ยุกติ มุกดาวิจิตร: พลังนักศึกษา พลังไม่บริสุทธิ์

ปีนี้หลายคนคงระลึกถึงเหตุการณ์รุนแรงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยรูปนักศึกษาเรือนแสนถมเต็มถนนราชดำเนินรายล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมคำบรรยายใต้ภาพว่า "พลังบริสุทธิ์" กันอีก แน่นอนว่าผมก็เหมือนกับใครก็ตามที่ใฝ่ฝันให้ประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้อย่างแท้จริง ย่อมยินดีกับภาพนี้

แต่ผมเอียนกับการที่จะต้องคอยติดป้ายให้นักศึกษาดูบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนั้นตลอด เนื่องจาก

(1)

 ภาพความบริสุทธิ์ของนักศึกษาถูกสร้างให้ขัดแย้งตัดกันกับพลังของเผด็จการทหารในยุค 14 ตุลา 2516 แต่เราต่างรู้กันดีว่าภาพสีขาวนี้กลับถูกลบล้างไปอย่างไร้ความปรานี เมื่อนักศึกษาถูกแปลงให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ในวันที่ 6 ตุลาคมในอีกสามปีถัดมา 

ความเป็นนักศึกษาจึงไม่ได้เป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์เสมอไป ชนชั้นนำไทยพร้อมจะโอบอุ้มหรือเข่นฆ่านักศึกษา (และมวลชนใดๆ) ได้เสมอ สุดแท้แต่ว่านักศึกษาจะอยู่ข้างใคร สุดแท้แต่นักศึกษาจะไม่อยู่ข้าง "ใคร"

(2) การยกย่องให้นักศึกษาบริสุทธิ์ผุดผ่องกลับทำให้พลังมวลชนอื่นๆ กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังไปหมด และจึงแปดเปื้อนมีมลทินกันไปเสียหมด ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วนักศึกษาเองก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง ไม่ต่างจากกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ 

แต่ประวัติศาสตร์แนวหนึ่งกลับเขียนให้มีแต่เพียงนักศึกษาเท่านั้นที่เป็นมวลชนซึ่งมีอุดมการณ์สูงส่ง หากคนกลุ่มอื่นเดินขบวน อย่างดีที่สุดเขาก็จะถูกมองว่าทำเพียงเพื่อผลของตนเอง อย่างเลวร้ายที่สุดคือ พวกเขาถูกดูแคลนว่าเป็นแค่ม็อบรับจ้าง

ภาพบริสุทธิ์ผุดผ่องของนักศึกษาในอดีต จึงเปล่งรัศมีกลบลบกลุ่มพลังอื่นๆ ไปเสียทั้งหมด พลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาลดทอนคุณค่าของให้พลังอื่นดูหมองหม่นไปเสียทั้งหมด

(3) ภาพบริสุทธิ์ของนักศึกษา 14 ตุลาฯ 2516 กลายเป็นทุนทางการเมือง โอบอุ้ม "คนเดือนตุลา" ให้ดูดีมีราศรีเกินจริงไปเสียทุกคน ราวกับว่าเราจะใช้มาตรฐานที่วัดตัดสินคนเดือนอื่น ไปตัดสินคนเดือนตุลาฯ ไม่ได้เด็ดขาด เพราะไม่ว่าจะทำอะไร พวกเขาก็จะบริสุทธิ์ล้ำหน้าเกินพวกเราเสมอ

แม้ว่าหลายต่อหลายคนจะมีความสามารถ มีผลงานเพียงแค่ระดับ "งั้นๆ" แต่บุญบารมีทางการเมืองของการเป็น "คนเดือนตุลาฯ" ที่แปะติดหน้าผากพวกเขาไว้ ก็จะช่วยขับเน้นให้อะไรที่งั้นๆ ไต่ระดับกลายเป็นอัจฉริยะไปได้อย่างง่ายดาย 

(4) ภาพบริสุทธิ์ของนักศึกษายังสร้างความคาดหวังอย่างผิดๆ ต่อนักศึกษารุ่นต่อๆ มาตลอดว่า นักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ จึงต้องมีอุดมการณ์สูงส่ง จึงควรเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์ ทั้งๆ ที่ที่จริงแล้วพวกเขาก็ทำเพื่อผลประโยชน์ตนเอง และเมื่อถึงยุคที่พวกเขาต่างสมประโยชน์แล้วดังเช่นในทุกวันนี้ พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวกันอีกต่อไป 

ไม่เท่านั้น พวกเขายังกลับพร้อมจะเหยียบย่ำมวลชนกลุ่มอื่นที่ขัดผลประโยชน์ของพวกเขา สังคมจึงไม่ควรคร่ำครวญเรียกร้องอะไรนักหนากับพลังนักศึกษา ซึ่งหมดพลังเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์ไปแล้วอีกต่อไป

ในเมื่อขบวนการมวลชนใดๆ ก็ล้วนเป็นพลังไม่บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการนักศึกษา ม็อบมือถือ สมัชชาคนจน พันธมิตรประชาชนฯ คนเสื้อแดง เราจะยังตัดสินคุณค่าของมวลชนแค่จากสถานภาพของพวกเขากันอยู่อีกทำไม

การตรวจสอบว่าพลังมวลชนกลุ่มใดทำเพื่อผลประโยชน์ใด ปิดกั้นผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมหรือไม่ มวลชนใดส่งเสริมระบอบหมอบกราบ ไม่เห็นหัวประชาชน ขัดขวางกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดินหรือไม่ เป็นสิ่งที่ควรจะใส่ใจกันมากกว่าหรือไม่

แล้วก็โปรดเลิกเรียกพลังนักศึกษาว่าพลังบริสุทธิ์กันเสียทีเถอะ

 

ความเห็น

Submitted by น้ำลัด on

ผมว่าภาพลักษณ์ของนักศึกษาในสมัยนั้นคือ "ปัญญาชน"
ดูเป็นผู้ใหญ่ ดูเป็นความหวังของชาติ อย่างเต็มภาคภูมิ
จะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์นั้นผมก็ไม่รู้
รู้แต่ว่าลมหายใจของนักศึกษาสมัยนั้นคือ "ประชาชน"

แต่นักศึกษาสมัยนี้ต้องต่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจและสังคม
หรืออาจมัววุ่นวายอยู่กับ social media ต่างๆนานา
จนยากที่จะหาเวลาไปทำกิจกรรมอะไรเพื่อส่วนรวมได้

อีกมุมมองหนึ่งสำหรับผู้ใหญ่ก็คือนักศึกษาก็เป็นเพียงคนหนุ่มสาว
ที่ยังอ่อนต่อโลก อาจถูกชักจูงให้เข้าใจอะไรผิดๆได้โดยง่าย
และมันก็ได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่มีวันลืมเลือนกันไปอีกนาน

แนวคิดอะไรที่มันสำหรับคนหมู่มากในสังคม
มันคงไม่ค่อยสบอารมณ์นักกับผู้มีอำนาจ
ผู้มีอำนาจอาจมองมันเป็นเหมือนมะเร็งร้าย
ที่จะต้องขจัดมันออกไปด้วยการตัดทิ้งเท่านั้น
ไม่ว่ามะเร็งร้ายนั้นจะเกิดขึ้นกับส่วนใดก็ตาม

หรือมันอาจไม่ใช่มะเร็งร้ายอะไรเลย
แต่ผู้มีอำนาจมองว่ามันไม่สวย ไม่พึงประสงค์
ก็ต้องตัดทิ้งไป เหมือนทำศัลยกรรมตกแต่งอะไรอย่างนั้นนะครับ

Submitted by dk on

สถานะ นศ.เป็นสิ่งชั่วคราว หรือ เป็นระยะเปลี่ยนผ่าน หรือ ช่วงวัยแสวงหา
ดังนั้น ถ้าจะว่า มีผลประโยชน์ ก็ต้องว่า เป็นผลประโยชน์ต่อฐานชีวิตในอนาคต

ห้วงเวลานั้น ชนชั้นกลางยังไร้พลัง
เพราะ กำลังก่อตัว ภายใต้ อำนาจเผด็จการทหารอย่างเข้มข้น
ขณะเดียวกัน การเข้ามาของทหารอเมริกันและสินค้าญี่ปุ่น ทำให้สังคมไทยฟุ้งเฟ้อ อ่อนแอ เสียดุลอย่างมาก

นศ.ห้วง14ตค16 จึงเป็นสัญญลักษณ์การต่อต้านเผด็จการทหารครองเมือง ที่ไม่ได้ทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า

พัฒนาการให้หลังร่วมสี่สิบปี ก็เป็นในทิศทางเดียวกัน
แต่ ปชช.ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง แผ่ขยายเพิ่มพื้นที่การต่อสู้เสริมเข้ามีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ
ปชต.ก็กินพื้นที่ขยายกว้างมากขึ้น สอดรับกับ บริบทที่ทุนนิยมเสรีคืบคลานเข้ามา ร่วมกับโลกาภิวัฒน์ที่ไปสลาย
ความเป็นชาตินิยมให้ลดความศักดิ์สิทธิลง หรือจำกัดบริเวณมากขึ้น แปรเปลี่ยนรูปไป แฝงนัยทางสังคมแทน มากขึ้น

พอถึงยุคปัจจุบัน พลังนศ. หายกลืน แทบไม่มีบทบาท เมื่อเทียบกับ พลังแตกกลุ่ม ดาวกระจาย ไปในหมู่ปชช.กลุ่มต่างๆ และพลังของชนชั้นกลางในเมืองแทน ซึ่งเด่นชัดในรูปผลประโยชน์ที่โยงการเข้ามีส่วนร่วม
ทางการเมืองมากขึ้นทุกขณะ เกาะเกี่ยวโยงใยจากฐานราก ระดับชุมชน โยงไปสู่ปิรามิดปลายยอด ณ การเมืองระดับ
ประเทศมากขึ้น....ในขณะที่ก็มีพลังเงียบ ที่ไม่สนใจ หรือเปิดเผยตัวตน ก็มีมากเช่นกัน

ยุกติ มุกดาวิจิตร: ฮิญาบ ที่เปิดโปงในปกปิด

เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร

ยุกติ มุกดาวิจิตร: จดหมายเปิดผนึกถึงคณะวิจิตรศิลป์ มช. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

ยุกติ มุกดาวิจิตร: Georges Bataille ในซีรียส์เกาหลี

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ยุกติ มุกดาวิจิตร: วันชาติเวียดนามกับการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น

หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด