingrich/s28f99.htm

ยากขึ้นมาอีกหน่อย แต่เกี่ยวเนื่องกับการถกเถียงเรื่อง เพศสภาพ ชนชั้น
MARXISM AND CLASS, GENDER AND RACE: RETHINKING THE TRILOGY
http://www.colorado.edu/Sociology/gimenez/work/cgr.html

เดี๋ยวนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยเขาอ่านบอกกาซีนทั้งนั้น อย่าเขียนอะไรส่งเดช มีคนจับผิดพวกคุณอยู่

Submitted by kanjana on

คุณเกรียนคะ

ยังไงก็เป็นความเห็นน่ะค่ะ ไม่อยากให้เอาหลักวิชาการอะไรมาอธิบายและรองรับทุกความเห็นกันอยู่ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นจะเป็นการขีดวงให้แลกเปลี่ยนกันบนหลักการและทฤษฏีมารองรับอยู่เสมอไป เพราะหลายคนก็เรียนรู้มาจากประสบการณ์และชีวิตจริงๆ ก็มี
แต่สิงที่คุณเกรียนได้อ่านและได้ศึกษามา ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็ช่วยแลกเปลี่ยนมาได้เลยค่ะ

เรื่องภาษา ก็เป็นปัญหาชนชั้นเหมือนกันค่ะ ตำราภาษาอังกฤษ ก็เป็นปัญหาที่คนชนชั้นล่างเข้าไม่ถึงความรู้ หุๆ และสื่อที่ชนชั้นล่างเสพย์กันทุกวันนี้ ก็ ไทยรัฐ และข่าวช่อง 3 ช่อง 7 กันนี่แหละค่ะ

ขอบคุณทุกความเห็นค่ะ ไม่นอกเรื่องค่ะ

Submitted by kanjana on

ใช่แล้วเจ้า อ้ายแสงดาว

และก็ขอบคุณอ้ายที่ไปช่วยงานยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 ที่ผ่านมา

ซาบซึ้งใจและอบอุ่นใจ ที่ได้เห็นอ้ายมาช่วยพวกเราติดต่อกันมาสองปีแล้วเจ้า

แม้จะเห็นว่าอยู่ไหนอ้ายก็เมา แต่ก็บ่อเคยหันอ้ายซ้อมใคร นอกจากตีอกชกเข่าตัวเก่าน่อเจ้า

ขอบคุณหลายเจ้า
*****
เช่นเดียวกันกับคุณนรา ก็สงสัยในความคิดของคุณ ปธ.องค์กรสิทธิบุรุษ น่าจะช่วยอธิบายความคิดเห็นมากกว่านี้อีกนิดนะคะ อยากรู้ค่ะ

Submitted by เกรียน ศิษย์โรซ... on

ปัญหเดียวที่ผมมีคือเรื่องการนำเรื่องชนชั้นมาพูดครับ
และไม่เคารพชนชั้นล่างที่เป็นคนจน
ซึ่งยังไงพวกคุณก็ได้แต่เหยียดหยามชนชั้นล่างอยู่วันยังค่ำ ว่าสร้างปัญหาหรือไม่มีรสนิยม

...เรื่องภาษา ก็เป็นปัญหาชนชั้นเหมือนกันค่ะ ตำราภาษาอังกฤษ ก็เป็นปัญหาที่คนชนชั้นล่างเข้าไม่ถึงความรู้ หุๆ และสื่อที่ชนชั้นล่างเสพย์กันทุกวันนี้ ก็ ไทยรัฐ และข่าวช่อง 3 ช่อง 7 กันนี่แหละค่ะ ... ถอนคำพูดนี้ด้วย

ผมเป็นคนจน บ้านขายก๋วยเตี๋ยว พ่อแม่เป็นหนี้ แต่ผมศึกษาสิ่งเหล่านี้ได้

...ปัญหาที่คนชนชั้นล่างเข้าไม่ถึงความรู้ หุๆ... นี่คือแนวคิดแบบพันธมิตร หรือภาคีต่างๆ ที่ดูถูกคนจน จำได้ดีในช่วงรณรงค์ไล่ทักษิณ

ผมผิดหวังมาก ผมจะไม่มาเกรียนที่นี่อีกแล้ว NGO ศิลปิน ก็มีแค่นี้ คิดได้แค่นี้ ดูถูกคนจนร่ำไป

ไปอยู่กับ ..คนชนชั้นล่างเข้าไม่ถึงความรู้ หุๆ และสื่อที่ชนชั้นล่างเสพย์กันทุกวันนี้ ก็ ไทยรัฐ และข่าวช่อง 3 ช่อง 7 ...

รักเธอเสมอ
we are the world
คนจนทั้งผองพี่น้องกัน ร่วมกันโค่นศักดินา นายทุน และชนชั้นกลาง

Submitted by kanjana on

คนชนชั้นล่างเข้าไม่ถึงความรู้ หุๆ และสื่อที่ชนชั้นล่างเสพย์กันทุกวันนี้ ก็ ไทยรัฐ และข่าวช่อง 3 ช่อง 7 ...

ถ้าข้อความนี้ตีความว่าเป็นการดูถูกคนชนชั้นล่าง ก็คงถือว่าเป็นการดูถูกตัวเองด้วยค่ะ เพราะดิฉันก็เติบโตมาจากสื่อพวกนี้ แถมหนังสือ คู่สร้างคู่สม อีกเล่มนึง

Submitted by องค์กรสิทธิบุรุษ on

ขออภัยไม่ได้มีเจตนาดูถูกคนชั้นล่าง งั้นผมขอเปลี่ยนใหม่ได้ป่ะ ว่า วัฒนธรรมของคนต่างจังหวัดบางภาค ที่ผู้ชายต้องหาสินสอดไปแต่งงานกับหญิงสาวและต้องแต่งเข้าบ้านฝ่ายหญิงเพื่อทำงานครับ ฉะนั้นเรามักไม่ค่อยได้ยินผู้ชายมาบอกว่ามีปัญหากับแม่ยายอย่างนู้น อย่างนี้ หรือ อาจจะมีแต่ไม่พูดกันครับ

ขออภัยกับทษฎีฝรั่งที่อ่านไม่เข้าใจครับ ต่างวัฒนธรรมเอามาเทียบเคียงไม่ได้ และที่สำคัญผมแสดงความเคารพทุกความคิดเห็น ใครไม่เห็นด้วยกับผมไม่ได้หมายถึงคนดี หรือ ไม่ดี

ขอบคุณ

Submitted by องค์กรสิทธิบุรุษ on

ส่วนเรื่องที่ดูถูกคนชนชั้นล่างนั้นไม่ได้มีเจตนาดังว่าหรอกครับ ถ้าผมไม่บอกว่าชนชั้นล่าง ก็ต้องบอกว่าคนเศรษฐกิจไม่ดี ฐานะไม่ดี การศึกษาน้อย หรือทำงานหนัก พูดเข้าหลักไหนคุณเกรียนก็ตัดสินแบบฟันธงไปแล้วว่า ผมดูถูก ผมว่ามันเป็นทัศนคติต่างหาก ใครจะมานั่งขยายความตั้งหลายบรรทัดอยู่ได้ แถมเวบนี้มันมีลิมิตในการพิมพ์
อ้อที่สำคัญ ต้องเป็นต่างจังหวัดที่อยู่ตามชนบทด้วยนะ ส่วนหลักวิชาการไม่มีเอาแต่ความจริงในสังคมมาพูด ลองทำใจให้กว้างๆ ผมดูข่าวช่องไหน ดูเว็บไหนๆ ก็ไม่ได้แสดงว่าดีหรือไม่หรอก

ว่างๆอ่านบทความของคนไทยบ้างก็ดี

ปล...ผมอ่านมติชน คับ ไม่ใช่ไทยรัฐ

Submitted by แสงพูไช on

นา
กว่าจะเข้าเยี่ยมที่ประชาไทได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไร
แต่วันนี้พี่ดีใจที่สุดที่สามาตเข้าเยี่ยมถืงที่.....
เธอเดีนถูกทางแล้ว.....เดีนต่อไป
เป็นกำลังใจให้น๋ะ

Submitted by เดือนเสี้ยวในฤดูหนาว on

อย่าติดยึดในทฏษฏีต่างๆ ไม่ว่าจักเป็น มาร์ก เหมา เลนิน คานธี หรือแม้กระทั่งพระพุทธเจ้า แล จีซัสไค้ซ์ อัลาลาฮอล์ ฯลฯ แลพึงอย่าสั่งสอนผู้อื่น หรือคิดว่าความคิดของตัวเองถูก แล้วดูถูกท้าทายผู้อื่น พึงดำรงสติ เย็น นิ่งลึก เราเองมะก่อนเนี๊ยก้อเป็นเช่น คุณ เกรียน ศิษย์โรซ่า ลักเซมเบิรค์ นั่นแหละ

พึงอย่าติดยิดในทฤษฏี เราศึกษาได้ แต่อย่ายึดติด แล้วเหมารวมว่าคนที่ไม่คิดเห็นเช่นกะเรา เป็นคนไม่ได้เรื่อง ถ้าแบบนั้นเราก้อจักเป็นเผเจการทางความคิดอีกไฟลัมน์ นึง ใครจักอ่าน ไทยรัฐ เดลินิวส์ แนวหน้า สยามรัฐ มติชน ผู้จัดการ หรือแม้กระทั่งหนังสือโป๊ คู่สร้างคู่สม ฯลฯ ก้อเป็นเรื่องของเค้า ในระบบโครงสร้างสังคมที่ค่อนข้างสามานย์นี้ เราต้องทำความเข้าใจกับมัน
เฮ้ ... ระบบเผด็จการรัฐสภาทุกยุค ไม่ว่าจักเป็น ยุค ถนอม , เปรม , เกรียงศักดิ์ , ชวน, ทักษิณ ฯ ฯลฯ ล้วนก้อเป็นเผด็จการพลเรือออออนกันทั้งน้านนนน ไม่แตกต่างจากเผด็จการทหารฟัสซิสม์ทุกไฟลัมน์ ดอก

เราไม่ได้ดูถูกคนจนพี่น้องชาวบ้านที่ขายเสียงดอก เพราะเขาไม่รู้จักพึ่งใคร ลองให้เราเป็นพี่น้องชาวบ้านมั๊ง

Submitted by เดดดดือนเสี้ยวใ... on

ต่อหน่อย...

ระบบโครงสร้างสังคมที่สามานย์เช่นนี้มันก้อทำให้วิถีชีวิตของพีน้องประชาชนเป็นเช่นนี้แหละ

พ่อแม่พี่น้องเอ๋ย มีแต่ประชาชนเท่านั้นที่ต้องพึ่งตนเอง อย่าฝากความหวังให้ครายยยยยน

w E LOVE YOU !!!!!!!!!! ??????? !!!!!

Submitted by มาร์ค on

ทำไมนามสกุลเหมือนผมเลยอ่ะ

"รณรงค์เลิกเหล้า" เพียงพอที่จะแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงได้จริงหรือ?

30 November, 2007 - 08:23 -- kanjana

วันที่ 25 เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ทั่วโลกพร้อมใจกันทำกิจกรรมรณรงค์กับสังคมสาธารณะ แต่หลายๆ องค์กรก็เลือกที่จะทำให้เดือนพฤศจิกายนทั้งเดือนเป็นเดือนแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรง และพ่วงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปด้วย ไม่ใช่จัดกิจกรรมเฉพาะวันที่ 25 พฤศจิกายนกันเพียงวันเดียวเท่านั้น

จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมกันตลอดทั้งเดือน และสื่อทุกแขนงก็พร้อมใจกันนำเสนอข่าวหรือกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง

ในหน้าข่าวของประชาไทดอทคอม ได้นำเสนอบทความข่าวในหัวข้อ "ขบวนการแรงงานฯ จัดงานวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ระบุ 'เหล้า' สาเหตุสำคัญของปัญหา" (ติดตามอ่านรายละเอียดได้ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/10346)  ซึ่งเป็นการรายงานข่าวการรณรงค์ของมูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมกับ ชมรมเพื่อนเพื่อเพื่อน และสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2550 ในเขตจังหวัดลำพูน ในรายงานข่าวได้นำเสนอข้อมูลจากนายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ตัวแทนมูลนิธิเพื่อนหญิงว่า การให้บริการคำปรึกษาของศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง มีผู้มาขอคำปรึกษา 719 กรณี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ สามีไปมีหญิงอื่น สามีทำร้ายร่างกาย สามีไม่รับผิดชอบครอบครัว ซึ่งในจำนวนนี้มี 114 กรณี หรือประมาณร้อยละ 16 มีเหล้าเข้ามาเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง หากจะพูดอย่างง่ายๆ คือ ในความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกๆ 6 กรณี มีเหล้าเป็นส่วนก่อความรุนแรง 1 กรณี

โดยคุณสุชาติได้กล่าวสรุปว่าต้นเหตุของปัญหาสำคัญที่สุดในปัจจุบันก็คือ การดื่มเครื่องดื่มมึนเมาแล้วก่อเหตุรุนแรงโดยผู้ชายนั่นเอง

ข้อสรุปดังกล่าว พลอยทำให้นึกย้อนไปถึงกิจกรรมเสวนาของกลุ่มนักวิจัยจากคณะทำงานเรื่องผู้หญิงในงานเอดส์ที่ได้ลงไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำวิจัยเรื่อง "เรื่องเล่าความรุนแรงและเอชไอวี/เอดส์ ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนจังหวัดสุรินทร์ เนื่องในงานรณรงค์ยุติความรุนแรงไปเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในช่วงหนึ่งของการสนทนา ก็มีตัวแทนผู้หญิงในชุมชนคนหนึ่งลุกขึ้นมาหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาอภิปรายเช่นเดียวกัน แต่ในครั้งนั้นได้มีการเปิดประเด็นคำถามที่ชวนกันคิดต่อไปอีกว่า

แท้จริงแล้ว ‘เหล้า’ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ชายกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง จริงหรือไม่? แล้วเหตุใดผู้ชายอีกหลายคนที่ดื่มเหล้า แต่ก็ไม่ได้เลือกที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงเสมอไปล่ะ น่าคิดเหมือนกัน

หรือว่านั่นเป็นเพียงมายาคติที่คนมักเข้าใจว่า ผู้ชายที่ดื่มเหล้ามักจะกระทำความรุนแรง ด้วยแรงขับจากฤทธิ์เหล้ากันแน่ สมมติฐานเช่นนี้ มักจะอธิบายว่าผู้ชายดีๆจะแปลงร่างเป็นผู้ชายเลวเมื่อเหล้าเข้าปากไปแล้ว

คุณพ่อท่านหนึ่งที่นั่งฟังการสนทนาได้ให้ความเห็นไว้น่าสนใจว่า พฤติกรรมความรุนแรงนั้นมีสาเหตุมาจากสภาพจิตใจของแต่ละคน การควบคุมจิตใจให้มีสติสัมปชัญญะนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ คนยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม

อีกหนุ่มหนึ่งที่มาจากเครือข่ายครอบครัว ช่วยเพิ่มเติมมุมมองปัญหาที่มาจากสาเหตุของสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูในครอบครัวว่า พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกๆ และความอบอุ่นในครอบครัวจะช่วยหาทางออกให้ปัญหา ก็ว่ากันไปตามฐานความคิดความเชื่อของแต่ละคน

ฉันเห็นด้วยอย่างแรงว่า เหล้านั้นเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดความรุนแรง แต่การวิเคราะห์ว่า เหล้าเป็นสาเหตุของปัญหานั้นอาจจะต้องมองไปให้ลึกซึ้งมากขึ้นไปกว่านี้ เหล้าอาจเป็นเพียงภาพสะท้อนปัญหาและสภาพจิตใจของผู้ที่กระทำความรุนแรง ที่อาจถูกกดดันจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจรอบตัว เพราะการที่ผู้ชายคนหนึ่งตัดสินใจจะใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงและเด็ก ในหลายๆครั้ง ก็ไม่ได้ปฏิบัติการในขณะที่ตัวเองอยู่ในสภาพเมามายเสมอไป แต่ทำลงไปในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะดีๆ อยู่นี่เอง

คุณมลฤดี ลาพิมล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสนทนาได้ให้แง่มุมความคิดเห็นต่อข้อเสนอต่อการสร้างสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูในครอบครัวไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า  การที่พ่อแม่ให้ความอบอุ่นและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกๆ นั้นเป็นเรื่องดีแน่ แต่การเป็นแบบอย่างที่ดีนั้นเป็นแบบอย่างที่ดีแบบไหน ก็อาจต้องมาทำความเข้าใจกันอีกว่ามาจากความคิดความเชื่อแบบใด หากครอบครัวนั้นเชื่อว่า ลูกชายเป็นผู้สืบสกุลและต้องได้รับโอกาสและความก้าวหน้าในการเรียนมากกว่าลูกสาว หากว่าต้องเลือกด้วยข้อจำกัดทางการเงินของครอบครัว

และในฐานะที่คนๆ หนึ่งที่น่าจะได้รับโอกาสเท่าเทียมกันในสังคม ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม แต่ความคิดระหว่างลูกชายกับลูกสาว ก็มักถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการเลือกปฏิบัติ จนนำมาสู่การกระทำความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง ที่แทบไม่มีใครมองเห็น

มุมมองของฉันและเพื่อนๆ ที่อยู่ข้างผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง การโยนความผิดให้เหล้า จนมองข้ามวิธีคิดของผู้ชายคนนั้นว่า เหตุใดจึงเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา (หรือเพิ่มปัญหาขึ้นมาอีกไม่ทราบ) นั้นยังมาจากวิธีคิดที่ถูกสั่งสมมาจากโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การใช้ความรุนแรงก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ผู้ชายแสดงความเหนือกว่า(ทางร่างกาย) ที่กระทำกับร่างกายของผู้หญิง เป็นการใช้ความรุนแรงมากำราบเพื่อให้คนๆ นั้นหยุดนิ่งและยอมจำนนกับอำนาจของตน

จะกินเหล้าอีกกี่ขวด หรือจะไม่กินมันเลย  แต่ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิดของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง ทั้งในเรื่องอำนาจ – ความอ่อนโยน - ความแข็งแรง-ความอ่อนแอ ปัญหาความรุนแรงก็ยังอยู่ ไม่ไปไหน และจะยังแข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ใครตบตีใคร ใครทำร้ายใคร ก็อยู่ที่ว่า คนๆนั้นกำลังเชื่อเรื่องอะไรอยู่...