“ความคมของฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” บทเรียนของพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตย

วิจักขณ์ พานิช
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

“ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” หรือ “ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน” คือ คำคมของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ที่ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนผ่านทางทวิตเตอร์ (Vajiramedhi) ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๓  หนึ่งวันก่อนเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว อันเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ต่อเนื่องไปสู่การสลายการชุมนุมครั้งใหญ่ในสมัยรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่สี่แยกราชประสงค์ จนทำให้มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย  สองปีผ่านไป “วรรคทอง”ดังกล่าวยังคงเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงและนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ ที่ยังคงตั้งคำถามถามถึงความเหมาะสมของข้อความที่ออกมาจากการคิดใคร่ครวญด้วยสติปัญญาของพระสงฆ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นที่ยอมรับสูงสุดรูปหนึ่งในหมู่คนชั้นกลางมีการศึกษาในปัจจุบัน

วิวาทะนี้ถือเป็นประเด็นทางสังคมที่ควรหยิบยกขึ้นมาเป็นบทเรียนและกรณีศึกษา เพื่อทำความเข้าใจในฐานะ “ปรากฏการณ์” อันสะท้อนถึงสถานะและบทบาทของคำสอนทางศาสนาที่มีต่อสังคม  อีกทั้งการมีส่วนร่วมของพุทธบริษัทที่เหลือ อันได้แก่ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา เพื่อจะนำไปสู่การอภิปรายถกเถียงถึงการวางตัวที่เหมาะสมของพุทธศาสนา ในฐานะรากฐานทางสติปัญญาให้กับสังคมไทยที่กำลังก้าวสู่ความเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 

ข้อความ “การฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน” ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในหน้าทวิตเตอร์ของ ว.วชิรเมธี

ข้อความ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ที่ถูกนำขึ้นทวิตเตอร์ในคืนวันที่ ๙ เมษายน ๕๓ และถูกลบออกไปในภายหลัง

“ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน?”

เหตุการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองที่เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ เริ่มส่อเค้าความรุนแรงเมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์  ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๓ กองกำลังตำรวจคอมมานโดเคลื่อนย้ายกำลังผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปยังภายในโรงพยาบาลตำรวจ และในช่วงบ่ายเริ่มมีการดันกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณประตูทางเข้าโรงพยาบาลตำรวจ ก่อนที่วันถัดไปทหารจะออกปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” ตั้งแต่บริเวณสะพานมัฆวานฯ ถนนดินสอ และสี่แยกคอกวัว จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก  นั่นคือบริบทของเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ที่แทบจะเรียกได้ว่าตึงเครียดถึงขีดสุดในคืนวันที่ ๙ เมษายน นั่นเอง ที่คำคมของว.วชิรเมธี  “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ได้ปรากฏบนหน้าจอทวิตเตอร์ของผู้ติดตามหลายหมื่นคน ซึ่งในภายหลังคำคมดังกล่าวได้ถูกถอดออก และปรับแก้เป็น “ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน” แต่ไม่ว่าเนื้อความจะเป็นเช่นไร หลังจากการปรากฏของข้อความนี้ ทำให้มีผู้ไม่พอใจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในฝั่งของผู้ชุมนุมเสื้อแดง ที่มองว่าข้อความดังกล่าว หากตีความในบริบททางการเมืองที่ตึงเครียดในขณะนั้น ย่อมหมายถึงการให้การสนับสนุนการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐในทางอ้อม

ภายหลังเหตุการณ์ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ท่ามกลางความเจ็บแค้นของผู้ชุมนุมที่ถูกทหารใช้อาวุธสงครามเข้าเข่นฆ่ากลางสี่แยกราชประสงค์ จนทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก  วรรคทอง “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” ถูกนำมากล่าวถึงอีกครั้ง โดยได้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” วรรคทองของพระกิตตวุฑโฒ ที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารจตุรัส ฉบับวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๙  ซึ่งต่อมาได้ถูกฝ่ายขวา อันได้แก่ นวพลกลุ่มกระทิงแดงในสมัยนั้น นำไปใช้เป็นวาทกรรม โจมตีฝ่ายซ้าย และยุยงให้คนไทยเกลียดชังนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำไปสู่การสังหารหมู่กลางเมืองในเหตุการณ์ ๖ ตุลา พ.ศ.๒๕๑๙

จตุรัส: การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือ คอมมิวนิสต์บาปหรือไม่

กิตติวุฑโฒ: อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคนเพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคน แต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

การฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศลเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ

ในแวดวงพุทธศาสนา บทเรียนสำคัญทางประวัติศาสตร์กรณีพระกิตติวุฑโฒอาจไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากนัก หากจะกล่าวถึงบ้างก็มักเป็นไปในทางการประณามตัวบุคคลว่ากิตติวุฑโฑเป็นพระเลวที่ไม่ควรได้ชื่อว่าเป็นพระ ทว่าในทางสังคมศาสตร์ นี่คือบทเรียนทางประวัติศาสตร์ราคาแพงที่สุดครั้งหนึ่ง ที่พุทธศาสนิกชนควรระลึกไว้เป็นข้อเตือนสติทุกครั้งที่พุทธศาสนาก้าวล่วงเข้ามามีบทบาททางสังคมและการเมือง การเพิกเฉยและมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ส่วนบุคคล โดยไม่ตั้งคำถามถึงเหตุปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สถานะและบทบาททางการเมืองของพระสงฆ์ในสังคมประชาธิปไตย โครงสร้างคณะสงฆ์ที่อิงแอบอยู่กับอำนาจรัฐและผลประโยชน์ทางการเมือง แนวโน้มการไม่ยอมรับให้มีการวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์โดยสาธารณชน และการขาดความรับผิดชอบทางสังคมของพระสงฆ์ในฐานะบุคคลสาธารณะ ฯลฯ   ก็ย่อมสนับสนุนให้เหตุการณ์แบบเดิมเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก ผลของคำคมของพระที่ได้ชื่อว่าเป็นปัญญาชนสาธารณะเหล่านี้อาจมีราคาแพงเกินกว่าที่ประชาชนคนธรรมดาจะจ่ายไหว

ความเหมือนและความต่างของ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” กับ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

การนำวรรคทอง “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ของว.วชิรเมธี ไปเปรียบเทียบกับ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ของพระกิตติวุฑโฒนั้น นัยหนึ่งอาจดูเป็นเรื่องรุนแรงเกินจริง  เพราะข้อความดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้เป็น “license to kill” หรือ ข้ออ้างในการฆ่าเหมือนในกรณี “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”  และจากคำอธิบายของว.วชิรเมธี “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ไม่ได้มีเจตนาที่จะแสดงนัยทางการเมือง ต่างจากกรณีกิตติวุฑโฒ ที่เป็นความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเปิดเผย  จึงอาจสรุปได้ว่า “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” เป็นเพียงข้อคิดเตือนใจลอยๆ ที่เผอิญถูกผลิตซ้ำออกมาในโลกออนไลน์ช่วงการสลายการชุมนุม อย่างไม่สอดคล้องกับกาลเทศะเท่านั้น

แต่ไม่ว่าเจตนาของว.วชิรเมธีในการสื่อสารข้อความนี้จะเป็นเช่นไร จะคำนึงถึงบริบททางการเมือง ณ ขณะนั้นหรือไม่ และไม่ว่าว.วชิรเมธีจะเป็นคนโพสต์ข้อความนี้ด้วยตนเองหรือไม่ นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับผู้ที่มองเห็นปัญหา เท่ากับการที่วลี “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ได้ปรากฏเผยแพร่อยู่บนหน้าทวิตเตอร์ของว.วชิรเมธีในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางสักขีพยานเป็น followers จำนวนนับหมื่นนับแสน ก่อให้เกิดการรับรู้ การตีความ และผลทางสังคมที่ตามมาไม่ว่าจะเป็น “like” “ถูกใจ” “สาธุ” “สะใจ” “แชร์นะคะ” “retweet” หรือสร้างความโกรธแค้น ไม่พอใจให้กับผู้รับสารกลุ่มหนึ่งที่มีชีวิตผูกโยงอยู่กับ “การฆ่า” ของเจ้าหน้ารัฐภายใต้บริบททางการเมืองอันร้อนระอุในขณะนั้น  เมื่อผลสะเทือนทางสังคมของคำคมดังกล่าวได้เกิดขึ้นและแพร่กระจายออกสู่สาธารณะไปแล้ว  ข้ออ้างที่ว่า “ศาสนาไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” หรือ “อาตมาไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” จะยังคงสามารถใช้อธิบายสถานะและบทบาทของ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” ในสังคมประชาธิปไตยได้อีกหรือไม่?

คำแก้ต่าง ข้อสงสัย และคำวิพากษ์วิจารณ์ยังคงเวียนวน ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ว่า สองปีผ่านไป ยังคงไม่มีการแสดงความรับผิดชอบ หรือคำขอโทษต่อสาธารณชนใดๆ จากปากของว.วชิรเมธี  

ธรรมะไม่มีบริบท?

“เวลามีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง สังคมก็จะมีพระกลุ่มหนึ่งทำบทบาทในแบบที่พูดง่ายๆ คือเหมือนพวกครีเอทีฟในวิชาโฆษณาทำกัน คือ ผลิตคำคมออกมาอธิบายปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนด้วยคำตอบง่ายๆ ...คำถามคือแล้วสินค้าหรือสิ่งที่พุทธศาสนาผ่านพระกลุ่มที่ทำให้ตัวเองเป็นสินค้ามีให้กับสังคม มันมีอยู่แค่นี้เองเหรอ อันนี้อาจมองเป็นปัญหาของพระเอง แต่ก็เป็นปัญหาของสังคมเองด้วย ที่ไม่ได้ต้องการคำตอบที่ลึกซึ้งกว่านี้แล้ว สิ่งที่คนในสังคมต้องการไม่ใช่คำตอบที่ลึกซึ้ง แต่เป็นคำตอบที่ง่ายๆ หรืออธิบายอะไรก็ตามในแบบที่คนพร้อมจะเชื่อ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, จาก “เสวนาพุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง”

ในบทสัมภาษณ์โดย นิตยสาร GM ตีพิมพ์ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๕๓  ว.วชิรเมธี ได้ชี้แจงถึงบริบทของคำสอน “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” โดยอธิบายว่า ตั้งใจยกตัวอย่างถึงองคุลีมาล เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจในเรื่องคุณค่าของเวลา  ซึ่งอาจตีความตามการอธิบายของว.วชิรเมธีได้ว่า การมองข้ามโอกาสที่จะสำนึกผิดขององคุลีมาลนั้น ย่อมนำไปสู่บาป (การฆ่าไม่มีที่สิ้นสุด) ยิ่งกว่าการฆ่าคนเพียงครั้งเดียว  “

จริงๆ แล้ว เรื่องนี้มันไร้สาระเสียจนอาตมาไม่อยากพูดอะไร อาตมากำลังสอนเรื่องคุณค่าของเวลา โดยยกตัวอย่างเรื่องราวขององคุลีมาลว่า พระองคุลีมาลฆ่าคนมาแล้ว 999 คน วันหนึ่งท่านพบกัลยาณมิตร คือพระพุทธเจ้า ท่านก็ได้มาบวช กลับตัวกลับใจ จนกลายมาเป็นพระอรหันต์ได้ สรุปได้ว่า องคุลีมาลยังกลับใจ แล้วคุณทำไมไม่กลับตัว นั่นคือเรื่องของการฆ่าคนยังมีโอกาสที่คนคนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เมื่อเขาสำนึกผิด แต่เวลาทุกวินาทีเมื่อมันไหลผ่านเราไปแล้ว มันจะผ่านเราไปครั้งเดียวเท่านั้น”

ว.วชิรเมธี, บทสัมภาษณ์ในนิตยสาร GM ธันวาคม ๒๕๕๓

ในการอธิบายเหตุผลและที่มาของคำคมดังกล่าว ว.วชิรเมธีเลือกที่จะอธิบายตัวเอง และติเตียนนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่ดึงเอาข้อคิดคำคมของตนไปอ้างอย่างผิดๆ โดยไม่รู้บริบท และนำไปโจมตีตนอย่างเสียๆ หายๆ เช่น “ไม่คำนึงถึงบริบทของคำสอน” “การสรุปที่ตื้นเขินและมักง่าย” เป็นต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ว.วชิรเมธีกลับไม่สนใจที่จะพูดถึงบริบททางสังคมและการเมืองในช่วงเวลาที่ข้อความดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ซ้ำบนอินเตอร์เน็ต คือ ๙ เมษายน ๒๕๕๓ เลยแม้แต่น้อย ซึ่งสำหรับผู้เขียน นั่นต่างหากที่เป็นต้นตอของปัญหา

คำว่า “ไม่มีบริบท” ของว.วชิรเมธี กับคำว่า “ไม่มีบริบท” ของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ ดูเหมือนจะเป็นคนละความหมายกันโดยสิ้นเชิง  สิ่งที่ว.วชิรเมธีให้ความสนใจ คือ “บริบทของคำสอน” ที่ตนเอง “หยิบยืม” มาใช้เพื่อการสื่อธรรมะเท่านั้น  แต่ปัญหาของนักวิชาการก็คือ ว.วชิรเมธี คำนึงถึงแต่บริบทของตัวเอง (หรือพูดง่ายๆ คือ เห็นแก่ตัว) โดยไม่ได้เคารพต่อ “บริบทของสังคมที่กว้างกว่าซึ่งเป็นผู้รับสาร” ซึ่งแน่นอนว่าย่อมรวมถึงผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทางการเมือง ณ เวลานั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   หรือเป็นไปได้ว่า ว.วชิรเมธีอาจไม่ได้ให้ความใส่ใจ หลงลืม หรือเพิกเฉยที่จะคำนึงถึงผู้รับสารบางกลุ่มโดยตั้งใจ ซึ่งในกรณีคือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกไปชุมนุมประท้วง และกำลังถูกปืนจ่อยิงอยู่กลางท้องถนน

จากข้อความข้างต้น คำอธิบายตัวเองของว.วชิรเมธีกลับยิ่งแสดงให้เห็นถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของปัญญาชนสาธารณะท่านนี้ ต่อปรากฏการณ์ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” มากขึ้นไปอีก  ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ในฐานะครูบาอาจารย์ “อริยบุคคลร่วมสมัย?”  และพระปัญญาชนที่ได้รับการยกย่องนับถือมากที่สุดคนหนึ่งในสังคมไทย เขาไม่เคยออกมาประณามการที่รัฐใช้กำลังทหารเข่นฆ่าประชาชนเลยแม้แต่ครั้งเดียว 

ตรรกะแบบ “ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน”

“ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน” ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวของคำคมที่มีลักษณะกำกวมในแง่การตีความ ซึ่งว.วชิรเมธีสื่อสารต่อสาธารณะผ่าน social media  ตรรกะคำคมลักษณะเดียวกันกับ “ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน” ยังปรากฏซ้ำๆ ในลักษณะกึ่งคมคาย กึ่งเตือนสติ กึ่งกระตุกใจหลายต่อหลายครั้ง เป็นที่น่าสังเกตว่าคำคมของว.วชิรเมธี มีลักษณะของการกระตุกใจ ด้วยการใช้ตรรกะแบบข้ามช่วงตรรกะ (ไม่ใช่ข้ามพ้นตรรกะ) (จาก A to B ,  B to C   จับต้นชนปลายเป็น A to C)  และการละรายละเอียดของบริบท (“ของตน” ไว้ในฐานที่เข้าใจ)  ให้คำคมมีลักษณะกำกวมหรือคลุมเครือ  หรือเหมารวมบริบท (generalization) เพื่อรวบยอดเป็นคำคมสั้นๆ หรือปริศนาธรรม ให้ชวนคิดและติดตาม หรือเพื่อให้ดึงดูดความสนใจของผู้ฟังว่าพระนักคิดนักเขียนท่านนี้กำลังหมายถึงอะไร   

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคำคม ดังต่อไปนี้

·        ฟังเสวนาธรรมพิเศษ โดยท่านพระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) และคุณมีสุข แจ้งมีสุข หัวข้อ “ขยายพื้นที่ของความดี กระชับพื้นที่แห่งความชั่ว” เวลา 12.45-14.30 น. วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2553 ณ เวที Innovative Stage Hall 1 รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ภายในงาน SET in the City กรุงเทพมหานคร 2010

·        ชาวตะวันตกสอนให้อยากอย่างอิสระ แต่พุทธศาสนาสอนให้เป็นอิสระจากความอยาก [ facebook 1 มี.ค. 54 / 5192 like ]

·        เวลากินส้มเรายังรู้จักคายเมล็ด เวลากินปลาทูเรายังรู้จักหลีกเลี่ยงก้าง เวลามีความรักเราควรที่จะเลือกทิ้งสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ [ facebook 2 ก.พ. 54 / 10469 like ]

·        คนส่วนใหญ่เรียกร้องสิทธิมนุษยชน แต่คนมีปัญญาเรียกร้องสิทธิ์ที่จะไม่ทุกข์  [ facebook 25 พ.ย. 54 / 5587 like ]

·        ภรรยาคือของขวัญ อย่าปล่อยให้พลิกผันกลายเป็นกระสอบทราย  [ facebook 25 พ.ย. 54 / 8909 like ]

ลักษณะคำคมที่ใช้การจับต้นชนปลายที่ต่างบริบทกันเช่นนี้ มีลักษณะสำคัญร่วมกันประการหนึ่ง คือการปฏิเสธนัยสำคัญของบริบทแบบโลกย์ๆ หรือการนำคุณค่าในบริบทหนึ่งแสดงความเหนือกว่าหรือยกข่มคุณค่าในอีกบริบทหนึ่ง ตัวอย่างเช่น

“ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” เป็นคำคมที่ประกอบด้วย “องคุลีมาลฆ่าคนเป็นบาป” แต่ “คนบาปยังมีโอกาสกลับตัวกลับใจได้”  และ“การปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยไม่กลับตัวกลับใจ ย่อมเท่ากับการทำบาปไปเรื่อยๆ” นำสามประโยคมาผูกรวมกันแล้วตัดบริบทออกให้เป็นปริศนา เหลือแค่ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน”  ซึ่งแน่นอนว่า หากผู้รับสารกำลังจะถูกกำลังทหารของรัฐฆ่าอย่างไม่ปรานี ย่อมไม่รู้สึกถึงความลุ่มลึกของคำคมนี้เป็นแน่

หัวข้องานเสวนา “ขยายพื้นที่ความดี กระชับพื้นที่ความชั่ว”  เป็นอีกครั้งที่แทบจะไม่ต่างกับกรณี “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ซึ่งครั้งนี้เป็นงานเสวนาธรรมที่จัดขึ้นที่สยามพารากอนในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการรำลึก ๖ เดือนเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ในปลายปี ๕๓  โดยนำเอาวลี “กระชับพื้นที่” อันลือลั่นของ ศอฉ. มาผูกกับ “ทำความดี ละเว้นความชั่ว” อาจเป็นไปได้ว่าผู้จัดงานอาจนึกสนุกอยากสร้างความดึงดูดใจให้มีผู้มาร่วมฟังธรรม ที่อาจรู้สึกเบื่อ เหนื่อยหน่าย หรือตึงเครียดกับการเมือง อย่างที่ไม่ต้องคำนึงว่าข้อความเก๋ไก๋ ดึงดูดใจอย่างคำว่า “กระชับพื้นที่” จะมีผลต่อความรู้สึกของใคร เช่นไรบ้าง เรียกได้ว่านอกจากจะแสดงออกถึงความไร้หัวใจ และไม่แยแสต่อครอบครัวและญาติมิตรของผู้คนจำนวนมากที่บาดเจ็บล้มตาย อันเป็นผลจากถ้อยคำประดิษฐ์ดังกล่าวแล้ว ยังเลือดเย็นมากพอที่จะเหยียบย่ำซ้ำเติม ด้วยการหยิบยืมวลีดังกล่าวมาใช้เป็นชื่อกิจกรรมเผยแผ่ศาสนา เพียงเพื่อเป้าหมายให้เกิดความรู้สึก โดนใจ! ทันสมัย! และ เข้ากับสถานการณ์! 

“ชาวตะวันตกสอนให้อยากอย่างอิสระ แต่พุทธศาสนาสอนให้เป็นอิสระจากความอยาก” 

คำคมนี้ก็เช่นเดียวกัน ประกอบด้วย “วัฒนธรรมตะวันตกสอนให้คนเป็นอิสระ” “พุทธศาสนาก็สอนให้คนเป็นอิสระ” และ “พุทธศาสนาสอนให้คนเป็นอิสระจากความอยาก” สามข้อความนี้ถูกผูกเข้าด้วยกัน โดยใช้บริบทที่ “เหนือกว่า” ของคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นบริบทหลัก คือ “พุทธศาสนาสอนให้เป็นอิสระจากความอยาก” และลดทอนนัยสำคัญของข้อความแรก อย่างที่ไม่ต้องคำนึงว่าชาวตะวันตกจะมีความคิดเห็นอย่างไรกับการถูกเหมารวมแบบนี้ และเอาเข้าจริงผู้พูดนั้นเข้าถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนชาวตะวันตกอย่างถ่องแท้จริงๆ หรือไม่

คำสอนจากหนังสือ “อริยสัจ today” โดย ว.วชิรเมธี ที่ล่าสุดโพสต์ลงเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ และได้รับการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง

ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาจากคำคมโดนใจ(อย่างประหลาด) ที่มีอยู่มากมายบนหน้า social media อันเป็นที่นิยมชมชอบของผู้ติดตามจำนวนมาก (ปัจจุบันว.วชิรเมธีมีแฟนเพจบนหน้า facebook ประมาณ 820,000 likes และประมาณ 560,000 followers ใน twitter) เป้าหมายของคำคมเหล่านี้ คือ “โดนใจ” (ที่หากสังเกตในบาง comment จะมีคนบางกลุ่มที่เข้ามาร่วม “สะใจ” แถมด้วย)  ทว่าหากผู้รับสารเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ถูกเหมารวม ถูกกระทำ หรือถูกเพิกเฉย  ภาวะ “โดนใจ” จากคำคมเหล่านี้ คงทิ่มแทง เหยียบย่ำ ซ้ำเติม บาดลึก และนำมาซึ่งความเจ็บปวดต่อผู้คนเหล่านั้นไม่น้อย 

และที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ ตรรกะแบบข้ามช่วงตรรกะ อันมีลักษณะละเลยรายละเอียด ตัดสินถูกผิดอย่างสุดโต่ง ไม่เคารพประสบการณ์แบบโลกย์ๆ และเหมารวมคุณค่าโดยเอาหลักศาสนาเป็นที่ตั้งและเกราะคุ้มกันตนเช่นนี้ ได้แพร่หลายออกไปในหมู่คนที่สนใจศึกษาธรรมะแบบ “ลัดสั้น” “โดนใจ” “ใช่เลย” จนเริ่มก่อรูปเป็นระบบคิดกระแสหลักทางศาสนาในหมู่คนชั้นกลางมีการศึกษา ที่ปัญญาคือการรับเอาชุดความคิดสำเร็จรูป มาเทศนาสั่งสอนกันอย่างที่ไม่มีพื้นฐานของการใช้วิจารณญาณ  การเปิดใจต่อความเห็นที่แตกต่าง การเคารพประสบการณ์ของผู้อื่น จนกระทั่งกลายเป็นภาวะลอยนวลอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อทุกขสัจจ์ที่มีอยู่ในสังคมเอาเสียเลย

ศรัทธาในตัวคำสอน หรือ ศรัทธาในสถานะ?

“ทุกคนในประเทศนี้ยิ่งเป็นคนใหญ่คนโตมากเท่าไหร่ ยิ่งมีบทบาททางสังคมมากเท่าไหร่ ยิ่งได้รับความเชื่อถือมากเท่าไหร่ ยิ่งมีต้นทุนทางสังคมในฐานะที่เป็น role model ของสังคม ยิ่งต้องถูกตั้งคำถาม ยิ่งจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าคนปกติ  สมมติว่าดาราคนนึงพูด กับว.วชิรเมธีพูด อะไรจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน ว.วชิรเมธีย่อมมี impact ต่อสังคมมากกว่า เพราะฉะนั้นคำพูดของว.วชิรเมธีจึงควรได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าคำพูดของดาราสักคนหนึ่ง  ...สมมติ ว.วชิรเมธีบอกว่า “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” อันนี้เราก็ต้องเอาไปถกเถียงกัน ว่าพูดในบริบทไหน ในความหมายยังไง แล้วพูดบนฐานของปรัชญาแบบไหน ดิฉันคิดว่ามันผิดฝาผิดตัว คิดว่าแกมีปัญหาในทางตรรกะ ในการเปรียบเทียบอะไรแบบนี้”

คำ ผกา, คลิปสัมภาษณ์ทาง voice tv

“แต่ก็มีนักวิชาการ ซึ่งคงจะอยากงับอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วก็ไปเล่นงานใครสักอย่างหนึ่ง สอยเอาบางท่อนบางประโยคไป แล้วก็ไปบอกว่า ว.วชิรเมธี เห็นดีเห็นงามกับการฆ่าคนของรัฐบาล อาตมาได้อ่านนักวิชาการสรุปเช่นนี้แล้วก็เห็นว่า ทำไมนักวิชาการเดี๋ยวนี้ทำงานกันง่ายจังเลย คุณไม่ลองคิดดูหรือว่า พระรูปหนึ่งที่บวชมาตั้งแต่อายุ 13 จบเปรียญธรรม 9 ประโยค ฝึกปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ไม่เคยมีประวัติเห็นดีเห็นงามกับการฆ่าคน จู่ๆ จะลุกขึ้นมาบอกว่าการฆ่าคนเป็นสิ่งที่ดี มันเป็นการสรุปที่มักง่ายจนอาตมาไม่อยากจะไปใส่ใจ”

ว.วชิรเมธี, บทสัมภาษณ์ในนิตยสาร GM ฉบับธันวาคม ๒๕๕๓

นอกจาก ว.วชิรเมธี จะไม่ได้เข้าใจสาเหตุของความไม่พอใจต่อสถานะของคำคมลัดสั้นที่ลอยอยู่เหนือบริบททางสังคมและการเมือง โดยจะเห็นได้จากการละเลยการตระหนักถึงกาละ และเทศะของข้อความ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” หรือ “ขยายพื้นที่ความดี กระชับพื้นที่ความชั่ว” ฯลฯ และเพิกเฉยต่อการคำนึงถึงความรู้สึกไม่พอใจของผู้รับสารบางกลุ่มที่อาจรู้สึกเจ็บปวดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความคมของถ้อยคำเหล่านั้น ว.วชิรเมธียังติเตียนนักวิชาการทางสังคมศาสตร์ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยอ้างถึงความบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนาและสถานะความเป็นพระสงฆ์ผู้ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยของตนเอง 

การตอบโต้ด้วยการอิงแอบอยู่กับสถานะที่สูงกว่าของพระสงฆ์ และความบริสุทธิ์ดีงามของคำสอนทางพุทธศาสนาเช่นนี้ ยิ่งไปสนับสนุนแนวโน้มที่พุทธศาสนาในปัจจุบันถูกครอบงำโดยวิธีคิดแบบ “อำนาจนิยมความดี” ที่ไม่เปิดรับต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ คำตักเตือน และความคิดเห็นที่แตกต่าง บุคลากรที่อยู่ในโครงสร้างศาสนากระแสหลักปฏิเสธการปรับบทบาท และการวางตัวให้เหมาะสมในสังคมแบบประชาธิปไตย พระสงฆ์โดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะผูกยึดสถานะ ชื่อเสียง การเป็นที่ยอมรับ และผลประโยชน์ของตนกับโครงสร้างสังคมแบบศักดินาที่ได้มอบอำนาจ ความศักดิ์สิทธิ์ และสถานะอันบริสุทธิ์สูงส่งแก่พวกเขา พุทธศาสนากำลังใช้เสรีภาพอันไม่เท่าเทียมในสังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆ เผยแผ่ตัวเองในลักษณะ “อบรมสั่งสอนทางเดียว” โดยที่คำสอนอันประเสริฐดีอยู่แล้วเหล่านั้น ไม่ได้เปิดกว้างต่อการวิเคราะห์ ถกเถียง หรือการวิพากษ์วิจารณ์เหมือนงานวิชาการทั่วไป  ตรงกันข้ามกลับถูกหล่อเลี้ยงด้วยศรัทธางมงายในลัทธิบูชาตัวบุคคล  สถานะเป็นที่เคารพบูชาของพระสงฆ์ที่ทำอะไรก็ไม่ผิด พูดอะไรก็ไม่ผิด ผนวกกับภาพลักษณ์ความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของพระศาสดา ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของพุทธศาสนา หรือการมีอำนาจ “เหนือ” การเมืองหรือ “เหนือโลกย์” อย่างอิงแอบอยู่กับอำนาจรัฐและความเป็นสถาบันหลักของชาติ  ซึ่งนั่น ถือเป็นสัญญาณอันตรายของความวิปริตผิดเพี้ยนของพุทธศาสนาที่กำลังพัฒนาไปสู่ความเป็น ฺBuddhist Fundamentalism อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้

บทสรุป “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน”

พุทธธรรมคำสอน แม้ได้รับการยกย่องว่าเป็นอกาลิโก นำไปใช้ได้ ปฏิบัติได้ไม่จำกัดการ แต่นั่นย่อมเป็นคนละเรื่องคนละความหมายกับคำว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” หรือ “ไม่มีกาลเทศะ” ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นพระหรือฆราวาส เมื่อได้รับการยอมรับนับถือจากสาธารณชนว่าเป็นผู้ให้แสงสว่างทางปัญญา ย่อมต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมต่อสิ่งที่ตนพูดหรือสิ่งที่ตนเขียนมากตามไปด้วย

ตราบใดที่การสื่อสารธรรมะทางเดียวยังคงดำเนินต่อไปในลักษณะเพิกเฉยต่อบริบทความทุกข์ที่หลากหลายของผู้คนในสังคม อีกทั้งโครงสร้างพุทธศาสนาแบบไทยๆ ยังวางตัวอิงแอบอยู่กับอำนาจรัฐด้วยภาพลักษณ์วาทกรรม “ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” จนบ่อยครั้งกลายเป็นอำนาจมืดที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้  คำคมอย่าง “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” หรือความคิดเห็นแปลกๆ ที่ขาดการเข้าใจบริบททางสังคมอย่างรอบคอบ ก็จะยังคงปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ เรื่อยไป  และแน่นอนว่าคำสอนเหล่านั้น เมื่อปรากฏต่อสาธารณชน ย่อมหนีไม่พ้นการถูกโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์  ส่วนการพยายามอธิบายเหตุผลที่มาของข้อความเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการยกสถานะอันเป็นที่สักการะของพระสงฆ์ หรือความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากการเมืองของคำสอน ก็ยิ่งจะแสดงถึงอวิชชา ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอันซับซ้อน และการพยายามปัดความรับผิดชอบที่ข้อความอันมักง่ายเหล่านั้นมีผลกระทบต่อคนเล็กคนน้อยในทางสังคม  

ในกรณีของว.วชิรเมธี ยังถือเป็นเพียงแค่การพยายามอธิบายตัวเอง และไม่เปิดรับต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการอ้างถึงประวัติ การศึกษา และสถานะของพระสงฆ์ที่สูงกว่าและบริสุทธิ์กว่าคนทั่วไป ซึ่งหากเป็นในกรณีของสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือองค์กรมหาเถระสมาคม เราคงได้เห็นตัวอย่างของการใช้วิธีการที่เหนือชั้นยิ่งกว่า ดังตัวอย่างที่ปรากฏในเหตุการณ์การใช้อำนาจมืดเข้ากดดันให้พิธีกรรายการคิดเล่นเห็นต่าง ออกมาขอขมาพระรัตนตรัยและแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะด้วยการพักการออกอากาศเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม อย่างที่ไม่สนใจต่อเนื้อหาคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อนโยบายการสวดมนต์ข้ามปีราวกับยากล่อมประสาทว่าเป็นความจริงหรือไม่   ปฏิกิริยาทั้งหมดยิ่งสะท้อนถึงแนวโน้มเผด็จการ “อำนาจนิยม” ของพุทธศาสนาในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการร่วมรักษาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ไว้โดยรู้ตัวก็ดีหรือไม่รู้ตัวก็ดี 

ภารกิจการเผยแผ่ศาสนาของพระสงฆ์นั้น แม้เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนพึงสนับสนุน  แต่หากอยู่นอกเหนือเรื่องนามธรรมของจิตใจ อีกทั้งมีความเกี่ยวพันอยู่กับวิถีชีวิตทางโลก หลักการ ความเชื่อ ศีลธรรม จริยธรรม สังคม การเมือง กฏหมาย และวัฒนธรรมของคนในสังคมโดยตรงแล้ว กิจกรรมและการเผยแผ่ธรรมเหล่านั้นย่อมไม่อาจตั้งตนอยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ หรือเสียงสะท้อนจากผู้คนในสังคมได้  นี่คือความสัมพันธ์อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสื่อสารและเรียนรู้กันอย่างเท่าเทียมระหว่างพุทธบริษัทสี่ อันจะทำให้พุทธธรรมเป็นรากฐานทางปัญญา และเกื้อหนุนให้เกิดเสรีภาพและภราดรภาพแก่ผู้คนในสังคมอย่างแท้จริง

การจะตระหนักถึงผลทางสังคมของคำคมมากมายที่ว.วชิรเมธี ได้สื่อสารต่อสาธารณชนผู้รับสาร มีเพียงทางเดียว คือ การเปิดกว้างต่อทุกเสียงตอบรับ ทุกความคิดเห็นทั้งทางตรงและทางอ้อม เปิดกว้างต่อการวิพากษ์วิจารณ์ และรับผิดชอบต่อทุกข้อความที่สื่อสารออกสู่สาธารณะ  โดยเฉพาะกรณี “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน”  การออกมาแสดงความรับผิดชอบ การยอมรับถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมถึงการแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่งดงามยิ่งกว่าการพยายามปกป้องตัวเอง หรือการฆ่าเวลาให้ผ่านเลยไปโดยไม่ทำอะไรเลย 

และนั่นอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นและแบบอย่างอันน่ายกย่องของบทบาททางสังคมของพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตยก็เป็นได้
_______________________

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณ อ.วันรัก สุวรรณวัฒนา สำหรับข้อคิดเห็นและ feedback อันเป็นประโยชน์ต่อบทความชิ้นนี้ 

ความเห็น

Submitted by จันทร์แสงนวล on

อยู่ในใจเสมอ..

ปานาติปาตา เวรมณี สิกขา ปะทัง สมาทิยามิ

ห้ามฆ่าสัตว์.. แม้แค่คิดอยาก ทำร้ายผู้อื่น ก็ไม่บริสุทธิ์แล้ว..

.. ข้าฯน้อมรับคำสอนแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเพียงพระองค์เดียว ..

Submitted by zsecertservice. on

ความขัดแย้งฯของวิสัยทัศน์ ที่แตกต่างฯ..
มนุษย์ปุถุชนฯ ฝ่ายหนึ่ง มีวุฒิภาวะฯสูงสุดที่ ระดับทางตรรกศาสตร์+ปรัชญาฯ+ความเท็จ-จริง+ฯลฯ..
นักศึกษาทางพุทธศาสตร์ท่านหนึ่ง ผ่านวุฒิภาวะแบบฝ่ายแรกเพียง ๑๓ปี... แต่ผ่านการเรียนทฤษฎี-ตำราฯของพุทธศาสตร์ขั้นสูงสุดตามหลักสูตรฯคณะสงฆ์ไทย และอยู่ระหว่างการฝึกฝน-ปฏิบัติกิจวัตรพุทธสาวกฯ..
ความขัดแย้งฯ-อุปัทวะฯ เกิดขึ้นเพราะความคิดรวบยอดฯสวนทางกัน..
..การชี้แนะฯ-ออกมาเผชิญหน้าความจริง-การตรวจสอบ สืบสวน สอบสวน ไต่สวน ซักค้าน ฯลฯ ทุกรูปแบบฯ ที่จะนำความจริง-สัจจธรรมชาติ ของบรมศาสดาฯให้ปรากฎชัดแจ้งฯ ต่อผู้มีข้อสงสัยฯ ที่ปราถนาความจริงอันเป็นบาทฐานสู่สัจจธรรมฯ(ชาติ) ต่อไป..
... ???...

Submitted by กูเองหละ on

ลองจินตนาการกันดูว่า หากท่าน ว. ชัชรเมธี

ผู้อ้างตนว่าดั่งฉายา นักปราชญ์สายฟ้า ได้ฝึกเจริณ "สติ" บ้าง

ท่านคงใช้ความโด่งดัง ชื่อเสียง ที่ท่านมีทำงานเผยแผ่ศาสนาในวงกว้างได้ดีกว่านี้ มีประโยช์และคุณภาพดีกว่านี้

แต่นี่ท่านเซอะ ๆ ปั้ม ๆ เป๋อ ๆ ปล่อยไก่ให้เขาด่าได้ตลอด เพราะคาดสติ ในการจะคิด จะพูด จะทำ สิ่งต่าง ๆ ผลที่ตามมาคือเขาด่าท่าน ด่าความคิดท่าน พาลมองพุทธศาสนานี้ด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ดีไปด้วย

ถ้าท่าน ว. ได้อ่าน ขอกราบอาราธนานิมนต์ท่านฝึกสติเยอะ ๆ อย่ามัวแต่ทำเท่เวลาออกสื่อ

เจริญพวง ....

Submitted by รักเสื้อเหลือง on

ตกลง ประโยคนี้ผิดหรือถูก

โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่า ท่าน ว. ไม่น่าจะพูดผิด ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยกว่าฆ่าคน

เพราะ องคุลีมาลฆ่าคนมามากมาย แต่ในที่สุด เมื่อใช้เวลาเป็น ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

เราไม่เคยฆ่าคน แต่ เอาแต่ฆ่าเวลา จึงไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เรียกว่ามีบาปมากกว่า พระองคุลีมาล ที่ท่านมีบุญยิ่งกว่าเราได้เป็นถึงพระอรหันต์ แม้ท่านจะเคยฆ่าคนมาแล้วมากมาย

ถ้าฆ่าคนบาปยิ่งกว่า ฆ่าเวลา งั้น ท่านองคุลีมาล ก็ต้องเป็นคนบาปยิ่งกว้่าเรา เรามีบุญยิ่งกว่าพระอรหันต์เพียงเพราะเราไม่ฆ่าคน จริงไหม

ผมไล่ตรรกะตามที่ท่าน ว. ว่า ผมก็ไม่เห็นว่าท่านพูดผิดยังไงนะครับ

เอาเป็นว่า วิธีที่จะชี้ให้เห็นว่าท่านว.ผิดนั้น คุณต้องพิสูจน์ มาก่อนว่า ประโยคนี้ ผิด ไม่ต้องไปไล่บริบทอะไรให้ยุ่งยาก เพราะท่าน ว. ท่านแค่อธิบาย เหตุผลของประโยคนี้ ไม่ได้อ้างบริบท

คุณแค่หาหลักการในศาสนาพุทธ (ต้องศาสนาพุทธ เพราะท่าน ว. ท่านเป็นพระ ท่านมักจะอ้างหลักการของพุทธ) อาจจะเป็นพระสูตร หรือพุทธวจน หรืออะไรๆ ก็ได้ในพระไตรปิฎกมาดูว่าตรงไหนบ้าง กล่าวขัดแย้งกับคำพูดท่าน ว. เพียงแค่นี้ ก็จบ แต่ถ้าหาไม่เจอ แล้วคุณเอาแต่ด่าว่าท่าน ว. แล้วใช้อคติส่วนตัวบ้าง ใช้แนวคิดส่วนตัวบ้าง ใช้แนวคิดแบบอื่นๆ นอกศาสนาพุทธ คุณก็หักล้างการทำหน้าที่ท่าน ว. ไม่ได้ เพราะท่านเป็นพระ ท่านทำหน้าที่ของท่าน ตามหลักการของท่าน

บางทีเราจะได้มีความเข้าใจในศาสนาของเราได้ดียิ่งขึ้น จะได้หายสงสัยเสียทีว่าสอนอะไรกันแน่ จริงไหม.

Submitted by น้ำลัด on

ถ้าจะคิดกันง่ายๆ ตรงไปตรงมา

การห้ามฆ่าสัตว์ เป็นศีลข้อแรก
ศีลข้อนี้ก็น่าจะมีความสำคัญในอันดับต้นๆ
และแต่ละข้อก็น่าจะถูกลดหลั่นความสำคัญลงไปตามลำดับ
เหมือนลำดับความสำคัญของ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์หรือเปล่านะ

หากลำดับความสำคัญของศีลมีจริง...ความหมายของท่านว.วชิรเมธี
ท่านคงจะยกให้การห้ามฆ่าเวลาเป็นศีลข้อแรก แทนการห้ามฆ่าสัตว์เลยละมั้ง

Submitted by น้ำลัด on

ผมเคยถกเถียงกับคุณรักเสื้อเหลือง ซึ่งผมรู้สึกว่าท่านเป็นผู้ที่มีความรู้มากในพุทธศาสนาคนหนึ่ง
แต่ท่านกลับมองว่าศาสนาไม่ได้มีไว้เพื่อแก้ปัญหาสังคม ผมก็คงไม่ไปขัดใจอะไรท่าน แต่ผมก็งุนงงไม่น้อย

ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมก็จะลองเปลี่ยนศีลห้าดู ให้เป็นลักษณะปัจจกปัจเจกบุคคลอะไรนั่น ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น

1 - พึงละเว้นจากการฆ่าตนเอง
2 - พึงละเว้นจากการขโมยของตนเอง
3 - พึงละเว้นจากการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง
4 - พึงละเว้นจากการโกหกตนเอง
5 - พึงละเว้นจากการดื่มเครื่องดองของเมา

เอ...มันจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่านะ...

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

เขาไม่เรียกว่า "เหตุผลวิบัติ" (fallacy) ไม่ใช่ตรรกะที่สมเหตุสมผลอะไรหรอก

คำว่า "ฆ่าเวลา" ในภาษาที่เข้าใจกันทั่วๆไปไม่บาปหรอกครับ จะบาปหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าคุณฆ่าเวลาด้วยการทำอะไร เช่น ผมฆ่าเวลาด้วยการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง หรือไปเดินเล่นชายหาด ฯลฯ มันไม่เกี่ยวกับบุญหรือบาปอะไร แต่ฆ่าคนบาปแน่นอน

คำสอนที่ว่าอย่าปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ หรือวันคืนล่วงไปๆบัดนี้เราทำอะไรอยู่ เป็นคำเตือนสติให้รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ถ้าปล่อยเวลาไปเปล่าๆไม่ทำประโยชนืก็คือไม่เกิดประโยชน์เท่านั้นเอง ไม่บาปอะไรเลย ยกเว้นว่าเอาเวลาไปทำบาป เช่นไปฆ่าคน ฯลฯ

ฉะนั้น "ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน" จึงเป็นคำประดิษฐ์ที่ไม่ make sense ไม่สื่อความหมายตามคำของพุทธะที่ ว.ยกมาอ้างเลย

ยิ่งไปอ้างองคุลีมาลย์ฆ่าคนมามากยังได้บรรลุอรหันต์ เพื่อสรุปว่า "ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน" ยิ่งแสดงให้เห็นความเพี้ยนสุดๆ ของการอ้างเหตุผลแบบจับแพะชนแกะ

และยิ่งเสนอออกมาในบริบทการสลายการชุมนุม ก็ยิ่งแสดงถึงทั้งความสิ้นคิด ขาดสติ หรือถ้าพูดภาษาธรรมคือ ขาดปัญญาและการุณยธรรมอย่างยิ่ง!

นี่ไม่อยากแสดงความเห็นหรอกนะ แต่รำคาญ "การโชว์โง่ซ้ำซาก" ของ "คนรักเสื้อเหลือง" ว่ะ

Submitted by รักเสื้อเหลือง on

คุณน้ำลัด

ข้อแรกเลย ผมไม่ได้บอกว่า ศาสนาไม่ได้มีไว้เพื่อแก้ปัญหาสังคม นะครับ อย่างอนุโลม ก็อาจพูดว่า ผมพูดว่า ศาสนาพุทธไม่ได้มีไว้เพื่อแก้ปัญหาสังคม จะถูกต้องกว่า ซึ่ง ที่จริงแล้ว ผมบอกว่า พระพุทธเจ้าบอกว่า ศาสนาพุทธนี้ มีเพื่อความดับทุกข์ ทุกข์ อันเกิดจาก ชาติ ชรา มรณะ เหตุนี้แหละ โลกจึงต้องมีศาสนาพุทธ ซึ่งก็ชัดเจนว่า ไม่ได้เอ่ยถึงสังคม แต่ช่างมันเถอะ เรื่องเล็กๆน้อยๆ

ประการต่อมา ผมว่าการปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธนี้นั้น คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ก็คือตัวเราเองนะครับ เพราะถ้าเราปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ คนที่จะบรรลุธรรมก็คือตัวเรา ได้เป็น พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ส่วนสังคม ก็ยังคงเหมือนเดิม มีการฆ่ากัน เบียดเบียนกัน อยู่ตามปกติ เพราะเป็นธรรมชาติ ธรรมดา ของโลก สังคมจะดีขึ้น หรือเลวลง ไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ ถ้าคุณยังจำได้ เราเคยพูดถึงเรื่องศีลข้อห้ามาแล้ว ที่มีสถิติว่า คนไทยดื่มเหล้ามากจนติดอันดับโลก ทั้งๆที่นับถือศาสนาพุทธ และศีลข้อห้าก็ห้ามดื่มสุราเมรัย ทำให้เห็นได้ชัดว่า สังคมจะสงบสุขหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับหลักการในศาสนา เพราะศาสนาไม่ได้มีอำนาจจะไปบังคับให้ใครทำหรือไม่ทำอะไร ต่างจากกฏหมาย ที่มีอำนาจบังคับได้ และ ในบทความนั้น ยังอ้างด้วยว่า ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งประกาศว่า ประเทศของตนไม่มีศาสนา นั้น มีการทุจริตน้อยมาก และสังคมก็มีความสงบสุข มากกว่า ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำในประเด็นนี้ ดังนั้น คุณจึงไม่ควรแปลกใจที่ศาสนาพุทธ ล้มเหลวในการทำให้สังคมสงบสุข เพราะศาสนาพุทธไม่ได้พุ่งเป้าไปที่เรื่องนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า มีความเป็นไปได้ ที่หากพุทธศานิกชน ต่างพากันพร้อมใจปฏิบัติตามคำสอนกันอย่างจริงจังแล้วล่ะก็สังคมก็จะมีความสงบสุขมากขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะอย่างน้อย คนที่คิดว่า ตนเองมีเสรีภาพที่จะกินเหล้าได้ นั้น ก็ต้องมีอยู่ หากเอาศีลห้าไปบังคับ มันจะไปขัดหลักเสรีภาพ คนที่อยากจะกินเหล้า เขาก็มีสิทธิจะกิน กินจนกระทั่งขาดใจตายคาขวดเหล้า ตราบเท่าที่เขาไม่ไปละเมิดคนอื่นๆ ตามสิทธิของเขา ถ้าอยากให้สังคมสงบสุข ก็ออกกฏหมายบังคับ ซึ่งต้องแลกเอาด้วยเสรีภาพ สรุป จะเห็นว่า ศาสนาพุทธไม่เกี่ยวกับเสรีภาพ และไม่เกี่ยวกับความสงบสุขของสังคม แต่เกี่ยวกับความสงบสุขของปัจเจกบุคคลมากกว่า

ส่วนศีลห้าของคุณนั่น มันออกจะหลุดโลกไปหน่อย ข้อหนึ่ง ห้ามฆ่าตนเอง นี่ แปลว่า ให้ไปฆ่าคนอื่นได้ ใช่ไม๊ครับ ตรงนี้ผมขอบายก็แล้วกันนะ อิ อิ

ส่วนสุรพศนี่ ก็ยังมีความมุ่งมั่นในการทำร้ายตัวเองอย่างคงเส้นคงวา เหมือนเดิม

จิตใจยังคงเต็มไปด้วยโทสะ โมหะ คิดแต่จะเอาชนะคะคาน

ผมบอกไปตั้งไม่รู้กี่ครั้งแล้วว่า เราทั้งหมดไม่มีใครโง่ใครฉลาดหรอก ใครอยากจะพูดอะไรก็พูดมาตามที่ตนเองต้องการ ไม่ต้องพยายามโชว์ความฉลาด หรือ คอยจ้องไปทับถมคนอื่นว่า โง่อย่างนั้น โง่อย่างนี้ คนพูดมันจะกลายเป็นตัวโง่ซะเองมากกว่า หากคุณคิดว่ามีเหตุผลอะไรดีๆ ก็สามารถพูดได้ แสดงออกได้ ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไร สำหรับตรงนี้ เวลานี้ ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับท่าน ว. จนกว่า ใครจะแสดงเหตุผลที่ผมฟังแล้วน่าเชื่อกว่า น่าเลื่อมใสกว่า ผมก็อาจจะเปลี่ยนใจ แต่สุรพศนี่ มาถึงก็พ่นผรุสวาจา เลย แถม ผมว่าน่าจะมุสาด้วย ที่ไปบอกว่าฆ่าเวลาเฉยๆไม่บาป ขึ้นอยู่กับ สิ่งที่ทำ เพราะคำว่าบาปนี่ มันค่อนข้างจะกว้าง และละเอียดอ่อน บาปนี่ ตามที่พระพุทธเจ้าบอกไว้นั้น คือการทำอะไรก็ตามที่ทำให้เดือดร้อนในภายหลัง หากการนั่งทอดหุ่ย ฆ่าเวลาให้ล่วงไปๆ แล้ว ตนเองยังเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ แค่นี้ ตามหลักก็ถือว่าบาปแล้ว เพราะการไม่ยอมขวนขวายหาความรู้ใส่ตัว ว่าอะไรคือสัมมาทิฐิ อะไรคือ มิจฉาทิฐิ ย่อมจะนำความเดือดร้อนมาสู่ตนภายหลังแน่นอน เอางี้

จาก เวบ 84000

[๑๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่ง
จะมีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฐินี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฐิ
เป็นอย่างยิ่ง ฯ

จาก วิกิฯ

มิจฉาทิฐิ หรือ มิจฉาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นผิด การเห็นกงจักรเป็นใบบัว พระพุทธองค์ทรงตรัส[1]ไว้ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์บางพวกมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
การบูชาไม่มีผล
การบวงสรวงไม่มีผล
ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี
โลกนี้ไม่มี
โลกอื่นไม่มี
มารดาไม่มีบุญคุณ
บิดาไม่มีบุญคุณ
สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี
สมณพราหมณ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทราบถึงโลกนี้และโลกอื่นด้วยปัญญาอันยิ่งเอง และสามารถทำให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย ไม่มี"
ซึ่งจากการประพฤติผิดมิชอบนี้เอง จะส่งผลให้บุคคลนั้น ๆ ต้องไปเกิดยังนรกอเวจีเพื่อใช้กรรมที่ตนเองก่อไว้หลายร้อยชาติ

ปัจจัยให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ มี 2 อย่าง[2] ได้แก่
ปรโตโฆสะ คือ การโฆษณาแต่บุคคลอื่น เสียงจากผู้อื่น ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่น
อโยนิโสมนสิการ คือ การทำในใจโดยไม่แยบคาย การไม่ใช้ปัญญาพิจารณา ความไม่รู้จักคิด การปล่อยให้อวิชาครอบงำ ตรงกันข้ามกับคำว่า โยนิโสมนสิการ

สรุปคือ คนเราบางที นั่งดูหนัง ฟังเพลงอยู่ดีๆนี่ก็กลายเป็นกำลังทำบาปอยู่โดยไม่รู้ตัว ก็เป็นไปได้ เพราะหากตนเองเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ แล้วยังไม่ละความเห็นผิดอันนั้น นี่ว่าตามหลักในศาสนาพุทธนะครับ ถ้าไม่ได้นับถือพุทธ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะไปว่าท่าน ว. ก็คงจะไม่ได้

ยังมีหลักฐานอื่นๆอีกมากมาย แต่ไม่ใช่เรื่องของผมตรงนี้ มันควรเป็นเรื่องของคนที่ไม่เห็นด้วย ที่จะเป็นคนไปหาหลักฐานมา ว่า ท่าน ว. กล่าวผิดหลักในศาสนาพุทธ ตรงไหน อย่างไร จะเป็นประโยชน์กว่า

ที่จริงผมก็บอกไปแล้วว่า ให้ยกพระสูตร หรือพุทธวจนะมา ไม่ใช่พูดเอาเอง แบบที่สุรพสทำอยู่แบบนี้ จะพูดอะไรก็พูดไปได้เรื่อยนั่นแหละครับ หาที่ยุติไม่เจอหรอกครับ พูดแบบไม่มีหลักฐานแบบนี้ และ อนึ่ง ขอเป็นกำลังใจให้สุรพศทำลายขีดจำกัดของสติปัญญาของตนเองให้ได้ เพื่อยกระดับการพูดคุยให้สามารถใช้เหตุผลคุยได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาทั้งของตนเองและผู้อื่น นะครับ อิ อิ.

Submitted by รู้ทัน on

แปลก....ไม่รู้นำมาเปรียบเทียบกันได้อย่างไร
....การฆ่าคน ไม่ว่าจะใช้อาวุธชนิดไหน ฆ่าด้วยธีการใดๆ คือการทำลายชีวิต ผิดศีล และ ผิดกฏหมายของ ผิดกฏของมวลมนุษยชาติ
....การฆ่าเวลา ความหมายที่สื่อสารกัน ไม่ใช่พฤติกรรมทำลาย ไม่ใช่พฤติกรรมด้านลบ แต่เป็นพฤติกรรมด้านบวก แม้เแต่การฆ่าเวลาด้วยการนั่งอยู่เฉย ยกตัวอย่างเช่น จองตั๋วรถโดยสาร จะเดินทางไปต่างจังหวัด แต่ไปถึงท่ารถก่อนเวลารถออก เลยต้องฆ่าเวลาโดยการนั่งอยู่เฉย จนถึงเวลารถออก มันจะบาปตรงไหน ดีเสียอีก ที่ไม่เดินเกะกะขวางทางคนที่เขารีบเร่ง
.....ถ้าหมายถึงการนั่งเฉยๆ ทิ้งเวลาให้เสียปล่าวทุกวี่วัน โดยไม่ทำอะไรเลย ก็อาจพอมองได้ ว่าเป็นการทำบาป แต่ก็มีคำถามตามมาอีกแหละ ในโลกนี้ มีสักกี่คนที่นั่งเฉยๆทุกวี่วันโดยไม่ทำอะไรเลย
.....หรือถ้าเทียบการฆ่าคนขององคุลีมาร กับคนที่ฆ่าเวลาด้วยการอ่านหนังสือธรรม ระหว่างนั่งรถโดยสารไปต่างจังหวัด ท่าน ว. คิดว่าใครบาปมากบาปน้อยกว่ากัน ?

Submitted by นปช(เคยเป็น) on

คุณ รักเสื้อเหลือง ขออนุโมทนา ในจิตใจ อันบริสุทธิ์ ของ ท่าน ด้วยใจจริง อุตสาห์เสียสละเวลา ให้ข้อเท็จจริง

ถ้าไม่เห็น ด้วยตาตัวเอง หรือเห็น ก็ตาม ไม่เชื่อ ไม่สนใจ กันหรอก ตราบใดยังบูชา ลุ่มหลง ยกย่อง
พวก อสัตบุรุษ เหล่านี้ เคยเห็นแกนนำ ที่ชาวโลกสรรเสริญ มีพฤติกรรมแบบนี้ มีมั้ย ตัวอย่าง
1.หนีเอาตัวรอด ใ้ห้นปช ต้อง บาดเจ็บ ล้มตาย ทันทีที่ประกาศ เลิกชุมนุม ก็มีเสียงดังปัง ทันที
แกนนำ ก็ ตามแผน หายหมด
2.ปากบอกรักประชาธิปไตย ความเสมอภาคในสังคม ปากบอกนั่งสมาธิ แต่ ก็ ยังให้เมีย ไปเอาที่ดินของ
คนที่ล้มละลาย กราบไหว้บิ๊กจ็อด แถมไปสงบปากสงบคำในประเทศจีนอีก อื่นๆ อีกมากมาย มากมาย
พฤษภา ทมิฬ พลตรี จำลอง ไม่หนี ไม่ทิ้ง ผู้ร่วมชุมนุม ในขณะที่มีอันตราย นี่คือข้อเท็จจริง
อองซาน ซูจี คานธี ไม่ กลัวติดคุก ทั้งที่ๆ ไม่ได้ทำผิด ไม่หนี ไปต่างประเทศ ไม่ยุยง คนให้เผาบ้านเกิด
เมืองนอน ของตัวเอง ไม่ใช้ปชช. พายเรือให้ พอถึงฝั่งก็ ลาแล้ว เิงินค่าตอบแทนจาก การตาย บาดเจ็บ
ก็จัดการเอาภาษี จ่ายให้เรียบร้อยแล้ว ขอไปปรองดอง 46000 ก่อน นี่คือข้อเท็จจริง

ถ้าพิจารณา จาก พฤติกรรม การกระทำ ข้อเท็จจริง มากกว่าคำปราศัย ก็ จะกลายเป็น นปช(เคยเป็น)
ปล. เคยดูข่าว สุนัข นั่งเฝ้าศพ เจ้าของแล้ว ก็ยังไม่ทิ้งเจ้าของ ก็เอวัง

Submitted by ทิดเมฆ on

ลูกปืนทหารที่กระชับพื้นที่
วิ่งผ่านกาลเวลา กระทบร่าง
นับเป็นการฆ่าเวลาโดยแท้
ช่างบาปกรรมเป็นอนันต์

Submitted by พุทธศาสนิกชน on

พ่อแม่สอนเราว่า อย่าไปล่วงละเมิด(ด่า) พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ผู้มีพระคุณ ตลอดจนพระสงฆ์ เป็นบาปมหันต์ ตกนรกอเวจี ตรงกันข้ามแต่ถ้าบุคคลเหล่านั้นไม่อยู่ในศีลในธรรม ถ้าเราด่า คงไม่บาปและไม่ตกนรกเนาะ..

Submitted by คนบ้านนอก on

ด้วยความเคารพในพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ จึงขอแสดงความคิดเห็นต่อพระคุณเจ้าท่านอาจารย์ ว. ว่า การถ่ายทอดคำสอนของพระบรมศาสดานั้นเป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธสาวก ซึงท่านก็ได้สงเคราะห์แก่สังคมไทยมาด้วยดีตามสมควรแล้ว

แต่ใคร่ขอนมัสการให้ท่านได้โปรดอย่าใช้ถ้อยคำถ้อยความที่ลึกซึ้งจนเกินสติปัญญาเลยขอรับ ไม่งั้นก็จะตีความกันจนเลอะเทอะ

เอาแบบง่ายๆ ชัดเจน ตรงไปตรงมา แต่อยู่ในวิถีทางสายกลางดีกว่าขอรับ

กราบนมัสการมาด้วยความเคารพ

Submitted by dk on

ท่าทีต่อบทความ

ท่าน ว.เป็นพระดัง ย่อมหมายถึง ได้เข้ายึดกุมพื้นที่ทางความคิดของกระแสหลัก(พุทธฯ) (อยู่แล้ว)

วาทกรรม ที่ยกมาวิเคราะห์ ต้องเข้าใจว่า ผู้พูด ใช้พลังของวาทกรรมดึงคนเข้า ศาสนา(ตามกระแสหลัก)

“ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” ควรนิยามคำในประโยค ได้แก่ ฆ่า บาป ก่อน

รายละเอียด เช่น ฆ่าคนนั้นบาปแน่ เพราะ ผิดศีล
แต่ฆ่าเวลา จะผิดได้อย่างไร เพราะ ไม่ผิดศีล ไม่มีใครตาย ไม่เดือดร้อนใคร
ความหมายจึงเป็นทำนองว่า การใช้ชีวิตอย่างไร้ศาสนา ไร้ศีลธรรม หรือไม่ได้ปฏิบัติธรรมะ(พุทธฯ)
ซึ่งเมื่อ ผู้ฟังซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ได้ฟัง นัยยะก็คือ ปริมาณคนไปกำหนดความเสื่อมของสังคม(ที่ไร้ศีลธรรม)
นั่นคือ ผลอย่างถ้วนทั่ว(ความเสื่อมจริยธรรม) ย่อมร้ายแรงกว่า การฆ่าคน(ซึ่งไม่มีใครเห็นดีเห็นงามกับสิ่งนี้ อยู่แล้ว)

วาทกรรมนี้ เมื่อถูกโยนสู่สนามสื่อ การทำงานของมันก็ส่งผลต่อทั้งสองฝั่ง(คู่ขัดแย้ง) แบบของใครของมัน
และมันย่อมถูกนำไปตีความตามบริบท เตือนสติ ของแต่ละฝั่ง ได้ตามสภาพตน

แต่ก็นั่นแหละ เพราะ ศาสนา มักสูงกว่า อำนาจการเมือง แต่ก็มักรับใช้อำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมเสมอ ในขณะทีก็มีความเป็นสากลในตัวมันเอง เช่นกัน

Submitted by น้ำลัด on

อันที่จริงคำของท่านว.ที่ถกเถียงกันอยู่นี้
จะอธิบายอย่างไรก็ได้ขึ้นอยู่กับการตีความ
ก็เหมือนการตัดสินทางกฎหมาย
จะตัดสินให้ถูกหรือผิดก็ย่อมได้ทั้งนั้น
มันขึ้นอยู่กับการตีความแล้วอธิบายเหตุผล

ถ้าเราตีความว่าการฆ่าเวลาเป็นกิจกรรมที่ทำระหว่างการรอคอยอะไรสักอย่าง
มันก็ย่อมจะไม่เป็นบาปอะไร และก็ไม่อาจไปเทียบอะไรกับบาปของการฆ่าคน

แต่ถ้าเราตีความว่าการฆ่าเวลาคือการปล่อยปละละเลยไม่รีบทำอะไรสักอย่าง
จนเป็นสาเหตุให้เกิดความแตกแยกในสังคมมากขึ้น ทำให้ผู้คนฆ่ากัน กลายเป็นสงครามกลางเมือง
การฆ่าเวลาอันหมายถึงการไม่ทำอะไรสักอย่าง เมื่อรู้ว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นนี้
ก็หมายความได้ว่ามันอาจจะบาปมากกว่าการไปฆ่าใครสักคนหนึ่งด้วยซ้ำ

เอ...แล้วใครกันบ้างนะ ที่ฆ่าเวลาไปวันๆ แล้วถึงขั้นทำให้ผู้คนในสังคมฆ่ากันเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้

Submitted by รักเสื้อเหลือง on

คุณน้ำลัด

เริ่มเข้าใกล้ประเด็นแล้ว อย่างน้อยๆก็เห็นแง่มุมที่เป็นไปได้ในอีกแง่หนึ่ง ไม่ใช่คิดแต้ว่าเป็นเพียงวาทะกรรมประดิษฐ์ที่ไร้ความจริง ไร้ความหมาย เพียงแต่อย่าดึงไปในแง่การเมืองเลย เดี๋ยวมันจะออกทะเลไปเปล่าๆ อิ อิ

Submitted by plai_krabee on

วลีเด็ด

"ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน"

มันก็ไม่ต่างกันกับวลี

"เชื่อคำสอนพระที่กลัวผี ยิ่งกว่าขูดต้นไม้หาเลขหวย"

ประมาณนี้หรือเปล่านะ

Submitted by คนบนโลก on

ถ้าให้ท่านเลือกจะฆ่าคนหรือฆ่าเวลาจะเลือกอะไรล่ะ ทำโพลไปเลยดูซิว่าสามัญสำนึกของคนปกติเป้นอย่างไร ไอ้ที่ไม่ปกติเป็นอย่างไร อย่าดีแต่ใช้วาทะกรรมวิบัติ พระนังสมาธิแต่ไม่บรรรลุธรรมใด ถือว่าฆ่าเวลาด้วยไหม พระที่แตกฉานในพระไตรปิฎกแต่กลับเห้นผิด ถือว่าฆ่าเวลาด้วยไหม มิยิ่งบาปกว่าฆ่าคนหรอกหรือ ตรรกวิบัติจริงๆ

Submitted by คิดบ้างมั้ย on

คำสอนของพระ ว นั้น เมื่อเปิดพจนานุกรมฉบับชาวบ้านและจิตแพทย์แปลออกมาแล้ว และโดยเฉพาะสำหรับพวกทรราชย์ และฆาตกรโหดเหี้ยมจิตวิปริต ก็มีความหมายเท่ากับการเร่ง ไม่รอช้า ไม่ปล่อยให้เสียเวลา สำหรับการกระชับพื้นที่ การตั้งเขตใช้กระสุนจริงและการฆ่าเพื่อปราบปรามให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ไม่งั้นจะบาปหนัก

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

กลับมาอ่านอีกที อ้าวผมเขียนผิดหรือนี่ ขออภัยๆ ที่ผมเขียนว่า "เขาไม่เรียกว่า "เหตุผลวิบัติ" (fallacy) ไม่ใช่ตรรกะที่สมเหตุสมผลอะไรหรอก" แก้ใหม่ว่า "เขาเรียกว่า เหตุผลวิบัติ..."

นี่ไม่อยากแก้หรอกนะครับ แต่รำคาญ "คนรักเสื้อเหลือง" ที่ "โง่แล้วอวดฉาดไม่เลิก" ว่ะ/คับ

Submitted by กวี ธมฺมกวิอุบาสก on

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ โก ชญฺญา มรณํ สุเว ตบะ คือ ความเพียรยิ่งยวด ต้องกวดขันทำให้สำเร็จ ในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้มรณกรรมจะมีมาวันพรุ่ง- เวลาย่อมฆ่าตัวมันเอง และฆ่าสรรพสัตว์ด้วย ฉะนั้น คำว่า ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน ไม่ปรากฎมีในพระไตรปิฎก ทั้งอรรถและพยัญชนะ และคำแปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย จึงถือว่าเป็นคำสอนนอกพระสัทธรรม
ชาวพุทธพึงยึดหลักการพิจารณาตัดสินว่าธรรมใดเป็นพระสัทธรรม หรือ เป็นอสัทธรรม ตามหลักการตัดสินพระธรรมวินัย ในพระวินัยปิฎกมหาวรรค และสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ [๑๑๓] ไม่อาจจะนำมาลงตรงนี้เพราะข้อความยาวมาก หากมีผู้อ้างกาลามเกสบุตตสูตร(กาลามสูตร) ก็พึงทราบว่าคำว่าปิฏก แปลาตำราโบราณไม่ใช่พระไตรปิฎก เพราะขณะตรัสสอนกาลมชนนั้น ยังไม่มีคำว่าพระไตรปิฎก(เตปิฏก) ผ่านกาลปรินิพพานไปสี่ร้อยห้าร้อยปี จึงมีสังคายนาพระธรรมวินัย จัดออกเป็นสามปิฎก คือ วินัย-สุตตันต-อภิธรรม ชาวบ้านหญิงชายบวชได้ก็อาศัยแบบสวดญัติในพระไตรปิฎกนี้ หากไม่เชื่อถือพระตรปิฎกนี้ ก็มิใช่พระภิกษุครับท่าน

Submitted by เตือนสติ on

ปราชญ์ยังรู้พลั้ง ข้าพเจ้าเชื่อว่าเจตนาของท่านพระอาจารย์วชิรเมธีคงไม่ได้หมายความตามที่พูด แต่หากอยากสั่งสอนผู้รับฟังในเรื่องของการเห็นคุณค่าของเวลา
ถึงผู้ที่นำมาทำให้เป็นประเด็นจนเดือดร้อนกันทั่วหน้า แทนที่จะมาจับผิดการกระทำของผู้อื่น ทำไมไม่มาดูที่ใจของตัวเองกัน กิเลสตัณหาความชั่วความบาปในใจ ละได้แล้วหรือยัง หรือหากจะกล่าวว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อสังคม ก็เพราะมัวแต่ไปจับผิดคนอื่นว่าเลวอย่างนั้นอย่างนี้ คำพูดของเขามีแง่มุมอะไร เอามาเป็นประเด็นให้เดือดร้อนแก่ตัวเองและพวกพ้อง บ้านเมืองถึงวุ่นวายด้วยเรื่องอันไม่เป็นสาระเช่นนี้ ทองแท้ไม่ว่าจะโดนแปรรูปหรือห่อด้วยสิ่งใดก็ยังเป็นทองแท้ เฉกเช่นเดียวกับคนดี หากดีจริง ใยจะต้องมาเป็นเดือดเป็นร้อนกับคำครหา ยิ่งผู้ที่มาเดือดร้อนแทนคนอื่นและคอยแต่จะจับผิดคนอื่นร่ำไปยิ่งน่าสงสาร เพราะเขาช่างไม่รู้ตัวเองเลยว่าได้ทำร้ายตัวเองให้ตกต่ำไปทุกเวลา จะมามัวฆ่าเวลาในสิ่งอันหาสาระไม่ได้เช่นการจับผิด หรือการใส่ไฟให้คำพูดของคนอื่นไปทำไม ตัวเราเองนั้นดีแล้วหรือ ทำไมไม่หันมาดูตัวเองกัน เวรกรรมซึ่งเป็นกฎธรรมชาติอาจจะไม่มาในทันทีแต่ขอรับรองว่ามีจริง ระวังตัวกันไว้เถิดทุกๆคนที่ยังไม่รู้ตัวเองสักที