สายลับพม่า (2) ... หวิดเข้าคุกพม่า (อีกแล้ว)

หลังจากผู้เขียนถูกสายลับพม่าติดตามครั้งแรกทำให้ผู้เขียนเริ่มระวังตัวมากขึ้นในการเดินทางไปพม่าครั้งต่อมา  ประสบการณ์ทำงานประเด็นพม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ผู้เขียนเริ่มเข้าใจวิธีการทำงานของสายลับพม่ามากขึ้น  ถ้าจะลองแบ่งประเภทสายลับพม่าจากประสบการณ์ที่เคยพบก็พอจะแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ  (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน กรุณาอย่านำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการ) คือ สายลับแบบทำงานเต็มเวลา (full- time) กับสายลับแบบชั่วครั้งชั่วคราว (Part-time)

สายลับประเภทแรกอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งตามภาษาบ้านเราว่า
"สันติบาล"    สายลับประเภทนี้จะแต่งกายแบบชาวบ้านทั่วไปเพื่อไม่ให้เป็นที่จับตามอง   สิ่งที่สังเกตได้ว่าพวกเขากำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ก็คือ "พฤติกรรมแปลก ๆ" เช่น การเดินตามผู้เขียนในรัศมีที่มองเห็นหรือสัมผัสได้ว่ามีใครบางคน (บางทีก็หลายคน) ติดตามอยู่  การยืนจับกลุ่มกันจ้องมองมาทางผู้เขียนในทิศทางเดียวกันหมด  หรือการนั่งจับกลุ่มกันเงียบ ๆ ในรัศมีใกล้ชิดกับผู้เขียนเพื่อแอบฟังบทสนทนาระหว่างผู้เขียนและเพื่อนร่วมเดินทาง  เช่น เมื่อครั้งเดินทางไปเมืองเมาะละแหม่ง (เมาะลำไย) ทางภาคใต้ของพม่า ผู้เขียนและเพื่อนร่วมทางรวมห้าคนถูกสันติบาลพม่าสามคนตามมาที่โรงแรม

สิ่งที่สังเกตได้คือ ชายทั้งสามคนแต่งกายด้วยชุดโสร่ง ไม่มีกระเป๋าเดินทางเหมือนแขกทั่วไป และคอยจ้องมองมาทางพวกเราตลอดเวลา
  ถ้าพวกเราไปนั่งกินข้าวเช้าในห้องอาหารของโรงแรม  พวกเขาก็จะมานั่งโต๊ะติดกันแบบเงียบสนิท ไม่มีใครพูดอะไรเลย เหมือนกำลังตั้งใจฟังสิ่งที่พวกเราคุยกัน  พวกเราจึงสันนิษฐานว่าชายกลุ่มนี้น่าจะเป็นสันติบาลที่คอยติดตามนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มากับกรุ๊ปทัวร์ โดยทางโรงแรมคงทำหน้าที่ "ส่งข่าว" ให้เหมือนที่เคยเจอเมื่อครั้งไปรัฐฉานครั้งแรก   และเพื่อความปลอดภัย พวกเราจึงใช้ "รหัสลับ" ที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ในการพูดคุยกันเวลาอยู่ต่อหน้าสันติบาลพม่า  เช่น ใช้คำว่า "สัปปะรด" เวลาต้องการพูดถึง "สันติบาล" หรือใช้คำว่า "พ่อหลวง" แทน "รัฐบาลทหารพม่า"  เป็นต้น 

อ่านมาถึงตอนนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ทำไมต้องใช้รหัสลับในการพูดคุย เพราะสันติบาลพม่าจะเข้าใจภาษาไทยได้อย่างไร
  คำตอบก็คือ สันติบาลจะต้องเรียนภาษาท้องถิ่นในพื้นที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ เช่น เมืองที่อยู่ใกล้ชายแดนไทยก็มักจะมีสันติบาลพม่าที่ฟังภาษาไทยออก  หรือเมืองที่มีประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่ สันติบาลที่อยู่ประจำพื้นที่นั้นก็จะต้องเรียนรู้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นหากสามารถฟังภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ หรือบางครั้งสันติบาลก็อาจเป็นคนจากกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ เองก็มี  

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไปรัฐฉานครั้งแรก  ผู้เขียนเคยคุยกับครูสอนภาษาไทยใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งถูกบังคับให้เป็นครูสอนภาษาไทยใหญ่ให้กับทหารพม่าที่มาประจำเมืองนั้น เนื่องจากเวลาที่คนไทยใหญ่มีประชุมทางวัฒนธรรมเกินกว่า 5 คนจะต้องยื่นขออนุญาตทางการพม่าก่อนและจะมีสันติบาลเข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง

จากประสบการณ์ของผู้เขียน  หากสันติบาลเป็นชาวพม่าแท้ที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น  คนที่ถูกติดตามจะสังเกตได้ง่ายเพราะมีความแตกต่างกันทางสีผิวและสำเนียงพูด แต่ในกรณีที่สันติบาลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ เลย  อันนี้น่ากลัว...เพราะหลายคนอาจเผลอไว้ใจ  ไม่ทันระวังคำพูด และอาจถูกจับได้ง่ายกว่า

ผู้เขียนเคยรู้สึกเสียวสันหลังวาบหลังจากที่พูดคุยกับคุณลุงชาวไทยใหญ่ท่านหนึ่งและเผลอไปซักถามเกี่ยวกับเสรีภาพของชาวไทยใหญ่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ  ชาวไทยใหญ่ท่านนั้นหันมาทำหน้าขรึมและพูดว่า "คุณรู้ไหมว่าถ้าอยู่ในพม่า อย่าถามคำถามประเภทนี้กับใคร ไม่ว่าคุณจะสนิทกับคนนั้นหรือไม่ เพราะคุณจะไม่มีวันรู้ว่า คนนั้นเป็นสายลับให้รัฐบาลพม่าหรือเปล่า  และคุณรู้ไหมว่า ถ้าผมเกิดเป็นสายลับให้รัฐบาลพม่าขึ้นมา  คุณจะเป็นอย่างไร...."

ฟังจบ ผู้เขียนรู้สึกใจเต้นตึกตักพาลจะเป็นลม เพราะหากชายตรงหน้าเป็นสายลับพม่าเข้าจริง ๆ   คงถูกส่งเข้าซังเตพม่าแน่ ๆ  ผู้เขียนยกมือไหว้ขอบคุณที่ได้รับคำตักเตือนและขอบคุณสวรรค์ที่ยังเมตตาให้คุณลุงไทยใหญ่ท่านนี้ไม่ใช่สายลับของทางการพม่า

เฮ้อ...หวิดเข้าคุกพม่าอีกแล้วสิเรา      

 

ความเห็น

Submitted by อ้ายแสงดาวฯ on

อยากเข้าไปนอนซังเตในพม่านักหรือหนูผึ้ง?(ฮา)

Submitted by บก. สาละวินโพสต์ on

อย่าให้กำลังใจแบบนี้สิ...แค่เห็นข่าวอองซานซูจีจะถูกส่งไปคุกอินเส่งยังรู้สึกกลัวแทน เพราะคุกแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าโหดมากที่สุด และรวมนักโทษการเมืองระดับหัวกะทิไว้ทั้งนั้น

Submitted by ดิโปะโหละ on

รู้สึกว่า อองซานซูจีจะผอมลงไปมากเลยนะครับ ผู้หญิงตัวเล็กๆไปทำผิดอะไรกันนะ ทำไมถึงโดนรัฐทบาลพม่าขังจนจะหมดลมหายใจแล้วเนี่ย คิดถึงอ้ายแสงดาว เน้อ ว่างๆจะไปออ ซิ ด้วยนะครับ เป็นกำลังใจให้บก เสมอครับ ถึงแม้ไม่เคยได้เจอแต่เข้ามาอ่านเสมอครับ

Submitted by ดอกไม้เดินทาง on

ขอนุญาตแสดงความคิดเห็นที่อาจไม่เกี่ยวกับหัวเรื่องโดยตรง ..
เคยพบกับคุณผึ้งสมัยทำงานอยู่กรุงเทพฯ แอบทึ่งกับการทำงานของผู้หญิงตัวเล็กๆครับ ..

ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็มีโอกาสอุดหนุนสาละวินโพสต์เป็นครั้งคราวเวลาขึ้นเชียงใหม่ ว่าจะสมัครสมาชิกละ จะได้ไม่ต้องไปหาอ่านที่ไหน เผอิญสองสามวันนี้นึกถึงสาละวินโพสต์ขึ้นมาก็เลยลองเข้าเว็บมาดู และได้เข้ามาอ่านบล็อกนี้ ผมคงไล่อ่านย้อนไปและคงติดตามงานของคุณผึ้งต่อไปเช่นกัน :)

Submitted by เซ็งสุด ๆ on

วันดี กล่าวว่า ไม่ได้บอกว่าเผด็จการทหารเป็นการปกครองที่เลวร้าย แต่รูปแบบการใช้อำนาจเผด็จการใช้กันในทางไหน ถ้าหากว่ามีทหารประจำการอยู่ทั่วประเทศแต่ไม่มีการคุกคาม ไม่ได้กดขี่ข่มเหงประชาชน ถ้าเป็นแบบนี้แม้จะมีผู้นำ หรือผู้มีอำนาจ เป็นทหาร แต่เขามี คุณธรรม จริยธรรม ก็เป็นที่ยอมรับกับได้ เคยมีทูตในประเทศพม่าบอกว่ารูปแบบการปกครองในเอเชียหลายประเทศยังเป็นรูปแบบเผด็จการอยู่ แต่เขามีจริยธรรม ไม่ได้ข่มเหงประชาชน ซึ่งต่างไปจากพม่า จริงๆ แล้วประชาคมโลกคงไม่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าหรอก หากเขามีความเห็นอกเห็นใจประชาชนของเขา ทำให้เขามองว่าเงินที่ได้มาจากการบริหารประเทศมาพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนการต่อต้านก็จะน้อยกว่านี้ อย่างกรณีนาร์กีสมีผู้ต้องการความช่วยเหลือเยอะ คนจะช่วยเหลือก็เยอะ ประเทศอื่นพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือ แต่กลับเป็นรัฐบาลทหารพม่าที่ไม่ให้เข้าไปช่วยเหลือและกีดกันตลอด ส่วนการช่วยเหลือที่ได้มาก็แบ่งเข้ากระเป๋าตัวเอง สิ่งเหล่านี้คงต้องติดตามกันต่อไป

Submitted by เซ็งสุด ๆ on

เห็นการให้สัมภาษณ์คุณวันดีผ่านตาอยู่ แต่ไม่ได้อ่านเนื้อความ วันนี้มีเพื่อนฝูงหวังดีส่งคำสัมภาษณ์บางส่วนมาให้อ่าน เห็นแล้วตกใจไม่น้อย หลังจากที่ได้อ่าน คำถามตามมามากมาย โดยเฉพาะการที่คุณวันดียอมรับกับระบบเผด็จการทหาร จากบทสัมภาษณ์ของคุณวันดี อดสงสัยไม่ได้ว่า มีผู้นำเผด็จการ ทหารประเทศไหนบ้างที่มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่กดขี่ข่มเหงประชาชนในประเทศ? ขอให้คุณวันดีช่วยยกตัวอย่างมาให้เห็นด้วยได้ไหมค่ะ

และในฐานะที่คุณวันดีเป็นบก.สาละวินโพสต์ งานที่ทำอยู่มีเป้าหมายเพื่ออะไร หากคุณยอมหรืเห็นด้วยเหมือนที่คุณอ้างประชาคมโลกมาว่า หากรัฐบาลเผด็จการทหารพม่ามีความเห็นอกเห็นใจประชาชน ก็จะไม่ต่อต้าน ?

Submitted by เซ็งสุด ๆ on

ประเด็นที่ควรตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมจากเนื้อหา มี 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่ไม่ถูกต้อง และอยากให้ผู้เกี่ยวข้อง อาจเป็นคุณวันดี หรือคนจัดทำบทสัมภาษณ์นี้ มาเพิ่มเติม คือ

(เรื่องที่ 1) ตรงประโยคที่ว่า.... "วันดี ตอบคำถามผู้ดำเนินรายการ กรณีกลุ่มผู้อพยพชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่า โดยวันดีกล่าวว่าในประเทศพม่ามีการสู้รบกันเยอะผู้คนต้องอพยพบ่อย เมื่อมีการสู้รบเกิดขึ้นบ่อยเช่นนี้ การที่ทางการจะรับพิสูจน์สถานะจึงน้อยมากเนื่องจากต้องหนีตลอด ผู้ที่หนีจึงกลายเป็นผู้ไร้รัฐไร้แผ่นดินอยู่"

ในความจริงแล้ว เรื่องการสู้รบ กับ การพิสูจน์สถานะ เป็นคนละเรื่องกันเลย และไม่เกี่ยวข้องกันด้วยซ้ำ

ข้อความที่ว่า - ในประเทศพม่ามีการสู้รบกันเยอะผู้คนต้องอพยพบ่อย อันนี้ถูก และเห็นด้วย

แต่ข้อความที่ว่า - เมื่อมีการสู้รบเกิดขึ้นบ่อยเช่นนี้ การที่ทางการจะรับพิสูจน์สถานะจึงน้อยมากเนื่องจากต้องหนีตลอด ผู้ที่หนีจึงกลายเป็นผู้ไร้รัฐไร้แผ่นดินอยู่ อันนี้ไม่ถูกแน่นอน

ลองอ่านเรื่องการพิสูจน์สถานะเพิ่มเติมได้ที่ http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=15573&...

จะได้เข้าใจมากขึ้น

Submitted by บก. สาละวินโพสต์ on

ขอบคุณที่ตั้งคำถามค่ะ เพราะจะได้แลกเปลี่ยนกันมากขึ้น จริง ๆ เรื่องข้อความที่ยกมา คงมาจากข่าวอีกข่าวอีกหนึ่งที่ทางประชาไทถอดเทปมาจากรายการวิทยุ มองคนละมุม เนื่องจากเป็นรายการวิทยุทีมีช่วงเวลาตอบคำถามเพียงสั้น ๆ ทำให้ไม่สามารถอธิบายบางเรื่องได้ชัดเจน

ขอตอบคำถามดังนี้นะคะ
เรื่องระบอบเผด็จการทหาร ดิฉันไม่เคยเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อประชาชนทุกประเทศ แต่ความหมายของดิฉันก็คือ ทุกวันนี้มีหลายประเทศที่ยังปกครองด้วยเผด็จการทหาร แต่บางประเทศอาจถูกต่อต้านมากน้อยแตกต่างกันไป กรณีของพม่า ผู้นำขาดจริยธรรมอย่างรุนแรงทำให้มีประชาชนต่อต้านมาก สำหรับประเทศที่ผู้นำทหาร "อาจ" มีจริยธรรมต่อ "คนบางกลุ่ม" มากหน่อย ประเทศนั้นก็จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ได้ผลประโยชน์จากระบอบเผด็จการทหาร แต่ก็ยังมีประชาชนที่ถูกกดขี่ต่อต้านอยู่ดี โดยความเห็นส่วนตัว ดิฉันอยากให้พม่าเป็นประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างบริสุทธิ์อย่างแน่นอน แต่ประชาธิปไตยของแต่ละประเทศกว่าจะได้มาไม่ใช่เรื่องง่ายไม่ใช่หรือคะ ถ้าระบอบเผด็จการทหารเข้มข้น เราก็คงต้องต่อสู้ยาวนานกว่ามันจะเจือจางลง ดิฉันยืนยันว่า...(มีต่อ)

Submitted by บก.สาละวินโพสต์ on

(ต่อ) ดิฉันยืนยันว่า ไม่ต้องการเห็นพม่าปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารอย่างแน่นอนค่ะ

สำหรับคำถามเรื่องการอพยพจากการสู้รบและการพิสูจน์สถานะสัญชาติ ดิฉันอาจมีเวลาพูดสั้นเกินไป จริง ๆ แล้วการสู้รบจะทำให้เกิดผู้อพยพทั้งผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internal Displaced Persons หรือ IDPs)และผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน (refugee) ผู้พลัดถิ่นภายในที่ยังหลบอยู่ตามป่าเขาในชายแดนพม่าจะจึงขาดโอกาสได้รับการพิสูจน์สถานะว่าเป็นประชาชนของ "รัฐพม่า" หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น พวกเขาก็จะไม่ได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียง จากประสบการณ์ที่เคยพบผู้พลัดถิ่นภายในบริเวณชายแดนรัฐกะเหรี่ยง สิ่งที่มีติดตัวคือเสื้อผ้าคนละชุดและเครื่องหุงหาอาหารที่จำเป็นในป่าเท่านั้น ส่วนหลักฐานอื่น ๆ ไม่มีเลยและหมู่บ้านบางแห่งที่ถูกทหารพม่าเผาไปแล้วทำให้ไม่มีโอกาสพิสูจน์สถานะตนเองค่ะ ส่วนเรื่องใบแจ้งเกิดคงไม่มีแน่ ๆ เพราะทำคลอดเองที่บ้านค่ะ

ถ้าดิฉันตอบอะไรไม่ชัดเจนหรือให้ข้อมูลผิดไป รบกวนช่วยชี้แนะด้วยนะคะ ดิฉันจะได้มีความรู้เพิ่มมากขึ้น

Submitted by บก. สาละวินโพสต์ on

ขอตอบเรื่องเป้าหมายของสาละวินโพสต์ว่า เพื่อให้คนไทยเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ "ประชาชน" ทุกกลุ่มชาติพันธุ์จากประเทศพม่าในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งค่ะ

ดิฉันเห็นว่า ข้อมูลที่คนไทยส่วนใหญ่รับรู้เกี่ยวประเทศพม่าผ่านสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์หัวสีมักเป็นไปในเชิงลบ ทั้งที่จริงมีเรื่องราวแง่มุมอื่น ๆ เกี่ยวกับประเทศพม่าอีกมากมายที่เราน่าจะเรียนรู้ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับเรา จึงพยายามนำเรื่องราวต่าง ๆ มานำเสนอ ที่ผ่านมาก็ค่อย ๆ พัฒนาให้มันดีขึ้นท่ามกลางข้อจำกัดหลายอย่าง หากมีคำแนะนำอะไรก็อย่าลังเลนะคะ ถ้ามันทำให้หนังสือมีคุณภาพมากขึ้นและเราทำได้ก็จะรีบลงมือทำค่ะ

Submitted by อ้ายแสงดาวฯ on

หนูผึ้ง อ้ายพูดแหย่เล่นบ่ดาย ต่อไปเข้าไปพม่าก็ระมัดระวังหน่อยเน้อ เผด็จการพม่าคงรู้แล้วว่า ผึ้งทำงานช่วยเหลือผู้อพยพ ... สาละวินโพสต์ ได้ช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้พี่น้อง ให้คนไทย และชาวโลกรับรู้ในความหฤโหด ของเผด็จการฟัสซิสม์ทหารเมียนม่าร์ ขอให้กำลังใจ พี่น้อง และผู้ทำงานช่วยเหลือพี่น้อง คับ

Submitted by fdrty on

คนพม่าในตลาดมหาชัย เสื้อแดงหลายคนครับ

Submitted by อนันต์ เลี่ยวเจ... on

เป็นผมก้อคงตกใจมากเหมือนกันครับ เฮ้อ...น่ากลัวจริงๆ แต่สะใจคุณลุงมากครับ โดนใจจริงๆ...

สายลับพม่า (จบ)

ความเดิมตอนที่แล้ว ผู้เขียนเล่าถึงภัยที่อาจเกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าแบบไม่ระมัดระวังเพราะที่ร้านอินเทอร์เน็ตอาจมีสายลับเฝ้าสังเกตบุคคลที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยแล้วส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองติดตามบุคคลนั้น ในตอนนี้ ผู้เขียนอยากถ่ายทอดบทเรียนความผิดพลาดจากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บข้อมูลในพม่าให้ผู้อ่านรับรู้ไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นหากต้องการเข้าไปเก็บข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือสร้างภาพพจน์เชิงลบให้รัฐบาลทหาร (ถ้าเก็บข้อมูลเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวจะไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลทหารได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว)

สายลับพม่า (3)...แหล่งรวมสายลับ

 อ่านเรื่องสายลับพม่ากันมาสองตอนแล้ว คนที่เคยเดินทางไปเที่ยวพม่าตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังต่าง ๆ อย่างเจดีย์ชเวดากอง หรือพระธาตุอินทร์แขวนอาจบอกว่า ไม่เห็นเคยเจอสายลับติดตามเลย  ผู้เขียนอาจเป็นพวก "คิดไปเอง" หรือเปล่า  อันที่จริง ถ้าผู้เขียนไม่ได้เดินทางไปพม่าในฐานะ "นักข่าว" ที่ต้องการเก็บข้อมูลปัญหาในพม่าออกเผยแพร่  ผู้เขียนก็คงจะเดินทางอย่างไร้กังวล ไม่ต้องเป็นโรคหวาดระแวงอย่างที่เห็น เพราะตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังจะไม่มีสายลับมาติดตามหรือถ้ามีสายลับอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวเพราะตราบใดที่ยังไม่มี "พฤติกรรมนอกกรอบ" นักท่องเที่ยว  พวกสายลับก็จะไม่สนใจเฝ้าติดตาม

แต่ถ้าคุณมีนิสัยชอบซักถามข้อมูลและถ่ายภาพที่ "ไม่พึงประสงค์" ในสายตาของรัฐบาลพม่า เช่น ถ่ายภาพที่ทำการพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซาน ซูจี หรือพูดคุยกับขอทานข้างถนน  ชาวบ้านในสลัม เป็นต้น  พฤติกรรมแบบนี้จะเป็นที่จับตามองของบรรดาสายลับพม่าซึ่งมักแฝงตัวรวมกับคนทั่วไป โดยเฉพาะร้านน้ำชา ซึ่งมีอยู่ทั่วทุกมุมเมือง อาทิ ร้านน้ำชาฝั่งตรงข้ามที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี  ว่ากันว่า บรรดาสายลับพม่าจะต้องนั่งประจำการอยู่ที่นี่เพื่อเก็บข้อมูลคนเข้า
-ออก  หากมีนักท่องเที่ยวคนไหนยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูปที่ทำการพรรคแห่งนี้ละก็  บรรดาสายลับก็จะปฏิบัติงานทันที

ผู้เขียนเคยเข้าพักที่โรงแรม Yusana ห่างจากที่ทำการพรรคเอ็นแอลดีแบบเดินถึงภายในห้านาที  เวลาเดินผ่านหน้าที่ทำการพรรคฯ ขนาดไม่ได้ยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูป เพียงแค่ยืนมองป้ายด้านหน้าเฉย ๆ  สายตาหลายคู่จากร้านน้ำชาฝั่งตรงข้ามยังเปล่งรัศมีข้ามมาถึงจนทำให้ต้องรีบเดินจ้ำอ้าวผ่านไปเร็ว ๆ  ถ้าขืนยกกล้องขึ้นมา งานนี้สวรรค์คงไม่เมตตาแน่ ๆ เพราะหาเรื่องใส่ตัวเอง  ผู้เขียนได้แต่แกล้งทำทีซ่อนกล้องไว้ในกระเป๋าสะพายให้เลนส์โผล่ขึ้นมาเล็กน้อย เวลาเดินผ่านเป้าหมายก็กดชัตเตอร์มั่วๆ ไปโดยไม่ยกกล้องขึ้นมา  ผลปรากฎว่า มองไม่เห็นอะไรเลยเพราะรีบเดินจ้ำอ้าวเร็วเกินไป!

เพื่อนช่างภาพชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขาถูกสันติบาลพม่าติดตามหลายครั้งในระยะกระชั้นชิดและรู้แน่ชัดว่าถูกติดตาม  เขาจึงแกล้งไปสถานที่ทั่ว ๆ ไป เช่น ร้านน้ำชา พอเห็นสันติบาลมานั่งโต๊ะติดกันบ่อย ๆ ในที่สุด เขาก็หันไปยิ้มให้แล้วชักชวนให้มานั่งด้วยกันเสียเลยดีไหม  เขาบอกกับสันติบาลคนนั้นว่า "ผมเข้าใจดีว่า คุณกำลังทำตามหน้าที่ อยากตามก็ตามเถอะ"  อีกเหตุการณ์หนึ่ง เพื่อนชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งเล่าว่า เธอนัดคุยกับชาวพม่าท้องถิ่นเรื่องการพานักข่าวมาอบรมนอกประเทศพม่าที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง  เวลาคุยกัน  เด็กเสิร์ฟน้ำชามักจะมายืนใกล้ ๆ แล้วคอยบริการเติมน้ำชาให้กับเธอบ่อย ๆ เหมือนต้องการแอบฟังเรื่องราวที่คุยกัน ถึงขนาดที่ว่า เธอเพิ่งจิบน้ำพร่องไปนิดเดียว เด็กหนุ่มก็รีบเข้ามาเติมชาให้เต็มแก้วทันที  ฟังแล้ว.. บางคนอาจท้วงว่าเพื่อนคนนี้ขี้ระแวงมากไปหรือเปล่า เพราะนี่อาจเป็นบริการสุดประทับใจที่ทางภัตตาคารมอบให้ลูกค้าทุกคนก็เป็นได้ !


นอกจากร้านน้ำชาแล้ว  ร้านอินเทอร์เน็ตจัดเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สายลับพม่ามักวนเวียนอยู่แถวนั้น  เพราะถือเป็นเครื่องมือสื่อสารสู่โลกภายนอก  เมื่อสมัยที่ผู้เขียนเดินทางเข้าพม่าแปดปีก่อน ยุคนั้นรัฐบาลพม่ายังไม่อนุญาตให้ใช้ฟรีอีเมลใด ๆ ทั้งสิ้น  หากต้องการส่งอีเมลจะต้องใช้อีเมลของร้านอินเตอร์เน็ตที่ขึ้นทะเบียนเปิดขอใช้อีเมลกับทางการเท่านั้น  ดังนั้น เวลาส่งเมลมาหาเพื่อนหรือญาติที่เมืองไทย ชื่อที่ปรากฎบนอีเมลของผู้ส่งจะเป็นชื่อของร้านอินเทอร์เน็ตนั้น ๆ
 

ผู้เขียนจำได้ว่า ตอนนั้นส่งเมลมาหาเพื่อนและต้องใส่ข้อความในชื่อเรื่องว่า "ถึง (ชื่อเพื่อน) นี่ฉันเอง (ชื่อตัวเอง)" เพราะกลัวเพื่อนคิดว่าเป็นเมลขยะแล้วลบทิ้ง แล้วค่าส่งอีเมลไม่ได้นับเป็นชั่วโมง  แต่คิดตามความยาวหน้ากระดาษ คือ "เขียนน้อยจ่ายน้อย เขียนมากจ่ายมาก"  แล้วเวลาจะส่งต้องเรียกพนักงานร้านมาส่งให้เพื่อทำการจัดเก็บข้อความของผู้ใช้บริการส่งให้หน่วยข่าวกรอง  ดังนั้น  ใครหาญกล้าเขียนข้อความล่อแหลมวิจารณ์รัฐบาลก็คงจะได้เข้าไปนอนในคุกแน่ ๆ เพราะหลักฐานมีให้เห็นอยู่โต้ง ๆ

ล่าสุดที่ผู้เขียนเดินทางไปพม่าปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา  อินเทอร์เน็ตเข้าถึงเมืองใหญ่หลายเมืองแล้ว  โดยรัฐบาลพม่าอนุญาตให้ใช้ฟรีอีเมลของ gmail ได้  ส่วน hotmail และ yahoo ยังคงถูกบล็อคไว้  รวมทั้งเว็บไซต็ข่าวต่างประเทศหลายสำนักข่าวก็ถูกบล็อคเช่นกัน  แต่ถึงแม้ประชาชนจะมีฟรีอีเมลใช้ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เสรีภาพในการส่งข้อมูลข่าวสารจะมากขึ้นตามไปด้วย  เพราะร้านอินเทอร์เน็ตที่ไปใช้ต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลและคนที่ไปใช้บริการก็ไม่มีความเป็นส่วนตัวในการพิมพ์ข้อความสักเท่าใดนัก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ร้านเดินไปเดินมาตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ ถ้าใครส่งอีเมลที่มีข้อความ "ต้องห้าม" หรือ "น่าสงสัย" ก็อาจนำมาภัยมาสู่ตัวได้ง่าย เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสาละวินโพสต์ซึ่งถูกจับได้หลังเก็บข้อมูลและถ่ายภาพผู้ประสบภัยนาร์กิสเมื่อปีที่ผ่านมา

เรื่องราวจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามอ่าน "สายลับพม่า (ตอนจบ)" ในครั้งต่อไปนะคะ

สายลับพม่า (2) ... หวิดเข้าคุกพม่า (อีกแล้ว)

หลังจากผู้เขียนถูกสายลับพม่าติดตามครั้งแรกทำให้ผู้เขียนเริ่มระวังตัวมากขึ้นในการเดินทางไปพม่าครั้งต่อมา  ประสบการณ์ทำงานประเด็นพม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ผู้เขียนเริ่มเข้าใจวิธีการทำงานของสายลับพม่ามากขึ้น  ถ้าจะลองแบ่งประเภทสายลับพม่าจากประสบการณ์ที่เคยพบก็พอจะแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ  (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน กรุณาอย่านำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการ) คือ สายลับแบบทำงานเต็มเวลา (full- time) กับสายลับแบบชั่วครั้งชั่วคราว (Part-time)

สายลับประเภทแรกอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งตามภาษาบ้านเราว่า
"สันติบาล"    สายลับประเภทนี้จะแต่งกายแบบชาวบ้านทั่วไปเพื่อไม่ให้เป็นที่จับตามอง   สิ่งที่สังเกตได้ว่าพวกเขากำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ก็คือ "พฤติกรรมแปลก ๆ" เช่น การเดินตามผู้เขียนในรัศมีที่มองเห็นหรือสัมผัสได้ว่ามีใครบางคน (บางทีก็หลายคน) ติดตามอยู่  การยืนจับกลุ่มกันจ้องมองมาทางผู้เขียนในทิศทางเดียวกันหมด  หรือการนั่งจับกลุ่มกันเงียบ ๆ ในรัศมีใกล้ชิดกับผู้เขียนเพื่อแอบฟังบทสนทนาระหว่างผู้เขียนและเพื่อนร่วมเดินทาง  เช่น เมื่อครั้งเดินทางไปเมืองเมาะละแหม่ง (เมาะลำไย) ทางภาคใต้ของพม่า ผู้เขียนและเพื่อนร่วมทางรวมห้าคนถูกสันติบาลพม่าสามคนตามมาที่โรงแรม

สิ่งที่สังเกตได้คือ ชายทั้งสามคนแต่งกายด้วยชุดโสร่ง ไม่มีกระเป๋าเดินทางเหมือนแขกทั่วไป และคอยจ้องมองมาทางพวกเราตลอดเวลา
  ถ้าพวกเราไปนั่งกินข้าวเช้าในห้องอาหารของโรงแรม  พวกเขาก็จะมานั่งโต๊ะติดกันแบบเงียบสนิท ไม่มีใครพูดอะไรเลย เหมือนกำลังตั้งใจฟังสิ่งที่พวกเราคุยกัน  พวกเราจึงสันนิษฐานว่าชายกลุ่มนี้น่าจะเป็นสันติบาลที่คอยติดตามนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มากับกรุ๊ปทัวร์ โดยทางโรงแรมคงทำหน้าที่ "ส่งข่าว" ให้เหมือนที่เคยเจอเมื่อครั้งไปรัฐฉานครั้งแรก   และเพื่อความปลอดภัย พวกเราจึงใช้ "รหัสลับ" ที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ในการพูดคุยกันเวลาอยู่ต่อหน้าสันติบาลพม่า  เช่น ใช้คำว่า "สัปปะรด" เวลาต้องการพูดถึง "สันติบาล" หรือใช้คำว่า "พ่อหลวง" แทน "รัฐบาลทหารพม่า"  เป็นต้น 

อ่านมาถึงตอนนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ทำไมต้องใช้รหัสลับในการพูดคุย เพราะสันติบาลพม่าจะเข้าใจภาษาไทยได้อย่างไร
  คำตอบก็คือ สันติบาลจะต้องเรียนภาษาท้องถิ่นในพื้นที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ เช่น เมืองที่อยู่ใกล้ชายแดนไทยก็มักจะมีสันติบาลพม่าที่ฟังภาษาไทยออก  หรือเมืองที่มีประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่ สันติบาลที่อยู่ประจำพื้นที่นั้นก็จะต้องเรียนรู้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นหากสามารถฟังภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ หรือบางครั้งสันติบาลก็อาจเป็นคนจากกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ เองก็มี  

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไปรัฐฉานครั้งแรก  ผู้เขียนเคยคุยกับครูสอนภาษาไทยใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งถูกบังคับให้เป็นครูสอนภาษาไทยใหญ่ให้กับทหารพม่าที่มาประจำเมืองนั้น เนื่องจากเวลาที่คนไทยใหญ่มีประชุมทางวัฒนธรรมเกินกว่า 5 คนจะต้องยื่นขออนุญาตทางการพม่าก่อนและจะมีสันติบาลเข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง

จากประสบการณ์ของผู้เขียน  หากสันติบาลเป็นชาวพม่าแท้ที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น  คนที่ถูกติดตามจะสังเกตได้ง่ายเพราะมีความแตกต่างกันทางสีผิวและสำเนียงพูด แต่ในกรณีที่สันติบาลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ เลย  อันนี้น่ากลัว...เพราะหลายคนอาจเผลอไว้ใจ  ไม่ทันระวังคำพูด และอาจถูกจับได้ง่ายกว่า

ผู้เขียนเคยรู้สึกเสียวสันหลังวาบหลังจากที่พูดคุยกับคุณลุงชาวไทยใหญ่ท่านหนึ่งและเผลอไปซักถามเกี่ยวกับเสรีภาพของชาวไทยใหญ่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ  ชาวไทยใหญ่ท่านนั้นหันมาทำหน้าขรึมและพูดว่า "คุณรู้ไหมว่าถ้าอยู่ในพม่า อย่าถามคำถามประเภทนี้กับใคร ไม่ว่าคุณจะสนิทกับคนนั้นหรือไม่ เพราะคุณจะไม่มีวันรู้ว่า คนนั้นเป็นสายลับให้รัฐบาลพม่าหรือเปล่า  และคุณรู้ไหมว่า ถ้าผมเกิดเป็นสายลับให้รัฐบาลพม่าขึ้นมา  คุณจะเป็นอย่างไร...."

ฟังจบ ผู้เขียนรู้สึกใจเต้นตึกตักพาลจะเป็นลม เพราะหากชายตรงหน้าเป็นสายลับพม่าเข้าจริง ๆ   คงถูกส่งเข้าซังเตพม่าแน่ ๆ  ผู้เขียนยกมือไหว้ขอบคุณที่ได้รับคำตักเตือนและขอบคุณสวรรค์ที่ยังเมตตาให้คุณลุงไทยใหญ่ท่านนี้ไม่ใช่สายลับของทางการพม่า

เฮ้อ...หวิดเข้าคุกพม่าอีกแล้วสิเรา      

 

สายลับพม่า ตอน (1) ...เขาหาว่าหนูเป็นสายลับ

ในแวดวงคนทำงานประเด็นพม่าต่างคุ้นหูกับเรื่องราวของ "สายลับพม่า" กันเป็นอย่างดี เพราะรัฐบาลทหารพม่าให้ความสำคัญกับหน่วยข่าวกรองมากและหน่วยข่าวกรองพม่าก็มีอำนาจมากจนเทียบเท่ากับอีกสามเหล่าทัพ (ทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ) เลยทีเดียว

สายลับพม่าไม่ได้ทำงานในเขตประเทศพม่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่ง "สาย" ข้ามฝั่งมาทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่า หน้าที่ของสายลับพม่า คือ การเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาลทหาร

มองปรากฏการณ์พม่าหลังหนึ่งปีนาร์กีส

    วันที่ 3 พฤษภาคมนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีหลังไซโคลนนาร์กีสถล่มภาคอิรวดีของพม่า  หนึ่งปีที่ล่วงผ่านมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น  ซึ่งทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจเพื่อนบ้านติดพรมแดนตะวันตกของเรามากขึ้น