นายกฯ ที่อาจหาญและสง่างามของอาจารย์นิธิ?

28 November, 2007 - 09:26 -- karnt

ใครที่ได้อ่านบทความ “นายกฯ ของวิกฤตการเมือง” [1] ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เพิ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คงรู้สึกงุนงงไม่น้อยว่า อาจารย์นิธิ “กำลังคิดอะไรอยู่”

เพราะไม่เพียงในเนื้อหาของบทความดังกล่าว อาจารย์นิธิได้ประกาศไว้ชัดเจนว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “เหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีในยามนี้ที่สุด” แต่เหตุผลของความ “เหมาะสมที่สุด” คือ

“นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องกล้าเผชิญกับแรงกดดันจากกองทัพ รวมทั้งแรงกดดันจากองค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรีด้วย ดังที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แสดงให้เห็นอย่างนุ่มนวล แต่สง่างามในครั้งนี้”

ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาแบบทันทีทันควันจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล [2] ในหน้าเวบบอร์ดของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ตั้งแต่วันแรกที่บทความดังกล่าวเผยแพร่สู่สาธารณะ

แม้หลายคนอาจอคติว่า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คือ “ขาประจำ” ที่ติดตามวิพากษ์วิจารณ์ “นิธิและมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” มาโดยตลอด แต่ผมกลับเห็นว่า หากตัดอคติดังกล่าว และสำนวนที่เป็นอารมณ์ออกไป ประเด็นในข้อวิจารณ์ของอาจารย์สมศักดิ์เป็นสิ่งที่ต้องรับฟังและพิจารณา

 

โดยไม่จำเป็นต้องมีจุดยืนข้างประชาธิปไตยและรังเกียจรัฐประหาร,
ผู้ที่สนใจติดตามการเมืองไทยอย่างจริงจัง และไม่ความจำสั้นเกินไป ก็น่าจะมองเห็นไม่ต่างจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

เพราะปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่การเห็นว่าคุณอภิสิทธิ์เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
แต่อยู่ที่เหตุผล ที่อาจารย์นิธิให้ไว้ในบทความดังกล่าวต่างหาก

ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า

อาจารย์นิธิเป็นศาสตราจารย์ทาง “ประวัติศาสตร์”

อาจารย์นิธิเป็น “นักวิชาการสาธารณะ” ผู้ยืนอยู่แถวหน้าสุดของ “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” ซึ่งประกาศ “ไม่เห็นด้วย” กับ “รัฐประหาร 19 กันยายน” (แม้ว่าท่าทีและถ้อยคำที่ใช้แสดงความ “ไม่เห็นด้วย” จะชวนให้หลายคนตั้งข้อสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์อยู่มาก)

และล่าสุด อาจารย์นิธิเป็นผู้ที่ถูกชูขึ้นเป็น “ผู้นำ” ในการรณรงค์ “ไม่รับ” รัฐธรรมนูญ 2550 (ตอนหนึ่งในบทความนี้ อาจารย์นิธิได้อ้างถึง การ “ปกป้องสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานซึ่งให้หลักประกันไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ” ซึ่งผมอ่านแล้วก็ไม่แน่ใจว่าอาจารย์หมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับใด ระหว่างฉบับที่ถูกฉีกทิ้งไปเมื่อปีที่แล้ว กับฉบับที่อาจารย์เพิ่งรณรงค์ให้ “ไม่รับ”?)

ก็ยิ่งชวนให้งุนงงต่อสิ่งที่ปรากฏในบทความ และชวนให้ตั้งคำถามว่า
คนอย่างอาจารย์นิธิ “ลืม” ไปได้อย่างไรว่า

คุณอภิสิทธิ์ “ยืน” อยู่ที่ใดในห้วงเวลาแห่งการชู “มาตรา 7” ?

ตลอดปีกว่าๆ ที่ผ่านมา คุณอภิสิทธิ์มีปฏิกิริยาอย่างไรต่อรัฐประหาร และการดำเนินการต่างๆ ของคมช., กองทัพ และ “องค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น” ?

หรือล่าสุด, คุณอภิสิทธิ์แสดงท่าทีอย่างไรต่อ “รัฐธรรมนูญ 2550” ที่อาจารย์บอกให้ประชาชน “ไม่รับ” ?

 

“กล้าเผชิญ…อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรี” ?!?!?

 

---------

[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “นายกฯ ของวิกฤตการเมือง”, มติชนรายวัน, 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550, ปีที่ 30 ฉบับที่ 10852
[2] โปรดดูหลายกระทู้เกี่ยวกับบทความนี้ ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ใน http://www.sameskybooks.org/board

ความเห็น

Submitted by suthon on

คุณกานต์แตะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของภาคประชาชนเข้าให้ เลยไม่มีใครกล้า comment เลย

อ่า เห็นด้วยอย่างแรงนะครับ

Submitted by หุหุ on

มีคนไปเขียนไว้ที่ฟ้าเดียวกันว่า

พอกันแหละ
นิธิ ก็เป็นนักวิชาการที่อาจหาญและสง่างาม ในการต่อต้านการรัฐประหาร ฮา ฮา

Submitted by copy มาฝากจ้า on

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=4267

คุณจะต่อต้าน รธน.คมช.อย่างเอาเป็นเอาตายทำไม ถ้าเสร็จแล้ว ก็มาเชียร์คนที่ทำให้ รธน.นั้นผ่าน

เสียเวลา, เสียแรง, เสียตังก์ และทีสำคัญ เสียความปรารถนาดี การยืนหยัดต่อสู้ของมวลชนจำนวนมาก

ชักชวนประชาชนว่า ต้องต่อต้าน ให้ได้ รธน.นี้ พูดจา ขอความร่วมมือจากเขา

สุดท้ายยังไง

วันดีคืนดี (ห่างไม่กี่วันกี่คืน) คุณก็บอกว่า คนที่ทำให้ รธน.เผด็จการนี้ผ่านได้ (ไม่ต้องพูดถึงสนับสนุน รปห.มาโดยตลอด) เป็นคนที่ "แข็งแกร่ง" "สง่างาม" มีความเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นนายกฯ

Submitted by ต่อ on

(((ต่อจากอันบน)))

อย่างนี้ เรียกอะไร?

ในทางจริธรรมการเมือง เป็นการกระทำอะไรที่เลวมาก

ถ้าทำอย่างนี้ ไปเสียเวลา เสียตังก์ เสียแรง และที่สำคัญเสียความปรารถนาดีของคนจำนวนมาก ที่เข้าร่วม เคลื่อนไหวทำไม

ก็สู้สนับสนุน รธน. ให้ผ่านไป (เหมือนคนทีคุณกำลังยกย่องตอนนี้) แล้วก็มาดูว่า ใครนะมีท่าที "ท้าทาย" เรื่องรองๆลงมา อย่าง 111 กก.ทรท., กฎอัยการศึก ฯลฯ (จริงๆ มีแต่คนตาบอด ปัญญาอ่อนที่เห็นว่า ท่าทีอภิสิทธิ์เรื่องพวกนี้ เป็นการท้าทายอย่าง "แข็งแกร่ง" "นุ่มนวลแต่สง่างาม")

แล้วใครที่ดู "นุ่มนวล" สุด ก็เชียร์ให้เป็นนายกฯ ด้วยการตั้งความหวังว่า เขาจะมาคัดค้าน ระบอบรัฐประหารให้แล้วคราวนี้....

คนที่ชอบอ้างประชาชน แต่ทำราวกับ ประชาชนมีไว้หลอก มีไว้เล่น เป็นพักๆ แบบนี้ เลวเหมือนพวกศักดินา
(อันที่จริง วิธีคิด ไม่ต่างจากพวกศักดินาเท่าไร ถ้าดูจากที่ผ่านมา)

Submitted by จบแระ on

(((ต่อจากอันบน)))

ผมขอฝากไปถึงพวกแอ๊กติวิสต์อีกครั้ง

เวลาพวกคุณทำท่าขยะแขยง ตัวสั่น ที่เห็นใครไปร่วมชุมนุมที่หนุนทักษิณ (ซึ่งตามหลักการพวกคุณเอง ทีว่า รปห.ไม่ถูก การเรียกร้องให้ รบ.ก่อน รปห.กลับมา ความจริง ต้องถือเป็นเรื่องถูกด้วยซ้ำ) หาว่า เชลียร์บ้าง อะไรบ้าง ทนไม่ได้เลย สัมภาษณ์แต่ละครั้ง เขียนแต่ละครั้ง แสดงความกล้าหาญเสียเหลือเกิน เมื่อถึงนักการเมือง

กรณีอย่างนิธิ นี่กี่ครั้งแล้ว ในปีที่ผ่านมา?
"รปห. เป็นเรื่องผ่านไปแล้ว ดีหรือไม่ดี ก็ตาม..."
"สู้ ประชานิยมจอมปลอม หาทางป้องกันคนอย่างทักษิณกลับมา (แต่คนอย่าง คมช. ไม่ต้องพูดถึง"
"ทรท.น่ากลัวกว่าสฤษดิ์ (ยุบไปได้ก็ดี ใช้ ศาลเตี้ย ก็ไม่เป็นไร)"

ฯลฯ ฯลฯ

พวกคุณเงียบเป็นตูด มาตลอด

ครั้งนี้ก็เช่นกัน?

แบบนี้ มันศักดินานิยมชัดๆ ผู้ใหญ่พูดอะไร ไม่รู้จักเถียง
เป็นอะไรกันเนี่ย ข้าทาสบริวาร?

(((จบแระ)))
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=4267

ขอบคุณมากครับ

ระบบใหม่ที่ต้องโพสต์วันที่นี่ทำเอาผมงงไปเหมือนกัน ตอนแรกนึกอยู่ว่าต้องพิมพ์ใส่ขนาดไหน (คำถามง่ายดีแล้วครับ ผมคิดมากเอง) ที่แท้ก็ใส่แค่ "ตัวเลข" เท่านั้นเอง (เช่นวันนี้พิมพ์แค่ 28 ก็เรียบร้อย)

ขอชมทีมงานประชาไทว่าเป็นวิธีป้องกันโปรแกรมฝลัด และสแปม ที่เข้าท่า และน่ารักมากเลยครับ (ง่ายกว่าการกรอกอีเมล ซึ่งหลายคนรู้สึกว่า เป็นการลดเสรีภาพของความคิดเห็นบนเวบลง)

Submitted by มหาลัยเที่ยงวัน on

อ.นิธิเป็นนักประวัติศาสตร์ ไม่ควรประเมินอภิสิทธิ์โดยละเว้นหลักฐานข้อเท็จจริงขนาดนี้

น่าคิดจริงๆว่านักวิชาการทุกวันนี้คิดอะไร และเห็นประชาชนเป็นอะไร

Submitted by ผีบ้าพายย่าม on

ผมเรียนอย่างตรงไปตรงมา ผมไม่เคยเห็นคุณวิจารณ์สมศักดิ์เลยหรือว่า คุณกับสมศักดิ์เป็นพวกคอเดียวกัน ประวติศสาตร์นิยมในกลุ่มผม ฮา...ฮั่นแน่ ผมรู้นะว่าคุณจะตอบผมว่ายังไง ถ้าเป็นผมจะวิจารณ์ทั้งสองคนเลย อย่าเลือกข้างสิ

Submitted by what is intelle... on

How is the Midnight University?

K. ผีบ้าพายย่าม
What is your point?

Why you think have to วิจารณ์สมศักดิ์?

Why 'ถ้าเป็นผมจะวิจารณ์ทั้งสองคนเลย' ?

สมศักดิ์ and Nidhi are same?

why we can not 'เลือกข้าง' ?

com on man

เรียนคุณ "ผีบ้าพายย่าม"

ผมขออนุญาตตอบตรงไปตรงมาเช่นกันครับ ว่า

1. ในกรณีของการเมืองประเทศนี้ ผม "เลือกข้าง" มานานแล้วครับ แต่เท่าที่อ่านคุณโพสต์แล้ว ผมคงจำเป็นต้องเรียนเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดซ้ำ ด้วยว่า การเลือกข้างดังกล่าว เป็นการเลือกในแง่แนวคิด กล่าวคือ ผมรังเกียจรัฐประหารโดยเปิดเผย ทั้งในพื้นที่ส่วนตัว และสาธารณะ รวมทั้งในคอลัมน์นี้

2. ผมจะเขียนวิจารณ์และตั้งคำถามต่ออาจารย์สมศักดิ์ แบบเดียวกับที่วิจารณ์และตั้งคำถามต่ออาจารย์นิธิในบทความนี้ แน่นอนครับ ถ้าหากว่า :-

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ประกาศไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้อง "มาตรา 7", รัฐประหาร และรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งร่วมรณรงค์ให้ประชาชน “ไม่รับ” แต่วันหนึ่งก็กลับลุกขึ้นมาเขียนเชียร์บุคคลที่ มีส่วน/เห็นด้วย/สมยอม กับสิ่งที่ตัวเองเคยประกาศคัดค้าน (และรณรงค์ให้ประชาชนร่วมคัดค้าน) ในสาธารณะ ว่า "สง่างาม" และสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้ เพราะ "กล้าเผชิญกับแรงกดดันจากกองทัพ รวมทั้งแรงกดดันจากองค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรีี"

ขอบคุณครับ

ถึงคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ :-)

ขอนุญาตแจ้งเรื่อง comment ในหน้าคอลัมนนิดนึงครับ

พอดีตอนนี้ทางประชาไทได้สร้างระบบใหม่เพื่อป้องกันโปรแกรมการฝลัด-สแปม ในหน้าคอลัมน์ คือมีช่องให้กรอกวันที่ โดยให้กรอกเฉพาะตัวเลขเท่านั้นนะครับ

เช่น วันนี้คือวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 ก็กรอกเฉพาะตัวเลข 29 เท่านั้นครับ (เดือน ปี ไม่ต้องกรอกนะครับ) เพราะถ้ากรอกเกินกว่านั้นจะโพสต์ไม่ได้ครับ

ต้องขออภัยท่านที่ทราบแล้วด้วยนะครับ คือมีเสียงบ่นจากหลายท่านมาว่า โพสต์แล้วข้อความไม่ขึ้นครับ

ขอบคุณครับ

Submitted by ผีบ้าพายย่าม on

เรียนคุณกานต์ ณ กานท์
สิ่งที่คุณพยายามบอกกับผม คุณจะวิจารณ์อาจารย์สมศักดิ์ก็ต่อเมื่ออาจารย์สมศักดิ์เข้าข้างการอิงแอบอยู่กับการัฐประหารงั้นหรือครับ ผมว่าไม่มีทางเป็นไปได้หรอกในเรื่องนี้ คุณก็รู้อยู่ ฉะนั้นการมองธงแบบเดียวคือ คุณต่อต้านการทำรัฐประหาร ถ้าใครเห็นด้วยกับรัฐประหารคุณถึงจะชักดาบทางความคิดฟาดฟันเขากระนั้นหรือ แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นละ คุณก็จะยอมปล่อยผ่านไปกระนั้นหรือ
ผมเข้าใจว่าการเมืองทำให้คุณเลือกข้าง เพราะฉะนั้นการวิจารณ์คงเป็นเรื่องของกรเมืองเป็นหลัก ผมเองเรียนมาน้อย และที่สำคัญไม่ใช่นักประวิตศาสตร์เท่าใด สิ่งที่ผมเห็นในตัวของนักวิชาการทั้งสองคือ คนหนึ่งทำงานเพื่อคนทุกข์ และเป็นที่ปรึกษาให้กับคนทุกข์มายาวนาน แต่ตอนนี้อาจไม่ใช่ แต่กลับอีกคนหนึ่ง ผมไม่เคยเห็นทำอะไรมากกว่าการเข้าไปค้นคว้าแล้วก็นำเสนอแง่มุมวิชาการทางประวัติศาสตร์เท่านั้น โดยส่วนตัวที่ติดตามความคิดของอาจารย์สมศักดิ์มา แกจะวิจารณ์ได้ทุกคนและมีข้อโต้แย้งทางวิชาการกับทุกคน เพราะอาจารย์สมศักดิ์เป็นคนที่มีเอกสารเกี่ยวกับวิชาการทางประวัติศาสาตร์พอสมควร แต่สิ่งที่ผมจะตั้งคำถามคือ (จากฟ้าเดียวกัน) ทำไมอาจารย์สมศักดิ์ไม่

Submitted by ผีบ้าพายย่าม on

-ต่อครับ
ชี้ลงไปในรายละเอียดว่า ประวัติศาสตร์การพัฒนาการเมืองไทยหลังรัฐประหารมันมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับพรรคประชาธิปัตย์ยังไง และทำไมคนอย่างอาจารย์นิธิถึงกล้าสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ ทั้งที่รู้อยู่แล้ว พรรคประชาธิปัตย์คือพรรคที่ฉวยโอกาสเสมอหลังรัฐประหาร แต่ก็นั้นแหละอันนี้เรามองไปที่ความเป็นนักแข็งขืนต่อกองทัพอย่างที่อาจารย์นิธินำเสนอ อันนี้ผมเห็นแย้ง เพราะคนอย่างอภิสิทธิ์ไม่มีทางที่จะแข็งขืนกับทหาร แม้ว่าเบื้องลึกทหารจะสนับสนุนอภิสิทธิ์ให้ขึ้นเป็นนายกหลังการเลือกตั้ง
ฉะนั้นหากคุณจะวิจารณ์อาจารย์ทั้งสองท่านนี้ ผมว่าวิจารณ์ในแง่อื่นดีกว่า อย่าวิจารณ์ในแง่ของการเมืองเลย เพราะสาธารณะไม่ได้ประโยชน์จากตรงนี้แน่นอน
ขอบคุณครับ

เรียนคุณ "ผีบ้าพายย่าม" ครับ

ผมอ่าน comment 2 อันหลังของคุณแล้วเห็นว่า คุณยังเข้าใจไม่ตรงกับผมอยู่บ้าง โดยเฉพาะการตัดสินผม 2-3 ข้อที่คุณว่ามาครับ (ในส่วนของ "ทรรศนะ" นั้น แน่นอนว่า ไม่จำเป็นต้องตรงกัน)

แต่ผมเห็นว่า comment แรก ที่ผมตอบคุณไปนั้น ครอบคลุมและชัดเจนพอแล้ว จึงอยากขอให้คุณ "ผีบ้าพายย่าม" กลับไปอ่าน อย่างใจเย็นลงอีกนิดครับ (ย้ำว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่อง "ทรรศนะ") ขอบคุณครับ

ผมกลับไปคิดดูแล้ว ผมอาจจะตอบ (อันแรก) อย่าง "รวบรัด" เกินไป จนทำให้คุณ "ผีบ้าพายย่าม" ตีความและตัดสินผมคลาดเคลื่อนไป ดังที่คุณได้เขียนมา (2 อันหลัง) ผมจึงขอลองตอบใหม่ โดยขยายความเพิ่มเติม ดังนี้ครับ

1.ทำไมผมจึงวิจารณ์บทความนี้ของนิธิ? ที่จริงมีคำตอบชัดเจนในบทความของผมอยู่แล้ว แต่เมื่อคำถามของคุณคือการโยงว่า "ในเมื่อผมจึงวิจารณ์บทความนี้ของนิธิ แล้วผมจึงไม่วิจารณ์สมศักดิ์ด้วย?" และต่อมา (หลังจากที่ผมตอบไปครั้งแรก) ก็กลายเป็นว่า "ใครเห็นด้วยกับรัฐประหารคุณถึงจะชักดาบทางความคิดฟาดฟันเขากระนั้นหรือ ?" ผมจึงขอลองอธิบายอีกครั้งหนึ่ง

ผมวิจารณ์เพราะ - บทความนี้ของนิธิไม่เพียงแสดงการ "กลับลำ" (โปรดดูบทความประกอบ) เท่านั้น แต่ "เหตุผล" ที่นิธิให้ในการ "กลับลำ" นั้น มีปัญหาอย่างมากด้วย (และเห็นได้ชัด โดยไม่ต้องอาศัยเอกสารมากมาย)

แน่นอนว่า หากสมศักดิ์เขียนอะไรเช่นนี้ออกมา ผมย่อมจะเขียนวิจารณ์อย่างเดียวกันนี้

อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าบทความนี้เป็นการ "ชักดาบทางความคิดฟาดฟัน" อะไร ผมวิจารณ์-ตั้งคำถาม เพราะเห็นว่าบทความนี้ของนิธิควรถูกเรียกร้องคำอธิบาย (จากผู้เขียน - คือนิธิ ไม่ใช่จากสมศักดิ์)

2. ผมยังไม่คิดจะเขียนวิจารณ์เปรียบเทียบคุณค่าบุคคล (หรือสิ่งที่คุณเรียกว่า "ตัวของนักวิชาการทั้งสอง"),

แน่นอนครับ ดังที่บอกไป ผม "เลือกข้าง" รังเกียจรัฐประหารชัดเจน แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ "เห็นด้วยกับรัฐประหาร" ผมจะต้องเขียนบทความวิจารณ์ (คนข้างบ้านผมก็เห็นด้วยกับรัฐประหาร หรือนักวิชาการ, นักเขียน, แอ๊คติวิสต์-เอ็นจีโอ ฯลฯ หลายที่ผมรู้จัก ก็คิดเรื่องนี้ไม่เหมือนผม) ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีก

(และในกรณีนี้ ผมก็ไม่ได้วิจารณ์นิธิ ในฐานะ "ผู้เห็นด้วยกับรัฐประหาร" – ตรงข้ามด้วยซ้ำไป)

ผมทราบครับว่า นอกจากนิธิจะมีและคุณูปการดังที่คุณกล่าวมาแล้ว ยังเป็นนักวิชาการคนสำคัญ ที่มีผู้ติดตามอ่านงานเขียนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอลัมน์ในหน้าหนังสือพิมพ์ และด้วยบทบาทที่มีความสำคัญเช่นนี้เอง (ทั้งของความเป็น "นิธิ" และงานเขียนซึ่งรวมถึงบทความนี้ของนิธิด้วย) ในเมื่อผมเห็นว่าประเด็นในบทความนี้ของนิธิมีปัญหา (และขัดแย้งกับบทบาทของ "นิธิ" ในช่วงที่ผ่านมา) อย่างสำคัญ จนมีความจำเป็นที่ต้องวิจารณ์-ตั้งคำถาม ผมจึงตัดสินใจเขียน

3. สุดท้าย, ถ้าหากผมเห็นเหมือนกับคุณ "ผีบ้าพายย่าม" ว่า การ "วิจารณ์ในแง่ของการเมือง" นั้น "สาธารณะไม่ได้ประโยชน์จากตรงนี้แน่นอน" ผมก็คงจะไม่เขียนบทความนี้ หรืออาจจะไม่เขียนคอลัมน์นี้ขึ้นมาเลยครับ

ขอบคุณครับ

Submitted by nang-oon on

เห็นด้วยกับคุณกานต์กับคำตอบที่มีให้คุณ "ผีบ้าพายย่าม"
เหมือนว่าคุณผีบ้าฯ ไม่ได้ focus ไปที่บทความ เป็นความรู้สึกอย่างอื่นกระมัง..

Submitted by คนไทย on

สรุปแล้ว คนเขียนกระทู้นี้ คือไม่ชอบคุณอภิสิทธิ์ ใช่ป่ะ เหอเหอ หุหุ วู้วว

Submitted by คนไทย on

แต่เห็นด้วยกับคุณผีบ้าพายย่ามมากกว่า

ก้าวฝ่า “ความเงียบงัน” - A Walk Through "the Silence"

17 July, 2012 - 17:17 -- karnt

กานต์ ทัศนภักดิ์: ศิลปะโฟโต้โมเสคเพื่อเหยื่อ112 ท่ามกลาง “ความเงียบงัน” ที่เราทุกคนในสังคมต่างต้องเผชิญอยู่นี้  (โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)   ไม่ได้มีแต่ความว่างเปล่า และยิ่งไม่ใช่ความ “นิ่งงัน” อย่างที่บางคนอาจหมิ่นแคลน ลำพอง หรือแม้แต่ลอบทอดถอนใจ  -- หากแต่ยังมีความเคลื่อนไหว และมีคนจำนวนมากที่ยังคงพยายามจะ “ก้าวฝ่า” มันไป

 

 

"10 เมษายน 2553" ในความทรงจำของผม

30 April, 2012 - 19:22 -- karnt

หมายเหตุ: บันทึกนี้เป็นเพียงความทรงจำของคนคนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น-คืนนั้น ในบางจุดและบางช่วงเวลา - ในแง่หนึ่งจึงอาจไม่มีเนื้อหาที่สำคัญ และไม่มี "ข้อมูลใหม่" เป็นเพียงการบันทึกเอาไว้เตือนความจำตัวเองว่า เคยอยู่ "ที่นั่น"