รักแห่งสยาม

มาจนถึงวันนี้ผมยังไม่ได้พาตัวและตาของตนไปดูภาพยนตร์เรื่อง "รักแห่งสยาม" เลย แม้ว่าจะมีเพื่อนๆ หลายคนได้เชื้อเชิญแจ้งแถลงชวนให้ไปดูหลายเวลา หลายคราก็ตาม ผมก็ยังไม่ได้ไปดูเสียที

โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ได้เป็นคนปฏิเสธโรงภาพยนตร์นะครับ เพราะภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่จะทำให้ผมไปดูได้นั้น ต้องเป็นเรื่องที่ผมมีเพื่อนไปดูด้วย คือ ถ้าไปคนเดียวผมคงไม่ไปครับ เพราะไม่เคยดูหนังคนเดียว และยิ่งไม่รู้ว่าต้องซื้อตั๋ว ซื้ออะไรยังไงบ้าง เพราะปกติเวลาไปเพื่อนๆ จะเป็นคนซื้อตั๋วและขนมขบเคี้ยวเข้าไปให้

สำหรับ "รักแห่งสยาม" ถือเป็นภาพยนตร์ที่มีผู้คนกล่าวถึงค่อนข้างมาก และกล่าวถึงในหลายแง่มุม เช่น เรื่องดังกล่าวนี้ส่อให้เห็นเรื่องวัยรุ่นรักเพศเดียวกัน บางคนมองว่าแสดงถึงความหวานแหววของวัยรุ่น หญิงชาย บางคนก็ชื่นชมว่าสะท้อนสัญลักษณ์เรื่องเพศในสังคมได้ดีทีเดียว บางคนมองว่าเป็นหนังหลอกเด็ก บางคนถึงกลับยกย่องให้เป็นหนังแห่งปี ฯลฯ

รักแห่งสยาม - ภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื้อเรื่องเป็นอย่างไร เรื่องราวในเรื่องดำเนินแบบไหน ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าจะสามารถเล่าออกมาได้มากน้อยเพียงใด แต่หากใครที่อยากรู้ อยากดู ก็น่าจะลองเข้าไปดูในโรงภาพยนตร์หรือไม่ก็รอให้แผ่นวิดีโอซีดีออกมาแล้วค่อยซื้อมาดูก็ได้

ทั้งนี้ สิ่งที่ผมสนใจ คือ ชื่อภาพยนตร์ที่ว่า "รักแห่งสยาม" นั้น ดูเสมือนว่าไม่ใช่แค่เป็นภาพยนตร์ที่ดำเนินเนื้อเรื่องในแหล่งวัยรุ่นอย่างสยามสแควร์หรือเซนเตอร์พ้อยท์เท่านั้น หากยังสามารถอธิบายให้เห็นถึงความรักของชนสยามในอดีตได้อย่างน่าสนใจ

อย่างในสังคมสยามอดีตที่ผ่านมา กรอบความคิดเรื่องเพศวิถีเป็นเรื่องที่มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด สิ่งที่เคยปรากฏในอดีตนั้น อาจารย์ปรานี วงษ์เทศ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ชี้ให้เห็นถึงความคิดเรื่องเพศวิถีในอดีตว่า

"สังคมไทยในอดีตไม่เหมือนสังคมตะวันตก หรือสังคมอินเดีย ที่เน้นความแตกต่างของบทบาททางเพศและมีความเหลื่อมล้ำกันมาก โครงสร้างสังคมมีลักษณะเป็นแบบให้ความสำคัญกับแม่ ในฐานะศูนย์รวมของครอบครัวมาก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นการปกครองที่ชายเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นลักษณะโครงสร้างสังคมในอดีตหรือในสังคมชนบท จึงมีลักษณะที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิง หรือผู้หญิงมีความสำคัญมากในครอบครัวและมีบทบาทสำคัญในชุมชนด้วย ไม่ใช่อย่างที่เห็นในปัจจุบันที่เป็นภาพของการพัฒนาที่เน้นสังคมแบบอุตสาหกรรมหรือทุนนิยมที่ให้การยกย่องเพศชายเป็นใหญ่ในการตัดสินชี้นำอำนาจ ควบคุมนโยบายต่างๆ ที่เน้นการพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยผู้ชาย ทำให้บทบาทของผู้หญิงลดน้อยหายไป"

วิถีชีวิตทางเพศในสังคมสยาม เมื่ออดีต จึงให้ความสำคัญกับเพศหญิง หรือเพศแม่ ในฐานะศูนย์รวมของครอบครัวและสังคม การทำงานของผู้หญิง อาทิ งานบ้าน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเท่าเทียมกับงานของผู้ชาย อีกทั้งระบบเศรษฐกิจยังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของที่ดินหรือทรัพย์สินอีกเช่นกัน

ส่วนเรื่องความหลากหลายทางเพศของสยามเมื่ออดีตนั้น อาจารย์มองว่า "สังคมแต่เดิม การมีเพศที่สามหรือเพศทางเลือกเป็นสิ่งที่มีและรับรู้กันอยู่ แม้อาจไม่ถึงกับชื่นชมยกย่อง หากแต่ก็อยู่ร่วมกันได้ในฐานะมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน สังคมก็ปล่อยให้ทำงานที่พวกเขาถนัด ไม่มีการกีดกัน หรือห้ามไปคบ คนที่เป็นกะเทยในหมู่บ้านอยากทำงานผู้หญิง ชุมชนก็ปล่อยให้ทำงานของผู้หญิงได้ หรือผู้หญิงที่ชอบทำงานของผู้ชายก็จะทำไป ไม่ได้คิดว่าเป็นตัวอย่างที่ผิด การสลับบทบาททางเพศยังเห็นได้แม้กระทั่งในการเข้าทรง ผู้ชายบางคนเข้าทรงก็จะแต่งเป็นหญิง ผู้หญิงก็จะแต่งเป็นชาย เหมือนเช่นการปรับเปลี่ยนบทบาทในการทำงานในบ้านและนอกบ้านในสังคมชาวนาที่ทั้งหญิงชายทำแทนกันได้ เพราะฉะนั้นการปรับเปลี่ยนบทบาทจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้"

(นอกจากนี้ในคัมภีร์โบราณที่ปรากฏในสังคมไทย อาทิ คัมภีร์ปฐมมูลมูลี ก็ยังกล่าวถึงว่า เพศมิได้มีแค่สองเพศ หากแต่มีเพศซึ่งไม่เป็นหญิงและไม่เป็นชายด้วยเช่นเดียวกัน)

จากข้อมูลที่ได้รับฟัง ทำให้เห็นว่า รักแห่งสยาม เมื่อคราอดีตนั้นไม่ได้มองเพศแค่ชายกับหญิงเท่านั้น แต่ปัจจุบันเรื่องเพศวิถีของคนมีความเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น คือมองแค่ว่ามีหญิงชาย มีความรักเฉพาะของคนรักต่างเพศเท่านั้น และมีกรอบกำหนดว่าชายหญิงควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ผู้ชายทาแป้ง แต่งหน้า ใส่เสื้อรัดรูป เดินจับมือกัน หรือจูบปากกัน - เป็นสิ่งที่คนรักต่างเพศ มองหรือรับไม่ได้เท่าใดนัก ยิ่งเมื่อพฤติกรรมทางเพศของคนรักเพศเดียวกันอย่างชายรักชายปรากฏออกมาผ่านภาพยนตร์เรื่อง "รักแห่งสยาม" แล้ว ยิ่งเป็นการท้าทายระบบความคิด วิถีปฏิบัติของคนในสังคมต่อความหลากหลายทางเพศ

ครั้งหนึ่ง ผมเคยถูกคนที่เป็นชายรักชายเข้ามาจับมือและกอด ตอนนั้นผมรู้สึกแย่มาก บอกไม่ถูก รู้สึกว่าทำไมเขาต้องมาทำกับเราแบบนี้ด้วย แม้ว่าบางทีคนจะมองว่า ผมดูเหมือนชายรักชาย เพียงเพราะชอบทาแป้ง ไม่มีแฟน แต่ภาพที่ปรากฏทำให้ผมถูกมองเป็นชายรักชาย จนมีเกย์คนหนึ่งเข้ามาสวมกอดโดยที่ผมไม่ได้ยินยอมหรือยินดีเลย

หลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านมาหลายเดือน ผมเริ่มมองชายรักชายหรือคนรักเพศเดียวกันในมุมที่เข้าใจ คือ เข้าใจวิถีชีวิตทางเพศ เข้าใจพฤติกรรมทางเพศ ผมมองว่าท้ายที่สุดแล้วเราควรมองคนๆ หนึ่งในฐานะที่เขาเป็น "คน" เหมือนเรา

และเมื่อเป็นคนเหมือนกัน ไม่ว่า ใครจะใส่เสื้อผ้าแบบไหน แต่งหน้าตาอย่างไร รักเพศเดียวกัน หรือรักต่างเพศ เราก็ไม่ควรมองว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนรักต่างเพศ หรือรักเพศเดียวกัน แต่เราควรเคารพ เชื่อมั่น ยอมรับ และเข้าใจ เขาในฐานะคนๆ หนึ่ง ทั้งนี้ คนกับคนก็ไม่ควรจะละเมิดสิทธิของคนอื่น ไม่ว่าคุณหรือผมหรือเราจะเป็นใคร เพศไหน นับถือศาสนาอะไร เชื้อชาติใด อายุเท่าไหร่ ก็ตาม

วันหนึ่ง ผมและเพื่อนนั่งคุยกันที่ร้านกาแฟ แล้วเพื่อนคนนี้ก็ถามผมว่า พี่ผู้ชายคนที่เขาแอบชอบนั้น เป็นชายรักชายหรือชายรักหญิง
ผมยิ้มและตอบกลับไปว่า "เขาเป็นคน"

"ถ้าเราจะรักใครสักคน มันจำเป็นด้วยเหรอที่จะเลือกรักว่าเขารักเพศเดียวกัน หรือรักต่างเพศ ถ้าเราจะรักใครสักคน ก็น่าจะรักในสิ่งที่เป็นเขาและเป็นสิ่งที่เขาเป็น" ผมพูดประโยคนี้ทิ้งท้ายพลางหยิบโปสเตอร์หนังรักแห่งสยามขึ้นมา...

ความเห็น

ผมชอบข้อเขียนของคุณมากครับ
ชอบ และขอบคุณที่คุณเข้าใจ...คน
และเชื่อว่าเข้าใจ...คน...จริงๆ
แต่ผมอยากเล่าให้ฟังว่า ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง ทำงานเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งตอนนี้กำลังมุ่งแก้ปัญหาให้กับ 3 จว.ชายแดนใต้ (ไม่ใช่หน่วยงานราชการ) หน้าฉากต้องเข้าใจ ให้เกียรติ ใจเย็น อดทนต่อแรงต้าน ทั้งภายนอก ภายใน รัฐบาล และแม้แต่ชาวมาลายูเอง ที่มีทั้งเข้าใจ ไม่เข้าใจ มากไป น้อยไป สารพัด แต่หลังฉากก็มีการบ่นว่า วิพากษ์วิจารณ์ ทวงบุญคุณ ผิดหวัง...ฯลฯ

เลยทำให้สงสัยว่า.....โลกนี้มันมีคนที่เข้าใจคนจริงๆ หรือเปล่า......?
(ขอโทษครับที่ถาม ไม่ได้ดูถูก และไม่กล้าดูถูกความคิดของคน แต่อดสงสัยไม่ได้น่ะ...)

Submitted by noona on

พี่ไปดูหนังคนเดียวบ่อยมาก เพราะเพือนวัยเดียวกันส่วนใหญ่มีครอบครัวกันหมด อีกอย่าง เวลาว่างของเราก็มักไม่ค่อยตรงกับคนอื่น

ที่สำคัญที่สุดของการทำอะไรคนเดียว คือ ไม่ต้องมาคอยคิดว่า เขาจะชอบหนังแบบเดียวกันกับเราหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากดูเรื่องไหน ว่างเมื่อไหร่ แค่นี้ก็ได้แล้ว

ลองไปดูหนังคนเดียวแล้วจะได้บรรยากาศไปอีกแบบหนึ่งนะคะ

Submitted by แปลก on

แปลกดีนะครับ ไม่ได้ไปดูหนังก็ยังเขียนบทความได้
แต่น่าเสียดาย ที่การไม่ได้ไปชมภาพยนตร์ทำให้คุณค่าของงานเขียนลดไปเยอะเลย
ดูเหมือนว่าขอเอาชื่อเค้ามาโปรโมตตัวเองไปเสียนี่

หนังของคุณพจน์ อานนท์ดีสุดครับ ทำหนังได้เยี่ยมเหมือนท่านทักษิณ บริหารประเทศแล้วเศรษฐกิจดี

หนึ่งปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจแย่ การเมืองแย่ คนเครียดกันมาก โชคดีที่คุณพจน์ อานนท์ ทำหนังเพื่อนกูรักมึงว่ะออกมา

อยากจะตะโกนดังๆ ว่า
เพื่อนร่วมชาติ กูรักทักษิณว่ะ

Submitted by โอตาคุสายโอปาค่... on

โอ้ววว !! หนังพลัง Y อันสุดซึ้ง
ยาราไนก้า !!!

Submitted by กิตติพันธ์ on

ความจริงแล้ว ผมไม่ได้ไปดูหนังเรื่องนี้มา..
แต่ประเด็นที่ผมได้คือรักแท้ๆ ของชนสยามมากกว่าที่น่าจะติดตามกัน
ชื่อหนังเป็นชื่อที่มีนัยยะอยู่ในตัว ให้ได้ตีความหลายมุม

ใครรักใคร รักคุณทักษิณ รักอภิสิทธิ์ ก็ตามแต่ศรัทธา
หากปรารถนาด้วยความเข้าใจและยอมรับ
ไม่ละเมิด เบียดเบียนกันและกันก็คงจะดี

Submitted by โอเลี้ยง on

ผมชอบทัศนคติการยอมรับความหลายหลายของคุณ
แม้ผมจะไม่ใช่เพศทางเลือกดังกล่าว
คำว่า"คน"คำเดียวมันตอบหมดทุกอย่างว่า "ใจเขาใจเรา"
ป.ล.ถ้าคนในสังคมมีแบบคุณเยอะๆก้อคงดี

Submitted by โอเลี้ยง on

ผมชอบทัศนคติการยอมรับความหลายหลายของคุณ
แม้ผมจะไม่ใช่เพศทางเลือกดังกล่าว
คำว่า"คน"คำเดียวมันตอบหมดทุกอย่างว่า "ใจเขาใจเรา"
ป.ล.ถ้าคนในสังคมมีแบบคุณเยอะๆก้อคงดี

Submitted by KATAPO on

เราเป็นคนหนึ่งที่เคยกังวลว่า "ผู้ชายคนที่เราชอบจะไม่ชอบผู้หญิง" เพราะเขาช่างเรียบร้อย ใส่ใจ และอ่อนโยน รวมทั้งมีอาการของชายรักชายปรากฎอยู่บ้างเป็นระยะๆ

เวลาผ่านไป เราก็ยังเลือกที่จะรักคนเดิม แม้จะไม่มีคำตอบว่าเขามีวิถีทางเพศแบบไหน
แต่เราตอบคำถามของตัวเองว่า "แค่คนหนึ่งคน รักคนอีกคนก็เท่านั้น ไม่ว่าเขาจะเป็นเพศไหน ถ้าวันหนึ่งผู้ชายที่เคยชอบเราไปชอบผู้ชาย ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ก็แค่คนกับคน"

รักแห่งสยามไม่ได้ทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้ แต่ทำให้เราเห็นว่าการที่คนหนึ่งคนจะเลือกทำในสิ่งที่อยากทำ โจทย์ไม่ได้มีแค่ "ตัวเอง" แต่ยังต้องคำนึงถึงความรัก ความห่วงใยและความปราถนาดีจากคนรอบข้าง แม้บางครั้งก็ดูละเมิดสิทธิส่วนตัวพอสมควร แต่เมื่อมันประกอบด้วยความรักแล้ว มันคือเรื่องที่ต้องยอมรับและทำตาม

เราโชคดีแค่ไหนที่สามารถทำได้อย่างที่อยากทำ ทำได้ในสิ่งที่คิดและ ดีแค่ไหนที่ได้ทำ.....

Submitted by กิตติพันธ์ on

ครับ, นอกจากผมแล้ว ผมว่ามีหลายคนที่ให้ความยอมรับและเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเราสามารถอ่านเรื่องแนวนี้ได้ในคอลัมน์ ของพี่ซาน่า ทำนองเม้าท์ๆ ชาวเกย์

มีคนเล่าให้ฟังว่า, ในหนังรักแห่งสยาม พอมีฉากผู้ชายจูบปากกัน คนดูเดินออกไปเลย

ทำไมต้องเดินออกไป?

เพราะอะไร?

ผมคิดว่าแต่ละคนคงมีเหตุผลของตนอยู่ และมีสิทธิที่จะบริโภคสื่อได้ ตราบเท่าที่ทำได้
ฉะนั้นผมว่าทั้งคนทำหนังและคนดูหนัง ต้องใส่ใจในสิทธิของตนและอีกฝ่ายด้วยแหละ

มีคนบอกว่า ดูมิวสิค ไม่มีฉากแบบชายรักชาย แต่พอดูไปแล้วกลับเป็นหนังเกย์ไป

มันก็เหมือนผู้ชายบางคนที่เราดูภายนอกไม่รู้ว่าเป็นอะไร
แล้วพอเรารู้จักเขาแล้วเขาเป็นเกย์ เราก็รับไม่ได้

มันคล้ายๆ กันนะครับ จากเหตุการณ์จากหนังผมว่าเราตีความได้หลายแง่มุม

สนุกและได้เรียนรู้ดีครับ

Submitted by chana Live in... on

many Ideas na kaaa .

from Chana in Florida today .

How are you ?

Miss you .

เพิ่งรู้ว่าน้องเต้าชอบทาแป้ง อิอิ

พี่ว่าหนังเรื่องนี้สุดยอดมาก ๆ เขียนบทดีสุดยอด
หนังของพจน์อานนท์เทียบไม่ได้เลย รายนั้นดีแต่ภาพสวย แต่บทไม่ make sense เลย ควรไปเรัยนเขียนบทใหม่

กลับมาที่รักแห่งสยามต่อ
พี่ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังเกย์เลย ไม่ใช่แน่ๆ
พี่ว่ามันเป็นหนังรัก เพียงแต่ชายรักชาย เป็นรูปแบบหนึ่งของความรักเท่านั้น
หนังเรื่องนี้ยัง focus ไปที่ความรักแบบครอบครัว สามีภรรยา เพื่อน อีกด้วย

รู้สึกโชคดีมาก ที่ตัดสินใจดูหนังเรื่องนี้
เพลงก็เพราะมาก ๆ ด้วย

Submitted by วาง on

ผมเพิ่งดูเรื่องนี้
ดูแล้วรุ้สึกเจ๋งดี
มันสะท้อนอะไรหลายๆอย่าง
ผมซึ้งกับความรักที่ก่อตัวขึ้นจากมิตรภาพระหว่างเพื่อน
แม้จะเกิดขึ้นระหว่างชายกับชาย แต่มันก็เป็นความรักไม่ใช่หรือ
ความรักเป็นสิ่งที่สวยงามเสมอไม่ว่าจะเกิดขึ้นระหว่างใคร
ความทุกข์ไม่ได้เกิดจากตัวความรักแต่เกิดจากตัวคนต่างหาก หากคนรู้จักและเข้าใจความรัก
เขาจะไม่ทุกข์เพราะความรักเลย แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราต้องทุกข์อีกนานแค่ไหน กว่าที่จะเข้าใจคำว่า "รัก"

เพศวิถีมีชีวิต : การเปลี่ยนแปลงจากภายใน อะไรที่ท้าทายเรา?

จากที่ข้อเขียนเรื่องเพศวิถีมีชีวิตทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การวางความคิด เรื่องการเปิดใจคุยเรื่องเพศของตนเอง เรื่องความหลากหลายในรักและความสัมพันธ์ ความรักต่างเพศนิยม เรื่องกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความพยายามที่จะมาสรุปในตอนท้ายของบทความนี้ว่า หากเราจะคุยเรื่องเพศวิถีจากมุมมองภายในจากชีวิตของเรานั้น เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวเอง อะไรที่เป็นความท้าทายที่จะนำไปสู่การจุดประกายให้แต่ละคนได้กลับมาสำรวจ ตั้งคำถาม และสร้างการเรียนรู้เรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้โดยอาศัยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกของแต่ละคน

เพศวิถีมีชีวิต : เพศวิถีของวัยรุ่นในวันที่โลกหมุนเปลี่ยน

โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ความสัมพันธ์ทางเพศของมนุษย์มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ในสังคมสมัยก่อน เช่น ในภาคเหนือ การจีบสาวของคนล้านนาจะมีการค่าว (คล้ายลำตัดของภาคกลาง) ตอบโต้กันไปมา การจีบกันต้องให้เกียรติผู้หญิงเป็นคนเลือกคู่ หรือหากจะแต่งงานก็ต้องมีการใส่ผี คือการวางเงินสินสอดจากฝ่ายชายเพื่อบอกกับผีปู่ผีย่าของฝ่ายหญิงให้ทราบว่าจะคบกันแบบสามีภรรยา

เพศวิถีมีชีวิต: เคารพในความหลากหลาย รักเลือกได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ความคิด ความเชื่อเรื่องเพศที่หล่อหลอมเรามาว่า ควรมีชายกับหญิงเท่านั้นที่คู่กัน สิ่งนี้เป็นความคิด ความเชื่อที่ฝังหัวเรามาตลอดจนเราไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่าทำไมเราจึงต้องรักเพศตรงข้าม และการที่เรารักเพศเดียวกันนั้นจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งไม่ได้เชียวหรือ

เพศวิถีมีชีวิต: ชีวิตทางเพศ เริ่มคุยจากตัวเอง

สำหรับชีวิตส่วนตัวแล้ว ผมเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่เติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูของแม่และพี่ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง เห็นการทำงานของผู้หญิงที่ “ศูนย์เพื่อน้องหญิง” จ.เชียงราย เห็นความเข้มแข็งในการทำงานของแม่ของพี่ๆ แต่ละคนแล้ว ทำให้ผมเห็นว่าความเป็นหญิง ความเป็นชาย แท้จริงแล้ว ทุกคนก็สามารถทำอะไรได้เหมือนกัน แต่ทว่าการเลี้ยงดูหล่อหลอมของสังคมกลับบอกว่าแบบนี้ผู้หญิงควรทำ แบบนี้ผู้ชายควรทำ

เพศวิถีมีชีวิต: การเปลี่ยนแปลงจากภายใน

เปิดใจเรียนรู้ประสบการณ์ภายในตน

ผมเริ่มต้นทำงานในประเด็นเรื่องเพศ ตอนอายุน้อยๆ จากวันนั้นมาวันนี้ ระยะเวลาหลายปี ที่อยู่บนเส้นทางนี้ได้เจออะไรหลายอย่าง ได้เรียนรู้ ประสบการณ์ทำงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหน้าที่ใด ความรับผิดชอบแบบไหน องค์กรระดับชุมชนหรือเครือข่ายก็ตาม งานต่างๆ เหล่านี้ทำให้ได้ทำประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่นไปพร้อมๆ กัน

ผมไม่อาจเรียกตัวเองได้อย่างเต็มปากว่าเป็นคนทำงานเพศวิถี เพราะเข้าใจว่าเรื่องเพศวิถีนี้มีอะไรหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และไม่อาจจะบอกได้ว่าตัวเองเป็นนักพัฒนาสังคม เพราะบ่อยครั้งก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นมากมายกับตัวเองว่าที่ว่าเป็นนักพัฒนาสังคมนั้น แน่นอนว่าเราต้องทำประโยชน์เพื่อคนอื่นๆ ที่กำลังเผชิญกับปัญหา เผชิญกับความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า หรือแม้แต่เรื่องสื่อและโลกาภิวัตน์