แปดสิบบาทกับผู้ชายริมทางรถไฟ

picture1

“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ยืนล้วงกระเป๋าเสื้ออยู่ริมทางรถไฟ ในขณะที่รถไฟกำลังมา 

เป็นภาพปกหนังสือ ฅ คน ที่ทำให้ฉันต้องนับเงินในกระเป๋าให้ครบแปดสิบบาท ความจริงหนังสือเขาไม่แพงหรอก เพียงแต่ว่า เงินสำหรับบ้านฉันมันหายากมาก หรือจะเรียกให้ถูกก็คือฉันไม่ค่อยหาเงิน ดังนั้นเมื่อไม่หาเงินก็ต้องใช้เงินน้อย ๆ หรือไม่ใช้ไปเลยถ้าไม่จำเป็นต้องใช้จริง ๆ

แม้ว่าการจะซื้อหนังสือถือเป็นความจำเป็นหนึ่ง แต่ก็ต้องเลือกอย่างพิถีพิถันในเนื้อหา ดังนั้น ถ้าร้านไหนห่อพลาสติกอย่างดีเปิดไม่ได้ ก็ผ่านเลย

หนังสือเล่มนี้ก็ห่อพลาสติกอย่างดีเหมือนกัน แต่ก็รีบซื้อ 

เพราะทั้งรถไฟและคุณสุชาติ  สวัสดิ์ศรี ถือเป็นความผูกพันหนึ่งหรือเป็นความสัมพันธ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน  เพราะชีวิตการเดินทางเริ่มต้นจากรถไฟ ส่วนงานเขียนหนังสือผู้ชายที่ยืนริมทางรถไฟ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นคนเขียนหนังสือ

picture2

นอกจากได้อ่านบทสัมภาษณ์เรื่องราวของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ให้หายคิดถึง ตามประสาคนในแวดวงวรรณกรรม เพราะรู้จักรู้เรื่องกันอยู่แล้ว แต่คนอยู่ร่วมบ้านเดียวกันและเป็นคนเขียนหนังสือเหมือนกัน บอกฉันว่า หลังจากอ่านเรื่องของคุณสุชาติแล้ว พบว่าตัวเองเหมือนไม่ได้ทำอะไรเลย ก็ถือว่าเป็นการค้นพบที่คุ้มค่ามาก

ความไม่พร้อมไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ทำ เป็นคำตอบหนึ่ง

ดูเหมือนคุณสุชาติจะมีความพยายามและตั้งใจสูงมากที่จะทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานบรรณาธิการ โดยเฉพาะงานศิลปะภาพวาดที่ต้องลงทุนสูง เรียกว่าไม่ได้พร้อมด้านทุนแต่พร้อมด้านจิตใจ

ครั้งหนึ่งฉันมีโอกาสเดินทางไปบ้านเขา ในช่วงปลายปี 2540 

เป็นช่วงปีแห่งการเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงค่าเงินบาทลด และช่วงตกงานอย่างจริงจัง เพราะหนังสือที่ทำอยู่ปิดตัวลงทีละเล่ม ๆ ช่วงนั้นได้เดินทางไปบ้านคุณสุชาติ เป็นการไปครั้งแรก กับเพื่อน ๆ นักเขียน มีสุจินดา กับชามาไปด้วย  
สุจินดากับชามาอยากดูรูปเขียนมากๆ  ตอนนั้นรูปยังไม่มาก เพราะเป็นการเริ่มต้น แต่สองนางที่หลงใหลงานศิลปะต่างชื่นชอบชื่นชมกันมาก ๆ   
พวกเขาคุยกันไม่รู้จบและฉันก็ง่วงมากจึงตัดสินใจนอนที่นั้น  ตื่นขึ้นมายามเช้า ศิลปินใหญ่หายไปจากบ้านแล้ว แต่ไม่นานก็เดินกลับมาพร้อมด้วยแปรงสีฟันสำหรับพวกเรา

นักเขียนอีกคน “ศรีดาวเรือง” ทำอาหารง่าย ๆ แบบประหยัด ๆ คือพวกผักต่าง ๆ และไข่ ส่วนนักเขียนที่เริ่มเป็นหนุ่ม เขามีคอลัมน์ในหนังสือ ไรท์เตอร์ มาคุยด้วย

ในช่วงนั้นฉันยังเป็นคนเขียนหนังสือที่รับจ้างทำหนังสือ รับจ้างเป็นรีไรท์เตอร์  เรียกว่ามีเงินพอที่จะอยู่สบาย แต่เหนื่อยและมีชีวิตอยู่กับการง่วงนอนเมื่อหนังสือพิมพ์ที่รับจ้างเป็นรีไรเตอร์ปิดลง  หนังสือที่เขียนบทความอยู่ก็ปิดลงทีละเล่ม จนหมด และตกงานอย่างจริงจัง ฉันไม่ได้บอกใครว่าฉันรู้สึกดีใจอยู่ลึก โล่งโปร่งสบายใจ

ได้เดินทางไปไหนต่อไหนรวมทั้งบ้านคุณสุชาติด้วย ฉันก็รู้สึกสบายที่ได้ล้มตัวลงนอนที่บ้านหลังนั้น ได้เห็นว่าการใช้ชีวิตไม่ต้องใช้เงินมากก็ได้ ไม่ต้องมีรถยนต์  ใช้รถไฟ และเดินตัดผ่านทุ่งก็ไม่ได้ลำบากอะไร ไม่ต้องมีเครื่องอำนวยความสะดวกในบ้านมากมาย ไม่ต้องมีโทรศัพท์มือถือก็ได้ ชีวิตไม่ต้องแพงมากก็ได้

นี่เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่ง ฉันจึงเป็นคนตกงานอย่างถาวร และไม่ได้ทำงานเพื่อหาเงินมาใช้ แต่หาเงินเพื่อทำงาน แค่มีกินและกินตามสมควร

แน่นอนล่ะ เหนื่อยยาก ลำบากอยู่บ้าง แต่ดีกว่ามีชีวิตที่ไม่สดชื่นเลยทั้งปีและอาจจะทั้งชาติ

แปดสิบบาทสำหรับ ฅ คน ถือว่า คุ้มค่าอยู่ เพราะนอกจากเรื่องราวของ “สุชาติ สวัสดิศรี” และการกลับมาของนิตยสาร ช่อการะเกด นิตยสารเรื่องสั้นไทย ที่เปิดรับเรื่องสั้นทั่วทิศ ไม่ใช่แค่นักเขียนเก่า แต่เป็นที่นักเขียนใหม่แจ้งเกิดด้วย ใครที่อยากเขียนเรื่องสั้นและกลัวว่าไม่มีใครอ่านหรือส่งไปแล้วบรรณาธิการไม่คุ้นชื่อไม่อ่าน ส่งมาที่ช่อการะเกด ไม่ผิดหวัง บรรณาธิการอ่านแน่ และที่สำคัญ โดยส่วนตัวแล้วพบว่า บรรณาธิการช่อการะเกด เขาอ่านงานนักเขียนด้วยเมตตา ด้วยมิตรที่อบอุ่น และให้เกียรติผู้เขียน สำหรับฉันเห็นว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญมากที่หาได้ยากในบรรณาธิการรุ่นใหม่ ๆ

picture3 

เอาล่ะที่บอกว่า คุ้มค่าคือได้อ่านคอลัมน์ สโมสรจุดเปลี่ยน เพราะไม่ค่อยได้ดูโทรทัศน์ จึงไม่ได้ดูรายการนี้ เหตุที่ไม่ได้ดูเพราะว่า สัญญาณรับโทรทัศน์ไม่ค่อยจะดี ต้องลงทุนซื้อเสาอากาศ  พิจารณาดูแล้วไม่คุ้มทุนเท่าไหร่ มีรายการที่น่าสนใจน้อย จึงใช้วิธีดูบ้านเพื่อนถ้ามีรายการดี ๆ เพราะคนข้างบ้านเขาเอื้อเฟื้อ โทรทัศน์อยู่ใต้ถุนบ้านจอใหญ่ด้วย

ขอนำ สโมสรจุดเปลี่ยนมาเขียนถึงสักเล็กน้อย  เขาเสนอเรื่อง การใช้ปิ่นโตแทนถุงพลาสติก  ถุงพลาสติก เป็นภัยร้ายทำลายสภาพแวดล้อมของโลกในอนาคต และมีภาพของศิลปินคนหนึ่ง หิ้วปิ่นโตมาซื้อกับข้าวและมีตัวอักษรพาดผ่านภาพว่า ใช้มาสิบปีแล้ว

ใกล้บ้านฉันก็มีเด็กชายใช้ปิ่นโตมานับสิบปีแล้วเหมือนกัน ฉันเห็นเขาเอาปิ่นโตห้อยมากับหน้ารถจักรยาน กลับบ้านทุกเย็น เขาเอาข้าวไปกินโรงเรียน ตั้งแต่เริ่มเรียนอนุบาล จนถึงวันนี้เขาเรียน ป.6 แล้ว ปีหน้าเขาจะย้ายไปเรียนโรงเรียนในเมือง ฉันไม่รู้ว่าเขาจะเริ่มใช้กล่องโฟมหรือเปล่า

เอาล่ะ เพื่อสนับสนุนจุดเปลี่ยน เขาว่าต้องเริ่มต้นจากตัวเองก่อน วันต่อมาฉันใช้ถุงผ้าไปซื้อของกับน้องสาวข้างบ้าน ไปซื้อซีอิ๊วขาว น้ำมันพืช กระเทียม หอม  ของสำหรับครัว ที่ร้านของชำเจ้าประจำในตลาด  ของพวกนี้ไม่จำเป็นต้องใส่ถุงพลาสติก ใส่ถุงผ้าได้เลย แต่เมื่อบอกว่า ใส่ถุงผ้าไปเลย เขาบอกไม่เป็นไร ใส่ไปเถอะ 

ฉันเกือบจะยอมแพ้รับของมาแล้ว แต่ไม่ยอม ฉันยืนยันว่า ไม่เอา เก็บถุงพลาสติกไว้เถอะ เขาทำหน้าแปลก ๆ และรำคาญที่ต้องเอาของออกจากถุงพลาสติกใส่ถุงผ้า น้องที่ไปด้วยกันก็พูดเขิน ๆ ว่า พี่เขาอนุรักษ์ ฉันบอกว่า ไม่ให้มีขยะมาก จะได้ไม่ต้องเผามากนัก ฤดูร้อนจะได้ไม่มีหมอกควัน ลดภาวะโลกร้อนด้วย คนขายยิ้ม แต่คนที่ยืนรอซื้อของอยู่ใกล้ ๆ พูดขึ้นมา ว่าไม่เป็นไรหรอก ร้อนได้ก็เย็นได้  มีหมอกควัน พอฝนลงก็หายหมดแหละ ฝนตกหายหมดไม่ต้องกลัว

อือ...ฉันพยักหน้า แบบผู้แพ้ คร้านจะพูดต่อ แต่ไม่ได้เอาถุงพลาสติกกลับบ้านสักใบเดียว เรียกว่า ชนะตัวเอง

แค่นี้ก็สบายใจแล้ววันนี้ เรียกว่าสบายใจแบบพอเพียง ไม่หวังความสบายใจมาก แปดสิบบาทกับเรื่องผู้ชายริมทางรถไฟและจุดเปลี่ยนชีวิต

** ภาพประกอบจาก onopen.com

ความเห็น

Submitted by เท้าสามน on

พี่แพร
ศรีดาวเรือง กับศรีบูรพา มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรครับ

ขอบคุณคะท้าวสามมน ท่านท้าวเป็นคนแรกที่เข้ามาคุย ในช่วงเปลี่ยนหน้าเวปใหม่ ๆ อาจจะยังคุ้นกันนัก

นี่ท่านถามจริงหรือถ้ามเล่น ๆว่า "ศรีดาวเรือง" กับ "ศรีบูรพา" เกี่ยวข้องกันอย่างไร

เอาล่ะ อันดับแรก เป็น "ศรี" เหมือนกัน
สอง เป็นนักคิดนักเขียนเหมือนกัน และเป็นนักเขียนคุณภาพด้วย อีกทั้งมีวิธีชีวิตที่น่าศรัทธาด้วย

มีนักคิดนักเขียนได้รางวัลศรีบูรพา โดยมีข้อหนึ่งคือทำงานตามอุดมการณ์ของศรีบูรพา
"สุชาติ สวัสดิ์ศรี" ก็ได้รางวัลนี้มาแล้ว

และเชื่อว่าไม่นาน (เชื่อด้วยตัวเอง)ว่า ศรีดาวเรืองก็น่าจะเกี่ยวข้องกับศรีบูรพา มากขึ้น เพราะจะได้ประดับเกียรติด้วยรางวัลนี้ด้วยเช่นกัน

Submitted by แพรจารุ on

ขอขอบคุณ http://onopen.com/

ขอใช้ภาพของท่าน

เพราะไม่ได้ถ่ายจากปกหนังสือ ค คน

open.com มีงานเขียนที่น่าสนใจมากมาย ขอแนะนำด้วยค่ะ

Submitted by seangdaosattaman on

หนูยาย, อ้ายก็เคยไปแอ่วบ้าน อออ้ายสุฃาติฯ มาแล้วตอนที่อยู่ดอนเมือง อ้ายสุชาติ คือ ตู้หนังสือที่ใหญ่โตมโฬรมาก บ้านเต็มไปด้วยหนังสือ จนอ้ายกลัวบ้านจะพัง แต่อ้ายบ่ได้นอน

นิตยสาร ค. คน อ้ายก็ซื้อเมื่อ เห็นหน้าปกเป็นรูปอ้ายสุชาติฯ

โอ้ใช่ อ้ายรู้ และเห็นใจยาย นี่ถ้าเป็นสิ้นเดือน และยายไปกะอ้ายที่ร้านหนังสือ อ้ายจะซื้อให้ยาย เล๊ย

ยาย กะ อ้ายหนอม ฮักษาสุขภาพ เน้อ มีจังหวะดีๆ จะไปแอ่วหา และ เป็น นักเรียนน้อย กับ ครู ยาย และ ครูซัน แหม

Submitted by หมี่เกี๊ยว on

พี่แพรคะ ทุกวันนี้หนูก็ยังใช้ถุงผ้าจ่ายตลาดค่ะ คนที่นี่เขาใช้ถุงผ้าจนเป็นวัฒนธรรม วันไหนไปตลาดถ้าไม่เอาถุงผ้าไปก็จะมีสายตามองมาแบบทำไมไม่ช่วยโลก มาอยู่ที่นี่จนติดการใช้ถุงผ้าแบบต่างๆ มีหลายสีให้เลือกตามอารมณ์ด้วย อิ อิ คนที่นี่ ไม่ว่าหนุ่ม สาว เด็ก หรือคนแก่ จะแต่งตัวดี หรือแย่ขนาดไหน ก็ใช้ถุงผ้าค่ะ เราเรียกว่า "The Green Bag" ไม่ว่าสีอะไรเราก็เรียกสีเขียว เพราะมันทำหน้าที่เพิ่มสีเขียวให้กับธรรมชาติเหมือนกัน เราคงจ้องช่วยกันคนละไม้คนละมือมั้งคะ กว่าจะให้คนสำนึกได้และจนเป็นวัฒนธรรมใหม่ เพราะเราติดอยู่กับวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้งจนสลัดมันลำบาก ทั้งๆที่มันไม่ได้ลำบากอะไรเลย หนูว่าสิ่งที่ต้องปลูกฝังใหม่คือ "จิตสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งก็คือโลกใบนี้" แล้วค่ะ อาณาเขตทางผืนดินไม่ได้ช่วยอะไรแล้วในอนาคต โลกร้อน น่ำแข็งละลายแล้ว จุลินทรีย์ตัวใหม่กระจายตัวเพิ่มมากขึ้นในอากาศร้อน กบหลายสายพันธ์ ตายไปแล้วค่ะเพราะเชื้อมันทำลายผิวหนัง มันมาเงียบๆ แต่พอมันมาถึงคนมันจะไม่เงียบนี่สิคะ แล้วคนก็จะตายไปก่อนที่จะเห็นโลกมันเย็นนะ น่ากลัวออก

Submitted by แพรจารุ on

สวัสดีค่ะ อ้ายแสงดาว

โห...อย่ามาทำเป็นพูดดีไป สินเดือนหน้าเดี๋ยวนัดเจอที่ "ร้านเล่า" เลย
ร้านเล่าค่ะ ถูกแล้ว ไม่ได้ตกตัวหนึ่งตัวใด ร้านนี้มีความหมายว่า เล่าเรื่อง มีหนังสือ และมีกาแฟดีดื่มด้วย ที่สำคัญเขาไม่หวงหนังสือจนเกินเหตุ ไม่ถึงกับเดินตามไปดู แบบกลัวขโมย และหยิบไปอ่านนาน ๆ ได้โดยไม่รูสึกผิด

และยังมีหนังสือทำมือ เพลงอินดี้ ด้วยค่ะ โฆษณาให้ร้านหน่อยว่าตอนนี้เขาอยู่ที่ใหม่ ถนนนิมมานเหมินทร์ ซอย 1

อ้ายแสงดาว มีธุระด่วนมาก ๆ เกี่ยวกับงานเขียน อ้ายช่วยโทร.หายายหน่อยนะ แบบด่วน ๆ ทันที่ที่พบข้อความนี้นะคะ

Submitted by แพรจารุ on

สวัสดีจ๊ะหมี่เกี๊ยว

ใช่แล้ว วัฒนธรรมใช้แล้วทิ้งจริง ๆ ปัญหาขยะในเมืองเชียงใหม่ถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มากจริง ๆ
ยิ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบไม่มีขีดจำกัดแบบนี้

เมื่อครั้งนำท่วมเชียงใหม่เมื่อปี 48 ที่เก็บขยะที่เชียงดาวแตก จริง ๆหมี่เกี๊ยว พี่ไปเห็นกับตา บ่อที่ว่านี่นะเขาใช้อิฐบล็อกกั้นไว้สี่ด้าน และมีประตูปิดเปิดให้รถเอาขยะเข้าไปเก็บไว้

แรงน้ำพังกำแพงออกมา เปิดให้ขยะที่ถูกขัอยู่นาน ออกมาเริ่งร่ากันใหญ่ ปรากฏว่าหมู่บ้านหนึ่งถูกขยะถล่ม เป็นเดือนกลิ่นยังไม่หมด

เห็นใจคนหมู่บ้านใต้บ่อขยะจริง ๆ กลิ่นมันเหลือร้าย เป็นความทรงจำที่เลวมากสำหรับพี่ นี่ขนาดเราไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านนั้นนะ แค่ไปดูเท่านั้น

Submitted by คนวรรณกรรม on

ดีครับ
ผมก็เป็นคอวรรณกรรม หัดเขียนเรื่องสั้นอยู่ครับ จะส่งไปช่อการะเกดครับ
ถ้าได้ลงจะเปิดเผยว่า ผมคือใคร

Submitted by ตาพรานบุญ on

ฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่เอาถุงพลาสติคนะพี่ เวลาไปซื้อของถ้าถือได้จะถือกลับบ้านบ้างก็ใส่รถ ฉันบอกเขาว่า เอาไปเดี๋ยวก็ต้องทิ้ง เก็บไว้ให้คนอื่นเหอะจนเป็นที่รู้กันแถวบ้าน จากนั้นก็ไม่มีใครคะยั้นคะยอให้ฉันใส่ถุงอีก (ยืดอกไม่พกถุง)แม่ฉันก็คนหนึ่งเท่าที่เห็นท่านจะเก็บถุงที่ได้มาไว้และนำมาใช้ใหม่ตามสมควร
เมื่อหัวค่ำเพิ่งได้ข่าวการจากไปก่อนวัยอันควรของเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่ง แม้จะไม่สนิทกะเขาเท่าใหร่นักแต่มิตรภาพที่นับครั้งได้ก็ไม่มีรอยร้าวในมิตรภาพนั้น นี่นะไม่รู้จะส่งได้รึป่าว เขาให้ใส่ไอพี ตรงไหนก็ไม่รู้ ลองดูนะ
ครั้งหนึ่งช่วงช่อการะเกดใกล้วิกฤตปิดตัว ฉันเคยอาสาท่านสุชาติว่าฉันยินดีวาดภาพประกอบให้ แต่ไม่ยักกะรู้ว่าจริงๆแล้วท่านซุ่มทำงานศิลปะ จิตรกรรมอยู่ ครั้งนั้นฉันอยากแบ่งเบาท่านเพราะรู้ว่าต้นทุนค่าภาพประกอบหลายตังค์อยู่ แต่อาจด้วยความไม่สะดวกบางอย่างและฉันอาจอยู่ไกลกระมัง
รู้สึกดีใจมากเมื่อช่อหการะเกดกลับมา ฉันเคยเป็นสมาชิคอยู่เหมือนกัน ท่านพ่อสมัคให้ ครั้งนี้แอบฝันเล็กๆว่าถ้าหากเราได้เป็นส่วนหนึ่งในเล่มใดเล่มหนึ่งก็คงจะดี แม้นไม่ได้ประดับช่อ ฉันไม่ค่อยรู้เรื่องงานเขียนเท่าไรหรอก ฝันซะเยอะ

Submitted by พันธกานท์ ตฤณราษฎร์ on

มาเยี่ยมงาน ณ ที่นี่อีกครั้ง หลังจากเยือนที่โอเคฯแล้ว ครับ

แพร จารุ: มีไฟย่อมมีควัน

บทความที่พยายามนำพาผู้อ่านฝ่าม่านมายาคติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรป่าไม้ด้วยการป้องกันไฟป่าสู่รูปแบบการจัดการแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพด้วยการ"ชิงเผา"
 

ปรากฏการณ์มิดะ เพลงต้องห้ามและสิบปี จรัล มโนเพ็ชร

บน ฟ้า มี เมฆ ลอย บน ดอย มี เมฆ บัง
มี สาว งาม ชื่อ ดัง อยู่ หลัง แดน ดง ป่า
 
 
เนื้อเพลงมิดะค่ะ สองบรรทัด....เพราะเหลือเกิน และเข้าไปอยู่ในหัวใจใครต่อใครได้ไม่ยาก บนฟ้ามีเมฆลอยบนดอยมีเมฆบัง ฟังเพียงแค่นี้ก็จินตนาการได้กว้างไกล หัวใจก็ลอยไปถึงไหน ๆ แล้ว
 

ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคนไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน

 ฉันเชื่อว่า หากคนเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทุกอย่างก็จะดีได้ไปกว่าครึ่ง

บางคนบอกว่า ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน เช่น เรื่องทัศนคติที่มีต่อคนอื่น และตัดสินอย่างช้า ๆ
 
สามีของฉันบอกว่า จงรวดเร็วในการฟัง แต่จงเชื่องช้าในการตอบ คือให้ความสำคัญในการฟังมากๆ ก่อนจะตอบจึงจะดี จริงของเขาเพราะเดี๋ยวนี้มีแต่คนพูดและพูด แต่ไม่ค่อยฟังคนอื่น

ฉันเอาเรื่องนี้มาเขียนเพราะได้แรงบันดาลใจมาจากไปสังเกตการณ์เขาพูดคุยทบทวนประสบการณ์การทำงานกันของโครงการ (CHAMPION/MSM) และสมาคมฟ้าสีรุ้ง