ยุกติ มุกดาวิจิตร: สนทนากับราชบัณฑิต (อย่างยำเกรงเบาๆ)

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

ราชบัณฑิตปรับระบบการสะกดทับศัพท์ภาษาอังกฤษให้ตรงกับเสียงพูดจริงมากขึ้น คำถามจากราษฎรอย่างผมคือ

(หนึ่ง) ราชบัณฑิตใช้สำเนียงภาษาอังกฤษเสียงไหน บริ้ทิ่ช อเม้ริคั่น อ่อสเตร้เลี่ยน หรือสำเนียงถิ่นต่างๆ อย่าง เซ้าท์เอเชี่ยน (ผมไม่อยากใช้คำว่าอินเดีย เพราะเหตุผลยืดยาว ยังไม่อยากอธิบายในที่นี้) จามายกั้น หรือ ซิงค์กริช ที่สำคัญคือ หากจะระบุสำเนียงมาตรฐานของภาษาอังกฤษกันจริงๆ ราชบัณฑิตไทยจะเอา ออธ้อริที้ อะไรมาประกาศว่าสำเนียงไหนเป็นภาษาอังกฤษมาตรฐาน ในเมื่อในโลกนี้ไม่มีใครสามารถกำหนดแบบนั้นได้ 

(ถ้าทำก็คงเหมือนการประกาศอะไรโดยไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะทำได้ ไม่ส่งผลอะไร ประเด็นนี้ต้องแนะนำให้ราชบัณฑิตไปอ่านทฤษฎี สปี่ช แอคส์ ของ จอน อ้อซทิน)

(สอง) เท่าที่ความสามารถทางภาษาอังกฤษของผมจะอำนวย ภาษาอังกฤษไม่ได้สนใจวรรณยุกต์เท่ากับน้ำหนักเสียง เช่น จะอย่างไรเสีย ภาษาไทยก็ไม่สามารถเขียนคำว่า guitar ได้ เพราะคำนี้ (อย่างน้อยแบบอเม้ริคั่นที่ผมเคยชิน) จะเน้นเสียงพยางค์หลัง ทำให้เสียงออกเป็น คีทาร์ ที่ต้องออกเสียงพยางค์แรกเบาๆ แต่ระบบการเขียนภาษาไทยไม่มี หรือคำว่า เซ็นติเมตร ที่ราชบัณฑิตนำมาใช้เป็นตัวอย่าง ถ้าจะให้สื่อถึงการเน้นเสียง ก็ต้องเป็น เซ้นเทอมีเถ่อะ เสียงแรกสูงเพราะการเน้นหนัก ส่วนพยางค์หลังก็ควรใช้วรรณยุกต์ต่ำ เพราะต้องลดเสียงลง

ที่จริงระบบการเขียนภาษาอังกฤษก็ไม่ได้แสดงการเน้นพยางค์ ต้องใช้ความเคยชินในภาษาพูดเท่านั้นจึงจะรู้ ผมเองตอนไปอยู่ในโลกภาษาอังกฤษจึงมีปัญหามาก จะพูดอะไรคนก็ไม่เข้าใจ เพราะเน้นพยางค์เพี้ยนตลอด

(สาม) มีอักษรใดบ้าง (แม้แต่อักษรของนักภาษาศาสตร์) ที่จะสามารถถ่ายถอดเสียงได้อย่างแนบสนิท การสร้างอักษรแบบอักษรแทนเสียงขึ้นมาล้วนบิดเบือนการออกเสียงของคนทั้งสิ้น 

(ไม่ได้หมายความว่าอักษรมีเฉพาะแบบเขียนแทนเสียง เรารู้กันดีว่ายังมีอักษรแทนภาพอีก และไม่ได้หมายความว่าภาษาเขียนเป็นสิ่งเลวร้าย ไว้ใจไม่ได้ แต่เพราะธรรมชาติของการเขียนและภาษามันเป็นอย่างนั้น คือเมื่อมีภาษาแล้ว จะอย่างไรเสียมันก็บิดเบือนสิ่งที่มันอยากสื่อถึง แต่หากไม่มีภาษา ก็อาจจะไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลย เรื่องนี้ต้องเถียงกันยาว ขอยกไว้ก่อน) 

เช่นว่า

- มีเสียงมากมายที่มีในภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีในภาษาไทย อย่าง z หรือ r 
- เสียงบางเสียง ฝรั่งไม่ได้ออกเสียงด้วย ต แต่ไทยนิยมเขียนและออกเสียงด้วย ต ราชบัณฑิตก็ยังออกเสียงแบบไทยๆ ด้วย อย่างคำว่า เซ็นติเมตร แทนที่จะเป็น เซ้นเทอมีเถ่อะ

อย่าว่าแต่ภาษาอังกฤษเลย อักษรไทยก็ไม่สามารถเขียนภาษาเวียดนาม ภาษาเขมร ซึ่งเป็นภาษาใกล้ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ภาษาไทดำในเวียดนามหรือที่พวกโซ่งพูดในเพชรบุรี สุพรรณบุรี ได้อยู่แล้ว 

อย่างเสียง ngã (ออกเสียงประมาณ หงะอ๊ะ) ในภาษาเวียดนาม ก็ไม่มีในภาษาไทยแล้ว แล้วจะเขียนได้อย่างไร แค่เสียงแทนคำว่า มี หมา กา ขา ในภาษาไทยดำในเวียดนาม ก็ไม่สามารถเขียนได้ในภาษาไทยแล้ว เพราะเป็นวรรณยุกต์ที่ไม่มีในภาษาไทย หรือเสียง ร ที่เป็นพยัญชนะสะกดในภาษาขแมร์ จะเขียนให้ออกเสียงในภาษาไทยอย่างไรก็ไม่ได้ 

ความหลงเชื่อที่ว่า อักษรไทยสามารถใช้เขียนแทนภาษาใดๆ ก็ได้นั้น เป็นความเชื่อที่คลั่งชาติอย่างยิ่ง ความเชื่อแบบนี้จึงควรจะเลิกกันได้แล้ว เลิกสอนเด็กอย่างนี้ได้แล้ว

(สี่) เอาเข้าจริง ราชบัณฑิตก็ยังใช้ความเคยชินแบบเดิมๆ ของการเขียนทับศัพท์คำภาษาอังกฤษ ไม่ได้ต้องการปฏิรูปการเขียนให้ถูกต้องตรงกับการออกเสียงอย่างแท้จริง ยังยึดมั่นกับการเขียนแบบเดิมอยู่เป็นหลักอย่างเหนียวแน่น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ยกมาแล้วว่า ราชบัณฑิตยังคงใช้อักษร ต แทนเสียง t ทั้งๆ ที่อักษร ท จะออกเสียงใกล้เคียงกว่า เป็นต้น

ถ้ารู้ทั้งรู้อย่างนั้นแล้วราชบัณฑิตจะทำไปทำไมกัน หรือราชบัณฑิตจะไม่รู้? ไม่น่าเชื่อ เป็นไปไม่ได้ ผมคิดว่าเราอาจอ่านข้อกำหนดล่าสุดของราชบัณฑิตออกได้เป็นสองนัยว่า 

ถ้ามองในแง่ดี ราชบัณฑิตคงต้องการอนุวัตรตามโลก ที่การใช้ภาษาอังกฤษมีความแพร่หลายมากขึ้น การออกเสียงและการเขียนให้ใกล้เคียงเจ้าของภาษาจึงมีความจำเป็นมากขึ้น แต่กระนั้นก็ดี ราชบัณฑิตก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ของการถ่ายถอดเสียงในภาษาต่างประเทศดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว 

อันที่จริง ราชบัณฑิตเคยส่งเอกสารมาให้ผมแสดงความเห็นเรื่องการออกเสียงภาษาเวียดนาม ผมวิจารณ์ข้อเสนอของราชบัณฑิตไปมากมาย แต่ความเห็นผมก็คงเป็นเพียงลมปาก คงจะไม่ได้รับการยอมรับจากราชบัณฑิต เพราะประกาศการเขียนทับศัพท์ภาษาเวียดนามที่ออกมาก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจต่อข้อเสนอของผม (เอาไว้มีเวลาค่อยมาพิจารณาเรื่องนี้กันอีกทีครับ) ผมจึงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่า ราชบัณฑิตอาจจะคิดว่า ผมจะรู้อะไรเกี่ยวกับภาษาเวียดนามดีไปกว่านักภาษาศาสตร์ที่ราชบัณฑิตไว้ใจมากกว่า หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องตีความว่า ราชบัณฑิตไม่ได้ถือเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไรกับการถ่ายถอดภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย

ดังนั้น ในอีกทางหนึ่งคือมองในแง่ร้าย ด้วยข้ออ้างเรื่องการสร้างมาตรฐานการเขียนเพื่อการสื่ิอสารกันในคนหมู่มาก ราชบัณฑิตน่าจะเพียงต้องการสร้างระเบียบให้เฉพาะราชบัณฑิตเท่านั้นที่ดูดี รู้ภาษา สามารถถ่ายเสียงภาษาต่างประเทศได้ถูกต้อง ใกล้เคียงภาษานั้นๆ ที่สุด เป็นการสร้างการแบ่งแยก สร้างระยะห่างของการเข้าถึงการเขียน อักษร และภาษาต่างประเทศ สร้างราคาและอำนาจนำในการควบคุมระบบการเขียนภาษาต่างประเทศให้ราชบัณฑิตเองอยู่เหนือผู้อื่นต่อไป

การเปลี่ยนแปลงของภาษา อักษร และการเขียน ล้วนเกี่ยวพันกับอำนาจในการกำหนดอุปนิสัยการใช้ภาษา ราชบัณฑิตเป็นองค์กรที่ยึดกุมอำนาจนี้มาตลอดนับตั้งแต่เริ่มมีการสร้างชาติสยามและไทยขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

การสร้างภาษาและอักษรมาตรฐานโดยราชบัณฑิตเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอาณานิคมภายใน ที่ทำให้คนส่วนใหญ่พูดเหน่อ ทองแดง ผิดเพี้ยน ไม่รู้หนังสือ ล้าหลังในการใช้ภาษา หรือกระทั่งไม่เป็นคนไทยไปเสียแทบทั้งหมด (ทั้งที่จริงๆ แล้ว พลเมืองไทยเพียงไม่น่าจะถึง 30% เท่านั้นที่พูดภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ เป็นภาษาแม่)

 

ที่มาภาพ: Yukti Mukdawijitra

 

 

ความเห็น

Submitted by สมภาร พรมทา on

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ยุกติอย่างสูงลิบลิ่วที่เขียนเรื่องนี้มาสู่กันอ่าน ที่ขอบคุณนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวแท้ๆ คือหลังจากที่อ่านพบว่าราชบัณฑิตท่านจะก่อการเรื่องภาษาดังแจ้งแล้วนั้น ตัวกระผมเองก็เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้ออยู่สักสองวันกระมังครับ ข้อเขียนนี้ช่วยกระผมได้มาก ขอบพระคุณอีกที

Submitted by plai_krabee on

การสร้างภาษาและอักษรมาตรฐานโดยราชบัณฑิตเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอาณานิคมภายใน ที่ทำให้คนส่วนใหญ่พูดเหน่อ ทองแดง ผิดเพี้ยน ไม่รู้หนังสือ ล้าหลังในการใช้ภาษา หรือกระทั่งไม่เป็นคนไทยไปเสียแทบทั้งหมด (ทั้งที่จริงๆ แล้ว พลเมืองไทยเพียงไม่น่าจะถึง 30% เท่านั้นที่พูดภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ เป็นภาษาแม่)

บทสรุปนี่ค่อนข้างจะชัดเจนไปเลยว่า ต้นตอของที่ทำให้ "ภาษาท้องถิ่น" วิบัด(อยากใช้คำนี้+"ซบ")มาจากไหน
ภาษาไทย จริงๆแล้วมีที่ไหน มันก็ล้วน ผสมผสาน หลากหลายๆภาษาผสมปนเปกันไป มอญ เขมร บาลี สันสกฤษ ฝรั่ง เจ็ก แขก หากไม่นับนักภาษาศาสตร์ จะมีใครสักคนได้ว่า คำไหนเป็นไทยแท้ ภาษากลางที่ใช้ตอนนี้ยังไม่อยากเรียกเลยว่าเป็นภาษากลางเลย อยากเรียกว่าเป็นภาษา "กรุงเทพฯ" มากกว่า ซึ่งก็เป็นภาษาท้องถิ่นนั่นแหละ โอเคนะ หากต้องการใช้ตัวอักขระ ก ข ค ง ในรูปแบบเหมือนกันได้ แต่ปล่อยอิสระในการเขียนเถอะ อย่างคำว่า "ทุ่ง" ทางเหนือ คือ "โต้ง" หรือ "ตุ้ง" ป้ายบอกทาง ที่เข้าบ้าน "โต้งยาว" หรือ "ตุ้งยาว" ก็กลายเป็น "ทุ่งยาว" วิบัดไปโดยแท้....ความงดงามของมนุษย์ คือความหลากหลาย นี่จะจำกัดความหลากหลายกันอย่างนั้นหรือ

Submitted by น้ำลัด on

พาสาไทวันละจั๊กหน้อย

บักเตรี หมายถึง นายเตรี
(ดูคำอื่นที่ละม้ายกันเช่น บักหำหน้อย บักเสี่ยว เป็นต้น)
--------------------------------------------------------

อย่าว่าแต่การสะกดภาษาเพื่อนบ้านของไทยเลยครับอาจารย์

แม้แต่ภาษาเหนือและภาษาอีสานของไทยเราเอง
ก็ไม่สามารถสะกดด้วยภาษาไทยกลางได้
อย่าง "แม่ใยฮ์" ในภาษาอีสานที่แปลว่า "ยาย"นั้น
เสียง "ยอฮ์" เขาก็ต้องมีเสียงออกจมูกด้วย ซึ่งภาษาไทยกลางไม่มี

วรรณยุกต์ของภาษาเหนือและภาษาอีสาน มีมากกว่าภาษาไทยกลาง
คำศัพท์บางคำเขาจะมีเสียงกึ่งกลางระหว่าง เสียงโทและเสียงตรี
ซึ่งวรรณยุกต์เสียงพิเศษที่ว่านี้ คนไทยภาคกลางมักจะพูดไม่ได้
แม้ว่าจะรู้คำศัพท์ของภาษาเหนือกับภาษาอีสานหมดแล้วก็ตาม

Submitted by กฤช เหลือลมัย on

เรื่องนี้ทำให้ผมชักจะนึกถึงเกณฑ์การตัดสินคุณค่าของกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัยขึ้นมาซะแล้วสิ..เออ มันทำนองเดียวๆ กันเลยฮิฯ

Submitted by dr hut on

ราชบัณฑิตอย่าไปกังวลกับความผิดถูกของภาษาไทยให้มากนักเบยฮะว์ ภาษามันมีวิวัฒนากาตามความนิยมชมชอบของคนส่วนใหญ่มาตลอด หากอยากจะปฏิรูปจินๆ ควรทำให้ภาษาไทยเรียบง่าย เรียนรู้ไม่ยากส์ ไม่รกรุงรังด้วยตัวอักษรเสียงเดียวกันแต่ต่างรูป ภาษาสก็อยส์ก็แสดงให้เราเห็นแล้วว่าตัวอักษรไทย ฟุ่มเฟือย และไม่พอเพียงขนาดไหน อะไรที่ไม่ค่อยใช้งานก็ตัดๆ ยกเลิกไปบ้างนะฮะว์ ผมชอบภาษาไทยบนเฟสบุ๊คมวากกว่าฮะว์ อ่านสนุกกว่าเยอะเบย คริๆ

Submitted by แสงดาว ศรัทธามั่น on

เฮา ก่บ่ฮู้ จะว่าอย่างไรแล้ว ผู้ที่ชอบผูกขาดความคิดของตนเอง ถ้าพูดให้ถึงที่สุดแล้ว เหมือนกับความคิดเผด็จการไม่มีผิด ใครคิดใครเขียนใครพูดนอกกรอบที่เผด็จการ ตีกรอบ นั้น ทำไม่ได้ มันน่าขำและน่าสมเพทเวทนา อย่าเป็น คนประเภท " ล้าหลัง - คลั่งชาติ " เลย (วาทกรรมนี้ อ้ายสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้เรียก ) ... แหมอะไรๆ ก็ไทย จนอาเจียน อ้วกอยู่แล้ว ความเป็น "ไทย" ภาษาสำเนียง "ไทย" มันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ณ ที่ นั้นๆ เท่านั้น ในสยามประเทศสมมุตินี้ มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม และเชื้อชาติ ภาษาหลากหลาย เขามีความรุ่มรวยทางชีวภาพ no time no space ไร้กาลเวลา ไร้สถานที่ ฯลฯ อย่าเอามาครอบงำกันเลย คนภาคใต้จะ ทองแดงก็ทองแดงไป โทนเสียงมีเสน่ห์จะตายไป เช่นเดียวกะโทนเสียงของพี่น้อง อิสาน เหนือ ไตลื้อ ไตยอง ไตขืน พวกราชบัณฑิต พวกมหาราชบัณฑิตสมมุติทั้งหลาย ฟังกันไหมเนี่ย อย่ามัวจมอยู่ใต้น้ำเลย ฟังเขาวิจารณ์ซะมั๊. ฉันอู้ (พูด) แบบนี้อย่าโกรธา เน้อ )

มันเหมือนกะเรื่องราวของศาสนา ของคณะสงฆ์ องคืกรสงฆ์ ที่มหาเถระสมาคมเป็นองค์กรผูกขาด(ข้าพระพุทธเจ้า คิดเช่นนี้ จิง จิง) ใครคิดต่างก็เผด็จการ มิน่า สันติอโศก จึงคว้ำบาตร ไม่สังฆกรรมด้วย ( คว้ำบาตร เขาได้ เขาก็คว้ำบาตร โต้ตอบได้)

บางคราข้าพระพุทธเจ้าก้ไม่อยากสนทนาธรรมด้วย กะพวกชูหางชูคอสลอนพวกนี้ ตลอดจนพวกที่ทำเป็น "ศีลธรรมจ๋า" มันดูน่าสมเพทเวทนา จ้า ... จบ!

Submitted by แสงดาว ศรัทธามั่น on

เฮา ก่บ่ฮู้ จะว่าอย่างไรแล้ว ผู้ที่ชอบผูกขาดความคิดของตนเอง ถ้าพูดให้ถึงที่สุดแล้ว เหมือนกับความคิดเผด็จการไม่มีผิด ใครคิดใครเขียนใครพูดนอกกรอบที่เผด็จการ ตีกรอบ นั้น ทำไม่ได้ มันน่าขำและน่าสมเพทเวทนา อย่าเป็น คนประเภท " ล้าหลัง - คลั่งชาติ " เลย (วาทกรรมนี้ อ้ายสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้เรียก ) ... แหมอะไรๆ ก็ไทย จนอาเจียน อ้วกอยู่แล้ว ความเป็น "ไทย" ภาษาสำเนียง "ไทย" มันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ณ ที่ นั้นๆ เท่านั้น ในสยามประเทศสมมุตินี้ มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม และเชื้อชาติ ภาษาหลากหลาย เขามีความรุ่มรวยทางชีวภาพ no time no space ไร้กาลเวลา ไร้สถานที่ ฯลฯ อย่าเอามาครอบงำกันเลย คนภาคใต้จะ ทองแดงก็ทองแดงไป โทนเสียงมีเสน่ห์จะตายไป เช่นเดียวกะโทนเสียงของพี่น้อง อิสาน เหนือ ไตลื้อ ไตยอง ไตขืน พวกราชบัณฑิต พวกมหาราชบัณฑิตสมมุติทั้งหลาย ฟังกันไหมเนี่ย อย่ามัวจมอยู่ใต้น้ำเลย ฟังเขาวิจารณ์ซะมั๊. ฉันอู้ (พูด) แบบนี้อย่าโกรธา เน้อ )

มันเหมือนกะเรื่องราวของศาสนา ของคณะสงฆ์ องคืกรสงฆ์ ที่มหาเถระสมาคมเป็นองค์กรผูกขาด(ข้าพระพุทธเจ้า คิดเช่นนี้ จิง จิง) ใครคิดต่างก็เผด็จการ มิน่า สันติอโศก จึงคว้ำบาตร ไม่สังฆกรรมด้วย ( คว้ำบาตร เขาได้ เขาก็คว้ำบาตร โต้ตอบได้)

บางคราข้าพระพุทธเจ้าก้ไม่อยากสนทนาธรรมด้วย กะพวกชูหางชูคอสลอนพวกนี้ ตลอดจนพวกที่ทำเป็น "ศีลธรรมจ๋า" มันดูน่าสมเพทเวทนา จ้า ... จบ!

Submitted by กวี ผาบมาร on

ใช่นะครับ ราชบัณฑิตต้องการสร้างอำนาจในภาษาไทย เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนุญ ใช้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายวินิจฉัยตัดสินคดี แบบ ชิมไปบ่นไป ของคุณสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ตกบัลลังก์เพราะใช้ภาษาผิดจากพจนานุกรมไทย ของราชบัณฑิตยสถาน น่าเวทนาใช่ไหม

Submitted by thita on

คราวก่อนนายกเขียน corruption เป็น 'คอรัปชั่น' ก้อยังโดนด่าซะ...
ภาษาอังกฤษ จะมาเอามาตรฐานของราชบัณฑิต วัดผิดถูก น่าจะไม่ใช่ เพราะภาษาดิ้นได้
"คนไทยทั่วๆไปคล่องมือที่จะเขียน 'คอรัปชั่น' มากกว่า 'คอร์รัปชั่น' ทางราชบัณฑิตฯ ควรคำนึงข้อนี้ด้วยให้มากๆ เวลาจะกำหนดอะไรขึ้นมา เพราะภาษาใดก็ตามจะดิ้นและเคลื่อนไปเรื่อยตามกาลเวลาและความหลากหลายของผู้ที่ใช้ ถ้าจะใช้วิธีที่ราชบัณฑิตฯ กำหนด เราก็ต้องหันกลับไปใช้คำว่า อิงแลนด์ (England) แทนคำว่า อังกฤษ และ ปอรตุกัล (Portugal) แทนคำว่า โปรตุเกส"

ยุกติ มุกดาวิจิตร: ฮิญาบ ที่เปิดโปงในปกปิด

เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร

ยุกติ มุกดาวิจิตร: จดหมายเปิดผนึกถึงคณะวิจิตรศิลป์ มช. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

ยุกติ มุกดาวิจิตร: Georges Bataille ในซีรียส์เกาหลี

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ยุกติ มุกดาวิจิตร: วันชาติเวียดนามกับการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น

หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด