การปรากฏตัวของ "มาริยา มหาประลัย"

ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมต้องคิดหนักและเหนื่อยกับการใช้พลังในการพัฒนาโครงการ “กล้าเลือก กล้ารับผิดชอบ” ของเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ ประเทศไทย

โครงการนี้เป็นโครงการที่จะสร้างกลไกระดับพื้นที่เพื่อรณรงค์ สร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์ เพศศึกษาอย่างรอบด้าน และสนับสนุนให้เยาวชน ตระหนักและมีทัศนคติที่ดีในการเรียนรู้เรื่องการป้องกันเอดส์ รู้จักประเมินความเสี่ยงของตนเอง และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเพศของตนให้ปลอดภัย

ผ่านการดำเนินการกับกลุ่มเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ 8 กลุ่ม ใน 20 จังหวัดกระจายไปในภาคต่างๆ ซึ่งจะต้องดำเนินการตลอดระยะเวลา 12 เดือน ทั้งนี้ปัจจุบันโครงการได้ผ่านการอนุมัติแล้วจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข  ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการกำกับการขับเคลื่อนการปฏิบัติการป้องกันโรคเอดส์

โครงการนี้ท้าทายทั้งผมและเพื่อนๆ เครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ ประเทศไทย อย่างยิ่ง เพราะการดำเนินการที่ผ่านมาหลายกิจกรรม หลายโครงการ เยาวชนมักถูกจับตามองในเรื่องของการ “บริหารจัดการ” อย่างยิ่ง ทั้งการเคลียร์บัญชี การเงิน และการดำเนินการให้ผ่านตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ผมก็ได้คิดและเริ่มวางแผนชีวิตตัวเอง ที่จะต้องจัดการให้การดำเนินการของโครงการนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งความรับผิดชอบต่างๆ กับงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ต้องจัดสรรเวลา จังหวะ และโอกาสในการกระทำแต่ละอย่าง

ในเรื่องงานเขียน - พื้นที่ “หนุ่มสาวสมัยนี้” เป็นพื้นที่หนึ่งที่ให้โอกาสผมได้นำเสนอทัศนะ ความคิด ความรู้สึก ประสบการณ์ และเรื่องเล่าต่างๆ นานา ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี นับตั้งแต่กรกฎาคม 2548 เป็นต้นมา ผมได้เรียนรู้การบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวหนังสือ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ทำให้ผมได้รับการพัฒนา โดยการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการปั่นต้นฉบับในแต่ละครั้ง

การเขียนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เหมือนที่อาจารย์ด้านวารสารศาสตร์ท่านหนึ่งได้บอกไว้ว่า การฝึกอบรมด้านการเขียนเป็นเพียงเครื่องหมายหรือพิธีกรรมของการเริ่มงานเขียน การอบรมเพียง 3 – 4 วัน ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมเขียนงานเป็น แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ “ชั่วโมงบิน” ที่ต้องเหน็ดเหนื่อย อดทด ฝึกฝนและการที่เราจะเป็นนักเขียนเป็น เราต้องเหนื่อยและหนักกับการลงมือทำงาน ไม่ใช่ “ฝันๆ” ว่าผ่านการอบรมแล้วจะได้เป็นนักเขียน

เมื่อได้ยินคำบอกเล่าดังกล่าวนี้ ผมจึงกลับมาคิดถึงตัวเองว่า กว่าที่เราจะเขียนได้นั้นมันต้องใช้เวลา และความถี่ในการเขียนที่ต่อเนื่อง และมีจังหวะในการนำเสนอที่เข้าใจได้ง่าย ส่วนอีกมุมหนึ่งก็พบว่าตนเองยังไม่มี “วินัย” พอในการเขียนงาน เนื่องเพราะผมไม่สามารถจัดการเวลาสำหรับการเขียนและการทำงานประจำให้สอดคล้องและแบ่งในสัดส่วนที่สมดุลกันได้

ยิ่งเริ่มทำโครงการกล้าเลือก กล้ารับผิดชอบแล้ว ยิ่งต้องให้น้ำหนักกับงานนี้ค่อนข้างสูง จึงทำให้คิดว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตงานเขียนได้อย่างสม่ำเสมอและสามารถแบ่งปันเรื่องราวมาลงได้เหมือนเคย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนสำหรับอนาคต

และแล้ววันหนึ่ง ผมก็ได้มีโอกาสสนทนากับหล่อน (ผมขอเรียกว่าหล่อน เพราะหล่อนแทนตัวเองว่าหล่อน) เพื่อนรุ่นพี่ที่รู้จักกันมาช่วงเวลาหนึ่ง แม้ว่าเราสองคนเคยพบกันเพียงไม่กี่ครั้ง แต่การสนทนาผ่านโปรแกรมแชทออนไลน์ก็ทำให้เราได้คุยกันอยู่บ่อยๆ และรู้จักกันมากขึ้นกว่าเดิม

ช่วงขณะที่เราทั้งสองกำลังสนทนากันในเรื่องอื่นๆ ทั่วไปนั้น ผมได้เอ่ยชวนหล่อนมาร่วมสังวาสใน “หนุ่มสาวสมัยนี้” ...... หล่อนเงียบไปนานก่อนจะถามว่า “จะดีเหรอ” ผมตอบกลับด้วยความดีใจ “ดีสิครับ พี่จะได้มาช่วยผม ผมทำคนเดียวไม่ค่อยไหวแล้ว มาช่วยกันนะ งานเยอะๆ” หล่อนเงียบอยู่นาน ก่อนจะตอบว่า “โอเค”

ผมดีใจมากที่ได้เพื่อนมาช่วยเขียน ผมรู้สึกดีที่ มาริยา มหาประลัย (คือชื่อของหล่อน (ผมไม่ค่อยถนัดกับคำนี้เท่าไหร่ แต่หล่อนชอบที่ผมเรียกเช่นนี้) ) มาร่วมสร้างสรรค์งานร่วมกัน ซึ่งเราทั้งสองคนจะช่วยกันเขียนกล่าวเล่าความตามความเป็นอยู่ หูได้ยิน ตาได้เห็น จมูกได้กลิ่น กายได้สัมผัส ใจได้รู้สึก ผ่านสนามแห่งนี้สลับกันตามความสะดวกของแต่ละคน

ใครที่ยังไม่รู้จัก มาริยา มหาประลัย หล่อนก็ได้ให้สรรพคุณของตนไว้ว่า....

“ร้อนแรงทุกสัมผัส ร้อนรักทุกองศา ร้อนฉ่าทุกลีลา เริงร่าทุกนาที” ไม่ใช่แค่สโลแกนประจำตัวของหล่อนเท่านั้น แต่ถือเป็นคติธรรมการดำรงชีวิตแบบมาริยา มหาประลัย ก็ว่าได้ และนั่นคือสิ่งที่คุณจะได้สัมผัสจากตัวหนังสือแสบๆ คันๆ มันๆ ของการมองโลก “เมืองกรุง” ลอดผ่านแว่น D&G สีขาวสนิทที่ดูแล้วน่าหมั่นไส้ของเธอ

ผมอ่านแล้วร้อง “โอ้ว์” ในบัดดล เพราะผมเชื่อว่าลีลาเผ็ดร้อนแสบคันมันสนุกสุขแสบเหล่านี้ จะเกิดขึ้นกับพี่ๆ เพื่อนๆ ที่ติดตาม “หนุ่มสาวสมัยนี้” แน่นอน

มิหนำซ้ำ เรื่องราวมุมมองที่ผมไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับเด็ก “เมืองกรุง” นั้นยังมีอีกเยอะ เพราะผมมันเป็นเด็กต่างจังหวัด เมืองภูธร ไม่ค่อยจะเข้าอกเข้าใจอะไรมากนักหรอก จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ มาริยา จะช่วยให้มุมให้ภาพของเด็กเมืองกรุงในแง่มุมต่างๆ ที่ทั้งผมหรือคุณไม่รู้มาก่อน

มาถึงตอนนี้หากใครที่ยังไม่รู้ว่า มาริยา มหาประลัย จะมาทำอะไรกับผมในพื้นที่นี้
คงต้องร่วมกันติดตามในตอนต่อๆ ไป.....คำตอบกำลังเคลื่อนมาถึงในทุกขณะครับ

ความเห็น

Submitted by Ann on

หมายความว่าเต้าจะเขียนต่อแต่ไม่บ่อยเหมือนเดิม

หรือ

จะยกพื้นที่ให้คุณ มาริยา มหาประลัย ไปเลยคะ

...คงคิดถึงกันแย่

Submitted by เพื่อน on

คุณ Ann ครับ
เท่าที่ผมทราบมา เต้าน่าจะมีเวลาเขียนน้อยลง
เพราะงานเยอะขึ้น รับผิดชอบเยอะขึ้น
แถมยังเดินทางบ่อยขึ้น

เค้าจะเดินทางบ่อยๆ เพราะต้องลงพื้นที่ 20 จังหวัด
ส่วน มาริยา ผมไม่รู้จักว่าเป็นใคร
คงเป็นเพื่อนสักคนของเขาหละมั้ง

เพราะเห็นเปรยๆ ว่าจะชวนเพื่อนที่อยู่วารสารศาสตร์
มาช่วยเขียน ไม่แน่ใจว่าเปนคนเดียวกัน มาริยาไหม

--เต้าเหนื่อยก็พักบ้างนะ ดูแลสุขภาพด้วย

เพศวิถีมีชีวิต : การเปลี่ยนแปลงจากภายใน อะไรที่ท้าทายเรา?

จากที่ข้อเขียนเรื่องเพศวิถีมีชีวิตทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การวางความคิด เรื่องการเปิดใจคุยเรื่องเพศของตนเอง เรื่องความหลากหลายในรักและความสัมพันธ์ ความรักต่างเพศนิยม เรื่องกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความพยายามที่จะมาสรุปในตอนท้ายของบทความนี้ว่า หากเราจะคุยเรื่องเพศวิถีจากมุมมองภายในจากชีวิตของเรานั้น เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวเอง อะไรที่เป็นความท้าทายที่จะนำไปสู่การจุดประกายให้แต่ละคนได้กลับมาสำรวจ ตั้งคำถาม และสร้างการเรียนรู้เรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้โดยอาศัยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกของแต่ละคน

เพศวิถีมีชีวิต : เพศวิถีของวัยรุ่นในวันที่โลกหมุนเปลี่ยน

โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ความสัมพันธ์ทางเพศของมนุษย์มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ในสังคมสมัยก่อน เช่น ในภาคเหนือ การจีบสาวของคนล้านนาจะมีการค่าว (คล้ายลำตัดของภาคกลาง) ตอบโต้กันไปมา การจีบกันต้องให้เกียรติผู้หญิงเป็นคนเลือกคู่ หรือหากจะแต่งงานก็ต้องมีการใส่ผี คือการวางเงินสินสอดจากฝ่ายชายเพื่อบอกกับผีปู่ผีย่าของฝ่ายหญิงให้ทราบว่าจะคบกันแบบสามีภรรยา

เพศวิถีมีชีวิต: เคารพในความหลากหลาย รักเลือกได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ความคิด ความเชื่อเรื่องเพศที่หล่อหลอมเรามาว่า ควรมีชายกับหญิงเท่านั้นที่คู่กัน สิ่งนี้เป็นความคิด ความเชื่อที่ฝังหัวเรามาตลอดจนเราไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่าทำไมเราจึงต้องรักเพศตรงข้าม และการที่เรารักเพศเดียวกันนั้นจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งไม่ได้เชียวหรือ

เพศวิถีมีชีวิต: ชีวิตทางเพศ เริ่มคุยจากตัวเอง

สำหรับชีวิตส่วนตัวแล้ว ผมเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่เติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูของแม่และพี่ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง เห็นการทำงานของผู้หญิงที่ “ศูนย์เพื่อน้องหญิง” จ.เชียงราย เห็นความเข้มแข็งในการทำงานของแม่ของพี่ๆ แต่ละคนแล้ว ทำให้ผมเห็นว่าความเป็นหญิง ความเป็นชาย แท้จริงแล้ว ทุกคนก็สามารถทำอะไรได้เหมือนกัน แต่ทว่าการเลี้ยงดูหล่อหลอมของสังคมกลับบอกว่าแบบนี้ผู้หญิงควรทำ แบบนี้ผู้ชายควรทำ

เพศวิถีมีชีวิต: การเปลี่ยนแปลงจากภายใน

เปิดใจเรียนรู้ประสบการณ์ภายในตน

ผมเริ่มต้นทำงานในประเด็นเรื่องเพศ ตอนอายุน้อยๆ จากวันนั้นมาวันนี้ ระยะเวลาหลายปี ที่อยู่บนเส้นทางนี้ได้เจออะไรหลายอย่าง ได้เรียนรู้ ประสบการณ์ทำงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหน้าที่ใด ความรับผิดชอบแบบไหน องค์กรระดับชุมชนหรือเครือข่ายก็ตาม งานต่างๆ เหล่านี้ทำให้ได้ทำประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่นไปพร้อมๆ กัน

ผมไม่อาจเรียกตัวเองได้อย่างเต็มปากว่าเป็นคนทำงานเพศวิถี เพราะเข้าใจว่าเรื่องเพศวิถีนี้มีอะไรหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และไม่อาจจะบอกได้ว่าตัวเองเป็นนักพัฒนาสังคม เพราะบ่อยครั้งก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นมากมายกับตัวเองว่าที่ว่าเป็นนักพัฒนาสังคมนั้น แน่นอนว่าเราต้องทำประโยชน์เพื่อคนอื่นๆ ที่กำลังเผชิญกับปัญหา เผชิญกับความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า หรือแม้แต่เรื่องสื่อและโลกาภิวัตน์