กี" หนังการเมืองแห่งทศวรรษของอินโดนีเซีย

 

“กี” (GIE; เป็นการออกเสียงที่ถูกต้องตามไวยากรณ์ภาษาอินโดนีเซีย—Tata Bahasa Indonesia) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากชีวประวัติของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมือง อินโดนีเซีย นามว่า “ซู ฮก กี” (Soe Hok Gie) และได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของอินโดนีเซียในปี 2005 เรื่องราวของ “กี” ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางหลังจากบรรยากาศทางการเมืองในอินโดนีเซีย ได้เปิดกว้างมากขึ้น เมื่ออดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต้ (Soeharto) ลงจากตำแหน่งเมื่อปี 1998 ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับการแสดงโดย รีรี รีซา (Riri Riza) และนำแสดงโดย นิโคลาส ซาปูตรา (Nicholas Saputra) นักแสดงขวัญใจวัยรุ่นอินโดนีเซีย1ทุกวันนี้ “กี” ได้กลายเป็นต้นแบบของนักศึกษาจำนวนมากในอินโดนีเซีย เป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆคน ให้หันมาสนใจการเมือง ปัญหาสังคม และความทุกข์ยากของประชาชนส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียที่ยังต้องประสบพบเจอ แม้ผู้นำเผด็จการจะถูกโค่นล้มไปแล้วก็ตาม ซึ่งนั่นรวมไปถึง รีซา ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ที่ได้นำแรงบันดาลใจเหล่านั้นมาถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์ม

 

ประวัติของ “กี” กับการต่อสู้ทางการเมือง

“กี” เป็นนักเขียนและนักต่อสู้ทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 60 อันเป็นช่วงเวลามืดมนที่สุดยุคหนึ่ง ในประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซีย หลังจากได้รับเอกราชเพียงแค่สองทศวรรษ อินโดนีเซียก็เริ่มประสบปัญหาอันหนักหน่วงเรื่องการดำรงมั่นคงของชาติ บุรุษที่เคยได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษในการเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคม ดัตช์อย่าง ซูการ์โน (Soekarno) เริ่มกลายเป็นผู้ต้องคำครหาเรื่องคอรัปชั่น และความมุ่งหมายที่จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในทางการเมือง ประชาธิปไตยแบบมีการนำ(Guided Democracy) ที่ถูกนำมาใช้ในปี 1959 เริ่มแสดงให้เห็นถึงความคลุมเครือทางอำนาจอันเป็นธรรมที่ผู้นำประเทศพึงมี ต่อมาจนถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 60 เริ่มมีการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงระหว่างกองทัพอินโดนีเซีย กับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (Partai Komunis Indonesia—PKI) ที่ซูการ์โนให้การสนับสนุน ซึ่งหลังจากที่เขาหมดอำนาจไปและพร้อมกับการขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศของนายพลซูฮาร์โต้นั้น พบว่ามีการปราบปรามผู้ที่มีแนวคิดสังคมนิยม ต่อต้านรัฐบาลทหารและนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง กล่าวกันว่า ทั่วอินโดนีเซียมีประชาชนถูกสังหารไปกว่า 6 ล้านคน

เรื่องราว ชีวิตของ “กี” ดำเนินไปท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่อึมครึมและรุนแรงดังกล่าวข้างต้น เขาต้องฝ่าฟันทั้งมรสุมทางการเมือง และชีวิตส่วนตัวที่เกี่ยวพันกับเพื่อนฝูงและความรัก ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวลักษณะเฉพาะตัวของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่แม้จะมีความแน่วแน่ในอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ก็ซ่อนความอ่อนไหวในอารมณ์และความรู้สึกไว้ในส่วนลึกของจิตใจ หลังจากที่ผิดหวังจากความล้มเหลวในการต่อสู้ เพื่อสิทธิเสรีภาพทางการเมืองกับรัฐบาลเผด็จการทหาร และชีวิตรักส่วนตัว สถานการณ์ของ “กี” ก็คล้ายๆกับนักต่อสู้ทางการเมืองของโลกหลายๆคน ที่ถูกโดดเดี่ยวและแปลกแยก ซึ่งก็เข้าลักษณะภาษิตที่ว่า “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” เพราะเมื่ออุดมการณ์ทางการเมืองของเขาเริ่มแข็งกร้าวมากขึ้น เขาก็เริ่มโดดเดี่ยว เพื่อนฝูงเริ่มถอยห่างเมื่อไม่อาจร่วมเดินแนวทางเดียวกับเขาได้

สิ่งหนึ่งที่แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านตัวละครหลักของเรื่องคือ อุดมการณ์ทางการเมืองภาคประชาชนที่ยึดถือประโยชน์ของสาธารณะ ผลประโยชน์พื้นฐานอันพึงมีของประชาชนเป็นสำคัญ “กี” กล้าที่จะเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารภายใต้การนำของนายพลซูฮาร์โต้ ต่อกรณีการสังหารหมู่กลุ่มบุคคลที่เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียกว่าแสนคนบนเกาะบาหลี ซึ่งเขาเห็นว่า รัฐบาลทหารเองที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในฐานะผู้ร่วมสร้างชาติ อินโดนีเซียขึ้นมา เมื่อถึงวันหนึ่งที่มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ก็มิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ต่างอะไรไปกับรัฐบาลพลเรือนของซูการ์โนที่ถูกโค่นล้มไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ลักษณะของนักต่อสู้ทางการเมืองอย่างเขา ผู้ที่ไม่พยายามสนองและทำตัวสอดคล้องไปกับผลประโยชน์ทางการเมืองของชนชั้นนำนั้น จะต้องกลายเป็นศัตรูทางการเมืองและเป็นเป้าหมายที่จะต้องถูกกำจัดไปในที่สุด อย่างไรก็ดี “กี” พยายามทำความเข้าใจชีวิตอันโหดร้ายผ่านความเข้าถึงแก่นแท้ของธรรมชาติ เขาเลือกที่จะใช้ความอ่อนโยนของธรรมชาติ เป็นเครื่องบำบัดจิตใจและปลดเปลื้องความเจ็บปวดผ่านกิจกรรมปีนเขาจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต หากจะเทียบความคล้ายคลึงกับภาพยนตร์ไทยแล้ว “กี” น่าจะมีความใกล้เคียงกับ ภาพยนตร์เรื่อง “คนล่าจันทร์” (The Moon Hunter) ที่เล่าถึงชีวประวัติของผู้นำนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (1973) อย่าง “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” ผ่านช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และอารมณ์ความรู้สึกในชีวิตส่วนตัวของตัวละครหลัก

แม้จะมีความแตกต่างกันพอสมควรในแง่ของรายละเอียด แต่ในแง่ของปรัชญา วิธีคิด และอารมณ์ความรู้สึกที่ตัวละครหลักได้ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวชีวิตส่วนตัวนั้น ถือว่าสื่อออกมาได้ดีในสัดส่วนของคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน ปรัชญาและวิธีคิดส่วนนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะช่วยการแตกยอดทางปัญญาและแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ให้ตระหนักและเข้าใจใน “คุณค่า” และ “ตัวตน” ในความเป็นปัญญาชนระดับมันสมองของสังคม

 

“กี” ในฐานะ หนังการเมือง

หลังจากที่ภาพยนตร์ชีวประวัติของเขาได้ออกฉายไปทั่วอินโดนีเซีย ภาพลักษณ์ของเขาก็ถูกให้ความหมายในเชิงบวกอย่างแพร่หลาย ซึ่งนั่นก็เกิดขึ้นไปพร้อมกับความตื่นตัวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องของนักศึกษาอินโดนีเซีย นับตั้งแต่การประกาศตัวบนถนนทางการเมืองอย่างภาคภูมิเมื่อ ปี ค.ศ.1998 ทั้งนี้มีตัวเลขระบุว่า ในปี ค.ศ. 2005  ซึ่งเป็นปีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายนั้น มีผู้ชมราว 300,000 คนเข้าไปชมในโรงภาพยนตร์ หากคิดในทางกลับกันในกรณีของประเทศไทย บรรยากาศของขบวนการนักศึกษาเมื่อ 30-40 ปีก่อน ก็มี “จิตร ภูมิศักดิ์” นักคิด นักเขียนทางการเมืองภาคประชาชนคนสำคัญเป็นวีรบุรุษของใครหลายๆคน

กล่าวกันว่าในช่วง “ระเบียบใหม่” (New Order) ภายใต้การปกครองของนายพลซูฮาร์โต้นั้น สิทธิเสรีภาพของสื่อถูกปิดกั้น ขบวนการภาคประชาชนต่างๆถูกคุกคาม ทั้งด้านสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิ่งต้องห้าม นักศึกษาในฐานะคนรุ่นใหม่และพลังบริสุทธิ์ของสังคมเริ่มตระหนักถึงบทบาทของตนเอง และเริ่มรวมตัวกันตามวงเสวนาต่างๆในมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย นักศึกษาจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจกับวรรณกรรมการเมือง ข้อเขียนและบทวิจารณ์การเมืองต่างๆทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งงานเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ถูกผลิตจากจิตวิญญาณของนักคิด นักเขียนชาวอินโดนีเซีย ที่ต่างถูกคุกคามจับกุมคุมขังด้วยอำนาจมืดของรัฐบาล งานเขียนของพวกเขาแม้จะถูกสั่งห้ามพิมพ์เผยแพร่หรือมีไว้ในครอบครอง แต่นักศึกษาเหล่านั้นก็สามารถเสาะหามาเผยแพร่ในหมู่ของพวกเขาได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นงานเขียนของ “กี” และคงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า งานเขียนและวรรณกรรมทางการเมืองที่นักศึกษาไทยยุคก่อน 14 ตุลาคม 1973 อ่านกันนั้น ก็มีส่วนอย่างมากเช่นกันที่ทำให้อุดมการณ์อันแรงกล้าของพวกเขาเหล่านั้น หล่อหลอมและตกตะกอน จนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่นำไปสู่การแสดงออกทางการเมือง ซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

นักศึกษาอินโดนีเซียในช่วงเวลานั้นต่างรู้สึกร่วมกันว่า ภารกิจทางการเมืองที่นักศึกษารุ่นพี่ได้ทำไว้นับแต่ช่วงทศวรรษที่ 60 เรื่อยมานั้น ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ดังนั้นมันจึงควรจะเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องสานต่อภารกิจนั้น นั่นก็คือ “การนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากระบอบเผด็จการ” “สถาปนาสังคมประชาธิปไตยให้กับอินโดนีเซีย” และภารกิจเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุดคือ “การขับไล่ซูฮาร์โต้ออกจากตำแหน่ง” ซึ่งท้ายที่สุดภารกิจดังกล่าวก็สำเร็จเมื่อ ซูฮาร์โต้ ต้องออกจากตำแหน่งไป หลังครองตำแหน่งผู้นำประเทศมายาวนานกว่า 32 ปี

เกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านไป ดูเหมือนว่าอินโดนีเซียได้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตของสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว (แม้ประเทศนี้จะยังคงประสบปัญหาร้อยแปดรุ้มเร้าอยู่ ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย การก่อการร้ายและอื่นๆ) ที่น่าสนใจอย่างมากก็คือใน ปี ค.ศ.2004 นั้น อินโดนีเซียมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก แต่ทว่ากลับมีเหตุร้ายและความรุนแรงอันเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งน้อยมาก หากเทียบกับฟิลิปปินส์ ประเทศที่ (ครั้งหนึ่งเคย) ได้ชื่อว่ามีสังคมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ซึ่งมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีเดียวกัน

 

มอง “กี” ผ่านพัฒนาการทาง “ภาพยนตร์อินโดนีเซีย”

ภาพยนตร์เรื่องแรกของอินโดนีเซียที่มีการบันทึกไว้นั้น ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1926 ซึ่งขณะนั้นเป็น ลักษณะของ “หนังเงียบ” (Silent Film)  มีชื่อเรื่องว่า Loetoeng Kasroeng กำกับโดย จีคุ้กเกอร์ (G.Kruger) และ แอล. ฮิวเวลดอร์ป (L.Heuveldrop) โดยเนื้อเรื่องนั้นดัดแปลงมาจากนิทานพื้นบ้านของชวาตะวันตก และนักแสดงนั้นก็เป็นชาวดัตช์ที่อาศัยอยู่ในชวา  หลังจากนั้นมาการผลิตภาพยนตร์ก็เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น แต่การสร้างและตัวผู้สร้างนั้น ก็มักจำกัดอยู่แต่ในบรรดาชาวดัตช์และชาวจีน ซึ่งเป็นพวกคหบดีที่มั่งคั่งร่ำรวย พี่น้องตระกูลหว่อง เจ้าของบริษัท Wong Film และตระกูลตันเจ้าของบริษัท Tan Film ถือเป็นนายทุนสร้างภาพยนตร์รายใหญ่ชาวจีนในขณะนั้น ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองอินโดนีเซียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ (ที่ถือครองโดยชาวดัตช์และชาวจีน) ก็หยุดชะงักไป แต่กระนั้นด้วยสภาพการณ์นี้ คนพื้นเมืองอินโดนีเซียก็ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นผู้ผลิตแทน ชาวดัตช์และชาวจีน

ราวปี ค.ศ. 1944 ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ผลิตโดยคนอินโดนีเซียซึ่งมีชื่อว่า “Prosperity” ก็ถูกสร้างขึ้น โดยเนื้อหานั้นสอดรับกับนโยบายของคณะผู้ปกครองญี่ปุ่นอย่างชัดเจน ภายหลังจากได้รับเอกราช เมื่อ ปี ค.ศ. 1945 แล้ว ภาพยนตร์ในอินโดนีเซียก็มีการผลิตมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ(progaganda)ของรัฐ โดยมีเนื้อหาปลุกเร้ากระแสชาตินิยม และต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก และที่สำคัญรัฐบาลสั่งห้ามการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ  ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่บอกเป็นนัยถึงสถานการณ์เรื่องสิทธิและเสรีภาพในการ เข้าถึงข่าวสารของประชาชนในยุคนั้นได้เป็นอย่างดีว่าเริ่มเข้าสู่บรรยากาศที่อึมครึมมากขึ้น ในภาพยนตร์เรื่อง “กี” ให้บรรยากาศความอึมครึมในยุคมืดนี้ได้เป็นอย่างดี แม้กระนั้นก็ยังมีภาพยนตร์การเมืองที่เล็ดลอดออกมาอยู่บ้าง ที่เห็นเด่นชัดคือภาพยนตร์เรื่อง ตามู อากุง (Tamu Agung) ในปี ค.ศ. 1955 ซึ่งเป็นผลงานกำกับของ อุสมาร์ อิสมาอิล (Usmar Ismail) ความน่าสนใจของผลงานชิ้นนี้ก็คือ อุสมาร์เลือกที่จะใช้ภาพยนตร์แนวตลกเสียดสีล้อการเมืองชิ้นนี้ สร้างตัวละครสมมติเพื่อวิพากษ์บทบาทของซูการ์โนที่เริ่มเผยให้เห็นถึงการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ และ บารมีทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางรัฐบาลเองก็ไม่ค่อยพอใจภาพยนตร์เรื่องนี้เท่าใดนัก แต่ก็ไม่ได้สั่งห้ามฉายแต่อย่างใด

เมื่อเข้าสู่ยุคของนายพลซูฮาร์โต้ มาตรการเรื่อง censorship เกี่ยวกับการนำเสนอของภาพยนตร์เรื่องต่างๆก็เด่นชัดมากขึ้น ถึงแม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ 80 จะได้รับการขนานนามว่าเป็นยุคทองของวงการภาพยนตร์อินโดนีเซีย ที่ปีๆหนึ่งมีการผลิตภาพยนตร์กันมากกว่า 100 เรื่อง ซึ่งภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นคือ จาตัดตัน ซี บอย แอนด์ บล็อก เอ็ม (Catatan Si Boy and Blok M) แต่กระนั้นเนื้อหาอันเกี่ยวเนื่องกับการเมืองหรือแนววิพากษ์วิจารณ์สังคมและเศรษฐกิจในมุมที่ต่างออกไปไม่อาจจะทำได้ และนั่นก็เป็นผลลบต่อความคิดสร้างสรรค์ในงานผลิตงานคุณภาพต่อเนื่องเรื่อยมา โดยนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 90 เป็นต้นมา ภาพยนตร์อินโดนีเซียซึ่งเริ่มจะมีเนื้อหาจำเจและถูกตีกรอบจากสภาพสังคมการเมืองในขณะนั้น ก็ถูกภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด การสร้างภาพยนตร์นั้นลดลงกว่า 50% ตัวอย่าง เช่น ในปี ค.ศ.1990 นั้น มีการผลิตภาพยนตร์กว่า 115 เรื่อง แต่พอถึงปี ค.ศ.1993 ก็เหลือเพียง 37 เรื่องเท่านั้น

ความตื่นตัวของภาพยนตร์อินโดนีเซียก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง  ภายหลังที่ซูฮาร์โต้ลงจากอำนาจในปี ค.ศ.1998 พร้อมกับความตื่นตัวทางการเมืองภาคประชาชนตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ภาพยนตร์ในยุคหลังปี ค.ศ.1998 นี้นั้นถือว่าเป็น “การเกิดใหม่” อีกครั้งของภาพยนตร์อินโดนีเซีย กล่าวคือ มีผู้กำกับภาพยนตร์อิสระจำนวนมากลุกขึ้นมาผลิตภาพยนตร์ที่พูดถึงประเด็นต้องห้ามต่างๆ ทั้งเรื่องการเมือง ศาสนา ความขัดแย้งทางชนชั้นและเพศสภาพ ภาพยนตร์ยุคหลังซูฮาร์โต้ที่มีความโดดเด่นในเนื้อหาอย่างมาก ก็ได้แก่ ปาซี เบอร์บิซิค (Pasir Berbisik) ที่พูดถึงเพศหญิงกับความใกล้ชิดกับธรรมชาติ และสำนึกของมนุษย์ผ่านการวิพากษ์ความเห็นแก่ตัวของเพศชาย และภาพยนตร์ เรื่อง บีโอลา ตัก เบอร์ดาไว (Biola Tak Berdawai) ภาพยนตร์เรื่องนี้วิพากษ์ประเด็นการทำแท้ง  และการคุกคามทางเพศต่อสตรี กล่าวกันว่าภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์เรื่องประเด็นเพศสภาพในบริบทสังคม วัฒนธรรมนั้น ถือเป็นจุดเด่นของภาพยนตร์อินโดนีเซียเลยทีเดียว

และในปี ค.ศ.2005 การหล่อหลอมประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และการแสดงออกทางการเมืองผ่านแผ่นฟิล์มก็สุกงอม เมื่อภาพยนตร์เรื่อง “กี” ได้ออกฉายไปทั่วอินโดนีเซีย ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงแต่มีแค่เนื้อหาที่กล่าวถึงนักต่อสู้ทางเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นการปรากฏตัวของ “คนจีน” กับตัวตนทางการเมืองบนพื้นที่สาธารณะในอินโดนีเซียอีกด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอินโดนีเซียภายใต้การปกครองของซูฮาร์โต้ การปรากฏตัวของ “ตัวตนคนจีน” นั้นมีอยู่อย่างจำกัด แต่หลังจากปี ค.ศ.1998 แล้ว สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป งานฉลองเทศกาลตรุษจีนสามารถทำได้อย่างเปิดเผย มีการปรากฏตัวตนคนจีนมากขึ้นบนสื่อสาธารณะมากขึ้น ดังนั้น ภาพยนตร์เรื่อง “กี” จึงมีนัยยะเรื่องความเท่าเทียมกันทางชาติพันธุ์ในอินโดนีเซียแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นความคึกคักของวงการภาพยนตร์อินโดนีเซียก็ปรากฏเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อมีการจัดเทศกาลภาพยนตร์ขึ้นในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1998 ซึ่งจัดขึ้นในชื่อของ “เทศกาลภาพยนตร์จาการ์ต้า” (Jakarta Film Festival) และเทศกาลนี้ก็จัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอีกทั้งใน ปี ค.ศ. 2004 ก็มีการฟื้น “เทศกาลภาพยนตร์อินโดนีเซีย” (Indonesian Film Festival) ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่หยุดจัดไปในปี ค.ศ.1993

 

อย่างไรก็ดีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวของภาพยนตร์อินโดนีเซีย และการปรากฏตัวของภาพยนตร์เรื่อง “กี” นี้ กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยเท่าใดนัก เช่นเดียวกันกับบทเรียนทางประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชนของอินโดนีเซียก็ถูกรับรู้อย่างเบาบาง เรามีความเข้าใจเพื่อนบ้านน้อยมากต่อประเด็นดังกล่าวและอื่นๆ หลายครั้งเราคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพมากที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่หารู้ไม่ว่า “อัตราการเจริญเติบโตของสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง” นั้น มีขึ้นมีลง เฉกเช่น “อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” และอัตรานั้น จะลดต่ำลง หากคุณภาพทางประชาธิปไตยถูกบั่นทอนลง ในสถานการณ์ปัจจุบัน คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า คุณภาพของประชาธิปไตยไทยกำลังอยู่ในระดับใด

ลองจินตนาการดูว่าประเทศที่เคยได้ชื่อว่า มีระบอบเผด็จการที่เข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สามารถผลิตภาพยนตร์การเมืองที่วิพากษ์ระบอบเผด็จการที่เพิ่งจะล้มไปได้ไม่นานได้เปิดกว้างเช่นนี้ ซึ่งหากพิจารณาว่า สื่อภาพยนตร์นั้นถือเป็นช่องทางการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและเสรีภาพของประชาชนทั่วไปแล้ว นั่นย่อมเป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่า มันก็คือดัชนีอย่างหนึ่งที่ชี้วัดเสรีภาพและกระบวนการเป็นประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี ในทางกลับกันประเทศที่ได้ลิ้มรสกับประชาธิปไตยมาแล้วอย่างประเทศไทย ซึ่งมีพื้นที่สาธารณะอย่างเพียงพอที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง  กลับมีแต่บรรยากาศของความเงียบเหงาอย่างน่าเศร้าใจสำหรับภาพยนตร์ทางการเมือง

 

 

เชิงอรรถ

Film Gie, the official website, http://www.milesfilms.com/gie
 
Maxwell, John.2001. Soe Hok Gie: Pergulatan Intelektual Muda Melawan Tirani. Jakarta: PT Pustaka Utama Grafiti.
 
การวัดความสำเร็จของภาพยนตร์ในอินโดนีเซียนั้น จะให้ความสำคัญกับจำนวนผู้เข้าชมมากกว่ารายได้ เช่นว่า ในปี ค.ศ. 2002 ภาพยนตร์เรื่อง อาดา อาปา เดองัน จินตา (Ada Apa Dengan Cinta?) สามารถทำสถิติยอดผู้เข้าชมสูงสุดในรอบหลายสิบปี คือ 1.5 ล้านคน ซึ่งนับเป็นการสร้างปรากฏการณ์ที่สำคัญแก่วงการภาพยนตร์อินโดนีเซีย ยุคหลัง ปี ค.ศ. 1998
 
สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ. “กี” หนังอินโด ที่นักศึกษาไทยไม่ควรพลาด.ประชาไทออนไลน์ , 19 กุมภาพันธ์ 2549
 
Robertson, Patrick .1993. The Guinness Book of Movie Facts & Feats.New York: Abbeville Press
 
Tamu Agung – Exalted Guest,http://arts.monash.edu.au/mai/films/guest.html
 
Sen, Krishna; Giecko, Anne Tereska (editor) (2006). Contemporary Asian Cinema,Indonesia: Screening a Nation in the Post-New Order. Oxford/New York: Berg, 96-107
 

Nugroho, Garin, “Seks clip : Dunia Fragmentasi”, Kompas, 24 Juli 1994

 

ความเห็น

Submitted by น้ำลัด on

เจ้าของบทความคุยเรื่องหนังและการเมืองก็คุยไป
ผมลองมาคุยเรื่องเศรษฐกิจของอินโดนีเซียดูมั่งสิว่ามันน่าจะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าคนไทยเราประเมินศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียต่ำเกินไป
ก็เลยมองข้ามประเทศนี้ไป แบบไม่สนใจใยดี ว่าประเทศนี้เป็นอะไรยังไง
และก็อาจจะไม่ได้คิดค้าขายติดต่อกับประเทศอินโดนีเซียให้มากขึ้น

ดูเหมือนว่าคนญี่ปุ่นจะมองเห็นอนาคตของอินโดนีเซีย จึงเข้าไปลงทุนค่อนข้างมาก
ในขณะที่ไทยเรากำลังหลงระเริงกับคำยกยอว่าเป็นดีทรอยท์แห่งเอเชียอยู่นั้น
เรากับพบว่ามีรถที่ผลิตจากประเทศอินโดนีเซียเข้ามาป้วนเปี้ยนในตลาดเมืองไทยมากขึ้น

ทั้ง Honda Toyota Daihatsu Suzuki ต่างมีฐานการผลิตในอินโดนีเซีย
และเมื่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวขึ้นมาถึงจุดๆหนึ่ง เขาก็จะมีกำลังซื้อมหาศาล
เพราะว่าเขามีพลเมืองมากถึงกว่า 200 ล้านคน

ถึงแม้ขณะนี้ GDP ต่อหัวอาจจะมีแค่ครึ่งหนึ่งของคนไทย
แต่ในอนาคตมันก็ไม่แน่ อะไรมันก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นในโลกใบนี้

ถึงแม้อินโดนีเซียจะไม่ได้มีอัตราการเติบโตแบบหวือหวา
แต่ก็มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคงอย่างต่อเนื่อง
และมีแนวโน้มที่จะค่อยๆมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นด้วย

โดยที่จะอยู่ระดับเดียวกันกับการเติบโตของเวียดนาม
ซึ่งอินโดนีเซียและเวียดนามจะเป็นเพียงสองประเทศในอนาคตอันใกล้
ที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มอาเซียน

แต่เวียดนามนั้นมีอะไรหลายๆอย่างที่คล้ายประเทศไทย
จึงจะกลายเป็นคู่แข่งกับไทยมากกว่าที่จะเป็นคู่ค้าของไทย

ความขัดแย้งทางด้านศาสนาในโลกของเราตอนนี้ดูจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งมันน่าจะกระทบกับการทำธุรกิจไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในขณะที่ราคาน้ำมันก็ยังแพง ทำให้กลุ่มประเทศที่มีน้ำมันก็ยังคงร่ำรวยขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แล้วประเทศกลุ่มที่มีน้ำมันส่วนใหญ่ก็เป็นอิสลามเสียด้วยสิ
ประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศอิสลาม อาจจะสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาสขึ้นมาได้

โลกของเราเปลี่ยแปลงรวดเร็วมากขึ้นทุกวัน เพียงแค่เรากะพริบตาอีกที
เราอาจจะพบกับสิ่งที่เราไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้เสมอ

Submitted by ชินวัตร โกงทั้งโคตร on

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรกล่าวแบบติดตลกว่าเห็นด้วยที่ใบหน้าของประธานสมศักดิ์ เกียจสุรนนท์เหมือนอวัยวะเพศของควายตัวเมีย(แก่)เพราะเพื่อนๆของท่านที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งชื่อเล่นของท่านแบบน่ารักๆว่าสมศรี หน้าหัก