แย้ง อดอร์โน (1) : ดนตรีป็อบไม่ได้ทำให้ใครกลายเป็นปัจเจกเทียม

12 January, 2008 - 03:07 -- parid

Theodor W. Adorno

ผมได้อ่านบทความเรื่อง "ทบทวนแนวคิด ‘อุตสาหกรรมวัฒนธรรม' : เมื่อวัฒนธรรมกลายเป็นอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมสร้างวัฒนธรรม" ของ อ.เกษม เพ็ญภินันท์ จากวิภาษาฉบับที่ 7 แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าเคยอ่านเรื่องของนักคิด/นักวิจารณ์ ที่ชื่อ Theodor Adorno นี้ จากบทความชื่อ "อดอร์โนกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม : กรณีศึกษาเพลงสมัยนิยม (Popular Music)" ในหนังสือชื่อ "เหลียวหน้าแลหลัง วัฒนธรรมป็อบ" ซึ่งเป็นบทความที่พูดถึงเกี่ยวกับดนตรีโดยเฉพาะ

Adorno เป็นนักคิดสังคมนิยมชาวเยอรมัน ผู้นำเอาแนวคิดของทั้ง Max Waber, Marx และ แม้แต่ Sigmund Freud เข้ามาจับในงานเขียนเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของดนตรี

Adorno พูดถึงดนตรีโดยแบ่งออกเป็นสองประเภทอย่างชัดเจนคือ Serious Music (ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงดนตรีเครียด แต่ "ซีเรียส" ที่หมายถึงจริงจังน่าจะตรงกว่า) ซึ่งมีนัยหมายถึงดนตรี Classic ทั้งหลายแหล่ (โดยเฉพาะดนตรีที่มีความเป็น Atonality ที่เขาชอบ) กับ Light Music/Popular music ซึ่งหมายถึงดนตรีสมัยนิยม/มวลชนนิยม (จากนี้ผู้เขียนขอเรียกอย่างชัดเจนว่า Popular music) ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ Jazz, Blue, Folk, Pop, Rock, เพื่อชีวิต แม้กระทั่ง Progressive 

โดย Adorno ได้วิพากษ์วิจารณ์ดนตรี Popular music ว่าเป็นดนตรีที่มีลักษณะเฉพาะของการผลิตซ้ำ และมีจุดมุ่งหมายแบบอุตสาหกรรมวัฒนธรรม คือเป็นการผลิตเพื่อมุ่งการซื้อขาย การฟังดนตรีพวกนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการบริโภคสินค้าเพื่อความพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม นอกจากนี้อาจยังจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า False need คือ "ความต้องการเทียม" ขึ้นมาอีก

False Need นี้หมายถึงความต้องการในสิ่งที่ไม่ได้จำเป็นต่อเราจริงๆ ตัวอย่างง่ายๆ คือเวลาที่เรารู้ว่าใครได้ฟังเพลงๆ นึง พูดถึงเพลงๆ นึงในกลุ่มเพื่อนแล้วเราไม่รู้จัก เราไม่เข้าใจ เราไม่เคยฟัง เราก็จะเกิด False need ว่าเราต้องไปหาฟังมันให้ได้ ไม่งั้นจะเชย หรือคุยกับใครไม่รู้เรื่อง อย่างนี้เป็นต้น

ซึ่งในประเด็นนี้ผมมีข้อถกเถียงอยู่แน่นอน ทั้งเรื่องการสร้างความพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม และเรื่องการสร้าง False need แต่ตอนนี้ขอเล่าถึงความคิดที่ลึกไปกว่านี้ของ นาย Adorno ก่อน

เขาได้เขียน บทความชื่อยาวเหยียดบ้าคลั่งว่า "On the Fetish Character of Music and the Regression of Listening" และในเนื้อหาตอนนึงของบทความ มีข้อความที่ทำให้ผมรู้สึกขำ ข้อความที่ว่านั้นก็คือ

"...the illusion of a social preference for light music as against serious is based on that passivity of the masses which makes the consumption of light music contradict the objective interest of those who consume it"

ขอแปลตามบริบทปัจจุบันและความเข้าใจของผมเองว่า "...ภาพลวงของการที่คนในสังคมส่วนมากชื่นชอบดนตรีสมัยนิยมเบาๆ  ง่ายๆ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธดนตรีซีเรียส เนื่องมาจากความเฉื่อยชาของมวลชน ที่ทำให้การเสพย์ดนตรีสมัยนิยม ย้อนแย้งกับความสนใจเชิงวัตถุวิสัยของผู้เสพย์เอง"

คำที่ผมฮาคือ "ความเฉื่อยชาของมวลชน" (Passivity of the Mass) ในความหมายคล้ายๆ กันตรงนี้ Adorno ก็ถึงขั้นบอกว่าอุตสาหกรรมเพลงมันช่วยสร้างปัจเจกเทียม (Pseudo-individual) ขึ้นมาเลยทีเดียว หมายความว่า การที่ผู้คนแห่แหนชื่นชมเพลงบางเพลงหรือศิลปินบางกลุ่ม เป็นเพราะพวกเขาเฉื่อยชาและยอมจำนนอย่างนั้นหรือ? ...ผมคิดว่ามีส่วนจริงครับ แต่ไม่ทั้งหมด บางคนอาจจะชื่นชมในดนตรีวงนี้ๆ เพลงนี้ๆ ตามๆ กันไปเพียงเพื่อต้องการทำตัวกลมกลืนไปกับสังคม แต่ขณะเดียวกันผมก็เชื่อว่ามันเป็นรสนิยมส่วนตัว เป็นการเลือกเสพย์ของเขาเองก็มี

ดนตรี Popular music ทั้งหลายในยุคสมัยปัจจุบันที่ Adorno ไม่ทันได้เห็นนั้น มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่เดิมมาก เท่าที่ผมสำรวจตรวจตราดู ผมเห็นว่า รสนิยมของผู้คนมันหลากหลายขึ้นกว่าในอดีตนัก จริงอยู่ดนตรีป็อบกระแสหลักยังครองใจคนหมู่มาก แต่พื้นที่ของคนที่ชอบอะไรแตกต่างออกไปก็มีหลากหลายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการผุดขึ้นมาของวัฒนธรรมย่อยอย่าง พังค์, เมทัล, อีโม, อินดี้ หรืออะไรๆ ซึ่งผมไม่ค่อยสนหรอกว่า มันจริงหรือมันเฟค อะไรยังไง แต่การมีอยู่ของความหลากหลายตรงนี้มันทำให้คนได้มีทางเลือก

ยังไม่นับว่า คนที่ทำงานการเคลื่อนไหวทางสังคมส่วนใหญ่ที่ผมพบเจอก็ไม่ได้ฟังเพลงคลาสสิก ฟัง Serious music อะไรของคุณเลยแม้แต่น้อย พวกเขาฟัง Pop-rock ธรรมดา, ฟังเพื่อชีวิต, ฟังลูกทุ่ง, บางคนชอบเพลงพื้นบ้านชนเผ่า กระทั่งปัญญาชนสมัยใหม่ที่รู้จักชื่อวง Heavy Metal แปลกหู มากพอๆ กับที่รู้จักชื่อนักคิดออกเสียงยากๆ ผมก็เคยเจอมาแล้ว

ในเมื่อ Adorno เอาจิตวิทยามาจับ ผมก็จะเอาจิตวิทยามาจับบ้าง (เอาไปยำกับปรัชญาเล็กน้อย) ผมคิดว่าคนที่จะสมาทานรสนิยมเข้ากับอะไรอย่างชัดเจนมักจะเกิดในช่วงวัยรุ่นเป็นสำคัญ ประการแรกวัยรุ่นเป็นช่วงค้นหา Identity ของตัวเอง ซึ่งอิทธิพลก็มาจากทั้งสภาพแวดล้อมที่เขาเกิดและเติบโตมา ประการที่สอง ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่คนเราจะหากลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน (หรือสนใจอะไรใกล้เคียงกัน) แบบที่เรียกว่า Peer Group และการเสพย์ดนตรีพวกนี้ บางครั้งก็เป็นไปเพื่อการเข้าสังคม แต่ในปัจจุบันมีคนที่สนใจดนตรีแนวเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลัก ก็ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แม้พวกนี้อาจจะสร้างอัตลักษณ์อะไรบางอย่างร่วมกัน (ใส่เสื้อวง, เพ้นท์ขอบตา, ทรงผม ฯลฯ) แต่ผมเชื่อว่าพอหมดจาก "พิธีกรรม" ร่วม เช่น คอนเสิร์ทเฉพาะกลุ่ม หรืออะไรก็ตามตรงนั้นไปแล้ว พวกเขาก็จะกลับมามีอัตลักษณ์อะไรอย่างอื่นในแบบของตัวเองอยู่ดีแหละครับ เราไปรู้ได้ยังไงว่าเขาเป็นปัจเจกเทียม เพียงเพราะพวกเขามีอัตลักษณ์บางส่วนร่วมกันน่ะหรือ?

ที่มาของภาพ : averypublicsociologist.blogspot.com

บทความเรื่อง "On the Fetish Character of Music and the Regression of Listening" ของ Adorno เขียนเมื่อปี 1938 ซึ่งในยุคสมัยนั้นเข้าใจว่าดนตรี Jazz กำลังครองเมือง และ Adorno เองก็มีอคติกับ Jazz เป็นการส่วนตัว (ผมเชื่ออย่างนั้น) ทั้งนี้ถ้าได้อ่านประวัติก็จะพบว่าเขาเติบโตมากับดนตรีคลาสสิค จึงไม่แปลกที่เขาจะเชิดชูมันนัก โดย Adorno ก็ทำการป้องกันตัวเองตรงนี้ไว้ก่อนด้วยการด่าพวก Positivism หรือก็คือนักวิจารณ์ที่เน้นวิเคราะห์ตัวผู้ผลิตงาน (นักคิด/นักปรัชญา/ศิลปิน ฯลฯ) มากกว่าตัวบท คงเพราะกลัวว่าจะมีคนมารู้เข้าว่าเขาเกลียด Jazz แล้วชูดนตรีคลาสสิคกระมัง :P

แต่เชื่อใจได้ ผมจะไม่โจมตี Adorno ด้วย Positivism อย่างเดียว (ซึ่งผมคิดเหมือนกันว่าการใช้ Positivism โดดๆ มันยังตื้นเกินไป) ผมอยากจะบอกว่า ผมเสียดายแทน Adorno มากที่เขาเสียชีวิตไปในปี 1969 ช่วงที่ Popular music ในยุคนั้นอย่างดนตรี Rock กำลังบูม และวัฒนธรรมฮิปปี้เบ่งบานได้ที่เลยทีเดียว (ยังไม่นับว่าดนตรี Progressive Rock เพิ่งตั้งไข่ ซึ่งผมจะเขียนถึงในครั้งหน้า)

Adorno อาจจะวิจารณ์ก็ได้ว่า ดนตรี Rock ก็ไม่ต่างอะไรกับ Jazz ที่มีความแตกต่างหลากหลายแต่ก็หลากหลายกันในกรอบเดียว (เขาใช้คำว่า "Various with the same theme") และแม้ดนตรีจะมีลักษณะท้าทาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เสพย์เกิดสำนึกในการที่จะเป็นอิสระ, มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสุขอันจริงแท้ รวมถึงไม่ได้ช่วยในการปลดปล่อยสังคม

ผมไม่รู้ว่า Adorno เคยเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของ Popular music รวมถึงวัฒนธรรมที่พ่วงมาด้วยมากแค่ไหน แต่หากได้ศึกษาบริบทดีๆ จะพบว่าดนตรีบางประเภทที่เขาปฏิเสธ มันมีที่มาน่าสนใจขนาดไหน อย่างเช่นดนตรี Blues (ซึ่งแน่นอนสำหรับ Adorno มันต้องถูกรวมอยู่ใน Popular music) นั้น มันมีกำเนิดมาจากการที่คนผิวสี ในยุคนั้นที่ยังเป็นแรงงานทาส พวกเขาไม่เพียงถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในทางสังคม แม้แต่ในทางวัฒนธรรมพวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมใดๆ  พวกเขาจึงทำได้แค่เพียงร้องเพลงโต้ตอบกันเวลาที่ทำงานเป็นหมู่คณะ ด้วยเนื้อหาและน้ำเสียงที่แสดงออกถึงความเจ็บปวดจากตัวผู้ขับร้องเอง ซึ่งต่อมาน้ำเสียงแบบนี้รวมถึงดนตรีที่มีการวางตัวโน้ตในแบบแอฟริกันดั้งเดิมได้กลายมาเป็นดนตรีบลูส์

จริงอยู่ ดนตรีแนว Blues อาจจะไม่ได้ช่วยให้เกิดการปฏิวัติเลิกทาสของคนผิวสี (โดยตรงในทางรูปธรรม) แต่ในแง่ของวัฒนธรรมมันทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้มีพื้นที่ในการแสดงออกบ้าง ทำให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึกออกมาจากเพลงต่างๆ ที่เขาร้องเขาเล่น Adorno เอ๋ย...คุณอาจจะบอกว่า "การมีพื้นที่ตรงนี้โดยไม่คิดจะทำอย่างอื่นที่มากกว่า มันจะทำให้เกิดความเฉื่อยชา และไม่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างจริงจัง" 

ซึ่งผมก็จะขอตอบคุณว่า "หากคนๆ หนึ่งกำลังหิวไส้จะขาด คุณจะยังมามัวสอนเขาตกปลาอยู่หรือ? บางทีการให้ปลาตัวหนึ่งไปก่อน หรือแม้แต่ปลากระป่อง (ผลผลิตแบบอุตสาหกรรมที่คุณรังเกียจน่ะ) ถ้ามันช่วยชีวิตเขาได้ มันก็น่าจะทำไม่ใช่หรือ"

สิ่งที่ผมพบในงานวิพากษ์วิจารณ์ดนตรี Popular music ของ Adorno นั้น นอกจากมันจะน่าขำสำหรับผมแล้ว ผมยังพบว่ามันเป็นงานที่แสนจะเหมารวม คิดแทนคนอื่น และตรงทื่อไร้มิติโดยสิ้นเชิง

ไว้คราวหน้าจะมาขยายความ...

ความเห็น

Submitted by ฮกหลงฯ on

สิ่งหนึ่งที่รบกวนผมมาก ๆ เวลาอ่านข้อเสนอของ Adorno ก็คือว่า Adorno มักจะ romanticized ดนตรี classic แล้วทำราวกับว่า ดนตรี classic เป็นสถานะที่อยู่เหนือ "การซื้อ-ขาย" หรืออยู่นอกเหนือสังคมไปโดยไม่ได้กลับไปดูประวัติศาสตร์ของดนตรีว่า มันอยู่ในบริบทหรือสถานะอะไร

Submitted by เกรียนสาด ชามะนาว on

ชีวิตผมมอบให้ท่านทักษิณ กับโลโซ เท่านั้น

ใครจะว่าเป็นลิ่วล้อ ว่าเป็นเสี่ยว

แล้วมันไปหนักหัวพ่อพวกมึงหรือ ไอ้หน้าส้นตีน เบเกรี่ โมเดิร์นดอก ไอ้อะพารท์เม้นคุณป้าที่ไปขึ้นเวทีพันทะมิด

เกลียดพวกนี้ชิบ

Submitted by เบื่อเกรียนสาด ฯ on

สนุกดี .. รออ่านตอนต่อไป

Submitted by เกรียนสาด ชามะนาว on

ไม่เบื่อเว๊ย

ต่อยกันป่าว

Submitted by เกรียนสาด ชามะนาว on

ฟังแต่เพลง ไอ้พวกปัญญาอ่อน

สนใจการเมืองกันบ้าง

คุณหญิงอ้อกลับมาแล้วนะ

แสรดดด

Submitted by น้องน้อ on

พี่เกรียนสาด ชามะนาว, ขา อย่าใส่อารมณ์ ซี เพ่ โตๆกันแล้ว ความคิดเห็นของคนย่อมมีแตกต่างกันปายยยยยย โลกนี้ย่อมมีความหลากหลายทางชีวภาพ อย่าคิดว่าความคิดของตะเอง ถูกที่สูดดดดด๊ ใยเย็นๆนา เพ่ ใครจาเชียร์ เฮีย ท๊ากกกกกสิน ก้อ เชียร์ กานปายยยย แต่อย่าคิดว่าคนที่ม่ายชอบ น้าท๊ากสินไม่ได้เรื่อง ผิดปายยยหม๊ด ให้กาลเวลา และธรรมชาติเป็นผู้ตัดสินดีกว่า โปปปปรดอย่าสรุป อย่าเหมารวม ถ้าเป็นงั้น เพ่ ก้อคือ เผด็จการเช่น กัลลลลลล์ ใจเย็นๆเพ่อย่าท้าตีท้าต่อย คนม่ายกลัวกัน ดอกจ้า

รักษาสมารมณ์ อันสุนทรีไว้ก้อแล้ว กัน มนุษย์เราเคารพซึ่งกันและกัน นะ มองดูโลกให้กว้าง เอกภพจักรวาลนี้ ยังห้เราต้องศึกษา ท่องเที่ยงไปรับเรียนรู้อีกยาวนาน มนุษย์มิได้ยิ่งใหญ่กระไรเลย สุขสบายดีนะพี่ พึงอย่า มะโห กะเดี๋ยวสารเครียดจะหลั่ง สาร ซะเปิ๊อมหลั่งมิเป็นราย ก้อเป็นสารแห่งความสุขอยู่

เรียนมาพูดคุยสนทนาด้วยความสมานฉันท์ จ้า

Submitted by เกรียนสาด ชามะนาว on

ถึงน้องน้อ

อย่าแส่ได้ป่าว และที่บอกว่าคนที่ชอบทักษิณเป็นเผด็จการน่ะ ไปเอาที่ไหนมาพูด
เขาชนะเลือกตั้งนะ ชาวบ้านเลือก ไม่ได้เป็นเผด็จการ
เบื่อจริงๆ พวกปัญญาอ่อน

สมานฉันท์ก็คำของพวกปัญญาอ่อน
ขอร้องกระดูกไม่ถึงอย่ามาเถียงได้ป่าว ไปไกลๆ

Submitted by เกรียนสาด ชามะนาว on

ไอ้พวกชนชั้นกลางที่หลงโง่งมกับวลี สหมาฉันท์

ลองอ่านอันนี้ดู
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร : ความไร้สาระของ ‘การสมานฉันท์’ และความหมายที่แท้ของ ‘การเมือง’
http://www.prachatai.com/05web/th/home/10856

ยังมีน่ามาพูดถึงความสมานฉันท์ แหวะ

บทครุ่นคำนึงหลังงาน World Musiq ที่เซ็นทรัลเวิร์ล

6 February, 2010 - 16:53 -- parid

ภฤศ ปฐมทัศน์

ผมได้ยินข่าวเรื่อง "จังหวะแผ่นดิน World Musiq & World Bar B Q" วันเดียวก่อนวันงานนั่นเอง ได้ยินคุณทอดด์ ทองดี พูดผ่านวิทยุว่าจะมีศิลปินจากหลายประเทศทั่วโลกมาเข้าร่วม และมีการแสดงร่วมกันของเพื่อแสดงให้เห็นว่าดนตรีมันไร้พรมแดน

ผมเองเข้าใจความรู้สึกของคนที่พูดอะไรที่เป็นอุดมคติครับ และรู้สึกที่สิ่งที่คุณทอดด์แกพูดแกไม่ได้ตอแหล (แบบพวกอ้างศีลธรรม) ผมรู้สึกได้จากน้ำเสียงและการไหว้วอนขอให้ภาครัฐและกระทรวงวัฒนธรรมหันมาสนใจ ทำให้รู้สึกว่าแกมีความตั้งใจตรงนี้จริง ๆ

แต่ว่าอุดมคติที่สวยงามบางทีมันเป็นแค่สิ่งที่ฉาบเคลือบอะไรที่ยังแหว่งโหว่อยู่ภายใน ซึ่งมันยากที่จะชี้ตัวว่าความแหว่งโหว่นี้เป็นความผิดของใคร เรื่องนี้ผมจะพูดในภายหลัง ในตอนนี้ผมกำลังรู้สึกสนุกกับสิ่งที่ได้เห็นอยู่บนเวที ที่ลานของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล

งานจำพวกศิลปินกับลานเบียร์นี้มีให้เห็นกันทั่วไป แต่สิ่งที่โดดเด่นในงานนี้คือวงดนตรีที่เข้าร่วม แน่นอนว่าผมไม่เคยได้ยินเพลงจากวงดนตรีของทวีปแอฟริกามาก่อน ถึงผมจะพอเดาทางได้จากอิทธิพลของดนตรีซึ่งส่งผ่านไปยังดนตรีของคนผิวสีแบบอื่น ๆ เช่น เร้กเก้, แจ็ซซ์ , ฟังค์ หรืออิเล็กโทรนิกบางจำพวก เนื่องจากดนตรีของชาวแอฟริกันโดดเด่นมากในส่วนของการให้จังหวะ (Rhythm Section)

และวง Yunasi วงจากประเทศเคนย่าที่มาเล่นในงานนี้ก็ทำได้น่าประทับใจ พวกเขาแสดงสดได้เยี่ยมและเอนเตอร์เทนคนดูได้อยู่หมัด ราวกับเคยผ่านเวทีประมาณนี้มานักต่อนักแล้ว ดนตรีของวง Yunasi ไม่เชิงเป็นแนวแอฟริกันดั้งเดิมเสียทีเดียว เพราะมันคือการผสมผสานกันของดนตรีสมัยใหม่โดยยังคงความเป็นแอฟริกันไว้ในส่วนของจังหวะเท่านั้นเอง ผมเคยลองฟัง Yunasi จากแหล่งอื่นครั้งหนึ่งก็พบว่าเสียงกีต้าร์ในเพลงนั้นสุดละม้ายคล้ายของเพลงเซิ้งภาคอิสานบ้านเราเหลือเกิน ขณะที่เสียงขลุ่ย (ซึ่งจริง ๆ มาจากเสียงคีย์บอร์ด) ในงานนี้ก็ไม่วายชวนให้นึกถึงเพลงพื้นบ้านของบ้านเราอยู่ดี

ตัวนักร้องของวง Yunasi บอกว่าดนตรีในบ้านเขามีไว้เฉลิมฉลอง เพลงของพวกจึงเต็มไปด้วยจังหวะเต้นรำสนุก ๆ วง Yunasi อาจเป็นแค่อีกวงหนึ่งที่นำเสนอความเป็นเคนย่าในแบบร่วมสมัย เพราะเคนย่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางดนตรีสูงมากแห่งหนึ่ง

 

การแสดงของวงต่อมาเป็นวงดนตรีจากชนเผ่าของไต้หวัน ผมไม่ทันได้ฟังเพลงแรก ๆ เพราะมัวไปดูการแจมกลองและเครื่องให้จังหวะในอีกมุมหนึ่ง จนเริ่มเมาจากเครื่องดนตรีเน้นจังหวะทั้งหลายแล้วจึงวกกลับมาดูเวที

ประเทศไต้หวันก่อนหน้าการเข้ามาของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ มีชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่หลายสิบกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเชื้อสายออสโตรเนเชี่ยน คือเชื้อสายของหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้อย่างชาวอินโดนีเซีย หรือ ฟิลิปปินส์ พวกเขาต้องต่อสู้ขับเคี่ยวเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา

ในแง่ของดนตรีแล้ว ชาวพื้นเมืองของไต้หวันมีบทบาทในวงการดนตรีป็อบของไต้หวันอย่างมาก แต่ก็ในแง่ของดนตรีป็อบแบบเต็ม ๆ ล่ะครับ เช่น นักร้องสาวที่ชื่อ A-mei ที่ร้องเพลงด้วยภาษาจีนกลาง ส่วนดนตรีของชนเผ่าไต้หวันที่นำมาแสดงในงานนี้ พอผมได้ฟังเมโลดี้จากเสียงร้องของเขาแล้วก็พาลนึกถึงดนตรีพื้นบ้านของชนเผ่าที่ราบสูงทางภาคเหนือ (ซึ่งผมมีโอกาสได้ฟังสดหลายครั้งมาก ส่วนใหญ่ในงานที่จัดเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเรื่องพม่า) ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้

แน่ละว่าดนตรีพื้นบ้านหลายพื้นที่ในโลกอาจมีลักษณะบางอย่างร่วมกันอยู่ เนื่องจากมนุษย์แม้จะอยู่ในต่างวัฒนธรรมกันแต่ก็ล้วนมีความรู้สึกบางอย่างในแบบของมนุษย์ทั่วไปที่แสดงออกผ่านศิลปะที่เรียกว่าดนตรี แต่ลึก ๆ แล้วผมเชื่อว่ามันต้องมีจุดต่างที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละวัฒนธรรมอยู่

เวลาเราพูดถึงดนตรีที่เป็นพื้นฐานของโลกแล้ว มักจะมีแต่คนพูดถึงดนตรีคลาสสิก เนื่องจากประวัติศาสตร์ของดนตรีทางตะวันตกถูกรวบรวมมาสอนกันแบบนี้ (และผมเองก็ยอมรับว่าเรียนรู้ทฤษฎีอะไรหลายอย่างจากดนตรีคลาสสิกเหมือนกัน) อาจมีนักวิชาการบางสายที่เน้นไปศึกษาเรื่องดนตรีของชนเผ่าพวก Ethnic music อยู่บ้าง และมีบางคนที่เน้นพูดถึงชนชาวแอฟริกันในแง่ของความเป็นต้นธารอารยธรรมทางดนตรีที่แท้จริง (บางคนเสนอว่าจังหวะร็อคไม่ได้เพิ่งจะมีในศตวรรษที่ผ่านมา แต่มีมาตั้งแต่ชนชาวแอฟริกันรู้จักเคาะจังหวะกันแล้ว)

โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบคำว่า World music หรือ Ethnic music เท่าไหร่ คำว่า World music (ที่แปลตรงตัวว่าดนตรีโลก) มันเหมือนเป็นคำที่วงการป็อบตะวันตกคิดมาเพื่อใช้เรียกดนตรีอะไรสักอย่างที่พวกเขาไม่เคยรู้จัก และส่วนใหญ่จะเป็นดนตรีพื้นบ้าน ไม่ก็ป็อบที่มีอิทธิพลจากดนตรีพื้นบ้าน ขณะที่คำว่า โฟล์ค (Folk) กลับถูกใช้เรียกดนตรีพื้นบ้านยุโรปเสียมากกว่า

แต่ผมเชื่อว่าดนตรีมันไม่ได้มาจากที่ใดอื่นไกลนอกจากอะไรพื้น ๆ รอบตัวมนุษย์ ดนตรีป็อบหลายแขนงซึ่งปัจจุบันมีชื่อเรียกเป็นร้อยเป็นพัน มีพื้นฐานมาจากดนตรีพื้นบ้านทั้งนั้น และการเรียกว่า World music พูดตรง ๆ คือมันเหมือนการบรรจุหีบห่อแบบเอ็กโซติก (Exotic) เข้าไปแบบเหมารวม แล้วไม่ได้ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์เฉพาะของมันจริง ๆ

(...เอาง่าย ๆ มันเหมือนกับเวลาที่ชาวต่างชาติบอกว่าไอ่พวกคนจีน คนญี่ปุ่น คนพม่า นี้หน้าตาเหมือนกันไปหมด เรียกว่าเป็น World Faces ซะดีไหม)

ดนตรีบลูส์ (Blues) มันก็คือดนตรีพื้นบ้านของทาสผิวดำพลัดถิ่นที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นดนตรีที่ไม่ได้เล่นแต่กับในหมู่คนผิวดำอีกต่อไป ทั้งยังกลายเป็นพื้นฐานของดนตรีแนวอื่น ๆ ส่วนดนตรีพวกเรกเก้ และสกา ก็พัฒนามาจากดนตรีพื้นบ้านของจาไมก้าที่เรียกว่าเมนโต (Mento)

ขณะที่คำว่า Ethnic music อาจใช้อธิบายดนตรีของชนกลุ่มน้อยได้ แต่ในระยะยาวมันจะกลายเป็นการแบ่งดนตรีพื้นเมืองของพวกเขาออกจากดนตรีพื้นเมืองของ 'ชนกลุ่มใหญ่' เสียเปล่า ๆ ผมอาจคิดแบบโหดร้ายต่อผู้นิยมรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมไปเสียหน่อยว่า ในความเป้นจริงแล้วดนตรีพวกนี้ควรถูกทำให้ป็อบหรือปรับเข้ากับดนตรีร่วมสมัยให้ได้

ผมก็เป็นคนที่ไม่ได้คิดว่า เราควรรักษาความเป็นพื้นบ้านอะไรเอาไว้แบบแช่แข็ง อย่างที่ผมเปรยไว้ก่อนหน้านี้ ถ้าคนผิวสียังคงแช่แข็งบลูส์เอาไว้ ป่านนี้เราคงไม่มีแจ็ซซ์ให้ฟัง และแม้ดนตรีป็อบตะวันตก อย่างพวกร็อค หรือแดนซ์ จะมีอิทธิพลอย่างมากทั่วโลก แต่ผมเชื่อว่าตัวดนตรีป็อบในแต่ละประเทศเองก็มีคาแรกเตอร์ของมันอยู่ และตรงจุดนี้แหละคือความไร้พรมแดนที่แท้จริง

(...จุดนี้ขออภัยด้วยที่ผู้เขียนยังหาคำอธิบายเป็นทฤษฎี หรือเป็นคำพูดไม่ได้ว่ามันมีลักษณะเฉพาะยังไง แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งมันมาจากความเป็นโฟล์คในตัวของทุกคนนั่นแหละครับ)

ผู้ขึ้นเวทีรายต่อไปคือหลวงไก่ นักร้องลูกทุ่งจากภาคใต้ เป็นตัวแทนของประเทศไทยในวันนี้ อาจเป็นเพราะช่วงเวทีของเขาเป็นช่วงเวลาที่ดึกไปหน่อย และพบเจอกับวัฒนธรรมคนดูที่แตกต่าง ทำให้หลวงไก่ดูตื่นเวทีไปนิด ความพยายามแสดงให้เห็นวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างเพลงหนังตะลุง ก็ดูไม่สามารถสื่อสารกับผู้ชมได้มากนัก และโดยส่วนตัวผมคิดว่า การจะแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทย ไม่จำเป็นต้องใช้เพลงพื้นบ้านขนาดนั้นก็ได้

แต่ต่อมาหลวงไก่ก็กลับมากับดนตรีลูกทุ่งร่วมสมัยแบบไทย ๆ ในเพลงดังที่ชื่อ "ขวัญใจพี่หลวง" ซึ่งผมว่านี่แหละคือความเป็นไทยในระดับของวัฒนธรรมมวลชนจริง ๆ และเรื่องการแสดงดนตรีสดแง่มุมทางวัฒนธรรมของมันไม่ได้มีแต่เรื่องดนตรีอย่างเดียว การสื่อสาร ทักทาย หรือเอนเตอร์เทนคนดู ก็เป็นส่วนหนึ่ง

หลวงไก่และวงพยายามเอนเตอร์เทนคนดูด้วยการทักทายและปล่อยมุขกันแบบตลกคาเฟ่ แต่ในงานที่ครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติและกลุ่มคนดูที่เป็นชนชั้นกลางในเมือง เสียงตอบรับจึงเป็นความเงียบ ตรงนี้ผมแอบคิดเองเออเองว่าไม่ใช่ว่ามุขเขาไม่ขำ แต่คงเป็นเรื่องของกลุ่มคนดูเองที่ไม่ได้แสดงปฏิสัมพันธ์กับเวที

ตรงนี้หลวงไก่แกถึงขั้นแสดงความน้อยใจ เปรย ๆ ว่าได้มาแสดงเวทีแบบนี้เป็นครั้งแรก ทุกครั้งเคยแต่ไปแสดงในงานวัดให้คนที่กินเหล้าขาว ไม่เคยมาแสดงในลานเบียร์แบบนี้

แต่ชีวิตคือ เดอะ โชว์ มัสโก ออน แกยังคงไม่เลิกปล่อยมุขแม้จะไม่มีปฏิกิริยาตอบรับมากนัก (ผมเห็นมีวัยรุ่นบางกลุ่มดูเชียร์ ๆ แกอยู่) และต่อด้วยการคัฟเวอร์เพลงของเสือ ธนพล ซึ่งคนที่ผ่าน "18 ฝน" มาแล้วคงคุ้นเคยดี

จบงานในคืนนี้แม้ว่าดนตรีต่างชาติ ต่างภาษา จะสามารถข้ามผ่านพรมแดนของผู้ฟังในคนละซีกโลกได้ ผมอาจจะยินดีกับการที่ผู้จัดสนใจศิลปินเป็น Mass อย่างหลวงไก่ นำมาขึ้นเวทีเดียวกับศิลปินหลากหลายชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีพรมแดนบางอย่างในระดับของกลุ่มผู้ฟังที่ท้าทายให้ก้าวข้าม

พรมแดนทางรสนิยมยังคงบดบังให้ผู้ฟังดนตรีคลาสสิคหลายคนดูถูกดนตรีป็อบ ผู้ฟังดนตรีป็อบกระแสหลักทับถมดนตรีป็อบกระแสรอง เหล่าผู้ฟังกระแสรองก็เดียจฉันท์กระแสหลักเป็นการตอบโต้

ผมออกจากลานที่เต็มไปด้วยการสังสรรค์ของแสงสีที่หลากหลาย มานั่งครุ่นคิดถึงโลกความจริง

...คลอด้วยเสียงเพลงโฆษณาในรถไฟฟ้า ที่ให้ความรู้สึกต่างจากจังหวะกลองแอฟริกันโดยสิ้นเชิง

สุดท้ายนี้ก็ขอเก็บบรรยากาศงานวันแรกมาฝากกันหน่อย
ต้องขออภัยด้วยที่คุณภาพไม่ดีเท่าไหร่ทั้งจากคุณภาพกล้องและฝีมือคนถ่ายเอง

(...ช่วงท้าย ปลาย ๆ นาทีที่ 2 มีเซอร์ไพรซ์ ...This is it!!)
 

อยู่อยุธยา

19 August, 2008 - 01:47 -- parid

   

ขึ้นหัวไว้ไม่ได้หมายความว่าตัวผมเองกำลังหลบหน้าหลบตาไปอยู่ที่อยุธยาแต่อย่างใด ช่วงที่หายไปเพราะจำต้องไปปฏิบัติภารกิจทั้งส่วนตัวและไม่ส่วนตัว พอได้จังหวะแล้วจึงเข้ามาเขียนงานที่ห่างหายไปนานอีกครั้ง

หลายคนคงนึกได้แล้วว่าหมายถึงผลงานใหม่ของมาโนช พุฒตาล ซึ่งผมได้ซีดีผลงานล่าสุดของเขา ทั้งสองชิ้นมาพร้อมกันมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสได้ฟังเมื่อไม่นานมานี้เอง

สิ่งที่ผมหวังจากชื่อมาโนช พุฒตาลคือตัวงานดนตรีหลังจากที่เขาห่างหายจากการออกอัลบั้มเพลงไปพักนึง ("ชีวิตที่เจ็บปวดของคนป่วย" เหมือนออกมาให้หวังอะไรบางอย่างเล่น ๆ แล้วก็หายไป) เราอาจได้รู้จักเขาในฐานะนักจัดรายการวิทยุในคลื่นที่ปิดตัวลงไปแล้ว ใครหลายคงติดใจในท่วงท่าลีลาการจัดรายการของ "บุตรนายเฉลียวกับนางอำไพ" คนนี้ ขณะที่บางคนอาจคิดถึงเขาในฐานะคนทำดนตรี โดยเฉพาะแนวโปรเกรสซีฟ ร็อค อย่างอัลบั้ม "ในทรรศนะของข้าพเจ้า" ที่คมคายทั้งเนื้อหาและตัวเพลง แล้วเชื่อได้ว่าต้องมีคนที่ชื่นชมตัวเขาในทั้งสองบทบาท

ผมเปิดแผ่นลำดับที่หนึ่ง "อยู่อยุธยา" เล่นไปในขณะที่ครุ่นคิดถึงเจตนาว่าทำไมมาโนช พุฒตาลที่มีต้นทุนทางสังคมอยู่พอสมควรถึงเลือกทำงานแบบต้นทุนต่ำ ทำแบบ Self-Release ไม่พึงพาค่ายใด หรือเป็นเพราะบริบททางธุรกิจดนตรีในปัจจุบัน ทำให้เลือกเล่นกับพื้นที่ที่ต่างออกไป คิดในแง่ร้ายกว่านี้หน่อยคือนี่เป็นช่องทางเดียวที่เหลือ

 


In ayuthaya

 (ในครั้งนี้ผู้เขียนเองขออนุญาตใช้รูปแบบถ่ายเองนะครับ เนื่องจากรูปอัลบั้มสองอัลบั้มนี้หายากมาก
อาจจะดูขัด ๆ ตาหน่อย Wink)

 

ผลงานลำดับที่หนึ่ง  "อยู่อยุธยา" เป็นงานเดี่ยวที่แบ่งเป็นสองแทร็ก แทร็กแรกเป็นเพลงที่เจ้าตัวบอกว่าเอาเพลง "อยุธยา" (เมืองเก่าของเราแต่ก่อน) มาร้องเล่นจนแปลงเนื้อเป็นของตนเองกลายเป็นเพลงยาวสิบนาที (มีแทรกเล่าเรื่องในช่วงกลางเพลง) ส่วนแทรกที่สองยาวยี่สิบกว่านาที จริง ๆ แล้วตัวเพลงเป็นเพลงเดียวกับแทร็กแรกแต่คราวนี้ตัวอาซัน (มาโนช) เองออกมาพูดอธิบายความเพิ่มเติมในแต่ละท่อนด้วย

ด้วยความเป็นงานแบบอะคูสติกแบบเรื่อย ๆ ที่ไม่มีการเล่นแบบร็อคที่หนักแน่น หรือการเรียบเรียงที่ซับซ้อนสำหรับผู้ที่หวังจะได้ฟังงานแบบเดียวกับอัลบั้ม ".ในทรรศนะของข้าพเจ้า" คงมีผิดหวังกันไปบ้าง แต่สำหรับคนที่ชอบแกจัดรายการวิทยุ เจอเล่นไปพูดไปแบบนี้คงหายคิดถึงกันไปหลายโยชน์

อย่างไรก็ดี บรรยากาศของเพลงโฟล์คแบบ "มาเดี่ยว" ของแกก็ยังมีเสน่ห์ไปอีกแบบ ไม่นับว่าเนื้อเพลงนี้ฟังก็รู้ว่าเขียนออกมาจากใจ ใช้ภาษาง่าย ๆ แต่เล่าเรื่องได้เห็นภาพ มีแกมขี้เล่นเสียเล็กน้อย เคร่งขรึมขึ้นบ้างในช่วงหลัง เขาเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของอยุธยาเมื่อ 20 ปีที่แล้วกับปัจจุบัน แน่นอนว่าตัวเพลงมันต้องสะท้อนและวิพากษ์สภาพในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็มีอารมณ์แบบโหยหาอดีตกวักมือเชื้อชวนอยู่อย่างเสียมิได้

ผมฟังไปต้องระวังไป เพราะแม้จะไม่ได้อยู่อยุธยาเอง แต่ภาพสวย ๆ ของอยุธยาเมื่อยี่สิบปีที่แล้วจากถ้อยเสียงบอกเล่าของอาซันมันก็ชวนให้ถูกฉุดไปอยู่ในเวลานั้นแล้วปฏิเสธปัจจุบัน ผมชอบเนื้อเพลงที่ฟังดูมาจากใจ แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเห็นด้วยเสียหมด

อัลบั้มลำดับแรกเป็นเหมือนการทักทายเรียกน้ำย่อยก่อนจะมาถึงอัลบั้มลำดับที่สอง ที่คราวนี้ร่วมทำงานกับ สมพงศ์ ศิวิโรจน์ อดีตมือกีต้าร์วงมาลีฮวนน่า ในชื่อที่ตรงไปตรงมาเอามาก ๆ อย่าง "มาโนช พุฒตาล บุตรของนางเฉลียวกับนางอำไพ & สมพงศ์ ศิวิโรจน์ บุตรของนายเลื่อนกับนางซุ่นลิ่น"

ในอัลบั้มนี้มีเพลง 4 เพลง และมีการพูดคุยถึงเบื้องหลังและแรงบันดาลใจในรูปแบบกึ่ง ๆ รายการวิทยุอีก 3 แทร็ก ต่อกัน อย่างเพลง "(กนกพงศ์) คนฟังเสียงฝน" ที่นอกจากจะเป็นเหมือนเพลง Tribute ให้กับกนกพงศ์ สงสมพันธ์ ผู้จากไปแล้ว ทางอาซันเองก็บอกว่ามันแต่งออกมาจากความประทับใจในเวลาได้ฟังเสียงฝนด้วย ดนตรีในเพลงนี้มีท่อนเวิร์สที่ฟังแล้วชวนให้นึกถึงโฟล์คนิ่ง ๆ ของ นิค เดรก แถมยังได้กีต้าร์ติดบลูส์แซมมาอย่างได้อารมณ์

ในส่วน "เพลงช้าง" เป็นเพลงที่มาจากแรงบันดาลใจของ สมพงศ์ ศิวิโรจน์ ที่เริ่มมาจากการตั้งคำถามว่าขณะที่มีคนบอกว่าช้างใกล้สูญพันธุ์ แต่กลับเจอช้างอยู่ได้บ่อย ๆ ตามถนนหนทาง เริ่มมาก็เว่ากันซื่อ ๆ และสมพงศ์เองก็เล่นยังคงเล่นบทบาทเว่ากันซื่อ ๆ ตลอดทั้งเพลงจึงให้อารมณ์แบบเพลงพูดขี้เล่น ๆ อยู่อย่างเสียมิได้ หีบเพลงปากกับเสียงคอรัส มีช้าง-มีช้าง-มีช้าง ยิ่งช่วยขับเน้นความขี้เล่นเสียจนอาจทำให้รู้สึกฉงนฉงายว่าต้องการสื่อเรื่องช้างหรือมากกว่านั้น แม้จะได้ฟังเจ้าตัวพูดถึงแรงบันดาลใจเอง ก็ยังไม่ค่อยเชื่ออยู่ดี ดันไปรู้สึกว่าเขาพูดความจริงไม่หมดเสียนี่

"บอกดวงจันทร์ฉันเหนื่อย" เป็นเพลงเรียบ ๆ ที่ผมดันฟังแล้วชอบเอามาก ๆ อาซันบอกว่าเนื้อเพลงนี้เริ่มมาจากอารามอยากมีเพลงที่พูดถึงดวงจันทร์อย่างศิลปินอื่น ๆ เขาบ้าง (เช่น Cat Steven มี Moonshadow อะไรแบบนี้เป็นต้น)  เนื้อเพลงที่พูดถึงทั้งความรักและชีวิตในแบบคนที่ผ่านโลกมานาน แม้เพลงจะจบได้แบบยังไม่ถึงฝั่งเท่าไหร่ก็ตาม

"อย่าสิ้นหวัง" เป็นโฟล์คมาตรฐานสุด ๆ มีทั้งเนื้อหาและดนตรีที่อาจหาฟังได้เมื่อสัก 10-20 ปีมาแล้ว ไม่รู้ว่าจงใจหรือเป็นเพราะเสียงร้องของสมพงศ์ ด้วยหรือเปล่าที่ทำให้รู้สึกว่าเพลงนี้มันแอบ Lo-fi ทำให้ยิ่งเหมือนกับกำลังฟังจากเทปคาสเซทท์ยังไงอย่างนั้น เหมาะกับคนที่ชอบอะไรแบบโอลดี้วินเทจจ์ดีจริง

ในอัลบั้มหลังนี้ยังคงเป็นโฟล์คที่มีทั้งความขี้เล่นและลุ่มลึก อาจจะดูมีอะไรเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาหน่อย ช่วงพูดคุยในตอนหลัง (ซึ่งยาวกินเวลาเกินครึ่งแผ่น) ฟังดูธรรมชาติเป็นกันเอง ทั้งมาโนชและคุณสมพงษ์เองยังพอกันตั้งคำถามกลัวว่าการที่ออกมาพูดถึงแรงบันดาลใจในเพลงต่าง ๆ มันจะจำกัดจินตนาการ จำกัดการตีความของคนฟังหรือเปล่า

ผมก็แอบตอบให้ตรงนี้เลยว่า สำหรับผมแล้ว ไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ มันอาจลดเสน่ห์ในความ "กำกวม" ไปบ้าง (แม้แต่เพลงช้างที่สุดจะตรงไปตรงมา...เว้ากันซื่อ ๆ ขนาดไหน ผมเองก็ยังไม่วายสงสัยว่ามันต้องแอบซ่อนอะไรอยู่) แต่ก็ทำให้งานดูกระจ่างแจ่มแจ้งดี อีกนัยหนึ่งก็แสดงความใกล้ชิดระหว่างผู้ผลิตกับผู้เสพงาน ยิ่งแทร็กที่พูดถึงแรงบัลดาลใจใน "อยู่อยุธยา" นี้ ยิ่งทำให้รู้สึกตัวเพลงดูมีพลังขึ้นด้วยซ้ำ

การเผยถึงแรงบันดาลใจจะไม่เป็นปัญหาตราบใดที่มันไม่ถูกผูกขาดทำให้เป็น "ความจริงหนึ่งเดียว"และผมเป็นคนเชื่อว่า ผลงานนั้นแยกออกมาจากตัวศิลปิน หากมีใครตีความเนื้อหาแย้งไปจากที่ศิลปินออกมาบอกเอง ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เผลอ ๆ ความเห็นของเขาอาจจะสะกิดให้ตัวศิลปินเองนึกอะไรบางอย่างเพิ่มเติมออกก็ได้

ผมถึงคิดว่า "อยู่อยุธยา" จึงเป็นอัลบั้มที่เหมาะแก่การพักผ่อนสำหรับคนที่เจอเรื่องยุ่งยาก และยังคงรู้สึกยากลำบากกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย (ผมเองก็เป็น) ให้ได้เห็นภาพอดีตหวาน ๆ (ที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของ) ชั่วคราว แล้วก็ตื่นขึ้นมาต่อสู้กับกงล้อของการเวลาที่หมุนต่อไป

.

.

ในโลกที่ไม่มี "ความจริงหนึ่งเดียว" ให้ต้องเชื่อตามอีกแล้ว

ชีวิตปุถุชนและการเปลี่ยนแปลงใน Viva la Vida ของ Coldplay

21 June, 2008 - 00:27 -- parid
http://parid.prachatai.com/wp-content/viva-la-vida.jpg

ช่วงที่ผ่านมาผมขอลาพักจากการเขียนคอลัมน์ไปชั่วคราว ไม่ได้ลากิจ และยังไม่ได้ลาออกจากการเขียนคอลัมน์แน่นอน เพียงแต่หลบจากความเหนื่อยล้าจากหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อไปเติมพลังให้ตัวเองเท่านั้น

ในช่วงที่พักจากการเขียนคอลัมน์ไป ก็คิดว่าจะลองหลบมุมสงบ ๆ อยู่ ปิดหูปิดตาตัวเองจากสิ่งรอบข้างดูสักพัก … แต่แล้วก็ไม่สำเร็จ ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวบางอย่างที่ทำให้ผมต้องรู้สึกถึงความย่ำแย่ น่าเบื่อหน่ายไม่รู้จบของประเทศที่ผมอยู่อีกครั้ง

จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่ง (ซึ่งสื่อบางแห่งดูจะพยายามแปลงให้เขากลายเป็นเพศอื่นอยู่เสมอ…ซึ่งผมว่าเขาคงไม่เดือดร้อนอะไร) เขาไม่ได้เป็นคนดีอะไรนักหนา แต่ก็ไม่ได้เป็นคนเลวขนาดที่ว่าเห็นแล้วต้องเบือนหน้าหนี เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่บังเอิญมีโอกาสสวมสูทออกทีวีให้พวกท่านได้หาเรื่องด่าอยู่เสมอเท่านั้น

สิ่งที่ทำให้ผมหงุดหงิดคือ เขาถูกรังแกด้วยเรื่องที่ฟังดูขำขันเหลือเกินในโลกที่ Freedom of Speech ควรจะเป็นของประชาชนได้แล้ว เป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐบาล แต่ไม่เห็นมีใครออกมาวิจารณ์พวกนี้ในพื้นที่สาธารณะบ้าง การวิจารณ์รัฐบาล (ที่แม้จะมาจากการเลือกตั้ง) เป็นเรื่องดี ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าโครงสร้างอำนาจรัฐมันมีมากกว่ารัฐบาล มันยังมีผู้ที่คอยออกมาโจมตี ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายแค้นหรือพวกขุนนางกังฉินทั้งหลาย ซึ่งพวกหลังนี้รอดพ้นการวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ทุกครั้ง

เป็นเรื่องธรรมดาในวงการนี้ที่มีแพ้มีชนะ ท่ามกลางผู้คนที่ต้องสูดกลิ่นเน่าเหม็นของมันต่างรู้เรื่องนี้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ถูกรังแกไล่ต้อนจนมุมโดยพวกขุนนางอำนาจนิยมจะแพ้พ่ายเสมอไป เพราะปลาบางตัวมันทำเบ่งใหญ่ได้แต่ในหนองน้ำเล็ก ๆ ที่มันคิดว่านั่นเป็นทั้งโลกของมันแล้ว แต่ไม่รู้หรอกว่าเมื่อหนองน้ำเล็ก ๆ นั่นกลายเป็นบึงใหญ่ขึ้นมา มันอาจจะต้องเจอปลาอีกกี่ตัวที่ใหญ่กว่ามันโดยไม่ต้องเบ่ง

01011001 : นิยายวิทยาศาสตร์ในร็อคโอเปร่า และการตามหาวิหคเพลิง

10 May, 2008 - 02:30 -- parid

 

นิยายวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเล่าอิงจินตนาการพร้อมกับความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ นักทฤษฎีแบ่งนิยายวิทยาศาสตร์ออกไว้เป็นสามยุคใหญ่ ๆ คือ ยุคคลาสสิก' ที่มักพูดถึงอนาคตภายใต้อวกาศกว้างใหญ่ไพศาล มองอนาคตอย่างก้าวหน้าและอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งความเจ็บปวดหลังยุคอุตสาหกรรมที่ยังมีการกดขี่กันของมนุษย์ทำให้ ยุคที่สอง' ของนิยายวิทยาศาสตร์เริ่มมีท่าทีวิพากษ์สังคมเข้ามาปะปน บางเรื่องก็มีประเด็นทางสังคม อย่างการเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ บ้างก็มีจินตนาการของรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ มาจนถึง คลื่นลูกที่สาม' ก็มองโลกในแง่ร้ายอย่างสุดกู่

จินตนาการก้าวหน้า ล้ำสมัย ไม่ได้ทำให้มนุษย์เดินทางไปบนเส้นทางที่น่าพิศมัย แต่กลับสร้างโลกแบบ Dystopia ขึ้นมา โดยได้อิทธิพลจากแนวคิดหลังสมัยใหม่และภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์

เนื้อหาเชิงนิยายวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักปรากฏอยู่ในงานแนว Progressive Rock และ Industrial บางสาย และ Ayreon ซึ่งเป็นวงโปรเจกท์จากมันสมองของ Arjen Lucassen ก็เล่นแนว Progressive Rock/Metal โดยมีเนื้อหาแบบนิยายวิทยาศาสตร์อยู่แทบทุกอัลบั้ม

ในอัลบั้มล่าสุดที่ใช้ชื่อเป็นเลขดิจิตอลคือ 01011001 ก็ยังคงมีเนื้อหาวิทยาศาสตร์เชิงจินตนาการอยู่เช่นเคย และดูเหมือนจะอ้างอิงไปถึงเนื้อหาจากอัลบั้มเก่าๆ แบบไม่ต่อเนื่องกันด้วย

01011001 เป็นตัวเลขดิจิตอลที่แปลงออกมาได้เป็นตัวอักษร Y ชื่อของดาวเคราะห์ที่กลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่า Forever อาศัยอยู่

พวก Forever นี้เองเป็นสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการ (?) จนเป็นอมตะและไร้ความรู้สึก (อาจจะไม่ถึงขั้นโดยสิ้นเชิง) พวกเขาอยู่กับความอมตะของตัวเองไปเรื่อยๆ อย่างไร้ความหมาย ต่อมาพวกเขาจึงคิดจะสร้างมนุษย์ขึ้นมาบนโลกโดยการส่งรหัสพันธุกรรมผ่านมากับอุกกาบาต พวก Forever หวังว่ามนุษย์จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ สำเร็จลุล่วง' แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อการเวลาผ่านไป มนุษย์เริ่มทำลายกันเองจนกระทั่งสูญสิ้น

ตัวเนื้อหาของอัลบั้มนี้ทำให้ผมนึกถึงการ์ตูนเรื่อง ฮิโนโทริ - วิหคเพลิง' ผลงานของ เท็ตสึกะ โอซามุ' อย่างเสียมิได้ โดยเฉพาะภาคโลกอนาคต ฮิโนโทริเป็นเรื่องเล่าของวิหคเพลิงอมตะ (น่าจะเอามาจากตำนานนกฟินิกซ์) ที่มีคนเชื่อว่าหากได้ดื่มเลือดนกตัวนี้แล้วจะมีชีวิตนิรันดร์ไม่แก่ไม่ตาย เรื่องของวิหคเพลิงมีอยู่หลายตอน บางตอนมีเนื้อเรื่องภายใต้ฉากแบบย้อนยุค (อาจอิงประวัติศาสตร์เล็กน้อย) ขณะที่บางตอนมีฉากเป็นโลกอนาคต (เล่าแบบนิยายวิทยาศาสตร์)

มีอยู่ตอนหนึ่งเล่าถึงเมืองย้อนยุคที่มีราชินีชื่อ ฮิมิโกะ' ตั้งตัวเป็นสมมติเทพ ไม่ว่าจะทำนายอะไรผู้คนก็จะต้องเชื่อ (หรือถูกบังคับให้เชื่อ) แต่คำทำนายหรือคำสั่งของราชินีฮิมิโกะ ก็มักจะนำมาซึ่งความสูญเสียของผู้บริสุทธิ์ ผู้คนที่ไม่ทำตามคำสั่ง (แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม) จะถูกลงโทษ แต่ถึงจะมีอิทธิพลมากมาย ราชินีฮิมิโกะก็เป็นมนุษย์ที่มีเกิดแ่ก่เจ็บตาย เมื่อเธอพบว่าตัวเองแก่ตัวลงก็เริ่มหมกมุ่นอยู่กับการสั่งให้คนตามล่าวิหคเพลิง เพื่อตนจะได้ดื่มเลือดแล้วเป็นอมตะ การหมกมุ่นอยู่กับการตามหาวิหคเพลิงทำให้สุดท้ายบ้านเมืองก็ระส่ำระส่ายและค่อยๆ อ่อนแอลงเรื่อยๆ

ในภาคโลกอนาคต พูดถึงการที่มนุษย์ต้องลงไปสร้างเมืองกันอยู่ใต้ผืนโลกเพราะบรรยากาศบนโลกนั้นเป็นที่ๆ มนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป (เว้นแต่นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องคนหนึ่งที่อาศัยในโดมเฉพาะ และพยายามสร้างชีวิตใหม่ให้อยู่บนผิวโลกแบบนี้ได้) แต่ถึงแม้พัฒนาการทางเทคโนโลยีจะก้าวไกลขนาดไหน อะไรอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย

หากในตอนย้อนยุคผู้คนเชื่อคำทำนายและ (จำต้อง) ทำตามคำสั่งของราชินีจนบ้านเมืองอ่อนแอ ผู้คนในยุคอนาคตก็มีสิ่งที่เรียกว่า สมองกล' คอยคำนวนสิ่งต่างๆ และสั่งออกมาให้คนต้องทำตาม สมองกล แม้ว่าจะมีคณะผู้แทนฯ แต่พวกเขาส่วนใหญ่เชื่อการคำนวนของ สมองกล' ไร้หัวจิตหัวใจ มากกว่าจะเชื่อมนุษย์ที่มีความรู้สึกด้วยกันเอง สมองกล' สั่งให้ยืนก็ต้องยืน สั่งให้นั่งก็ต้องนั่ง จนกระทั่งมีคนใช้การคำนวนของ สมองกล' มาเป็นข้ออ้างในการประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม มนุษย์ยุคอนาคตทำสงครามกันเองจนกระทั่งสูญสิ้นไป

มันคือความงมงายที่ต่างยุคสมัย มนุษย์ยุคหนึ่งเจ็บปวดยากแค้นจากคำทำนายของสมมติเทพที่มนุษย์สมมติกันขึ้นมาเอง ขณะที่อีกยุคหนึ่งต้องมาทำลายกันเพียงเพราะเชื่อในสิ่งไร้ชีวิต...ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเองเช่นกัน

กลับมาที่ Ayreon จากอัลบั้มก่อนๆ ที่มีทั้งการเดินทางผ่านห้วงอวกาศและกาลเวลาไปสำรวจประวัติศาสตร์ จนถึงอัลบั้มก่อนหน้าคือ The Human Equation หรือ สมการมนุษย์' ที่เน้นดำดิ่งลงไปสำรวจจิตใจมนุษย์ผ่านความรู้สึกหลากหลาย สำหรับอัลบั้ม 01011001 ก็เน้นกลับมาพูดถึงการเดินทางผ่านห้วงอวกาศอีกครั้ง

เนื้อหาของ 01011001 ได้ผสมผสานกับแนวคิดหลากหลายจากนิยายวิทยาศาสตร์ไว้แบบที่คอแนว Sci-fi คงคุ้นเคยกับมันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่อง ผู้สร้าง' ที่เป็นสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการสูงจากแดนไกลโพ้น เรื่อง Missing Link ของวิวัฒนาการมนุษย์ อุกกาบาตที่นอกจากนำพาความวินาศมาแล้ว ยังนำพาการกำเนิดใหม่มาด้วย ฯลฯ

นอกจากเรื่องราวที่ร้อยกันเป็น Concept album แล้ว อัลบั้มนี้ก็มีแบบฉบับของ Arjen อีกอย่างคือการที่เขาได้เชิญแขกรับเชิญจากหลายวงมาร่วมโปรเจกท์ โดยเฉพาะนักร้องที่มาร่วมขบวนกันคับคั่งโดยมีทั้งนักร้องนำชายหญิงจากวงเมทัลหลากหลายแนว แน่นอนว่า 01011001 จะต้องเป็นอัลบั้ม ร็อคโอเปร่า' อลังการอีกอัลบั้มหนึ่งของ Arjen อย่างไม่ต้องสงสัย

หากเทียบกับ The Human Equation ที่ให้นำหนักของเสียงร้องที่ตอบโต้กันแบบโอเปร่าแล้ว ทั้งการใช้เสียงร้องและดนตรีใน The Human Equation ฟังดูมีเอกลักษณ์ เต็มไปด้วยสีสันและความมีชีวิตชีวา ขณะที่ 01011001 ฟังดูเยือกเย็น ทึมทืบ และไร้ชีวิต ซึ่งน่าจะเป็นความจงใจให้เข้ากับคอนเซปท์ที่แตกต่าง เพราะ สมการมนุษย์' นั้นมีการปะทะกันระหว่างความโกรธแค้น ความเจ็บปวด ความหวัง ความรัก ความรู้สึกผิด ความหยิ่งยโส ความปรารถนา การใช้เหตุผล ฯลฯ ขณะที่อัลบั้มหลังนี้พูดถึงสิ่งมีชีวิตแต่ไร้ชีวา-ปลอดความรู้สึกอย่างพวก Forever

ในช่วงแรกๆ ของอัลบั้ม เพลง Age of Shadow, Comatose, Liquid Eternity เป็นฉากบรรยายสภาพความมีชีวิตอย่างไร้ชีวาของ Forever และมี Forever จำนวนหนึ่งคิดอยากจะกลับไปมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดิม บางทีอาจถึงขั้นเฝ้าฝันจะกลับไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเกิดดับแบบเดิม ไม่ใช่พวกอมตะอย่างที่เป็นอยู่ ขณะที่ Forever อีกจำนวนหนึ่งทัดทาน...เพลงเปิดคือ Age of Shadow ทำออกมาได้หนักแน่นและเผยบรรยากาศของความเป็นจักรกลปลอดความรู้สึกได้อย่างดี

"Would you prefer the pain and suffering we had?
Would you prefer to be in peril, even dead?
Would you prefer to live the life we've loved to play?
Would you prefer to live a mortal life instead?"

"คุณอยากกลับไปมีความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมานเช่นที่เคยมีน่ะหรือ?
คุณอยากกลับไปพบกับภัยอันตราย กระทั่งความตายน่ะหรือ?
คุณอยากกลับไป ใช้ชีวิตที่พวกเราละเลงเล่น?
คุณอยากกลับไป มีชีวิตเยี่ยงสัตว์โลกที่แก่ตายได้น่ะหรือ?"

- Liquid Eternity -

เพลงในอัลบั้มนี้เล่าเรื่องสลับกันไประหว่างฝ่าย Forever กับชีวิตของมนุษย์บนโลกในยุคร่วมสมัย ซึ่งโทนของดนตรีจะปรับให้ฟังง่ายและฟังดูร่วมสมัยตามเนื้อหาไปด้วย เช่นเพลง Connect the Dots เป็นเพลงที่ดนตรีเรียบง่ายและสะท้อนภาพชีวิตวัยทำงานของชนชั้นกลางไว้อย่างตรงไปตรงมา

"I hugged the wife and drove to work today
It was only a few miles
Was in a hurry but the lights were changing up ahead
So I stepped on the gas

I checked the web and left it on over night
Downloading all the latest files
Fear, revere, the torrent flows into my lap
And I disconnect"

 "ฉันกอดภรรยาก่อนขับรถออกจากบ้านไปทำงาน
ทั้งที่ระยะทางก็แค่ไม่กี่ไมล์
ฉันรีบมากแต่สัญญาณไฟก็เปลี่ยนอย่างไม่เป็นใจ
เลยเหยียบคันเร่งให้รถพุ่งไป

ฉันเปิดเว็บและปล่อยมันทิ้งไว้ทั้งคืน
เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ใหม่ล่าสุด
หวาดกลัวระคนยำเกรง ไฟล์ทอร์เรนต์ไหลมาสู่หน้าตัก
แล้วฉันก็หยุดเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์"

- Connect the Dots -

เพลงนี้จบด้วยประโยค "เราอาจจะตายในวันพรุ่ง แต่ก็มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้" (We're dying tomorrow. We're living for today.) อีกเพลงที่พูดถึงชีวิตมนุษย์ร่วมสมัยคือ Web of Lies บัลลาดนุ่มๆ ที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวสองคนคือ PX กับ Simone ที่คุยกันผ่านอินเทอร์เน็ต

แม้ในเนื้อหาจะไม่สื่อไปในทางบวกหรือลบ แต่ชื่อเพลงมัน (ซึ่งจะแปลว่า โครงข่ายแห่งการหลอกลวง' หรือ เว็บแห่งการหลอกลวง' ก็ได้) ดูจะสะท้อนการมองโลกในแง่ร้ายของ Arjen อยู่พอสมควร

Arjen Lucassen

เพลง Beneath the Waves, Newborn Race และ Ride the Comet ก็เล่าเรื่องของการที่พวก Forever ต้องการสร้างชีวิตใหม่บนโลกโดยผ่านรหัสพันธุกรรมที่ส่งไปพร้อมกับอุกกาบาต สองเพลงแรกค่อยๆ บิวท์ส่งมาถึงเพลง Ride the Comet ที่หนักแน่นเต็มพลังร็อคโอเปร่าภายใต้ฉากแบบอวกาศล้ำยุค

มาจนถึง The Fifth Extinction ที่ทรงพลังไม่แพ้เพลงเปิดอัลบั้ม เล่าถึงอุกกาบาตที่ถูกส่งมาบนโลกจนทำให้เกิดการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ของเจ้าโลกในยุคนั้น คือ ไดโนเสาร์ (เพลงจะเรียกอ้อมๆ ว่า Reptile-สัตว์เลื้อยคลาน) ตามด้วย Waking Dreams ที่มีคอรัสสวยๆ และโซโล่คีย์บอร์ดเพราะพริ้งพูดถึง Missing Link ที่ทำให้เกิดการวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์

The truth is in here ย้อนกลับมาเล่าเรื่องของมนุษย์ร่วมสมัย พูดถึงชายผู้หนึ่งชื่อ Mr.L คุยให้ฟังว่าได้ฝันเห็นภาพอนาคตที่เย็นยะเยือกไร้ชีวิต แต่พยาบาล (ซึ่งเสียงอย่างกับหุ่นยนต์) ก็บอกว่าเขาแค่เพ้อและควรได้รับการพักผ่อน เพลงที่ผมชอบมากอีกเพลงคือ Unnatural Selection ที่มี Forever สองฝ่ายเห็นการพัฒนาของมนุษย์แล้วมีความเห็นต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ามนุษย์เป็นชีวิตที่งดงาม ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าพวกนี้จะลุกขึ้นมาทำลายกันเองในที่สุด ลูกเล่นบางส่วนของเพลงนี้ฟังดู Sophisicate ไปหน่อย แต่นับว่าเป็นเพลงที่เรียบเรียงดนตรีได้ดีมากเพลงหนึ่งทีเดียว

"Can you see the fire in their eyes?
Can you hear the anguish in their cries?
Can you see the beauty in their eyes?
Can you sense the love within their hearts?
I can taste the freedom we once had
I can touch their pain when they feel sad
I can smell the fragrance of the air
I remember times we used to share"

"คุณมองเห็นไฟคุโชนในแววตาของพวกเขาไหม?
คุณได้ยินความรวดร้าวจากเสียงร้องของพวกเขาไหม?
คุณมองเห็นความงามในดวงตาพวกเขาหรือเปล่า?
คุณรู้สึกถึงความรักในหัวใจของพวกเขาไหม?
ฉันได้ลิ้มรสชาดของอิสรภาพที่พวกเราเคยมี
ฉันสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดยามพวกเขาเศร้า
ฉันได้กลิ่นหอมหวนอวลอยู่ในอากาศ
ฉันจดจำถึงวันเวลาที่พวกเราเคยใช้ร่วมกันได้"

- Unnatural Selection -

แต่ในอัลบั้มร็อคโอเปร่าที่เย็นเยือกทืมทึบก็ไม่ปล่อยโอกาสให้มองอะไรในแง่ดีกันมากนัก เพราะจุดจบของอัลบั้มนี้คือ The Sixth Extinction ที่ไม่ปราณีกับความรู้สึกอ่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น เป็นจุดจบแบบเดียวกับเรื่องวิหคเพลิงในภาคอนาคต

ผลงานชุดล่าสุดของ Ayreon นี้มีเนื้อหาที่เชื่อมโยงไปถึงอัลบั้มเก่าๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น The Final Experiment, Universal Migrator แม้กระทั่งอัลบั้มที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศอย่าง The Human Equation ก็มีเนื้อหาบางอย่างเชื่อมกับอัลบั้มนี้อยู่เหมือนกัน

ในประโยคสุดท้ายของอัลบั้ม The Human Equation คือ "Emotion...I Remember" (ความรู้สึกหรือ...ฉันนึกออกแล้ว) โดยที่ใน 01011001 เองส่วนหนึ่งก็พูดถึงการต่อสู้กันระหว่างความด้านชา กับความเป็นมนุษย์ที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก

แน่นอนว่าจินตนาการเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์ และในเรื่องเล่าแนววิทยาศาสตร์นี้เอง ไม่ว่ามันจะพูดถึงความวิจิตรสวยงามของเทคโนโลยี หรือโลกอนาคตที่น่าหวาดผวาก็ตาม มันก็เป็นจินตนาการของโลกในวันพรุ่ง ที่เชื่อมโยงกับโลกในวันนี้อยู่ไม่มากก็น้อย

ผมหวังแค่ว่า เราจะได้เห็นโลกในจินตนาการที่ผู้คนพ้นไปจากความงมงาย
ไม่ว่าจะจาก สมองกล' หรือ สมมติเทพ' ก็ตาม

 

 

Dropkick Murphys วงดนตรีขวัญใจสหภาพแรงงานจากบอสตัน

3 May, 2008 - 13:08 -- parid

 

"The disgraced values of the company man
Are why you fight and sacrifice
Don't bend or break for their one-way rules
Or run from battles you know you'll lose"

"คุณค่าของคนทำงานที่ถูกลดทอน
คือเหตุผลที่คุณเสียสละ ต่อสู้ และวิงวอน
คุณไม่อาจฝ่าฝืนกฏเหล็กของพวกเขาได้
หรือแม้จะทั่งจะหนีจากการดิ้นรนที่คุณรู้ว่าจะแพ้โดยไม่อาจทำอะไร"

- Tomorrow's Industry

Dropkick Murphys เป็นวงพังค์ร็อคที่มาจากการรวมตัวของชาวไอริชที่อพยพมาอาศัยในเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐฯ มีผลงานที่พอให้คนต่างแดนได้รู้จักบ้างคือเพลงประกอบภาพยนตร์ The Departed ที่ชื่อ "I'm Shipping Up to Boston" นักวิจารณ์บางแห่งบอกว่าเพลงนี้ส่งกลิ่นอายของความกร้าวแกร่งแบบคนงานคอปกน้ำเงิน

dropkick-murphys.jpg

วงชื่อแปลกวงนี้รวมตัวกันครั้งแรกในช่วงกลาง 90's พวกเขาเริ่มเล่นดนตรีกันโดยอาศัยชั้นใต้ดินในร้านตัดผมของเพื่อนเป็นที่จัดแสดง พอพบว่ามีคนชอบก็เริ่มอัดอัลบั้มและออกทัวร์ โดยในยุดแรก ๆ Dropkick Murphys เล่นพังค์ในแนวย่อยที่เรียกว่า Oi!

ต้องอธิบายสักนิดว่าแนวที่ชื่อว่า Oi! (แปลกพอ ๆ กับชื่อวง)  นี้เป็นพังค์ที่เดิมทีมาจากชนชั้นแรงงานอังกฤษ พวกแนวนี้ไม่ค่อยเล่นเนื้อหาการเมืองเท่าไหร่ แต่จะเน้นพูดถึงชีวิตประจำวัน บางครั้งก็พูดถึงฟุตบอล เหล้ายาปลาปิ้ง มีบ้างที่บางครั้งก็ต่อยอดไปถึงสังคมได้อย่างเรื่องถูกปลดจากงาน ด่าตำรวจ จิกรัฐบาล (สองอย่างหลังนี้ก็มีในพังค์แนวอื่น ๆ เหมือนกันครับ)

จะว่าบางทีในความเป็นเนื้อหาแบบ Oi! มันก็เป็นภาพสะท้อนสังคมในอีกแบบ ที่อาจไม่สวยงามแบบเพื่อชีวิต มีท่าทีขี้เล่นแบบลูกทุ่งไทย ขณะเดียวกันก็แฝงอารมณ์ไม่พอใจสภาพความเป็นอยู่จากเบื้องลึกภายใน มาจากการเก็บกดไม่มีที่ระบาย จนไม่พ้นต้องมาระบายกับคนที่ต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดเหมือนกัน เพลงอย่าง FightStarter Karaoke ก็ชวนให้นึกถึงภาพแบบนั้นอยู่

"Riot tonight
everybody let's go gonna start a fight
but with who I don't know

This world is not what it seems
These beer balls are ruining my dreams."

"ออกลุยในคืนนี้
ทุกคนพร้อมจะมีเรื่องต่อยตี
กับคนที่ไม่รู้กระทั่งว่าเป็นใคร

เพราะโลกมันไม่เป็นดังที่คาดไว้
เหล้ายาก็ไม่อาจบรรเทา
ความฝันที่ถูกทำลาย"

- FightStarter Karaoke

ด้วยความเป็นวัยเฮ้ว เนื้อหายุคแรก ๆ ของ Dropkick Murphys เลยแสดงออกอย่างวัยรุ่น ด้วยท่าทีดิบ ๆ แบบเพลงที่ว่ามา มีบ้างที่เป็นเรื่องเซ็งตำรวจ เบื่ออำนาจรัฐบาล เช่นเดียวกับวงแนวนี้โดยทั่วไป แต่พอพวกเขาเติบโตขึ้น พื้นเพชีวิตพวกเขาที่มาจากคนระดับล่าง ๆ ของสังคมก็เริ่มทำให้พวกเขามองอะไรลึกขึ้น หรืออย่างน้อยก็มองผ่านชีวิตจริงมากขึ้น

จนกระทั่งสหพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมสหรัฐฯ (AFL-CIO) ได้ ชวนให้พวกเขาไปเล่นในวันแรงงานสากลปี ค.ศ. 2001 พวกเขาดีใจมาก ไม่คิดว่าวงที่เคยเล่นเหมือน "หนูในชั้นใต้ถุน" (เป็นคำที่พวกเขาตัวเรียกเองตอนนั้น-ผมไม่ได้ตั้งให้นะ) จะมีโอกาสได้เล่นโชว์ในงานที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย

Dropkick Murphys ไม่เพียงแค่เกี่ยวข้องกับวันแรงงานเท่านั้น พวกเขายังมีส่วนร่วมกับสหภาพ International Brotherhood of Electrical Workers (IBEW) อีกด้วย เนื้อหาในอัลบั้มหลัง ๆ ของวงพังค์ไอริชก็เริ่มพูดถึงชีวิตแบบปากกัดตีนถีบของคนงาน อิสรภาพและทางเลือกที่จำกัดเพราะฐานะทางเศรษฐกิจ อย่างเนื้อเพลง Worker's Song หรือ "เพลงคนงาน" ยังคงพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับกรรมาชีพระดับล่างในหลายประเทศได้อย่างจริงแท้

"We're the first ones to starve the first ones to die
The first ones in line for that pie-in-the-sky*
And always the last when the cream is shared out
For the worker is working when the fat cat's** about"

"พวกเราจะเป็นพวกแรกที่อดอยาก พวกแรกที่จะตาย
เป็นพวกแรกที่ไปต่อแถวรับฟังคำสัญญาอันงมงาย
แต่จะเป็นพวกสุดท้าย ที่ได้ลิ้มรสครีมที่ได้แบ่งคนอื่นไป
เพราะคนงานต้องก้มหน้าทำงาน ขณะที่แมวอ้วนอยู่เฉยไม่ทำอะไร"

- Worker's Song

(*pie-in-the-sky เป็นสำนวนแปลว่า ขนมพายบนสรวงสวรรค์ สื่อถึงการให้คำสัญญาแบบที่ไม่สามารถทำได้ในความเป็นจริง)

(** Fat Cat หรือแมวอ้วน เป็นสำนวนใช้เรียก คนรวยที่แสวงหาหนทางสู่อำนาจ)

กลุ่มแฟนเพลงของพวกเขาก็หลากหลายขึ้น ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจทำให้ทั้งคนงานคอปกน้ำเงิน (ที่ทำงานใช้แรงงานในโรงงาน ยามรักษาความปลอดภัย ฯลฯ) และคนงานคอปกขาว (พนักงานออฟฟิศ เลขาฯ เสมียน ฯลฯ) ต้องประสบปัญหาอะไรใกล้เคียงกัน ไม่แปลกหากเพลงของ Dropkick จะสามารถเป็นเพื่อนใจ ร่วมเรียงเคียงบ่ากับคนทำงานทั้งสองรูปแบบได้

dropkick-murphys-03-st-patrick-day.jpg

Dropkick Murphys ในงาน St. Patrick Day 2002

(รูปถ่ายโดย Angela Giovine , ที่มา http://www.dropkickmurphys.com/)

ในอัลบั้มล่าสุดของ Dropkick คือ The Meanest of Times นั้น Ken Casey บอกว่า มีเนื้อหาที่สะท้อนเรื่องราวของกรรมชาชีพออกมาในมุมมองที่มองโลกในแง่ดี เท่าที่ได้ฟังมาบางเพลงของ Dropkick ก็มีเนื้อหาแฝงเรื่องของชาวไอริชอพยพไว้ด้วย

ดนตรีส่วนใหญ่ของ Dropkick Murphys ไม่พ้นเป็นพังค์ที่ Live and Loud แต่ก็ยังได้ผสานดนตรีพื้นบ้านของไอริช-เชื้อชาติเดิมของพวกเขาลงไปด้วย อย่างบางเพลงก็มีปี่แบ๊กไปป์ (บ้านเราเรียกปี่สก็อตฯ) ก็ลอยเด่นออกมาน่าจดจำ ตรงนี้ถือเป็นการปรับตัวทางวัฒนธรรมที่มีความหมาย และในปี ค.ศ. 2002 แสดงในงาน St. Patrick's day ที่รัฐบอสตัน ซึ่งมันคงเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาภาคภูมิใจไม่น้อย เพราะงาน St. Patrick เป็นการเฉลิมฉลองที่สำคัญของชาวไอริชทั่วโลก ซึ่งเป็นทั้งงานรื่นเริงและงานแสดงทางวัฒนธรรม

ใช่ที่ว่าตัวดนตรีเองไม่อาจเปลี่ยนโลกแบบปุบปับหรือทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้นอย่างทันตาเห็นได้ แต่วงดนตรีชาวไอริชวงนี้ก็ได้ใช้เป็นเครื่องมือรวบรวมเงินทุนช่วยเหลือให้หน่วยงานที่เคลื่อนไหว หรือแม้แต่เป็นหมุดหมาย เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ของคนที่รวมตัวกัน

ศิลปะทุกอย่างมันทำเพื่อศิลปะในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่หากศิลปะกับชีวิตคนมันยังแยกกันไม่ขาด มันก็ต้องเกี่ยวพันกับสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างน้อยสำหรับคนอเมริกัน Dropkick Murphys ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในทางเลือก สำหรับวันพรุ่งนี้ของยุคอุตสาหกรรม