เมื่อโรงไฟฟ้า (ถ่านหิน-นิวเคลียร์) ต้องเร่งหาที่ลง !

หลังจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) 2007 ได้รับอนุมัติไปเมื่อราวเดือนมิถุนายน 2550  ก็เป็นอันชัดเจนว่า นับจากนี้ไป 15 ปี ประเทศไทยมีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ 20 กว่าโรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 โรง (2,800 เมกกะวัตต์) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง (4,000 เมกกะวัตต์) มีทั้งที่ กฟผ.สร้างเองและการเปิดให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ผลิตไฟฟ้า (IPP)ยังไม่นับรวมการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านอีกเป็นจำนวนมากด้วย

 

แผนดังกล่าวถูกร่างขึ้นโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นตัวหลัก ขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะเพื่อจะได้วิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน นอกจากนี้กระบวนการทำแผนยังมีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับปัญหาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม เช่น การรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ๆ มีอยู่ไม่กี่ครั้ง และเป็นการอธิบายโดยวิทยากรมากกว่าจะรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ  

 

อย่างไรก็ตาม แม้แผนจะชัดเจน แต่พื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโดยเฉพาะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งยังมีข้อถกเถียงชวนกังวลนั้น ยังไม่ได้ชี้ชัดว่าจะไปลงตรงไหน จนมาปีนี้ความชัดเจนค่อยๆ ปรากฏขึ้นว่ามีแนวโน้มจะเป็นพื้นที่เดิมที่เคยถูกวางไว้และพื้นที่ใกล้เคียง

 

 

000

 

 

หลังจากแผนพีดีพีอนุมัติ พื้นที่ที่จะตั้งโครงการโรงไฟฟ้าทั้งถ่านหิน และนิวเคลียร์ ยังเป็นเรื่องคลุมเครือ อาจเพราะรัฐเองก็กำลังประเมินแรงต้านในพื้นที่ว่ายังมีหนาแน่น กระทั่ง ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์' อดีต รมว.พลังงานที่ดันพีดีพีฉบับล่าสุดสำเร็จก็ยังออกมาบ่นว่าว่ารัฐบาลขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปได้ช้า ขณะที่เวลาที่วางไว้ในแผนพีดีพีก็งวดเข้าทุกที ( "ปิยสวัสดิ์สับลดค่ากลั่น 10 ปีต้องผุดนิวเคลียร์" นสพ.ข่าวหุ้น 9 มิ.ย.51)

 

ตามแผนแล้วโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2,000 เมกกะวัตต์แรกต้องป้อนไฟสู่ระบบในปี 2563 และอีก 2,000 เมกกะวัตต์ที่เหลือจะตามมาในปีถัดมา นับเป็นเวลาที่รวดเร็วมากในการคิดและดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาจเพราะไทยพยายามเร่งฝีเท้าให้ทันเวียดนาม ซึ่งถูกเล็งว่าเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ เพราะเวียดนามก็เริ่มผลักดันโครงการนิวเคลียร์แล้ว แต่ขอเวลาศึกษาก่อน 15 ปี ขณะเดียวกันเวียดนามก็สำรวจพบแหล่งแร่ยูเรเนียมขนาดใหญ่ในประเทศเองด้วย

 

สำหรับประเทศไทย ขณะนี้มีคณะทำงานขึ้นมา 5 ชุดเพื่อเตรียความพร้อมทั้งด้านบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์กับประชาชน นอกจากนี้ กฟผ.ยังเตรียมส่งหนังสือเชิญ 5 บริษัทต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐ ฝรั่งเศส เข้าคัดเลือกเป็นที่ปรึกษาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยคาดว่าผลการศึกษาจะเสร็จภายใน 2 ปี

 

อย่างไรก็ตาม  นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ศึกษานโยบายพลังงานไทยมายาวนานให้ความเห็นว่า คณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้ทุ่มงบประมาณไปกว่า 100 ล้านบาท แบ่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สร้างความเข้าใจในเรื่องนี้แก่ประชาชน แต่ปัญหาคือ การดำเนินงานดังกล่าวยังไม่รอบด้าน มุ่งเน้นแต่การให้ความรู้ด้านนิวเคลียร์เท่านั้น ทั้งๆที่ประเทศไทยยังมีพลังงานทางเลือกชนิดอื่นๆ ( "ติงงบประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 100 ล้าน" เว็บไซต์ไทยรัฐ 2 ก.ค.51)

 

ที่ผ่านมามีกลุ่มนักวิชาการและเอ็นจีโอเสนอแนวทางการปฏิบัติด้านพลังงานทางเลือกของประเทศไทยให้แก่กระทรวงพลังงาน แต่ดูเหมือนไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จึงยังไม่มีบทสนทนาในเรื่องนี้เท่าไรนัก และน่าสนใจว่า เดชรัตน์และคณะก็กำลังจะพิมพ์หนังสือเรื่อง 10 สิ่งที่นิวเคลียร์พูดและไม่พูด เผยแพร่ในเดือนสิงหาคมนี้ เรียกได้ว่าแข่งกันทำความเข้าใจกับประชาชนเลยทีเดียว

 

 

000

 

 

ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ นายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย "ผศ.ดร.ปรีชา การสุทธิ์" ในฐานะประธานคณะกรรมการชุดศึกษาความปลอดภัยและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า คาดว่าพื้นที่เดิมที่เคยเตรียมไว้จะถูกนำมาทบทวนอีกครั้ง โดยเฉพาะทะเลชายฝั่งตะวันตก หรือ "เวสเทิร์นซีบอร์ด" ที่เคยมีการศึกษาไว้แล้วไล่ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เนื่องจากมีความลึกของทะเลและมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับเอาไว้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือในเขตภาคใต้ฝั่งตะวันตกดังกล่าวมี "แนวรอยเลื่อนระนอง" พาดผ่าน ตั้งแต่ประจวบฯ ชุมพร ระนอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพฤติกรรมของ "รอยเลื่อนระนอง" หลังเหตุการณ์ "สึนามิ" เมื่อ 3 ปีก่อนว่ามีการขยับหรือไม่ ซึ่งการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ ( "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์  (จับกระแสพลังงาน)" เว็บไซต์แนวหน้า 30 พฤษภาคม 2551)

 

ภาคใต้ตอนบนเป็นทำเลทองสำหรับโครงการโรงไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมหนักมาเนิ่นนาน และพร้อมๆ กันก็มีประวัติการต่อสู้คัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่มาอย่างยาวนานด้วย โดยเฉพาะที่ประจวบคีรีขันธ์

 

ทับสะแก'อีกอำเภอหนึ่งในจังหวัดประจวบฯ ก็เคยถูกเล็งไว้จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินชุดเดียวกับโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด (แห่งละ 700 เมกกะวัตต์) ซึ่งสุดท้ายทั้งบ่อนอก ทั้งบ้านกรูดถูกคัดค้านจนต้องพับโครงการไป ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าทับสะแกซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า คือ 2,000 เมกกะวัตต์ก็มีปัญหาการคอรัปชั่นของพนักงาน กฟผ. ในการซื้อที่ดิน 4,019 ไร่ โดยมีการทุจริตเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท หรือ 40% ของมูลค่าทั้งหมดของโครงการ จนต้องหยุดชะงักไป แต่วันนี้โครงการโรงไฟฟ้าที่ทับสะแกกลับมาใหม่ และแว่วว่าอาจจะใหญ่กว่าเดิม

 

 

000

 

         

ปลายปี  2549  กฟผ.ได้ฟื้นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกขึ้นมาใหม่ พร้อมมีแผนจะขยายกำลังการผลิตจาก 2,000 เมกะวัตต์ เป็น 4,000 เมกะวัตต์ (5 โรง) คาดว่าจะใหญ่ที่สุดในเอเชีย

         

นายสถาน ช่อระหงส์ ชาวบ้านทับสะแกให้ข้อมูลว่า ถึงแม้ชาวบ้านจะเกาะติด ตามเรื่องที่กระทรวงพลังงานจนทางกระทรวงยืนยันว่าไม่มีนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทับสะแก แต่ในทางปฏิบัติ กฟผ.ก็ยังคงเข้ามาทำการผลักดันโครงการในรูปแบบต่างๆ และสร้างความแตกแยกกับคนในชุมชน จนบางชุมชนถึงกับต้องไล่ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของ กฟผ.ออกจากหมู่บ้านไป

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการเปลี่ยนผังเมือง "สีเขียว" เป็น "สีน้ำเงิน" เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะปัจจุบันร่างผังเมืองรวมชุมชนทับสะแกที่โยธาและผังเมืองจังหวัดประจวบฯ ได้นำมาขอรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครั้งที่ 1 ได้ระบุให้พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกของ กฟผ.เป็นสีเขียว เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจเดิมของชุมชนที่เป็นเกษตร และมีทิศทางการเติบโตด้านการท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัด อยู่ห่างจากชุมชนหนาแน่นเพียง 1,500 เมตร แต่  กฟผ.ยื่นขอให้เปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีน้ำเงินแทน โดยอ้างว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินนี้เป็นส่วนราชการและเป็นพื้นที่สาธารณูปโภค เพราะ กฟผ.ตีความว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสาธารณูปโภคของรัฐ   ซึ่งเรื่องนี้ยังคงต่อสู้กันอยู่ โดยชาวบ้านในพื้นที่ยังคงรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งเพื่อคัดค้านโครงการ

 

คาดกันว่า โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่นี้จะเดินหน้าไปคู่กับการผลักดันให้พื้นที่ประจวบฯ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เหล็กแห่งชาติ เน้นการผลิตเหล็กครบวงจร ซึ่งก็กำลังผลักดันกันอยู่อย่างหนักหน่วงเช่นกัน

 

000

 

ด้านภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมหนักมาอย่างยาวนานและหนาแน่น ยังคงมีความพยายามใส่โครงการเหล่านี้เพิ่มเติมเข้าไป เช่น ที่ระยองมีการขยายโครงการปิโตรเคมีระยะ 3 ซึ่งเป็นอภิมหาโครงการด้านปิโตรเคมี รวมไปถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนที่ฉะเชิงเทรา สมุทรสงครามก็มีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เช่นกัน

 

แม้ระดับนโยบายจะผลักดันโครงการเหล่านี้ ภาคเอกชนเองก็กำลังรีบดำเนินการ ในส่วนของคนในพื้นที่ก็มีการรวมตัวกันคัดค้านอย่างเหนียวแน่นเรียกว่าระดมพลข้ามเขตข้ามจังหวัดกันแล้ว เช่น เมื่อ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา แกนนำกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าหลายแห่ง เช่น กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าจังหวัดระยอง กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าบางปะกง กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าราชบุรี กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา ได้เดินทางมารวมตัวกัน เพื่อประชุมหารือแนวทาง และผนึกกำลังกันในการเคลื่อนไหวต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในแต่ละท้องที่ที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบ หลังจากมีกระแสข่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงพลังงานเร่งรัดให้ สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เร่งพิจารณาอนุมัติ ผ่านอีไอเอ (EIA) ให้แก่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคเอกชน 4 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าเสม็ดเหนือ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าถ่านหิน ของกลุ่มบริษัทเครือเกษตรรุ่งเรือง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้า จ.ระยอง ทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้า

 

 

000

 

 

แนวโน้มการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหลายดูเหมือนจะเต็มไปด้วยอุปสรรค

 

การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับนโยบาย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นอาจหาจุดลงตัวยากลำบาก แต่น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการต่อสู้กันในบั้นปลายที่มีแต่จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันกับทุกฝ่าย

 

การแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม เช่น กรณีของแม่เมาะ มาบตาพุด ฯลฯ อาจเป็นเรื่องไม่ง่ายนักเพราะปัญหาสะสมหมักหมมมานาน แต่ก็น่าจะเพิ่มความมั่นใจให้ผู้คนที่กำลังจะเผชิญกับโครงการในรูปแบบเดียวกันได้

 

ยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าโครงการมหึมาที่มีข้อถกเถียงกันเยอะแยะในทุกรายละเอียดนี้จะลงเอยอย่างไร ในพื้นที่ไหน ในภาวะที่ประชาชนหัวแข็งขึ้นเรื่อยๆ และไม่ยอมให้ "ผู้เชี่ยวชาญ" ผูกขาดอำนาจการกำหนดนโยบายแล้ว

ความเห็น

Submitted by 55 on

มรึงสร้างกรูเผา ว่างั้นเถอะ

Submitted by คนไทยคนที่2 on

ถ้าหากว่าเวียตนามมีแหล่งแร่ยูเรเนี่ยมขนาดใหญ่เป็นของตนเองจริง ก็ต้องนับว่าน่าเป็นห่วงต่อประเทศไทย และยิ่งเวียตนามคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นี่ก็จะยิ่งเป็นหนทางที่เวียตนามสามารถที่จะผลิตลูกระเบิดปรมาณูออกมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะเชื้อเพลิงแร่
ยูเรเนี่ยมสามารถที่จะทำให้กลายเป็นระเบิดปรมาณูได้ เรื่องนี้ ไทยต้องนำมาคิดด้วย
ประเทศเสปญสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานโรงสีลมอย่างเดียวที่มีกำลังผลิตรวมถึง15,145
เมกกาวัตต์ในปี2007 และเฉพาะแค่ปี2007เพียงปีเดียวเท่านั้นเสปญสามารถสร้างโรงไฟฟ้าจากโรงสีลมถึง3,522เมกกาวัตต์ กล่าวได้ว่าสามารถผลิตไฟฟ้ามากกว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของไทย และโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ที่กำลังอยู่ในแผ่นกระดาษเสียอีก
ประชาชนไทยต้องตัดสินใจได้แล้วและต้องรีบทำมันได้แล้ว ที่สำคัญที่สุด ต้องป้องกันการคอรับชั่นให้ได้เด็ดขาดแม้นจะต้องนำตัวคนที่คอรับชั่นมาประหารชีวิตด้วยการตัดคอก็ต้องทำ
เพราะนับวัน ประชากรมีแต่จะเพิ่มขึ้น พลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิ่ลเช่นน้ำมันดิบและแกสมีแต่จะลดลงส่วนถ่านหินถ้าจะทำให้เป็นพลังงานที่สะอาดต้องใช้ทุนและเทคโนโลยี่ที่สูงและแพง

Submitted by เต้ on

คงต้องถามลึกไปถึงว่า เราต้องการ"พัฒนา"ประเทศไปในทิศทางใด?
ทิศทางเดิมๆ สร้างวัตถุ สิ่งก่อสร้างทางกายภาพ ความแตกต่าง ความร่ำรวยแก่คนบางกลุ่ม ฯลฯ หรือ
ทิศทางใหม่ๆ สร้างความสงบสุข จิตใจที่สมบูรณ์ ความเสมอภาค ความเท่าเทียม ความยั่งยืน ฯลฯ

นั่นคือ เรามีความจำเป็นแค่ไหนในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าอย่างมากมายดังที่กำหนดไว้ในแผน
และพลังงานไฟฟ้าที่เราจะผลิตนั้นจะมาจากแหล่งใด
ส่วนเรื่อง ความมั่นคงทางการทหาร ผมหวังว่ามันจะไม่มีความหมายอะไรมากนัก ในเร็ววันนี้

Submitted by คนไทยคนที่2 on

การอ้างว่าการสร้างความสงบสุข จิตใจที่สมบูรณ์ ความเสมอภาค ความเท่าเทียมความยั่งยืน9ล9อะไรนั่น มันยืนอยู่บนพิ้นฐานความเป็นจริงหรือไม่
ความไม่ประมาทต่างหาก คือการยืนอยู่บนพื้นฐานของความจริง ความไม่ประมาทไม่ได้หมายความว่าไม่เคารพต่อประชาธิปไตย ไม่ได้หมายความว่า ไม่เคารพต่อความเท่าเทียมหรือความยั่งยืน แต่ความไม่ประมาทคือการหาวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้มาแก้ไขปัญหาเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ
จะยอมหรือที่จะหยุดยั้งการเจริญเติบโต สังคมไทยในอดีตที่มันเคยแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว มีขี้ข้ามีไพร่เดี๋ยวนี้ก็ยังดำรงอยู่ นั่นเพราะการไม่ยอมรับในความจริง การหาวิธีที่ให้ได้พลังงานมาใช้ในราคาถูกนั่นคือการทำให้ความแตกต่างทางชนชั้นมันแคบเข้านี่คือความจริง
ประเทศที่ผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ ย่อมเสียงดัง ไม่มีใครกล้ามารังแกหรือกล้าเสี่ยงภัยทางด้านการทหาร
ให้ดูอิสราเอล ว่ากล้าที่จะคิดบอมบ์ปากีสถานหรือไม่ ทั้งๆทีว่าไปแล้วปากีสถานจัดว่ายากจนกว่าไทย แต่ดันมีระเบิดปรมาณูพร้อมหัวจรวด
ความสมดุลทางด้านการทหารเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้เพราะมันคือหลักประกันของความมั่นคงที่ไม่อาจที่จะปฏิเสธได้

Submitted by คนว่างๆ on

คิดแล้วก้เศร้าใจแปดริ้วจะมีอีก2โรงลุกหลานจะอยู่กันอย่างไรจะเหมือนแม่เมาะหรือมาบตาพุฒมั้ยเนี่ยไม่เอาดีกว่าเน้อ คนแปดริ้วหกแสนสี่หมื่นคนรู้เรื่องนี้ไม่ถึงสี่หมื่นคนร๊อกอย่าปิดหูปิดตาประชาชนกันนักเลย น้ำมันก็แพงไม่มีแรงไปต่อต้านกันนักหรอก ทำยังไงกันดี ไปประท้วงก็ไม่มีเวลาหากิน ไม่ประท้วงก็จะอยู่กันไม่ได้ เฮ้อแปดริ้ว(เมืองสามก๊ก)

Submitted by นิ้งหน่อง on

ชีวิตทุกวันนี้ของชั้น มันช่างยากแค้น รำเค็ญ เสียจิง เมื่อวาน มอไซก็ โดน ยึด ชั้น จะไปเล่นไพ่ ไอ้อ้วน มันก็ไม่ให้เข้า หวยก็กินหมด ไม่เข้าเลย ซัก ตัว
รอว่า เมื่อไหร่ จะมีกองทุนหมู่บ้านมาอีกซักงวด พอได้หมุนหน่อย
คราวที่แล้ว ไปซื้อ มือถือ ทำหล่นหายไปแล้ว เมาไปหน่อย
ตอนนี้ รองาน เทปูน ทางเข้าหมู่บ้านอยู่ ถ้าคุยกับ อบต. สำเร็จ ชั้น จะขอ เสี่ยสงค์ ผู้รับเหมาสิบ ห้าเปอร์เซน
อบต พวกกัน ชั้นคุยได้
ชั้นไม่ใช่คน กระจอก อย่าคิดว่าชาวบ้านโง่ เนทชั้นก็เข้าได้ สบาย
ถึงชั้นจะ อยู่ บ้านนอก
แต่ถ้าชั้นได้เรียน หนังสือ
ชั้นก็จบ ดอกเตอร ได้เหมือนกัน
มันจะไปยากอะไร คนเหมือนกัน
ไอ้ประธาน อ้วน มันใหญ่มาจากไหน มันเอาเงิน อบต. ไปเลี้ยงเมียน้อย มันนึกว่า กูไม่รู้
ไอ้ปริญญาที่มันจบราชพัด มันก็พา อาจารไปเลี้ยงเหล้า
ถ้าชั้นมีตัง ชั้นก็ จบ ไอ้พวกชาวบ้าน มันโง่ ไปยกย่องกันอยู่ได้
เฮงซวย.

Submitted by วิชชา on

บ้านของผู้เขียนอยู่ที่ไหนครับ ถ้ารัฐบาลจะสร้างโรงไฟฟ้า ขอให้พิจารณาบ้านของผู้เขียนบทความก่อน เลยนะครับ

Submitted by นายสมควร on

ผมว่าประเทศไทยไม่เหมาะที่จะทำโครงการอะไรใหม่ แค่คิดก็ถูกต่อต้านแล้ว เสรีภาพเยอะครับ รัฐบาลควรอยู่เฉย ๆอยู่ไปวัน ๆ เหมือนสมัยนาย ช.เชื่องช้า ดีกว่า ไม่ถูกด่า
โครงการท่อแก๊สในภาคใต้ก็ทำไม่ได้ ในที่สุดมาเลเซียเอากิน 3 ปี สบาย ๆ ตอนนี้อยากใช้แก๊สราคาถูกขึ้นมาอีก แหล่งน้ำมันในทะเลที่อยู่ในเขตกัมพูชาก็ถูกม็อบปลุกปั่นเรื่องประสาทพระวิหารจนเละเทะ คาดว่าฝรั่งเอาไปกินอีกตามฟอร์ม
ถ้าต่อไปพรรคการเมืองเก่าแก่บางพรรคเป็นรัฐบาล ผมคิดว่าคนไทยไม่รู้จะไปค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร เพราะเขารังเกียจไม่อยากสมาคมด้วย อนาคตมืดมัวครับ เวรจริง ๆ

Submitted by PRP on

ใช้ตรรกะง่ายๆ เลยดีไหมครับ

เมืองไหนต้องการพลังงานไฟฟ้า่มาก เมืองนั้นก็ต้องเสียพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าเอง
อย่าเอาเรื่องความคุ้มทุนว่า จะต้องสร้างแถวปักษ์ใต้เพราะมีเรือมาส่งถึงง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย...อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่แล้วครับนักสร้างโรงไฟฟ้าทั้งหลาย

คนปักษ์ใต้ใช้ไฟมากพอที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือเปล่า สร้างแล้วได้อะไรนอกจากการเป็นลูกจ้างโรงงานฯ แล้วยังต้องเสี่ยงเรื่องสารกัมมันตรังสีที่อาจรั่วไหล (บนมาตรฐานการจัดการแบบไทยๆ)

เมืองใหญ่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจต่างๆ ใช้ไฟมากๆ กล้าไหมที่จะให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บนพื้นที่ของตัวเอง?

ตอบเองนะครับ

Submitted by รักโลกแบไม่งมงาย on

หาพลังงานอย่างอื่นดีกว่าแน่นอนถ้านิวเคลียร์ เกิดการนองเลือดหรือสูญเสียอย่างแน่นอน

2 คำถามเรื่องหลักการในข่าว “แดง” จับ “แดง”

กรณี “แดงจับแดง” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ไม่ควรถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องเข้าใจผิด หรือเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวและจบกัน แต่นี่คือเป็นปัญหาท่าที และหลักการของแกนนำซึ่งไปช้ากว่ามวลชนอย่างสม่ำเสมอ

M79 และผองเพื่อน: สิ่งเบี่ยงเบนข่าวสารราคาย่อมเยา

วิธีกลบข่าวแบบบ้านๆ ไทยๆ ไม่ต้องลงทุนมากก็กลบมันด้วยน้อง M79 ลูกกระสุนสนนราคาละไม่กี่ร้อย แต่ก็ได้พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งกลบข่าวคนเป็นหมื่นเป็นแสนที่ออกมาไล่รัฐบาลในขณะนี้

โอกาสเดียว 'ยึด' และ 'ยึดหมด' : ข่าวคดียึดทรัพย์ในสายตานักข่าวเทศ

สื่อต่างประเทศให้ความสนใจกับข่าวการเมืองในไทยกันหนาแน่นตลอดสัปดาห์นี้ ยิ่งใกล้วันศุกร์ วันที่สื่อทั้งหลายเรียกมันว่า judgement day มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลงข่าวและบทวิเคราะห์กันคึกคักมากขึ้นเท่านั้น ประเด็นของการรายงานของสื่อนอกเน้นหนักไปที่สองเรื่องใหญ่คือ แนวทางของคำพิพากษาที่จะออกมา กับผลสะเทือนทางการเมืองจากการตัดสินหนนี้ ทั้งต่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสองขั้วคือเหลืองกับแดง และผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย

(ที่มาของภาพ: มังกรดำ) ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถือเป็นการกลับเมืองไทยครั้งแรกนับตั้งแต่เขาออกจากประเทศไปประชุมที่องค์การสหประชาชาติและเกิดการรัฐประหารโค่นอำนาจเขาเมื่อ 19 กันยายน 2549 ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 เขาเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้งโดยไม่กลับมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่ดินรัชดา ล่าสุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะอ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทอีกคดี นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สื่อทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจต่อเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย