เปิดคดีประวัติศาสตร์ : ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล

กรณีนี้ไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้น สำหรับเรื่องที่เรียกกันว่า ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ หากแต่เป็นกรณีแรกๆ ที่ตัดสินใจต่อสู้คดี โดยไม่รับสารภาพ และเดินหน้าสู่การอภัยโทษดังที่เคยเป็น ต่อไปนี้เป็นลำดับเวลาตลอดระยะปีกว่า เนื้อหาการต่อสู้คดีบางส่วน รวมถึงวิธีคิดของเธอจากการสนทนาสั้นๆ แบบเก็บเล็กผสมน้อย

\<\/--break--\>

18-19 กรกฎาคม 2551
ขึ้นปราศรัยที่เวทีท้องสนามหลวง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การปราศรัยครั้งนี้ในเว็บบอร์ดหลายแห่ง

20 กรกฎาคม 2551
สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เจ้าของสื่อเครือผู้จัดการ-เอเอสทีวี ขึ้นปราศรัยที่เวทีสะพานมัฆวานฯ ถึงการปราศรัยของดารณีว่าดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ "อย่างเลวร้ายที่สุด"

กองทัพบกได้มีหนังสือ "ด่วนที่สุด" ถึง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ขอให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลตรวจสอบการปราศรัยของน.ส.ดารณี หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

22 กรกฎาคม 2551
พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้อนุมัติหมายจับดารณี จากศาลอาญากรุงเทพใต้ เลขที่ 2209/2551 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเข้าจับกุมตัวดารณี ภายในหอพัก โดยดารณี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากตำรวจ เนื่องจากไม่มีการออกหมายเรียกเหมือนผู้ต้องหาคนอื่น

23 กรกฎาคม 2552
ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยื่นคำร้องขอประกันตัวดารณี ใช้หลักทรัพย์เป็นตำแหน่งข้าราชการ ระดับ 8 อัตราเงินเดือน 25,000 บาท ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถ้อยคำหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นมีข้อความที่ร้ายแรง ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

ศาลอาญาได้ออกหมายจับสนธิ ลิ้มทองกุล กรณีขยายความหมิ่นเบื้องสูงของดารณีบนเวทีพันธมิตรฯ ต่อมาในวันรุ่งขึ้น สนธิได้มารับทราบข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้ตำแหน่ง ส.ว. ของคำนูณ สิทธิสมาน

25 กรกฎาคม 2551
ผศ.ดร.สุธาชัย ยื่นอุทธรณ์คำร้องขอประกันตัวดารณีอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ศาลอาญาได้รับคำอุทธรณ์ไว้

1 สิงหาคม 2551
ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งยกคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราวดารณี เนื่องจากเห็นว่าความผิดมีอัตราโทษสูง เป็นความผิดร้ายแรง และกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน หากปล่อยตัวไปเกรงว่า ผู้ต้องหาจะไปกระทำผิดซ้ำ

5 สิงหาคม 2551
เว็บไซต์สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันออกจดหมายเปิดผนึก "ความอยุติธรรมต่อคนคนหนึ่ง คือ ความอยุติธรรมต่อคนทั้งสังคม" พร้อมด้วยรายชื่อประชาชน 139 คน เรียกร้อง ขอให้มีการประกันตัวแก่ดารณี เช่นเดียวกับผู้ต้องหารายอื่นๆ

25 กันยายน 2551
ศาลรับคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องดารณี หลายข้อหา กรณีนำมวลชนล้อมบ้านพระอาทิตย์ ในคดีหมายเลขดำที่ อ.3634/2551

9 ตุลาคม 2551
ราว 1 สัปดาห์ ก่อนจะครบอำนาจฝากขังของพนักงานสอบสวน (84 วัน) ศาลได้รับคำฟ้องจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ซึ่งยื่นเป็นโจทก์ฟ้องดารณี ในมาตรา 112 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.3959/2551 โดยในสำนวนอัยการระบุการกระทำผิด 3 กรรม

10 ตุลาคม 2551
ศาลนัดสอบคำให้การคดีนี้ จำเลยให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดแถลงเปิดคดีในวันที่ 1 ธันวาคม 2551

16 ตุลาคม 2551

ผศ.ดร.สุธาชัย ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวดารณี โดยใช้หลักทรัพย์เป็น เงินสดจำนวน 200,000 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้อง ออกมาในวันเดียวกัน

17 พฤศจิกายน 2551
ศาลอาญานัดไต่สวนเพื่อตรวจพยานหลักฐาน สอบคำให้การจำเลย ในคดีล้อมบ้านพระอาทิตย์ เบื้องต้นจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดพิจารณาวันที่ 15 ธันวาคม 2551

1 ธันวาคม 2551
ศาลอาญา นัดตรวจสอบหลักฐาน สอบคำให้การจำเลยคดีหมิ่นฯ โดยศาลได้สั่งให้เลื่อนการนัดไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2551

ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และศาลชั้นต้นยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

4 ธันวาคม 2551
ทนายของดารณี ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยโต้แย้งว่า การสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวตาม ม.108/1 นั้น ต้องเข้าข่ายผู้ต้องหา/จำเลยจะหลบหนี, จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน, จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น, ผู้ร้องขอประกันไม่น่าเชื่อถือ, จะไปก่อความเสียหายต่อการสอบสวนหรือดำเนินคดี ซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะไปยุ่งกับพยานหลักฐานเพราะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนการหลบหนีนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานโดยไม่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นเรื่องร้ายแรงนั้นเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 39 วรรค 2 และ 3 เพราะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่แน่ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยบริสุทธิ์ การไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวยังเป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้คดีของจำเลย การรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ทำได้ยากลำบาก อาจทำให้เสียความยุติธรรมได้ ฯลฯ

ต่อมาราวกลางเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์ได้ยืนยันเหตุผลเดิมของศาลชั้นต้น ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว 

15 ธันวาคม 2551
ศาลนัดสืบพยานในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของดารณี โดยนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23-25 มิถุนายน 2552 และนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 26-30 มิถุนายน 2552



ส่วนคดีเกี่ยวกับการนำมวลชนจำนวนหนึ่งไปปิดล้อมบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอมฯ นั้น ศาลได้นัดหมายเพื่อสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2552 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2552 



26 มกราคม 2552
ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ อ.4767/2551 คือคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร ศาลสั่งเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐาน สอบคำให้การจำเลย ไปเป็นวันที่ 16 มีนาคม 2552 เนื่องจากทนายจำเลยร้องขอ

23 มิถุนายน 2552
สืบพยานโจทก์นัดแรกของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยผู้พิพากษาพรหมาศ ภู่แส ได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีดังกล่าวเป็นการลับ อาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

24 มิถุนายน 2552

  1. สืบพยานโจทก์วันที่สอง โดยทนายจำเลยและจำเลยไม่ลงรายมือชื่อรับรองการพิจารณาคดีในวันนี้
     
  2. ดารณี เผยแพร่คำแถลงถึง 'สื่อมวลชนและพี่น้องผู้รักความเป็นธรรม' โดยในคำแถลงดังกล่าว ดารณีได้ระบุว่า ไม่ยอมรับการพิจารคดีเป็นการลับ เพราะเป็นการปิดบังข้อเท็จจริงมิให้ประชาชนได้รับรู้ และเป็นการทำลายหลักการยุติธรรมของกฎหมาย

    "แม้ว่าในวันนี้ข้าพเจ้าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ก็เชื่อมั่นว่า เจตนารมณ์ของคณะราษฎร์ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จะต้องได้รับชัยชนะในที่สุด" ระบุท้ายคำแถลง
     

  3. ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านการพิจารณาคดีลับ โดยขอให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวตามมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยระบุว่าการพิจารณาคดีเป็นการลับ เป็นการใช้บทบัญญัติกฎหมาย ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตราที่ 40 (2) และมาตรา 29
     
  4. ศาลได้พิจารณายกคำร้องดังกล่าวของทนายจำเลย โดยระบุว่า การพิจารณาลับไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เนื่องจากจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำพยานหลักฐานมายังศาลได้อย่างครบถ้วน การพิจารณาคดีจึงดำเนินต่อไป 
     
  5. ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านการรับฟังพยานหลักฐานซีดีการปราศรัยของจำเลยและบันทึกการถอดความ เนื่องจากจำเลยถูกคุมขังและเมื่อส่งหลักฐานดังกล่าวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง จำเลยไม่สามารถเปิดซีดีเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานได้ เพราะผิดกฎเรือนจำ จำเลยจึงไม่ทราบว่าซีดีบันทึกเสียงอะไร และเป็นเสียงของใคร ทำให้เสียเปรียบในการต่อสู้คดี และไม่สามารถหาวัตถุพยานหลักฐานมาหักล้างวัตถุพยานและพยานเอกสารดังกล่าวได้

25 มิถุนายน 2552

ภายหลังจากไต่สวนพยานโจทก์วันที่สามเสร็จสิ้นแล้ว ทนายจำเลยแถลงต่อศาลขอยกเลิกการไต่สวนพยานจำเลยตามกำหนดเดิมคือวันที่ 26 และ 30 มิ.ย. โดยขอนัดไต่สวนในวันที่ 28 ก.ค. และ 5 ส.ค. 52 ซึ่งศาลอนุญาต

อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านการจดรายงานกระบวนการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ว่าการเปิดแผ่นซีดีในห้องพิจารณาไม่ใช่เป็นการแถลงขอของโจทก์ (อัยการ) ตามที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา หากแต่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้สั่งด้วยวาจาให้โจทก์นำเครื่องเล่นมาเปิดเล่นแผ่นซีดีตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน

26 มิถุนายน 2552

  1. ทนายจำเลยยื่นคำโต้แย้งคัดค้านการจดรายงานกระบวนพิจารณาอีกครั้ง

    1.1 โต้แย้งการจดรายงานฯ วันที่ 23 มิถุนายน ระบุว่า โจทก์ (อัยการ) ไม่ได้ขอให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ แต่เป็นดำริของศาล โดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเรียกพนักงานอัยการโจทก์เข้าไปพูดคุยก่อน จากนั้นจึงได้เรียกทนายจำเลยเข้าไปแจ้งว่าจะพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ต่อมาโจทก์จึงเขียนคำร้องขอให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ดังจะเห็นได้จากศาลออกนั่งพิจารณาคดีเวลา 10.15 น. แต่คำร้องของโจทก์ เจ้าหน้าที่ศาลประทับตราคำร้องเวลา 11.45 น. นอกจากนี้ในขณะที่ศาลแจ้งทนายจำเลยว่า จะพิจารณาคดีนี้เป็นการลับดังกล่าว ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้แจ้งทนายจำเลยด้วยว่า จะให้โอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

    1.2 โต้แย้งการจดรายงานฯ วันที่ 24 มิถุนายนเพิ่มเติม ระบุว่า ทนายจำเลยแถลงคัดค้านการเปิดซีดีโดยบังคับให้จำเลยอยู่ฟังด้วย โดยจำเลยไม่ได้สมัครใจ หากศาลประสงค์จะเปิดซีดีฟังศาลสามารถเปิดในห้องทำงานผู้พิพากษาได้ แต่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแจ้งว่า การเปิดซีดีในห้องพิจารณษเป็นกระบวนการพิจารณาคดีซึ่งต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ทั้งยังพูดกับทนายจำเลยว่า ทนายจำเลยจะไม่อยู่ฟังก็ได้ และระหว่างศาลเปิดซีดีฟังในห้องพิจารณาคดี จำเลยอยู่ในห้องพิจารณานั้น เป็นการอยู่โดยคำสั่งศาลหาใช้ความสมัครใจของจำเลยไม่ การเปิดซีดีฟังในห้องพิจารณาดังกล่าว เป็นการช่วยโจทก์ลบล้างข้อบกพร่องในการอ้างแผ่นซีดีและข้อความ ซึ่งจำเลยได้แถลงค้านการรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวเนื่องจากจำเลยไม่มีโอกาสตรวจพิสูจน์ความถูกต้อง

    1.3 โต้แย้งการจดรายงานฯ วันที่ 25 มิถุนายน 2552 ว่าการขอโอกาสสู้คดีอย่างเต็มที่ หาใช่เป็นการแถลงของจำเลยดังปรากฏในรายงานฯ จำเลยเพียงแต่แถลงขอเลื่อนคดี ส่วนการให้โอกาสจำเลยสู้คดีอย่างเต็มที่เป็นคำพูดของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน

    1.4 จำเลยกราบเรียนว่า เหตุที่ต้องโต้แย้งคัดค้านรายงานฯ วันที่ 25 มิถุนายน เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงใหม่จากการสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายว่า ก่อนเจ้าพนักงานตำรวจจะแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย ได้มีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นแกนนำพันธมิตรฯ นำคำปราศรัยของจำเลยไปพูดขยายความ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ไม่ปรากฏสำนวนหรือในพยายนเอกสารที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลก่อนหน้านี้ เป็นข้อเท็จจริงนอกพยานเอกสารของโจทก์ และอาจเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีนี้ โดยที่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจากศาล จึงเป็นอุปสรรคกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแสวงหาพยานหลักฐานของทนายจำเลย ไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงที่เพิ่งปรากฏดังกล่าว และไม่สามารถถามค้านพยานโจทก์ให้อธิบายไว้ก่อนได้ และในท้ายที่สุดจำเลยอาต้องอุทธรณ์ฎีกาในประเด็นโอกาสในการต่อสู้คดีของจำเลย การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของศาล จึงต้องโต้แย้งคัดค้านรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 23 ถึง 25 มิถุนายน 2552 ดังกล่าว
     

  2. องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ส่งแถลงการณ์ถึงผู้สื่อข่าว ระบุว่า รัฐบาลไทยต้องอนุญาตให้มีการพิจารณาที่เปิดเผยต่อสาธารณะแก่ดารณี พร้อมทั้งระบุว่า แม้สนธิสัญญาสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองระหว่างประเทศ (ICCPR) และรัฐธรรมนูญ จะอนุญาตให้กีดกันสาธารณะออกจากการพิจารณาคดีได้ แต่ก็ต้องเป็นไปอย่างจำกัดอย่างยิ่ง และจะต้องเป็นเพียงมาตรการสำคัญเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ หลังจากไม่มีมาตรการอื่นใดที่ใช้ได้แล้ว

    "ภายใต้หลักกฎหมายสากล การพิจารณาคดีที่เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นหลักสำคัญในการปกป้องสิทธิของปัจเจกบุคคลจากการพิจารณาคดีและกระบวนการเกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม...เมื่อศาลปิดประตูห้องพิจารณา นั่นคือสัญญาณเสี่ยงต่อความอยุติธรรม" แถลงการณ์ระบุ

2 กรกฎาคม 2552
ศาลนัดสืบพยานโจทก์ 5 ปาก ในคดีปิดล้อมเอเอสทีวี

9 กรกฎาคม 2552
ดารณีเป็นพยานให้ตนเองในคดีปิดล้อมเอเอสทีวี

28 กรกฎาคม 2552
ศาลอาญา ยกฟ้องดารณีบุกเอเอสทีวี แต่คงคำพิพากษาหมิ่นประมาท ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ สั่งปรับ 5 หมื่น แต่จำคุกเกินกว่าค่าปรับแล้วจึงให้ปล่อยตัว แต่ยังคงถูกคุมขังจากคดีหมิ่นพระเดชานุภาพ

30 กรกฏาคม 2552
กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้าและคนทั่วไปราว 20 คนได้เดินทางไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และส่งตัวแทน 5 คนเข้าเยี่ยมนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) จากการปราศรัยที่สนามหลวงเมื่อปี 2550 เป็นเวลา 10 นาทีตามกฎระเบียบของเรือนจำโดยมีผู้คุมคอยดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีการถือป้ายรณรงค์คัดค้านการใช้กฎหมายนี้ และบริจาคหนังสือหลายสิบเล่มหลังจากที่ก่อนหน้านี้ทนายความของดารณีได้แจ้งข่าวว่าลูกความของเขาได้ร้องขอให้ประชาชนช่วยบริจาคหนังสือให้แดนแรกรับทัณฑสถานหญิงกลาง เนื่องจากมีหนังสือจำนวนน้อยและเก่ามาก หลังจากนั้นได้มีการเรี่ยไรเงินบริจาคเพื่อนำเข้าบัญชีในเรือนจำของดารณีจำนวน 3,200 บาท และพร้อมกันนี้ยังได้นำเข้าบัญชีในเรือนจำของนางบุญยืน ประเสริฐยิ่ง

27 สิงหาคม 2552
ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการถูกละเมิดสิทธิตมรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 211 กรณีศาลอาญาสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญประทับรับเรื่อง

28 สิงหาคม 2552
นายพรหมาศ ภู่แส และองค์คณะขึ้นนั่งอ่านคำตัดสินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการปราศรัยของดารณีที่สนามหลวง 3 ครั้ง คือวันที 7 และ 13 มิถุนายน 2551 และ วันที่ 18-19 กรกฎาคม 2551

ตัดสินว่า จากพยานหลักฐาน จำเลยกระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา โดยจำเลยได้กระทำผิด 3 กรรม จากการปราศรัยที่สนามหลวง 3 ครั้ง ตัดสินจำคุกกรรมละ 6 ปี รวม 18 ปี

“แม้จำเลยจะให้การว่าสิ่งที่กระทำไปเพื่อต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการถูก คมช. และกลุ่มพันธมิตรฯ ดึงมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ศาลเห็นว่าเป็นเพียงการแก้ตัวเท่านั้น” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา

รายงานข่าวจากเอเอสทีวีระบุถึงคำพิพากษาบางส่วนว่า

"...ตามฟ้องโจทก์ สรุประหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.2551 เวลากลางคืน จำเลยขึ้นปราศรัยบนเวทีเสียงประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ล่วงเกิน เปรียบเทียบและเปรียบเปรย หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ องค์ปัจจุบัน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อจะล้มล้างรัฐบาล และการรัฐประหาร

ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112



โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม 3 นาย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2551 เวลา 21.00 น.และ 24.00 น.จำเลยขึ้นเวทีปราศรัยที่ สนามหลวง โดยพยานทั้งสามเป็นสายสืบฟังการปราศรัย และพบว่า จำเลยกล่าวข้อความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ก็ได้บันทึกเสียงลงในเครื่องบันทึก เอ็มพี3 และได้บันทึกลงในแผ่นซีดี แล้วนำมาถอดเทป และจำเลยยังขึ้นปราศรัยกล่าวดูหมิ่นอีกในวันที่ 7 และ 13 มิ.ย.2551 ซึ่งได้บันทึกเสียงไว้ แล้วก็ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีจำเลย โดยพยานโจทก์ เบิกความด้วยว่า แผ่นซีดีบันทึกเสียงที่เป็นหลักฐาน พบว่า เป็นเสียงคนๆ เดียวกัน จึงฟังได้ว่าตามวันเวลาดังกล่าวจำเลย ได้ขึ้นเวทีปราศรัย ขณะที่ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวบนเวที ก็พบว่า แม้จะไม่ระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงอย่างชัดแจ้ง แต่ถ้อยคำที่กล่าวถึง เช่น สัญลักษณ์สีเหลือง สีฟ้า ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นสีประจำวันประสูติของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้เห็นว่าจำเลยกระทำการจาบจ้วงล่วงเกิน โดยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม พันธมิตรฯ ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง

รวมทั้งการกล่าวถึงการรัฐประหาร โดยกล่าวถ้อยคำถึงมือที่มองไม่เห็นหลังสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งประชาชนรับรู้อยู่แล้วว่าสี่เสาเทเวศร์ คือ สถานที่ที่เป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยการแต่งตั้งองคมนตรี นั้น ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้ง ถ้อยคำของจำเลยจึงทำให้ประชาชนเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนับสนุน พล.อ.เปรม ในการยึดอำนาจจากประชาชน ซึ่งล้วนเป็นเท็จ

โดยแม้ว่าชั้นพิจารณาจำเลย จะเบิกความว่า จดจำถ้อยคำที่กล่าวปราศรัยไม่ได้ว่ามีประเด็นใดบ้าง และจดจำวัน-เวลาไม่ได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าไม่ได้กล่าวถ้อยคำที่โจทก์ยื่นฟ้อง ซึ่งแม้ว่าคำพูดของจำเลยไม่บังเกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อ แต่จำเลยก็ไม่อาจพ้นผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บรมราชินีนาถ



พิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกระทำผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกรรม ให้จำคุก 3 กระทงๆ 6 ปี รวมจำคุก 18 ปี…"

28 สิงหาคม 2552
ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์คดีหมิ่นประมาทสนธิ ลิ้มทองกุล ระบุว่า

  1. โจทก์ไม่มีพยานบุคคลยืนยันว่าจำเลยพูดใส่ความนายสนธิอย่างไรบ้าง มีเพียงพยานยืนยันว่าจำเลยด่าทอผู้เสียหายด้วยถ้อยคำหยาบคายอันเป็นการเบิกความลอยๆ และนายสนธิ ผู้เสียหายเองก็ไม่มาเบิกความต่อศาลแม้จำเลยจะขอให้ศาลส่งหมายเรียกแล้วก็ตาม และไม่ปรากฏว่าผู้เสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากคำพูดจำเลยอย่างไร
     
  2. การปราศรัยของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นทางกรเมือง โต้ตอบกันระหว่างนายสนธิและจำเลยซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่ง จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะโจมตีกันด้วยถ้อยคำรุนแรง และผู้ฟังก็ย่อมเชื่อถือแต่ฝ่ายที่ตนเชื่ออยู่แล้ว พวกเป็นกลางย่อมไม่เชื่อถือทั้งสองฝ่าย การใช้คำพูดรุนแรง หยาบคายด่าทอนายสนธิ ย่อมไม่ทำให้สนธิ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เพราะพวกที่สำนับสนุนก็จะไม่เชื่อคำพูดจำเลยอยู่แล้ว ส่วนพวกที่สนับสนุนกลุ่ม นปช.หรือเสื้อดงก็ไม่ชอบนายสนธิอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คำพูดด่าท่อดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หากเป็นความผิดก็เป็นเพียงความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า อันเป็นความผิดลหุโทษ
     
  3. ความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเอง แต่นายสนธิ ได้มอบอำนาจให้นายพิสิษฐ์ เอี่ยมสอาด เป็นผู้แจ้งความแทน และนายสนธิ ก็ไม่ได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้แจ้งความร้องทุกข์ต่อหน้านายพิสิษฐ์ พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้สอบสวนถึงกระบวนการมอบอำนาจนี้ อีกทั้งเมื่อศาลออกหมายเรียกสนธิมาเป็นพยาน เขาก็ปฏิเสธไม่มาเบิกความ คดีนี้จึงไม่มีพยานหลักฐานยืนยันความถูกต้องสมบูรณ์ของการมอบอำนาจ
     
  4. พฤติกรรมแห่งคดีนี้เป็นการพูดปราศรัยโจมตีความคิดเห็นทางการเมืองระหว่างจำเลยกับนายสนธิ โดยต่างฝ่ายต่างไม่ได้เหตุโกรธแค้นกันเป็นการส่วนตัว ดังนั้น หากมีการใช้ถ้อยคำรุนแรงหยาบคาย ก็เกิดจากอารมณ์ในการปราศรัยพาไป หาได้มีเจตนาหมิ่นประมาทอันเป็นความชั่วที่สมควรถูกลงโทษไม่ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับ 50,000 บาทจึงเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินไป และน่าจะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าแทน ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท จึงขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณาพิพากษาลดโทษปรับของจำเลยด้วย
     

- 1 -
โตขึ้นอยากเป็นนักการเมือง

พ่อและแม่ของเธอมาจากเมืองจีน พวกเขามาแต่งงานตั้งรกรากที่เมืองไทย อาศัยอยู่แถวสะพานขาว เธอมีพี่น้อง 4 คน และเป็นลูกคนสุดท้อง พ่อทำงานอยู่โรงไม้ขีดไฟ ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างยากจน พี่ชายคนที่สามที่ปัจจุบันเป็นผู้คอยมาเยี่ยมเยียนและส่งเสบียงเข้าไปในเรือนจำนี้เองที่เป็นผู้ส่งเสียให้เธอเรียนจนจบคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ผ่านมาเธอประกอบอาชีพเป็นนักข่าวสายการเมืองอยู่หลายปี พี่ชายเธอเล่าว่า เธอรู้จักนักการเมืองเยอะ เพราะทำงานเป็นนักข่าวนับสิบปี โดยในช่วงหลังๆ เธอเป็นฟรีแลนซ์ไม่สังกัดองค์กรใด เธอยังเคยเป็นผู้ช่วยอดีตส.ว.ท่านหนึ่ง ที่ปัจจุบันเป็น นายก อบจ. จังหวัดหนึ่งด้วย

“เขาอยากเป็นส.ส. อยากเป็นนักการเมือง” พี่ชายเธอว่า

- 2 -
Pridi...My hero

หลังจากจบจากรามคำแหง ดารณีสมัครเรียนต่อปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ลาออกกลางคัน ซึ่งเธอบอกเองว่าเป็นเพราะไม่พอใจระบบบางอย่าง ก่อนจะไปเรียนต่อที่คณะ.... มหาวิทยาลัยเกริกจนจบปริญญาโท

ขณะที่ต้องขังอยู่ในเรือนจำเธอก็พยายามจะลงทะเบียนเรียนทางไกลกับมหาวิทยาสุโขทัยธรรมาธิราชซึ่งเพิ่งมีโครงการพิเศษเปิดในเรือนจำ เธอพยายามให้พี่ชายไปขอใบปริญญาหรือใบรับรองบางอย่างจากมหาวิทยาลัยเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสมัคร แต่ไม่ทันการ เพราะติดขัดเรื่องไม่มีรูปถ่าย

“น้องผมเค้าเป็นหนอนหนังสือ เค้าหัวไวด้วย หนังสือเล่มนึงหนาๆ เค้าอ่านแป๊บเดียวจบ แล้วจับได้ โช๊ะๆๆๆ” พี่ชายดาเล่า

ด้วยความที่เธอสนใจด้านรัฐศาสตร์ เธอจึงดูผูกพันกับธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะกับปรีดี พนมยงค์ เป็นพิเศษ และยังใช้เขาเป็นกำลังใจสำหรับการใช้ชีวิตในเรือนจำด้วย เธอพูดถึงเขาบ่อยครั้ง ไม่เว้นแม้แต่วันฟังคำพิพากษา

“พี่ก็นึกถึงท่านปรีดี อองซาน ซูจี มหาตมะ คานที จะได้ไม่รู้สึกว่ามีแต่เราคนเดียว” เธอกล่าวตอนอยู่ในห้องขังของศาลอาญา ก่อนขึ้นห้องพิจารณาคดีเพื่อฟังคำตัดสินในวันที่ 28 สิงหาคม

หรือตอนที่สุพจน์ ด่านตระกูล เสียชีวิต ข่าวนี้ไม่ได้สร้างความเศร้าโศกเฉพาะในหมู่ปัญญาชนเท่านั้น แต่เมื่อมีนกพิราบคาบข่าวร้ายนี้ไปบอกเธอในเรือนจำ เธอเงียบไปอึดใจ ก่อนจะถอนหายใจ และบอกว่าเธอคาดหวังว่าจะให้ทนายของเธอเชิญคุณสุพจน์ มาเป็นพยานในศาล เพราะข้อมูลหลายๆ อย่างที่เธอปราศรัยบนเวทีก็มาจากหนังสือที่เขาเขียน

และด้วยความผูกพันกับธรรมศาสตร์แบบนี้กระมังที่ทำให้ก่อนหน้านี้ ช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ เธอนำมวลชนกลุ่มเล็กๆ จากสนามหลวงมาปราศรัยโจมตี หรืออาจจะเรียกได้ว่า “ด่าทอ” สุรพล นิติไกรพจน์ อธิบการบดีคนปัจจุบันในระหว่างมีงานฉลองกำแพงประวัติศาสตร์ ฐานที่เขาบอกว่ามาตรา 7 ทำได้ และให้ความชอบธรรมกับการทำรัฐประหาร ผลงานนั้นได้ลงหน้าหนึ่งเกือบทุกฉบับเพราะมีคนโชว์ของดีประท้วงด้วย  

ใครหลายคนอาจไม่คุ้นเคย หรือไม่ชื่นชอบกับท่าทีการต่อสู้ของเธอ อันนำมาซึ่งฉายา ‘ดา ตอร์ปิโด’ แม้กระทั่งในกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหารด้วยกันก็ตาม ด้วยบุคลิกการปราศรัยแบบมุทะลุดุดัน รุนแรง เกินกว่าสังคมไทยจะยอมรับได้ บางคนที่ขึ้นปราศรัยด้วยกันก็บอกว่า “ผมเคยเตือนเค้าแล้ว”

- 3 -
ความหยาบคาย

“คุณได้ไปด่าทอเขาจริงหรือไม่” ทนายถามดาขณะให้การเป็นพยานให้ตัวเองในคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร

ดารณีซึ่งเพิ่งรับทราบผลจากห้องพิจารณาคดีหมิ่นฯ ที่ตัดสินโทษ 18 ปี และเข้ามานั่งต่อในคดีหมิ่นพล.อ.สะพรั่ง ตอบอย่างฉาดฉาน

“ดิฉันพูดอย่างมีเหตุผลมา 2 ปีแล้ว เราพูดกันจนไม่รู้จะพูดยังไงว่าทำไมต้องคัดค้านการรัฐประหาร มันสร้างความเสียหายให้ประเทศยังไง แต่เค้าเคยฟังไหม แล้ววันนั้นมันเป็นจุดสิ้นสุดความอดทน เพราะมีการยุบพรรคไทยรักไทย”

“ดิฉันไม่ได้ว่า พล.อ.สพรั่งคนเดียว แต่ยังว่าพล.อ.สนธิ พล.อ.เปรม พล.อ.วินัย อีกหลายๆ คนที่มีส่วนร่วม”

“เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่ได้ว่าพล.อ.สพรั่งเพราะเป็นพล.อ.สพรั่ง แต่ว่าเพราะเขาเป็นผู้ช่วยเลขาฯ คมช. ไม่ว่าใครจะมาอยู่ตรงนี้ ดิฉันก็จะว่าทั้งหมด”

ไม่รู้ว่านี่เป็นการแก้ต่างที่ดีในการพิจารณาคดีหรือไม่ แต่ก็พอได้แง่มุมเหตุผลในการตัดสินใจปราศรัยแบบที่เธอทำ

- 4 -
ไข่แม้ว

ดารณีบอกว่า เธอเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร โดยการปราศรัยกันที่สนามหลวงของประชาชนกลุ่มย่อยๆ ก่อนที่ขบวนการคนเสื้อแดงจะก่อรูปขึ้น

ไม่ว่าจะอย่างไร การเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย ถูกขับเคลื่อนไปพร้อมกับการสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทำให้ปัญญาชน นักวิชาการ ฯลฯ บางส่วนอิหลักอิเหรื่อในการให้การสนับสนุน ดารณีก็เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างชัดเจน โดยระบุว่าทักษิณเป็นนักการเมืองที่มีความสามารถ มีการสร้างนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจนมาก และเธอเห็นด้วยอย่างยิ่ง

“ปัญหาหลักของประเทศเรา ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความยากจน มันมีช่องว่างเยอะระหว่างคนรวยกับคนจน ต้องทำให้คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศลืมตาอ้าปากได้ และเขา [ทักษิณ] ทำได้ดี”

“พรรคไหนมีนโยบายแบบนี้ พี่ก็สนับสนุน และถ้าประชาธิปัตย์เขาทำดี เลือกตั้งแล้วเขาชนะ พี่ก็เคารพ” คำบอกเล่าตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ที่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ

ในวันตัดสินคดี 28 สิงหาคม ก่อนที่จะขึ้นไปยังห้องพิจารณาคดี พี่ชายของเธอ ‘กิตติชัย’ เดินทางมาจากภูเก็ตเหมือนเคยเพื่อฟังคำตัดสินและแวะเยี่ยมน้องสาวที่ห้องขังใต้ถุนศาลอาญาเหมือนเคย แม้ดาจะยังดูปกติ พูดคุยตามธรรมดา แต่พี่ชายของเขามีสีหน้าอมทุกข์

 “ผมไม่เอาแล้วทั้งเหลือง ทั้งแดง น้องผมสู้ในสิ่งที่เชื่อ รักเค้าและสู้เพื่อเค้า [ทักษิณ]  เอาตัวเข้าแลก แต่พอถึงเวลาที่น้องผมปริ่มๆ ใกล้จะจมน้ำ ไม่มีใครยื่นแม้แต่กิ่งไม้มาช่วย”

- 5 -
เบื้องหลังลูกกรง

ในการถูกคุมตัวช่วงแรกๆ สร้างแรงกดดันให้เธออย่างหนัก เห็นได้การพูดตัดพ้อฝ่ายการเมืองที่เธอสนับสนุนว่ามิได้ให้ความช่วยเหลือ เท่าที่เธอคาดหวัง

“ถ้าเราโดนจับในสมัยคมช. เลยยังจะดีกว่า นี่มันรัฐบาลฝั่งเราแท้ๆ [สมัย สมัคร สุนทรเวช]”

“มันน่าเสียใจที่เราโดนจับขังคุกในยุคของรัฐบาลที่มาตามระบอบประชาธิปไตย...ออกไปคงไม่ไปยุ่งเกี่ยว ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้ว”

แต่หลังจากนั้นก็ดูเหมือนจะปรับตัวได้กับสภาพในเรือนจำ ยกเว้นเรื่องสุขภาพที่ยังมีปัญหากรามอักเสบ ทำให้ไม่สามารถอ้าปากได้มาก ทำให้แปรงฟัน หรือทานอาหารได้ไม่สะดวก

“อาหารมันค่อนข้างแย่ กับข้าวมีน้อย แล้วมื้อเย็นที่คนค่อนข้างจะกินเยอะก็ดันเป็นกับข้าวรสเผ็ด เวลาจำกัด เรากินได้ช้า ตอนนี้น้ำหนัดลดไป 15 โลแล้ว”

สภาพชีวิตในคุกสำหรับคนชั้นกลางแล้วก็เป็นเรื่องค่อนข้างหนักหนา นอกเหนือจากการถูกพรากเสรีภาพแล้ว ยังมีเรื่องต้องต่อสู้กับชีวิตประจำวันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเป็นอยู่ที่แออัด ต้องนอนร่วมกัน 50-80 คน เธอว่าบางครั้งมันแน่นจนต้องนอนตะแคงทั้งคืน

สำหรับนักโทษในคดีหมิ่นฯ ดูเหมือนจะได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ เธอเล่าว่า คดีนี้เป็นคดีพิเศษ หากเป็นคนอื่น เมื่อแรกเข้ามาในเรือนจำ จะถูกแยก ไม่ให้พูดคุยกับเพื่อนๆ คนอื่น ประมาณหนึ่งเดือน แต่เธอเป็นกรณีพิเศษของพิเศษ เพราะโดนโดดเดี่ยวถึง 3 เดือน

หากสังเกตให้ดียังจะพบความพิเศษนี้ชัดเจนที่ศาล เมื่อเธอถูกเบิกตัวไปให้การไม่ว่าในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือคดีหมิ่นประมาทธรรมดา เธอจะมาในชุดนักโทษหญิงสีน้ำตาล ขลิปปลายแขนสีแดงโดดเด่นตลอดมา ซึ่งเสื้อเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์ของนักโทษอุฉกรรจ์ เช่น ผู้ค้ายาบ้าเป็นหมื่นเม็ดขึ้นไป ยังไม่นับรวมการตรวจภายใน ก่อนออกจากเรือนจำ ซึ่งทำให้เธอมักร้องขอให้ศาลนัดพิจารณาคดีต่างๆ ในวันเดียวกัน  

"จะออกจากเรือนจำมาศาลแต่ละที เขาจับขึ้นขาหยั่งตรวจภายในทั้งตอนเข้า ตอนออก เขากลัวเรื่องยาเสพติด แต่ไม่ดูเลยนี่มันคดีอะไร มันเป็นคดีการเมือง รู้สึกแย่มากๆ"

นอกเหนือจากความเป็นอยู่ที่ลำบาก การอาบน้ำเพียง 30 วินาที (นับหนึ่งถึงสามสิบ) แล้ว การเอาตัวรอดในหมู่เพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันก็เป็นเรื่องสำคัญ

ตลอดระยะเวลา 1 ปี เธอมีเรื่องกระทบกระทั่งกับเพื่อนร่วมเรือนจำหลายครั้ง เพราะความเป็นคนไม่ยอมใคร และตามกฎของเรือนจำ เมื่อมีเรื่องกัน จะต้องโดนลงโทษทั้งสองฝ่าย โดยไม่ต้องไต่สวนว่าใครผิดหรือถูก เธอเปรียบเปรยว่า คนที่หาเรื่องเธอนั้นสามารถกลับขาวเป็นดำ ร้องห่มร้องไห้ได้เก่งยิ่งกว่านางร้ายในละครน้ำเน่า  หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่บางคนก็ไม่ชอบหน้าเธอ เห็นเธอเป็นตัวอันตราย และพยายามกันคนอื่นๆ ไม่ให้คบหา พูดคุยกับเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคำตัดสินแล้ว ความกดดันทุกอย่างก็ดูเหมือนจะยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น

“พวกผู้ต้องขังที่จ้องจะกลั่นแกล้งเรา หาเรื่องเรา เขายิ่งมั่นใจ เพราะมีคำตัดสินแล้วว่าเราผิด ตอนนี้สงครามประสาทก็ยิ่งหนัก เจ้าหน้าที่ที่ไม่ชอบเราก็เยอะ แต่เจ้าหน้าที่ดีๆ ก็เยอะ โดยเฉพาะหัวหน้า เขาชอบประชาธิปัตย์นะ แต่เขาพูดจากกับเราด้วยเหตุด้วยผล เลยคุยกันได้ แต่เขากำลังจะเกษียณกันยานี้แล้ว คนเค้าก็พูดกันว่า ดูซิว่าจะมีใครคอยคุ้มกะลาหัวอีดาอีก”

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อไร เธอน่าจะต้องถูกส่งตัวไปยังแดนนอก มิใช่แดนแรกรับอย่างเคย ที่นั่นเธอบอกว่าความเป็นอยู่ลำบากกว่า และต้องทำงานหนักกว่า ไม่สามารถที่จะเลือกทำหรือไม่ทำได้เหมือนตอนอยู่แดนแรกรับอีกแล้ว

- 6 -
ปฏิรูปคุก

ช่วงแรกๆ ที่อยู่ในเรือนจำ เธอยังพูดเรื่องการเมืองอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็เริ่มพูดถึงปัญหาในเรือนจำ และแนวทางการปฏิรูปเรือนจำ อาจเพราะในนั้นไม่ให้ได้รับข่าวสารบ้านเมือง ใครไปเยี่ยมเยียนถึงมักถูกซักถาม ตอนนี้ใครเป็นรัฐบาล ด้วยเสียงเท่าไร เสื้อแดงไปถึงไหน หัวหน้าพรรคต่างๆ ชื่ออะไร ฯลฯ นอกจากนี้ดารณียังเสนอการปรับมาตรฐานในเรือนจำหลายเรื่อง เช่น น่าจะมีหนังสือที่หลากหลาย และอัพเดทมากขึ้นในเรือนจำ เพราะเท่าที่มีนั้นจำกัดและเก่ามาก, กรณีผู้ต้องขังหญิงวัยรุ่นจำนวนมากที่ติดคดียาเสพติดเล็กๆ น้อยๆ เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรบุคคลของชาติ น่าจะนำทรัพยากรส่วนนี้ไปทำประโยชน์ด้านอื่น, การจับแรงงานต่างด้าวจำนวนมากมาไว้ในเรือนจำทำให้เรือนจำซึ่งขาดแคลนทรัพยากรอยู่แล้วยิ่งแออัดและขัดสน น่าจะมีการจัดการรูปแบบอื่น ฯลฯ 

ในช่วงสองสามเดือนหลัง ดาได้ขยับขึ้นเป็น ‘แม่ห้อง’ [คล้ายหัวหน้าห้อง] คอยดูแลเพื่อนๆ ในเรือนนอน 50-60 คน เพราะสามารถแก้ไขปัญหาส้วมแตกให้เพื่อนๆ ในเรือนนอนได้ เนื่องจากไม่มีใครกล้าหืออือหรือเรียกร้องอะไรกับเจ้าหน้าที่ แต่เธอลองเสี่ยงดู และได้รับการตอบสนอง

เธอว่าภาระหน้าที่ของการเป็นแม่ห้องค่อนข้างหนัก ต้องออกเงินซื้อปากกา กระดาษ จดรายงานเอง ต้องคอยดูแลคนอื่นๆ ทำให้ได้ไปกินข้าวช้า มีสิทธิพิเศษก็เพียงได้ล็อกเกอร์เล็กๆ ส่วนตัวเพิ่มจาก 1 เป็น 2 และมีที่นอนกว้างกว่าคนอื่นเล็กน้อย

“หลังพิพากษานี่สถานการณ์แย่มาก ตอนนี้ลูกห้องทำอะไรผิด มาลงที่เราหมดเลย ใครผิดก็ควรจะไปว่า ไปลงโทษคนนั้นถูกไหม นี่มาลงเราหมด แล้วลูกห้องก็ได้ใจ”

“พี่อยากจะช่วยงานเขานะ พี่รู้ว่าเขาได้งบน้อยมาก จะเปลี่ยนคอห่านยังลำบาก ใช้กันมา 12 ปีไม่เคยเปลี่ยน ถ้าพี่เป็นส.ส.จะแปรญัตติให้งบเขาเยอะๆ เลย แต่ถ้าเขาไม่เป็นธรรมกับเรา มันก็ไม่ไหว”

 

- 7 -
?

“พี่ไม่ได้หวังอะไรมาก แค่อยากให้คดีนี้ถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ เวลาคนรุ่นหลังมาดูจะได้รู้ว่าเค้าต่อสู้กันยังไง เหมือนคดีของท่านปรีดี”

“เราทำดีที่สุดแล้ว ถ้าสังคมไทยยังอยากจะเป็นแบบนี้ ไม่มีสิทธิเสรีภาพในการพูดความจริงแบบนี้ก็แล้วแต่ ก็อยู่ไปแบบนี้”

คำพูดของเธอก่อนคดีจะถูกพิพากษาไม่กี่ชั่วโมง

-------------

หมายเหตุ  -   การโควทคำพูดของดามีคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ไม่ตรงทุกถ้อยคำ เนื่องจากเป็นเพียงการจดจากการสนทนาระหว่าง เข้าเยี่ยมในเรือนจำในหลายๆ ครั้ง

ความเห็น

Submitted by The Other on

ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ค่อยมีใครรู้จัก "ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล" แต่หลังจากที่เธอได้ตั้งเครือข่ายสภาประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตย เธอก็เป็นที่รู้จักและได้รับฉายาว่า "ดา ตอร์ปิโด" ซึ่งเป็นฉายาที่เพื่อนๆ ตั้งให้เนื่องจากเห็นลีลาการปราศรัยบนเวทีที่ดุเด็ด เผ็ดมัน ทั้งอารมณ์ น้ำเสียง ถ้อยคำ ที่คล้ายกับระเบิดตอร์ปิโดลง

สำหรับจุดยืนที่ "ดา ตอร์ปิโด" ได้ตั้งเครือข่ายสภาประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยนี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการนำรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 กลับมาใช้เลือกตั้ง พร้อมกับเป็นตัวตั้งตัวตีลุกขึ้นมาประท้วงการทำงาน ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ด้วยรูปแบบการปราศรัยที่ดุเดือด

และคืน วันที่ 31 พฤษภาคม 2550 ดา ตอร์ปิโด ได้ไปรวมกลุ่มกับ "พีทีวี" (PTV) ที่บริเวณท้องสนามหลวง (ขณะนั้นกลุ่มพีทีวีกำลังตั้งเวทีขับไล่รัฐบาลนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนน์) โดย ดา ตอร์ปิโด ได้เปิดเวทีเล็กๆ ด้านข้างเวทีใหญ่ของพีทีวี ด่าทอคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ตุลาการรัฐธรรมนูญ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จนกระทั่ง นางยุพา อิ่มแดง อายุ 34 ปี แม่ค้าขายดอกไม้ ย่านปากคลองตลาด ทนไม่

Submitted by The Other on

-ไหว-ถึงกับนำถุงพลาสติกที่ข้างในใส่อุจจาระปาใส่หน้า ดา ตอร์ปิโด ทำให้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับ

ต่อมาหลังจากการเลือกตั้ง เดือนธันวาคม 2550 เสร็จสิ้น รัฐบาลพรรคพลังประชาชนก็ได้เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศต่อ เป็นผลทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (People's Alliance for Democracy: PAD) ลุกขึ้นมาประท้วงขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน โดยอ้างว่าเป็นรัฐบาลนี้ยังคงเป็นเครือข่ายของระบอบทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ทำให้ ดา ตอร์ปิโด ลุกขึ้นมาต่อต้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกครั้งเช่นกัน โดยร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเปิดการชุมนุมต่อต้านกลุ่มพันธมิตรที่บริเวณท้องสนามหลวง

และ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2551 ดา ตอร์ปิโด ได้ขึ้นเวทีปราศรัยกลุ่มต่อต้านพันธมิตร ณ บริเวณท้องสนามหลวง ระหว่างปราศรัยนี้เธอได้ใช้ถ้อยคำดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันเบื้องสูง

Submitted by The Other on

อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และถือเป็นการมิบังควรอย่างที่สุด ทำให้กองทัพบกมีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เรื่องขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้ ดา ตอร์ปิโด ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี

อย่างไรก็ ตาม แม้ "ดา ตอร์ปิโด" จะยืนหยัดเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ทุกฝ่ายก็ไม่เห็นด้วย ที่เธอจะนำเอาสถาบันเบื้องสูงที่ประชาชนคนไทยเคารพรักยิ่งมาพาดพิงเช่นนี้

และพฤติกรรมของเธอก็ถือว่าไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง

Submitted by ท่านโอยาชิโร่ on

ดิ ออเทอร์ สนุกไหมกับการ spam ฉันเห็นชื่อคุณพร้อมกับความเห็นเรียงกันเป็นตับ ๆ ทีไร นึกถึงขยะที่คนเขาโกยจากบ้านตัวเองมาไว้หน้าบ้านคนอื่นอย่างไม่มียางอายทุกที

Submitted by ว ณ ปากนัง on

*สักวันหนึ่ง สิ่งที่หวัง ตั้งใจมั่น
จักถึงวัน สมหวัง ดั่งใจหมาย
วันที่ฟ้า สดใส ไร้อันตราย
จากสิ่งร้าย ทำลาย สิทธิ์เสรี

*สักวันหนึ่ง ซึ่งสิทธิ มนุษยชน
จักมีผล ให้คนไทย ได้ศักดิ์ศรี
มีสิทธิ์คิด พูด เขียน เรียนรู้ดี
มีเสรี จะบอกกล่าว เล่าความจริง

*สักวันหนึ่ง ซึ่งประชาธิปไตย
ได้ก้าวไกล ก้าวหน้า พาทุกสิ่ง
เผด็จการ มืดบอด ถูกทอดทิ้ง
โลกความจริง สว่างไสว ในใจคน

*ในวันนั้น ดารณี จะมีค่า
ดั่งดารา แสงปลั่ง หลังเมฆฝน
สว่างไสว ในจิตใจ ประชาชน
ที่รับผล ประชาธิปไตย

Submitted by ปติ ตันขุนทด on

***ยี่สิบห้าฟ้าสะอาดแดดสาดจ้า
สิงหาคมมาสใกล้คลาดคลา
ค่อนพรรษาเวลาเคลื่อนไม่เชือนแช

สรรพสัตว์โศกเศร้าเขลาครองโลก
พบวิโยคพลัดพรายสายกระแส
มัจจุราชคืบคลานจ้องผลาญแท้
ทั้งสัตว์แก่สัตว์สาวเท่าเทียมกัน

สาวตายก่อนแก่แก่ก่อนสาว
เมื่อถึงคราวถึงฆาตไม่คาดฝัน
ไฉนใฝ่ยื้อแย่งยิงแทงฟัน
เข่นฆ่ากันเพราะสมบัติปฐพี

อันลาภยศสรรเสริญเพลินมัวเมา
เพราะโฉดเขลาอวิชชาพาบัดสี
จงตั้งศีลภาวนาปัญญามี
ชักชีวีให้พ้นโศกโลกฉลเอยฯ

*****************

Submitted by The Other on

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

" คุกไม่อาจกักขังสุนัข "
================

๏ คุกไม่อาจมีไว้กักขังสุนัข แลจักแสดงผลกรรมทำเข็ญ

วาจาดุร้ายสาธยายเป็น ถึงได้เห็นผลนำที่ทำตัว

๏ คุณให้โทษประสงค์สิ่งใด วาจาไซร์ตอบสนองดีชั่ว

ทำแล้วอย่าโอดครวญเมามัว เพราะตัวทำกรรมใดรู้ผลดี

๏ รุมปลูกฝังตรรกะวิปริต เกิดความคิดเมามายหน่ายดี

คุณธรรมมโนธรรมหาได้มิมี ก่อเพียงที่ระราน เพื่อใครในเบื้องหลัง

๏ คุณฆ่าตัวคุณเองใช่ใครทำ จดจำไว้ในมโนย้อนคิดไว้บ้าง

จริตใดมารยาไหนพาอับจนหนทาง เลยอ้างว้างจองจำ ช้ำชดใช้กรรม

๏ คุกไม่อาจมีไว้กักขังสุนัข คนจมปลักโคลนหนาเช้าค่ำ

จะกู่ก้องร้องบอกใครให้ช่วยนำ เพราะคุณทำกฎหมาย ตีตรวนกระบวนความ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Submitted by นกสีเหลือง on

จะเรียกร้องประชาธิปไตยก็ทำกันไปเถอะแต่อย่าได้ดึงสถาบันมาเกี่ยวข้องด้วยเลยคนไทยส่วนมากเขาไม่เห็นด้วยกับพวกคุณหรอก

Submitted by นกสีเหลือง on

เหลืองออกมาไล่เพื่อไทยแดงออกมาไล่ปชปแล้วตกลงนีประเทศของเราจะไม่มีวันอยู่อย่างสันติสุขได้อีกแล้วหรือนี่คือเกมส์แย่งชิงอำนาจของนักกินเมือง

Submitted by ว ณ ปากนัง on

*คุกไม่อาจ มีไว้ ขังสุนัข
มีไว้กัก ขังคน ผลกฎหมาย
คนถูกขัง ไม่ใช่หมา อย่าคิดร้าย
อาจไม่ได้ ทำเสียหาย ร้ายเลวจริง

*เหมือนดั่งเช่น คานธี ที่ติดคุก
สร้างความสุข ประชาชน คนดียิ่ง
อีกหลายคน ประวัติศาสตร์ มิอาจทิ้ง
เมื่อความจริง นำสู่ การเปลี่ยนแปลง

*คุกไม่อาจ มีไว้ ขังสุนัข
ไม่อาจกัก ขังใจ ใฝ่สีแสง
การเรียกร้อง สิทธิ์เสรี มิโรยแรง
นำสู่การ เปลี่ยนแปลง ทีละน้อย

*คุกไม่อาจ มีไว้ ขังสุนัข
คนยังจัก ต่อสู้ อยู่ไม่ถอย
แม้กลัวคุก อย่างไร ไม่เลื่อนลอย
ทีละน้อย ที่ละน้อย ค่อยสู้ไป

Submitted by Nor on

อย่ายกจัณทาล เปรียบมหาบุรุษ

น่าหัวร่อ

Submitted by นิรนาม on

มหาบุรุษหลายท่านเคยติดคุก ในประเทศไทยมีนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์หลายท่าน
ติดคุกหรือแม้กระทั่งถูกฆ่าตาย คนติดคุกหลายๆคนจึงไม่ใช่จัณฑาล

Submitted by นิรนาม on

และดารณีก็ไม่ใช่คนตำ่ช้า หรือจัณทาล

Submitted by ใครอยู่เบื้องหลัง on

พลเอกพัลลภ แฉว่า

1.องคมนตรี(พลเอกสุรยุทธ)
2.ประธานศาลฏีกา
3.ประธานศาลปกครอง

มาประชุมกันที่บ้านของนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา

มีการถามว่า ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หายไปได้หรือไม่ (อุ้มฆ่า)

คนระดับนี้ มาประชุมกัน โดยไม่มีใครสั่งหรือ?

ใครอยู่เบื้องหลังคนเหล่านี้?

แล้วแบบนี้ ดา ตอร์ปิโด จะเหลืออะไร

Submitted by ก๊วยเจ๋ง on

ได้อ่านบทความแล้ว...อยากให้ดารณี สำนึกผิดจริง ตามที่ให้สัมภาษณ์

ขอให้ดารณี คิดดี พูดดี และ ทำดี (คือทำตัวเสียใหม่ ให้ตรงกันข้ามกับที่เคยทำมาแล้วในอดีต ก่อนถูกจับเข้าห้องขัง)

ทำไม คนเราควรคำนึงถึง...การทำหน้าที่ (มากกว่าสิทธิ) ?

ทำไม หน้าที่ของคนไทยอย่างนึง คือ การปกป้อง และ รักษา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

เพราะกว่าประเทศไทยจะรวมกันเป็นปึกแผ่นเหมือนปัจจุบันได้...(ให้เรา กิน อยู่ หลับ นอน)...พระมหากษัตริย์ไทยในอดีต (บรรพบุรุษ ของพระมหากษัตริย์ ปัจจุบัน)...ได้ต่อสู้ ฟันฝ่า อุปสรรค นานับประการ...เพื่อธำรง รักษา ผืนแผ่นดินนี้ ไว้ให้ลูกหลานไทย

ศาสนาทุกศาสนา สอนให้คนเป็นคนดี (ที่พึ่งทางใจ และ สอนแนวทางปฏิบัติตน)

ศาสนาพุทธ เป็นศาสนา ที่มีความเป็นเหตุเป็นผล ....ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

เราเคยดู ดารณี ไปอาละวาด แถว ASTV พูดจาหยาบคาย ด่าทอ ให้ร้าย ขู่อาฆาต (คือ พูดไม่อ้าปาก เหมือนคนกัดฟัน เครียดแค้น ชิงชัง ถ่มถุยน้ำลาย ใช้ ขาเตะ ถีบ ใช้เท้ากระทืบรูปคนอื่น บดขยี้เท้าไปมาพร้อมเสียงก่นด่า ต่อหน้าสื่อมวลชน)...เห็นพฤติกรรมเช่นนี้บ่อย

ขอให้เลิกกระทำซะ...เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตน

Submitted by ว ณ ปากนัง on

@..โทษทัณฑ์ที่กล่าวล้ำ.....ก้ำเกิน
สิ่งที่ต้องสรรเสริญ................ค่ำเช้า
โทษหนักดั่งพะเนิน..............เหล็กทุบ.....ชีพนา
ขังคุกนานหนอเจ้า.................สุดร้าวสุดราน

@..ความดีที่ต่อต้าน.............รัฐประหาร
เป็นที่รักแห่งการ....................ต่อสู้
คนดีที่ทรมาน.........................หมองหม่น
ควรแก่การรับรู้.....................อย่างผู้วีรชน

@..ผลบุญหนุนส่งให้.........ดารณี
เรือล่องลอยวารี.....................รอดพ้น
พายุใหญ่โหมตี......................จงสงบ........สิ้นเทอญ
ขออย่ามีทุกข์ท้น....................อย่าท้อพลังใจ

Submitted by Ennio on

คุกขังเขาได้ แต่หัวใจอย่าปรารถนา

Submitted by จี on

รุ้สึกอะไรบ้างไม๊ ที่โดนข้อหานี้ ชีวิตเป็นไงบ้างหละ ดีขึ้นเลยสินะ ไปนอนอยู่ในคุก ก็ไม่ต่างจากคนที่อยู่ดูไบหรอกนะ บาปกรรมมีจริงไม๊หละ จะกลับมาเหยียบแผ่นดินที่ต้วเองเกิดมายังทำไม่ได้

Submitted by ว ณ ปากนัง on

@..คนดีที่ต่อต้าน..............เผด็จการ
นำต่อต้านรัฐประหาร............ชั่วช้า
ควรยกย่องตำนาน..................การต่อ...สู้เอย
นี่แหละคือคนกล้า..................ว่าผู้วีรชน

Submitted by ทุ่งลมจอย on

งานนี้เห็นว่า ดา คงติดคุกอีกนานจนกว่า.....เพราะกฎหมายหมิ่น...นี้มีไว้เพื่อปกป้อง....เพราะมีคดีติดตัวเหมียนกัลล์...อีกทั้งช่วยค้ำจุนขุนศีกนักรบทั้งหลายที่ปฏิวัติกันมาเล่นๆหลายสิบปี...เป็นกรรมของประเทศนี้ที่มีกฏหมายนี้ ทำให้ประเทศนี้ไม่เคยมีประชาธิปไตยจริงๆเลย อนิจจังสังคมไทย.

Submitted by ปติ ตันขุนทด on

***คนกล้า ไม่เป็นที่ต้องการของฝ่ายตรงข้าม

***คนฝ่ายตรงข้าม ต้องการคนขี้ขลาดและทรยศ

***คนมีอุดมคติไม่เป็นที่ต้องการของคนสอพลอ

***คนที่ต้องการให้แต่คนอื่นยกยอ ต้องการคนที่จงรักภักดีอย่างหมา

Submitted by ว ณ ปากนัง on

*ยิ้มโมนาลิซ่า ยิ้มดารณี
ยิ้มไมตรี ต่อโลก ไม่โศกศัลย์
ยิ้มเป็นนัย ให้เห็น เป็นสำคัญ
ยิ้มไม่หวั่น ชีวิตสู้ ชูสองนิ้ว

*ถึงอย่างไร ดายังมี ชีวิตอยู่
มีคนรู้ คนเข้าใจ ไม่โหยหิว
คนมากมาย ยังเป็นมิตร ไม่บิดพลิ้ว
ชูสองนิ้ว ให้กัน อย่างมั่นใจ

*ดาเหมือนดั่ง ดารณี ที่ลอยล่อง
อยู่กลางท้อง มหาสมุทร สุดกว้างใหญ่
ขอนาวา มีชีวิต พิชิตชัย
กลับถึงฝั่ง ปลอดภัย ตั้งใจคอย

Submitted by love pracjatai on

ดาไม่ใช่ประชาชนที่ดีของชาติไทย ประชาชนที่ดีตอ้งรักอำมาตย์ ไม่วิจารณ์ทหาร (เรื่องใช้งบประมาณ) รัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลที่รักชาติสถาบันอย่างแท้จริง โดยเอื้ออำนวยให้กลาโหมได้รับงบประมาณกอ้นใหญ่ (แสนหกหมื่นล้านบาท) ซึ่งเป็นเงินจำนวนเท่าตัวเมื่อเทียบกับรัฐบาทนายแม้ว (แปดหมื่นล้านบาท) เงินนี้จำเป็นสำหรับประเทศเรามากๆ ประชาชนที่ดีต้องเคารพสถาบัน ดาไม่เคารพสถาบัน ดาตอ้งการประชาธิปไตยเป็นเรื่องของผู้ปกครอง ไม่ใช่ประชาชนที่มีหน้าที่เสียภาษีอย่างเดียว ดาคิดให้ดีนะค่ะ.

Submitted by หนูแดง on

แม้ศัตรูจะยังไม่ถืออาวุธ แต่กำลังใช้วิธีย้อมหัวของเรา ย้อมหัวใจของเราให้หลงผิด สิ่งที่ทำได้คืออย่ายอมให้พี่น้อง ลูกหลานเข้าใจผิด แต่ต้องทำความเข้าใจ และเผยแพร่ สอนผู้อื่นให้รู้ว่า เมืองไทยอยู่ได้เพราะ 3 สิ่งนี้ คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

Submitted by คำหล้า on

เป็นศิษย์ต้องปรึกษาอาจารย์ เป็นลูกหลานต้องปรึกษา พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย

Submitted by วนิดา on

มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ชอบทำผิดเรื้อรังโดยไม่คิดจะสำนึกผิด ตราบใดที่ไม่มีกฎหมายลงโทษก็จะทำผิดเรื่อยไปและย่ามใจมากขึ้นเรื่อยๆ หากการลงโทษไม่มีผลดีเลย เชื่อว่าป่านนี้ทั่วโลกคงไม่มีคุกอยู่

Submitted by ยิ้มสยาม on

ยุติการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์และการใช้สถาบันเป็นข้ออ้างทางการเมือง

Submitted by ดวง on

ปล้นรถเมล์ ปิดถนนทำให้จราจรเป็นอัมพาตทั่วกรุงเทพ และบางจังหวัด เผารถเมล์ ปล้นสดม เผายางรถ ขโมยรถแก๊ส เปิดวาล์วรถแก๊สกะฆ่าหมู่ชาวบ้านในแฟลตดินแดง ทำลายสมบัติของทางราชการ เผาแบงค์ และบริษัทอื่นๆ จับชาวบ้านเป็นตัวประกันสนองความชั่วของตนเอง ทำร้ายชาวบ้านที่เขามาปกป้องชุมชนตนเอง ตายไป 2 ล้มการประชุมอาเซียน ทำให้ ปชช ในอาเซียน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เสียโอกาสแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นักประชาธิปไตย
แบบไหนเอ่ย!!!

Submitted by หนูแดง on

สมเด็จพระบรมราชินีนาถ คู่พระบารมี แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้ทรงตรากตรำพระวรกาย ประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ของประชาชน ทั่วพระราชอาณาจักร ขอพระองค์ทรงพรเจริญ

Submitted by กาหลง on

ทำชั่วให้กลับใจ คิดใหม่ทำใหม่ยังไม่สาย ร่วมกันทำความดีเพื่อใช้หนี้แผ่นดิน

Submitted by สวน on

ภูมิใจเถิดที่ได้เกิดเป็นคนไทย ใต้ร่มพระบารมี ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ

Submitted by สถาปนา on

ผู้ใดกล่าวร้อยและพาดพิงทำให้ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยสมเด็จพ่อแม่ของพวกเราเขาผู้นั้นไม่ควรชื่อเป็นคนไทย

Submitted by ฉัตรชัย on

บุญชาวไทยได้พึ่งองค์พระทรงยศ
ด้วยปรากฏพระเมตตามหาศาล
น้อมบูชิตพร้อมกายใจในวันวาร
สนองงานพระหลากหลายถวายพระพร

Submitted by คำหล้า on

พระบารมีเหนือกษัตริย์ใดในหล้า
ทรงดำริสิ่งมีค่ามหาศาล
ยอมสละทุกสิ่งเพื่อกิจการ
ให้ทวยราษฎร์ทั่วทุกย่านได้ร่มเย็น

Submitted by หนูแดง on

บางกลุ่มใส่ร้ายป้ายสี "สถาบันกษัตริย์" ว่า ขัดขวางความเจริญของบ้านเมือง, เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในต่างประเทศที่ล้มเหลวในเชิงเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์ไทย พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ได้ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ทุ่มเทให้แก่แผ่นดิน ช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรือง ความมั่นคงสถาพรให้ชาติไทยได้มีเอกราชสืบต่อมาจนทุกวันนี้

Submitted by หนูแดง on

เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน้าดำคร่ำเคร่ง ขาดรอยยิ้ม ขาดสมาธิในการทำงานการสำคัญ ขาดการลงพื้นที่พบปะถามไถ่ทุกข์ของพี่น้องคนไทย เพราะพวกท่านเหล่านี้ กลุ่มนอกขอบชายแดน กับอีกคนหนึ่งอยู่ในเมืองหลวงของประเทศ สัปดาห์นี้จะได้กลายเป็นเรื่องสำคัญกว่าทุกปัญหาในบ้านเมืองของเรา

Submitted by บังวิน on

ครับ วันนี้เป็นวันครบรอบ 3 ปี การปฏิวัติรัฐประหาร 19 กย. เมื่อวานนี้ 18 กย. ตอนเย็นๆ เป็นวันที่ผมได้รับจดหมายตอบรับฉบับแรกจาก คุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล จากโครงการส่งจดหมายชวนคุณดารณีมาเที่ยวบ้านของเรา ลงวันที่ 14 กย. เธอบอกว่าตามกฎของเรือนจำเธอสามารถเขียนจดหมายได้สัปดาห์ละครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 บรรทัด เธอฝากบอกมาในจดหมายว่า ขอฝากความระลึกถึงและคิดถึงไปยังทุกท่านที่ได้ให้กำลังใจ และขอขอบคุณทุกแรงใจ ทั้งที่ได้ส่งจดหมายมาถึงและไม่มีโอกาสได้ส่งจดหมายมา เธอบอกว่า ขอให้จงเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำและพร้อมก้าวเดินต่อไป สักวันชัยชนะต้องเป็นของเรา บนเส้นทางเดินบ้างครั้ง ต้องเจอกับอุปสรรค ความเจ็บปวด ความสูญเสีย ขอจงอย่าได้ท้อถอย ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ บนความล้มเหลวก็ให้บทเรียนแก่เรา ให้ได้มีโอกาสทบทวน ขอจงใช้มันในการเตือนสติ ขออย่าให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีกไม่ว่ากับใคร บนการต่อสู้ย่อมต้องมีผู้ได้รับบาดเจ็บ การพ่ายแพ้ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป เพราะมันทำให้เราได้รู้ถึงข้อบกพร่องเพื่อนำมาแก้ไข ให้การก้าวในครั้งต่อไปให้มั่นคงยิ่งขึ้นบาดเจ็บน้อยลงแม้จักต้องลำบากเพียงใด ก็ขออย่าได้ท้อถอย ขอให้จงมุ่งมั่น

Submitted by ทุ่งลมจอย ผีบ้า... on

เป็นประเทศเดียวที่มีกฎหมายนี้คือเป็นกฎหมายสองมาตรฐาน เพราะโดยทั่วโลกนั้นถ้าเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นจะไม่มีกฎหมายที่ลงโทษรุนแรงที่โหดร้ายแบบนี้เช้นในอังกฤษและญี่ปุ่น ดูเห็นง่ายๆว่าประเทศเหล่านั้นกษัตริย์ไม่โดดมาเล่นการเมืองเต็มตัวจึงไม่ถูกวิจารณ์เสียหาย เพราะฉะนั้นก็เราก็ตอ้งภูมิใจที่มีประชาธิปไตยแบบโดดเด่นคือประชาธิปไตยแบบไทยๆนั้นเอง.

Submitted by คนโบราณ on

ดารณีคือเหยื่อของนักการเมืองเธอออกมาเรียกร้องเพื่อใครแล้วเวลาที่เธอติดคุกมีนักการเมืองคนไหนบ้างที่ออกมาปกป้องเธอคอยให้กำลังใจอย่าไปหวังเลยครับกับนักการเมืองพวกนี้คนที่เป็นห่วงเธอจริงๆคือพ่อแม่ญาติพี่น้องของเธอเองหวังว่าซักวันหนึ่งเธอคงจะเข้าใจว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันถูกหรือผิด

Submitted by คนโบราณ on

เวลาที่ผ่านมาพระมหากษัตริย์ทรงทำเพื่อประชาชนชาวไทยมามากมายแล้วทำไมถึงยังมีคนที่คอยคิดทำลายสถาบันอยู่อีกประเทศไทยน่ะปกครองด้วยระบอบนี้น่ะดีอยู่แล้วพวกนายกบางคนเข้ามากอบโกยแล้วก็จากไปส่วนพระมหากษัตริย์และราชวงศ์มีแต่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเพราะฉะนั้นเราควรเคารพและเทิดทูนสถาบันอย่าให้ใครมาคิดร้ายพวกนักการเมืองทุกพรรคปากก็บอกว่าปกป้องสถาบันและรักชาติแต่เปล่าเลยพวกนี้น่ะรักชาติแค่ลมปากเท่านั้นมีแต่รักผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องเท่านั้น

Submitted by โลกนี้และโลกหน้า on

ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ขอสู้สึกทุกเมื่อ ไม่หวั่นไหว ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ ขอฝ่าฝันผ่องภัยด้วยใจทรนง...
รักพระเจ้าอยู่หัวของเราเถอะคุณดาตอปิโดถ้าหัวใจของคุณไม่เคยมีรัก ถ้าจำไม่ผิดเพลงนี้สมเด็จเทพเป็นผู้แต่งคำร้อง..มันเศร้ามากคุณไม่เคยร้องไห้ ให้กับเพลงนี้บ้างเลยหรือ มันคือบทเพลงแห่งความเสียสละอันยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับที่พระเจ้าอยู่หัวของเราได้ทำมา พระองค์เป็นความจริงยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก เป็นเหมือน ร.5 เป็นเหมือน พระพุทธเจ้า ท่านเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความเสียสละ หรือว่าคุณดาไม่เคยมีฮีโร่ในใจ

2 คำถามเรื่องหลักการในข่าว “แดง” จับ “แดง”

กรณี “แดงจับแดง” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ไม่ควรถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องเข้าใจผิด หรือเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวและจบกัน แต่นี่คือเป็นปัญหาท่าที และหลักการของแกนนำซึ่งไปช้ากว่ามวลชนอย่างสม่ำเสมอ

M79 และผองเพื่อน: สิ่งเบี่ยงเบนข่าวสารราคาย่อมเยา

วิธีกลบข่าวแบบบ้านๆ ไทยๆ ไม่ต้องลงทุนมากก็กลบมันด้วยน้อง M79 ลูกกระสุนสนนราคาละไม่กี่ร้อย แต่ก็ได้พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งกลบข่าวคนเป็นหมื่นเป็นแสนที่ออกมาไล่รัฐบาลในขณะนี้

โอกาสเดียว 'ยึด' และ 'ยึดหมด' : ข่าวคดียึดทรัพย์ในสายตานักข่าวเทศ

สื่อต่างประเทศให้ความสนใจกับข่าวการเมืองในไทยกันหนาแน่นตลอดสัปดาห์นี้ ยิ่งใกล้วันศุกร์ วันที่สื่อทั้งหลายเรียกมันว่า judgement day มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลงข่าวและบทวิเคราะห์กันคึกคักมากขึ้นเท่านั้น ประเด็นของการรายงานของสื่อนอกเน้นหนักไปที่สองเรื่องใหญ่คือ แนวทางของคำพิพากษาที่จะออกมา กับผลสะเทือนทางการเมืองจากการตัดสินหนนี้ ทั้งต่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสองขั้วคือเหลืองกับแดง และผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย

(ที่มาของภาพ: มังกรดำ) ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถือเป็นการกลับเมืองไทยครั้งแรกนับตั้งแต่เขาออกจากประเทศไปประชุมที่องค์การสหประชาชาติและเกิดการรัฐประหารโค่นอำนาจเขาเมื่อ 19 กันยายน 2549 ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 เขาเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้งโดยไม่กลับมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่ดินรัชดา ล่าสุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะอ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทอีกคดี นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สื่อทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจต่อเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย