คนไทยแท้เป็นอย่างนี้เอง

10 February, 2010 - 00:00 -- ong

ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก

เชื้อสายทางบิดาของป้าขจีสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สามารถกล่าวย้อนไปได้หลายร้อยปี กล่าวคือ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เดิมมีชื่อว่า “สิงห์” เกิดในสมัยธนบุรี เป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) กับท่านผู้หญิงฟัก ซึ่งเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) นั้นสืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์ศิริวัฒนะ รับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำแหน่ง ราชปุโรหิต ส่วนเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่สมเด็จพระยาวังหน้าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และได้เป็นแม่ทัพใหญ่ทำศึกสงครามกับลาว เขมร และญวน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จากความดีความชอบที่ปรากฏ รวมทั้งอำนาจวาสนาที่ล้นฟ้าในขณะนั้นจึงน่าจะได้รับพระราชทานธิดาเจ้าเมืองต่างๆ ที่ตีได้ และยังมีผู้ยกธิดาให้เป็นภรรยาจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงมีบุตรธิดาที่เกิดจาก ท่านผู้หญิงเพ็งและท่านผู้หญิงหนู รวมกับภรรยาอื่นที่ทั้งปรากฏชื่อและไม่ปรากฏชื่อที่มีทั้งไทย มอญ ลาว เขมร และญวน (เวียดนาม) จำนวนราว ๑๒ ท่าน บุตรธิดาของเจ้าพระยาบดินทรเดชามีทั้งสิ้น ๒๓ คน

ส่วนตระกูลทางแม่ของป้าขจีว่ากันว่าอยู่ที่บ้านเกาะ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในช่วงปลายสมัยอยุธยา คหบดีครอบครัวหนึ่งมีข้าทาสบริวารมาก ลูกสาวคนเล็กได้เกิดรักใคร่ชอบพอกับทาสหนุ่มในบ้าน กระทั่งได้เสียและมีลูกด้วยกัน ๒ คน เมื่อถูกกีดกันและดูถูกเหยียดหยามหนักเข้าจึงพากันหลบหนีโดยทางเรือ ตั้งใจจะไปตั้งครัวเรือนอยู่ถิ่นอื่น เมื่อพายเรือไปได้ระยะหนึ่ง พบเรือลำหนึ่งพายสวนมามีพระสงฆ์นั่งอยู่เต็มลำ พระได้ถามว่าจะไปไหนกัน สองคนผัวเมียได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง พระในเรือนั้นได้ชี้ให้ดูต้นอินทผาลัม ๒ ต้น ที่ขึ้นอยู่ริมแม่น้ำ สองผัวเมียหันไปดูตามที่พระชี้ และเมื่อหันกลับมาก็ไม่พบเรือพระลำนั้นแล้ว สองผัวเมียคิดใคร่ครวญไปมาจึงเข้าใจว่าพระอาจจะบอกนัยอะไรบางอย่าง จึงพากันไปขุดดูใต้ต้นอินทผาลัมนั้น กระทั่งฟ้ามืด ได้พบตุ่ม ๒ ใบ เป็นตุ่มเงิน ๑ ใบ ตุ่มทอง ๑ ใบ และมีงูเห่าแผ่แม่เบี้ยอยู่เหนือตุ่มสองใบนั้น สองผัวเมียจึงคว้าหญ้าริมตลิ่งนั้นมาหนึ่งกำยกขึ้นไหว้จบเหนือหัว อธิษฐานว่า ถ้าเจ้าของทรัพย์สมบัตินี้ตั้งใจจะยกให้แล้วก็ขอให้งูจงเปิดทางและเอาสมบัตินี้ไปให้ตลอดรอดฝั่งด้วยเถิด จากนั้นสองผัวเมียจึงตัดสินใจพายเรือกลับบ้าน เมื่อถึงบ้านพี่ๆ ต่างพากันออกมาสมน้ำหน้าหาว่าไปไม่รอด สองผัวเมียจึงเล่าให้ฟังเรื่องราวทั้งหมด และอัญเชิญ “ทรัพย์แผ่นดิน” ที่ได้มาขึ้นบ้าน สองคนผัวนี้จึงมีฐานะดีเทียมพี่ๆ คนอื่น ต่อมาได้แบ่งสมบัตินั้นไปสร้างโบสถ์ ๒ หลัง ที่วัดเกาะ ตำบลบ้านเกาะ และวัดป้อมวิเชียรโชติการาม ตำบลมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร

เรื่องที่เล่ามาข้างต้นเป็นสายทางแม่ของป้าขจี โดยปู่ย่าที่เป็นทวดของป้าขจีเป็นคนไทยแท้ย่านนั้น ส่วนทางสายตระกูลตายายที่เป็นทวดของป้าเป็นคนมอญบ้านเกาะ ตาชื่อนายพุก ... ส่วนยายชื่อ นางพลับ ... มีพี่น้อง ๑๖ คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับหม่อมแช่ม หม่อมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ยายของป้าขจีเรียกหม่อมแช่มว่า หม่อมอา หม่อมแช่ม จึงเป็นหม่อมยายของแม่ป้าขจี ดังนั้นลูกหลานตระกูลนี้จึงได้รับการชักชวนให้เข้ามาทำงานอยู่ในวังกรมพระนเรศวรฤทธิ์ แถวเชิงสะพานปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร (องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ FAO ในปัจจุบัน) สอดคล้องกับประวัติของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่นิยมเลี้ยงข้าทาสบริวารที่เป็นมอญเอาไว้มากมาย พี่น้องของยายพลับส่วนใหญ่จึงได้สามีเป็นชาติฝรั่งตะวันตก ลูกหลานจึงถือเชื้อสายข้างพ่อเป็นฝรั่งกันไปหมด

นามสกุลเดิมของป้าขจีคือ ... (นามสกุลพระราชทาน) เคยใช้นามสกุล ... ตามน้าสาวอยู่ระยะหนึ่งเมื่อตอนเด็กเนื่องจากเป็นลูกกำพร้า ต้องไปอยู่กับครอบครัวน้าสาวที่จังหวัดสงขลา ต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น ...เชื้อสายทางปู่ของป้าขจีสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โดยเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นพ่อของทวดผู้หญิง แต่งงานกับทวดผู้ชายซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ รับราชการอยู่วังหลัง ตำแหน่งพระคลังข้างที่ ส่วนปู่รับราชการในตำแหน่ง ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ไปทำงานอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้พบเข้ากับย่าของป้าขจี เป็นเจ้านางไทใหญ่ ขณะนั้นเป็นม่ายสามีเสียชีวิต พ่อของป้าขจีจึงเกิดที่แม่ฮ่องสอน ป้าขจีจึงมีชื่อเป็นภาษาไทใหญ่ที่ย่าตั้งให้ว่า จิ่งเมี๊ยะ (แปลว่า เพชรมรกต)

เลือดเนื้อและสำนึกของป้าขจีจึงประกอบขึ้นมาจากความหลากลาย ทั้ง พราหมณ์ มอญ ลาว จีน ไทใหญ่ ไทยภาคกลาง และไทยปักษ์ใต้

ป้าขจีเป็นสมาชิกของชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ เป็นสมาชิกสมาคมไทยรามัญ และเป็นสมาชิกวารสารเสียงรามัญ เข้าอกเข้าใจคนมอญที่ต้องอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย แต่กลับติดใจสงสัยชาวโรฮิงยาที่ลี้ภัยเข้าเมืองไทยล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ที่สำคัญพยายามซ่อนความเป็นลาวและจีนภายในสายเลือดของตนเอง ลูกหลานของป้าขจีหลายคนได้ดิบได้ดีในหลายศาสตร์หลากแขนง แต่ป้าขจีเลือกที่จะภาคภูมิใจในตัวหลานสาวคนที่ได้เป็นนางสงกรานต์มอญพระประแดง ไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมป้าขจีเลือกที่จะนำเสนอความเป็นมอญมากกว่าสิ่งอื่น เพราะหากเทียบกันแล้ว ยังมีเรื่องราวในสายเลือดตามแง่มุมต่างๆ ให้ป้าขจีได้ภาคภูมิใจ

ป้าขจีก็คงเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งทั่วไป เป็นคนไทยแท้... คนไทยแท้เป็นอย่างนี้เอง

ความเห็น

Submitted by น้ำลัด on

ผมติดตามบทความของคุณองค์ บรรจุนมาตลอด
และชื่นชมอยู่ในใจ เกี่ยวกับมุมมองและเสียงสะท้อนในสังคมที่ต่างออกไป

เมื่อครั้งผมยังทำงานเป็น Material Planner ที่บริษัท Seagate เทพารักษ์ สมุทรปราการ
ผมเคยไปงานบวชของเพื่อนพนักงานคนหนึ่ง เขาเป็นคนโพธาราม ราชบุรี
มีเชื้อสายมอญ ผิวขาว หน้าตาหล่อเหลา พอที่จะเป็นดาราไ้ด้เลย
ตอนนั้นเป็นครั้งแรก ที่ผมได้ยินบทพระสวดที่คำบางคำไม่เหมือนกับพระทั่วไป
ก่อนหน้านั้น ผมเข้าใจว่ามีเฉพาะพระภาคเหนือที่มีสำเนียงการสวดไม่เหมือนภาคกลาง
และสมัยเด็กผมก็ไ่ม่เคยเห็นชาวมอญมาก่อนว่ามีหน้าตาอย่างไร
เคยได้ยินแต่ว่าบางหมู่บ้านในอำเภอสันป่าตองมี "เม็ง" อาศัยอยู่
และเป็นกลุ่มผู้ผลิต "เส้นขนมจีน" ที่มีชื่อเสียงในย่านนั้น

ผู้คนในอำเภอสันป่าตองนั้นมีจุดร่วมคล้ายกันอย่างหนึ่งกับราชบุรี
กล่าวคือเป็นเขตที่อยู่อาศัยของคนต่างถิ่น หรืออาจเป็นเชลยศึกในสมัยก่อน
เมื่อกรุงเทพฯ หรือ เชียงใหม่ ชนะสงครามที่แห่งใด
ก็จะกวาดต้อนผู้คนจากเมืองนั้น มาอยู่ใกล้เขตเมือง-เขตปกครองของตนเองด้วย

Submitted by อาโด๊ด on

ขอบคุณ "คุณน้ำลัด" มากนะครับที่ติดตามอ่าน ให้ข้อคิดเห็นและคำแนะนำดีๆ เสมอ มีประสบการณ์ดีๆ แลกเปลี่ยนให้อ่านกันบ้างอย่างนี้ ชอบครับ ผมจะได้รู้เพิ่มขึ้นด้วย

Submitted by น้ำลัด on

อาจเป็นเพราะผมมีเลือดเนื้อเชื้อไขของ "ไทเขิน" อยู่ส่วนหนึ่ง
เลือดเนื้อเชื้อไขของบรรพบุรุษที่เคยเป็นเหมือน "เชลยสงคราม" ในอดีต
จึงพยายามขุดคุ้ยหารากเหง้าของตนเองว่ามาจากแห่งหนใด
อาจมีหลายท่านทำเหมือนกันอยู่ ในแต่ละชาติพันธุ์ของตนเอง
ซึ่งเราต่างก็มีเอกลักษณ์ มีคุณค่าของตัวเราเอง ที่ไม่ควรจะถูกย่ำยี
แต่ละชาติพันธุ์ของเราต่างมีศักดิ์ศรี มีที่มามีที่ไป และไม่ใช่วัฒนธรรมหยิบสิบ

ดูเหมือนทุกวันนี้ความเป็น "เชลย" มันยังไม่สิ้นสุด
อำนาจเร้น อำนาจลับ อำนาจมืด มันบิดเบือนสิทธิอันน้อยนิดของปวงชนไม่หยุดหย่อน
ปวงชนจึงตกเป็น "เชลย" ไม่ว่างเว้น เพียงเพราะเขาต้องการรักษาไว้ซึ่ง "อำนาจ"

Submitted by มมม. on

เรียนคุณอาโด๊ด คุณนำลัด และคุณสีแดง แสงดี
ผมอายครับไม่กล้า"ปิด"อัตลักษณ์ของตัวในสังคมชั้นสูงแต่ด้อยพัฒนานี้ครับ
เพราะผมไม่มี ณอยุธยา ต่อท้ายนามตัวเอง
และไม่มี ณ แพร่ด้วย ไม่ได้สืบเชื้อสายพระยาพิชัย ดาบหัก แต่ก็ศรัทธา พตต.อนันต์
เสนาขันธ์ อย่หน่อยหนึ่ง ที่เขายืนหยัดต่อสู้ อ. ต. ร.(ไอ้ตัวร้ายสีเขียว) จนประสบความสำเร็จ
ได้ อ. ต. ร. (เอาแต่รวย?) สีกากีลูกหม้อ จนบัดนี้ยังหาตัว ผบ.ตช.ไม่ได้
เปลี่ยนสีฃะเลยดีไหม? คุณ ตร. ปชป.??????
คุณนำลัดครับ ผมเป็นฮ่อหรือเงี้ยงขบถครับ
ต้องอย่อย่างปิดบังอำพลางฃ่อนเร้นอับอายมานาม.77ปีก่อนก็หลงดีใจว่าจะเป็นที่ยอมรับ
อิจฉาคนปลายด้ามขวานทองของไทย(ผสม)จริงๆ ผมน่าจะเกิดเป็นแขกแห่งมหานครรัฐปัตตานี.

Submitted by น้ำลัด on

คุณ มมม. ครับ "เงี้ยว" หรือ "ไทยใหญ่"
ก็มีวัฒนธรรมอันสวยงามของตนเอง มายาวนานและยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชนชาติใดๆเลย
เพียงแต่วันนี้ชนกลุ่มนี้กำลังตกที่นั่งลำบากทางการเมืองในพม่า ถ้าต่อสู้กับพม่าได้สำเร็จ
ชาวไทยใหญ่จะกลับมายิ่งใหญ่ได้เหมือนเดิม เราได้แต่เอาใจช่วยให้รัฐฉานกลับมาสงบสุข

ส่วน "ฮ่อ" นั้นผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักครับ เขาอาจจะรู้อย่างผิวเผิน
บางคนก็กำลังไหว้บรรพบุรุษของฮ่อโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
อย่างเช่น "ซำปอกง" ที่วัดพนัญเชิง อยุธยา
แท้จริงแล้วเป็นเพียงฉายาของ "เจิ้งเหอ"
ผู้นำการเดินเรือที่ยิ่งใหญ่ของชาวจีนโบราณ
เขาเป็นชาวจีนมุสลิมจากยูนนาน มีชื่อเดิมว่า "หม่าซานเป่า" (ออกเสียงตามภาษาจีนกลาง)
และกลายเป็น "ซานเป่ากง" เมื่อมีอายุมากแล้ว (เมื่อเป็น"อากง"แล้ว)
"ซานเป่ากง" ก็คือ "ซำปอกง" นั่นเองเพียงแต่เป็นการออกเสียงคนละจีนกันก็แค่นั้น
ในเชียงใหม่ยังมีผู้สืบเชื้อสายจากเจิ้งเหอคือตระกูล "วงศ์ลือเกียรติ"
ซึ่ง "เจ้าแก้วนวรัฐ" เป็นผู้ประทานนามสกุลให้แก่ "เจิ้งชงหลิ่ง"
(เรื่องนี้หาอ่านได้ง่ายๆจากการ search ทาง internet)

Submitted by น้ำลัด on

Gong Xi Fa Cai
恭喜发财

น้ำลัด
杨国南

Submitted by 杨&#22269... on

เมื่อ "เจิ้งเหอ" คือคนตระกูล "หม่า"
"หม่า" (馬) แปลว่า "ม้า" ภาษาจีนแต้จิ๋วอ่านว่า "เบ๊"

ตัวอย่างคนตระกูล "หม่า" ที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย
ก็คือ "คุณบรรหาร ศิลปอาชา" (สรุปว่าท่านมีสกุลเดียวกันกับ "ซำปอกง" นะครับ)
ด้วยเหตุนี้กระมัง คนสุพรรณจึงชอบพูดคำว่า "ไอ้หม่า" (ล้อเล่นครับ)
โปรดสังเกตุนะครับว่านามสกุลของคุณบรรหาร มีคำว่า "อาชา" ซึ่งแปลว่า "ม้า"
ทั้งนี้เพื่อรำลึกหรือโยงใยถึงนามสกุลเดิมในภาษาจีนของเขานั่นเอง

น้ำลัด

Submitted by น้ำลัด on

ดูเหมือนคนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักประเทศพม่าอย่างผิวเผินมาก
รู้เพียงประวัติศาสตร์ในตำราเรียนอันไร้ซึ่งการสร้างสรรค์สิ้นดี

คนไทยแทบจะไม่รู้จักคนเชื้อสายพม่าเลย
่รู้จักแต่เพียงคนที่มาจากประเทศพม่าเพื่อค้าแรงงาน
หากแต่มีเชื้อชาติ มอญ กะเหรี่ยง และไทยใหญ่ เป็นส่วนใหญ่

เด็กชาย "หม่อง ทองดี" เด็กพับเครื่องร่อนกระดาษ
เขาเป็นเด็กเกิดในเมืองไทย พ่อแม่เป็นชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว)
แต่พ่อแม่เขาเป็นสัญชาติพม่า

"มะเมียะ" กับเจ้าน้อยสุขเกษม ในตำนานของเชียงใหม่
เผยแพร่เป็นเพลงโฟล์กซอง และละครทีวี
เนื้อเรื่องบอกว่า "มะเมียะ" เป็นสาวพม่า เมืองมะละแหม่ง
แต่เมืองมะละแหม่ง นั้นมีแต่คนมอญ
เขตทางภูมิศาสตร์ก็เห็นชัดว่าเป็นเขตของคนมอญ
เพียงแต่อาจจะอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า
"มะเมียะ" จึงเป็นสาวมอญแน่ๆ

จากตำนาน "มะเมียะ" นั้นจะเห็นได้ว่า เมืองของชาวมอญนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก
แม้แต่ลูกของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ยังต้องไปเรียนวิทยาการจากชาวมอญ
เมืองย่างกุ้งอดีตเมืองหลวงพม่านั้นก็เป็นเมืองของชาวมอญ
เจดีย์ชเวดากองอันยิ่งใหญ่ ก็ถูกสร้างขึ้นโดยชาวมอญ
แต่แผ่นดินของชาวมอญนั้นถูกปล้นไป

Submitted by ေလ&... on

ไทใหญ่ คือ ไต
ไตอยู่ในรัฐฉาน สิบสองปันนา จนถึงแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ส่วนหนึ่ง
เงี้ยว เป็นคำที่ ไต ไม่เคยเรียกตัวเองแบบนี้เลย
อีกอย่าง เด็กเขาชื่อ "มอง ทองดี" พ่อแม่ไปแจ้งเกิด อำเภอฟังผิดเลยใส่ให้เป็น "หม่อง"
มั่วมาก เดี๋ยวจะเจอถล่มด้วยจรวด (พับกระดาษ)

มะละแหม่ง เป็นเมืองผสมมีทั้งมอญ บะหม่า ไทใหญ่ กะเหรี่ยง
ที่สำคัญ มะเมียะ อาจจะเป็นแค่เรื่องเล่าชวนหัวของ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ก็ได้

Submitted by น้ำลัด on

ขอขอบคุณ คุณ ေလးျဖဴ ที่ร่วมให้ความกระจ่าง
ผมเองก็ว่าไปตามที่เคยไ้ด้ยินมา เคยได้อ่านมา
มันจะผิดจะถูก มันยากที่จะตัดสิน และก็คงไม่มีความจำเป็นต้องตัดสินอะไร
ข้อมูลก็เพียงแค่เป็นการแลกเปลี่ยนกันครับ

ผมเข้าใจครับว่า "คนไต" ไม่เคยเรีกตนเองว่า "เงี้ยว"
และบางคนอาจจะรู้สึกเป็นคำดูถูกดูแคลนด้วย

่ผมเองก็ไม่เข้าใจเช่นกัน ว่าใครมันเป็นบัญญัติศัพท์เรียกแต่ละชนชาติเช่นนั้น
บางทีผู้ถูกเรียกเช่นนั้นไม่ "ปลื้ม" เลย แต่คนไทยก็ไม่รู้จักแก้ไขและให้เกียรติผู้อื่น
มันไม่ได้เกิดขึ้นกับคน "ไต" เท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นกับแทบทุกชนชาติในไทย

เงี้ยว = ไต
เขมร = ขแมร์
กะเหรี่ยง = ปกากะญอ
มูเซอ = ลาฮู
ฮ่อ = จีนยูนนาน-จีนเสฉวน
แม้ว = ม้ง
มอญ = รามัญ

ฯลฯ

ผมเข้าใจว่าจุดศูนย์กลางของ "ไต" นั้นอยู่ในรัฐฉานมานาน
และปัจจุบันคนไตได้กระจายตัวไปมากมายจนสุดจะคะเน

สิบสองปันนา (เชียงรุ้ง) ในเขตประเทศจีนนั้นเป็นถิ่น "ชาวลื้อ"
เชียงตุงในเขตรัฐฉานของพม่านั้นเป็นถิ่นชาวเขิน (ชาวขึน)
ทิศตะวันออกของเชียงตุงมี "เมืองยอง" เป็นถิ่นเดิมของ "ชาวยอง" ในลำ

Submitted by น้ำลัด on

ทิศตะวันออกของเชียงตุงมี "เมืองยอง" เป็นถิ่นเดิมของ "ชาวยอง" ในจังหวัดลำพูน

Submitted by น้ำลัด on

ส่วนเมือง "มะละแหม่ง" นั้น ในอดีตน่าจะมีความเจริญรุ่งเรือง
จึงเป็นไปได้ที่จะมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ
และเมืองใหญ่ต่างๆโดยทั่วไป ในปัจจุบัน
หาก "หมะเมียะ" มีจริงก็คงยากที่จะระบุว่าเป็นชนชาติใด
ซึ่งผมไม่ควรฟันธงว่าเป็นชาวมอญ

และตามที่คุณ ေလးျဖဴ ได้ออกความเห็น
"หมะเมียะ" อาจจะไม่มีตัวตนอยู่จริงก็ได้ครับ มันเป็นไปได้ทั้งนั้น

ผมเองก็ไม่มีความรู้เรื่องเมือง "มะละแหม่ง"
ลองค้นหาประวัติดูคร่าวๆพบว่าเป็นจริงตามที่คุณ ေလးျဖဴ ได้บอก
"มะละแหม่ง" เคยเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ

Submitted by ေလ&... on

คุณน้ำลัดค้นคว้าได้ลึกซึ้งแล้ว

ขนบการด่าให้แสบไส้ อย่างมอญ

31 March, 2010 - 00:00 -- ong

การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง

ตนกูอับดุล เราะฮ์มาน (Tunku Abdul Rahman)

19 March, 2010 - 00:00 -- ong

บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร

สยายผมเช็ดพระบาท... ทำไม?

9 March, 2010 - 00:00 -- ong

แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย เป็นการยืนยันถึงความเลื่อมใสศรัทธาอันเป็นเอกลักษณ์ทางพุทธศาสนาของชนชาติมอญแต่โบราณ

อีกแค่ ๙๔ ครบร้อยปีตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง

22 February, 2010 - 00:00 -- ong

ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน

 

คนไทยแท้เป็นอย่างนี้เอง

10 February, 2010 - 00:00 -- ong

ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก