จากกรณี "พระยาพิชัย" และ "ท่อนจัน" ถึงสนช.: "ความมืด" ที่มีกฎหมายรองรับ?

15 October, 2007 - 01:35 -- karnt

 

 

จากกรณีที่สนช.ผู้ทรงเกียรติกว่า 60 ท่านได้ร่วมกันเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ต่อไปจะเรียกว่า “ป.วิอาญา”) ซึ่งแม้ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ทรงเกียรติกลุ่มนี้จะขอถอนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวกลับไปแก้ไข แต่แนวโน้มที่หลายฝ่ายหวาดกลัวก็คือ การกลับมาของร่างพ.ร.บ.ที่ตัดทอนเนื้อหาส่วนที่คุ้มครององคมนตรีออกไปเพื่อลดกระแสต่อต้านลง โดยที่ยังคง ป.วิอาญา มาตรา 14/1 ซึ่งกำหนดให้คู่ความสามารถ “ร้องต่อศาล เพื่อขอให้สั่งห้ามมิให้โฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีไม่ว่าสื่อประเภทใด”[1] เอาไว้

หลายคนซึ่งทราบว่า ป.วิอาญา มาตรา 14/1 ที่สนช.ร่างมานี้ คือกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิทธิ - เสรีภาพ - สวัสดิภาพของประชาชนผู้ที่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ต่างได้พากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์คัดค้าน แต่ขณะเดียวกันสื่อมวลชนบางฉบับกลับออกมาแสดงความเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว โดยอ้างการปกป้อง “สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เป็นเหตุผล[2]

ซึ่งไม่ต่างกับกรณีการจับกุมคุมขังเจ้าของนามแฝง “พระยาพิชัย” และ “ท่อนจัน” ที่มีคนจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นด้วยกับการกระทำของฝ่ายรัฐ รวมทั้งประณามผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวช่วยเหลือคนทั้งคู่และเรียกร้องให้มีการเปิดเผยคดีนี้สู่สาธารณะ ว่าทำไปด้วยความเป็น “พวกเดียวกัน” คือเพราะ “เห็นด้วย” กับสิ่งที่ “พระยาพิชัย” และ “ท่อนจัน” กระทำลงไปจนถูกจับกุมเท่านั้น

ขณะที่ฝ่ายผู้ประณามเองก็ได้อ้างความไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมาสนับสนุนการกระทำของฝ่ายรัฐในกรณีนี้

 

กรณี “พระยาพิชัย” และ “ท่อนจัน”:
ไม่ใช่เพราะเป็น “พระยาพิชัย” และ “ท่อนจัน”

แม้ทั้ง “พระยาพิชัย” และ “ท่อนจัน” จะถูกระบุว่ามีความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550[3] แต่พฤติกรรมหรือ “วิธี” ที่ใช้ในการ “จับกุม” และ “ดำเนินคดี” ของผู้รักษากฎหมายก็ได้ทำให้เกิดข้อกังขา แม้แต่ในผู้ที่ไม่ได้ติดตามกรณีนี้มาโดยตลอด ว่า นี่คือ “คดีความผิดทางคอมพิวเตอร์” จริงหรือ?

แม้การกระทำความผิดต่อกฎหมาย ไม่ว่าจะกระทำต่อบุคคลใดก็ตาม ผู้กระทำต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้เสียหาย และเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน แต่การดำเนินคดี – ไม่ว่าด้วยข้อกล่าวหาใดก็ตาม – จะต้องเป็นไปโดยเปิดเผย

วิธีการ “อุ้ม” คือจับกุมและคุมขัง โดยปกปิดหรือทำให้กระบวนการทั้งหมดอยู่นอกการรับรู้ของสื่อและสาธารณชนนั้น ย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา

ซึ่งไม่ว่าผู้ถูก “อุ้ม” จะผิดจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่
ไม่ว่าพฤติกรรมและแนวความคิดของผู้ถูก “อุ้ม” จะสอดคล้องหรือขัดแย้งกับความเชื่อของผู้ใดหรือไม่ อย่างไร พฤติกรรมการ “อุ้ม” ก็สมควรที่จะถูกคัดค้านและประณามอย่างถึงที่สุด

การเรียกร้องให้ดำเนินคดีอย่างเปิดเผย ตามกระบวนการยุติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนนั้น จึงไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า “พระยาพิชัย” และ “ท่อนจัน” เป็น “ใคร”

เพราะไม่ว่า “พระยาพิชัย” และ “ท่อนจัน” จะเป็นใคร
จะเขียนอะไรในเวบไซต์
จะ “เชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ” อะไร
พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับความยุติธรรมตามกฎหมายเท่าเทียมกับประชาชนทุกคน

 

ป.วิอาญา มาตรา 14/1:
“ความมืด” ที่มีกฎหมายรองรับ?

ความบกพร่องของ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในการคุ้มครองสถาบันฯ แต่ความบกพร่องที่สำคัญอันหนึ่งอยู่ตรงช่องโหว่ที่เปิดให้ “ใครก็ได้“ สามารถแจ้งความดำเนินคดีประชาชนคนใดก็ได้ที่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้

ด้วยเหตุนี้ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จึงถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทางการเมือง เพื่อจัดการกับคู่ปรปักษ์และบุคคลที่ไม่เห็นด้วยมานับครั้งไม่ถ้วน คนจำนวนมากจึงถูกกล่าวหาโดยไม่มีความผิด และต้องดิ้นรนต่อสู้คดีเป็นเวลานาน

ทว่า นอกจากสนช.ชุดนี้จะไม่เคยคิดจะอุดช่องโหว่ดังกล่าวแล้ว ยังมีความพยายามที่จะฉุดลาก “คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เข้าสู่ “มุมมืด” ด้วยการร่าง ป.วิอาญา มาตรา 14/1 ขึ้นมาสร้างความชอบธรรมและสนับสนุนการดำเนินคดีแบบลับๆ

คำถามคือ

การอ้างความต้องการปกป้องสถาบันกษัตริย์ของคณะสนช.ผู้เสนอ และการอ้าง “สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ของผู้สนับสนุนร่างกฎหมายนี้[4] แตกต่างอย่างไร กับการที่หลายคนใช้ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เป็นอาวุธทางการเมือง?

และ “ประเทศไทย” ที่คณะสนช.ผู้ร่าง ป.วิอาญา มาตรา 14/1 รวมทั้งผู้สนับสนุนวาดหวังจะได้เห็น - เป็นเช่นไร?

ประเทศซึ่งเคยถูกทำให้ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวนักการเมืองคดโกง จนต้องยอมทำลายประชาธิปไตย และกำลังจะถูกทำให้หวาดกลัวการบ่อนทำลาย “สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” จนต้องทำลายหลักธรรมในกระบวนการยุติธรรม ??

 

 

 

----------
[1] โปรดดู http://www.senate.go.th/agenda57-50/7.pdf
[2] โปรดดู ”, โพสต์ ทูเดย์, “บทบรรณาธิการ”, วันที่ 11 ตุลาคม 2550. http://www.posttoday.com/newsdet.php?sec=editorial&id=196716
[3] เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนจากการแตกแตกแขนงของประเด็น ในบทความนี้จึงขอพักประเด็น “ความชอบธรรม” ของ “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550” เอาไว้ก่อน (ถ้าหากยังมีชีวิตรอด จะหาโอกาสมาสะสางต่อไป)
[4] โพสต์ ทูเดย์. อ้างแล้ว

ความเห็น

Submitted by ปราการ on

สวัสดีครับ คุณกานต์

ผมมีข้อมูลมาฝาก

กฎหมายลักษณอาญา ๒๔๕๑ มาตรา ๙๘
ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง

มาตรา ๑๐๐
ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่า สองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง

นี่คือ "กฎหมายหมิ่น" ของสมบุรณาญาสิทธิราช ที่คุ้มครอง กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการ ตลอดจนโอรสธิดาของกษัตริย์ทุกรัชกาล ให้รอดพ้นจากการถูก "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" แต่ว่านั่นคือ สมบูรณาญาสิทธิราช

Submitted by ปราการ on

ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๑๒
ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี (หลัง ๖ ตุลาเพิ่มโทษจำคุกเป็น ตั้งแต่ ๓ - ๑๕ ปี)

จะเห็นได้ว่า ขอบเขตของผู้ได้รับความคุ้มครอง ลดลง นี่เป็นลักษณะที่ความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ พยายามเข้ามามีอิทธิพลต่อระบบกฎหมายไทย ซึ่งก็ได้ครึ่งๆ กลางๆ เพราะแม้จะลดขอบเขตลงได้ ก็ยังเห็นตัวอย่างปัญหารูปธรรมมากมาย

ร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ที่ สนช. โยนหินมา เพิ่มขอบเขตผู้ได้รับความคุ้มครอง แม้ไม่เท่า แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่า ใกล้เคียงสมบูรณาญาสิทธิราชเข้าไปทุกที (ลองดูความเห็น ปิยบุตร ในกระดานข่าวฟ้าเดียวกัน)

Submitted by ปราการ on

ปล. เรามานับกันดูว่า ปัจจุบันนี้ เฉพาะในแง่กฎหมาย เรามีอะไรบ้างที่มีลักษณะของสมบูรณาญาสิทธิราช

รธน. ม.๘, รธน. การตั้งรัชทายาท, การตั้งองคมนตรี
กฎหมายอาญา ม.๑๑๒

หรือสมบูรณาญาสิทธิราชทางวัฒนธรรม

???

Submitted by dd on

ระบอบสมบูรณาสร้างความเดือดร้อนให้ปชช.จนคณะราษต้องปฏิวัติแต่ตอนนี้เขาทำสำเร็จแล้วยึดอำนาจคืนได้หมดแล้วเพราะถ้าเขาไม่ชอบใครเขาก็กำจัดได้ทันทีแม้กระทั่งคนที่ปชช.เลือกมา

Submitted by happy on

Sawasdee ka K.Karnt
บางครั้งรู้สึกเหมือน สิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษยชาติ ของ ปชช ชาวสาระขัณฑ์ยังไม่มีเลยค่ะ(ไม่เฉพาะคุณพระยาพิชัย-คุณท่อนจัน) แม้แต่ตาสีตาสาก็โดนเหมือนกัน
ผู้กดขี่คงลืมไปว่า action ก็มี reaction เหมือนกัน จริงมั๊ยค่ะ

ขอบคุณทุกความเห็นมากๆ เลยครับ

แต่ตอนนี้จำเป็นต้องขออนุญาตตอบสั้นๆ ก่อนครับ เพราะแถวบ้านกำลังมีฟ้าคะนอง (ฟ้าผ่าเปรี้ยงๆ ติดๆ กันเลยครับ) จำเป็นต้องรีบออฟไลน์ก่อน

ปลอดภัยแล้วจะมาตอบใหม่นะครับ

Submitted by yakuzoku on

เห็นด้วยทุกประการค่ะ
ไม่รู้จะกดจะขี่กันไปถึงน้ายยยยย..... ทุกวันนี้ก็เหยียบกันจนหน้าจมดิน
หายใจแทบไม่ออก กันอยู่แล้วทั้งน้านนนนนนนนนน... ยังไม่พออีกหรือ?
อยากรู้นักว่าบ้านนี้เมืองนี้มันจะออกกฏหมายมาทําใม? ออกมาเพื่อไคร ?เพื่อปกป้องไครกันแน่?
เดิมทีคนบ้านนอกคอกนาตาสีตาสาอย่างเราๆก็ไม่มีไครรู้เรื่องกฏหมาย ไม่มีไครได้มีโอกาส
ได้ใช้กฏหมายกับเขาหรอก อย่าว่าแต่จะออกมาเรียกร้องขอความยุติธรรม ขอความช่วยเหลือคุ้มครองจากกฏหมายเลย
แม้แต่สิทธิ์ เสรีภาพในความเป็นมนุษย์ที่คนทุกคนควรได้รับมันยังไม่มีเลย
จะมีได้อย่างไร ในเมื่อ สิทธิ์คืออะไร? เสรีภาพคืออะไร?ยังไม่มีไครรู้กันด้วยซ้ำ
เขาว่ามายังไงก็ว่าไปอย่างน้านนนนนน...เขาชี้นกแล้วบอกว่าไม้
เราก็ได้แต่พยักหน้า เพราะไม่กล้าเถียง ไม่กล้าพูด (กลัวพูดไปแล้วผิดกฏหมาย ฮา ฮา )
ต้องกลายเป็นคนขี้กลัว กลัวไปหมดทุกอย่าง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทํา ไม่กล้าพูด
สุดท้ายก็เลยต้องกลายเป็นคนพิการไปโดยอัตโนมัติ ฮาๆ
ไม่ต้องเอามันแล้วกฏมงกฏหมาย ในเมื่อคนส่วนใหญ่ก็กลายเป็นคนพิการ หูหนวก ตาบอดมองไม่เห็น ไม่รับรู้อะไรกันแล้ว
ก็ขอเชิญพวกคุณคนรวย พวกมีอํานาจล้นฟ้าทํากันตามสบาย ตามใจชอบเถิดนะเจ้าคะ
ไม่ต้องมาเสแสร้งแกล้งทําละครน้ำเน่าให้เราคนหูหนวก ตาบอด พูดไม่ได้ดูกันหรอก
บอกแล้วว่าเราไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว สมองก็โดนสั่งห้ามทํางาน ห้ามคิด ห้ามแสดงออก
ถ้าตราบใดที่ยังมีกฏหมายห้ามพูด ห้ามคิด เกี่ยวกับไครบางคน
กฏหมายอื่นมันก็ไม่มีความหมาย ไม่ใช่ว่ากฏหมายมันไม่ดี แต่มันไม่ดีที่คนทํา
ก็จะให้มันดีได้อย่างไร ในเมื่อคนที่ทํากฏหมายออกมาเอง ยังไม่ยอมทําตัวเองอยู่ใต้กฏหมายเลย
แล้วกฏหมายมันจะให้ความยุติธรรมกับเราได้จริงหรือ?
ถ้าเราคิดจะแก้กฏหมาย เราคงต้องเริ่มแก้จากคนที่ทํากฏหมายแล้วล่ะค่ะ จริงมั้ยคะคุณกานต์ หุหุ
ป.ล เขาก็ต้องออกกฏหมายรองรับความมืดสิคะ ในเมื่อตอนทําเขาก็ทํากันแบบมืดๆนี่ เหอะ ๆ

Submitted by ฉันมาจากธรรมชาติ on

คนไม่ใช่เทวดา แต่คนคือสัตว์ มันจึงเข้าตำนานของวัฏจักรแห่งธรรมชาติที่หมุนเวียน มันจึงไม่แปลกที่ธรรมชาติของความเป็นสัตว์จะใช้ระบบ...สัตว์ใหญ่กินสัตว์น้อย !!!!

Submitted by บุญส่ง on

ผมเข้าใจว่านโยบายของทางการในตอนนี้คือพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะอาจส่งผลทางลบอย่างรุนแรงต่อภาพพจน์ของสถาบันในระหว่างประเทศ อีกวิธีหนึ่งคือหาทางทำให้เรื่องไม่เป็นที่รับรู้โดยการคุมสื่อทุกประเภทโดยแก้ป.วิอาญา การคุกคามจะเกิดผลทันทีถ้าทุกฝ่ายเงียบ อย่างไรก็ตามลักษณะแบบหมู่บ้านโลกอันเป็นผลจากโลกาภิวัตน์จะยังคงพลังอันรุนแรงที่ความพยายามดังกล่าวจะไม่บรรลุผลและส่งผลทางลบกลับกับทางการไทยเอง ข้อดีอีกอย่างคือเราได้รู้จุดยืนชัดๆของคนที่ออกมาสนับสนุนการละเมิดสิทธิพื้นฐาน และแยกแยะได้ชัดว่าใครเป็นใคร มีความคิดเชิงประชาธิปไตยจริงๆหรือไม่

Submitted by ittipanta on

เยี่ยมมากคุณกานต์ เห็นด้วยไม่ควรประมาทสนช.ชุดนี้ และประชาชนจำเป็นต้องเกาะติดทุกระยะ
เป็นกำลังใจให้ครับ

Re: คุณปราการ:
ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ
อ่าน "อดีต" เผินๆ นี่น่าขนลุกไม่น้อยเลยนะครับ

แต่พอหันมามองจากปัจจุบัน ไม่ว่าจะมองสถิติย้อนหลัง (วารสารฟ้าเดียวกันก็เคยนำมาลงไว้)
และตัวอย่างที่หลายคนได้แสดง "วิธีการ" นำกฎหมายนี้มาใช้จัดการปรปักษ ์- เสี้ยนหนามทางการเมืองแล้ว
ผมว่าคนในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช อาจต้องทึ่ง (และเป็นฝ่ายขยาดแทน)

ดังนั้น ปริศนาของคุณปราการ ผมจึงขอสงวนสิทธิ์ยังไม่ตอบนะครับ :-X

Re: คุณ dd
อ่า... :-X

สำหรับเหตุผลโปรดดู comment ที่แล้วของผมนะครับ (ฮา…เสียงแห้งๆ)

re: คุณ yakuzoku ครับ
อ่า… ถ้านั่นเป็นคำถาม
โปรดดู comment ของผมที่ตอบคุณปราการและคุณ dd ครับ :-X

Re: คุณ ฉันมาจากธรรมชาติ
โปรดดู comment ที่แล้วครับ :-X
(ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันครับ ว่าทำไมคราวนี้ต้องตอบแต่แบบนี้)

Re: อาจารย์บุญส่งครับ
"…อีกวิธีหนึ่งคือหาทางทำให้เรื่องไม่เป็นที่รับรู้โดยการคุมสื่อทุกประเภทโดยแก้ป.วิอาญา การคุกคามจะเกิดผลทันทีถ้าทุกฝ่ายเงียบ…"
ใช่ครับอาจารย์ ที่สำคัญก็คือ การแก้กฎหมายรอบนี้ มีแนวโน้มที่จะทำแบบ "เงียบ" หรือไม่ค่อยเป็นข่าว ซึ่งอันตรายมาก

พูดอย่างถึงที่สุดแล้ว ผมไม่เข้าใจเลยครับว่า สนช.ที่มาจากการรัฐประหาร มีสิทธิ์มาร่างและ/หรือแก้กฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนได้อย่างไร

อาจารย์ครับ พอได้เห็นกรณีพม่าแล้ว ผมไม่กล้าหวังกับแรงกดดันจาก "ภายนอก" เลยครับ

"…ข้อดีอีกอย่างคือเราได้รู้จุดยืนชัดๆของคนที่ออกมาสนับสนุนการละเมิดสิทธิพื้นฐาน และแยกแยะได้ชัดว่าใครเป็นใคร มีความคิดเชิงประชาธิปไตยจริงๆหรือไม่…"

ข้อนี้เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

Re: คุณ ittipanta on 17
ขอบคุณมากครับผม

และขอบคุณล่วงหน้า สำหรับการ "เกาะติด" ประเด็นสำคัญนี้ "ทุกระยะ" ของคุณ ittipanta และประชาชนคนอื่นๆ ด้วยครับ

Submitted by ตาสี on

เอาแบบสรุปกันง่ายๆที่เห็นๆกันอยู่ การร่างกฏหมายที่ว่าด้วยการหมิ่น โดยสรุปแล้วกฏหมายนี้ร่างมาเพื่ออะไร แล้วทำไมจะต้องร่างกฏหมายแบบนี้ขึ้นมา ถ้าจะให้พูดตรงๆมันก็คงจะลำบากเพราะยังไงๆเราก็ยังอยู่ภายใต้กฏหมายแบบนี้อยู่ อีกนัยหนึ่งถ้ามองกันจริงๆนั้น ปชช.คนธรรมดาจะถูกเหยียดหยามและดูหมิ่นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกี่สมัยก็ตาม ในความเป็นจริงน่าจะร่างกฏหมายของการเป็นอยู่ที่เท่าเทียมกันต่อมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเหล่าศักดินาหรือชาวนาธรรมดาๆผู้หนึ่งก็ตาม กฏหมายที่ร่างออกมาเพื่อคุ้มครองพักพวกของตนเองนั่นล้วนแล้วไม่ได้มาด้วยความชอบธรรมแม้แต่น้อยนิด แต่ไม่มีใครที่จะพูดได้ แม้แต่ในบางเวลาก็ยังห้ามคิดกัน ความเป็นมนุษย์เริ่มห่างหาย เริ่มถอยหลังเข้าสู่ยุคหินเพราะไอ้พวกผู้มีอำนาจหรือเหล่าศักดินาเป็นเหตุ ความจริงถ้าจะพูดไปมันก็ไม่ต่างไปจากที่กำลังนำพาตนเองไปสู่มหาวิบัติ (การถูกอุ้มฆ่า) ซึ่งมีให้เห็นกันบ่อยๆ แล้วจะมีกฏหมายที่รองรับความเจ็บปวดของ ปชช บ้างไหม ประชาธิปไตยที่ดูเหมือนจะคล้ายแต่ก็ไม่ใช่ ประชาศักดินาคิดว่าน่าจะคู่ควรกับการเป็นไทยประเทศ เพราะในความเป็นจริง เรายังไม่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยซ้ำไป

Submitted by ตาสี on

comment ฉันมาจากธรรมชาติ *** ถูกต้องแล้วคร๊าบบบบบบ คนคือสัตว์ สัตว์ประเสริฐจะอยู่ในคนที่รู้จักให้และไม่เอาเปรียบผู้อื่น แต่คนที่ไม่รู้จักให้มีแต่เบียดเบียนและกดขี่ผู้อื่น นั้นล้วนแล้วคือการกระทำของ สัตว์เดรฉารที่ไร้ความคิด แล้วความเป็นมนุษย์ก็ไม่คู่ควรที่จะเรียกขานกลุ่มผู้มีชีวิตเหล่านี้ว่า มนุษย์หรือคนด้วยเช่นกัน.

re: คุณตาสีครับ

ผมเห็นด้วยครับว่า
"...ถ้าจะให้พูดตรงๆมันก็คงจะลำบากเพราะยังไงๆเราก็ยังอยู่ภายใต้กฏหมายแบบนี้อยู่..."

ดังนั้น "ในชั่วโมงนี้" อาจต้องยอมรับว่า ข้อเสนอของ สเตร็คฟัสสฺ (ดูบทความตาม linkด้านล่างครับ) น่าสนใจที่สุด

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID...

Submitted by ซึ้ง on

ชอบมากค่ะ จะเข้ามาติดตามอ่านอีก

Submitted by บุญส่ง on

คุณกานต์ครับ สถานการณ์ในพม่าค่อนข้างเฉพาะ เพราะมีแบ็ตใหญ่หนุนเผด็จการทหาร เช่นจีนซึ่งใช้สิทธิวีโต้มติสหประชาชาติได้ หรือรัสเซีย(ยุคปูติน)ก็เช่นกัน ยังรวมถึงอินเดียอีก แต่กรณีของไทยที่มีจารีตการต่อสู้ทางประชาธิปไตยเข้มข้นและหาแรงหนุนจากภายนอกมากดดันได้ง่าย ตรงนี้เป็นข้อต่างสำคัญ

กรณีคุณพระยาพิชัยและนวลจันคงมีความแตกต่างหากสองคนนี้(ซึ่งขอแสดงความเห็นใจและห่วงใยมา ณ ที่นี้)จะกล้าเปิดเผยเรื่องสู่สาธารณะและไม่จำเป็นต้องปกปิดชื่อตนเอง ข้อต่อรองของฝ่ายรัฐที่ต้องการให้เงียบจะไม่เป็นผลทันที และอีกหลายฝ่ายจะเข้ามาแทรกแซงเพื่อกดดันภาครัฐได้ง่ายขึ้น

ผมขอเสนอให้ทุกคนที่ต้องเผชิญสภาวะแบบนี้ เลือกการสู้อย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ อย่าเงียบ เราจะเห็นพลังผลักดันมากมายตามมา ขณะที่เรากลัว(ซึ่งเป็นเรื่องปกติ) อีกฝ่ายก็กลัวเช่นกัน ความเงียบจึงเป็นการยอมจำนน

ขอบคุณครับอาจารย์

กรณีพม่าที่ทำให้ผมรู้สึกเจ็บปวดและสิ้นหวังมากคือท่าทีของหลายๆ ประเทศที่มีผลประโยชน์กับ "ธุรกิจ" ในพม่า แม้แต่รัฐบาลญี่ปุ่นเอง (เพื่อนที่อยู่ญี่ปุ่นบอกว่าในประเทศ "เงียบ" มาก)

ส่วนกรณี "พระยาพิชัย" กับ "ท่อนจัน" นั้น ค่อนข้างซับซ้อน หลังจากการบุกจับแบบ "เงียบ" (ตามข่าวประชาไท ในตอนแรกผู้่มีอำนาจออกมาปฏิเสธ) จนถึงการพบตัวของนักข่าว และการเปิดเผยของ "บก.ลายจุด" ที่อ้างว่าได้คุยกับ "พระยาพิชัย" ในคุก เราไม่สามารถทราบเลยว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างนั้นบ้าง

และอะไรที่เกิดขึ้นนั้น มีผลต่อความ "กล้าเปิดเผยเรื่องสู่สาธารณะ" ของคนทั้งสองหรือไม่

ประวัติศาตร์ของประเทศนี้บอกเราว่า ในกรณีคดีแบบนี้ ไม่เพียงแต่ "การใช้กฎหมาย" เท่านั้นที่น่ากลัว

แต่แน่นอนครับ หาก ป.วิอาญา มาตรา 14/1 สามารถผ่านออกมาบังคับใช้ ก็จะยิ่งทำให้ "การใช้กฎหมาย" มืดมนลง และน่าสะพึงกลัวมากขึ้น

Submitted by ยายมึงไง on

ก็สมควรโดนแล้วนี่ นั่นยังน้อยไปนะ อิๆๆๆๆ

ก้าวฝ่า “ความเงียบงัน” - A Walk Through "the Silence"

17 July, 2012 - 17:17 -- karnt

กานต์ ทัศนภักดิ์: ศิลปะโฟโต้โมเสคเพื่อเหยื่อ112 ท่ามกลาง “ความเงียบงัน” ที่เราทุกคนในสังคมต่างต้องเผชิญอยู่นี้  (โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)   ไม่ได้มีแต่ความว่างเปล่า และยิ่งไม่ใช่ความ “นิ่งงัน” อย่างที่บางคนอาจหมิ่นแคลน ลำพอง หรือแม้แต่ลอบทอดถอนใจ  -- หากแต่ยังมีความเคลื่อนไหว และมีคนจำนวนมากที่ยังคงพยายามจะ “ก้าวฝ่า” มันไป

 

 

"10 เมษายน 2553" ในความทรงจำของผม

30 April, 2012 - 19:22 -- karnt

หมายเหตุ: บันทึกนี้เป็นเพียงความทรงจำของคนคนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น-คืนนั้น ในบางจุดและบางช่วงเวลา - ในแง่หนึ่งจึงอาจไม่มีเนื้อหาที่สำคัญ และไม่มี "ข้อมูลใหม่" เป็นเพียงการบันทึกเอาไว้เตือนความจำตัวเองว่า เคยอยู่ "ที่นั่น"