การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ (ที่โลกลืม)

ประปา สุราเมืองนนท์
"ถึงแม้รูปแบบ “การป่วนทางวัฒนธรรม” จะมีข้อดีในแง่ของการดึงคนหนุ่มสาวเข้ามาร่วมขบวนการ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “การป่วนทางวัฒนธรรม” ควรเป็นแค่วิธีการ ไม่ใช่เป้าหมายในตัวมันเอง
“การป่วนทางวัฒนธรรม” เป็นกิจกรรมของคนหนุ่มสาวชนชั้นกลางในเมือง ที่ต้องการระบายความคับข้องใจต่อการที่บรรษัทเข้ามาช่วงชิงพื้นที่สาธารณะไปหมด แ...ต่สำหรับคนชนบทหรือชนชั้นล่าง “การป่วนทางวัฒนธรรม” อาจไม่มีความหมายสำหรับคนเหล่านี้"
Culture Jamming การป่วนทางวัฒนธรรม
ภัควดี ไม่มีนามสกุล
ผู้เขียนสะดุดตากับถ้อยคำของคุณภัควดี จากหน้าเฟซบุ๊คของเพื่อนคนหนึ่งในค่ำคืนที่ไม่มีอะไรทำมากนัก มันจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจที่นึกย้อนไปถึงเรื่อง “การป่วนทางวัฒนธรรม-การประท้วงเชิงสัญลักษณ์” ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในปัจจุบัน
อาจจะไม่มีหลักฐานอ้างอิง แต่ผู้เขียนรู้สึกเอาเองว่า “การประท้วงเชิงสัญลักษณ์” เริ่มถูกการบัญญัติให้เป็นคำที่สะดุดหูขึ้นมา ในยุคของกระแสการทวนกระแสเป็นกระแสหลักของปัญญาชนไทย พร้อมกับศัพท์ต่างๆ ที่ไหลบ่ามาในยุคเดียวกัน อาทิ อารยะขัดขืน, ประชาธิปไตยทางตรง, คนตัวเล็กๆ, เปลี่ยนโลกด้วยมือเรา, ทุนนิยมสามานย์, พลังของคนชายขอบ, การเมืองใหม่, พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น
โดยศัพท์แสงเหล่านี้ถูกหยิบมาใช้ในยุคที่ประเทศไทยมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากที่สุดในยุคหนึ่งนั่นก็คือในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งศัพท์ต่างๆ ที่ได้ยกขึ้นมานั้นก็อยู่ในหมวดการต่อต้านรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเช่นกัน
การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มต่อต้าน FTA ไทย-สหรัฐ ที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อนรัฐประหาร ได้รับการกล่าวขวัญและยกย่องในหมู่ของปัญญาชนและชนชั้นกลางพอสมควร หลังจากนั้นกลุ่มต้าน FTA มาอีกครั้ง คราวนี้กลับมาต้านข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) แต่ต้านไม่ได้ จึงพากันกราบกรานศาลหลักเมือง-เผาบัญชีหนังหมาสาปแช่ง แสดงให้เห็นถึงการย้อนไปหาภูมิปัญญาดึกดำบรรพ์ในการต่อต้านกับกระแสโลกาภิวัฒน์ได้อย่างชัดเจน
ผู้เขียนจึงลองติ๊ต่างไปเองว่า การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของไทย (ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในแง่บวก) นั้นมักจะมีบุคลิก 3 อย่างของกลุ่มก้อนที่จะแสดงออกด้วยวิธีประท้วงเชิงสัญลักษณ์ คือจะต้องมีภาพลักษณ์ เป็นชนชั้นกลางพอสมควร-หรือไม่ก็ต้องดูเป็นปัญญาชนพอสมควร-หรือไม่ก็ต้องมีลักษณ์เป็นขบวนการบริสุทธิ์ผุดผ่องพอสมควร เช่น กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ คนรักสัตว์ กลุ่มต่อต้านโลกร้อน ขบวนการคนจนแท้ๆ ที่ไม่เอากับการเมืองแบบเลือกตั้ง เป็นต้น
สำหรับการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของคนเสื้อแดงที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน ถือว่าเป็นการตอกย้ำให้เห็นอีกครั้งว่า ขบวนการกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ใช่มีแค่กลุ่มคนชนบทหรือกลุ่มลิ่วล้อทักษิณเท่านั้น เพราะได้มีกลุ่มที่มีบุคลิก 3 อย่างที่ได้กล่าวไปมาร่วมขบวนมากขึ้นเรื่อยๆ และความหลากหลายในกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นก็กำลังแบ่งโหมดทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง
0 0 0 
การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ที่โลกลืม
“ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ” เผาตัวตายประท้วงรัฐบาลชาติชาย
ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยทำมาก่อน และทำสำเร็จ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2533 โดยเขาใช้น้ำมันเบนซินราดและจุดไฟเผาตัวเอง ที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อหน้าเพื่อนนักศึกษา ประชาชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมครบรอบ 14 ตุลา 2516 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ลาออก
หลังการเสียชีวิตของเขามีความพยายามจาก พล.อ.ชาติชาย ที่จะมอบเงิน 1 ล้านบาท เพื่อตั้งมูลนิธิ "ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ" ท่ามกลางเสียงคัดค้านของนักกิจกรรม จากนั้นในปี 2534 จึงมีการรัฐประหารโดยคณะทหารในนาม คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งเป็นชนวนเหตุของการนองเลือดเดือนพฤษภา 2535
“ฉลาด วรฉัตร” ผู้เกิดก่อนกาล
 
สบายๆ สไตล์ “ฉลาด วรฉัตร”
ในช่วงพฤษภา 2535 การอดข้าวและการนำม็อบของ พลตรีจำลอง ศรีเมือง กลายเป็นไฮไลท์สำคัญที่บดบังส่วนประกอบอื่นของเหตุการณ์ครั้งนั้นไปเสียสิ้น แต่ในเหตุการณ์นั้นก็ยังมี “ฉลาด วรฉัตร” ปูชนีย์นักอารยะขัดขืนไทยที่ยังมีลมหายใจอยู่ ผู้เกิดก่อนกาลก่อนที่กระแสการยอมรับนับถือ “นักอารยะขัดขืนแบบตะวันตก” จะแพร่หลายมายังหมู่ปัญญาชนชนชั้นกลางไทย ร่วมแจมอดข้าวประท้วงด้วย (วีรกรรมของฉลาดมีมาก่อนหน้านั้น ปี 2523 อดข้าวประท้วงรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กรณีน้ำมันขาดแคลน รวม 36 ชั่วโม ปี 2526 อดข้าวประท้วงรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ข้าราชการเป็นนายก)
และก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2540 ฉลาดเคยประกาศอดข้าวจนตายซึ่งถือเป็นแรงกดดันที่สำคัญ กระทั่งนายมารุต บุนนาค ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นตั้ง นพ.ประเวศ วสี เป็นตั้งกรรมการและสร้างกติการัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งตอนแรกนักการเมืองไม่เอาด้วย แต่สุดท้ายเกิดการขับเคลื่อนจากภาคสังคมทำให้รัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา
มีนาคม 2549 ในห้วงเวลาที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สื่อมวลชน ปัญญาชน คนชั้นกลาง กำลังขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร อย่างเมามันนั้น ฉลาดกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามด้วยการพกเสื่อผืนหมอนใบมาปักหลักประท้วงหน้ารัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. 2549 และหลังรัฐประหารฉลาดก็เป็นพลังประชาธิปไตยกลุ่มแรกที่ออกมาประท้วงอย่างฉับพลัน (อ่านหัวข้อ “การประท้วงเชิงสัญลักษณ์อันฉับพลันหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549”) รวมถึงประท้วงและขู่ว่าจะผูกคอตายถ้าการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ผ่านการลงประชามติ
ฉลาดไปไกลกว่านั้นอีก หลังประชาชนไทยส่วนใหญ่ตบหน้าสั่งสอนพลังอนุรักษ์นิยม ด้วยการเลือกพรรคพลังประชาชนมาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งปี 2550 เขายังประท้วงอยู่ในกรงขังตัวเองหน้ารัฐสภา เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี้เสีย (ผู้เขียนจำไม่ได้ว่าฉลาดเลิกประท้วงประเด็นนี้ไปหรือยัง?)
ถึงแม้เขาอาจจะมีชื่อเสียงน้อยกว่า “จำลอง ศรีเมือง” นักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกคนหนึ่งที่มีฉลาก “อดอาหาร” แปะไว้ แต่ก็ไม่มีครั้งไหนที่ฉลาดจะไม่เลือกอยู่ข้างประชาธิปไตย แบบที่จำลองได้ทำพลาดไปจนกู่ไม่กลับแล้วในขณะนี้
และอาจจะกล่าวได้ว่า “ฉลาด วรฉัตร” คือความภูมิใจหนึ่งเดียวไทย บนสังเวียนนักอดอาหารประท้วงเพื่อประชาธิปไตย ที่เราสามารถเอาไปคุยกับชาวโลกได้ว่าบ้านเราก็มีนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่กับเขาเหมือนกัน
ลุง “สุรินทร์ สุรินทร์ก้อน” สู้กับอุทยาน
เดือนเมษายนปี 2539 นายสุรินทร์ สุรินทร์ก้อน ชาวบ้าน จ.กาญจนบุรี พร้อมด้วยเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก 8 คน เดินทางมาทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกเขตอุทยานเขาแหลม ซึ่งทับที่ทำกินของชาวบ้าน โดยใช้วิธีกรีดเลือดเขียนคำร้อง นอกจากนี้ลุงสุรินทร์ได้ใช้น้ำมันเบนซินราดตัวและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา (แต่ยังไม่มีการเผาตัวจริงๆ) ปี 2540 ลุงสุรินทร์กลับมาปีนต้นไม้ขู่ตัดนิ้วก้อยเพื่อเอาเลือดมาเขียนหนังสือประท้วงรัฐบาล ครั้งนี้ตัดนิ้วก้อยจริง แต่ถูกนำส่งโรงพยาบาลต่อนิ้วและยังใช้ได้ครบ 5 นิ้วเหมือนเดิม จากนั้นในปี 2543 ลุงสุรินทร์กลับมาอีกครั้ง ด้วยการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ปีนต้นโพธิ์หน้าทำเนียบรัฐบาล ถือมีดยาว 1 ฟุตขู่ตัดนิ้วตัดแขนหากไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ถูกเกลี้ยกล่อมจนยอมลงมาจากต้นโพธิ์
การต่อสู้อันยาวนานของลุงสุรินทร์ ก็สัมฤทธิ์ผลเมื่อสามารถได้พบนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถึงในทำเนียบรัฐบาล หลังต่อสู้มาสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะปีนต้นไม้หรือกรีดเลือด พอได้เจอนายกชวน ลุงสุรินทร์ถึงกับก้มกราบแล้วปล่อยโฮออกมา สุดท้ายก็ให้ รมว.เกษตรฯ ดูแล เจรจาแค่ 5 นาที โดยลุงสุรินทร์ขอแค่อยู่อาศัยจนตัวตายไม่ต้องการเอกสารสิทธิ์ (ลุงสุรินทร์เรียกร้องมาเป็นระยะเวลา 12 ปี)
"บาลทิพย์" ครอบครัวอารยะขัดขืน
ในเดือนเมษายนปี 2541 นายพรหมเนตร บาลทิพย์ พื้นเพเดิมเป็นชาว จ.พัทลุง ได้จูงลูกชายวัย 4 ขวบ เดินประท้วงถือป้ายซึ่งมีข้อความว่า “รับจ้างทำงานทั่วไป” แห่ไปรอบตัวเมืองหาดใหญ่ โดยตั้งต้นการเดินของานทำที่หน้า สนง.ประชาสัมพันธ์เขต 6 ถือป้ายของานทำไปตามถนนสายสำคัญ ๆ ของอำเภอหาดใหญ่ เพื่อจะของานทำ หลังจากที่นายพรหมเนตรและภรรยาตกงานมานานกว่า 3 เดือน จนครอบครัวไม่มีเงินที่จะมาซื้อข้าวปลาอาหารรับประทาน และยังมาถูกเจ้าของบ้านเช่าไล่ที่อีก เพราะว่าไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน
นอกจากนี้นายพรหมเนตร ยังกล่าวว่า ภายในครอบครัวยังเกิดเจ็บป่วยไม่สบายติดกันทั้งบ้าน แม้แต่ตัวเองขณะนี้ก็ไม่สบาย จนครอบครัวทนต่อความอดอยากต่อไปไม่ไหว วันนี้จึงตัดสินใจทำป้ายของานทำแล้วพาลูกน้อยวัย 4 ขวบ มาเดินแห่ขอทำงานไปทั่วเมืองหาดใหญ่ เพื่อหาเงินไปใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งตนมีภรรยาชื่อนางสมพจน์ บาลทิพย์ และบุตรชาย-หญิงอีก 4 คน ตนเองและภรรยาเมื่อก่อนมีอาชีพขายแรงงานโดยรับจ้าง ก่อสร้าง มีงานทำและมีเงินพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว แต่ต่อมายุคเศรษฐกิจตกต่ำ จึงทำให้ตนและภรรยาต้องตกงาน จนเงินที่สะสมมาไม่เหลือ จึงต้องตัดสินใจเดินขายแรงงานถือป้ายแห่รอบเมืองหาดใหญ่ เพื่อของานทำเพื่อความอยู่รอด และหากไม่ได้งานทำตนก็จะเดินทางขึ้นกรุงเทพฯเพื่อขอให้กรมแรงงานให้การช่วยเหลือต่อไป
จากนั้นในเดือนธันวาคม ปีถัดมา (2542) นายพรหมเนตรและนางสมพจน์ พร้อมลูกน้อยอีก 2 คน เดินทางไปยังบริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกินที่จังหวัดพัทลุงบ้านเกิด แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาไม่อนุญาตให้เข้าไปในบริเวณอาคารรัฐสภาทำให้นายพรหมเนตรน้อยใจที่ไม่มีใครเหลียวแล จึงปีนขึ้นไปบนต้นไม้หน้ารัฐสภาหวังผูกคอตายประท้วง โดยใช้ผ้าขาวม้าผูกคอไว้และปลายอีกด้านผูกติดกับต้นไม้ ปล่อยให้ภรรยาและลูกที่ยังไม่มีข้าวตกถึงท้องมาตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคมยืนดูอยู่ข้างล่าง
โดยระหว่างที่นายพรหมเนตรอยู่บนต้นไม้ ได้กล่าวตัดพ้อน้อยใจนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนปักษ์ใต้เหมือนกัน แต่กลับไม่ให้ความช่วยเหลือว่า เดินทางไปพบนายชวนก่อนที่จะมาที่รัฐสภาแต่ถูกปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือนายชวนบอกว่าเพราะตนทำตัวเป็นศัตรูและต่อต้านรัฐบาลมาตลอดจึงไม่ควรช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐสภาพยายามเกลี้ยกล่อมไม่ให้นายพรหมเนตรผูกคอตาย จนกระทั่งคณะทำงานของคณะกรรมาธิการการปกครองมาไกล่เกลี่ย นายพรหมเนตรจึงยอมลงมา
ครอบครัว "บาลทิพย์"ยังคงเดินบนเส้นทางแห่งการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ข้ามมาในช่วงรัฐบาล “ทักษิณ” ในเดือนสิงหาคม ปี 2544 นางสมพจน์ บาลทิพย์ ได้ถอดเสื้อผ้าออกหมดเหลือเพียงชุดชั้นใน ปีนป่ายขึ้นไปยืนอยู่บนต้นไม้หน้ารัฐสภา ในมือถือป้ายมีข้อความโจมตีรัฐสภาว่าหมิ่นคนจน ส่วนบริเวณใต้ต้นไม้ ยังมีนายพรหมเนตร บาลทิพย์ ยืนตะโกนด่ารัฐบาลและหน่วยงานราชการที่ไม่ช่วยเหลือความเดือดร้อนของตัวเองและครอบครัว นอกจากนี้ยังมีลูกอีก 2 คน คือ ด.ช. รโส อายุ 8 ขวบ และด.ญ.รวงข้าว อายุ 9 ขวบ นั่งดูพ่อแม่ของตัวเองประท้วงเชิงสัญลักษณ์อยู่อย่างเงียบๆ
โดยการมาครั้งนี้ ครอบครัวบาลทิพย์ ต้องการมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการศึกษาและวัฒนธรรม วุฒิสภา เพื่อให้ช่วยเหลือเรื่องสถานที่เล่าเรียนให้กับ ด.ช.รโส เพราะอายุ 8 ขวบแล้ว แต่ยังไม่ได้เรียนหนังสือ
"ผมเคยไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมมาหลายกระทรวงแล้ว ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากราชการเลย พอมาที่รัฐสภาก็ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐสภาขัดขวางไม่ให้มายื่นหนังสืออี ส่วนสาเหตุที่ลูกไม่ได้เข้าโรงเรียนเพราะครอบครัวต้องหาเช้ากินค่ำ เก็บของป่ามาขาย ไม่มีเงินพอถ้ายังไม่ได้รับการช่วยเหลืออีก ในวันที่ 24 สิงหาคม ผมจะเอาน้ำกรดมาราดขาตัวเอง แต่ไม่รู้จะเป็นหน้าทำเนียบหรือหน้ารัฐสภาเพื่อให้คนในบ้านนี้เมืองนี้ได้เห็น" พรหมเนตร กล่าวกับสื่อในครั้งนั้น
โดยก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว นายพรหมเนตรและนางสมพจน์ ได้หอบลูกน้อย 2 คน ไปถือป้ายร้องเรียนรัฐบาลที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว แต่เป็นประเด็นเรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานราชการในการขอติดตั้งประปา ซึ่งเมื่อเข้าร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ผู้ว่ากลับบอกปัดให้ไปด่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แทนจึงได้เดินทางลงมากรุงเทพฯ เพื่อประท้วง
จากนั้นในเดือนกันยายนปีเดียวกัน นางสมพจน์ พร้อมด้วยนายพรหมเนตร บาลทิพย์ผู้เป็นสามีได้เดินทางมาปักหลักประท้วงที่หน้ารัฐสภาอีกครั้ง แต่ไม่ได้รับความสนใจ นายพรหมเนตร จึงสั่งให้นายสมพจน์ถอดเสื้อผ้าอวดชุดชั้นในสีขาวเพื่อเรียกร้องความสนใจอีกครั้ง ซึ่งก็ได้ผลเพราะบรรดาช่างภาพต่างตรงเข้าบันทึกภาพทันที เจ้าหน้าที่จึงตามจับตัวนางสมพจน์กันชุลมุนเมื่อนางสมพจน์ได้วิ่งเข้ามาภายในบริเวณลานหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 7 ในที่สุดจึงได้ตัวนำมาที่อาคารรักษาความปลอดภัย ระหว่างนั้น น.ส.จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ หรือน้องแบม ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย (ในขณะนั้น) นั่งรถยนต์ส่วนตัวมาเหตุการณ์พอดี จึงตรงเข้าไปเจรจากับนางสมพจน์ ขอร้องให้สวมเสื้อผ้าเสียแต่นางสมพจน์ไม่ยอม ร้องไห้และดิ้นหนี ทำให้น้องแบมต้องบุกเข้าไปปล้ำใส่เสื้อผ้าจนสำเร็จ ซึ่งนางสมพจน์ได้ร้องขอความช่วยเหลือเนื่องจากได้ปักหลักประทรวงมาเป็นเวลาแรมเดือนแล้ว แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งน้องแบมได้ช่วยเหลือด้วยการให้เงินสดส่วนตัวจำนวน 1,000 บาท ทำให้นางสมพจน์และสามีเดินทางกลับไปปักหลักประท้วงที่หน้ารัฐสภาตามเดิม
ราดเอง เหม็นเอง
เดือนสิงหาคม 2544 นายช่วย คชสิทธิ์ ชาว จ.กาญจนบุรี เป็นแกนนำชาวบ้านประมาณ 100 คน มาชุมนุมประท้วงที่บริเวณหน้าธนาคารออมสิน สาขาท่าม่วง เพื่อร้องขอเงินกองทุนคืน โดยผู้ชุมนุมเปิดปราศรัยโจมตีธนาคารออมสินอย่างเผ็ดร้อน พร้อมกันนั้น นายช่วย แกนนำได้นำถุงอุจจาระขนาดใหญ่ไว้บนหัวสร้างความสงสัยแก่ประชาชนที่ผ่านไปมา (ลุงช่วยระบุว่าได้อุจจาระใส่หม้อเก็บไว้นานกว่า 7 วันเพื่อให้ได้ปริมาณมากพอ) และก็คาดการณ์คิดไปกันว่า “เหยื่อ” ของอุจจาระถุงนี้ คงจะเป็นผู้บริหารคนใดคนหนึ่งของธนาคารออมสินแน่ๆ
แต่ปรากฏว่าลุงช่วยได้จบแบบหักมุม ด้วยการเปิดถุงอุจจาระแล้วราดลงบนหัวตัวเอง จากนั้นลุงช่วยก็ได้ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า ด้วยการเดินเข้าไปในธนาคาร และแจ้งความประสงค์ว่าต้องการถอนเงินในบัญชีออมทรัพย์ที่ฝากไว้อีก 200,000 บาท พร้อมกับประกาศเลิกเป็นลูกค้าของธนาคารต่อไป เจ้าหน้าที่ธนาคารจึงรีบดำเนินการถอนเงิน 190,000 บาท เหลือติดบัญชีไว้ 10,000 บาท ให้กับลุงช่วยโดยทันที
เดือนกุมภาพันธ์ปี 2545 ลุงช่วยได้นำชาวบ้าน อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ยังคงเดินทางมาชุมนุมยังกระทรวงการคลังต่อเป็นวันที่สอง เพื่อรองฟังผลสรุปการพิจารณาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมธนาคารออมสิน โดยมีข้อเรียกร้องให้ทางธนาคารออมสินจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผู้เสียหายจากการซื้อกองทุนรวมนี้ เนื่องจากเป็นการชักจูงให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิด
จากนั้นมาลุงช่วยไปประท้วงติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาอีกหลายครั้ง จนมีประสบการณ์สั่งสมมากพอจนสามารถเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากกองทุนธนาคารออมสินขึ้นมา (โดยมีพิภพ ธงไชย ประธาน ครป. นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และนายบุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี รองประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ เป็นผู้ร่วมเปิดศูนย์)
ขี้หมูราดตัว
เดือนสิงหาคม ปี 2544 เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในโครงการของ ธกส.จำนวนหนึ่ง ชุมนุมหน้าศาลากลางจ.นครปฐม เพื่อเรียกร้องให้ทางการเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่ได้รับจากการเข้าร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงหมูเพื่อการส่งออกโดยในระหว่างการชุมนุมประท้วง นางจำลอง สุขศรี ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรเพื่อการส่งออกรายหนึ่ง ที่กู้เงินจาก ธกส.มาเพียง 2.7 แสนบาท แต่ยอดหนี้ที่ได้รับแจ้งจาก ธกส.กลับมีสูงถึง 1.4 ล้านบาท ได้ใช้ขี้หมูที่เตรียมมาราดบนตัวพร้อมประกาศว่าจะขอความเป็นธรรมกับรัฐบาลในเรื่องนี้ด้วย
โดยก่อนการชุมนุม ผู้ประท้วงกลุ่มนี้ได้เดินทางไปขอคำปรึกษาจากนายช่วย คชสิทธิ์ ผู้นำในการเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากธนาคารออมสินกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวงให้นำเงินไปลงทุนในกองทุนออมสิน
"ลิ่วล้อทักษิณ" ผู้เห็นแววตา "อนาคิน" ของ "สุรพล นิติไกรพจน์"
ในเดือน มีนาคม 2549 ก่อนการรับประหารไม่กี่เดือน ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกมาประท้วงขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาเสนอเรื่อง มาตรา 7 ทำให้กลุ่ม “คาราวานคนจน” กลุ่มคนยากจนผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ กลุ่มแรกที่ออกมาปกป้องประชาธิปไตย จากภาคเหนือและภาคอีสาน กว่า 500 คน เดินทางมาประท้วงนายสุรพล ด้วยการโกนหัวจำนวน 72 คน เนื่องจากเห็นว่าเป็นความเห็นที่ขัดต่อครรลองของระบอบประชาธิปไตยอีกทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านการเมืองการปกครอง ควรแสดงความสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากระบอบประชาธิปไตย
การประท้วงเชิงสัญลักษณ์อันฉับพลันหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
หลังการทำรัฐประหาร 19 กันยาได้ไม่กี่ชั่วโมง ในขณะที่นักการเมืองฝ่ายไทยรักไทยกำลังหนีหัวซุกหัวซุนส่วนปัญญาชนผู้สนับสนุนประชาธิปไตยก็ยังคงกำลัง “ถกเถียง-วิเคราะห์สถานการณ์” กันอยู่นั้น “ทวี ไกรคุปต์” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเจ้าเก่า “ฉลาด วรฉัตร” ได้ลงมือปฏิบัติการณ์ท้าทายซึ่งหน้า (direct action?) ท้าทายคณะทหารอย่างฉับพลัน ด้วยการออกมาประท้วงที่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณถนนราชดำเนิน เป็นกลุ่มแรก
โดยทวีนั้นได้กางป้ายขนาดใหญ่สองป้ายระบุว่า“กระผม นายทวี ไกรคุปต์ ขออดข้าวประท้วงผู้ที่ล้มล้างประชาธิปไตยทำให้บ้านเมืองถอยหลัง และแตกแยก” ส่วนฉลาดกับผู้ติดตามอีกจำนวน 2-3 คนได้ปูเสื่อนั่งอยู่ที่บริเวณฐานของอนุสาวรีย์ฯ โดยกล่าวกับสื่อมวลชนว่าหากไม่ต้องการให้ตนนั่งก็ให้จับตนไปขังคุกจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง – และเป็นไปตามคาด ไม่นานนักคนทั้งคู่ก็ได้รับการเชิญตัวจากคณะทหารอย่างฉับพลันเช่นกัน
โดยหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้โปรยข่าวนี้ไว้อย่างน่ารักน่าชังว่า..
“ฉลาด วรฉัตร-ทวี ไกรคุปต์” ยังไม่สำนึก เดินหน้าเชลียร์ต่อ ตะแบงรักษาประชาธิปไตยนั่งประท้วงคณะปฏิรูปการปกครองฯ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ก่อนถูกทหารเชิญตัวไปพูดคุย”
ภาพสะท้อนถึงการจดจำต่อเหตุการณ์ประท้วงเชิงสัญลักษณ์อันอุกอาจครั้งนี้คือ ผู้เขียนสามารถหารูปเหตุการณ์นี้ได้รูปเดียวและมีขนาดเพียง 200 × 290 พิกเซล โดยใช้คีย์เวิร์ดว่า “ทวี ไกรคุปต์ 19 กันยายน 2549” จาก Google ซึ่งเทียบไม่ได้กับการค้นหาภาพการมอบดอกไม้ให้ทหารของกลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนการรับประหารในช่วงนั้น ที่ยังคงตกค้างมากมายซะเหลือเกินบนโลกไซเบอร์
เผาตัวไล่ประธาน “ยุทธ ตู้เย็น”
เดือนมีนาคม ปี 2551นายแมน ตรวจมรรคา ได้ขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาจอดริมทางหน้ารัฐสภา จากนั้นเขาได้ถอดเสื้อและกางเกงออกจนเหลือแต่กางเกงในตัวเดียวแล้วตะโกนด่ารัฐบาล และขอให้ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานรัฐสภาในขณะนั้นลาออกไป พอสิ้นเสียงนายแมนจึงยกขวดน้ำมันเทราดตัวเองจนชุ่มก่อนจะจุดไฟแช็กเผาร่างตัวเองทันที นายแมนได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา
เหตุการณ์นี้ผู้สื่อข่าวได้ไปสอบถาม ร.ต. ฉลาด วรฉัตร ซึ่งนั่งประท้วงอยู่บริเวณตรงข้ามหน้ารัฐสภา ได้ความว่า เห็นนายแมน ซึ่งมักชอบมาบริเวณนี้เป็นประจำ เดินไปมาและพูดจาต่างๆ นานา จับใจความไม่ได้ จึงไม่ได้สนใจ จนกระทั่งมีคนมาบอกว่านายแมนเผาตัวเองโดยไม่ทราบสาเหตุ
เพื่อนร่วมงานของแมนกล่าวว่า บางวันแมนจะขี่รถจักรยานยนต์มาจอด ขึ้นไปยืนบนรถแล้วเป่านกหวีดให้รถคันอื่นหยุด ชอบแต่งกายคล้ายทหาร และชอบขับรถไปที่รัฐสภาตะโกนด่านักการเมืองและคณะปฏิวัติคณะต่างๆ รวมทั้งเคยตะโกนขับไล่พล.อ.สุจินดา อาการทางประสาทมักจะกำเริบทุกวันพระ แต่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ใด
ไม่ต้องจ้าง กูอยากปา (1)
เดือนกุมพาพันธ์ ปี 2553 วิวิทวิน เตียวสวัสดิ์ พ่อค้าเนื้อหมูย่านลาดพร้าว ใช้อุจาระโจมตีบ้านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผลแห่งการขัดขืนอารยะของเขา ศาลแขวงพระนครใต้ได้สั่งพิพากษาจำคุก 10 วัน แต่คำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 5 วัน เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนจึงให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นกักขังแทน 5 วัน (ถูกนำตัวไปนอนเล่นที่ สน.ทองหล่อ เป็นเวลา 5 วัน)
ก่อนก่อเหตุวิวิทวินเคยร้องเรียนเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าข้างบ้านได้สูบบุหรี่แล้วควันบุหรี่ไปโดนลูก ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการให้ จึงไปร้องเรียนกับทาง น.1 ว่าให้ดำเนินการในเรื่องนี้ให้ แต่ไม่เห็นตำรวจดำเนินการ ก็เลยกล่าวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าถ้าหากว่าไม่ดำเนินการให้จะไปปาอุจจาระใส่บ้านนายกรัฐมนตรี
และเขาก็ได้ปฏิบัติตามคำพูดทุกประการ
ไม่ต้องจ้าง กูอยากปา (2)
ต้นเดือนมีนาคม ปี 2553 สุรชัย เกิดดี อดีตพนักงานขับรถธนาคารทหารไทย บุกปาอุจจาระที่พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะยืนนิ่งอหิงสาให้ตำรวจจับนำตัวไปสอบสวน โดยทิ้งประโยคเด็ดไว้กับผู้สื่อข่าวว่า "ผมมีสิทธิ์ไม่ตอบ เป็นลูกผู้ชายพอ ทำแล้วไม่หนี"
โดยสาเหตุการประท้วงครั้งนี้ของสุรชัย เขาให้สาเหตุว่า เนื่องมาจากเกิดความเครียดที่มีสัญญาณคลื่นในอากาศมารบกวน ทำให้เกิดอาการปวดหัวและเครียดอย่างหนัก เคยร้องเรียนกับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2541 แต่เรื่องดังกล่าวก็นิ่งเงียบไป โดยสุรชัยระบุว่าคนที่เป็นเหมือนตนที่ถูกคลื่นสัญญาณรบกวนคือ น.ส.จิตรลดา ตันติวณิชยสุข พกอาวุธมีดไล่แทงนักเรียนหญิงที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์
จากการบุกประท้วงเดี่ยวของสุรชัย ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาให้กักขังเขาเป็นเวลา 5 วัน ที่ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลางปทุมธานี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม
จากนั้นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาสุรชัยก็นำอุจจาระมาเรียกร้องความเป็นธรรมอีกครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุว่าสัญญาณคลื่นที่รบกวนเขานั้นยังไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลทำให้ตนเองมีอาการเครียดและปวดหัวอยู่
ขณะนี้สุรชัยถูกส่งตัวไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ในเบื้องต้นทางสถาบันฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรีนี้ว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนในการรักษา ซึ่งหลังจากอาการเป็นปกติทางตำรวจจะกลับมารับตัว แล้วมาดูกันว่าดำเนินคดีกับสุรชัยยังไงต่อไป
 
… นอกจากนี้ยังมีการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ที่โลกลืมอีกมากมายที่ผู้เขียนได้หลงลืมไปบ้าง ก็หวังให้ท้ายความเห็นของบทความชิ้นนี้ผู้อ่านจะได้ช่วยกันทบทวนการต่อสู้ของคนเล็กบ้างไม่เล็กบ้างที่ถูกละเลยไป
 

 

ความเห็น

Submitted by popculture on

พิมพ์ผิดเยอะมาก จากคำว่ารัฐประหารเป็นรับประหาร แต่ขี้เกียจแก้ เอาเป็นว่าขอให้เข้าใจเป็นคำว่ารัฐประหารละกันนะเทอว์

Submitted by ภัควดี on

ขอบคุณคุณประปามากที่รวบรวมการต่อสู้ที่โลกลืมมาให้อ่าน อ่านแล้วต้องย้อนคิดว่า บางทีชาวบ้านนี่แหละคือนักป่วนทางวัฒนธรรมตัวจริง ที่ชนชั้นกลาง ปัญญาชน สู้ไม่ได้เลย

Submitted by วัชรี on

มุมที่คุณประปา เสนอมาดีมาก
เคยมีนักถ่ายภาพ รวบรวมภาพการประท้วงที่หน้าทำเนียบ
ทุกวันอังคาร(เขาใช้วันอังคารเนื่องจากเป็นวันประชุม ครม.)อยู่ช่วงหนึ่ง เป็นสมุดภาพขาวดำ ด้วย
แล้วจะส่งไปให้ทางประชาไทลองพิจารณาเอาลงไว้เพื่อแลกเปลี่ยน
เพราะประชาชนที่เดือดร้อนก็ต้องคิดหาวิธีประท้วง
ชาวบ้านกลุ่มเล็ก กลุ่มน้อย ก็พยายามประท้วงอยู่เพื่อหาความเป็นธรรม
อยู่ทุกวัน

วัชรี

Submitted by ประปา on

http://www.thairath.co.th/content/pol/109630

หนุ่มแท็กซี่ปีนเสาไฟอาคารรัฐสภาประท้วง อ้างรัฐไม่เหลียวแล

หนุ่มแท็กซี่คลั่ง ปีนเสาไฟรัฐสภา อ้างถูกทหารยิงช่วงม็อบแดง แต่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ ที่สุดท้ายหมดแรงปีนลงไม่ไหว เจ้าหน้าที่ต้องช่วยเหลือลงมาอย่างทุลักทุเล...

เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.ที่บริเวณลานจอดรถหน้าอาคารรัฐสภา 2 ได้มีชายวัยกลางคน อายุราว 50 ปีคนหนึ่งสวมเฝือกที่แขนซ้าย และปิดผ้าก็อตที่ตาซ้าย ได้ปีนเสาไฟฟ้าขึ้นไปนั่งสงบนิ่งท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด โดยมีเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ตำรวจ และสื่อมวลชนทยอยออกมาดูเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเวลาประมาณ 13.30 น.เมื่อมีคนมามุงดูจำนวนมาก รวมทั้งพยายามตะโกนสอบถามว่าขึ้นไปทำไม พร้อมทั้งเกลี้ยกล่อมให้ลงมาพูดคุยกันข้างล่าง ทำให้ชายคนดังกล่าวซึ่งทราบชื่อภายหลังว่าคือ นายพงศ์พิชาญ ธนาถิรพงศ์ ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ได้ตะโกนตอบกลับมาแต่ฟังไม่ได้ศัพท์เนื่องจากเครื่องขยายเสียงภายในรัฐสภากำลังถ่ายทอดเสียงการประชุมนั้นมีเสียงค่อนข้างดังมาก ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะตัดเสียงลำโพงทำให้สนทนาได้เข้าใจกันมากขึ้น

โดยหนุ่มแท็กซี่รายนี้ ได้โยนใบปลิวที่เคยทำเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงาน รวมทั้งพรรคการเมืองต่างๆ ให้กับผู้สื่อข่าวได้อ่าน พร้อมทั้งตะโกนโวยวายอย่างไม่พอใจว่า ได้ไปร้องเรียนเรื่องราวความเดือดร้อนจากหน่วยงานต่างๆ แต่ไม่ได้รับการเหลียวแล ล่าสุดได้ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง นอกจากนี้เมื่อได้เจอกับนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้รับความสนใจที่จะฟังเรื่องราวของตน จึงตัดสินใจปีนเสาประท้วง

จากนั้นนายประสงค์ นุรักษ์ ส.ว.สรรหา และนายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอร้องให้ลงมาพูดคุยกันก่อน แต่นายพงศ์พิชาญตอบกลับมาว่า อยู่ที่พื้นไม่มีใครสนใจ หากให้ลงไปจะมีใครสนใจฟังตนอีกหรือ ที่สำคัญตนก็อยากจะลง แต่ลงไม่ได้เพราะเจ็บแขนและชาไปทั้งตัวแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่ ส.ส. ข้าราชการ และสื่อมวลชนที่มุงดูอยู่ต่างหัวเราะชอบใจ จากนั้นเจ้าหน้าที่รัฐสภาจำนวน 3 คนได้ปีนขึ้นไปประคองเพื่อนำตัวลงมาด้านล่าง แต่นายพงศ์พิชาญ ระบุว่าไม่มีแรงที่จะเคลื่อนไหวหรือปีนลงมาอีกแล้ว เจ้าหน้าที่จึงต้องนำเชือกขนาดใหญ่และอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ มาพยุงตัวลงด้วยความทุกลักทุเล โดยใช้เวลาช่วยเหลือนานถึง 10 นาที ทั้งนี้เมื่อถูกนำตัวลงมาด้านล่าง เจ้าหน้าที่ได้นำตัวขึ้นเปลพยาบาลเพื่อนำตัวมาดูแลอาการเบื้องต้นในห้องพยาบาลภายในอาคารรัฐสภา 1 ด้านนายศิริโชค กล่าวว่า นายพงศ์พิชาญ เคยมาร้องเรียนหลายครั้งแล้วจนหน่วยงานต่างๆ เอือมระอา เพราะชอบมาร้องเรียนและขอเงินช่วยเหลือทุกครั้ง

สำหรับนายพงศ์พิชาญ นั้น ก่อนหน้านี้ก็เคยก่อเหตุไม่คาดฝันมาแล้วหลายครั้ง เช่น ขับรถแท็กซี่บุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อขอความช่วยเหลือต่างๆ เช่น ขอให้ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่ารถแท็กซี่ ค่าโทรศัพท์มือถือและเงินสดที่ถูกปล้นในพื้นที่ สน.บางซื่อ และอ้างว่าถูกทหารทำร้ายร่างกายที่หลังและดวงตาเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา และยังถูกทหารใช้สไนเปอร์ยิงที่แขนซ้ายเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

รางวัลหมูหลุมอวอร์ด 'ที่สุดแห่งปี 2558'

 
เนื่องในปี 2558 ที่ผ่านมา เป็นปีที่มี 365 วัน ซึ่งถือว่าครบมาตรฐานการเป็นหนึ่งปี ทางสำนักพิมพ์หมูหลุมจึงจะมาขอมอบ "รางวัลหมูหลุมอวอร์ด" ให้กับบุคคลดังต่อไปนี้อ่ะครับ
 

รางวัลข้าราชการยอดเยี่ยมแห่งปี 2558

MIU: เสนอใช้ 'ส.ส. ระบบเพลย์ออฟ' แทน 'ระบบจัดสรรปันส่วนผสม' อ่ะครับ.

สืบเนื่องจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เสนอสูตรการเลือกตั้งที่เรียกว่า 'ระบบจัดสรรปันส่วนผสม' ที่ให้นำคะแนนคนแพ้คะแนนใน ส.ส. ระบบเขตมานับเป็นคะแนน ส.ส.

ลุงบัณฑิต ฝากประชาสัมพันธ์หนังสือราคาพิเศษอีกแล้ว ณ ครับ.

ลุงบัณฑิต อานียา อาจจะมีชื่อเสียงมาจากการเป็นผู้ต้องหาคดีสำคัญคดีหนึ่ง แต่กระนั้นหลายคนอาจจะลืมไปว่าแกเป็นนักเขียน ณ ครับ