พุทธศาสนากับประชาธิปไตยในสังคมไทย (2): ว่าด้วยอำนาจศูนย์กลางของสังคมไทย

 

ชาญณรงค์ บุญหนุน
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

ในบทความตอนที่ (2) นี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึง “มโนทัศน์เรื่องอำนาจในสังคมไทยที่มีรากฐานจากคัมภีร์พุทธศาสนา” ทั้งนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นบทบาทด้านตรงกันข้ามกับบทบาทที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความตอนที่ (1) ที่ว่า พุทธศาสนา (สถาบันสงฆ์) แม้จะให้ความสำคัญกับการสร้าง “คนดี” ตามอุดมคติของชาวพุทธ แต่บทบาทดังกล่าวก็ไม่ได้สอดรับกับการสร้างพลเมืองตามแนวคิดในสังคมประชาธิปไตย 

กล่าวคือพุทธศาสนาไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “สิทธิของพลเมือง สิทธิทางการเมือง และสิทธิทางสังคม” ของพลเมืองภายในรัฐ อันจะช่วยให้เราได้ตระหนักเห็นความสำคัญพลเมืองในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประเทศตามแนวคิดประชาธิปไตย  แต่อำนาจในสังคมที่พุทธศาสนากล่าวถึงและสนับสนุนให้โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับแก่สังคมไทยเสมอมานั้น เป็นอำนาจชนิดที่ตรงกันข้ามกับอำนาจของประชาชน กล่าวคือ พุทธศาสนามีบทบาทสำคัญในการทำให้อำนาจของพระมหากษัตริย์กลายเป็นอำนาจศูนย์กลางของสังคมไทย นี่คือประเด็นสำคัญของบทความนี้  

มโนทัศน์เรื่องอำนาจในสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนั้นได้รับอิทธิพลจากปรัชญาการเมืองของพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ใน “อัคคัญญสูตร” ผสมผสานกับแนวคิดทาง “จักรวาลวิทยา” ของฮินดูซึ่งมีอิทธิพลต่อพุทธศาสนาก่อนที่จะแพร่เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อัคคัญญสูตรกล่าวไว้ชัดเจนว่าผู้ปกครองมาจากการสมมติของมหาชน อำนาจของผู้ปกครองเป็นอำนาจที่ได้รับจาก “การยินยอม” ของประชาคมที่รวมตัวกันจัดสรรระบบอำนาจขึ้นมา โดยที่จุดมุ่งหมายหลักของการสถานปนาผู้ปกครองก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมโดยทำหน้าที่“ลงโทษผู้สมควรลงโทษยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง” ความคิดที่ดูเหมือนจะสนับสนุนหลักการแบบประชาธิปไตยนี้ก็ไม่ได้นำไปสู่การยอมรับการปกครองแบบประชาธิปไตย เมื่อรวมเข้ากับจักรวาลวิทยาแบบฮินดูที่เชื่อว่าอำนาจศูนย์กลางของจักรวาลอยู่ที่เขาพระสุเมรุ แนวคิดในอัคคัญญสูตรก็ถูกแปลความให้เข้ากับระบอบคิดแบบราชาธิปไตย กล่าวคือ  

เมื่อแนวความคิดนี้แพร่เข้าสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความสำคัญของผู้ปกครองได้ถูกเน้นให้โดดเด่นขึ้นเป็นพิเศษ พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน [1] ระบุไว้ใน “ประเพณีธรรม” ข้อแรกของนักปกครองไว้ว่า “บ้านเมืองหรือสังคมจะต้องมีผู้ปกครอง จะมีแต่ราษฎรโดยไม่มีผู้ปกครองไม่ได้ เพราะจะทำให้คนต่างฝ่ายต่างเบียดเบียนกัน ใช้กำลังบังคับกันเองเหมือนกับสัตว์คือ ใครมีกำลังมากกว่าแข็งแรงกว่าก็ชนะไป จะเกิดความยุ่งยากวุ่นวาย ดังนั้นการมีผู้ปกครองจึงจำเป็นเพื่อความสงบสุข ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม โดยมีกฎเกณฑ์ควบคุมความประพฤติที่แน่นอน” [2] ความคิดทำนองนี้ถือว่า กษัตริย์ทรงเป็น “หัวใจแผ่นดิน” แนวคิดนี้ถือสืบทอดกันมาแม้เมื่อประเทศสยามเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สมัยใหม่ ดังปรากฏในแนวอธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่ว่า “ดินแดนที่ยังไม่มีกษัตริย์นั้นมีโจรผู้ร้ายโดยไม่มีผู้ตัดสิน และมีศัตรูของคนประเทศอื่นมาย่ำยีเบียดเบียนบ้านเมือง จนไม่เป็นอันทำมาหากิน จึงต้องสมมติให้คนคนหนึ่งเป็นกษัตริย์ครอบครองทำหน้าที่รักษาความสงบทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีอำนาจสิทธิ์ขาด ที่จัดสรรให้คนพวกหนึ่งทำหน้าที่ไปสงครามต่อสู้กับประเทศอื่นที่มาทำร้ายแก่บ้านเมือง และให้คนอีกพวกหนึ่งอยู่รักษาบ้านเมือง ครอบครัว เสบียงอาหาร” [3] 

การให้ความสำคัญกับผู้ปกครองในฐานะอำนาจศูนย์กลางของสังคมนั้น ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลคำสอนในพระสูตร (ธัมมิกสูตรและชาดกอื่น ๆ) พระสูตรชี้ให้เห็นว่า “ผู้ได้รับสมมติเป็นพระราชา” มีความสำคัญต่อสังคมอย่างยิ่ง สังคมจะล่มสลายหรือเจริญรุ่งเรืองก็ด้วยจริยาวัตรของ “ผู้ได้รับสมมติ” นั้น แต่ความสำคัญของผู้ปกครองถูกเน้นให้โดดเด่นขึ้นอีกโดยปราชญ์โบราณของชาวพุทธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขยายความว่า ผู้ปกครองคนแรกของโลก (ในอัคคัญญสูตร) ก็คือพระโพธิสัตว์ หรือพระพุทธเจ้านั่นเอง เช่น คัมภีร์ โลกทีปกสาร กล่าวไว้ ดังนี้

“ในการนี้พระผู้ทรงพระภาคเจ้าพระองค์นี้แหละ ตอนนั้นยังเป็นองค์พระโพธิสัตว์ในครั้งนั้นทรงมีรูปงามกว่า น่าดูกว่า มีศักดิ์มากกว่า ในพวกสัตว์นั้น สมบูรณ์ด้วยความรู้ มีกำลังอันสามารถข่มผู้ที่ควรข่ม  ยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง  สัตว์พวกนั้นพากันเข้าไปหาพระโพธิสัตว์นั้นอ้อนวอนแล้วสมมุติเชิดชูขึ้น พระโพธิสัตว์นั้นได้นามว่า “มหาสมมุติ” เพราะเป็นบุคคลที่มหาชนนั้นสมมุติ ได้นามว่ากษัตริย์ เพราะเป็นเจ้าใหญ่แห่งเกษตรทั้งหลาย ได้นามว่าราชา เพราะปกครองบุคคลอื่น ๆ โดยธรรม โดยเที่ยงธรรม พระโพธิสัตว์ทรงปรากฏพระนาม ๓ พระนาม ตามที่พระคันถรจนาจารย์มุ่งกล่าวไว้ว่า “พระโพธิสัตว์ทรงสมภพในสกุลแห่งอาทิตย์ เป็นบ่อเกิดแห่งคุณอันบริสุทธิ์ ทรงมีอานุภาพมาก ทรงพระนามว่า ราชา ทรงพระนามว่ามหาสมมต พระองค์ทรงเป็นดวงตาของโลก ทรงรุ่งเรืองด้วยพระรัศมี คือ พระคุณ มรรยาทที่พระมหาสมมตราชพระองค์ใดทรงตั้งไว้ ทรงกำหนดไว้ ฝูงชนไม่อาจเพื่อจะละเมิด พระมหาสมมตราชพระองค์นั้น ได้ทรงเชิดชูว่าเป็นพระมหาวีระ เป็นองค์อาทิแห่งพระราชาผู้ทรงพระยศ ผู้ตามรักษาขอบเขตของโลก”[4]

การยกสถานะ “มหาสมมติ” ในอัคคัญญสูตรขึ้นเป็นพระโพธิสัตว์ หรือ “พระพุทธเจ้า” เมื่อครั้งอดีตชาตินี้ ยังปรากฎใน “พระธรรมศาสตร” อันเป็นเสมือนบทนำของกฎหมายตราสามดวงที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย คัมภีร์เขียนโดยพระสงฆ์และนักปราชญ์ราชบัณฑิต และโดยอาศัยพระราชวินิจฉัยชี้แนะจากพระมหากษัตริย์เหล่านี้ต่างก็ชี้ไปทำนองเดียวกันว่า สังคมมนุษย์เป็นความตกต่ำทางด้านคุณธรรม เลวทราม อันเนื่องมาจากมนุษย์ละเมิดศีลธรรม จึงจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูคุณธรรม ต้องได้รับการชี้นำจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถพอที่จะช่วยให้พวกเขาข้ามพ้นบาปธรรมไปได้ ในภาวะอันตกต่ำนี้  ผู้ปกครองจึงมีภาระทางธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งในสังคมมนุษย์   กษัตริย์ในคัมภีร์ชั้นหลัง ๆ มีภารกิจในท่วงทำนองเดียวกันกับพระพุทธเจ้า ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ตามความในคัมภีร์โลกสัณฐาน กล่าวว่า

“. . . มหาชนทั้งหลายพร้อมเพรียงกันอาราธนาพระองค์ให้สถิตในขัตติยภูมิเสวยซึ่งมไหสุริยสมบัติอันเป็นบรมกษัตริย์อันประเสริฐ ทรงพระนามว่ามหาสมมติราช พระราชทานซึ่งโอวาทานุสาสน์สั่งสอนสัตว์โลกให้รู้ผิดและชอบ คุณแลโทษบุญแลบาป ทรงพระการุญภาพ ชี้แจงแสวงให้เห็นทางสวรรค์ทางนิพพาน เปรียบปานประดุจเป็นจักษุแห่งสัตว์โลก คุณรํสิสมุชฺชโล สมเด็จพระบรมกษัตริย์นั้น ส่องสว่างช่วงโชติด้วยพระรัศมีอันกล่าวคือพระคุณบรรเทาเสียซึ่งมืดคือโมหะ อันปกคลุมสันดานสัตว์ ขจัดมืดคือ โมหะ เปรียบประดุจดังพระสุริยเทพบุตรเสด็จอุทัยขึ้นมาเป็นคำรบสอง แลส่องสว่างกระจ่างทั่วสกลโลกธาตุ” [5] 

การยกย่องพระมหากษัตริย์ว่าทรงเป็น “จักษุแห่งโลก” หรือ “ผู้ขจัดความมืดคือโมหะ” มีความหมายว่า พระองค์ต้องทรงเข้าใจสัจธรรมและจริยธรรมเพียงพอที่จะนำพาสังคมมนุษย์ไปสู่ความดีงาม การยกให้ปฐมกษัตริย์ของโลก (ในอัคคัญญสูตร) เป็นพระโพธิสัตว์ในชั้นหลังนี้ คือความพยายามที่จะเชื่อมโยงฐานะกษัตริย์ให้เทียบเท่าพระพุทธเจ้า ดังใน ไตรภูมิโลกวินิจฉัยกถา พรรณนาว่า กษัตริย์จะเป็นผู้ชี้ทางสวรรค์และนิพพาน  ส่วนในพระราชนิพนธ์ เตภูมิกถา(ไตรภูมิพระร่วง) นั้น พระญาลิไททรงแสดงไว้ว่า ไม่เฉพาะปฐมกษัตริย์ที่เรียกว่า พระยามหาสมมติราช หรือ มหาสมมติ เท่านั้นที่มีสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ กษัตริย์ทุกพระองค์ในโลกนี้ล้วนแต่เป็นผู้มีบุญเหมาะสมที่จะได้ฐานะเป็นผู้นำของสังคมมนุษย์ทั้งสิ้น ยิ่งถ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชแล้ว (ซึ่งเหตุที่จะได้เป็นนั้นก็สัมพันธ์อย่างแนบสนิทกับบุญในพุทธศาสนา) จะยิ่งมีสถานภาพพิเศษในระดับอนุจักรวาลทีเดียว

“คนผู้ใดที่ได้ทำบุญแต่ก่อน คือว่าได้ปฏิบัติบูชาแก่พระศรีรัตนตรัย แลรู้จักคุณพระพุทธิเจ้า พระธรรมเจ้า แลสงฆเจ้า และให้ทานรักษาศีลเมตตาภาวนา ครั้นตายไปก็เอาตนไปเกิดในสวรรค์ ลางคาบเล่าได้เกิดเป็นท้าวเป็นพระญาผู้ใหญ่ แลมีศักดิ์มียศบริวารเป็นอเนกอนันต์ไส้ ได้ปราบทั่วทั้งจักรวาฬแล แม้ท่านว่ากล่าวถ้อยคำสิ่งใดก็ดีแล บังคับบัญชาสิ่งใดก็ดีแล เทียรย่อมชอบด้วยทรงธรรมทุกประการแล ท่านนั้นเป็นพระญา ทรงพระนามชื่อว่า พระยาจักรพรรดิราช” [6] 

ดังนั้น   

“ผู้ใดแลได้ไหว้นบคำรพบูชา (ธาตุของพระญามหาจักรพรรดิราช) ไส้ ผู้นั้น ผู้นั้นครั้นว่าตายไปได้เกิดในเมืองฟ้า ดุจดังไว้พระปัจเจกโพธิเจ้า พระอรหันตเจ้า อาจให้สมบัติ ๓ ประการคือ มนุษย์สมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติแล ถ้าผู้ใดได้ไหว้บูชาพระญามหาจักรพรรดิราชไส้ ก็จะให้ได้สมบัติ ๒ ประการคือ มนุษย์สมบัติ แลสวรรค์สมบัติ บ่มิอาจให้นิพพานสมบัติได้ เพราะเหตุพระญามหาจักรพรรดิราชนั้นเป็นปุถุชนไส้” [7]

ความเหมือนกันระหว่าง เตภูมิกถา ของพญาลิไท กับ ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ได้แก่ การเชื่อว่า “ผู้เป็นกษัตริย์คือผู้ได้บำเพ็ญบุญบารมีตามคำสอนของพุทธศาสนา”  แต่ที่แตกต่างกันคือ  เตภูมิกถา ถือว่า กษัตริย์แม้จะมีบุญญาธิการมากมายเพียงใดก็ไม่อาจช่วยให้สัตว์เข้าถึงนิพพานสมบัติได้ ส่วน ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา กล่าวว่า กษัตริย์ทรงเป็นผู้ชี้ทางสวรรค์และนิพพาน การยอมรับสถานภาพอันสูงส่งของพระมหากษัตริย์นั้นปรากฏในกฎมณเฑียรบาลซึ่งระบุพระนามของพระองค์ไว้ว่า “สมเด็จพระรามาธิบดีบรมโตรโลกนารถมหามงกุฎเทพมนุษวิสุทธิสุริยวงษองคพุทธางกูร บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงทศพีธราชธรรมถวัลราชประเวนีศรีบรมกษัตราธิราช พระบาทธำรงภูมิมณฑล สกลสีมาประชาราษฎร บรมนารถบรมบพิตร” [8] ความสำคัญนี้ปรากฏในเอกสารทางพุทธศาสนาในสมัยโบราณมาก่อนอยุธยาเป็นราชธานี 

ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้ผนวกรวมเอาทั้งคติของพุทธศาสนาและคติของศาสนาฮินดูไว้ด้วยกัน พระนามของพระมหากษัตริย์จึงสะท้อนทั้งทิพยภาพและธรรมราชาดังปรากฏในพระนามดังกล่าว เราไม่อาจทราบเจตจำนงที่แท้จริงของปราชญ์โบราณว่า เหตุใดจึงยกพระมหากษัตริย์เทียบเท่ากับพระพุทธเจ้า แต่การยกผู้ปกครองขึ้นให้มีสถานภาพพิเศษนั้น ในแง่หนึ่งก็เป็นการควบคุมอำนาจของผู้ปกครองโดยใช้แนวคิดทางศาสนาเป็นเครื่องมือ เช่น กำหนดว่าจะต้องทรงมีทศพิธราชธรรม มีพระราชกรณียกิจสำคัญคือ การทำนุบำรุงพุทธศาสนา ความเหมาะสมของผู้ปกครองต้องพิสูจน์ด้วยความสงบสุขของอาณาประชาราษฎร์และสมณพราหมณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร การตกต้องตามฤดูกาลของฝนฟ้าอากาศ หากไม่เช่นนั้นแล้ว พระองค์นั้นไม่เหมาะที่จะเป็นผู้ปกครอง ผู้อื่นมีสิทธิที่จะถอดพระองค์ลงจากราชบัลลังก์ได้ 

ข้อนี้ชี้ให้เห็นทัศนะที่ว่าอำนาจทางโลกกับทางธรรมเป็นอำนาจเดียวกันที่แบ่งแยกมิได้ เพราะบุคคลได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองถืออำนาจสูงสุดได้ก็ด้วยอำนาจแห่งกรรมของเขาเอง เมื่อสิ้นบุญแล้วอำนาจทางธรรมย่อมทำให้เขาพ้นจากตำแหน่งไปเอง ไม่โดยวิธีใดก็โดยวิธีหนึ่ง  นอกจากนี้แม้อำนาจทางธรรมจะเป็นอำนาจใหญ่สุด แต่อำนาจธรรมไม่สามารถปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมเช่นองค์กรหรือบุคคลได้ เพราะถ้าบุคคลใดหรือองค์กรใดมีอำนาจทางธรรมสูงสุด (บารมีสูงสุด) อำนาจทางโลกย่อมตกเป็นของบุคคลหรือองค์กรนั้นโดยอัตโนมัติ ฉะนั้น ภิกษุแม้จะทรงคุณแก่กล้าสักเพียงใด ก็ย่อมต้องมีอำนาจน้อยกว่าพระเจ้าแผ่นดิน เพราะภิกษุรูปนั้นย่อมมีบารมีสั่งสมมาน้อยกว่าพระเจ้าแผ่นดิน หากมีมากกว่าก็ย่อมมีเหตุต้องให้ได้กลายเป็นพระเจ้าแผ่นดินไปจนได้ การที่พระเจ้าแผ่นดินยังทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ได้ จึงพิสูจน์อยู่แล้วว่าทรงมีอำนาจทางธรรมสูงสุดและจึงได้มีพระราชอำนาจสูงสุดในทางโลกไปด้วย สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยจึง “ศักดิ์สิทธิ์” ทรงมีอำนาจลี้ลับ (ศักดิ์) บางอย่างที่จะจรรโลงให้โลกเป็น “ปรกติสุข” คนโบราณแสดง “ศักดิ์” เช่นนี้ด้วยเรื่องฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พระราชพิธีเกี่ยวกับน้ำ ฝน การทำนา ฯลฯ ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาลครั้งอยุธยาล้วนมีรากมาจากฐานความเชื่อในเรื่อง “ศักดิ์” เช่นนี้ของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น [9]   

ในสมัยที่ประเทศไทยเผชิญหน้าตะวันตกก็ยังมีการผสมผสานแนวคิดใหม่กับแนวคิดของพุทธศาสนา พุทธศาสนายังถูกใช้เป็นคำอธิบายในเรื่องความจำเป็นที่ต้องมีผู้นำในการปกครองหมู่ชน (ประเทศ) ผู้ที่พัฒนาคำอธิบายเกี่ยวกับอำนาจของกษัตริย์ในช่วงเวลานี้ได้แก่ พระวชิรญาณภิกษุ (รัชกาลที่ ๔) สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราช (สา) และสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ซึ่งล้วนแต่พยายามอธิบายอำนาจศักดิ์สิทธิ์หรือสิทธิธรรมของผู้ปกครอง โดยอาศัยแนวคิดเรื่อง กรรม บุญบารมี และคุณธรรมของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความสำคัญต่อการมีพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้นำของประเทศไทย โดยเปรียบเทียบว่าเป็น “เหมือนสีสะของชาติ” เป็นผู้ควบคุมกิจการต่าง ๆ ให้ดำเนินไปด้วยดี ในส่วนรัฐบาลและราษฎรเหมือนกับการที่มีศรีษะทำหน้าที่ควบคุมระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย ถ้าหากขาดศรีษะแล้วร่างกายย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เช่นเดียวกันถ้าหากขาดพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้นำของมหาชน ชนหมู่นั้นก็มิอาจตั้งอยู่ได้เช่นกัน [10] 

นักรัฐศาสตร์เรียกแนวคิดทางการเมืองแบบนี้ว่า ลัทธิองค์อินทรีย์ (Organicism) แนวคิดดังกล่าวนี้ไม่แตกต่างกันกับแนวคิดของเพลโตและฮินดู ที่ยอมรับการมีระดับชนชั้นที่ไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ในสังคมการเมืองที่ผู้ปกครองเชื่อว่าสังคมหรือรัฐหรือประเทศเปรียบได้กับหน่วยของชีวิต (Organism) หน่วยเดียวนี้ ปัญหาเรื่องความเสมอภาค สิทธิ และเสรีภาพดูจะไม่ใช่ปัญหาสำคัญ เนื่องจากถือว่าความแตกต่างของสมาชิกทางสังคมหลีกเลี่ยงไม่ได้และเป็นสิ่งจำเป็นด้วย ความแตกต่างทางสังคมทำให้สังคมสามารถสนองความต้องการได้หลายรูปแบบ อุดมคติของสังคมจึงไม่ใช่ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน หากแต่คือการรู้จักใช้คนซึ่งมีความแตกต่างกันนั้นให้เหมาะสมแก่การงานแก่หน้าที่ ผู้ที่จะสามามารถจัดสรรบุคคลให้เหมาะแก่หน้าที่ต่าง ๆ ได้ก็มีแต่บุคคลที่เลิศที่สุดคือผู้ปกครองเท่านั้น [11] 

แนวคิดแบบนี้จะให้ความสำคัญต่อคุณสมบัติและหน้าที่ของผู้ปกครองสูง มักไม่พูดถึงคุณสมบัติของชาวบ้านหรือแทบไม่มีเลย สะท้อนถึงโลกทัศน์ของสังคมเกษตรแบบประเพณีที่วิธีการผลิตยังพึ่งพิงธรรมชาติอยู่มาก ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ที่ถูกปกครองถูกตีความเข้ากับลักษณะอย่างเป็นไปเองของธรรมชาติ   ที่เน้นความสมดุลมากกว่าความขัดแย้ง เน้นความต่อเนื่องมากกว่าความเปลี่ยนแปลง เน้นความเป็นระเบียบที่มาจากความสัมพันธ์ของสิ่งและคนตามธรรมชาติ นั่นคือเน้นความไม่เท่าเทียมกันไม่เสมอภาคกันมากกว่าความเท่าเทียมกันความเสมอภาคกัน  เน้นหน้าที่ซึ่งเป็นของผู้ปกครองหรือผู้อยู่ในฐานะที่สูงที่จะมีต่อผู้อยู่ในฐานะต่ำกว่า ให้ผู้ปกครองมีอภิสิทธิ์ควบคู่กันไปกับการปฏิบัติหน้าที่ ในทัศนะทางปรัชญาเช่นนี้ ความคิดและความเข้าใจเรื่อง “สิทธิ” จึงไม่ค่อยมีความสำคัญหรือความหมายเท่าไรนัก[12] ความคิดทางการเมืองที่ถูกตีความโดยผู้นำชาวพุทธและผู้ปกครองของไทยก็เช่นกันคือ เน้นความสำคัญที่ “รัฐ” ในฐานะองค์รวมของมนุษย์  มากกว่า “ความเป็นตัวตน” ของผู้คนภายในรัฐหรืออาณาจักรเอง  

“ในความคิดและปรัชญาการเมืองดังกล่าว สิทธิและสิทธิมนุษยชนจึงไม่มีพื้นที่ในวาทกรรมการเมืองสมัยก่อนได้ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ยังไม่ได้ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นมาให้เป็นวาทกรรมหนึ่งทางการเมือง มนุษย์ยังเป็นเพียงมรรคหรือหนทางสู่จุดหมายทางศาสนา . . .  การแสวงหาชีวิตที่ดีมีคุณธรรมจะได้มาต้องอาศัยรูปแบบรัฐที่ดีและผู้ปกครองที่มีบุญญาภินิหาร ที่จะสามารถช่วยนำพาชี้ทางสว่างให้แก่มวลมนุษย์ในสังคม” [13]

ความคิดที่ให้ความสำคัญแก่ผู้ปกครองสูงสุด โดยเชื่อว่าประเทศชาติจะไปรอดเพราะผู้นำที่มี “ทศพิธราชธรรม” หรือที่เรียกว่า “เผด็จการโดยธรรม” นี้ ยังปรากฏสืบเนื่องต่อมาจนแม้กระทั่งหลังสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร ดังที่ปรากฏในงานของท่านพุทธทาสภิกขุเรื่อง “ธัมมิกสังคมนิยม”  ในปัจจุบัน การแสดงธรรมเทศนาเน้นย้ำ “พระราชอำนาจ” “สถานภาพสูงส่ง” และ“คุณธรรมอันล้ำเลิศ”ของพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ก็ปรากฏอยู่เสมอในวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยของกรมประชาสัมพันธ์  (หรือแม้แต่ในงานเขียนเชิงวิชาการของศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย)  การให้ความสำคัญอย่างสูงสุดแก่พระมหากษัตริย์เช่นนี้ ได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ฝังลึกในจิตสำนึกของคนไทย โดยที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยบทบัญญัติทางกฎหมายใด ๆ มารองรับก็ยังได้

ดังที่นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวไว้ว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์จึงแทรกอยู่ในทุกส่วนของวัฒนธรรมของไทย จนกระทั่งเป็นการยากที่จะขาดวัฒนธรรมนี้ไป ไม่ว่าจะมีการบัญญัติไว้หรือไม่ในรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ก็ทรงเป็นที่เคารพสักการะอันผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้อยู่นั่นเอง หมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญนั้นยกออกไปทั้งหมด ก็ไม่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กระทบกระเทือนตรงไหน เพราะหมวดนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมอย่างมั่นคงอยู่แล้ว” [14] 

ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่า หลักคำสอนของพุทธศาสนาเองไม่เปิดช่องให้กับความคิดเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ ความไม่เท่าเทียมกันของปัจเจกบุคคล หรือ ความยุติธรรมตามทฤษฎีการเมืองสังคมสมัยใหม่ งานร่วมสมัยจำนวนมากได้พยายามแสดงให้เห็นว่า หลักสิทธิ เสรีภาพ หรือสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ได้ขัดกับหลักการของพุทธศาสนาเลย [15] แต่หลักปกครองของพุทธศาสนาที่พัฒนาขึ้นในสังคมไทยต่างหาก ที่แทบไม่มีช่องว่างให้กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนพลเมือง เมื่อสังคมไทยได้จัดวางอำนาจทางสังคมระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนไว้ในลักษณะที่แม้จะยอมรับหลักการว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ไม่ได้บัญญัติให้ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจนั้น ผู้ใช้เป็นพระมหากษัตริย์ ดังนั้น การบริหารรัฐกิจ การนิติบัญญัติ และการตุลาการ จึงมิใช่การใช้อำนาจของประชาชน แต่เป็นการแสดงออกถึงพระราชอำนาจ อำนาจของประชาชนได้ถูกทำให้หายไปพร้อมกับการสถาปนาอำนาจกษัตริย์ผ่านคัมภีร์พุทธศาสนาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว

ลักษณะความคิดเช่นนี้ย่อมไม่เอื้อต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากอำนาจของประชาชนได้ถูกทำให้หายไปจากพื้นที่ของสังคมที่ยกให้สถาบันกษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดิน และชาติก็ได้กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีประชาชน การพยายามมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เช่น การเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยประชาชนพลเมืองจากชายขอบประเทศ ชายขอบของสังคม ได้ถูกกีดกัน บังคับ หรือแม้กระทั่งถูกทำให้กลายเป็นการก่อความไม่สงบ การไม่รักชาติ หรือการทำลายความมั่นคงของชาติ

การจัดวางอำนาจไว้ในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เพราะได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ฝังลึกในสังคมไทยมานานแล้ว และยิ่งถูกเน้นย้ำให้หนักขึ้นกว่าเดิมในปัจจุบันโดยบรรดาผู้รู้ฆราวาสในมหาวิทยาลัยที่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ซึ่งนับวันจะถูกทำให้มีฐานะศักดิ์สิทธิ์น้อยลงเรื่อย ๆ  

ความเที่ยงธรรมในการใช้อำนาจในสังคมไทยตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ค่อยปรากฏให้เห็น แม้แต่ในสำนึกของประชาชนทั่วไป อำนาจของ “ผู้ใหญ่” หรือ “เจ้านาย” จะเป็นอำนาจที่ถูกอธิบายด้วยเรื่อง “กรรม” หรือ “บารมี” ที่สูงส่งกว่า และต้องยอมสยบตามเสมอ แม้คณะราษฎรจะพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองทำให้อำนาจของประชาชนขึ้นมาอยู่ “เหนือ” อำนาจทั้งปวงในสังคม พยายามจะกลับหัวกลับหางอำนาจเสียใหม่โดยการจัดวางรูปแบบการปกครองเสียใหม่ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร การปรับเปลี่ยนอำนาจใหม่ไม่สามารถจะดำเนินการโดยสะดวก เพราะนอกจากจะเผชิญกับอำนาจเดิมที่ลุกขึ้นมาโต้อภิวัฒน์ ยังต้องเผชิญกับจิตสำนึกแบบเจ้าผู้ปกครองคือ “เจ้าแผ่นดิน” ซึ่งทำให้การสร้างจิตสำนึกแบบใหม่เกี่ยวกับอำนาจในสังคมไทยไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้เห็นได้จากการปฏิวัติที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ รวมทั้งเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ กระแสความคิดที่ให้อำนาจศูนย์กลางไว้ที่ผู้ปกครองยังคงเป็นสาระสำคัญของระบบกฎหมายของไทยและการตีความกฎหมาย อย่างเช่น ที่ปรากฎในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับมาตรา 112 เมื่อเร็ว ๆ นี้   

ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุที่คณะราษฎรและสังคมไทยไม่ประสบผลสำเร็จในการปรับเปลี่ยนสำนึกเกี่ยวกับอำนาจใหม่ของสังคมนั้น เพราะอำนาจทางสังคมที่ถูกจัดวางไว้ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการปกครองของไทยนั้นวางอยู่บนฐานความเชื่อทางพุทธศาสนาที่ยก “อำนาจอันศักดิ์สิทธิ์” ขึ้นเป็นของกษัตริย์ ซึ่งสืบทอดกันมาในสังคมไทยอย่างมีพลังโดยชนชั้นปกครองและพระสงฆ์ในพุทธศาสนา รวมทั้งปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาโดยอาศัยกรอบคิดเหล่านี้เป็นฐานสำคัญ ข้อนี้ย่อมแสดงให้เห็นอิทธิพลพุทธศาสนาที่มีต่อวัฒนธรรมการเมืองการปกครองของไทยนับแต่อดีตจนปัจจุบัน 

ตราบเท่าที่การจัดวางอำนาจไว้ในลักษณะดังกล่าวนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพุทธศาสนา ตราบใดที่พุทธศาสนาในสังคมไทยไม่ปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจศูนย์กลางทางสังคมของตน ให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และตราบใด กรอบคิดเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สถาบันสงฆ์ยึดถือยู่ ยังไม่ถูกปรับให้สอดคล้องกับมโนทัศน์เรื่องอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งให้ความสำคัญต่ออำนาจที่เท่าเทียมกันของประชาชนในสังคม การที่พุทธศาสนาจะมีบทบาทในการสร้างสังคมประชาธิปไตยย่อมเป็นไปได้ยาก กล่าวอีกนัยหนึ่ง มโนทัศน์เชิงอำนาจที่สวมอยู่นั้นย่อมปิดบัง “วิสัยทัศน์” ที่จะช่วยให้พระสงฆ์คิดคำนึงถึงบทบาทของตนในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

พุทธศาสนาก็จึงอาจกลายเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย

รายการอ้างอิง
[1] องค์การค้าคุรุสภา. “พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน” ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓๓ และ ๓๔ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๙-๖๑). พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2512.

[2] อ้างใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช. มปป. แนวคิดทางการเมืองไทยสมัยโบราณ. กรุงเทพฯ : แผนกรัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. มปป.หน้า ๑๐๑-๑๐๓

[3] อ้างใน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. ความคิดทางการเมืองไพร่กระฎุมพีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2549. หน้า ๑๐๙. 

[4] กรมศิลปากร. พระสังฆราชเมธังกร โลกทีปกสาร. น.อ.(พิเศษ) แย้ม ประพัฒน์ทอง แปล. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๒๙. หน้า ๑๖๒-๑๖๓.

[5] กรมศิลปากร กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์.วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. (ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา). กรุงเทพฯ : บริษัท เอดิสัน เพรส โปรดักส์ จำกัด, ๒๕๓๕ หน้า ๕๖

[6] ไตรภูมิพระร่วงของพระญาลิไทย. กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, 2506. หน้า 94

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 114

[8] อ้างใน วรพร ภู่พงศ์พันธุ์. กฎมณเฑียรบาลในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาถึง พ.ศ. ๒๓๔๘. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549. หน้า 100.

[9] นิธิ เอียวศรีวงศ์. ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2547. หน้า  ๑๓๐-๑๓๘.

[10]พลศักดิ์ จิรไกรศิริ. “รายงานวิจัยเรื่อง ความเชื่อทางการเมืองของพระสงฆ์ไทย” วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑,๒. (พฤษภาคม –สิงหาคม 2537) : ๘๔-๙๕.

[11] สมภาร  พรมทา. ปรัชญาสังคมและการเมือง. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๓๘. หน้า ๓๓-๔๐)

[12] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ.อ้างแล้ว, หน้า 5-6

[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๗๙

[14] นิธิ เอียวศรีวงศ์. อ้างแล้ว, หน้า 128.

[15] ดู เสน่ห์ จามริก. พุทธศาสนากับสิทธิมนุษยชน. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2543. และวีระ  สมบูรณ์. ธรรมะกับการเมืองของพุทธทาสภิกขุ. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น, 2550.

ความเห็น

Submitted by dk on

ศาสนา และราชาชาตินิยม เป็น โลกทัศน์ที่ฝืน หรือ เบรค หรือเหนี่ยวรั้ง การพัฒนาสังคม ไม่ให้ วิวัฒน์

อดีต หรือ ปวศ. อาจมีความสืบต่อ ต่อเนื่องได้ แต่ไม่ใช่ ไม่อาจมีการปรับเปลี่ยน

ราชาชาตินิยมได้สวมยุทธภัณฑ์แห่งพระศาสนา เพื่อ การปกครอง ต่อสู้กับ อธรรม หรือสิ่งชั่วร้าย
ในขณะที่ ถ้าไม่สร้างความเป็นธรรมในหมู่ราษฏร ก็จักกลายเป็นสิ่งชั่วร้ายเสียเองได้

ราษฏรที่ถูกมอบเมา และสยบจำนน ก็สร้างโลกฝัน เพื่อโลกหน้า บนการแขวนลอยจากชีวิตจริงที่แสนเข็ญ

พุทธศาสนา จะต้องปลดปล่อยตัวเอง จาก การเอาราษฏรเป็นตัวประกันเพื่อ โหน ราชาผู้ทรงคุณธรรม
มาเป็น พุทธศาสน์เพื่อฐานราก อันฐานราก ความเป็นมนุษย์ในหมู่คนเดินดิน

ไม่ใช่ ทำให้พวกเขาเป็นเครื่องมือหรือวิถีทาง เพื่อ สิ่งอื่น ที่ไม่ใช่ หมู่มวลมนุษย์ในตัวเอง

Submitted by ภูแตัม on

... เอวัง (เวง) ก็ มี ด้วย ประการะ ฉะ นี้... อ่านจบแล้วทำให้เข้าใจและเห็นใจ และรักรอยัลลิสต์ไทยขึ้นมากเลยครับ

Submitted by Jubu on

จากมุมมองยุคปัจจุบันคงเรียกได้ว่าเป็นความโชคร้ายทางประวัติศาสตร์ทำนองนั้น ที่พุทธศาสนาฝังตัวและมีพัฒนาการในแถบเอเชียมาในลักษณะนี้ พอจะมาปะทะสังสรรค์กับแนวคิดแบบตะวันตก ความทันสมัยในรูปแบบต่างๆก็หลากล้นท่วนท้มจนจะทวนกระแสหรือปรับเปลี่ยนอะไรกันแทบไม่ทันและอาจจะไม่ทัน

อีกห้าร้อยหรือพันปีข้างหน้าประวัติศาสตร์คงต้องบันทึกว่าพุทธศาสนาเสื่อมสลายไปในแถบเอชียและอาจจะไปเติบโตเข้มแข็งในตะวันตกแทน พุทธแบบตะวันออกหายไป ชาวพุทธในเอเชียล้มเหลวที่จะปรับตัวให้อยู่รอดทางวัฒนธรรม

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

จริงๆ แล้ว พุทธศาสนาเกิดขึ้น เพราะ "หนีการเมือง" ไม่ว่าจะมองจากพุทธประวัติเถรวาทหรือมหายานก็บอกตรงกันว่า "สิทธัตถะหนีการเมือง" (เพียงแต่ "รายละเอียด" ของการ "หนี" อาจต่างกัน) เมื่อหนีการเมืองจึงไปค้นพบสิ่งที่ก่อให้เกิดพุทธศาสนา (อริยสัจสี่) ในป่า แล้วจากนั้นพุทธะก็มามีปฏิสัมพันธ์กับสังคมการเมิองยุคราชาธิปไตยเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว (มีการเถียงกันว่าสังคมการเมืองที่มีกติกาการปกครอง มีผู้ปกครอง ผู้ใต้ปกครอง เกิดขึ้นมาอย่างไร ศาสนาพรามหณ์บอกว่าเกิดจาก "เทวสิทธิ์" พุทธะบอกว่าเกิดจาก "การยินยอมของราษฎร" หรือเกิดจากการที่ราษฎรมาทำข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งแสดงว่าอำนาจเป็นของราษฎรอยู่ก่อน และเสนอว่าผูปกครองที่ดีควรมีคุณธรรมอะไรบ้าง )จากนั้นมาพุทธศาสนาก็เจริญในรัฐราชาธิปไตยมาโดยตลอด...

มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐราชาธิปไตยจะไม่ใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือเป็นไปไม่ได้ที่สถาบันพุทธศาสนาจะไม่อาศัยอำนาจรัฐแบบนั้นเพื่อความมั่นคงของสถาบันพุทธศาสนาเองตามบริบทของสังคมและยุคสมัยนั้นๆ...นี่คือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ปฏิเสธไม่ได้ (ถึงไม่ชอบอย่างไรก็ไปแก้ไขอดีตไม่ได้)

แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาตร์เช่นนั้เพียงพอหรือไม่ที่จะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธตำแหน่งแห่งที่ของพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตย? หรือปฏิเสธการตีความหลักการพุทธศาสนาและปรับเปลี่ยนบทบาทของชาวพุทธให้เป็นไปในทางสันบสนุนประชาธิปไตยสากล?

Submitted by ชาญณรงค์ บุญหนุน on

สิ่งที่ท้าทายนักพุทธศาสน์ศึกษาในปัจจุบันก็คือ เราจะแสวงหาความหมายใหม่ของพุทธธรรมภายใต้สังคมที่มีีความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป พุทธศาสนาจะเริ่มต้นจากตรงไหนทั้งในแง่การตอบสนองจุดมุ่งหมายของมนุษย์ในสังคมใหม่ที่ต่างออกไปจากยุคอดีต ถ้าเรายอมรับว่าพุทธศาสนานับแต่อดีตจนปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อรับใช้มนุษยชาติตลอดมา การปรับเปลียนเพื่อให้พุทธธรรมรับใช้ยุคสมัยและทำให้มนุษย์ในยุคใหม่ได้มีโอกาสพัฒนาชีวิตจิตวิญญาณของตนในฐานะที่เป็นมนุษย์มากขึ้นก็น่าจะเป็นสิ่งที่ชาวพุทธยอมรับได้ ผมว่าเราจะเริ่มต้นจากตรงไหน ด้วยวิธีใด ก็เป็นคำถามที่เราต้องหาคำตอบต่อไป.​.​.

Submitted by lk on

When สิทธัต left town he did not run away from politic. He was at the peak of his happiness. His father was in power and controls everything in his live including his 4 season palaces. I never heard of สิทธัต have to make any decisions concerning the politic. Maybe I am wrong.

Unless you consider everything is politic so I rest my case.

Submitted by Puwadej on

อ่านดูทั้งบทความแล้วพบว่า ที่ใช้คำว่าพุทธศาสนา นั้นแท้จริงผู้เขียนเอามาจากการตีความของบุคคลต่างๆทั้งสิ้น เช่น ผู้มีตำแหน่งพระยา สังฆราช ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่ต้องอิงอยู่กับพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่ต้องตีความคำสอนของพุทธศาสนาให้เอื้อต่อการปกครองตามยุคสมัย

ประเด็นคือ ทั้งบทความไม่ได้อ้างอิง พระธรรม ซึ่งเป็นเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาเลย เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าศาสนาพุทธไม่เอื้อต่อประชาธิปไตย แต่สรุปที่บรรทัดสุดท้ายว่า

พุทธศาสนาก็จึงอาจกลายเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย

จึงน่าจะพิจารณาให้ชัดๆว่า คนในศาสนาพุทธเช่น พระ พระสังฆราช หรือผู้รู้อื่นๆ พูดอะไรออกมาก็ตาม นั่นคือศาสนาพุทธ หรือเป็นเพียงความเห็นของคนเหล่านั้นเท่านั้น

ในมุมมองนี้ผมเห็นว่าควรสรุปที่บรรทัดสุดท้ายว่า

การตีความคำสอนในพุทธศาสนาของบุคคลเหล่านั้นก็อาจกลายเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย

Submitted by เขียดอีโม้ วิสุ... on

เขียนได้ดีมากครับ แต่ก็ยังเป็นการตอกย้ำเรื่องเก่าๆที่เรายังไม่อาจก้าวข้ามวัฏจักรนี้ได้ ยังวนเวียนอยู่กับการผลิตความคิดแบบเดิมๆซ้ำไปมา
ในทัศนะของผม ทางที่ดีนะ เราควรเลิกพูดเรื่องนี้ไปเลย แต่เราควรจะตอกย้ำในประเด็นว่า เราจะเสนอความคิดทางพระพุทธศาสนาแบบใหม่ที่เน้นประโยชน์ของประชาชน ของราษฎร การปลดปล่อยอิสรภาพทางความคิดและการครอบงำอุดมการณ์แบบราชาชาตินิยม โดยวิธีการ (1) วิพากษ์ความไม่มีเหตุผลของมัน (2) เสนอแนวทางใหม่ที่มีเหตุผลเชิงภาคปฏิบัติ (3) คอยตรวจสอบการนำไปใช้นั้นว่ามันยึดโยงกับประโยชน์และอุดมการณ์ที่แท้จริงตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่ โดยวิธีการดำเนินการขั้นแรก ก่อนอื่นควรจะตัดเส้นเลือด ดังต่อไปนี้
1. ยกเลิกหลักสูตรการเรียนการสอนพุทธศาสนาแบบเดิมทั้งหมดที่ไม่สามารถอธิบายพิสูจน์เชิงเหตุผลได้
2. เขียน/แต่งตำราการเรียนการสอนแบบใหม่ โดยตีความให้สอดคล้องกับหลักการแบบวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายพิสูจน์ตรวจสอบได้กับโลกสมัยใหม่
3. ยกเลิกการสถาปนาอำนาจที่ยึดโยงกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว แต่ให้ประชาชนทุกคนเป็นผู้กำหนดระบบใหม่ที่สอดรับหลักโครงสร้างอำนาจทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น
ผมคิดว่า ควรรื้อใหม่เลยทั้งหมด ถึงจะดำเนินการไปได้ครับ ถ้ามิเช่นนั้นแล้ว เราก็จะวนเวียนอยู่กับนิยายที่ปลอบประโลมใจกันอยู่อย่างนี้ ไม่มีที่สิ้นสุดและไม่มีจุดเริ่มต้น และเราก็จะผลิตอะไรซ้ำๆซากๆแบบนี้อย่างไม่มีวันจบสิ้นได้เลย ......

Submitted by ชาญณรงค์ บุญหนุน on

เรียน อาจารย์เขียดอีโม้

เรื่องนี้ผมเขียนไว้นานแล้วครับ แต่ไม่ได้เผยแพร่ เพิ่งจะนำมาปรับเพื่อเผยแพร่ในบล็อกนี้ในช่วงเวลาที่แต่ละท่านมีภารกิจมากและปั่นบทความไม่ทันใจผู้อ่านเท่านั้นครับ (ฮ)
การพูดถึงเรื่องนี้เป็นการพูดซ้ำไปซ้ำมาอย่างที่อาจารย์ว่านั่นแหละครับ เรื่องนี้อย่างน้อยก็เผยให้เห็นว่าการสร้างกรอบคิดที่มีผลต่อโครงสร้างของสังคมไทยนั้นมีรากฐานมายาวนาน ส่วนหนึ่งคือการแสดงให้เห็นเหตุผลของมัน อีกส่วนหนึ่งต้องการจะชี้ให้เห็นว่าเหตุผลของเรื่องถูกสร้างขึ้นและสืบทอดกันมาอย่างไร ส่วนการจะทำอย่างไรต่อไปนั่นก็เป็นภารกิจที่ต้องทำกันต่อ ในนามวิชาการก็คงทำได้ในลักษณะที่แสดงให้เห็นกระบวนการที่มันถูกสร้าง และความมี (หรือความไร้) เหตุผลของมัน โดยภาพรวมก็ได้พยายามจะแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาและดำรงอยู่นี้มันไม่สนับสนุนสังคมประชาธิปไตยอย่างไร ส่วนสิ่งที่อาจารย์เสนอนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องอาศัยความกล้าหาญมากทีเดียว โดยเฉพาะข้อที่สามนั้น คงจะเป็นเรื่องยากทีเดียวถ้าหากเราไม่ชี้แสดงให้เห็นเหตุผลที่ควรทำเช่นนั้นได้อย่างหนักแน่นน่าเชื่อถือ มันเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยคนจำนวนมากไม่ใช่แค่นักวิชาการชาวพุทธอย่างพวกเราแน่ ๆ แต่สิ่งที่นักวิชาการชาวพุทธจำนวนหนึ่งพึงทำก็อาจเป็นการชี้ให้เห็นปัญหาที่มาจากศูนย์กลางของอำนาจ หรือองค์ความรู้ที่เป็นแกนกลางสังคมหรือที่ค้ำจุนอำนาจนั้นอยู่ และแสวงหาความหมายใหม่ในพุทธธรรมเพื่อวางรากฐานให้แก่สิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต

Submitted by นวนคร on

บทความนี้ ไม่ครอบคลุม
1. ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทยทำไม่ไม่เอามารวมด้วย ประวัติศาสตร์สยาม เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชจริงตามแนวคิดองค์ความรู้ฝรั่งก็แค่สมัย ร.5-6-7 คุณทำไมวิเคราะห์งานประวัติศาสตร์ ของทั้ง ทางล้านนา ทางอยุธยา งานวิชาการที่วิเคราะห์สังคมการเมือง มีออกมาเยอะแยะ ราชอาณาจักรโบราณเหล่านี้เหล่าขุนนางมีอำนาจไม่ได้น้อยกว่ากษัตริย์ เหมือนสังคมอื่นๆ มีการแย่งชิงอำนาจกันทั้งพวกราชวงค์และขุนนาง ถ้าเป็นสามัญชน เป็นขุนนาง ก็สะสมกำลังโดยอ้างความเป็นโพธิสัตว์ ศักยภาพในการตรัสรู้เช่นเดียวกัน กบฏผีบุญต่างๆ ก็อ้างแบบนี้

หลักฐานมันเห็นโทนโท่ ทำไมไม่ดูไม่ศึกษาก่อนที่จะเขียนบทความ อุตสาห์ตั้งชื่อกลุ่ม "พุทธศาสน์ของราษฎร" กลับไม่เห็นพลัง ที่กบฎผีบุญ พวกราชวงค์ พวกขุนนาง ใช้ต่อรองอำนาจกัน มันน่าอับอายแท้ๆ

สังคมไทย ทุกคนอ้างความเป็นโพธิสัตว์ของตัวเองได้หมด เพียงแต่ว่าจะมีคนตามหรือเปล่า ไม่ใช่ทุกคนยอมให้เป็นผู้นำเพียงเพราะเป็นพวกเจ้า

สิ่งที่คุณชาญณรงค์ ทำหยาบช้าสามานย์ ในบทความนี้ คือไปเอารูปแบบการอ้างสิทธิธรรมแบบสังคม ฝรั่งมาใช้ กษัตริย์ฝรั่งอ้างความชอบธรรมโดยการแต่งตั้งจากศาสนจักรโรมันคาทอลิก หรือภายหลังก็จากพระนิกายอื่นๆ เพื่อสื่อถึงการได้รับสิทธิธรรมในการปกครองราชอาณาจักรจากพระเจ้า ใครได้รับการตั้งเป็นกษัตริย์ก็จะผูกขาดอยู่อย่างนั้นถึงวงศ์ตระกูล

ผมถามจริงๆ มันสอดคล้างกับสังคมไทยตรงใหนกัน กษัตริย์ไทย เช่นรชวงศ์จักรีนี้ ร.1-2-3-8-9 แม่เป็นสามัญชนหมด อำนาจของขุนนางตระกูล บุนนาค บางช้าง สุจริตกุล ถึงขั้นเลือกเจ้าตั้งกษัตริย์ได้

คุณอ้างเทววิทยาฝรั่ง ผมยังยอมรับได้แต่อ้างชื่อกลุ่มตัวเองว่า "พุทธศาสน์ของราษฎร" แต่เนื้อแท้เป็น "เทววิทยาฝรั่ง(ปรัชญาฝรั่ง)เพื่อราษฎรไทย"

ทีหน้าทีหลังก็ไม่ต้องเนียน สวมเสื้อพุทธหรอกครับ ตาสุรพศ อีกคน ถ้าใช้ชื่อกลุ่มว่า "ปรัชญาตะวันตกเพื่อราษฎร" ผมจะไม่ว่าสักคำเลย

Submitted by สุรพศ ทีวีศักดิ์ on

ในพุทธประวัติฉบับมหายาน สิทธัตถะแพ้มติเสียงข้างมากของสภาศากยวงศ์เรื่องทำสงครามแย่งนำทำนากับโกลิยวงศ์ จึงต้องถูกตัดสินให้เนรเทศออกจากเมือง และสิทธัตถะขอเลือกเนรเทศตัวเองด้วยการถือเพศบรรพชิตภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่เดินทางไปแคว้นโกศล ส่วนพุทธประวัติเถรวาท แม้สาระสำคัญอยู่ที่การเห็นเทวทูต 4 แต่ก็เห็นว่าชีวิตทางการเมืองแบบที่พ่อต้องการให้เป็น ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีกว่าการออกบวช

Submitted by ชาญณรงค์ บุญหนุน on

ท่านนวนคร

ผมจะไม่ปกป้องสิ่งที่ผมเขียนว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร แต่อยากเรียนว่า
แทนที่ท่านจะประณามผมว่าทำสิ่ง "ที่หยาบช้าสามานย์" อยากให้ท่านเขียนบทความมาสักหนึ่งบทความเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ว่า (๑) ที่ผมเขียนมานั้น ไม่ครอบคลุมในเรื่องใดบ้าง (๒) เป็นเทววิทยาตะวันตกอย่างไร (๓) บทความนี้ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าหยาบช้าสามานย์อย่างไร ด้วยเกณฑ์อะไร
ท่านเขียนมาโต้แย้งที่ประชาไทเลยก็จะเป็นพระคุณอย่างย่ิงครับ

สำหรับบทความต่าง ๆ ที่เขียนขึ้นโดยคนธรรมดาสามัญ ย่อมจะมีข้อบกพร่องผิดพลาด หรือมีสิ่งที่คิดไปไม่ถึงอยู่ไม่มากก็น้อย เพิ่งแต่ก่นด่าประณามว่าชั่วช้าสามานย์ไม่ได้ช่วยให้คนอ่านรับรู้ในสิ่งที่ถูกต้องมากขึ้นอย่างมีหลักมีเกณฑ์แต่ประการใด สำหรับบทความทุกบทความของผม ท่านมีสิทธิ์อันชอบธรรมโดยประการทั้งปวงว่ามันผิด และที่ผมเขียนบทความต่าง ๆ เผยแพร่ ก็เพราะผมคิดเสมอว่า สิ่งที่ผมคิดย่อมมีข้อบกพร่อง และเนื่องจากมันมีข้อบกพร่องเราจึงมั่นใจที่จะเขียนมันออกมาเพื่อให้มันได้พิสูจน์ตัวเองในที่สาธารณะ

ท่านจงอย่าเพิกเฉย แต่โปรดจงเขียนและเขียน เพื่อให้ผู้คนได้รับรู้สิ่งที่ท่านเห็นว่าจริงกว่า ถูกต้องกว่า

Submitted by พงษ์ศักดิ์ on

ศาสนา เจ้า วัฒธรรม การเมือง สิ่งเหล่านี้มาด้วยกัน ศาสนามีใว้ปกครองชนชั้นล่างด้วย วาทะกรรมลวงโลกด้วยแนวความคิดและเหตุผลกำปันทุบดินของเจ้าว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ฐานอำนาจเจ้าคืออุปโหลกเรื่องพระเจ้าอ่างว่าตนเป็นผู้มีบุญบารมีมาเกิด ประชาชนทำบุญสร้างวัดด้วยการบริจากผู้ที่นำศาสนาเข้ามาในประเทศไม่เห็นบำรุงศาสนาเลย
ไปมา22ประเทศแล้ซประเทศใดมีเจ้าประเทศนั้นประชากรจนยันตาย ในโลกเราเหลือ28ประเทศนะที่มีสมมุติเทพ อีกหน่อยก็หมดโลก คนที่ดำรงค์อยู่ด้วยการหลอกลวงน่ะเดี๋ยวก็ล้ม
80ปี ปชต ไทย ไทยพรีชีพไปกี่ศพแล้ว จตุครามรามเทพ ไม่เห็นช่วยให้กระสุนปืนจากทะหารรอดพ้นจากผู้เรียกร้อง ปชต เลย
ฐานอำนาจใครล่ะที่อยู่กับระบอบข้าราชการ?
แน่นอนฐานอำนาจปชชอยู่ที่นัการเมือง
ใครล่ะที่มีที่ดินสองล้านกว่าไร่และที่ดินนิติบุคฝด้วยในประเทศไทย?
ใครล่ะผลักดันให้พวกเราอยู่กับความจน ด้วยเหตุผลข้างฯคูฯจากนักวิชาการที่ขายจิตวิญญาณตัวเอง ทั้งฯที่พวกเขาก็รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาเชียร์ให้พวกเราพอเพียงมันเป็นการหลอกลวง
รักประชาชนนักหนา แต่กูแทบจะไม่มีแดกอยู่แล้ว สมแล้วที่กูเอารูปมึงไปเผาทิ้ง

จะกดหัวให้กูรัก ถึงกูตายก็อย่าแม้แต่คิด

Submitted by lk on

Mr. สุรพศ ทีวีศักดิ์

“ในพุทธประวัติฉบับมหายาน สิทธัตถะแพ้มติเสียงข้างมากของสภาศากยวงศ์เรื่องทำสงครามแย่งนำทำนากับโกลิยวงศ์”

If what you said was true.

That’s was new to me, maybe new to most Thai that was born Buddhist. Can I say that Theravāda Buddhism did not give us the whole truth but some truth? Theravāda Buddhism did not had truthfulness in the explaining this event (ออกบวช).

Submitted by สมภาร พรมทา on

ข้อมูลเบื้องต้นที่อาจเป็นประโยชน์ครับ
สมภาร พรมทา

เจ้าชายสิทธัตถะ มิได้หนีออกบวชกลางคืนกับนายฉันนะ หากออกบวชกลางวัน ต่อหน้าพระราชบิดาและพระราชมารดา
บทความพิเศษ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชนออนไลน์ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๔

ผมเคยพูดกับเพื่อนๆ หลายคนว่า คนที่ศึกษาพุทธศาสนา ถ้ามีภูมิหลังเป็นนักประวัติศาสตร์แล้วจะศึกษาได้ลึกซึ้งและกว้างขวางกว่าคนที่บวชเรียนนักธรรมบาลีโดยตรงอย่างผมแน่นอน

เหตุผลหรือครับ ศาสดาใดก็ตาม จะบัญญัติหลักคำสอนหรือคิดค้นเทคนิคการสอนไปแนวไหน อย่างไร แบ๊กกราวนด์ของศาสดานั้นมีส่วนในการกำหนดไม่น้อย

ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้า เมื่อ เมื่อพระองค์ตั้งคณะสงฆ์ขึ้นแล้ว พระองค์มอบอำนาจทางการปกครองให้พระสงฆ์จัดการกันเอง การตัดสินปัญหาต่างๆ พระพุทธองค์มิได้เป็นผู้บงการหรือชี้นำ พระสงฆ์ตัดสินกันเอง โดยระบบ "ถือเสียงข้างมาก"

หรือที่ภาษาเทคนิคเขาเรียกว่า เยภุยยสิกา

สังฆกรรมของสงฆ์จึงดำเนินไปโดยระบบประชาธิปไตย ไม่มีอภิสิทธิ์ ไม่มีเผด็จการ

เช่น ใครจะเข้ามาบวช อุปัชฌาย์ จะใช้สิทธิ์รับเข้ามาเอง โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากพระสงฆ์ทั้งหมดไม่ได้

ผู้ที่ไม่สนใจประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ ก็จะสรุปเอาง่ายๆ ว่า พระพุทธเจ้าทรงคิดค้นวิธีปกครองแบบประชาธิปไตยพระพุทธศาสนาเท่านั้นมีการปกครองแบบประชาธิปไตยก่อนใครทั้งหมด

แต่ถ้ามองจากสายตาของนักประวัติศาสตร์ เราก็จะทราบว่า ระบบเยภุยยสิกาของพระพุทธเจ้า พระองค์มิได้คิดค้นมาจากไหน พระองค์ก็เอามาจากภูมิหลังที่พระองค์เคยประสบพบเห็นอยู่ก่อนเสด็จออกบรรพชานั่นเอง

อินเดียสมัยนั้นกว้างใหญ่ไพศาล ภูมิภาคแถบเชิงเขาหิมาลัยมีกลุ่มหรือเผ่าชนที่มีระบบการปกครองไม่เหมือนเผ่าอื่นจำนวนหนึ่ง เท่าที่นักประวัติศาสตร์ยืนยันก็มี พวกลิจฉวีแห่งไพศาลี มัลละ แห่งปาวาและกุสินารา ศากยะแห่งกบิลพัสดุ์ โกลิยะแห่งเทวทหะ พวกนี้จะเลือกตั้งผู้ปกครองขึ้นมาโดยการลงคะแนนเสียงรัฐสภา ซึ่งเรียกกันสมัยนันว่า "สัณฐาคาร"

คนที่ได้รับเลือกตั้งโดยผ่านเสียงข้างมาก เรียกตามศัพท์เทคนิคว่า "กษัตริย์" กษัตริย์จะบริหารประเทศโดยทางรัฐสภา มีปัญหาอะไรจะต้องหารือวินิจฉัยในสภา เสียงข้างมากออกมาอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้นและกษัตริย์มีเทอม (มากน้อยแล้วแต่กำหนด) หมดเทอมแล้วก็เลือกตั้งกษัตริย์องค์ใหม่ทำหน้าที่สืบต่อไป

ไม่ใช่ว่า กษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาด ในความหมายที่เราเข้าใจกัน

กษัตริย์ปกครองศากยะสมัยนั้นชื่อ สุทโธทนะ

สุทโธทนะได้รับเลือกให้เป็นประมุขชาวศากยะ มีเทอมหรือกำหนดเวลาหมดเทอมคนอื่นก็ขึ้นมาแทน คนที่ขึ้นมาแทนอาจมิใช่เจ้าชายสิทธัตถะ พระโอรสของท่านก็ได้

เพราะเขามิได้ใช้ระบบสืบรัชทายาทอย่างที่เราเข้าใจกัน ที่เราเรียนพุทธประวัติตอนหนึ่งว่า พอเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ โหรทำนายว่า ถ้าพระกุมารเสด็จออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกในโลก แต่ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระจักรพรรดิมีแสนยานุภาพมากมายไพศาลนั้น ไม่แน่เสมอไป หรอกครับ เจ้าชายสิทธัตถะท่านอาจไม่ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์ต่อจากสุทโธทนะเลยก็ได้

เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมรัฐสภา

เมื่อมองในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว ก็ขอมองต่อไปอีกสาเหตุให้พระองค์ออกบวช ข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะชี้ข้อเท็จจริงออกมาดังนี้ครับ

1. เจ้าชายสิทธัตถะ มิได้เสด็จหนีออกบวชเวลากลางคืนโดยที่ใครๆ ไม่รู้เห็นเหมือนดังที่พุทธประวัติเขียนกัน

2. เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบวชเพราะแรงผลักดันทางการเมือง

ทั้งสองข้อนี้ออกจะกลับ "ตาลปัตร" กับที่เคยรู้เคยเรียนมา บางท่านคงจะรับไม่ได้ ไม่เป็นไรครับ รับไม่ได้ก็อย่ารับ

แต่ขอเรียนว่า ข้อสรุปข้างต้นนี้ผมมิได้นั่งเทียนเขียนเอาเองนะครับ มีหลักฐานอ้างอิงอย่างหนักแน่นเชียวแหละ (อ่านจบ จะรู้เอง ผมได้หลักฐานมาจากไหน)

พุทธประวัติเขียนไว้ เจ้าชายเสด็จหนีกลางคืนพร้อมนายฉันนะมหาดเล็กคนสนิท แต่พุทธประวัติก็ดี ปฐมสมโพธิก็ดี อาจารย์รุ่นหลังเขียนกันทั้งนั้น พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นตำราชั้นต้นจริงๆ ไม่มีที่ไหนพูดว่าเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จหนีบวชตอนกลางคืน

ในพระสูตรสูตรหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสถึงการออกบวชของพระองค์ว่า พระองค์ทรงคำนึงถึงความเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วคิดหาทางหลุดพ้น จึงถือเพศบรรพชิตออกบวช ในขณะที่พระบิดามารดา มีน้ำตานองหน้า ร้องไห้คร่ำครวญอยู่

สังเกตคำที่เขียนนั้นไหมครับ ตัวท่านเองตรัสว่าท่านมิได้หนีพ่อแม่ไปบวช บวชทั้งๆ ที่พ่อแม่เห็นๆ อยู่ ร้องห่มร้องไห้อาลัยอาวรณ์

และสังเกตท่านพูดถึง "แม่" ท่านด้วย อาจหมายถึงว่าพระนางสิริมายา ยังไม่ทิวงคตหลังจากเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้เจ็ดวันดั่งที่เราเรียนมาก็ได้

หรือ "แม่" ในที่นี้อาจหมายถึงแม่เลี้ยงก็ได้

แต่ช่างเถิด เราละประเด็นนี้ไปก่อน ขอพูดถึงการหนีบวชไม่หนีบวชกันดีกว่า

ถ้าตามพระดำรัสนี้ แสดงว่าเจ้าชายสิทธัตถะมิได้เสด็จหนีบวชในเวลากลางคืนแน่ แต่บวชขณะที่พระราชบิดา (และ พระราชมารดา) รู้เห็นอยู่ แต่ไม่อยู่ในฐานะทัดทานได้

เรื่องนี้มีพระสูตรจากพระไตรปิฎก 8 แห่งข้อความตรงกันกับที่ขีดเส้นใต้ข้างบนคือ

1. ปราสิสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ 12)

2. มหาสัจจกสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ 12)

3. โพธิราชกุมารสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ 13)

4. จังกีสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ 13)

5. สังคารวสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ 13)

6. โลณทัณฑสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ 9)

7. กูฏทันตสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ 9)

8. สารีปุตตนิทเทส (พระไตรปิฎกเล่มที่ 19)

("ในกาลต่อมา เราตถาคตยังหนุ่มแน่น แข็งแรง เกศาดำสนิท อยู่ในปฐมวัย เมื่อพระราชมารดา (พระมารดาเลี้ยง) และพระราชบิดาไม่ทรงปรารถนาให้ผนวช มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ทรงกรรแสงอยู่ จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิต")

ถ้าถามต่อไปว่า ทำไมจึงทัดทานไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่อยากให้โอรสบวชก็ต้องตอบตามสมมุติฐานข้อสอง นั้นคือเจ้าชายสิทธัตถะถูกผลักดันให้ออกไปจากประเทศ พระเจ้าสุทโธทนะจึงจะเป็นกษัตริย์ประมุขชาวศากยะในขณะนั้น ก็ไม่อยู่ในฐานะช่วยโอรสตนเองได้ ในเมื่อเป็นมติของนภาตัดสินออกมา

ถามต่อไปว่า เรื่องอะไรล่ะ ที่ทำให้ชาวศากยะถึงต้องลงมติผลักดันให้เจ้าชายสิทธัตถะออกจากเมือง ก็ต้องโยงถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของศากยวงศ์เรื่องหนึ่ง คือ "ศึกชิงน้ำ"

เชื้อสายของพระพุทธเจ้าแบ่งเป็นสองกลุ่มตั้งเมืองอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำเล็กๆ สายหนึ่งชื่อ "โรหิณี" ศากยะแห่งกบิลพัสดุ์อยู่ฟากหนึ่ง โกลิยะแห่งเทวทหะอยู่อีกฟากหนึ่ง ทั้งสองตระกูลเป็นพวกที่หยิ่งในสายเลือดของตัวเองมากจึงแต่งงานในระหว่างญาติพี่น้องกันเอง (ซึ่งผิดกฎเมนเดลเป็นอย่างมากอาจเพราะเหตุนี้ก็ได้ที่ทำให้ชาติพันธุ์ของพระพุทธเจ้าสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์เร็วกว่ากำหนด นอกเหนือไปจากทำสงครามล้างผลาญกันเอง ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า)

ทั้งสองตระกูลนี้มีอาชีพหลักคือกสิกรรมอาศัยน้ำในแม่น้ำโรหิณีทำนามีการกระทบกระทั่งกันเกี่ยวกับการแย่งทดน้ำไปทำนาบ่อยครั้ง เป็นปัญหาเรื้อรังมานมนาน จนกระทั่งถึงสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในวัยฉกรรจ์ ความวิวาทบาดหมางได้ทวีความรุนแรงขึ้น ถึงขั้นศากยะแห่งกบิลพัสดุ์เรียกประชุมตัดสินชี้ขาดในสภา

เสียงส่วนมากในที่ประชุมเสนอว่า สมควรใช้มาตรการสุดท้ายคือยกทัพไปรบกับ โกลิยะแห่งเทวหะให้รู้แล้วรู้รอดกันเสียที

แต่เจ้าชายสิทธัตถะ (อาจมีสมาชิกอื่นด้วย) ไม่เห็นด้วยกับที่พี่น้องกันเองจะล้างผลาญกัน เมื่อโหวตเสียงปรากฏว่าแพ้มติที่ประชุม ทั้งๆ ที่แพ้มติที่ประชุมเจ้าชายไม่ยอมเลิกลา ยืนขึ้นคัดค้านกระต่ายขาเดียวอยู่นั่นแล้ว

นับว่าปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับของสภาอย่างร้ายแรง จึงถูกขับออกไปในที่สุด

แต่การให้เจ้าชายสิทธัตถะออกจากเมืองมิใช่เรื่องเล็กน้อย พวกศากยะเป็นประเทศราชขึ้นอยู่กับพระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งรัฐโกศลอีกต่อหนึ่ง (มิได้เป็นประเทศอิสระใหญ่โต อย่างที่ชาวพุทธไทยเราเชื่อกัน) พวกเขากลัวว่า ถ้าปเสนทิโกศลเจ้านายเหนือหัวทราบเรื่องเข้า อาจยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องได้ จึงตกลงกันให้ระงับศึกชิงน้ำไว้สักพักหนึ่งก่อน และขอคำมั่นจากเจ้าชายสิทธัตถะว่าจะต้องไม่ให้ปเสนทิโกศลรู้เรื่องนี้เป็นอันขาด

สิทธัตถะรับปาก และเพื่อให้พวกศากยะวางใจยิ่งขึ้น จึงถือเพศบรรพชิตออกไปให้เห็นประจักษ์กับตาเลยทีเดียว

(ไม่ว่าสมัยนั้น หรือสมัยไหน เพศบรรพชิตถือว่าไม่มีพิษภัยกับใครในประวัติศาสตร์ไทย ผู้ที่หนีราชภัยออกบวช ย่อมไม่ได้รับการรบกวนจากกษัตริย์ผู้มีอำนาจ นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณกาล)

ดูตามแผนที่เมืองกบิลพัสดุ์อยู่ไม่ไกลจากเมืองสาวัตถีเมืองหลวงของแคว้นโกศลเท่าไหร่ แต่เจ้าชายสิทธัตถะไม่เสด็จไปทางนั้น กลับมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกผ่านแคว้นมัลละของมัลลกษัตริย์ ข้ามแม่น้ำอโนมาเข้าไปยังเขตมคธรัฐซึ่งมีมหาราชชื่อพิมพิสารปกครองอยู่ ทรงบำเพ็ญเพียรที่นั่นตรัสรู้ที่นั่นและวางรากฐานพระพุทธศาสนาที่นั่นเช่นกัน

หลังจากนั้นหลายปี พระองค์จึงเหยียบย่างไปยังแคว้นโกศล ทั้งหมดนี้ อาจเพราะว่าพระองค์ทรงรักษาคำมั่นที่ให้ไว้กับพวกศากยะอย่างเคร่งครัดก็ได้

เมื่อพระพุทธองค์ทรงวางรากฐานพุทธศาสนาที่แคว้นมคธมั่นคงแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงเข้าไปหาพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากพระองค์แล้วเกิดเลื่อมใส มอบตนเป็นสาวกคนหนึ่ง

พอถึงตอนนี้พวกศากยะซึ่งแต่เดิมดูถูกเหยียดหยามพระองค์ พลอยเห็นความสำคัญของพระพุทธเจ้าขึ้นมาบ้าง

ศึกแย่งน้ำปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พระญาติทั้งสองฝ่ายยกพลมาหมายขยี้ให้แหลกไปข้างหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องเสด็จมาห้ามทัพไว้ทัน เทศนาสอนให้พวกเขาเห็นโทษในการล้างผลาญสายเลือดเดียวกันจนยุติเลิกรากันได้ในที่สุด

การห้ามสงครามเลือดครั้งนี้เป็นเหตุสำคัญในประวัติศาสนา จึงมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นปางหนึ่งเป็นอนุสรณ์ เป็นรูปยืนยกพระหัตถ์ขวาขึ้นในท่าห้ามปราม เรียกว่า พระพุทธรูปปางห้ามญาติ

เข้าใจว่า เผ่าศากยะสมัยนั้น คงมีจำนวนไม่มากมายเท่าไรนัก ศึกล้างโคตรกันเอง โดยวิฑูฑภะครั้งนั้น คงไม่สามารถฆ่าได้หมดทุกคน ที่หลบหนีภัยครั้งนั้นก็คงมีไม่น้อย ได้แตกลูกแตกหลานสืบกันมาเป็นจำนวนมาก

แม้ปัจจุบันนี้ที่ประเทศเนปาล ถิ่นมาตุภูมิของพระพุทธเจ้า ก็ยังมีตระกูล "ซาเกีย" ซึ่งเป็นตระกูลที่ใหญ่มากตระกูลหนึ่ง เขาอ้างว่าสืบมาจาก ศากยะสมัยพุทธกาลนั่นเอง

ดูหน้าตาคนเนปาลแล้วอดแปลกใจไม่ได้ ไม่มีเค้า "อารยัน" หรือ "ฝรั่ง" เอาเสียเลย พวกนี้ผิวเหลือง (คล้ายคนไทย) เป็นเชื้อสายมองโกเลีย

ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นบรรพบุรุษของคนเนปาลปัจจุบันนี้ พระองค์ก็ต้องเป็นมองโกเลีย

หมายเหตุ : ทัศนะที่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นชาวมองโกล อ่าน เดช ตุลวรรธนะ เรียนพระพุทธศาสนาอย่างปัญญาชน เล่ม 3 พุทธประวัติฉบับมองโกล, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมยุทธศึกษาทหารบก, 2525 และที่ว่าเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชด้วยเหตุผลทางการเมือง โปรดอ่าน B.R. Ambedkar. The Buddha and His Dhamma. Bombay: Siddharth College Publication I. 1957 และ เสฐียร พันธรังสี, พุทธประวัติมหายาน (พุทธประวัติฉบับค้นพบใหม่) กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2525 น่าสังเกตว่า ในพระสูตรกล่าวถึงมหาปุรสลักษณะ 32 ประการข้อหนึ่งว่า "สุวณฺณวณฺโณ" พระพุทธเจ้าทรงมีสีผิวดั่งทอง (ผิวเหลือง)

Submitted by สมภาร พรมทา on

ขอเพิ่มเติมข้อมูลนิดหน่อยครับ เป็นทัศนะส่วนตัวของผมดังนี้
(๑) เรื่องการเสด็จออกบวช พระไตรปิฎกเถรวาทที่ใช้ในบ้านเรา พม่า และลังกา เป็นต้น ระบุว่าไม่ได้หนีไป แต่เสด็จออกซึ่งหน้า พระบิดาและพระมารดาร้องไห้เสียใจ อันนี้ชัดเจน
(๒) การตีความโดยท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ถัดจากนั้นมาใช้ข้อมูลของ Dr. Ambedkar เป็นหลัก อาจารย์เสฐียร พันธรังษีก็ใช้เล่มนี้เป็นเอกสารอ้างอิงเมื่อท่านเขียนพุทธประวัติฉบับมหายาน
(๓) หนังสือของ Dr. Ambedkar ยังมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถืออยู่มาก ท่านผู้นี้ไม่ใช่ผู้รู้ด้านประวัติศาสตร์และคำสอนของพระพุทธศาสนา
(๔) ดังนั้น เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดรับฟังไว้ก่อน ยังมีอะไรต้องตัดสินกันอีกมากในทางวิชาการ

Submitted by สมภาร พรมทา on

ไหนๆก็ไหนๆแล้ว อ่านหนังสือของ Dr. Ambedkar เองจะดีกว่า ตามลิงก์
http://www.freewebs.com/kjagtap/buddha.pdf

สำหรับผม หนังสือนี้ค่อนข้างไปทางนิยาย มากกว่าประวัติศาสตร์
เชิญทัศนาครับท่าน

Submitted by lk on

Sathu.....

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

ถ้ามองพุทธะเป็น "คน" ท่านก็คงคิดอะไรในบริบทสังคมการเมืองและสังคมศาสนาสมัยนั้น ท่านเองคงยังไม่รู้จักคำว่า "ประชาธิปไตย" กระมังครับ (เพลโต อริสโตเติลรู้จักประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ แต่ก็ต่างกันมากกับประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพราะเอเธนส์ ณ เวลานั้นมีทาส และคนต่างชาติจำนวนมากกว่า "เสรีชน" ที่สิทธิเข้าไปมีส่วนร่วม มีปากมีเสียงทางการเมือง) พุทธะก็อาจจะชอบระบบสภากษัตริย์และนำมาปรัปใช้กับการปกครองคณะสงฆ์

แต่สภากษัตริย์มีลักษณะเป็น "สภาอภิชน" หรือสภาของชนชั้นปกครอง ราษฎรไม่มีส่วนร่วม แต่คณะสงฆ์ไม่ได้มีลักษณะอภิชน ผู้ออกบวชจะมาจากวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็มีความเสมอภาค เคารพกันตามลำดับอาวุโสทางพรรษา (แสดงว่าผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์แต่มีพรรษาน้อยกว่าผู้ยังไม่บรรลุก็ต้องเคารพอุปัชฌาอาจารย์ที่ยังไม่บรรลุ = ในทางสังคม คุณธรรมสูง-ต่ำ ไม่ใช่เงื่อนไขกำหนดชนชั้น) และมีเสรีภาพตรวจสอบกันและกัน

ส่วนภาษาทางศาสนา พุทธะก็ใช้ภาษาร่วมกับสังคมศาสนาในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นคำว่านิพพาน สวรรค์ นรก บุญ บาป ชาติหน้า ฯลฯ

สรุป มันจึงไม่ง่ายนักที่จะสรุปภาษาการเมือง ภาษาศาสนาของพุทธะโดยเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองต่างจากความหมายที่เขาใช้กันในเวลานั้น

ทุกวันนี้ถ้าจะตีความว่าพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย คงจะตีความจากมโนทัศน์บางอย่างมากกว่าที่จะเริ่มจากข้อสรุปที่ว่า "พุทธเป็นประชาธิปไตยมากว่าสองพันปีแล้ว"

Submitted by ชาญณรงค์ บุญหนุน on

กรณีการออกบวชของพระพุทธเจ้า จะถือว่าเป็นการปฏิเสธระบอบสภา (ที่ใช้ในกบิลพัสดุ์) หรือไม่

การยืนยันของสิทธัตถะที่จะไม่ทำตามมติที่ให้มีการทำสงครามกับโกลิยะ/เทวทหะ ถ้าหากในพุทธประวัติแบบมหายานเป็นจริง ก็ไม่ใช่ปฏิเสธการปกครองที่ถือมติข้างมากในสภาเป็นเกณฑ์ เพราะในเรื่องเล่าดังกล่าวบอกว่า สิทธัตถะ ยืนยันที่จะไม่เป็นผู้นำทัพในสงคราม ซึ่งสามารถตีความได้ว่า การยืนยันที่จะไม่ปฏิบัติตามมติที่ให้เป็นผู้นำกองทัพนั้น เป็นคนละมติกับการลงมติประกาศสงคราม การถอนตัวจากการเป็นผู้นำทัพ จึงเป็นทั้งการประท้วงโดยใช้สิทธิส่วนบุคคลต่อมติแรก (ที่ให้มีการประกาศสงคราม) ฐานที่มาของการประท้วงคือการไม่ยอมรับว่าสงครามเป็นทางออกที่ดีในการยุติข้อขัดแย้ง

ไป ๆ มา ๆ ทั้งหมดนี่ ไม่มีใครรู้จริงหรอกว่าอะไรเกิดขึ้น แต่เรื่องเล่าพวกนี้ก็สนุกดี

Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ on

เรื่องเล่าในพุทธประวัติก็เกิดจากการอ้างอิง วิเคราะห์ข้อมูลในพระไตรปิฎก (พระไตรปิฎกก็เกิดจากการมี "ผู้เล่าเรื่อง" อีกที เช่นพระอานนท์เล่าเรื่องพระสูตร พระอุบาลีเล่าเรื่องพระวินัย โดยมีคณะสงฆ์ชุดแรกที่ทำสังคายนา 500 รูป ลงมติรับรอง "สำเนาถูกต้อง")

แต่จากข้อมูลในพระไตรปิฎก เราพอจะเข้าใจได้ว่าพุทธะมีท่าทีอย่างไรกับสงครามแย่งน้ำ มีท่าทีอย่างไรต่อระบบวรรณะ มีท่าทีอย่างไรต่อระบบสังคมการเมือง ต่อความเชื่อทางศาสนาในยุคของท่าน แล้วท่านเสนอมุมมองของท่านเองอย่างไร

ผมคิดว่ามุมองของท่านนี่แหละที่เราสามารถตีความได้ว่าเป็นมุมมองที่สนับสนุนว่ามนุษย์มีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคหรือไม่ อย่างไร (ซึ่งหลายคนเชื่อว่าตีความได้ เช่น ดร.อัมเบ็ดการ์ ส.ศิวรักษ์ ฯลฯ)

Submitted by เขียดอีโม้ วิสุ... on

เรียน ท่านจอมยุทธ์ทุกท่าน
ผมเห็นด้วยกับแนวทางการตีความพุทธศาสนาแบบใหม่นี้ และต้องขอคารวะชื่นชมท่าน อ.สมภาร มากเพราะท่านได้นำเราเข้าสู่พรมแดนตวามรู้ด้านพุทธศาสนาอย่างน่าตื่นเต้นเร้าใจ แปลกใหม่ที่กระตุ้นต่อมอยากรู้ อยากเห็นได้ดีเยี่ยม และท่านอาจารย์สุรพศ อ.ชาญ ที่มีความคิดใหม่ๆมานำเสนออย่างต่อเนื่อง
ผมมีความเห็นเรื่อง ท่านอัมเบ้ดการ์ เล็กน้อยครับ เพราะผมเคยศึกษาที่ปูณ่า หรือปูเณ่มาก่อน และอยู่ในรัฐมหาราษฎร์ (รัฐที่ราษฏร์เป็นใหญ่ ฮ่า ฮ่า) หรือบางทีออกเสียงว่า มหารัชตระ บ้านเกิดเมืองนอนของท่านอัมเบ็ดการ์ พลเมืองของรัฐนี้นับถือท่านอัมฯมากที่สุดในบรรดารัฐสำคัญๆอื่น ด้วยเหตุผลหลายอย่าง (1) อาจเพราะท่านเป็นคนพื้นที่ตรงนี้ (2) ท่านเริ่มขบวนการปฏิวัติชนชั้นครั้งยิ่งใหญ่ เรียกร้องความเท่าเทียมในด้านต่างๆให้กับพวกดาลิท (ทลิททะ-บาลี-คนยากจนมากๆหากมองด้านเศรษฐกิจ, คนไร้อำนาจ-มองด้านอำนาจการเมือง, คนที่ถูกทำให้เป็นทาสรับใช้-หากมองด้านสังคม, คนอาภัพที่ถูกสาปให้ตกนรกทั้งเป็น-มองด้านศาสนาความเชื่อ) (3) ท่านมีบทบาทในทางฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ โดยชักชวนพวกนอกวรรณะ (คนอื่น/คนชายขอบ) ของสังคมให้หันกลับมานับถือพระรัตนตรัย ผมคิดว่า ปราศจากการนำขบวนของท่านแล้ว พุทธศาสนาในอินเดียอย่างที่เราเห็น ณปัจจุบันนี้มิอาจเป็นไปได้เลย (4) ท่านคือตัวอย่างของการทำให้โลกรู้ว่า กฏของกรรมนั้นมีผลที่แท้จริงอย่างไร มนุษย์จะดีเลว พัฒนาหรือไม่พัฒนาอยู่ที่การกระทำของตัวเอง มิใช่เรื่องเชื้อชาติ วรรณะ แต่อย่างใด เป็นการตอกย้ำคุณค่าคำสอนทางพระพุทธศาสนาตรงตามเจตนารมณ์ (5) และที่สำคัญ ท่านประยุกต์ใช้หลักคำสอนพุทธศาสนาในการปฏิรูปสังคมที่อยุติธรรม ที่มองไม่เห็นหัวมนุษย์ด้วยกันในสังคมได้มีสิทธิ เสรีภาพ ลืมตาอ้าปากได้แบบมีศักด์ศรีจริงๆ เห็นได้จากรัฐธรรมนูญอินเดีย ในปัจจุบันจะรับรองเรื่องความเสมอเท่าเทียมไว้มากที่สุดเท่าที่อินเดียเคยมีรัฐธรรมนูญ บทบาทด้านนี้ คานธียังเป็นรองอยู่หลายขุมมาก
ส่วนความรู้เรื่องพุทธศาสนาเอง หากมองอย่างนักการศาสนาแบบเราๆท่านๆที่ผ่านการบวชเรียนมาโดยตรงอาจดูว่า มีความน่าเชื่อถือน้อย (ตามที่ อ.สมภาร ตั้งข้อสังเกต) แต่ผมบอกได้เลยว่า ท่านไม่ได้เป็นนักการศาสนาแบบอุดมคติพุทธแบบนั้นแน่ แต่เป็นความพยายามที่จะประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสรรค์สังคมใหม่ ปฏิวัติสังคมอินเดียแบบใหม่ ที่คนบางกลุ่มถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ขาดโอกาสในทุกๆด้าน เป็นเบี้ยล่างของสังคมที่เต็มไปด้วยความฉ้อฉล ตอแหล ฯลฯ ภายหลังการได้อิสรภาพจากอังกฤษ เป็นแนวทางที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าเป็นอุดมคติตามหลักการศาสนา คือ พระนิพพาน กล่าวคือ ถ้าจะเป็นนิพพานก็ขอเป็นนิพพานแบบสังคมที่ไร้ชนชั้นจะดีกว่ามากๆเลย ส่วนรายละเอียดค่อนว่ากันใหม่ ผลงานของท่านมีเยอะมาก เป็นเล่มหนาๆจำนวนมากที่พุดเรื่องดังกล่าว น่าติดตามมากครับ
แต่ถ้าจะเอาเป็นหลักการก็ต้องศึกษาด้วยท่าทีแบบวิเคราะห์วิจารณ์มากขึ้น แต่สิ่งที่ผมสนใจมากนะ ก็คือ เรื่องรัฐธรรมนูญอินเดียที่ผ่านการวางรากฐานโดยคนรากหญ้าแบบอัมเบ็ดการ์จัดทำเนียะ ผมว่ามันเป็นอะไรที่ make sense มากกว่าพวกอีลิต ที่ไม่มีแบ็กกรานด์เรื่องความทุกข์เข็ญ พอมันมาออกรัฐธรรมนูญ มันดูไม่มีชีวิตชีวา มองไม่เห็นหัวมนุษย์คนอื่น เบย เบย บู๊ย บู๊ย.....

Submitted by พงษ์ศักดิ์ on

กูไม่เห็นต้องมีคุณวุติเลย แต่กูมีคุณธรรม มากกว่าผู้ที่ถูกเชียร์ว่าเป็นผู้ทรงธรรม
กูไม่เห็นต้องเป็นนักวิชาการเลย เพราะกูวิชาเกิน

Submitted by พงษ์ศักดิ์ on

คนเราเกิดมา ธรรมชาติให้ความเป็นคนมาอยู่แล้ว
แล้าเอาอะไรมาครอบงำล่ะ ถึงได้เปลี่ยนจากความเป็นคนไปใด้ถึงเพียงนี้?

Submitted by พงษ์ศักดิ์ on

ก็ใครล่ะ ที่กำหนดให้พวกเราไปนั่งสมาธิกับวัด ดังมีชื่อ
พอนั่งไม่เห็นชาติเห็นภพก็อ่างว่าจิตยังหยาบ
อาจารย์ที่กูไปนั่งสมาธิด้วย ที่วัดเขาวง อ บ้านไร่ หอบเงินญาติโยมไปกี่ล้านไปมีเมียอยู่เชียงใหม่นู้นลูกสองแล้ว ไม่เห็นมันเหาะเหินเดินอากาศเลย

ศาสนาก็คือรากเห้งาของความโง่
เราดำรงอยู้ใด้ตามเหตุตามผล ไม่ไช่เพ้อเจ้อ

Submitted by พงษ์ศักดิ์ on

ใครล่ะที่อาศัยความเชื่อทางศาสนาพรามห์ว่าตัวเองเป็นผู้มีบุญบารมีมาเกิดเป็นกษัตรย์

คนที่อ้างว่าตัวเองไม่เคยทำผิดเลย และไม่ผิดเลย
ก็แสดงว่ามึงเป็นคนบ้าใบ้ไร้สติสิ ที่ไม่สามารถรับผิดชอบกับการกระทำผิดของตัวเองได้

Submitted by พงษ์ศักดิ์ on

"ข้างหลังภาพ"
กูตายกูดีใจที่ได้รู้ว่ามึงไม่ใด้รักพวกกูเลย
แต่กูดีใจที่ลูกหลานกูตาสว่างกันหมดแล้ว

Submitted by พงษ์ศักดิ์ on

พวกกูดีโดยธรรมชาติ พวกกูต้องเลวเพราะพวกมึงกดขีพวกกู่

Submitted by สุชาติ on

ดีใจแทนผู้เขียนบทความท่านชาญณรงค์ ที่มีผู้วิจารณ์และให้ความเห็นกันแซด ผมอยากเขียนได้อย่างนี้จัง

ชอบคำตอบของท่านสุรพจน์ และข้อเสนอทางออกของท่านเขียดอีโม้

ต้องขอบคุณอาจารย์สมภารที่ตกเสนอข้อมูลพียบ

อย่างท่านพงษ์ศักดิ์ก็ดูจะเกลียดศาสนาเข้ากระดูก ก็ดีมีคนนับถือมากๆ มีคนเกลียดซะหน่อย เกลียดให้มันครบทุกศาสนาละกันจะได้เป็นธรรมทุกฝ่าย

แล้วผมจะทำอะไรออกความเห็นสักหน่อยว่า

1.บทความโดยภาพรวมข้อมูลยังไม่คลอบคลุม ยิ่งมาเจอข้อมูลนำเสนอของอาจารย์สมภารเข้าแล้วผมว่าง่อยเปลี้ยเสียขาไปเลย
2.ที่สรุปว่า "พุทธศาสนาเป็นอุปสรรคต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย" ผมก็ว่าสรุปเกินไปแต่ไม่อยากใช้คำว่าสา..แบบมีบางท่านว่าไปแล้ว
๓. อยากให้ท่านใช้ คำว่า "สถาบันการปกครองคณะสงฆ์ไทย" หรือ "พระสงฆ์ไทย" หรือจะประดิษฐ์คำอะไรก็ได้ แทนคำว่าพุทธศาสนาจัง เพราะพุทธศาสนาถ้าหมายถึง "พุทธธรรม" มันตีความได้ทั้งสนับสนุนและขัดขวาง แต่ก็นั่นแหละบางท่านก็เห็น "พุทธธรรม" เป็นเรื่องเล่า อ้าว แล้วเรื่องอะไรหละไม่เล่า ที่พวกเรากำลังถกกันอยู่นี่ เดียวก็มีคนเอาไปเล่า
และสุดท้าย ๔. ผมก็สอนพุทธศาสนาตามหลักสูตรที่มีอยู่ ก็เดิม ๆ นั้นแหละ สร้างคนดีที่เป็นปัจเจกท่ีจะอยู่กับระบอบอะไรก็ได้ ให้นักศึกษาอ่านหนังสือเหล่านี้เล่นๆ

พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ของท่านพุทธทาส
ปฐมสมโพธิกถา ของพระฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (บวชแล้วยังให้เรียกเป็นเจ้าอยู่ ก็เรียกท่านไปงั้นแหละ)
พุทธประวัติ ของพระฯกรมพญาวชิรญาณวโรรส
พุทธจริต ของ พระอัศวะโฆษ แปลโดย อ.สำเนียง เลื่อมใส
คัมภีร์ลลิตวิตร ของ อ. แสง มณวิฑูร แปล
สิทธารถะ ของ เฮอมาน เนสเส แปลโดย สีมน

ผมว่ามันเพลินดี ท่านจะเอามาประกอบการตีความเขียนก็ได้นะ เห็นแต่ละท่านตีความไปแล้วเครียดๆ อ่านเป็นวรรณคดีบ้าง เห็นพุทธประวัติหลายมุมดี

ที่ว่าพุทธประวัติฉบับมหายานเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชเพราะแพ้โหวดในสภาและออกบวชอย่างเปิดเผยนั้นก็มีข้อแย้งอยูว่าอาจมีฉบับออกบวชแบบแอบหนีเหมือนกัน คือ

๑.ภาพยนต์เรื่อง A Little Buddha ที่สร้างโดย Hollywood ปรึกษาโดยธิเบต(จำไม่ได้ว่าท่านใด)ก็บวชแบบแอบ ธิเบตใช้พุทะประวัติฉบับใด
๒.ภาพยนต์การ์ตูนสำหรับเด็กของญี่ปุ่น "การ์ตูพพุทธประวัติฉบับมหายาน"ก็ออกบวชแบบแอบ
แล้วท่านผู้รู้จะว่าอย่างไร

ผมเอาหนัง เอาการ์ตูนมาแย้งวิชาการจะพอไหวไหม พุทธประวัติฉบับค้นพบใหม่ ของ อ. เสถียร จะว่ายังไง เพราะหนังเหล่านี้ฝีมือมหายานทั้งนั้น

Submitted by พงษ์ศักดิ์ on

ก็ศาสนาเดียวกันทำไมไปเบี่ยงเปนบิดเบือนล่ะครับ ผมเรียนมาก็ไช่น้อยไปถึงเนปาลนู้น ศาสนาก็เป็นเครื่องมือของใครล่ะ ผู้ที่นำศาสนาเข้ามาฉลาดสร้างวาทะกรรมด้วยเหตุผลกำปั้นทุบดินว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ตามแนวความคิดของใครล่ะ ก็ใอ้พวกสมมุติทั้งนั้น ปลายกรุงศร๊อยุธทยา แก๋นแท้ของสาสนาพุทธที่เป็นวิทยาศาสรต์ธรรมชาติหายไปหมดสิ้น ผมไปค้นเจอที่ฝรั่งเศสนู้น เมืองไทยปิดบังบิดเบือนไปหมด สงสัยมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าทำไมๆๆๆๆ สุดท้ายก็ตาแจ้ง

พระไทย อยู่พรี กินพรี อยู่ดีกินดี เวลาไปสวดงานต่างๆ ยังเอาเงินกับญาติโยมอีก คนไทยรากหญ้าแทบจะไม่มีแดกกันอยู้แล้วยังไปเอาเงินเขาอีก เวลาไม่มีจะกินผมไม่เห็นใอ้พระเจ้าตัวใหนเอามาให้แดกเลย อ้างชาติอ้างภพ ชาตินี้แทบจะไม่มีกิน ชาติหน้าก็อย่าหวังเพราะเชื่อคำสอนบ้าบอเหล่านี้

พระนั่งช่วยตัวเองอยู่ในวัดนู้น บอกผมหน่อยสิว่าพระไม่ไช่คน?

Submitted by พงษ์ศักดิ์ on

เยซูมันก็บกว่ามันเป็นผู้สร้างโลก อัลเลาะห์ก็บอกว่ามันสร้างโลก แค่นี้ก็ไม่เห็นให้นักปราชใหนมาตอบเลยกับคำถามนี้ หมามันยังตอบได้เลยว่า พวกมึงเป็นคนแท้แท้ ยังโดนคนหลอกใด้ อาย หมาฉิบ