เรื่องราวของ Jean Calas และข้อเสนอเฉพาะหน้ากรณีนักโทษคดีหมิ่น

ภาพ Jean Calas ขณะถูกประหารด้วยการทุบบนล้อ จาก wikipedia

 

มองเรื่องอากงผ่านคดีของ Jean Calas

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวที่มีความคล้ายคลึงกับกรณีอากง จะขอเล่าให้ฟังย่อๆดังนี้ครับ คือในปี พ.ศ. 2305 หรือ ค.ศ. 1762 (ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกห้าปี) คุณ Jean Calas อายุ 64 ปี ชาวเมือง Toulouse ของฝรั่งเศสถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมลูกชายตัวเองเพื่อกันไม่ให้ลูกเปลี่ยนศาสนาไปนับถือนิกายต่างจากพ่อ (จาก Protestant เป็น Catholics) บรรยากาศในตอนนั้นประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ไม่มีขันติธรรมต่อผู้นับถือนิกายอื่นที่ไม่ใช่ Catholics ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติในขณะนั้น คุณ Calas นั้นถูกศาลทรมานอย่างแสนสาหัสเพื่อให้รับสารภาพด้วยการทุบกระดูกด้วยท่อนเหล็กบ้าง ดึงตัวจนกระดูกหลุดออกจากเบ้าบ้าง บังคับให้กินน้ำประมาณยี่สิบลิตรบ้าง แต่แล้วเขาก็ไม่ยอมรับสารภาพครับ แต่จนแล้วจนรอดก็ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการทุบบนล้อไม้ (Death on the wheel) กลางแจ้งทั้งที่หลักฐานต่างๆชี้ว่าลูกของคุณ Calas นั้นฆ่าตัวตาย นับเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญไปทั่วทั้งยุโรปเพราะผู้คนเชื่อกันว่าคุณ Calas เป็นผู้บริสุทธิ์ และรู้สึกสะอิดสะเอียนกับกับมาตรการการทรมารอันโหดร้ายนั้นเป็นอย่างมาก

ที่ผมว่าคล้ายกับคดีของอากงนั้นเนื่องมาจากหลายประเด็นนะครับ ประการแรก ทั้งสองคำพิพากษา ศาลไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริงๆ ผู้คนทั้งหลายทั้งไทยและเทศก็ยังสงสัยคำพิพากษาดังกล่าวที่วางอยู่บนหลักฐานแวดล้อมเท่านั้น ประการที่สองทั้งสองคดีมีการทรมานอยู่ในกระบวนการยุติธรรมประกอบอยู่ด้วย ในกรณีของคุณ Calas นั้นเป็นการทรมานอย่างโจ่งแจ้ง แต่กรณีของอากงนั้นเป็นการทำอย่างแฝงเร้นนั้นคือให้จำคุกเป็นเวลานานจนกระทั่งทนไม่ไหวก็ต้องยอมรับสารภาพเพื่อจะขอพระราชทานอภัยโทษ ในแง่ของความรุนแรงนั้นการจำคุกอากงเป็นเวลานานโดยไม่ให้ประกันตัวทั้งที่มีโรคมะเร็งก็เดาได้ว่าคงจะสร้างความความทุกข์ทรมานแสนสาหัสให้กับอากง อาจจะไม่ต่างกับการที่ คุณ Calas ถูกทรมานด้วยวิธีการป่าเถื่อนในศตวรรษที่สิบแปดของฝรั่งเศสนะครับ หรืออาจจะทรมานกว่าด้วยซ่ำเพราะต้องทนทุกขเวทนาอยู่เป็นเวลานานกว่า ประการสุดท้ายคือทั้งสองคนประกาศความบริสุทธิ์ของตนตลอดเวลาจนกระทั่งตาย

อย่างไรก็ตามก็ยังมีอีกอย่างที่(ยัง)ไม่เหมือนกันของคดีทั้งสองนั้นก็คือคุณ Calas นั้นหลังจากเสียชีวิตไปแล้วก็ได้รับการล้างมลทินโดยการตัดสินใหม่สามปีให้หลัง ทั้งนี้เป็นผลมาจากการรณรงค์ภายใต้การนำของ Voltaire ซึ่งเป็นนักคิดนักเขียนแถวหน้าของยุคนั้นนั่นเองครับ ผมเห็นว่าอากงก็ควรจะได้รับความเป็นธรรมในลักษณะเดียวกันก็คือผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลายน่าจะช่วยกันรณรงค์ให้มีการพิสูจน์หลักฐานให้แน่ชัดอีกครั้งว่าตกลงแล้วอากงไม่ได้ทำการส่งเอสเอ็มเอสอย่างที่ถูกกล่าวหา ดวงวิญญาณของอากงจะได้ไปสบายน่ะครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจอีกอย่างจากการอ่านเรื่องราวของคุณ Calas ก็คือความเชื่อในความดีของตนนั้นอันตรายจริงๆนะครับ ทั้งพระทั้งศาลในสมัยโน้นของฝรั่งเศสและสมัยนี้ของบ้านเราก็ต่างพร้อมที่จะ “ซัด” คนที่เขาเห็นว่าเลวให้เต็มที่ ความเชื่ออย่างที่สุดในความเห็นของตนทำให้ลืมมนุษยธรรมไปจนหมดสิ้น จะเห็นได้ว่าหนทางนี้ทำให้”คนดี”ฆ่าคนมามากเหลือเกินครับ สงครามและความรุนแรงทั้งหลายก็ล้วนแล้วแต่ถูกกระทำในนามของสิ่ง “ดีๆ”ทั้งนั้นนะครับ เช่น พระเจ้าบ้าง ศาสนาบ้าง ชาติบ้าง กษัตริย์บ้าง

แต่อย่างไรก็ตามผมขอปลอบใจตัวเองหน่อยว่าถ้าฝรั่งเศสสามารถค่อยๆกำจัดการกระทำอันโหดร้ายทารุณต่อเพื่อนมนุษย์ได้ในอดีต สังคมของเราเองก็อาจจะทำได้บ้างในที่สุด เรื่องนี้ยังคุยกันได้อีกนานนะครับ ในคราวต่อไปผมอยากจะพูดเปรียบเทียบภาพกว้างๆของยุคแสงสว่างในยุโรปและความเป็นได้ที่กระบวนการดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นในสังคมของเราครับ

ข้อเสนอเรื่องการแก้กฏหมายอาญา ม. ๑๑๒

เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีผู้คนเกือบสี่หมื่นคนเข้าชื่อกันเพี่อสนับสนุนร่างแก้ไขกฏหมายอาญา ม. ๑๑๒ ของนิติราษฎร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพลังประชาชนที่อยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นมีอยู่มาก คนที่ไม่ได้ส่งชื่อไปเพราะเหตุผลต่างๆนานาก็คงมีอีกมาก เพราะฉะนั้นคนที่เห็นด้วยจริงๆน่าจะมีอีกสักสองสามเท่าเป็นอย่างน้อยและตัวเลขก็น่าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆทุกวันๆ อย่างไรก็ตามผมคิดว่างานนี้คงไม่ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นทาง ครก.และนิติราษฏร์ควรเดินหน้าต่อไป เดินสายให้ความรู้ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดอยู่เรื่อยๆ ทั้งนี้ผมคิดว่าความสำเร็จสูงสุดมันอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้คนในสังคมมากกว่าตัวบทกฏหมายเสียอีก ถ้าแก้ความคิดคนได้ยังไงกฏหมายก็ต้องถูกเปลี่ยนแปลงไม่ช้าก็เร็วแต่ถ้าแก้ได้แต่ตัวกฏหมายแต่ความเห็นของคนทั่วไปยังคงเดิม กฏหมาย ”ล้าหลัง-ทาสศักดินา” เช่นนี้ก็อาจจะปรากฏตัวอีกครั้งก็ได้หลังถูกแก้ไปแล้ว ดังนั้นการทำงานระยะยาวต่อเนื่องจึงมีความหมายมากและไม่ควรถูกปล่อยให้ค่อยๆเลือนหายไป ไม่ว่าผลการแก้กฏหมายนี้ในระยะสั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม

ด้วยเหตุที่ชัยชนะยังอยู่อีกยาวไกลผมคิดว่าท่านทั้งหลายควรเน้นไปที่การรณรงค์ในระยะสั้นด้วย นั้นคือควรต้องให้มีการปฏิรูประบบราชทัณฑ์ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะออกกฏหมายให้มีการควบคุมพิเศษนักโทษคดีนี้ เช่นให้แยกขังต่างหากและไม่ต้องใช้โซ่ตรวน หรืออาจจะให้ไปขังปล่อยบนเกาะ(ผมนึกถึงกรณีเกาะตะรุเตา) ทั้งนี้โดยไม่ต้องแก้กฏหมายอาญา ม. ๑๑๒ เพื่อจะได้ลดแรงเสียดทานของฝ่ายไม่เห็นด้วยให้เหลือน้อยที่สุด และบรรเทาทุกข์ของผู้ต้องขังเป็นการเฉพาะหน้าไปก่อน ทั้งนี้มีอย่างน้อยสามเหตุผลที่น่าจะทำให้มาตรการลักษณะนี้ “ขายออก” กับทุกๆฝ่ายทุกๆสี กล่าวคือ

  • มันไม่ได้เป็นการแก้กฏหมายอาญา ม. ๑๑๒ โดยตรง เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็ไม่เสียหน้าที่ได้สัญญาไว้ก่อนหน้านี้
  • สำหรับพันธมิตรและผู้จงรักภักดีทั้งหลาย ท่านน่าจะพอใจที่การบรรเทาทุกข์ดังกล่าวน่าจะทำให้กระแสต่อต้านสถาบันลดคลายอุณหภูมิลง และคำตำหนิติเตียนจากต่างชาติก็น่าลดลงตามลำดับ
  • การบรรเทาทุกข์นี้ตรงกับหลักการที่ในหลวงก็ทรงมีพระกรุณาให้อภัยโทษนักโทษในคดีประเภทดังกล่าวในอดีต

แน่นอนข้อเสนอนี้เป็นการประนีประนอม ซึ่งโดยความหมายของมันก็แปลอยู่แล้วว่าไม่มีใครได้หมด ไม่มีใครเสียหมด แต่ได้กันคนละหน่อย นักโทษนั้นมีความสบายปลอดภัยขึ้นในขณะที่ก็ยังถูกจองจำ ฝ่ายเสรีนิยมก็ยังสามารถ(และควร)ที่จะรณรงค์ให้แก้กฏหมายต่อไปได้ ฝ่ายราชภักดิ์ก็น่าจะดีใจที่กระแสต่อต้านเจ้านายถูกลดความร้อนแรงลง ดังนั้นผมจึงคิดว่าข้อเสนอนี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างน้อยก็ในระยะสั้น

คุณทักษิณควรระวังเรื่องจังหวะ “ระบำปรองดอง”

ผมคิดว่าคุณทักษิณอาจจะสบประมาทชาวบ้านมากไปหน่อยโดยการเร่งเสนอ พรบ.ปรองดองเพื่อนิรโทษกรรมคดี คตส.และคดีการการปราบปราบผู้ชุมนุมในปี 2553 จริงอยู่คนเสื้อแดงทำอะไรก็สะดวกขึ้นในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เช่นการชุมนุมการจัดเสวนา ความปลอดภัยในการทำกิจกรรมต่างๆก็คงมีมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามในยุครัฐบาลคุณอภิสิทธิ์มวลชนเขาก็พิสูจน์มาแล้วว่าเขาพร้อมที่จะสู้เพื่อต่อต้านอำนาจนอกระบบถึงแม้ว่าจะไม่มีอำนาจรัฐคุ้มครอง เพราะฉะนั้นคุณทักษิณคงจะคิดผิดถ้าคิดว่ายังไงเสียคนเสื้อแดงก็คงไม่แยกตัวออกไปถ้าหากคุณทักษิณไปเกี๊ยเสี๊ยโดยการยอมให้พวกที่สั่งปราบปรามประชาชนต้องหลุดลอยไปเงื้อมมือของระบบยุติธรรม พูดง่ายๆคือว่า ณ ขณะนี้คุณทักษิณนั้นต้องการคนเสื้อแดงมากกว่าคนเสื้อแดงต้องการคุณทักษิณนั่นเอง จริงอยู่ในเสื้อแดงก็มีหลายกระแสและถ้าวันแตกหักมาถึงคงจะเป็นส่วนน้อยที่ถอยออกมาจากคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทย ถึงอย่างไรก็ตามการแยกตัวดังกล่าวก็น่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยอ่อนแอลงมาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าฝ่ายอำนาจเก่าก็ยังคุมอำนาจศาล ทหารและพรรคเล็กพรรคน้อยไว้ได้อย่างเหนี่ยวแน่น ทั้งนี้ตัวเลขในสภาในเมืองไทยเป็นดัชนีที่ไม่ได้สลักสำคัญเท่าไรเลยครับ ก่อนคุณทักษิณโดนรัฐประหาร รัฐบาลก็กุมที่นั่งในสภาล่างได้เกือบสี่ร้อยที่นั่ง แต่ก็ไม่อาจป้องกันอะไรได้เลย ดังนั้นคุณทักษิณจึงควรคิดให้รอบคอบเพราะมิเช่นนั้นอาจพลาดท่าให้อำมาตย์อีกได้ แล้วถ้าในอนาคตประชาชนเค้ามองย้อนกลับมาแล้วเกิดนึกขึ้นมาได้ว่าคุณทักษิณคิดถึงแต่เรื่องตนเองมากกว่าความยุติธรรมของผู้ที่สูญเสีย ตอนนั้นอาจไม่มีใครยอมออกมาพลีชีพปกป้องรัฐบาลเพื่อไทยก็ได้

ความเห็น

Submitted by รอยต่อ on

คุณทักษิณคิดให้ดี ตามที่บทความนี้เสนอ

คุณทักษัณต้องการเสื้อแดง หรือเสื้อแดงต้องการคุณทักษิณกันแน่?

หากคุณทักษิณเลือกหนทางที่ดูเหมือนง่าย อาจจะลำบากตอนหลัง

หากคุณทักษิณเลือกหนทางที่ยาก แต่มวลชนรองรับ ชัยชนะจะเกิดร่วมกันกับมวลชน

อีกแล้ว...โผล่ออกมาก็บอกว่ามีคนเสี้ยม

เสี้ยมหรือไม่เสี้ยม ขึ้นกับ 1. คุณทักษิณคิดจะเอาตัวรอดก่อน หรือให้คนที่ติดคุก ติดตะรางออกมาก่อน
และ 2. คิดแก้ไขกฎหมายต่างๆ อันส่งเสริม "มนุษย์" เช่นมาตรา 112

อย่าบอกว่าทุกอย่างต้องตามกระบวนการ
อย่าปฎิเสธว่า ที่ผ่านมาการต่อสู้ทั้งสองฝ่าย มีทั้ง "ใต้ดิน" และ "บนฟ้า" เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งนั้น

ว่าแต่คุณทักษิณจะสู้เพื่อตัวเองก่อน หรือสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้ก่อน

ประชาธิปไตยแท้เท่านั้น ที่จะรับประกันความกินดีอยู่ดีของประชาชนธรรมดา
ไม่ใช้ความปรารถนาดีของคุณทักษิณ ท่ามกลางโครงสร้างที่เห็นมนุษย์ไม่เท่ากัน

Submitted by Anarchist on

หัวข้อแรก.... แสดงว่าฝรั่งเศสทิ้งห่างทางความคิดจากเราไทยขื่นขันฯ ถึง 250 ปีเชียวหรือนี่

Submitted by Anarchist on

หัวข้อที่สอง อันนี้แน่นอน ครก. นิติราษฎร์และ ปชช. ผู้สนับสนุนแนวคิดต่างยืนยันว่าต้องดำเนินการต่อไปจนจะประสบความสำเร็จ

Submitted by Anarchist on

หัวข้อที่สาม ... สุดแท้แต่คุณทักษิณ และเพื่อไทยครับ ปชช. รู้ว่า ตนเป็นที่พี่งแห่งตน คุณทักษิณคือคนร่วมทาง ถึงทางแยกเขาแวะ ถึงที่หมายเขาหยุด เรื่องของเขา ... เรายังไม่ถึงปลายถึงต้องเดินต่อ

....เวลาเปลี่ยน ใจคนมีหรือไม่เปลี่ยน... ใช้ได้กับทุกคน ทุกกรณ๊

Submitted by Anarchist on

แก้คำผิด... เรายังไม่ถึงปลายทางต้องเดินต่อ

Submitted by น้ำลัด on

ข้อคิดเห็นในท่อนสุดท้ายของบทความ
เป็นเรื่องที่คุญทักษิณควรรับฟังความเห็น

แต่คุณทักษิณตัวแกเองก็ดื้อ ดันทุรังที่จะทำตามที่หวังไว้
ซึ่งก็คาดหวัง และทำพยายามทำอย่างนั้นมาเนิ่นนานตั้งแต่ก่อนจะถูกล้มแล้ว
ยอมทุกอย่างแล้ว...แต่ก็ยังโดนเล่นงานไม่หยุดหย่อน
ยอมแล้วยอมอีก ยอมเท่าไหร่ก็ไม่มีความหมายอันใด
เหตุผลง่ายๆ...เพราะอีกฝ่ายหนึ่งต้องการดำรงความศักดิ์สิทธิ์ของตนไว้

หากคุณทักษิณฉุกคิดสักนิดอดทนสักนิด คุณทักษิณจะซื้อใจคนได้มากขึ้น
แนวร่วมมหาศาลจะเกิดขึ้น และจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่แรงกว่าเดิม
แต่น่าเสียดาย...ที่ไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้...

Submitted by rainny on

ฉันชอบนิยมคนเสื้อแดง เคยนิยมทักษิณเพราะเห็นว่าเขาเป็นนายกคนเดียวที่ไม่มองข้ามคนจน และมีวิสัยทัศน์ ก้าวไกล ถ้าว่าเขาโกง นายกคนอื่นก็โกงเหมือนกัน ถามว่าถ้าเชียร์ เพราะทักษิณเพื่อทักษิณหรือไม่ก็ไม่ใช่หรอก ที่สู้เพื่อความถูกต้องตะหาก เพื่อความยุติธรรม เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง แต่ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง เคยเชียร์ จำลอง คิดว่าเป็นคนดีแต่ ปัจจุบันต้องรู้สึกเสียใจที่เชีนร์คนผิด จึงไม่อยากทำผิดอีก ไม่ยึดตัวบุคคลอีกต่อไป

ว่าด้วยการปิดประตูใส่หน้าผู้แทนพระองค์และประเพณีการกระชากประธานสภาในเมืองผู้ดี

เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองสองสามวันมานี้ทั้งที่อยู่ในและนอกสภาและทั้งที่มาจากศาลรัฐธรรมนูญทำให้ผมนึกถึงประเพณี “แปลกๆ” สองสามอย่างในสภาสหราชอาณาจักร (อังกฤษ ฯลฯ)*จะขอเล่าให้ฟังคราวๆดังนี้ครับ

เรื่องราวของ Jean Calas และข้อเสนอเฉพาะหน้ากรณีนักโทษคดีหมิ่น

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวที่มีความคล้ายคลึงกับกรณีอากง จะขอเล่าให้ฟังย่อๆดังนี้ครับ...

รำลึกสองปีเมษา-พฤษภาอำมหิต

“ให้นำคนผิดมาลงโทษ พอเถอะคะ ขอให้จบในยุคของพวกเรา ลูกหลานพวกเราจะได้ไม่ [ถูก] รักแก”

เจียม ทองมาก พูดถึงกรณีการปราบปรามผู้ชุมนุมปี ๒๕๕๓