"10 เมษายน 2553" ในความทรงจำของผม

30 April, 2012 - 19:22 -- karnt

หมายเหตุ: บันทึกนี้เป็นเพียงความทรงจำของคนคนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น-คืนนั้น ในบางจุดและบางช่วงเวลา - ในแง่หนึ่งจึงอาจไม่มีเนื้อหาที่สำคัญ และไม่มี "ข้อมูลใหม่" เป็นเพียงการบันทึกเอาไว้เตือนความจำตัวเองว่า เคยอยู่ "ที่นั่น"

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555
ที่
https://www.facebook.com/note.php?note_id=325033184195603ฃ

(จู่ๆ ภาพประกอบทั้งหมดก็หายไปจากข้อเขียนนี้ ผู้สนใจสามารถดูภาพในลิงค์ข้างต้น หรือคลิ้กที่นี่ครับ ขอบคุณครับ)

 


 

10 เมษายน 2553
ประมาณบ่ายสองโมงครึ่ง
ขณะที่ผมกำลังเตรียมตัวออกไปคุยงานที่ละไว้นานแล้วเพราะต้องติดตามเก็บภาพการ ชุมนุม โทรทัศน์ในห้องพักก็รายงานสถานการณ์ว่าเกิดการปะทะที่บริเวณกองทัพภาคที่ 1 และมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด - ผมโทรศัพท์ยกเลิกการคุยงานที่นัดไว้ เปลี่ยนเสื้อผ้า

ระหว่างนั้นน้องคนหนึ่ง คืออิ๊ (@Ei Wang) ซึ่งตอนนั้นเป็นนักข่าวอาสาสมัครของประชาไทและบ้านอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมที่ผม พัก ได้โทรศัพท์เข้ามา เรานัดเจอกันในอีก 10 นาที เพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ต่อ BTS ไปสถานีชิดลม เนื่องจากประเมินกันว่าจะการปะทะที่เกิดขึ้นน่าจะนำไปสู่การเคลื่อนกำลังไป สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ เราจึงควรไปอยู่ราชประสงค์

ผมโทรศัพท์ถึงเพื่อนอีกสองสามคน ทุกคนประเมินตรงกัน - เราต้องไปราชประสงค์

 

*ทหารบนถนนสุขุมวิท*

 

บ่ายสามโมงกว่า
เราพบว่า BTS หยุดให้บริการในส่วนของสถานีที่อยู่รอบๆ แยกราชประสงค์ เราจึงต้องลงที่สถานีนานาแล้วเดินต่อ

ก่อนลงจากสถานี อิ๊ได้แวะซื้อนมที่ร้าน (ซึ่งเหมือนกำลังจะปิด บรรยากาศค่อนข้างโกลาหล) เผื่อไว้ในกรณีที่โดนแก๊ซน้ำตา และเนื่องจากผมยังไม่ได้ทานข้าวจึงซื้อกินด้วยขวดหนึ่ง - จำได้ว่าตอนที่กินผมพูดว่า "กินไปก่อน ไม่รู้มื้อต่อไปจะมาถึงเมื่อไหร่" โดยตั้งใจจะหมายความแค่ว่าวันนี้คงอีกยาวและอาจไม่มีเวลาได้กินอะไร แต่น้องบอกว่าผมพูดเหมือนเป็นลาง

 

15.38 น.
ระหว่างเดินไปแยกราชประสงค์ เราพบทหารจำนวนหนึ่งตั้งแถวอยู่บนถนน แต่ไม่ได้ขัดขวางคนที่เดินผ่านเข้าออกพื้นที่

เราอยู่ที่ราชประสงค์จนค่ำ เพราะเชื่อว่าจุดที่รัฐบาลต้องการสลายการชุมนุมจริงๆ คือราชประสงค์ ผู้ชุมนุมมากันหนาแน่นและต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงสถานการณ์ที่ผ่านฟ้า ผู้ชุมนุมบางคนที่มาจากผ่านฟ้าได้นำภาพถ่ายผู้บาดเจ็บมาให้ผมดูผ่านจอในกล้องของเขา - แกนนำหลักๆ เช่น วีระ ณัฐวุฒิ อริสมันต์ ก็อยู่ที่นั่น

ช่วงประมาณห้าโมงเย็นมีร่างคนอย่างน้อยสองคนปรากฏบนยอดตึก CTW ผมลองถ่ายภาพและขยายดู พบว่าเป็นผู้ชายใส่เครื่องแบบสีเข้มยืนมองลงมา แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นทหารที่ขึ้นไปสังเกตการณ์หรือเพียงแค่รปภ.ของตึก

จนถึงหกโมงครึ่งก็ยังไม่มีการเคลื่อนกำลังทหารเข้ามาและไม่มีสถานการณ์รุนแรงที่ราชประสงค์ ขณะเดียวกันการปะทะที่ถนนราชดำเนินก็ยังไม่ยุติและมีรายงานว่ารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่แยกคอกวัว

 

18.55 น.
อิ๊กับผมลงเรือไปผ่านฟ้า นอกจากเราแล้ว บนเรือมีผู้ชุมนุมเสื้อแดงเกือบยี่สิบคน และมีช่างภาพอิสระผู้หญิงอีกหนึ่งคน

 

*บนเรือไปผ่านฟ้า*

 

 

19.13 น.
ถึงผ่านฟ้า - ระหว่างเดินขึ้นจากท่าน้ำผู้ชุมนุมได้เทน้ำลงบนผ้าเช็ดหน้าเตรียมไว้สำหรับรับมือแก๊ซน้ำตา เราทำตาม

 

ราชดำเนินอยู่ในแสงสลัว รถพยาบาลบรรทุกคนเจ็บวิ่งผ่านหน้าไป เฮลิคอปเตอร์บินส่งเสียงพึ่บพั่บอยู่เหนือหัว กลุ่มควันจากพลุ-ตะไลลอยอวล บรรยากาศอึมครึมน่ากลัวจนผมรู้สึกเหมือนอยู่ในหนังสงคราม

เราจ้ำเดินผ่านหลังเวที (จาตุรนต์ ฉายแสง กำลังพูด) มุ่งหน้าไปแยกคอกวัว

 

19.21 น.
เราเดินมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งมืดและวังเวง ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งอยู่ที่นั่น ขณะนั้นผมมองไม่เห็นทหาร แต่ได้ยินเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ลอยมา พลุ-ตะไลถูกจุดลอยขึ้นเพื่อรบกวนเฮลิคอปเตอร์

 

 

 

19.25 น.
ที่ ต็นท์พยาบาลใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยพบคนเจ็บนอนอยู่ ดูจากบาดแผลน่าจะได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง เพราะผิวหนังไม่ฉีกขาดแต่ช้ำอย่างน่ากลัว (กระสุนยางที่ยิงมีแรงปะทะสูงมาก – เพื่อนผมคนหนึ่งบาดเจ็บถึงกระดูกเพราะโดนยิงด้วยกระสุนยางในคืนเดียวกันนี้)

เดินเลยเต็นท์พยาบาลมาแค่ไม่กี่ก้าว แก๊ซน้ำตาก็ถูกทิ้งลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ - นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมโดนมัน ทั้งแสบตาและปวดแสบปวดร้อนไปทั้งหน้าเหมือนเป็นบาดแผลสด ขณะเดียวกันก็รู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก เราวิ่งกลับไปที่เต็นท์ วักน้ำในถังล้างหน้าจนน้ำบางส่วนหกรดกล้องที่สะพายอยู่แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่

เฮลิคอปเตอร์ยังบินวนอยู่ด้านบน เราและผู้ชุมนุม 4-5 คนวิ่งหนีเข้าไปในซอยฝั่งซ้ายมือ พบผู้ชายอุ้มลูกเล็กๆ ออกมาดูเหตุการณ์ เราตะเพิดให้เขารีบพาลูกกลับเข้าบ้าน

เราเดินเลาะหลังตึกตามผู้ชุมนุมจนมาโผล่ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ พบเพื่อนอยู่ที่นั่นหลายคน บางคนเป็นเพื่อนผมที่ไม่ได้เจอกันตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา เพื่อนบางคนบาดเจ็บจากกระสุนยางเพราะไปอยู่แถวหน้า เราคุยกันถึงสถานการณ์ ทุกคนคาดว่าจะมีการใช้กระสุนจริงในคืนนี้

 

19.37 น.
ผมปีนขึ้นไปบนขอบอนุสรณ์สถานฯ พยายามใช้ tele zoom ถ่ายภาพบริเวณแยกคอกวัวฝั่งตรงข้าม โดยเฉพาะในถนนตะนาวทีมีผู้ชุมนุมอยู่กันหนาแน่น แต่จุดนั้นก็มืดมากจนถ่ายออกมาแล้วแทบไม่เห็นอะไร

 

*แยกคอกวัว - ถ่ายจากอนุสรณ์สถานฯ*

 

19.46 – 19.49 น.
คนเจ็บ 3 คนถูกหามมาที่เต็นท์พยาบาลหน้าอนุสรณ์สถานฯ ก่อนที่ 2 คนจะถูกนำขึ้นรถพยาบาล คนเจ็บทั้งหมดมีเลือดเปรอะตามตัวและเสื้อผ้า - เราถ่ายภาพไว้ก่อนวิ่งข้ามถนนไปยังฝั่งตรงข้าม

 

*คนเจ็บบนรถพยาบาล*

 

19.53 น.
แยกคอกวัว บริเวณถนนตะนาว - ข้าวสาร, ประเมินหยาบๆ ด้วยสายตา ผู้ชุมนุมตรงจุดนี้ (ย้ำว่าเฉพาะจุดนี้ คือไม่รวมบนถนนราชดำเนิน) มีอยู่ราวๆ ร้อยกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย บางคนสวมหมวกกันน็อคแบบครึ่งใบบ้างเต็มใบบ้าง ขณะนั้นแนวทหารตั้งอยู่ตรงสามแยกที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างถนนตะนาวและถนนข้าว สาร ประจันหน้ากับผู้ชุมนุม

ถนนตะนาวในฝั่งที่ผู้ชุมนุมรวม ตัวกันอยู่นั้นค่อนข้างมืดมาก แสงไฟหลักๆ ที่สาดมาพอให้ได้อาศัยคือไฟจากหน้าร้านค้าบริเวณสามแยกดังกล่าว

 

ผม สอบถามสถานการณ์จากผู้ชุมนุมสองสามราย ซึ่งเล่าตรงกันว่าก่อนหน้านั้นไม่กี่นาทีได้มีระเบิดตกลงทางฝั่งทหารและมี ทหารสองสามรายทรุดล้มลง แต่พวกเขาไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิงและยิงมาจากจุดใด


ผมกวาดตาสำรวจผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณนั้น ไม่พบว่าใครมีอาวุธ เว้นแต่จะนับก้อนหิน ท่อนไม้ ด้ามธง โล่ห์ (ที่คงยึดเอามาจากทหาร) หรือขวดน้ำพลาสติก ว่าเป็น "อาวุธ"

 

*ผู้ชุมนุมที่ถนนตะนาว*

 

ระหว่างนี้มีเสียงปืนดังมาจากฝั่งทหารเป็นระยะๆ เป็นการยิงแบบปล่อยเป็นระลอก แต่ละครั้งนานหลายวินาที

เมื่อเสียงปืนดังขึ้นอีกระลอกหนึ่ง ผู้ชุมนุมที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ก็กดตัวผมลงนั่ง มองไปรอบๆ เห็นผู้ชุมนุมเกือบทั้งหมดนั่งลง บางคนหมอบราบกับพื้น
 

"อันนี้กระสุนจริง" ชายคนที่กดตัวผมลงหันมาบอก

 

ก่อน ที่ผู้ชุมนุมอีกคนจะช่วยอธิบายว่าระหว่างกระสุนยางและกระสุนจริงนั้น เสียงการสาดกระสุนจะต่างกัน และให้ผมหัดสังเกตเพื่อความปลอดภัย (แต่ผมแยกไม่ออก ได้แต่อาศัยดูคนอื่นๆ หากพวกเขานั่งลงผมก็ต้องรีบนั่ง ส่วนใหญ่คนที่อยู่ใกล้ๆ จะคว้าตัวผมนั่งลงด้วย)

เสียงสาดกระสุนดังมาอีกหลายระลอก และมีอยู่ในน้อยกว่า 2 ครั้งที่ถูกระบุว่าเป็นกระสุนจริง  นอกจากนี้บางครั้งได้มีเสียงดังคล้ายระเบิด และทำให้รู้สึกว่าพื้นที่ยืนอยู่นั้นสั่นสะเทือน - ผมรู้สึกว่าตัวเองอยู่ใกล้ความตายมากๆ

ครั้งหนึ่งมีคนจุดไฟเผาป้ายเล็กๆ ของร้านค้าบริเวณสามแยก แต่ผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ได้ช่วยกันดับและร้องด่าคนเผา

 

ครั้งหนึ่งหลังจากถูกกดให้หมอบลงและรู้สึกเหมือนมีอะไรปลิวผ่านไป ผมได้หันไปมองผนังตึกด้านหลัง (ผนังด้านหลังของสำนักงานสลากกินแบ่ง อาคาร 2) ก็พบรูกระสุนจำนวนหนึ่ง

เมื่อเสียงปืนระลอกนั้นเงียบแล้วผมได้ลุกขึ้นไปดู รูกระสุนเหล่านั้นอยู่ในระดับอก-ไหล่ของคนที่สูงประมาณ 170 ซม.
 

ผู้ชุมนุมบางคนเริ่มเก็บปลอกกระสุนชนิดต่างๆ มาให้ผมถ่ายภาพไว้

 

*รูกระสุนบนผนังตึก*

 

20.01 น.
หลังเสียงปืนระลอกหนึ่งมีผู้ชุมนุมถูกหามออกไป ผมไม่เห็นตัวคนเจ็บชัดเจน แต่ดูจากลักษณะการหามคาดว่าอาการสาหัส มีเสียงตะโกนด่าด้วยความโกรธแค้น ผมเองก็ตะโกนด่าออกไปด้วย

หลังจากนั้นไม่นานได้มีคนเจ็บถูกหามออกไปอีก ทุกครั้งที่มีคนถูกหามออกไป คนที่แตกฮือออกมาด้านหลังเพราะตกใจกระสุนปืนจะฮือกลับเข้าไปที่ด้านหน้า เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง

บางคนที่ได้รับบาดเจ็บไม่มากนัก หลังจากปฐมพยาบาลแล้วกลับเข้ามาที่เดิม กลับมาทั้งที่มีผ้าพันแผลเปื้อนเลือดโพกอยู่บนศรีษะ

 

ผมบอกกับตัวเองว่า เพิ่งเข้าใจเดี๋ยวนี้เองว่าอะไรบ้างทำให้คนไม่กลัวตาย สิ่งหนึ่งมันคือความโกรธอย่างถึงที่สุด

คนที่วิ่งกลับเข้าไปแทนเพื่อนที่ล้มลงเป็นคนมือเปล่า และการตอบโต้ห่ากระสุนที่สาดมาแต่ละครั้งก็คือการปาก้อนหิน ขวดน้ำ (ดูเหมือนจะไม่มีน้ำอยู่มากนัก เพราะลอยไปได้ไม่ไกล) ท่ามกลางเสียงโห่ร้อง บางคนถึงกับปาผ้าโพกหัวออกไปทั้งที่รู้ว่ามันทำอันตรายใครไม่ได้ - ผ้าพวกนั้นลอยขึ้นไปได้หน่อยเดียวก็ร่วงลง 

ภาพเหล่านี้ในสายตาผม จึงคือการ "ปราบปราม" ไม่ใช่ "ปะทะ"

หากใครจะเรียกมันว่า "สงคราม" ก็เป็นสงครามที่น่าเวทนาจนบอกไม่ถูก ด้วยความไม่เท่าเทียม ไม่สมศักดิ์ศรีของวิธีการและ "อาวุธ" ที่ใช้ต่อสู้กัน

 

 

ผมไม่ทันสังเกตว่าอิ๊หายไปตอนไหน พอเห็นคนถูกหามก็ตกใจและเริ่มตะโกนหา เมื่อไม่พบก็โทรศัพท์ตามแต่ไม่รับสาย

ไม่กี่นาทีต่อมา อิ๊ได้ sms เข้ามาบอกว่าอยู่ที่เต็นท์พยาบาล และได้เห็นคนเจ็บถูกหามขึ้นรถในสภาพกะโหลกเปิดจนเห็นสมอง

ระหว่างที่ผมอยู่บริเวณนั้น ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง (ซึ่งคงสังเกตเห็นว่าผมสะพายกล้องและอุปกรณ์) ได้คอยดันตัวผมเบียดกลุ่มคน (ซึ่งช่วงแถวหน้าๆ จะยืนเบียดกันแน่นมาก) เพื่อให้ออกไปถ่ายรูปด้านหน้าแนวปะทะอยู่เป็นระยะๆ พร้อมกับพูดว่า  

"ออกไปถ่ายข้างหน้าเร็วๆ ไปถ่ายทหาร ที่นี่ไม่มีนักข่าวมาเลย"

แต่จุดที่ตัวผมสามารถไปถึงคือแค่ราวๆ แถวที่ 3-4 ก่อนจะมีการถอยร่น (จากการสาดกระสุน) ของผู้ชุมนุม และผมก็ถอยกลับมาด้วย ก่อนจะถูกดันออกไปใหม่ เป็นอย่างนี้อยู่ 3-4 ครั้ง อีกทั้งการเบียด-ผลัก (ซึ่งเป็นธรรมดาของสถานการณ์เช่นนี้) ทำให้ตัวผมและกล้องถูกกระแทกเกือบตลอดเวลา การจับภาพให้ไม่สั่นไหวจึงแทบเป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในจังหวะที่ถูกดันออกไปแถวหน้าๆ ทำให้ผมเห็นว่าแนวทหารอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมเพียงไม่กี่เมตร

 

 

*ภาพล่าง สุด (จุดที่ถ่ายอยู่ประมาณแถวที่ 3 ของผู้ชุมนุม) - บริเวณกรอบสี่เหลี่ยมที่ปรับแสงขึ้น (มุมขวาบน) ใกล้กับป้ายเครื่องหมายจราจร คือแนวทหารเมื่อเวลา 20.03 น.*

 

 

20.15 น.
จู่ๆ แนวทหารเริ่มถอยห่างออกไป (แต่เสียงปืนยังคงดังอยู่เป็นระยะ)

ผมเดินเข้าไปในซอยหลังตึกสำนักงานสลากกินแบ่งฯ อาคาร 2 (ซอยดำเนินกลางเหนือ) เลี้ยวซ้ายเข้าเล็กๆ ที่ขนานกับถนนตะนาว แล้วเดินไปในทิศทางเดียวกับที่แนวทหารถอยร่นไป

ก่อนจะพบซอกตึกริมถนนตะนาว บริเวณระหว่างแนวผู้ชุมนุมและแนวทหาร

 

*ซอกตึกริมถนนตะนาวที่ผมเข้าไปอยู่ - ห่างออกไปทางซ้ายมือประมาณ 50 เมตรคือแนวผู้ชุมนุม และขวามือคือทิศทางที่ทหารถอยออกไป*

 

ผมเข้าไปปักหลักอยู่ในซอกตึกที่ว่า พยายามยื่นมือเพื่อชูกล้องออกไปจากซอกตึกและถ่ายภาพแบบสุ่มๆ เพราะไม่กล้ายืนหน้า-หัวตัวเองออกไป เพราะเสียงปืนยังดังอยู่เป็นระยะๆ สลับกับเสียงระเบิด

ในตอนแรกนอกจากผมแล้วมีคนอยู่ตรงนั้นอีก 2-3 คน ชาวต่างประเทศหนึ่งคนพยายามจะถ่ายวิดีโอด้วยวิธีเดียวกัน ส่วนอีกสองคนเป็นคนไทย (คนไทยคนหนึ่งดูเหมือนจะเป็นช่างภาพ อีกคนเป็นคนเก็บของเก่าเพราะสะพายถุงขนาดใหญ่บรรจุขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้ว จำนวนมาก – ครั้งหนึ่งหลังเสียงปืนเงียบลง เขาวิ่งออกไปเก็บขวดพลาสติกท่ามกลางเสียงร้องห้ามของทุกคนตรงนั้น) สักพักก็มีคนไทยและชาวต่างประเทศรวมสองคนมาสมทบ

ส่วนด้านหลังซอกตึกนั้นเป็นร้านอาหาร มีคนนั่งอยู่ 5-6 คน มีทั้งคนของร้านเองและลูกค้าชาวต่างประเทศที่มานั่งจับตาสถานการณ์

 

20.23 น.
ภาพที่ได้จากการหันกล้องไปทางแนวทหารมีเพียงถนนในสภาพยับเยิน ไม่มีทหารอยู่ในภาพ ซึ่งแสดงว่าขณะนั้นทหารได้ถอยไปไกลมากพอสมควรแล้ว อย่างน้อยก็พ้นโค้งถนนไปจนจับภาพไม่ได้ (กะด้วยสายตา - โค้งนั้นน่าจะห่างจากแนวผู้ชุมนุมประมาณ 200 เมตร ห่างจากจุดที่ผมอยู่ประมาณ 150 เมตร)

 

*จากซอกตึก - หันกล้องไปทางผู้ชุมนุม (20.21 น.)*

*จากซอกตึก - หันกล้องไปทางที่ทหารถอยออกไป (20.23 น.)*

 

20.35 น.
หลังจากทหารพ้นโค้งถนนไปแล้ว เสียงปืนและระเบิดก็เงียบไป หลังจากรีรออยู่พักหนึ่งชาวต่างประเทศคนที่ถ่ายวิดีโอก็ตัดสินใจเดินออกจาก ซอกตึกไปดูให้รู้แน่ - เขาปลอดภัยกลับมา

 

20.42 น.
ผมเดินเข้าไปคุยกับคนในร้านอาหาร ชาวต่างประเทศคนหนึ่งโชว์บาดแผลที่ต้นขา (แผลเปิด-ยังมีเลือดไหลอยู่บ้าง) ให้ผมถ่ายภาพ – เขาบอกว่าถูกทหารยิงระหว่างออกไปดูสถานการณ์ตอนหัวค่ำ

 

 

 

20.43 น.
หลังเสียงปืนและระเบิดเงียบลงพักใหญ่ จนแน่ใจว่าปลอดภัยแล้ว ผู้ชุมนุมจึงพากันเดินข้ามสามแยกมาสำรวจความเสียหายบนถนนตะนาวฝั่งที่ทหาร ถอยร่นไป ผมจึงกล้าเดินออกไปดูบ้าง

สภาพความเสียหายก็ อย่างที่ทราบกันและมีรายงานข่าวออกมาภายหลัง ร้านค้าเสียหายจำนวนมาก รถยนต์ที่จอดอยู่พรุนไปด้วยรูกระสุน ซึ่งนอกจากปากคำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แล้ว รูกระสุนบนกระจกหน้ารถเหล่านี้เองที่ได้ช่วยเป็นอีกหลักฐานยืนยันว่ากระสุน มาจากทางไหน

ผู้ชุมนุมคนหนึ่งเดินเก็บปลอกกระสุนได้จำนวน มากและหลายชนิด ผมไม่มีความรู้เรื่องปืนแต่รู้สึกว่าหลายอันหน้าตาไม่เหมือนกระสุนยางเลยสัก นิดเดียว

 

 

*ผู้ชุมนุมเดินออกมาสำรวจพื้นที่หลังทหารถอยกลับไป*

 

*รูกระสุนบนกระจกรถยนต์ซึ่งหันหน้าไปในทิศทางที่ทหารถอยออกไป*

 

*ปลอกกระสุนที่ผู้ชุมนุมเดินเก็บมา*

 

21.19 น.

ผมกลับมาเจออิ๊ที่เต็นท์พยาบาลใกล้แยกคอกวัว คนเจ็บที่อาการหนักๆ ถูกนำส่งโรงพยาบาลไปหมดแล้ว

ผู้ชุมนุมเริ่มทยอยกันกลับขึ้นมาบนถนนราชดำเนิน ข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตเริ่มแพร่ออกไป

 

ประมาณสี่ทุ่ม
เราโทรศัพท์เช็คเพื่อนที่ประชาไทถึงรายชื่อโรงพยาบาล ก่อนตัดสินใจไปโรงพยาบาลตากสิน เพราะเชื่อว่าตามโรงพยาบาลหลักๆ คงมีนักข่าวและช่างภาพอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว

เนื่องจากผมไม่ได้ทานข้าวมาทั้งวัน ส่วนอิ๊ก็ยังไม่ได้ทานข้าวเย็น เราจึงเห็นพ้องกันว่าควรต้องหาอาหารใส่ท้องก่อน เราเดินมาพบเต๊นท์หนึ่งซึ่งมีอุปกรณ์ทำครัวและโต๊ะเก้าอี้ ก็เข้าใจว่าขายอาหารให้แก่ผู้ชุมนุม จึงเดินเข้าไปถามหาข้าว พอทราบว่าเราหิว คุณป้าที่อยู่ในเต็นท์รีบกุลีกุจอขนข้าวปลาอาหารมาให้เราเยอะมากๆ

เต๊นท์นั้นไม่ได้ขายอาหาร เพียงแต่คุณป้าเมตตาหามาให้เราทาน – จนบัดนี้ผมยังไม่รู้ว่าจะขอบคุณยังไงจึงเท่ากับน้ำใจของคุณป้าและคนที่เต๊นท์นั้น

 

22.34 น.
เราลาคุณป้า ออกเดินหาตุ๊กๆ ไปโรงพยาบาลตากสิน

 

ตลอดเหตุการณ์ หากไม่นับแก๊ซน้ำตาผมไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ ซึ่งต้องขอบคุณผู้ชุมนุมหลายๆ คนที่ช่วยเหลือเอาไว้ และได้แต่หวังว่าเขาเหล่านั้นจะปลอดภัยเช่นกัน

ตลอดเหตุการณ์ที่ถนนตะนาว ผมไม่เห็นใครที่ดูเหมือน "นักข่าว" ของสื่อกระแสหลักเลย คนไทยที่ถือกล้องอยู่ตรงนั้นนอกจากผู้ชุมนุมแล้วก็ดูเหมือนจะมีเพียงช่างภาพอิสระเท่านั้น

ตลอดเหตุการณ์ทั้งหมด ผมไม่เห็น "ชายชุดดำ" และคนถืออาวุธอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม

 

ผมไม่ได้กำลังจะสรุปหรือแม้แต่จะเสนอว่าไม่มี "ชายชุดดำ" และ "อาวุธ" อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม

ผมเพียงแต่จะบอกว่า ตรงที่ผมอยู่ - ในขณะที่ผมอยู่ตรงนั้น ไม่มีทั้งสองสิ่งนี้ปรากฎให้ผมเห็น

 

กานต์ ทัศนภักดิ์

10 เมษายน 2555

 

 

** เวลาที่ระบุไว้เป็นตัวเลข อ้างอิงจากเวลาที่บันทึกในไฟล์ภาพถ่าย

 

ความเห็น

Submitted by น้ำลัด on

สรุปว่ามันเป็นเรื่องประหลาด
ที่ต้องไปยุ่งกับกลุ่มคนที่ประหลาด
ในประเทศอันแสนจะประหลาด

วันเวลาแห่งความประหลาด
ด้วยคำสั่งที่ประหลาด
บนพื้นฐานกฎหมายประหลาด

เรื่องประหลาดประหลาดจึงเกิดขึ้น
ประหลาดหลายเรื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ประหลาดซ้ำๆจนกลายเป็นอุบาทว์

และแล้วความอุบาทว์แห่งชาติก็บังเกิด

ก้าวฝ่า “ความเงียบงัน” - A Walk Through "the Silence"

17 July, 2012 - 17:17 -- karnt

กานต์ ทัศนภักดิ์: ศิลปะโฟโต้โมเสคเพื่อเหยื่อ112 ท่ามกลาง “ความเงียบงัน” ที่เราทุกคนในสังคมต่างต้องเผชิญอยู่นี้  (โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)   ไม่ได้มีแต่ความว่างเปล่า และยิ่งไม่ใช่ความ “นิ่งงัน” อย่างที่บางคนอาจหมิ่นแคลน ลำพอง หรือแม้แต่ลอบทอดถอนใจ  -- หากแต่ยังมีความเคลื่อนไหว และมีคนจำนวนมากที่ยังคงพยายามจะ “ก้าวฝ่า” มันไป

 

 

"10 เมษายน 2553" ในความทรงจำของผม

30 April, 2012 - 19:22 -- karnt

หมายเหตุ: บันทึกนี้เป็นเพียงความทรงจำของคนคนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น-คืนนั้น ในบางจุดและบางช่วงเวลา - ในแง่หนึ่งจึงอาจไม่มีเนื้อหาที่สำคัญ และไม่มี "ข้อมูลใหม่" เป็นเพียงการบันทึกเอาไว้เตือนความจำตัวเองว่า เคยอยู่ "ที่นั่น"