ปรากฏการณ์มิดะ เพลงต้องห้ามและสิบปี จรัล มโนเพ็ชร

บน ฟ้า มี เมฆ ลอย บน ดอย มี เมฆ บัง
มี สาว งาม ชื่อ ดัง อยู่ หลัง แดน ดง ป่า
 
 
เนื้อเพลงมิดะค่ะ สองบรรทัด....เพราะเหลือเกิน และเข้าไปอยู่ในหัวใจใครต่อใครได้ไม่ยาก บนฟ้ามีเมฆลอยบนดอยมีเมฆบัง ฟังเพียงแค่นี้ก็จินตนาการได้กว้างไกล หัวใจก็ลอยไปถึงไหน ๆ แล้ว
 
ฉันรู้จักเพลงนี้ก่อนที่จะรู้จักดอยสูงที่มีชนเผ่าจริง ๆ เสียอีก เช่นเดียวกับรู้จักคำเมือง รู้ว่าล้านนามีภาษาของตัวเอง หลังจากรู้จักอุ๊ยคำ

จนเมื่อได้มีโอกาส มารู้จักศิลปินคนเขียนเพลงและร้องเพลงมิดะ ก็มีโอกาสได้ฟังมากขึ้น แค่ขึ้นอินโทรเพลงด้วยเสียงเม้าธ์ออแกนและเสียงฮัม ฮือ ฮือ  ฮือ ฮือ ฮือ.........บนฟ้ามีเมฆลอยบนดอยมีเมฆบัง ก็ต้องหยุดฟังแม้ว่าจะฟังบ่อยแค่ไหน ไม่ว่ากำลังช่วยแม่ครัวจัดจานใส่อาหาร หรือช่วยพนักงานเสิร์ฟเก็บจาน หรือนั่งคุยอยู่กับใครสักคนก็ตาม
 
ทำไมฉันถึงได้ฟังเพลงนี้บ่อย เพราะว่าเมื่อมาอยู่เมืองเหนือ เชียงใหม่ ฉันใช้ชีวิตร่วมบ้านกับนักดนตรีเล่นกีตาร์และร้องยังชีพ และฉันเดินทางไปกับเขาด้วยเสมอ ร้านที่เขาเล่นก็คือร้านคนรักของศิลปิน นักร้อง ที่เขียนเพลงและร้องเพลงมิดะ “จรัล มโนเพ็ชร” ฉันอยู่ว่าง ๆ ทำตัวให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเป็นผู้ช่วยคนครัวบ้าง ผู้ช่วยพนักงานเสิร์ฟบ้าง นอกจากการมาพักผ่อนมาเที่ยวมาฟังเพลง
 
ฉันคุ้นกับเพลงมิดะมาก แต่ไม่เคยมีสักครั้งที่จะมีคำถามว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง อาจจะเป็นเพราะความงามของภาษา ความไพเราะ และความอ่อนโยนที่อยู่ในบทเพลง จนมันเข้าไปอยู่ในหัวใจคนฟัง ไม่ได้คิดถึงว่าจริงหรือไม่จริง จนเมื่อมีข่าวว่าพี่น้องชาวอาข่าออกมาเรียกร้อง และบอกแก่สังคมว่า มันไม่ใช่เรื่องจริงและทำให้ชนเผ่าอาข่าเสียหายโดยเฉพาะภาพของผู้หญิง ต้องให้หยุดร้องหรือเรียกว่าแบนเพลงนี้ “ไม่มีทั้งมิดะและลานสาวกอด”
 
เรื่องราวเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในปีที่ 10 การจากไปของจรัล มโนเพ็ชร ในปีนี้ เรื่องนี้ได้รับการพูดถึง ไปจนถึงมีการเปิดเวทีเสวนาทางวิชาการ สืบค้นกันทีเดียวว่ามีมิดะหรือไม่
 
และในโอกาสครบรอบสิบปีจรัล มโนเพ็ชร ในวันที่ 3 กันยายนนี้ มีหนังสือ สิบปีการจากไปของจรัล แน่นอนต้องมีปรากฏการณ์มิดะอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เพราะมิดะเป็นปรากฏการณ์หนึ่งหลังการจากไปของจรัลที่เข้มข้นมาก คุณอันยา โพธิวัฒน์ ในฐานะคู่ชีวิตคุณจรัล เป็นผู้เขียนจัดทำร่วมกับเพื่อน ๆ
 
 

 
เมื่อมีปรากฏการณ์มิดะร้อนแรง ชาวอาข่ารู้สึกว่า ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของเขาอย่างมากมาย ฉันจึงกลับมานั่งฟังเพลงนี้อีกครั้งอย่างตั้งใจ และบังเอิญเพื่อน ๆ คนเขียนหนังสือ คนทำงานศิลปะที่ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ๆ มาที่บ้านจึงชวนฟังด้วยกัน
 
ไม่มีใครปฏิเสธว่าเพลงนี้เพราะ เข้าใจได้ว่าคนเขียนเพลงจับเอาเรื่องราวหรือเรื่องเล่า มาสร้างกับจินตนาการได้อย่างกลมกลืนงดงาม
 
 
เพื่อนคนเขียนสารคดีคนหนึ่งบอกว่า หลักฐานการมีอยู่จริงคือหนังสือสารคดี เขียนเมื่อปี 2493 ของนักเขียนสารคดีที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ถือว่าเป็นขั้นครูของนักเขียนสารคดีรุ่นหลัง ๆ   และสารคดีคือการนำเสนอเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องแต่งเหมือนนิยายหรือเรื่องสั้น ดังนั้น หากจะกล่าวว่า นักเขียนสารคดียกเมฆหรือไม่รู้จริงเอามาเขียนก็รู้สึกว่าไม่อาจกล่าวได้ในฐานะคนทำสารคดีรุ่นหลังเพราะการเขียนสารคดีสักชิ้นหนึ่ง เราต้องไปถึงที่ถึงถิ่น ต้องเห็นกับตา ต้องเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ จริง ๆ เรียกว่าต้องทุ่มเทกับงานอย่างยากและลำบาก  โดยเฉพาะนักเขียนสารคดีมืออาชีพ และอย่างคุณ “บุญช่วย ศรีสวัสดิ์” ที่เขียนหนังสือ “30 ชาติในเชียงราย” และอื่น ๆ อีกหลายเล่มที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ และท่านเสียชีวิตไปนานแล้ว


 

ใช่ ฉันเห็นจริงด้วย สำหรับคนเขียนสารคดี แต่สำหรับคนเขียนเพลง นักแต่งเพลงนั้น เขาไม่ใช่นักเขียนสารคดี เทียบได้กับคนเขียนเรื่องสั้น คือเอาเรื่องเล่า เอาตำนานมาสร้างจินตนาการแต่งเสริมได้
 
มีนักแปลคนหนึ่งเสนออย่างเป็นกลาง ๆ ว่า ชาวอาข่าลุกขึ้นมาบอกกับผู้คนว่า มันไม่จริง ไม่ใช่เรื่องของอาข่าก็สมควรแล้วและเป็นเรื่องที่ทำได้ หรือจะบอกกล่าว เรื่องราวชนเผ่าของเราเป็นอย่างไร ส่วนเพลงที่เขาร้องอยู่ก็ไม่ต้องไปแบนหรอก เขาก็ร้องของเขาไป เราก็บอกของเราไป และนักร้องอาข่าก็มีเพลงของตัวเองออกมาแล้ว
 
ส่วนเรื่องที่ว่า ผู้คนจากพื้นราบไปทำไม่ดีกับคนอาข่าและกล่าวอ้างว่า ทำตามเพลงนั่นไม่น่าจะใช่เพราะเพลงของเขาไม่มีอะไรจาบจ้วง หรือบอกว่า ใครก็ไปกอดสาวอาข่าได้ดังใจ  ลานสาวกอดในบทเพลง ฟังดูเหมือนเป็นที่พิเศษสำหรับกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของถิ่นเท่านั้น
 
   ..งาม เหลือกำรำพัน
 เป็นหมันและเป็น หม้าย
ความ สวย งาม คือ ภัย
                    
ใครคนหนึ่งร้องท่อนนี้ขึ้นมา และบอกว่า งามเหลือกำรำพัน เป็นหมันและเป็นหม้าย ความสวยงามคือภัย  ฉันคิดว่าที่ไหน ๆ ก็เหมือนกัน ความสวยคือภัยโดยเฉพาะหญิงหม้าย นี่เป็นเรื่องสากลมาก
 
หน้าที่ของมิดะในบทเพลงของจรัลก็คือ
บอก สอน หื้อ ละอ่อน นั้น มี ความ ฮู้ กาม วิ-ธี
คือทำหน้าที่สอนเพศศึกษาให้กับเด็กหนุ่มและต้องเป็นหนุ่มที่จะไปออกเรือนมีครอบครัวเพื่อครอบครัวที่เป็นสุข เพื่อการสืบทอดเผ่าพันธุ์ก็เป็นได้
 
สำหรับฉันคิดว่า มิดะในบทเพลงมีจริงหรือไม่ และเพลงนี้ควรแบนหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  แต่ปรากฏการณ์มิดะในบทเพลงของจรัล มโนเพ็ชร ทำให้ฉันรู้สึกว่า การสร้างงานศิลปะ ในแขนงต่าง ๆ ของศิลปิน มันสร้างแรงกระเทือนได้จริง และอาจจะเป็นผลดีเป็นกำลังใจให้ศิลปินมุ่งมั่นที่จะสร้างงานอย่างจริงจังขึ้น
 
และนี่เป็นปรากฏการณ์ที่บอกว่า ไม่ว่างานเพลงดนตรี งานเขียน สารคดี และอื่น ๆ สามารถสร้างแรงผลักหรือส่งผลต่อสังคมได้จริง ๆ จนถึงขั้นเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ หากว่างานที่สร้างยิ่งใหญ่พอหรือเรียกว่าจริงพอไม่ใช่งานลวง ๆ  
                       
อย่างกรณีเพลง มิดะ ถือว่าเป็นเพลงที่ส่งผลสะเทือนจริง ๆ.
 
เพิ่มเติม เชิญร่วมงานค่ะ

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2554
เป็นวันรำลึกครบรอบ 10 ปี การจากไปชั่วนิรันดร์ของจรัล มโนเพ็ชร ผู้ร่วมก่อตั้ง "ร้านสายหมอกกับดอกไม้" มาตั้งแต่ปี 2541 .... ขอเชิญทุกท่านที่ยังรักและคิดถึงศิลปินผู้ล่วงลับ ร่วมรำลึกถึงจรัล มโนเพ็ชร และปีนี้เป็นปีพิเศษ ในวันนี้ยังมีการรำลึกถึง แซม กัลยาณี เพื่อนผู้จากโลกนี้ไปเมื่อปีที่แล้ว ในวันที่ 3 กันยายน เช่นเดียวกัน  

1 ปี แซม และ 10 ปี จรัล จึงหลอมรวมดวงใจผองเพื่อนไว้ในวันเดียวกัน สถานที่เดียวกัน " สายหมอกกับดอกไม้ "  
 
ได้โปรดนำดอกไม้สดมาจากบ้านของท่าน ดอกหญ้า ดอกพุดซ้อน ดอกกุหลาบ หรือดอกมะเขือ ดอกไม้อะไรก็ได้ทั้งนั้น ตามแต่ใจ... เพื่อมอบให้จรัล มโนเพ็ชร และแซม กัลยาณี ...  
ทั่วบริเวณร้านสายหมอกกับดอกไม้ ทั้งภายในและสวนน้อยๆ ตกแต่งด้วยอารมณ์ความรู้สึก บนความเชื่อว่า ทุกหนแห่งเรายังมีเพื่อนทั้งสอง อยู่กับเราด้วยเสมอ.... Everywhere There's Friends....  
มีดนตรี มีกวี มีภาพเขียน แด่เพื่อนๆ ทุกๆ คน ในคืนนี้.... 
 
16.30 น. ลงทะเบียน
17.00 น. พิธีกรนำเข้าสู่รายการ
ตัวแทนท่านนายกสมาคมกวีผู้ล่วงลับ กล่าวเปิดงาน รำลึกถึงผู้จากไปทั้งสอง
จรัล มโนเพ็ชร และ แซม กัลยาณี   พร้อมทั้ง ประวัติ ชีวิตและผลงานของแซม กัลยาณี  ฉายภาพยนตร์สารคดีที่แซมฝากไว้กับโลกของเรา 
17.30 น. พูดคุยกันสบายๆ เรื่อง กรณีเพลงมิดะ กับ จรัล มโนเพ็ชร
ใครกันเล่าฆ่าความจริง? ร่วมพูดคุยกับ ดร.เพ็ญ ภัคตะ และ ดร.อุดร วงษ์ทับทิม
18.30 น. เปิดตัวหนังสือเรื่อง " ภารกิจปิดฝังมิดะ" ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อรำลึก 10 ปี  การจากไปของ จรัล มโนเพ็ชร
 
ผู้ลงทะเบียนในงาน - รับหนังสือ "ภารกิจปิดฝังมิดะ" ฟรี 20 ท่าน จากการจับฉลาก
19.00 น. เป็นต้นไป อุ่นกลิ่นไอ ผองเพื่อนนานาชาติพันธุ์ รวมใจรำลึกนึกถึงผู้จากไปทั้งสองเพื่อให้หายคิดถึงเพื่อนกันบ้าง สักเล็กน้อยก็ยังดี 
ดวงดาวเผยโฉมหน้า นักดนตรีฝีมือเทพ เริ่มบรรเลงบทเพลง "รักและคิดถึง" เพื่อนทั้งสองผู้ล่วงลับลาจากไกลชั่วนิรันดร์.... 
17.00 น. - 20.30 น. มีอาหารพื้นเมือง ยกครัวโบราณมาจากบ้านป้าตา ฟรีเจ้า...   
ประตูงานปิดเวลา  22.00 น. เจ้า ( “ห้ามเข้า” แล้ว แต่ “ ออก ” ได้ )   
 
มีหนังสือพิเศษเกี่ยวเนื่องกรณีดัง " ภารกิจปิดฝังมิดะ "
หนังสือเล่มละ 175 บาท ค่าจัดส่งเล่มละ 5 บาท
 
อนุโมทนาร่วมกันร่วมสร้างฝัน....แด่...จรัล มโนเพ็ชร     
 

 

 
 

 

ความเห็น

Submitted by kawinporn Char... on

ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อนะคะ ตั้งใจไว้ว่าจะเขียนเองในเรื่องหนังสืออยู่แล้ว
ก็มีงานเร่งด่วนด้บดิ้น! จ่ออยู่แทบทำไม่ทันเพราะเร่งเคลียร์ให้หมดก่อนเดินทาง
ได้ใจมากกับทุกประเด็น เป็นพิเศษสำหรับ " และนี่เป็นปรากฏการณ์ที่บอกว่า
ไม่ว่างานเพลงดนตรี งานเขียน สารคดี และอื่น ๆ สามารถสร้างแรงผลักหรือ
ส่งผลต่อสังคมได้จริง ๆ จนถึงขั้นเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ หากว่างานที่สร้าง
ยิ่งใหญ่พอหรือเรียกว่าจริงพอไม่ใช่งานลวง ๆ " เป็นบทสรุปที่ตรงใจที่สุด

( สำคัญอยู่ตรงที่ว่าคนทำนั้นได้ตั้งใจในแนวทางที่ตัวเองคิดว่าประเสริฐแล้ว
แต่ ลวง ในสายตาคนอื่น อันนี้ก็เข้าใจกันได้...ล้วนหลายปัจจัยที่จะโยงไปถึง
คงไม่มีใครอยากทำอะไรที่ไม่สร้างสรรค์ในความคิดเขา ไม่ว่ากันล่ะเนาะ...)

ขอบคุณมากพี่จ๋า

นักข่าวพลเมือง

Submitted by แพร จารุ on

งานชิ้นลงปักษ์หลังกรกฏาคม ในหนังสือกุลสตรีแล้วนะคะ ขอลงซ้ำอีกครั้งค่ะ เพื่อเผยแพร่ในโอกาสครบรอบสิบปี "จรัลมโนเพ็ชร"

Submitted by น้ำลัด on

อย่างน้อยบทเพลง "มิดะ" ก็ทำให้ใครต่อใคร
สนใจและอยากรู้วิถีชีวิตชาวเขามากขึ้น

และคนฟังก็อาจจะไม่จำเป็นต้องไปเชื่อในบทเพลงหรอก
อย่างน้อยก็อาจจะมีคนฟังที่ตั้งคำถามไว้..."แต๊กา?"...อยู่ในใจ

ผมคิดว่า "มิดะ" มันเป็นคำที่เริ่มจะลืมเลือนกันไปในสังคมไทยแล้วละครับ
คนรุ่นใหม่ขณะนี้คงมีน้อยคนที่จะรู้จักเพลง "มิดะ" และก็คงไม่ได้ใส่ใจอะไร
แต่อาจจะไปสนใจ ซุป "มิโซะ" อาหารญี่ปุ่นแทนแล้วละครับ

เดี๋ยวกลับบ้านไปหลนมิโซะกินซักหน่อย ...แต่เอ...ที่บ้านไม่มีมิโซะเลย
เอามิโซะจีนมาหลนแทนก็แล้วกัน แล้วก็เรียกมันว่า "เต้าเจี้ยวหลน" ตามเคย

Submitted by ถนอม ไชยวงษ์แก้ว on

น้ำลัด อาข่ามาผักดองที่อร่อยสู้กิมจิของญี่ปุ่นได้เชียวแหละ

Submitted by น้ำลัด on

จะรับเรื่องผักดองอาข่าไว้พิจารณาครับ
คงต้องหาโอกาสทดลองชิมดูครับ
แล้วผักดองอาข่านี่เขาใส่ "ข่า" ด้วยไหมครับ?

"กิมจิ" นี่มันผักดองเกาหลีนะครับ
แต่มันก็คล้ายๆกันกับผักดองญี่ปุ่น
เพียงแต่ว่ากิมจิดูจะมีรสชาติและสีสันจัดจ้านกว่าของญี่ปุ่น

ผมเคยนั่งคุยกับคนเกาหลีคนหนึ่งชื่อคุณคิม เขามาอยู่เมืองไทยน่าจะเกินสิบปีแล้ว
หล่อไม่ใช่เล่นนะครับ มีเมียคนไทยด้วย และก็พูดไทยได้คล่องแล้ว
(เขามี "ดิคชันนารี" ดี...ดิคเนี่ยต้องเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว เพราะมีคำว่า "นารี" อยู่)
เขาเป็นคนเกาหลีที่ใจเย็นที่สุดเท่าที่เคยเห็นคนเกาหลีมานะครับ
แล้วมีอาชีพเป็นพ่อค้าไม้อยู่ในกรุงเทพฯ โดยนำเข้าไม้มาจากอินโดฯ อัฟริกา ลาว ฯลฯ

เขาเล่าให้ฟังว่าหน้าหนาวที่เกาหลีมันโหดร้าย
ไม่สามารถปลูกผักกินได้ไปประมาณครึ่งปีแหละ
พวกเขาจึงต้องทำผักดองไว้กินกันตลอดหน้าหนาว
ตอนที่เขาเป็นเด็กนั้นเกาหลียากจนสุดๆ
ใครไม่เก็บอาหารไว้กิน อาจถึงตายได้นะครับ
บางคนหน้าหนาวถึงกับต้องขึ้นเขาไปหากิ่งสนมากิน

กิมจิที่เกาหลีมีหลากหลายชนิดมาก
และก็ไม่ได้เหมือนกิมจิที่ขายกันในเมืองไทย
กิมจิในเมืองไทยมันถูกปรับเปลี่ยนไปแล้วให้ถูกปากคนไทยนะครับ

Submitted by หมอน on

ลองเปลี่ยนคำว่า "อีก้อ" ในเพลง
เป็นคำว่า "คนไทย" "คนกรุงเทพฯ" "คนแปดริ้ว" ฯลฯ
แล้วคิดว่า ยังจะรับกันได้มั้ยคะ คนฯลฯ ยังเฉยๆ กันอยู่ได้หรือปล่าว

เพลงนี้ เพราะ และก็เป็นเพลงที่เราชอบมาก
ถ้าไม่มีชื่อชนเผ่าเอ่ยออกมา ปล่อยให้เป็นจินตนาการของคนเขียน
เพลงก็ยังคงเพราะ และน่าจะดีกว่าด้วย ที่ไม่ขัดกับความจริง
หรือเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่จริง ที่ทำให้มีภาพลบต่อชนชาติหนึ่ง

คิดว่า น่าจะเป็นบทเรียนให้ได้ "ตระหนัก" กันยิ่งขึ้นนะ

Submitted by มะดิ on

"ภาษาในเพลง มันจะทรงอิทธิพลขนาดนั้นหรือ" นี่คือคำถาม

"การมีอยู่จริง หรือ การไม่มีอยู่ อาจเป็นเรื่องรอง

เรืองสำคัญมันอยู่ที่ว่า "ทำไมคนถึงเชื่อ ไอ้ สามสี่บรรทัดในเพลง แล้วก็ดันเชื่อกันทั้งประเทศ มาเป็นสิบปี" ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ จริง

ถ้าเชื่อว่า เพลงนี้สร้างปรากฏการณ์มิดะ คุณก็ลองแต่งเพลงสักสองสามเพลง เพื่อ ปิดฝังมิดะ ดูสิครับ น่าจะดีและง่ายกว่าเยอะครับ

แพร จารุ: มีไฟย่อมมีควัน

บทความที่พยายามนำพาผู้อ่านฝ่าม่านมายาคติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรป่าไม้ด้วยการป้องกันไฟป่าสู่รูปแบบการจัดการแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพด้วยการ"ชิงเผา"
 

ปรากฏการณ์มิดะ เพลงต้องห้ามและสิบปี จรัล มโนเพ็ชร

บน ฟ้า มี เมฆ ลอย บน ดอย มี เมฆ บัง
มี สาว งาม ชื่อ ดัง อยู่ หลัง แดน ดง ป่า
 
 
เนื้อเพลงมิดะค่ะ สองบรรทัด....เพราะเหลือเกิน และเข้าไปอยู่ในหัวใจใครต่อใครได้ไม่ยาก บนฟ้ามีเมฆลอยบนดอยมีเมฆบัง ฟังเพียงแค่นี้ก็จินตนาการได้กว้างไกล หัวใจก็ลอยไปถึงไหน ๆ แล้ว
 

ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคนไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน

 ฉันเชื่อว่า หากคนเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทุกอย่างก็จะดีได้ไปกว่าครึ่ง

บางคนบอกว่า ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน เช่น เรื่องทัศนคติที่มีต่อคนอื่น และตัดสินอย่างช้า ๆ
 
สามีของฉันบอกว่า จงรวดเร็วในการฟัง แต่จงเชื่องช้าในการตอบ คือให้ความสำคัญในการฟังมากๆ ก่อนจะตอบจึงจะดี จริงของเขาเพราะเดี๋ยวนี้มีแต่คนพูดและพูด แต่ไม่ค่อยฟังคนอื่น

ฉันเอาเรื่องนี้มาเขียนเพราะได้แรงบันดาลใจมาจากไปสังเกตการณ์เขาพูดคุยทบทวนประสบการณ์การทำงานกันของโครงการ (CHAMPION/MSM) และสมาคมฟ้าสีรุ้ง