armchair’s point of view "มุมมองจาก (นักมานุษยวิทยา) เก้าอี้นั่งเล่น"

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี

แต่ในปลายศตวรรษที่ 19 นักมานุษยวิทยาเริ่มไม่ไว้ใจข้อมูลจากคนที่ไม่ได้รับการศึกษาทางทฤษฎีมาก่อน จึงเริ่มพัฒนาการวิจัยภาคสนาม จนเกิดขนบการศึกษาทางมานุษยวิทยาแบบใหม่ขึ้นมา นั่นคือนักมานุษยวิทยาจะต้องเป็นทั้งผู้วิเคราะห์ทางทฤษฎีและผู้เก็บข้อมูลภาคสนามไปพร้อมๆกัน

แต่ผู้บุกเบิกการวิจัยภาคสนามไม่ใช่นักมานุษยวิทยา กลับเป็นนักสัตววิทยาชื่ออัลเฟรด แฮดดอน (Alfred C Haddon, 1855-1940) เขานำเอาหลักการศึกษาสัตว์อย่างมีส่วนร่วมในสนามมาเสนอให้นักมานุษยวิทยาใช้ แฮดดอนเปรียบนักมานุษยวิทยารุ่นก่อนหน้าเขาว่าเป็น armchair anthropologists "นักมานุษยวิทยาเก้าอี้นั่งเล่น" เนื่องจากพวกนั้นไม่เคยทำงานภาคสนามเลย 

ต่อมาบรอนิสลอว์ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski, 1884-1942) ผู้ทำให้การศึกษาภาคสนามกลายเป็นแบรนด์ของมานุษยวิทยา บอกว่า เราต้องค้นหา native’s point of view "มุมมองของชนพื้นเมือง"

แต่ข้อเขียนสั้นๆ ของผม มันก็เป็นแค่ armchair’s point of view "มุมมองจาก (นักมานุษยวิทยา) เก้าอี้นั่งเล่น"

 

 

ความเห็น

Submitted by abrahamrock on

ผมเข้าใจว่าเป็น เลวิส เฮนรี่ มอร์แกน (Lewis Henry Morgan : 1818-1881) มาโดยตลอด
ที่เป็นนักมานุษยวิทยาคนแรกที่ทําการศึกษาภาคสนาม - -

Submitted by Yukti on

ขอบคุณที่ทักครับ ถูกแล้วครับ และน่าจะมีอีกหลายคนที่เป็นนักมานุษยวิทยาที่เก็บข้อมูลภาคสนามแบบมอร์แกน เพียงแต่ตอนนั้น ขนบของการเก็บข้อมูลภาคสนามไม่ได้เข้มข้นจนเป็นสิ่งที่ "ต้องทำ" เท่ากับหลังแฮดดอนและมาลินอฟสกี สมัยมอร์แกน เขาจึงต้องออกเงินสนับสนุนการเก็บข้อมูลของตนเองส่วนหนึ่ง เพราะสถาบันยังไม่ค่อยให้ความสนใจกับการเก็บข้อมูลของนักมานุษยวิทยาเอง ที่จริงระยะเดียวกับแฮดดอน ฟรานซ์ โบแอสก็เก็บข้อมูลภาคสนาม แต่ไม่ได้ถูกนับว่าสำคัญเท่ากับแฮดดอน เพราะวิธีการของเขาต่างกับพวกอังกฤษ

ที่นับจากแฮดดอน ผมคิดถึงคำว่า armchair anthropologist น่ะครับ เพราะคำนี้ไม่มีความหมายกระแนะกระแหนหากพูดในสมัยของมอร์แกน แต่หากดูว่าใครทำงานภาคสนามเป็นคนแรกๆ จริงๆ คงเถียงกันได้มากครับ

Submitted by โสมคาน on

มีอีกคน ยอมอุทิศ สิทธัตถะ
เลิกลดละ ทิ้งวัง แสวงหา
ความหมายแห่ง มนุษย์ สุดปัญญา
ยอมเข้าป่า ลงสนาม สอบถามพลัน

ทฤษฏี ให้ไว้ ด้วยกายแลก
มนุษย์แยก กายจิต แต่ติดมั่น
อริยสัจจ์ จัดให้ ได้ใช้กัน
หยุดเพ้อฝัน วิชาการ งานวิจัย

ทุกข์ สมุหทัย นิโรจน์ มรรค
นี่คือหลัก การวิเคราะห์ เหมาะสมัย
ตั้งปัญหา บอกทางแก้ แน่กว่าใคร
คนยุคใหม่ ติดฝรั่ง งั่งจริงวา

Submitted by Yukti on

ขอบคุณครับคุณโสมคาน

ผมของั่งจมปลักอเวจีอยู่กับทฤษฎีอย่างนี้แหละครับ ขอให้คุณไปนิพพานโดยสะดวกนะครับ ระหว่างทางหากเจอสตีฟ จ็อบ ก็ฝากขอบคุณที่คิดอะไรๆ ให้คุณกับผมได้เจอกันในโลกออนไลน์ด้วยนะครับ

Submitted by โสมคาน on

คนยุคใหม่ ใช้ปัญญา เพื่อหาทรัพย์
วิ่งโร่รับ โครงการ กันถ้วนหน้า
ไม่ละเว้น แม้นัก มานุษยวิทยา
ประกาศกล้า ช่ำชอง เรื่องมองคน

ยิ่งเชี่ยวชาญ ทฤษฏี ยิ่งมีสิทธิ์
สำแดงฤทธิ์ ชัดแจ้ง ทุกแห่งหน
คล้ายดีกรี วัดกันได้ ใครคงทน
ใครคัดลอก ใครปล้น ทฤษฏี

เมื่อวันวาน เพิ่งว่างคุย สตีฟจ๊อบ
บอกวิ่งรอบ ดวงอาทิตย์ นิดเดียวพี่
มันฝากบอก นักคิดไทย ยุคใหม่ที
เมื่อใดมั่ง สร้างทฤษฏี เป็นของตัว ?

Submitted by น้ำลัด on

ผมก็ไม่รู้ว่านักมานุษยวิทยานี่เขาศึกษาอะไรกัน
จริงๆชื่อมันบอกว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับคนเรานี่แหละ
แต่ผมก็ไม่รู้อยู่ดีว่าวิชานี้เขาศึกษาเรื่องไหนของคนเรา
เรื่องเกี่ยวกับคนเรามันเยอะเหลือเกิน ศึกษาเท่าไหร่ก็ไม่มีวันจบ

แล้วก็มางงกับคุณโสมคานที่เข้ามากระเซ้าเย้าแหย่เข้าให้
วันก่อนแกยังเมานอนหน้าบ้านอยู่เลย ไม่รู้เข้าบ้านได้หรือยัง
แกเก่งเรื่องกลอนมาก จะเมากี่ดีกีหรือไม่เมาสักดีกรี ก็แต่งกลอนเป็นดีกรีได้ตลอด นับถือ...นับถือ
แต่มีอยู่กลอนหนึ่งที่คุณโสมคานไม่ถนัด คือกลอนประตูบ้านของตัวเองที่ไร้ดีกรี
เพราะที่สำคัญคือกลอนประตูบ้านมันถูกควบคุมโดยลูกสาวของแม่ยายแกเอง

เห็นบอกว่า "นักสัตววิทยา" ชื่ออัลเฟรด แฮดดอน
นำเอาหลักการศึกษาสัตว์มาเสนอให้นักมานุษยวิทยา

ผมแค่เคยศึกษาแมลงมานิดหน่อย ไม่มีโอกาสเป็น "นักกีฏวิทยา"
คือตอนเรียนผมเป็นนักเรียนประเภทยากจนแต่เรียนไม่ดี
จริงๆแล้วเรียนดี เพียงแต่ไม่เก่งตอนตอบข้อสอบ ก็เลยถูกล่าวหาว่าเรียนไม่ดี
ก็เลยไม่อาจได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานใดๆ เพราะเขาไม่รู้จะสนับสนุนผมไปทำเบื๊อกอะไร

แต่กระนั้นก็เหอะ...ผมอยากเสนอเรื่องราวของสังคมของแมลง
ให้นักมานุษยวิทยา นำมาเปรียบเทียบกับสังคมของมนุษย์สักหน่อย

คือมันมีแมลงที่อยู่รวมกันเป็นแมลงสังคมอย่างพวกมด-ปลวก
แมลงพวกนี้เขามีระเบียบวินัย มีความจงรักภักดี รู้หน้าที่ รู้สามัคคี ทุกตัวพร้อมยอมพลีชีพเพื่อรัง
มีผู้นำสูงสุด มีทหาร มีเจ้าพนักงานแห่งรัง หาอาหาร ทำความสะอาด ฯลฯ
เชื่อไหมครับ...สังคมแมลงมันได้กลายเป็นสังคมในอุดมคติ
เป็นสังคมต้นแบบของมนุษย์บางประเทศเลยทีเดียว

เมื่อถึงฤดูต้นฝนจะมีเทศกาลขยายเผ่าพันธุ์แห่งชาติแมลง
พวกเขาจะมีมีเทพบุตร มีนางฟ้า ที่มีปีกบินออกจากรัง
บินขึ้นไปแสวงหาสวรรค์วิมานบนท้องฟ้า จับคู่กัน เริงร่ากัน
เมื่อสุขสมอารมณ์หมายแล้ว เหล่านางฟ้าและเทพบุตรน้อยทั้งหลาย
ก็จะร่วงหล่นจากสวรรค์กลับลงมาบนดิน เป็นปุถุชนแห่งแมลงอีกครั้ง

เหล่านางฟ้าก็จะตั้งครรภ์ โดยไม่รู้เทพบุตรตัวไหนเป็นพ่อของลูกบ้าง
เพราะรับมาจากหลากหลายตัวเทพบุตร ไม่ได้นับจำนวนไว้
อีกอย่างพวกแมลงนางฟ้าไม่ทันได้เรียนคณิตศาสตร์ด้วย ก็เลยไม่รู้ตัวเลข
แต่เนื่องจากนางฟ้าก็คือนางฟ้า เมื่อเกิดมาเป็นชนชั้นสูงแห่งแมลงแล้ว
ฐานะนี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไป ถึงนางฟ้าจะบินขึ้นไปมั่วเซ็กส์อะไรยังไง ก็ไม่มีความผิดอะไรทั้งนั้น

นางฟ้าน้อยๆที่ผ่านคาวโลกีย์ แล้วตั้งท้องออกลูก มีลูกเต้ามากมายยั้วเยี้ย
ตัวนางฟ้าน้อยๆก็จะตั้งตนเป็นราชินีแห่งอาณาจักรใหม่ของเธอเอง
อาณาจักรใหม่ของเธอ จะตั้งขึ้นในพื้นที่ใดบ้าง เธอก็ไม่อาจรู้ ผมเองก็ไม่รู้
แต่ว่าถ้ามาตั้งรกรากอยู่ใต้บ้านของผมละก้อ...ต้องเรียกบริษัทกำจัดปลวกมาจัดการละครับ

Submitted by Yukti on

ชอบเรื่องแมลงของนักกีฏวิทยาครับ ผมว่านักสัตววิทยาน่าทึ่งและน่านับถือตรงที่อ่านพฤติกรรมของสัตว์ต่างๆ ออกจากการสังเกตและประมวลหาเหตุผล ทั้งๆที่ไม่สามารถสื่อสารกับสัตว์เหล่านั้นได้ตรงๆ

ส่วนคุณโสมคานครับ ไม่ว่านักอะไรก็ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ทำไมจะต้องเว้นนักมานุษยวิทยาด้วยเล่าครับ

แล้วการสร้างทฤษฎีนั้น ไม่ว่าจะในยุโรปหรือในเอเชีย หรือที่ไหนๆในโลก ทฤษฎีก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาจากสุญญากาศ ก็ต้องมีเชื้อมูลอะไรมาก่อน แล้วทฤษฎีฝรั่งน่ะ ก็เกิดจากการเข้าใจโลกใหม่ๆที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อนมากมาย จะต้องปฏิเสธไปทำไมเล่าครับ ยิ่งงานเขียนทางมานุษยวิทยาที่เรียนรู้จากวัฒนธรรมที่ต่างๆ ยิ่งต้องสร้างทฤษฎีจากสังคมนอกตะวันตก แล้วจะรังเกียจอะไรกับชื่อฝรั่งมังค่าและความรู้ของพวกเขาเล่าครับ

ส่วนหากผมสร้างทฤษฎีอะไรใหม่ขึ้นมาได้ วันนั้นผมเองก็คงยังไม่รู้ตัวหรอกครับ เพราะคนตัดสินไม่ใช่ผมเอง แต่ต้องเป็นสาธารณชนที่อ่านงานแล้วคิดว่าผมให้อะไรใหม่จริงๆ

ยุกติ มุกดาวิจิตร: ฮิญาบ ที่เปิดโปงในปกปิด

เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร

ยุกติ มุกดาวิจิตร: จดหมายเปิดผนึกถึงคณะวิจิตรศิลป์ มช. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

ยุกติ มุกดาวิจิตร: Georges Bataille ในซีรียส์เกาหลี

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ยุกติ มุกดาวิจิตร: วันชาติเวียดนามกับการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น

หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด