ทีมคู่อริในวงการฟุตบอล

6 March, 2010 - 00:07 -- sports

Number 10.5

จากความรุนแรงของแฟนบอลในการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. ระหว่างทีมการท่าเรือและทีมเมืองทองยูไนเต็ด กลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมากในสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรในประเทศกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นและได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
รวมถึงกระแสต่อต้าน เสื้อน้ำเงิน ที่ลามมาถึงวงการฟุตบอลเมื่อ ‘เนวิน ชิดชอบ’ นักการเมืองผู้ทรงอิทธิพล ได้ให้การสนับสนุนฟุตบอลบุรีรัมย์อย่างเต็มตัวทั้งทีมในระดับลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 และการซื้อทีม PEA ในระดับไทยพรีเมียร์ลีก โดยเหตุการณ์ล่าสุดต้องเลื่อนการแข่งขัยระหว่างทีมชัยภูมิและทีมบุรีรัมย์ออกไป เนื่องจากกลุ่มคนเสื้อแดงชัยได้ป้องกันสนามเหย้าของตนเองไม่ให้เนวินเข้าไปย่างกราย
ทั้งเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์การแข่งขันฟุตบอลระดับทีมสโมสรของแต่ละประเทศ พบว่าล้วนแล้วแต่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมาเกือบทั้งสิ้น สำหรับแฟนบอลไทยเรา โดยส่วนใหญ่แล้วอาจได้ยินคำว่า ‘ดาร์บี้แมตซ์’ (derby match) ซึ่งหมายถึงทีมฟุตบอลที่อยู่ในเมืองเดียวกันหรือเขตใกล้เคียงกันแข่งขันกันเอง ซึ่งนอกจากนี้แล้วก็ยังมีการแข่งขันระหว่างทีมคู่อริ (rivalries) ซึ่งมีฐานการเป็นอริกันทั้งในเรื่องการแข่งขันกันเพื่อประสบความสำเร็จ รวมถึงมาจากเหตุเรื่องอื่นๆ ที่มากกว่าเรื่องฟุตบอลด้วยซ้ำ
 
ตีกันแค่เรื่องเด็กๆ ครั้งหนึ่งในการแข่งขันระหว่าง FK Partizan vs Red Star ในอดีต เคยมีการยิงจรวดใส่แฟนบอลฝั่งตรงข้ามตายคาสนามมาแล้ว
Celtic vs Rangers
ศึกดาร์บี้แมตซ์ที่เก่าแก่ ดุเดือด และยิ่งใหญ่ที่สุดคู่หนึ่งของประวัติศาสตร์วงการฟุตบอล คงหนีไม่พ้นการพบระหว่าง Celtic และ Rangers ที่ได้รับการขนานนามว่าศึก ‘Old Firm’ และมันมีมากกว่าแค่เรื่องของฟุตบอล เพราะมีทั้งเรื่องศาสนา การเมืองความแตกต่างกันระหว่างค่านิยมความเชื่อของแฟนบอลทั้งสองฝ่ายทั้ง Celtic และ Rangers ตั้งอยู่ในเมืองกลาสโกว (Glasgow) ประเทศสก็อตแลนด์ ความเก่าแก่ของความเป็นอริคงต้องย้อนไปถึงช่วงปี ค.ศ. 1888 และทั้งคู่เคยเจอกันมาแล้วกว่า 370 ครั้ง
โดยสโมสร Rangers นั้นเป็นตัวแทนของความเป็นโปรเตสแตนท์, นิยมสหภาพฯ และเทิดทูลศักดินา ส่วน Celtic นั้นเป็นตัวแทนของแคทอลิค, นิยมสาธารณะรัฐ และชาตินิยม ศึก ‘Old Firm’ นี้มีความเชื่อมโยงกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในไอร์แลนด์เหนือมายาวนาน แฟนบอลจากไอร์แลนด์เหนือและสาธารณะรัฐไอร์แลนด์ถึงกับตีตั๋วท่องเที่ยวมาดูแมตซ์นี้ด้วยบ่อยครั้งเช่นกัน
Barcelona vs Real Madrid

 

สำหรับคำว่า Real ที่นำหน้าสโมสรต่างๆ ในสเปนนั้นมีความหมายว่าเป็นทีมในพระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์สเปน และ Real Madrid ถือว่าเป็นสุดยอดของทีมฝ่ายขวาในสเปนมาแต่ไหนแต่ไร ด้าน Barcelona คือความภาคภูมิใจของชาว Catalonia แคว้นปกครองตนเองในประเทศสเปนที่มีประวัติศาสตร์ถูกฝ่ายขวาชาตินิยมกดขี่มายุคแล้วยุคเล่า
ในยุคนายพลฟรังโก มหาอำมาตย์ฟาสซิสต์ของประเทศสเปนนั้น Real Madrid ก็ถูกใช้เสมือนเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางเป็นสื่อสัญลักษณ์บ่งบอกถึงชัยชนะทางการเมืองเหนือฝ่ายตรงข้าม มีอำนาจทางเมืองแทรกแซงเกมฟุตบอลของสเปน ด้วยเป้าหมายประการเดียวก็คือความยิ่งใหญ่ของ Real Madrid แม้กระทั่งการบีบบังคับดึงนักเตะที่พึ่งเซ็นสัญญาร่วมทีม Barcelona สังกัดทีมตนเอง นอกจากนี้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสเปนก็ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาคือต้องเป็นผู้สนับสนุนทีม Real Madrid อย่างออกหน้าออกตา โดยก่อนหน้าเหตุการณ์ก่อการร้ายโศกนาฏกรรมวางระเบิดรถไฟที่กรุง Madrid ในปี 2004 นั้น อดีตนายกรัฐมนตรี José María Aznar ก็พึ่งเปิดทำเนียบเชิญนักเตะทีม Real Madrid ให้ร่วมรับประทานอาหาร
Red Star vs FK Partizan
ทีมฟุตบอลในอดีตประเทศยูโกสลาเวียอย่าง Red Star และ FK Partizan ก็เป็นคู่อริอีกคู่หนึ่งที่น่าสนใจ โดย FK Partizan ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1945 ผู้ฟอร์มทีมคือทหารโดยกองทัพยูโกสลาเวียให้การสนับสนุน ส่วน Red Star นั้นก่อตั้งในปีเดียวกันแต่เป็นการฟอร์มทีมโดยฝั่งพลเรือน โดยได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงมหาดไทยของยูโกสลาเวีย ทั้งนี้เป็นที่รู้กันว่าหากสองทีมนี้เจอกันเมื่อไรก็มักจะมีความรุนแรงระหว่างแฟนบอลแถมมาด้วยเสมอ
แฟนบอลทีม Red star มีฉายาว่า “Delije” หมายความว่า “นักรบหรือผู้กล้า” ส่วนแฟนบอลของ FK Partizan ได้รับการขนานนามว่า “Grobari” ซึ่งหมายความว่า “สัปปะเหร่อหรือคนขุดหลุมฝังศพ” การปะทะกันของสองทีมนี้ถือว่าเป็นการปะทะที่ขึ้นชื่อว่าหฤโหดคู่หนึ่งของวงการฟุตบอลระดับนานาชาติเลยทีเดียว ครั้งหนึ่งในปี ค.ศ.1999 แฟนบอลของ FK Partizan ได้ใช้เครื่องยิงจรวด (handy rocket-launcher) ยิงจากอัฒจรรย์ฝั่งใต้ไปยังอัฒจรรย์ฝั่งเหนือสังหารแฟนบอลของ Red star ไปหนึ่งราย ส่วนแฟนบอลของ Red star นั้นบ่อยครั้งก็มีการลอบทำร้ายแฟนบอลของ FK Partizan ด้วยมีด ด้วยเช่นกัน
Boca Juniors vs River Plate
สองทีมใหญ่แห่งกรุงบูโนส ไอเรส (Buenos Aires) ทีม Boca Juniors นั้นเป็นตัวแทนของฝั่งคนจนชนชั้นแรงงานของคนอาร์เจนตินา อีกด้านของภาพที่ตัดกันชนชั้นกลางคนมีเงินส่วนใหญ่กลับสนับสนุนทีม River Plate และทั้งสองทีมเป็นทีมฟุตบอลยอดนิยมอันดับต้นๆ ของประเทศ ดาร์บี้แมตซ์ของกรุงบูโนส ไอเรส นี้ถือเป็นอีกเกมหนึ่งที่น่าสนใจ ในปี ค.ศ.2004 หนังสือพิมพ์อังกฤษ The Observer ได้จัดอันดับ 50 เกมกีฬาที่จะต้องไปดูก่อนตาย เกมการแข่งขันระหว่าง Boca Juniors ปะทะ River Plate นี้ก็ติดอยู่ในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังมีแพ็คเกจทัวร์สำหรับเที่ยวและชมการแข่งขันของคู่นี้โดยเฉพาะ
Besiktas vs Fenerbahçe vs Galatasaray
นี่คือศึกสามเส้าแห่งตุรกี ทีม Besiktas ตั้งอยู่ในเขตชาวยุโรปในกรุงอิสตันบุล (stanbul) ส่วนทีม Fenerbahce ตั้งอยู่ในเขตของคนเอเชีย นอกจากเรื่องเชื้อชาติแล้ว ในอดีตนั้นดาร์บี้แมตซ์ของกรุงอิสตันบุลของสองทีมนี้ยังเปรียบเสมือนตัวแทนของชนชั้น โดยทีม Besiktas เปรียบเสมือนตัวแทนของกลุ่มชนชั้นกรรมาชีพ ส่วน Fenerbahce นั้นเป็นทีมตัวแทนของชนชั้นกลาง นอกจากนี้แล้ว Besiktas เองยังมีทีมคู่แค้นอีกทีมหนึ่งในอิสตันบุลคือทีม Galatasaray ซึ่งก็ตั้งอยู่ในเขตคนเอเชียด้วยกัน แต่สำหรับ Galatasaray นั้นถือว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นสูงมีกะตังค์ ทั้งนี้ปัจจุบันสำหรับดีกรีเรื่องทางชนชั้นในฟุตได้ลดลงไปมากแล้ว ทั้งสามทีมต่างขับเคี่ยวกันในเรื่องของความสำเร็จเนื่องจากทั้งสามถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการฟุตบอลในประเทศ
Olympiacos vs Panathinaikos
Panathinaikos และ Olympiacos สองทีมยักษ์ใหญ่ของกรีซและเป็นคู่แค้นตลอดกาล ทีม Olympiacos นั้นเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศ ส่วน Panathinaikos เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จในยุโรปมากที่สุดของกรีซ (รองแชมป์ยูโรเปียนคัพในปี ค.ศ.1971 และสามารถเข้ารอบรองชนะเลิศรายการนี้ได้อีกสองครั้ง) Panathinaikos ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเอเธนส์ ส่วน Olympiacos อยู่ในเขต Piraeus ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศรองจากเอเธนส์ด้วยเช่นกัน โดยแฟนของ Olympiacos ส่วนใหญ่เป็นคนจนกรรมกรท่าเรือ ส่วนแฟนส่วนใหญ่ของ Panathinaikos เป็นชนชั้นกลางและผู้มีอันจะกินในเอเธนส์ การเจอกันของสองทีมจึงมีเรื่องความต่างทางชนชั้นเป็นการชูโรงความดุเดือดผสมโรงอยู่มาก
Ajax vs Feyenoord
ก่อนหน้าที่ PSV จะประสบความสำเร็จอย่างในปัจจุบันนี้ ในยุคเริ่มต้นของฟุตบอลอาชีพอย่างเต็มตัวในฮอลแลนด์ช่วงทศวรรษที่ 1950 ทีมที่ดูเหมือนเป็นคู่ฟัดคู่เหวี่ยงที่สมศักดิ์ศรีของ Ajax ก็คือทีม Feyenoord โดย Feyenoord มีฐานแฟนบอลเป็นกรรมกรท่าเรือในเมืองร็อตเตอร์ดัม (Rotterdam) ให้การสนับสนุน ทั้งนี้เกมการแข่งขันของทั้งสองทีมเริ่มมีความรุนแรงจากกองเชียร์มากขึ้นในช่วงหลัง ปี ค.ศ.1997 แฟนบอลของทั้งสองทีมปะทะกันโดยมีแฟนบอลคนหนึ่งเสียชีวิตและอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ ส่วนในปี ค.ศ. 2004 Jorge Acuna ผู้เล่นของ Feyenoord ถูกแฟนบอลทำร้ายในสนามจนถึงขั้นต้องนำส่งโรงพยาบาล
Benfica vs Porto
ทีมใหญ่สองทีมของโปรตุเกสอย่าง Benfica และ FC Porto ถือเป็นตัวแทนความแตกต่างกันทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ระหว่างเมืองใหญ่ทางใต้โดย Benfica ตั้งอยู่ในเมืองลิสบอน (Lisbon) เมืองหลวงของประเทศ กับทีมเมืองใหญ่ทางเหนืออย่าง FC Porto ในด้านความสำเร็จนั้น ทีม Benfica ประสบความสำเร็จในระดับชาติมากที่สุด ส่วน FC Porto เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จระดับยุโรปมากที่สุดในประเทศ โดยเกมระหว่าง Benfica และ FC Porto มีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงจากแฟนบอลเสมอ ปัจจุบันหากทั้งคู่โคจรมาเจอกันเมื่อใดก็จะต้องมีตำรวจตุนไว้ไม่ต่ำกว่า 800 นายเพื่อรักษาความสงบในสนาม
 
-- เหล่านี้คือตัวอย่างจิ๊บๆ ของทีมฟุตบอลคู่อริที่น่าสนใจจำนวนหนึ่งที่ยกมาในหลายร้อยหลายพันคู่ (แค้น) ทั่วโลก
 

 
ว่าด้วยทีมคู่แค้นทีมบอลไทย (ในอนาคต)
ทีมสโมสรการท่าเรือก็เปรียบเสมือนทีม Liverpool ของเมืองไทยด้วยเกียรติประวัติความสำเร็จและฐานแฟนบอลกรรมมาชีพในคลองเตย ต่อไปนี้จะมีคู่อริอย่างเมืองทอง ทีมเศรษฐีใหม่แกะกล่องที่มีฐานเริ่มมีฐานแฟนบอลมากมายทั่วประเทศจากสื่อที่เขามีอยู่ในมือ (เครือสยามสปอร์ต) นอกจากนี้เมืองทองยังมีโจทย์เก่าอย่างชลบุรี เอฟซี รออยู่ด้วย
ส่วนบุรีรัมย์ PEA ทีมสีน้ำเงินของนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพล แน่นอนว่าแฟนบอลคนเสื้อแดงหลายทีมได้จองกฐินไว้แล้ว ถ้าในไทยพรีเมียร์ลีก ก็ทีมศรีสะเกษ ทีมตัวแทนการเมืองพรรคเพื่อไทยและคนอีสานผู้คลั่งไคล้ทั้งบอลและการเมือง (ถ้าเชียงรายหรืออุดรโผล่ขึ้นชั้นมาเมื่อไหร่ ก็สนุกแน่) ส่วนทีมบุรีรัมย์ เอฟซี ทีมน้องของ PEA ก็ไม่รู้ว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นอบอ้าวจากแฟนๆ ในภาคอีสานมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่หน้าติดตาม
 
 

ความเห็น

Submitted by หมะเมียะ on

ขนาดฟุตบอลยังดราม่า

สิ้นหวังแล้ว ... สิ้นหวังกับการศึกษาไทยแล้ว (เกี่ยวตรงไหนฟระ !!!)

Submitted by ki on

อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจ หมายถึง เชียร์ท่าเรือต้องเป็นคนชั้นกรรมมาชีพ เชียร์เมืองทองต้องเป็นคนตามกระแส ถ้ากรรมมาชีพจะเชียร์เมืองทองไม่ได้ คนชั้นกลาง หรือชั้นสูงเชียร์ท่าเรือไม่ดีอย่างนั้นหรือ? คนเชียร์บุรีรัมย์ต้องเป็นเสื้อน้ำเงิน คนเสื้อแดง เสื้อเหลือง คนไม่มีสีเชียร์ไม่ได้? ต้องแยกทีมเชียร์ขนาดนั้นเลยเหรอ แค่ชอบทีมไหนเชียร์ทีมนั้นไม่ได้เหรอ?

Submitted by ตั้ม on

ตอบคุณ ki ครับ
ผมว่า มันคงไม่ได้หมายความแบบ "ขาว-ดำ" หรือ "ซ้าย-ขวา" แยกขาดกันอย่างชัดเจนหรอกครับ ว่า คนจนต้องเชียร์ท่าเรือ และคนตามกระแสต้องเชียร์เมืองทอง
สังเกตดูสิครับ ผู้เขียนใช้คำว่า "ฐานแฟนบอล" นั่นเป็นการสื่อความถึง "คนส่วนใหญ่" ที่ติดตามเชียร์ทีมนั้น ๆ หรือไม่ก็เป็นคนบริเวณที่ตั้งของทีมฟุตบอลนั้น ๆ ครับ
ซึ่งไอ้ "บริเวณ" ที่ตั้งของทีมฟุตบอลนั้น ๆ อย่างน้อยในอดีต เราก็อาจเห็นภาพกว้าง ๆ ได้ว่า คนที่อยู่ในบริเวณนั้นประกอบอาชีพการงานอะไร
แต่ก็นั่นแหละครับ คนส่วนใหญ่ ก็ไม่ใช่ คนทั้งหมด ใช่ป่าว ดังนั้นมันจึงเป็นภาพตัวแทนกว้าง ๆ ว่าแฟนทีมหนึ่ง ๆ เป็นใคร มีลักษณะอย่างไร ซึ่งแน่นอนมันไม่สามารถแทนคนทั้งหมดได้