แด่สหาย จากชายแดนทิศตะวันตก

 

อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเมืองท่ามกลางหุบเขา มีเสน่ห์เล็กๆ ในแบบของตัวเอง แม่สอดไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แต่มีคนแวะเวียนมาเยอะเพราะแม่สอดเป็นประตูผ่านแดนไปยังเมืองเมียววดีของพม่า

ออกจากตัวเมืองไม่ถึง 5 นาที ก็คือ ตลาดริมเมย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมยสายแคบๆ มองข้ามแม่น้ำไปนิดเดียวก็คือฝั่งพม่า ตลาดริมเมยขายข้าวของติดฉลากภาษาจีนสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยคุ้นตานัก แต่ในตลาดทั่วๆ ไปของกิน ขนมต่างๆ ยังขายกันที่ฐานราคา 5 บาทอยู่ โรตีโอ่งแผ่นละ 5 บาท กาแฟ 5 บาท โอวัลติน 5 บาท นมข้น 5 บาท อิ่มท้องยามเช้าสองคนในราคาเพียง 25 บาท

จังหวะที่ผมไปเยือนเป็นช่วงที่ด่านข้ามแดนปิด แต่ปัญหาการปิดด่านเป็นแค่เรื่องทางการเมือง เพราะผู้คนยังสามารถนั่งเรือข้ามฟากมาซื้อหาข้าวของ หรือท่องเที่ยวได้ในราคาเพียง 20 บาท

ชาวเมืองแม่สอดบางคนพูดภาษาเหนือสำเนียงไม่คุ้นหู บางคนพูดภาษาไทยกลาง บางคนติดสำเนียงแบบชาวเขา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นคนพม่า พูดภาษาพม่า แต่งตัวแบบพม่า เมื่อนั่งรถผ่านไปตามถนนหนทางในเมืองจะพบผู้คนทั้งชายหญิงนุ่งโสร่ง ทาหน้าขาว เทินของไว้บนหัว สะพายลูกตัวเล็กๆ ไว้ข้างหลัง และป้ายร้านรวงในภาษาพม่า เป็นบรรยากาศธรรมดาทั่วไป

 
ผมเดินทางมายังเมืองเล็กๆ ทางทิศตะวันตกก็พราะที่นี่มีคนพม่า เพื่อนของผมคนหนึ่งเป็นเอ็นจีโออยู่ในพื้นที่ และชวนผมให้มาช่วยจัดกิจกรรม ค่ายเล็กๆ สามวันสองคืน ให้กับเยาวชนชาวพม่า งานนี้ฟรี ไม่มีค่าแรง แม้จะไม่มีความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับชาวพม่ามาก่อน แต่ผมก็เดินทางมาด้วยความยินดีที่จะได้ทำงานแบบอาสาสมัครแท้ๆ อีกครั้งหนึ่ง

 
บนท้ายรถปิ๊กอัพที่มุ่งหน้าไปยังที่พักแรม เราแวะรับเยาวชนจากศูนย์การเรียนรู้แห่งหนึ่งในตัวเมืองแม่สอดมา 5 คน
“ถนัดพูดภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษมากกว่าครับ” ผมถาม เพื่อความมั่นใจสำหรับการทำ กิจกรรมให้ความรู้เรื่องกฎหมายไทย กิจกรรมแรกที่ผมต้องรับผิดชอบและนอนกังวลมาตลอดคืน
“สำหรับหนู ภาษาไทยค่ะ”
น้องสา สาวน้อยตัวเล็กคนหนึ่ง ตอบอย่างเต็มปากเต็มคำ แต่สำเนียงไม่ชัด พอเป็นคำตอบที่ช่วยให้ผมสบายใจขึ้นได้บ้าง ก่อนที่เธอจะหันไปพูดคุยกับเพื่อนของเธออีกคนหนึ่ง เป็นภาษาอังกฤษ สาเป็นเด็กผู้หญิงวัยรุ่น หน้าตาใสซื่อ ใส่เสื้อยืดเขียนอักษรภาษาไทย แต่งตัวเหมือนเด็กวัยรุ่นไทยที่เคยพบเห็น ผมคงสื่อสารกับเธอได้อย่างน้อยหนึ่งคนในค่ายนี้
เหม่ซา สาวพม่าผิวคล้ำ ผมสีน้ำตาล ตากลมโต พูดภาษาอังกฤษสำเนียงชัดแจ๋ว พูดภาษาไทยไม่ได้เลย คือ เพื่อนหญิงของเธอ น้องสา เหม่ซา และเพื่อนชาวพม่าอีก 3 คนมาจากศูนย์การเรียนรู้Wide Horizon ซึ่งรับนักเรียนจากกลุ่มชาติพันธุ์มาเรียนคอร์สระยะสั้น 10 เดือนที่แม่สอด เปิดรับเพียงคอร์สละ 24 คน ต้องสอบแข่งขันเข้ามาเรียน ที่นี่สอนเป็นภาษาอังกฤษและมีกฎกติกาให้นักเรียนพูดคุยกันด้วยภาษาอังกฤษ
นอกจากสองคนนี้แล้ว น้องๆ เยาวชนที่มาร่วมค่ายมีอายุอยู่ระหว่าง 16-23 ปีกับเด็กอายุน้อยๆ สองสามคน บางคนผิวดำกร้าน บางคนนุ่งโสร่ง บางคนพูดได้สามภาษา บางคนพูดไทยได้คล่องปรื๋อ บางคนฟังไทยได้นิดหน่อย บางคนได้พม่าภาษาเดียวจริงๆ แต่โดยรวมๆ บุคลิกเด็กพม่าก็ไม่ต่างอะไรจากวัยรุ่นไทยในต่างจังหวัด

กิจกรรมของค่ายเริ่มต้นด้วย การแนะนำตัวตั้งแต่ตอนยังไม่ค่อยกล้าพูดจากัน กิจกรรมทำความรู้จัก ละลายพฤติกรรม ด้วยเกมส์เดิมๆ แต่เล่นกี่ทีก็สนุก ฟังกันเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ไม่นานน้องๆ ชาวพม่าจากศูนย์การเรียนรู้ห้าแห่งก็เริ่มเข้ากันได้ และเริ่มไปกันได้กับพี่เลี้ยงคนไทยที่ไม่รู้ภาษาของพวกเขาเลยสักคำเดียว
การให้ความรู้เรื่องกฎหมายของผมก็วิ่งลุยน้ำสามภาษาไปได้อย่างสวยงาม ทั้งวาดรูป ทั้งชี้ไม้ชี้มือ แถมด้วยความช่วยเหลือจากล่ามชาวพม่า ที่แปลไปก็แอบแซวผมไปให้น้องๆ หัวเราะกันคิกคัก น้องๆ เองก็ทำแบบฝึกหัดเล็กๆ ได้ดี แสดงว่าพอเข้าใจที่ผมพูดบ้าง
แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ล่ามของผมเขียนภาษาพม่าไม่ได้ เวลาเขียนกระดาน ผมจึงต้องขออาสาสมัครน้องๆ ที่เขียนภาษาพม่าได้ อ่านไทยรู้เรื่อง มาเขียนด้วยปากกาอีกสีหนึ่งกำกับไว้ใต้คำทุกคำที่ผมเขียนขึ้นกระดา
 
น้ำฝน เด็กสาววัย 16 ปี ผิวขาว พูดน้อย เป็นคนที่ถูกผมใช้ให้มาเขียนบ่อยที่สุด เธอพูดภาษาไทยคล่องที่สุดในค่ายนี้ ไม่ติดสำเนียงพม่าเลย นอกจากใช้มาเขียนแล้ว เวลาเล่มเกมส์สันทนาการ ผมจะอธิบายกติกาเป็นภาษาไทยแล้วใช้ให้เธอแปลให้เพื่อนคนอื่นฟังเป็นบางครั้งบางคราว
น้ำฝนพื้นเพเป็นคนไทใหญ่ ชนชาติไทใหญ่มีแผ่นดินอยู่ในรัฐฉานประเทศพม่า พวกเขาถูกรัฐบาลทหารพม่ากดขี่ทางเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมมาตลอด พวกเขาไม่อยากเป็นคนพม่า แต่อยากมีวิถีตามเอกลักษณ์ของตนเอง น้ำฝนเป็นหนึ่งในชาวไทใหญ่ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย เธออยู่เชียงใหม่มาตั้งแต่เด็ก แล้วย้ายมาเรียนที่โรงเรียนCDC ที่แม่สอดซึ่งสอนเป็นภาษาอังกฤษได้สามปี เธอจึงพูดไทยกลางชัด ภาษาเหนือก็ได้ พูดภาษาอังกฤษได้ ภาษาพม่าได้ และภาษาไทใหญ่ได้
             ผมเริ่มต้นคุยกับเด็กสาวไทใหญ่เพราะเธอชอบฝากผมถ่ายรูปให้ น้ำฝนมีกล้องคอมแพ็กตัวเล็กๆ รุ่นที่ต้องใช้มือเลื่อนเปิดเลนส์และซูมไม่ได้เลย กล้องตัวนี้ดูจากร่องรอยคงผ่านสมรภูมิมาไม่น้อย เมื่อเริ่มกิจกรรม เธอจะนั่งตัวตรงตั้งใจฟัง พร้อมกระดาษปากกาในมือ แล้วฝากผมถ่ายรูปกิจกรรมนั้นๆ ผมเองก็มีทั้งกล้องของค่าย กล้องวีดีโอ และยังกล้องของเธออีก เอาเข้าจริงแต่ละกิจกรรมผมก็กดให้เธอได้แค่ 2-3 รูปเท่านั้น

             กิจกรรมในคืนแรก ผมตั้งใจจะเล่นเกมส์กะหล่ำนรก พร้อมปะแป้ง ผมขอให้เหม่ซาช่วยเขียนภาษาพม่าลงในกระดาษคำสั่ง เพื่อให้คนที่จับกระดาษได้ ต้องเอาแป้งไปปะหน้าคนข้างๆ หรือคนตรงข้าม หรือคนอื่นๆ ตามที่กระดาษแต่ละใบจะบอก เธอเต็มใจช่วย เราสื่อสารกันลำบากอยู่บ้างเพราะความอ่อนด้อยภาษาอังกฤษของผม เธอต้องถามกติกาทั้งเกมส์ และผมต้องพยายามบอกเธอเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงไทย ผมคิดในใจว่าอยากให้น้องน้ำฝนอยู่แถวๆ นี้มากกว่า แต่เหม่ซาก็อดทนเขียนให้จนครบสิบกว่าใบ
            เมื่อเริ่มเกมส์ กระดาษใบแรกๆ เป็นไปตามที่ผมคาดคิด เมื่อการปะแป้งเริ่มสนุกขึ้น ผมถือกระป๋องแป้งเดินไปแจกใส่มือคนที่ต้องจับกระดาษแต่ละใบอย่างสนุกสนาน
           “อ้าว ใบนี้ว่าอะไร เอามือมา ใส่แป้งเยอะๆ” ผมพูด
            “โผละ” ผมโดน....
            แป้งเด็กแคร์อัดเข้าเต็มปาก เต็มหน้า เต็มหัว
ทำไมผมถึงโดน? คนหัวเราะกันกลิ้งทั้งห้องประชุม
ตามคำแปลของน้ำฝน กระดาษใบนั้นเขียนว่า ให้โปะแป้งใส่คนที่ถือแป้งมาให้ ผมมองไปที่เหม่ซา เธอยิ้มเล็กยิ้มน้อย แล้วก็ยกนิ้วโป้งให้ ก็เธอรู้อยู่แล้วนิ ว่าผมจะต้องเป็นคนนำเล่นเกมส์
 
“ยู ชีท มี” ผมโวยวายหลังเกมส์จบเท่าที่นึกเป็นภาษาอังกฤษได้
“But it’s good, right?” เหม่ซาตอบ
“อิทส์ เบ็ทเทอร์” ผมพูดไป ทั้งที่จริงๆ อยากจะพูดว่า “ก็ดีวะ” แต่คิดคำไม่ทัน ส่วนอีกใจนึงก็คิดว่า “กู้ดของมึงคนเดียวดิ” ก็แป้งยังเต็มปากเต็มคอผมอยู่เลย

 
น้องๆ ทุกคนดูตั้งอกตั้งใจกับการบรรยายความรู้ในค่ายนี้มาก ฟังไปก็จดไป ฟังภาษาไทย จดภาษาพม่า จนบางทีคนพูดก็อายเหมือนกันเพราะน้องๆ ดูตั้งอกตั้งใจมาเอาความรู้กันจริงๆ บางช่วงที่มีวิทยากรมาบรรยายเป็นภาษาพม่า ผมก็แอบหลับไปบ้าง หรือถ้าขยันก็ไปหลบอยู่หลังน้ำฝนให้ช่วยแปลให้บ้าง แม้เธอจะบอกว่า “หนูไม่รู้ค่ะ ทำไมต้องหนูด้วยคะ” แต่เท่าที่ลองคุยด้วยมาหลายคนเธอก็เข้าใจภาษาไทยมากที่สุดจริงๆ และในวันที่มีวิทยากรเป็นตำรวจไทยมาเล่าขั้นตอนการทำงานของตำรวจตามกฎหมายไทย ผมฟังออกจึงตั้งใจฟัง
 
การคุยกับตำรวจยืดเยื้อเกินเวลา เพราะน้องๆ ถามเยอะและต้องให้เวลาล่ามแปลด้วย นักเรียนนายร้อยตำรวจจบใหม่สองคนที่เพิ่งย้ายมาอยู่แม่สอดไม่ถึงปีอธิบายให้ภาพเหมือนกับตำรวจไทยเป็นเทพผู้พิทักษ์ความยุติธรรมจริงๆ ส่วนที่น้องๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่ามีการรับใต้โต๊ะ รีดไถ แลกกับการไม่ถูกจับฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย นายตำรวจหนุ่มทั้งสองคนมองว่า เป็นอำนาจของหน่วยงานอื่น ซึ่งปัญหานี้หากมาแจ้งความที่สถานีตำรวจก็สามารถช่วยเหลือได้
เหม่ซา ยกมือถามว่า แล้วถ้ามีปัญหา มีขโมยขึ้นบ้าน เธอไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ แต่เธอไม่มีบัตรประจำตัวอะไร เธอจะถูกจับเองหรือเปล่า
คุณตำรวจ บอกว่า “เราไม่มีนโยบายที่จะดำเนินคดีกับผู้เสียหายเอง” ขณะที่เอ็นจีโอในพื้นที่ยืนยันตรงกันว่าตำรวจต้องทำยอด ว่าแต่ละปีจับคนเข้าเมืองผิดกฎหมายได้เท่าไร ซึ่งคนพม่าที่ไปแจ้งความจะถูกจับหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นๆ ตำรวจทำยอดได้หรือยัง
เหม่ซา ยกมือถามคำถามหนักๆ หลายครั้งจนบางทีผมก็แอบสงสารคุณตำรวจหนุ่มทั้งสองคน นี่คงเป็นประสบการณ์ที่เธอหรือเพื่อนชาวพม่าพบเจอมาระหว่างอยู่ที่เมืองไทย ขณะที่น้องสาเป็นคนที่ตอบคำถามกฎหมายที่คุณตำรวจชวนคุยได้อย่างฉะฉาน ทำให้ผมยิ้มกว้างหน้าบานได้ เพราะเธอตอบได้ตรงเป๊ะตามที่ผมสอนไปในกิจกรรมวันแรก

 
เวลาว่าง ผมก็ได้พูดคุยถามไถ่กับน้องๆ บ้าง โดยเฉพาะคนที่พูดภาษาเดียวกับผมได้ น้องสาเล่าว่า เธอมาเรียนที่โรงเรียนปัจจุบันเป็นคอร์สระยะสั้น เมื่อจบคอร์สนี้แล้วเธอก็อยากเรียนต่อ แต่ไม่รู้ทำอย่างไรถึงจะได้เรียน ก็คงจะต้องกลับบ้าน จริงๆ แล้วเธอสนใจเรื่องการเรียนมาก สังเกตจากที่เธอชอบถามวิทยากรที่มาบรรยายเรื่องการศึกษา
“แล้วพี่ เรียนจบหรือเปล่าคะ”
“อืม จบแล้ว”
“ปริญญาตรี เหรอคะ”
“ครับ ตรี”
“แล้วพี่ทำไมไม่เรียนต่อล่ะคะ”  ผมคิดในใจว่า ถามเหมือนพ่อผมเลย
“หนูว่านะ ....”
“พี่ขี้เกียจเรียนแล้วล่ะ ถ้าเรียนเยอะๆ แล้วจะเข้าใจเอง” ผมพูดตัดบทไป เพราะคนที่มีโอกาสแต่ไม่อยากเรียนอย่างผม ฟังดราม่าการศึกษามาพอแล้ว
“แล้วพี่เรียนจบมานานหรือยังคะ”
“ก็สองปี เกือบสามปีครับ”
“โห! งั้นพี่ก็ยี่สิบห้าแล้วสิคะ”
… จะมายุ่งอะไรกับอายุของผมหนอ

เมื่อพูดถึงการเรียนต่อ เหม่ซาเล่าว่า เธอเองก็เคยเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัย วิชาเดียวกับผมนั่นเอง แต่เธอเรียนได้แค่ปีครึ่ง เธอพบการคอรัปชั่น โดยโปรเฟซเซ่อร์ในมหาวิทยาลัย แล้วก็ทะเลาะกัน เธอจึงไม่ได้เรียนต่อ นี่คือเท่าที่ผมจับใจความภาษาอังกฤษบวกภาษามือของเธอได้
เหม่ซามีประวัติโชกโชนกว่าที่จะรู้ได้จากการมองภายนอก เธอเองก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนพม่า “I’m also not Burmese” เธอเป็นคนเผ่าอารคัน อยู่ในรัฐอารคัน (จริงๆ ชื่ออะไรไม่รู้แต่ผมฟังสำเนียงมาได้ประมาณนี้) ซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมของตัวเอง ปฏิเสธการปกครองโดยรัฐบาลทหารส่วนกลางเช่นเดียวกับไทใหญ่ หลังจากเธอออกจากมหาวิทยาลัย ก็ไปอยู่ที่บังคลาเทศ และเพิ่งสอบเข้ามาเรียนที่ Wide Horizon ที่แม่สอดได้ไม่กี่เดือน เหม่ซาสนใจกฎหมายมาก แต่ว่าไม่มีโอกาสเรียนให้จบ เธอยังถามผมว่าในประเทศไทยมีที่ไหนเปิดสอนกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษบ้าง แต่นอกจากมหาวิทยาลัยเอกชนแพงๆ ผมก็ยังไม่รู้จะแนะนำเธอไปที่ไหน

ผมแอบไปเยินยอน้องน้ำฝนที่เป็นคนเรียบร้อย เอาการเอางาน พูดได้หลายภาษา ตอนนี้เธอเรียนประมาณชั้น ม.4 แต่โรงเรียนของเธอไม่สามารถให้วุฒิที่เที่ยบเท่าการเรียนในระบบได้ ผมเชียร์ให้เธอมาทำงานกับองค์กรเอ็นจีโอต่างชาติ ที่ทำงานช่วยเหลือคนชาติพันธุ์ ซึ่งให้เงินเดือนหลายหมื่น ไม่ต้องใช้ใบประกาศ และหลายต่อหลายองค์กรต้องการคนที่คล่องทั้งภาษาไทย ภาษาพม่า ภาษาอังกฤษอย่างเธอ แต่คนที่มีคุณสมบัติเช่นเธอนั้นมีน้อย เพื่อนผมยังบอกด้วยว่าถ้าอยู่ถึงม.6 แล้วจะขอจองตัวมาทำงานต่อเลย
น้ำฝนบอกผมว่า “หนูก็อยากทำอย่างนั้นค่ะ แต่อาจจะทำไม่ได้”
“อ้าว ทำไมล่ะ?”
“หนูไปไหนไม่ได้มาก แล้วถ้าเรียนจบ หนูอาจจะอยู่ประเทศไทยไม่ได้นานค่ะ” เธอบอก
ซึ่งผมก็เข้าใจว่าทุกวันนี้เธออยู่ในเมืองไทยได้ด้วยบัตรนักเรียน ซึ่งจำกัดที่อยู่อาศัยเฉพาะในเขตเมืองที่โรงเรียนตั้งอยู่ เมื่อเรียนจบเธอคงต้องกลับบ้านเกิด เพราะการขอสัญชาติ หรือใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย นอกจากจะมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว กระบวนการขออนุญาตทางราชการก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย
“แต่หนูก็จะทำค่ะ หนูตั้งใจจะไปทำงานพวกนี้ที่บ้านหนู” เธอยืนยันอย่างมั่นใจ ตามประสาเด็กวัยรุ่น
 
เราคุยกันถึงกรุงเทพบ้าง น้องบางคนถามถึงบรรยากาศ รถรา รถไฟฟ้าในกรุงเทพบ้านผม บางคำถามผมเองก็ตอบไม่ได้ ได้แต่บอกไปว่ากรุงเทพมันไม่น่าอยู่ขนาดไหน และผมอิจฉาพวกเขาขนาดไหนที่มีเผ่าพันธุ์ มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง มีภาษาประจำตัวหลายภาษา และมีความภูมิใจในชาติพันธุ์แม้จะไม่มีโอกาสได้อยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินของตัวเอง

 
ช่วงเย็นวันที่สอง หลังเสร็จกิจกรรม เราพาน้องๆ ทุกคนเดินจากรีสอร์ทขึ้นไปเที่ยวบนสันเขื่อน ซึ่งจริงๆ แล้วคืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอยู่ไม่ห่างจากรีสอร์ทมากนัก แต่คนแม่สอดเรียกว่าเขื่อน แนวดินที่กั้นอ่างเก็บน้ำจึงถูกเรียกว่าสันเขื่อน เมื่อขึ้นไปถึงด้านบนจะมีพื้นที่ ยาวๆ แคบๆ ให้เดินเล่นชมทิวทัศน์เบื้องล่างได้ ซ้ายมือเป็นแอ่งน้ำที่กักเก็บไว้ ขวามือเป็นที่ราบที่ตั้งของตัวเมืองแม่สอด ทั้งสองฝั่งมีทิวเขาและก้อนเมฆเป็นฉากหลังอยู่ลิบๆ
 
“เชียงใหม่อยู่ทางนี้” น้องสาพูดขึ้นพร้อมชี้มือไปทางทิศเหนือ
“ตากอยู่ทางนี้” … “สังขละบุรีอยู่ทางนี้” ... “แม่ฮ่องสอนอยู่ทางนี้”
“กรุงเทพอยู่ทางนี้ ใช่ไหมคะ?” น้องสาชี้มือและหันมามองผม
“ไม่ใช่ ประมาณนี้ๆ” ผมชี้มือโยกมาทางตะวันออกอีกนิดหน่อย เพราะเธอชี้ไปทางทิศใต้อย่างเดียว
 
“กรุงเทพกับเชียงใหม่ กรุงเทพกับที่นี่ อะไรไกลกว่าคะ” น้องสาถามอีกครั้ง
“กรุงเทพเชียงใหม่ไกลกว่านิดหน่อยครับ” ผมตอบ
“เคยไปกรุงเทพไหม?”
“ไม่เคยค่ะ” เธอตอบ
ผมไม่ถามแล้วว่าทำไม และแอบนึกด่าตัวเองในใจที่ถามออกไปแบบนั้น

 
แสงอาทิตย์ยามเย็นสีทองอร่ามสาดลงมาบนสันเขื่อน ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางวงล้อมของหุบเขา
“You know? My home is over there” เหม่ซาชี้มือไปทางฝังพม่า ผมยิ้ม
“cross this mountain.” เธอพูด ขณะที่สายตามองข้ามภูเขาไป แสงสีทองจากทิศตะวันตกสาดมาปะทะใบหน้า สะท้อนอยู่ในแววตาที่ฉายความหมายอะไรสักอย่าง
“and the next mountain and the next and the next…” เหม่ซาหันมายิ้ม แล้วก็หันไปหัวเราะคิกคักกับน้องสา
“ยู ชีท มีอะเกน” ผมพูดกลับไป เหม่ซาหัวเราะ และมองทอดสายตาไปยังทิศทางเดิม
 
ดวงอาทิตย์เคลื่อนคล้อยต่ำลงและกำลังจะลับไปหลังเทือกเขาถนนธงชัยที่ทำหน้าที่กั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า เทือกเขาที่ทำหน้าที่แบ่งแยกคนว่ามาจากต่างเผ่า ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา เทือกเขาที่ถูกคนสมมติขึ้นให้แบ่งแยกสิทธิ และศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ถือกำเนิดบนผืนดินคนละฟากฝั่งของมัน
 

รอสักวันหนึ่งนะ พวกเธอจะได้ไปเที่ยวกรุงเทพ ไปดูรถไฟฟ้า ไปดูตึกใหญ่ๆ เธอจะได้เข้าใจมัน
รอสักวันหนึ่งนะ พวกเธอจะได้เรียนอย่างที่ใจอยากเรียน
รอสักวันหนึ่งนะ พวกเธอจะได้กลับบ้านของเธอ บ้านที่เธอจะได้อยู่แบบเป็นตัวของตัวเอง
รอสักวันหนึ่งนะ น้องสา เหม่ซา น้ำฝน และเด็กชาวพม่าอีกหลายแสนคนในประเทศไทย
 
รอวันนั้น
 
วันที่โลกไร้พรมแดน
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
*เรื่องราวทั้งหมด และตัวละครทุกตัวมีอยู่จริง แต่ไม่ใช่ชื่อนี้
           ผมเชื่อว่าถ้าหากทุกคนได้รู้จักเพื่อนต่างเผ่าพันธุ์ จะเข้าใจว่าพวกเขาไม่มีอะไรที่แตกต่างจากเราเลย ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่การเดินทาง การศึกษา การทำงานจะถูกจำกัด ด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ หรือบัตรประจำตัว ประสบการณ์จากค่ายเล็กๆ ผมรู้สึกอย่างแรงกล้าที่อยากให้คนไทยเข้าใจคนที่เราเรียกว่า “พม่า” มากขึ้น
           เท่าที่พอจะทำได้ ผมจึงเขียนเรื่องราวเหล่านี้
 
 
 

 

ความเห็น

Submitted by กำลังก้าว on

ช่วงนี้ที่มหาลัยจัดเสวนาเรื่องพม่าบ่อย ใกล้เลือกตั้งแล้ว
ไม่ได้ตามข่าวนัก ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เคยนั่งดูสารคดี VJ Burma ที่ถ่ายทำตอนพระ "คว่ำบาตร" ประท้วง แล้วโดนทหารปราบในย่างกุ้งเมื่อหลายปีก่อน
ดูแล้วขนลุก คนตะโกน Free Burma เต็มท้องถนน
ชื่อ อองซานซูจี ดังก้อง ทั้งๆ ที่เธอไม่ได้อยู่ตรงนั้น
แล้วเสียงปืนก็ดังกลบเสียงเรียกหาเสรีภาพ

เคยแวะไปแม่สอดเหมือนกัน รู้สึกเป็นเมืองที่คนหลากหลายดี
แต่บางทีทุกๆ ที่ก็ล้วนหลากหลายกระมัง เพียงแต่เราไม่ค่อยเห็นและรู้สึกถึงมัน
กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ก็ไม่ต่างกันหรอก แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านไม่รู้เท่าไร ที่เข้ามาขับเคลื่อนเมืองเหล่านั้น...

ป.ล.ไทใหญ่ ไม่มี -ย นะ

Submitted by kamonrat on

ยังมีคนอยู่อีกจำนวนมากที่ยินยอมที่แบ่งแยกคนออกเป็นชนชั้น
ท้ายที่สุดแล้ว เราทุกคนล้วนเป็นคน จนดีผู้ดีไพร่ไม่พ้นคน

Submitted by groomgrim on

ขอบคุณหลายๆ ครับ แก้ไขแล้ว

โพสทีไรมาอ่านทุกทีเลยนะ เป็นแฟนประจำประชาไทอยู่ล่ะสิ คุณกำลังก้าว

 

ป.ล. ประชาไท ก็ไม่มี -ย

Submitted by cracyk on

ชอบครับ ภาษาง่าย เห็นภาพในหัวเลย อยากสัมผัสบรรยากาศแบบนั้นบ้างครับ(แต่คงไม่มีโอกาส .. เพราะผมปิดมันไปนานแล้ว)
ขอบคุณที่ช่วยกวนตะกอนฝันในสมองให้ฟุ้งขึ้นอีกรอบ (เพื่อรอมันตกลงก้นโอ่งเหมือนเดิม)

เด็กหนุ่มในอพาร์ทเม้นต์

 
ชั้น 10 ของอพาร์ทเม้นต์แห่งหนึ่ง 

เด็กหนุ่มอายุ 18 ปี นั่งเล่นคอมพิวเตอร์อยู่คนเดียวบนชั้นนั้น

เด็กหนุ่มเพิ่งเข้าเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง แต่วันนี้เขาขี้เกียจไปเรียน จึงนั่งเล่นคอม แชทคุยกับสาวๆ อยู่ที่บ้าน