'มุง - หนัง - กลาง - แปลง' ชวนดูหนังฟรีรับปีใหม่ที่ 'ศิลปากร'

(เขียนเมื่อ 31 ธ.ค.51)
จันทร์ ในบ่อ 

สิ้นปีกันเสียที บรรยากาศตึงๆ ปีนี้อาจทำให้ใครหลายคนอึดอัดและทำท่าจะลากยาวไปถึงปีหน้า ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ  คนสู้ๆ กับปัญหาที่รุมเร้า แต่ถ้าเครียดมากลองผ่อนคลายกันด้วยการหาหนังดูมาสักเรื่องสองเรื่อง จะซื้อ จะเช่ามานั่งดูที่บ้านหรือจะออกไปดูตามโรงภาพยนตร์ต่างๆ ก็ได้ ลองออกจากโลกความจริงไปอยู่ในโลกอื่นสักชั่วโมงสองชั่วโมงอาจจะสบายใจขึ้น

ส่วนถ้าใครยังไม่รู้จะดูเรื่องอะไร ที่ไหนอย่างไร ผมก็มีโปรแกรมหนังรับปีใหม่มาฝาก เป็นหนังฟรีกลางแปลงครับ

หลายคนคงไม่ค่อยทราบว่าที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดเทศการหนังกลางแปลงกันทุกปี ในวันที่ 7-8-9 มกราคม 2552 นี้ก็วนมาอีกรอบเข้าสู่ปีที่ 15 ใช้ชื่องานว่า มุง หนัง กลาง - แปลงชวนให้ไปมุงดูกัน มีทั้ง ลิเกออกแขก ออกร้าน และดนตรีอะคูสติกเบาๆ จากเพลงประกอบหนังเพื่อเพิ่มบรรยากาศตั้งแต่ยามเย็นไปถึงย่ำค่ำ ถ้าไม่มีอะไรดูก็ดูนักศึกษาไปก่อนก็ได้ เพราะบางทีนักศึกษาที่นี่ก็ แปลกเหมือนกัน

 

ปีนี้มีหนังน่าสนใจหลายเรื่อง หลายรส หลายอายุ เรียกได้ว่ามีทั้งหนังเก่า ใหม่ ไทยเทศคละกันในลักษณะแบบงานวัด แม้แต่หนังเกาหลีเทรนด์หนังล่าสุดก็มีมาฉายให้ลองตลาด

 

วันที่ 7 มกราคม 2552 เปิดเทศกาลด้วย เพื่อเพื่อน เพื่อฝัน เพื่อวันเกียรติยศสำหรับเกียรติยศแก่ พิเศษ สังข์สุวรรณ ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งที่ผ่านมา พิเศษ สังข์สุวรรณ ได้ฝากฝีมือการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ไว้ให้วงการหนังและได้รับรางวัลจากการทำเพลงหลายเรื่อง อาทิ ทองพูน โคกโพธิ์, มือปืน, มือปืน 2 สาละวิน, กล่อง, หมานคร, เสียดาย, คนเลี้ยงช้าง ฯลฯ

ส่วนในเรื่องนี้เป็นบทบาทของ พิเศษ สังข์สุวรรณ ในฐานะนักแสดง พิเศษรับบทเป็น ลุงไม้สำหรับคนที่คิดถึงนักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์มือดีผู้เดินทางจากไปผู้นี้คงอิ่มใจที่จะได้เห็นเขากลับมาเคลื่อนไหวพูดคุยอีกครั้งแม้บนแผ่นฟิล์มก็ตาม

เรื่องต่อมาที่จะฉายเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นน่ารักๆ เรื่อง ‘Wall – E’ หุ่นยนต์เก็บขยะน้อยกับสาวสุดเฉี่ยวที่เพิ่งสร้างความประทับใจในโรงหนังเมื่อไม่นานมานี้จะกลับมาอีกครั้ง และคืนแรกปิดท้ายด้วยภาพยนตร์เกาหลีสุดโรแมนติก ‘The Classic’ ใครที่เคยดูแล้วก็ต้องพูดตรงกันว่า มัน..คลาสสิก

วันที่ 8 มกราคม 2552 เริ่มต้นด้วยหนังการ์ตูน Kung Fu Panda’ ซึ่ง นพพร ชูเกียรติศิริชัย เคยกล่าวถึงก่อนหน้านี้ใน Cinemania แห่งนี้ กลับไปหาดูบทวิจารณ์ก่อนชมได้ ในขณะที่เรื่องต่อมาคอกัญชาและสุราไม่น่าพลาด เพราะมันคือเรื่อง พันธุ์หมาบ้าอันเป็นภาพสะท้อนวัยหนุ่มที่ใช้ชีวิตอันสุดบรรเจิดเพริศพิไล จากบทประพันธ์อมตะของ ชาติ กอบจิตติคู่หู ไท (อำพล ลำพูน) และออตโต้ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง)รวมทั้งผองเพื่อนจะมาบ่มอารมณ์หนุ่มสาวจนเป็นบรั่นดีรสนุ่ม วิสกี้รสแรง และหวานเอียนควันพันลำและบ้องตัน

ใครมาดูจะนำไอ้ที่ว่าติดมืออาจเข้าทีและเข้าดีกับหนัง แต่เรื่องคุกตะรางที่ตามมานั้นขอให้เป็นเรื่องตัวใครตัวมันนะครับ

ปิดท้ายวันกันด้วย รักแห่งสยามที่อาจถือว่าเป็นไฮไลท์ของวันและอาจของเทศกาลเลยก็ได้ เพราะเป็นหนังที่ยังถือว่าสดใหม่เพิ่งผ่านตา มีกระแสฮือฮาและตอบรับดีเยี่ยม อีกทั้งได้รับการยกให้เป็นหนังแห่งปี 2550 จากนิตยสารไบโอสโคป

หนังเรื่องนี้จึงน่าสนใจทีเดียวที่จะตั้งคำถามว่า หนังรักเรื่องหนึ่งทำไมจึงประสบความสำเร็จสูงมาก เป็นเพราะเทคนิคทางการตลาดที่ปกปิดประเด็นหลักของหนังไว้อย่างเหนียวแน่นก่อนการฉายที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นหนังรักธรรมดา แต่พอดูก็ต้องรู้สึกผิดคาดเมื่อความรักมันมีประเด็นซับซ้อนจนต้องบอกต่อเล่าลือกันปากต่อปาก

หรือเป็นเพราะนักวิชาการและนักวิจารณ์ที่สามารถจับทฤษฎีมาอธิบายได้อย่างเข้าที่เข้าทางโดยเฉพาะประเด็นชายขอบและเพศสภาพ หรืออาจเป็นเพราะเพลงประกอบที่ลงตัวในการพูดแทนความรู้สึกของตัวละครได้ หรือจะเป็นเพราะเด็กดาราหน้าใส (มาก) หรือที่สุดแล้วองค์ประกอบทั้งหลายแหล่นั้นมาประกอบกันจนทำให้สามารถถกเถียงกันได้ตลอดเวลาจนกลั่นกรองสุดท้ายได้ว่าหนังเรื่องนี้ดีจริงๆ

เทศกาลหนังกลางแปลงครั้งนี้ก็จะเป็นอีกโอกาสที่จะได้ไปดู ไปถก และไปคิดกันต่อเอง

วันที่ 9 มกราคม 2552 เป็นวันสุดท้ายของเทศกาลหนังกลางแปลง และเริ่มด้วยหนังที่จะทำให้ได้กลิ่น กลางแปลงแบบงานวัดในอดีตด้วย หนังจีน ไอ้หนุ่มหมัดเมาก็ได้มาวาดลวดลายกังฟูในงานเช่นกัน และเรื่องนี้นักศึกษาขอพากษ์สดเอง

  

อีกเรื่องในวันสุดท้ายคือ SURPRISE FILM (ภาพยนตร์ต้อนรับปีใหม่) อันนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นอย่างไร แต่อาจจะมีอะไรให้ประหลาดใจก็ได้

เทศกาลจะปิดด้วย ‘Armagadon’ หนังที่หลายคนรู้จักกันดีโดยเฉพาะเพลงประกอบหนังที่สุดกินใจจาก Aerosmith

นอกจากนี้ ทุกๆ คืนจะคั่นเวลาด้วยหนังสั้นที่ชนะการประกวด Film in U

เริ่มเทศกาลเวลา 18.00 น.ทุกวัน ณ สนามบาส มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ดีที่สุดตรงที่ไม่เสียค่าเข้าชมครับ

    

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ความเห็น

Submitted by ธีรพล on

ผมก็ชมหนังกลางแปลงมาหลายอยู่ตามงานวัดงานรื่นเริงหรืองานศพ
แต่พอได้อ่านบทความนี้เหมือนมีอะไรบางอย่างดึงดูดให้ผมอยากไปชมหนังกลางแปลงที่แสนธรรมดาแต่ความรู้สึกพิเศษที่อิ่มไปกับบรรยากาศ
คงเป็นเพราะรูปแบบงานกับหน้าหนังกระมัง
เพราะฟรีด้วยแหละ555

Submitted by ฤทธิกร on

น่าสนุกจัง
ผมเคยได้ยินเค้าร่ำลือมานานหลายปีและ งานหนังกลางแปลงของที่นี่เนี่ย

ถ้าว่างจะพยายามไปให้ครับ

ปล.เข้าชมฟรี แล้วเบียร์ฟรีไม่มีวันหมดด้วยรึเปล่าครับ

Submitted by หม่องคิม on

ผมจะอยู่สดับรับชมหนังกลางแปลงครั้งนี้ให้ได้

มีหนังหลายเรื่องที่ผมประทับใจและอยากดูมาก

Submitted by โอมมี่ on

มันเป็นงานที่น่าสนใจมาก

มันเป็นศิลปะการดูหนังกลางพื้น

ที่มีแค่เสื่อ หนัง และเรา

อยู่ในโลกแห่งการรับรสชาตแห่งหนัง

ไม่ไปไม่ได้แล้วหละคับ

Submitted by เต้น on

อ่านแล้วน่าสนใจจังเลยค่ะ
ทำสำคัญ ฟรี ด้วยแฮะ
ชอบของฟรี 555
เราว่าถ้าว่างต้องมาดูแล้วหละ
หนังเยอะด้วยแฮะ
ผสมเก่าบ้างใหม่บ้าง หลายรสชาติจังเลย

Submitted by เกริกเกียรติ นะจ๊ะ^^ on

เป็นงานที่น่าสนใจมาก มหกรรมหนังครั้งยิ่งใหญ่ ณ วังท่าพระ ขนาดนี้ ไม่ไปไม่ได้แล้ว!!! วู้วววววววววว!!

Submitted by วัวพิษ on

ว้าวว้าว
มีเพื่อนชวนเพื่อน
มีพี่ชวนพี่
มีแฟนชวนแฟน
ถ้าไม่มีไปหาเอาที่งานได้เลย!

ไม่พลาดแน่นอนค่ะ
>_<

Submitted by ขวัญข้าว on

วะวะวะว้าวววววววววววววววววว!!!!!!!!!!!!!!!!!

Submitted by Gink on

ว้าวววว ไม่น่าจะพลาดแน่นอนค่ะ ^^

ว่าแต่ขออนุญาตนำข้อความนี้ไปโพสโปรโมตชวนเพื่อนๆหน่อยนะคะ
อยากให้คนมาเยอะๆๆๆๆๆ

ขอบคุณค่า

Submitted by อภิเดช on

ผมคิดว่าถ้าผมได้เห็ภจะาพนันคงดีมากๆ

หนังกลางแปลงมีประโยชน์มาก คนที่ไม่ค่อยมีฐานนะจะสามารถผ่อนคายได้ ตอนเด็กๆก็ไปดูหนังกลางแปลงบ่อยๆ

ลืมบอกไป หนังของเฉินหลงดูไปทิดที่แล้วหนุกมาก เก่งแต่ก็ มันมาก ฝีมือล้วนๆ

Accepted เมื่อพวก 'ขี้แพ้' อยากชวนตี

 


 
 
ซาเสียวเอี้ย
 
แต่ไหนแต่ไรมา...ระบบการศึกษาในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกมักถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการ ‘ดับฝัน’ ของคนวัยหนุ่มสาว เพราะทำให้ความอยากรู้อยากเห็นและกระตือรือร้นที่จะ ‘เรียนรู้’ สิ่งแปลกใหม่ในวัยเยาว์ถูกลบเลือนหายไปในกรอบ-กฎเกณฑ์-เหตุผล-เงื่อนไข และข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวง (ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีโอกาสเกิดมาใช้ชีวิตบนโลกก่อนหน้าเรา...)
 
กระนั้น...ใครหลายคนก็ยังยินดีเดินตามแนวทางหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกวางไว้แล้วโดยไม่เคยคิดตั้งคำถาม เพื่อแลกเปลี่ยนกับ ‘การยอมรับ’ จากสังคมรอบข้าง...เพื่อที่มนุษย์ทั้งหลาย (ซึ่งเป็นสัตว์สังคม) จะได้ไม่ต้องรู้สึกวุ่นวายใจไปกับความโดดเดี่ยวแปลกแยกหรือแหกคอก
 
การตั้งคำถามกับระบบการศึกษาจึงเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส และไม่ค่อยมีใครกล้าลุกขึ้นมาปฏิเสธระบบกันมากนัก แม้จะมีกระแส ‘Drop Out’ ที่ชักชวนให้นักเรียนนักศึกษาหันหลังให้กับตำราและออกไปเผชิญโลกกว้างอยู่บ้างในยุคหนึ่งทางซีกโลกตะวันตก แต่กาลเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเป็นอย่างบิล เกตส์ หรือสตีฟ จ๊อบส์ได้...
 
                                                                00000
 
แต่ในภาพยนตร์ตลกวัยรุ่นฮอลลีวู้ดที่ออกฉายปี 2549 เรื่อง Accepted ผลงานเรื่องแรกในฐานะผู้กำกับของ ‘สตีฟ พิงค์’ (อดีตคนเขียนบทหนัง Grosse Point Blank และ High Fidelity และผู้อำนวยการสร้างเรื่อง America Sweetheart) ได้พยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเป็นคำถามที่มาพร้อมกับลีลาโปกฮามากกว่าจะจริงจังขึงขังอะไรมากมาย แต่ก็เป็นภาพยนตร์วัยรุ่นเรื่องล่าสุดที่พูดถึงปัญหาของระบบการศึกษาออกมาตรงๆ
 
เรื่องราวในหนังเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าชะตากรรมของ ‘บาร์เทิลบี เกนส์’ (แสดงโดยจัสติน ลอง จาก Die Hard ภาคล่าสุด) เด็กนักเรียนไฮสคูลปีสุดท้ายที่ยังเคว้งคว้างไร้อนาคต เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งไหนตอบรับใบสมัครเรียนของเขาเลย ในขณะที่พ่อและแม่ต่างก็คาดหวังว่าลูกชายคนเดียวจะต้องมีอนาคตที่ดีและได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ไหนสักแห่ง ทำให้บาร์เทิลบียิ่งกดดันว่าพ่อกับแม่คงผิดหวังถ้าได้รู้ว่าลูกชายกลายเป็นคน ‘ไร้อนาคต’ ไปเสียแล้ว
 
ขณะที่ ‘เชอร์แมน เชรดเดอร์’ (แสดงโดยโจนาห์ ฮิล) เพื่อนสนิทของบาร์เทิลบี และ ‘รอรี่’ (แสดงโดย มาเรีย เทเยอร์) สาวผมแดงเด็กเรียนเพื่อนร่วมชั้น ล้วนไม่ผ่านการพิจารณาจากมหาวิทยาลัยที่สมัครไปกันถ้วนหน้า ทำให้ทั้งหมดคิดแผนการขึ้นมาตบตาบรรดาพ่อแม่ว่าพวกเขาได้รับการตอบรับเข้าเรียนแล้วจากมหาวิทยาลัยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ และพวกเขาได้สร้างเว็บไซต์แนะนำมหาวิทยาลัยอุปโลกน์ให้พ่อและแม่เข้าไปดูประกอบคำโกหกให้ฟังน่าเชื่อถือมากขึ้น
 
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยกำมะลอเกิดขึ้นได้เพราะภาพตัดต่อจากโปรแกรมโฟโตชอป แสดงบรรยากาศและอาคารสถานที่สมจริงสมจัง แถมยังมีปุ่มให้ ‘ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อ’ คลิกส่งใบสมัครมาพิจารณากันอีกด้วย และนอกจากพ่อแม่ของทั้งหมดจะเคลิ้มเชื่อตามไปด้วยแล้ว ปรากฏว่านักเรียนนับร้อยคนพลาดหวังจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เสิร์ชเจอข้อมูลปลอมๆ ในเว็บไซต์ก็ยังหลงเชื่อและส่งใบสมัครเข้ามาจริงๆ และระบบอัตโนมัติซึ่งเชอร์แมนเผลอตั้งค่าไว้ก็ดันส่งใบตอบรับเข้าเรียนไปให้คนที่ส่งใบสมัครเข้ามาทั้งหมดจริงๆ อีกเหมือนกัน!
 
ตัวการต้นคิดทั้ง 3 คนจึงต้องไปเช่าอาคารโรงพยาบาลร้างมาปรับปรุงใหม่ให้เป็น ‘สถาบันเทคโนโลยีเซาท์ฮาร์มอน’ หรือ South Harmon Institute of Technology ซึ่งใช้คำย่อว่า S.H.I.T ได้พอดี!! โดยใช้เงินทุนหลักล้านดอลลาร์ซึ่งได้มาจากค่าเทอมที่นักศึกษาบ้าจี้นับร้อยคนโอนมาให้ ก่อนที่ชีวิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย (เก๊) จะเริ่มขึ้นอย่างทุลักทะเล
 
ด้วยพล็อตเรื่องเฮฮาและไม่เน้นความสมจริงสมจัง ทำให้หนังไม่ได้รับคำวิจารณ์ในแง่ดีเท่าไหร่เมื่อนำออกฉายในอเมริกา แต่ถ้าพูดถึงเรื่องรายได้ก็ถือว่าไม่เจ็บตัว ถึงอย่างนั้นหนังก็ไม่มีโอกาสได้ฉายในโรงหนังบ้านเราอยู่ดี ส่วนดีวีดีลิขสิทธิ์ที่ออกวางจำหน่ายก็ตั้งชื่อออกแนวเบาสมองว่า ‘จิ๊จ๊ะมหาวิทยาลัยรักแห้ว’ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของหนังยิ่งเบาโหวงไปกันใหญ่
 
แต่ในความไร้สาระที่เคลือบอยู่ด้านนอก พอกะเทาะปลอกออกพบว่าตัวหนังยังมีแก่นแกนที่ชัดเจน แม้จะดูพยายามจนเกินไปในหลายๆ ฉาก แต่ก็เป็นการตั้งคำถามตรงไปตรงมาชวนให้คิดต่ออยู่ใช่น้อย
 
ไม่ว่าจะเป็นฉากที่บาร์เทิลบีเปิดโอกาสให้นักศึกษาของ S.H.I.T ช่วยกันเสนอหลักสูตรที่แต่ละคนอยากเรียนขึ้นมาแทนที่การ ‘กำหนดหลักสูตร’ ซึ่งยึดตามแนวทางการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาในแบบแผนดั้งเดิม ซึ่งมีกรอบชัดเจนว่านักศึกษามีสิทธิ์เลือกได้เฉพาะสิ่งที่ทางสถาบันเสนอให้เท่านั้น ทว่าไม่มีสิทธิ์เรียกร้องหลักสูตรหรือแนวทางที่แตกต่างออกไป
 
รวมถึงฉากที่บาร์เทิลบีต้องไปชี้แจงหลักสูตรการเรียนรู้ของ S.H.I.T ในฐานะ ‘ผู้ก่อตั้งสถาบันฯ’ ต่อหน้าคณะกรรมาธิการพิจารณามาตรฐานสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการรับรองคุณภาพและวิทยฐานะของสถาบันการศึกษาตัวจริง นำไปสู่การปะทะคารมว่าอะไรกันแน่ที่จำเป็นและยั่งยืนต่อการดำรงชีวิตมากกว่า ระหว่าง‘การศึกษา’ กับ ‘การเรียนรู้’ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลากหลายแนวทาง และไม่มีใครเป็นผู้ผูกขาดองค์ความรู้อยู่ฝ่ายเดียว
 
00000
 
หากประเด็นที่ Accepted วิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดเจนที่สุดก็คือความคับแคบของระบบการศึกษาที่ปฏิเสธความแตกต่างหลากหลายทางวิธีคิดเรื่องการเรียนรู้ และกระบวนการ ‘คัดทิ้ง’ ที่ไม่ต่างจากการประทับตรา (ผิดๆ) ว่าผู้ที่ไม่ผ่านมาตรฐานการคัดเลือกนั้น ‘บกพร่อง’ หรือ ‘ด้อยคุณภาพ’
 

"ในความคิดคำนึงถึงระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นเพียงความสามารถหรือคุณสมบัติเฉพาะด้านเช่นนี้จะต่างอะไรจากระบบสายพานการผลิตผลไม้กระป๋องซึ่งเน้นที่การคัดเลือ 'ผลโตๆ' เป็นหลัก...ผลไม้ลูกเล็กที่ขนาดเล็ก 'ต่ำกว่ามาตรฐาน' ย่อมถูกคัดทิ้งและนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอย่างอื่นโดยไม่ได้รับการพิจารณาหรือคำนึงถึงคุณสมบัติภายในอื่นๆ เช่น ความหวาน ความสด หรือความอร่อย แม้แต่นิดเดียว"

 
ขณะที่ในหนัง-บาร์เทิลบีมองว่าบรรดานักศึกษา S.H.I.T ไม่ได้รับการ ‘ยอมรับ’ จากสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นเพราะพวกเขาถูก ‘พิพากษา’ ไปแล้วว่าเป็นพวกขี้แพ้ไม่เอาไหน และเป็นพวกที่ถูก ‘คัดทิ้ง’ จากที่อื่น แต่นักศึกษาของ S.H.I.T ทั้งหมดก็ไม่เคยคิดที่จะหยุดเรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขายังไม่รู้...  
 
ประโยคยืดยาวของบาร์เทิลบีในฉากนี้คล้ายจะเป็นแถลงการณ์ของผู้กำกับสตีฟ พิงค์ อดีตนักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับการบริการชุมชนอยู่พักใหญ่ก่อนจะผันตัวสู่แวดวงบันเทิง แต่ถ้าใครจะมองว่าหนังเรื่องนี้ทำขึ้นเพื่อตอบสนองจินตนาการที่ไม่มีวันเป็นจริงของพวกขี้แพ้ซึ่งอยากตอบโต้ระบบที่ตัวเองไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วม...ก็ย่อมทำได้อีกเช่นกัน
 
แต่ในชีวิตจริงซึ่งทางแก้ปัญหาไม่ได้มีแค่ ก ข ค ง หรือข้อ 1 2 3 4 บางทีการมองต่างมุมเรื่องการเรียนรู้อาจช่วยเตือนสติได้ว่าโลกยังมีอะไรที่มากกว่าและกว้างกว่าการวัดผลคะแนนสอบจากกระดาษคำตอบที่มีตัวเลือกให้เลือกแค่ไม่กี่ข้อ…

 

Charlie Wilson's War : ความตายของชายผู้ปลดปล่อยปีศาจร้าย

 


 
 
 
ซาเสียวเอี้ย
 
‘ชาร์ลี วิลสัน’ ตายแล้ว...
 
แม้การตายของเขาจะไม่ได้ทำให้โลกสะท้านสะเทือนอะไรมากนัก แต่ก็มีความหมายสลักสำคัญมิใช่น้อย เพราะบทบาทของวิลสันในสมัยที่เขายังหนุ่มแน่นและดำรงตำแหน่ง สว.รัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา เป็นประเด็นให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ถกเถียงกันไม่สิ้นสุดว่าควรจะจดจำเขาไว้ในฐานะอะไร...
 
บ้างก็ว่า ชาร์ลี วิลสัน คือ ‘นักการเมืองเจ้าสำราญ’ เจ้าของฉายา Good Time Charlie ผู้มีชีวิตโลดโผนเต็มไปด้วยสีสัน หรือเป็น ‘วีรบุรุษชาวอเมริกัน’ ผู้ช่วยให้นักรบมูจาฮิดีนขับไล่กองทัพสหภาพโซเวียตอันโหดร้ายป่าเถื่อนไปจากอัฟกานิสถาน ขณะที่บางคนมองเขาเป็นผู้จุดชนวนสงครามในต่างแดน และเป็นผู้ปลดปล่อย‘ปีศาจร้าย’ ให้หลุดออกสู่โลกยุคหลังสงครามเย็น...
 
00000
 
แต่ที่แน่ๆ.....ช่วงชีวิตหนึ่งของชาร์ลี วิลสัน ถูกถ่ายถอดออกมาเป็นหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง Charlie Wilson’s War ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2550 และเป็นผลงานล่าสุดของผู้กำกับไมค์ นิโคลส์ (The Graduate, Birdcage, Closer) พูดถึงปฏิบัติการลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ความสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แก่นักรบชาวอัฟกันที่ต่อต้านการบุกเข้ายึดครองของกองทัพสหภาพโซเวียตระหว่างปี 2522-2533 (ค.ศ.1979-1992)
 
หนังเข้าฉายในบ้านเราอย่างเงียบๆ ไม่ได้มีกระแสอะไรหนุนส่งให้โด่งดังตามสื่อต่างๆ มากนัก แต่หนังก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลบนเวทีออสการ์ปี 2551 หลายสาขาด้วยกัน แถมยังได้นักแสดงนำที่มีภาพลักษณ์ดีอย่าง ‘ทอม แฮงค์’ มารับบท ‘ชาร์ลี วิลสัน’ ตามด้วย ‘จูเลีย โรเบิร์ตส์’ รับบท ‘โจแอนน์ แฮร์ริ่ง’ สาวสังคมอนุรักษ์นิยมซึ่งมีตัวตนจริงอีกเช่นกัน และเป็นคนสำคัญอีกคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการลับในสงครามอัฟกานิสถานครั้งที่ 1
 
เมื่อชาร์ลี วิลสัน ‘ตัวจริง’ เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2553 ที่ผ่านมา ก็เป็นโอกาสให้ใครหลายคนได้ทบทวนประวัติศาสตร์กันอีกรอบผ่านการอ่านคำอุทิศและข่าวคราวการเสียชีวิตของวิลสันตามสื่อต่างๆ ทางฝั่งอเมริกาและยุโรป และหนัง Charlie Wilson’s War ก็ถูกหยิบยกมาวิพากษ์ใหม่ด้วย
 
เนื้อหนังบอกเล่าเรื่องราวการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง และการต่อสู้ของอุดมการณ์ต่างขั้วระหว่างเสรีนิยม-อนุรักษ์นิยมในดินแดนเสรีประชาธิปไตยนามว่า ‘สหรัฐอเมริกา’ และแนวทางการพลีชีพปกป้องมาตุภูมิของบรรดานักรบมูจาฮีดินที่ต่อสู้เพื่อดินแดนอัฟกานิสถาน แต่ที่ถูกขุดคุ้ยลึกลงไปกว่านั้นคือการชี้เป้าว่าบทบาทของสหรัฐฯ ที่เข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในประเทศต่างๆ นั้นส่งผล (หายนะ?) อย่างไร
 
ในความทรงจำเลือนลางยุคสงครามเย็น ‘สหภาพโซเวียต’ เคยเป็นเสาหลักในโลกคอมมิวนิสต์ คอยคัดง้างกับมหาอำนาจในโลกทุนนิยมอย่างสหรัฐฯ ซึ่งหวาดผวาว่ากองทัพแดงของบรรดาสหายทั้งหลายจะยึดกุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกจนคุกคามเสถียรภาพของ (ทุนนิยม) ประชาธิปไตยให้สั่นคลอน ผู้นำรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคนั้นจึงพยายาม ‘เตะตัดขา’ ปิดกั้นหนทางแพร่ระบาดของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุกวิถีทาง
 
ไม่ว่าจะเป็นยุคอดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ หรือยุคของโรนัลด์ เรแกน รัฐบาลของผู้นำทั้งสองล้วนให้ความสนใจกับการรุกคืบของโซเวียตเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ จึงได้มีการออกคำสั่งอย่างลับๆ ภายในรัฐบาลสหรัฐฯ ให้หน่วยข่าวกรองและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับตาดูความเคลื่อนไหวในอัฟกานิสถานให้ดี
 
เมื่อโซเวียตเคลื่อนกองทัพเข้าสู่อัฟกานิสถานเพื่อบุกเข้ายึดครองเบ็ดเสร็จ และจัดตั้ง ‘รัฐบาลหุ่นเชิด’ ของประธานาธิบดีบาบรุค คาร์มาล ขึ้นครองประเทศในปี 2523 ทำให้ชาร์ลี วิลสัน ซึ่งมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพลี้ภัยชาวอัฟกันบริเวณชายแดนปากีสถาน เกิดความตั้งใจแรงกล้าที่จะช่วยชาวอัฟกัน ‘ขับไล่’ กองทัพโซเวียตออกไป
 
วิลสันกลายเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการต่อรอง จัดสรร และใช้วิธีตุกติกต่างๆ โน้มน้าวให้รัฐบาลยอมอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือประชาชนในอัฟกานิสถาน และได้ความสนับสนุนจากสาวสังคมคนดังในฮุสตันอย่าง ‘โจแอนน์ แฮร์ริง’ เป็นตัวกลางแนะนำให้รู้จักกับคนดังในแวดวงต่างๆ เพื่อช่วยต่อยอดภารกิจช่วยเหลือชาวอัฟกันให้สำเร็จเสร็จสิ้น
 
แต่ผู้วางแผนปฏิบัติการที่สำคัญอีกคนหนึ่งคือ ‘กัสต์ อะฟราโคโทส’ เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองที่ได้รับฉายา Mr.Dirty ในฐานะผู้ผลักดันให้ ‘ปฏิบัติการไซโคลน’ เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งในหนังได้ ‘ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟแมน’ เจ้าของรางวัลนักแสดงนำชายจากเรื่อง Capote มารับบทบาทนี้
 
00000
 
ปฏิบัติการไซโคลนถูกอ้างถึงในรายงานด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นปฏิบัติการลับครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกา และใช้เงินไปกว่าหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองกำลังนักรบมูจาฮีดินซึ่งต่อต้านโซเวียต และทำสงครามในนามของพระเจ้าเพื่อนำอัฟกานิสถานไปสู่หนทางการเป็นรัฐอิสลามเต็มรูปแบบ
 
อาจเป็นไปได้ว่าในยุคที่สหรัฐอเมริกากำลังต่อสู้กับโซเวียตซึ่งไม่เชื่อมั่นศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า การให้ความสนับสนุนแก่กลุ่มนักรบซึ่งประกาศตัวว่ายอมอุทิศตนเพื่อศาสนา คงเป็นเรื่องซึ่งยอมรับได้ง่ายกว่าสำหรับคนในประเทศที่พิมพ์ข้อความลงไปในธนบัตรว่า “In God We Trust”
 
เรื่องราวในหนังทำให้เรามองเห็นการสู้รบแบบกองโจรของกลุ่มมูจาฮีดิน สลับกับวิธีเจรจาต่อรองหลอกล่อแบบนอกกรอบของวิลสัน ไม่ว่าจะเป็นการพานักเต้นระบำหน้าท้องไปร่วมวงคุยกับผู้นำการเมืองเพราะหวังเบี่ยงเบนความสนใจ หรือการโน้มน้าวให้พ่อค้าอาวุธชาวยิวยอมขายของให้กับชาวมุสลิมที่เป็นปฏิปักษ์กันมานาน และการยื่นหมูยื่นแมวกับเพื่อน สว.ให้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนอนุมัติงบช่วยเหลือชาวอัฟกัน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่วิลสันจะลงคะแนนคัดค้านการตรวจสอบพฤติกรรมทุจริตของอีกฝ่ายแทน
 
เราจึงได้เห็นการหลับตาข้างเดียว ทำเป็นลืมๆ เรื่องการตรวจสอบ-ถ่วงดุลย์-คานอำนาจ เพื่อให้เกิดการสมประโยชน์ทางการเมือง และเอ่ยอ้างว่าจำเป็นต้องยอมเบนหลักการเพื่อมุ่งสู่ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งในหนังเป็นการเอ่ยถึง ‘อิสรภาพ’ ของชาวอัฟกัน แม้ว่ามันจะนำไปสู่การต่อสู้ถึงเลือดถึงเนื้อยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่ปี 2526-2533 และทำให้ชาวอัฟกันหลายแสนคนต้องอพยพบ้านแตกไปทั่วโลก
 
ขณะที่ช่วงท้ายๆ ของหนัง (และความเป็นจริงช่วงท้ายๆ ของเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต) ได้ตีแผ่ความจอมปลอมของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สั่งตัดงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาชาวอัฟกันทิ้งทันทีที่โซเวียตยอมถอนทหารออกไปจากดินแดนอัฟกานิสถาน ไม่เว้นแม้แต่งบประมาณสร้างโรงเรียนหรือฟื้นฟูระบบการศึกษาทั้งที่วิลสันและอะฟราโคโทสพยายามต่อรองโน้มน้าวคนในรัฐบาลทุกวิถีทางแล้วเช่นกัน
 
ชาร์ลี วิลสัน จึงรำพึงรำพันในตอนท้ายของหนังว่า “เราทำทุกอย่างพังในตอนจบ” เพราะแทนที่จะสานต่อภารกิจให้ลุล่วงด้วยการเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างกลุ่มกองกำลังต่างๆ เพื่อหาข้อตกลงแนวทางสันติภาพที่จะนำไปสู่การก่อตั้งรัฐบาลหรือการวางรูปแบบการปกครองที่ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม รัฐบาลสหรัฐฯ กลับตีจากและไม่สนใจที่จะเข้าไปดูดำดูดีอะไรอีก เพราะเป้าหมายหลักในการกำจัดศัตรูตัวฉกาจอย่างโซเวียตถือว่าสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว
 
ชะตากรรมของชาวอัฟกันที่ต้องดิ้นรนกันต่อท่ามกลางเศษซากสงคราม ทำให้กองกำลังติดอาวุธ (ที่ได้มาจากสหรัฐฯ) ตั้งตัวเป็นกลุ่มอำนาจต่างๆ และแย่งชิงการเป็นผู้นำ ขณะที่กองกำลังตาลีบันและโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอัล-เคดา ซึ่งกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐอเมริกายุคหลังสหัสวรรษก็เริ่มก่อร่างสร้างแนวร่วมในช่วงเวลาเดียวกันนี้...ที่ดินแดนอัฟกานิสถาน...
 
00000
 
สงครามของชาร์ลี วิลสัน ในหนังของไมค์ นิโคลส์ จบลงตรงที่ ส.ว.ชาร์ลี เป็นพลเรือนคนแรกที่ได้ขึ้นรับเหรียญเกียรติยศจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันให้สงครามอัฟกานิสถานยุติลง แต่เมื่อวิลสันตัวจริงเสียชีวิตลง บทบรรณาธิการของนิตยสารไทม์สในลอนดอนกลับกล่าวถึงบทบาทของวิลสันในฐานะที่เป็น ‘ผู้ปลดปล่อยปีศาจร้าย’ ซึ่งกำลังหลอกหลอนกองทัพสหรัฐฯ และกองทัพพันธมิตรอย่างหนักจนต้องประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายมาจนถึง ณ ปัจจุบันขณะ
 
เช่นเดียวกับที่จำนวนทหารอเมริกันและทหารของกองกำลังนาโตถูกส่งไปรบใน‘สงครามอัฟกานิสถาน’ (รอบใหม่) มีจำนวนมากกว่า 150,000 นาย ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา
 
หากวิลสันเป็นผู้ปลดปล่อยปีศาจร้าย.... มีใครอีกบ้างที่ควรทบทวนบทบาทในฐานะผู้หลอเลี้ยงให้ปีศาจยังดำรงความเกลียดชังอยู่ได้ด้วยนโยบายการเมืองและต่างประเทศที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลเพียงอย่างเดียว?
 

 

Air Doll: a very "human" story ความว่างเปล่าในตัวเราทุกคน

themadmon

หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น บทสะท้อนย้อนคิดหลังจากการชมภาพยนตร์เรื่อง Air Doll ผมในฐานะที่เป็นผู้เขียนจงใจจะหยิบเลือกประเด็น (ซึ่งผ่านการตีความของผม) โดยไม่ได้อ้างอิงอย่างชัดเจนไปสู่ตัวภาพยนตร์ในแต่ละฉากแต่ละตอน โดยหวังว่าผู้ที่ยังไม่ได้ชมภาพยนตร์ก็สามารถอ่านได้ และผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์แล้วจะสามารถระลึกถึงฉากต่างๆ ในภาพยนตร์ได้ด้วยเช่นกัน

 

 

หากลองพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ในสามประโยค  ผมคงพูดสั้นๆ ว่า..
“ผู้คนหลากหลาย เราต่างก็ว่างเปล่า และเหงามากมาย”
 

เพราะอะไรน่ะหรือ  เพราะผมเข้าใจว่า.. 

..ในสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนต่างก็แตกกระเจิงกระจัดกระจายกันไปคนละทิศละทางแม้จะอยู่ร่วมในพื้นที่เดียวกัน มันคงเป็นภาพที่ฉายให้เห็นของลักษณะการเคลื่อนตัวของความคิดและการดำรงอยู่แบบปัจเจกบุคคล ในแง่หนึ่งมันสร้างอิสระ มันอาจเป็นอิสระที่จะล่องลอยและโบยบินไปไหนต่อไหน อิสรภาพนั้นอาจเป็นสภาวะที่แสนจะสวยงามเหลือเกิน แต่ในความอิสระบางครั้งมันก็เบาหวิว มันอาจเบาหวิวเกินจะทานทนเช่นกัน ปัจเจกบุคคลและความโดดเดี่ยวจึงเป็นของคู่กัน พร้อมๆ กับที่อิสรภาพและความเหงาก็คงเป็นของคู่กันเช่นกัน แต่เมื่อมันล้วนแต่บางเบามันจึงไม่มีความเศร้าและความเหงาที่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับที่ไม่มีความเห็นหรืองานเขียนใดสมบูรณ์แบบ 

บางครั้งเรามองสิ่งต่างๆ ในลักษณะของการ  “แทนที่” เพื่อหวังจะทดแทนสิ่งที่เคยมี แต่แท้ที่จริงมันไม่มีอะไรแทนที่อะไรได้อย่างสมบูรณ์ มันคงมีเพียงความคล้ายบางอย่างที่เราหลงว่าต่างแทนที่กันได้ ในความเหงาเราอาจหาบางสิ่งบางอย่างมาเติมเต็ม แต่มิใช่หรอกหรือว่ามันไม่มีอะไรที่เติมเต็มได้ การเติมให้เต็มเป็นดังสภาวะที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริงในตอนสุดท้าย การพยายามเติมให้เต็มเป็นกระบวนการอันไม่รู้จบต่างหาก เพราะในท้ายที่สุด มันไม่เคยมีสิ่งใดสมบูรณ์ในกระบวนการเหล่านั้น เรามักหลงละเมอเพ้อพกเพ้อฝันกันไปเองทั้งนั้นว่ามีอะไรบางอย่างเข้ามาเติมความว่างเปล่าให้เต็มได้ และสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งย้ำเตือนให้เรารู้ว่าเราต่างก็ผิดพลาดอยู่เสมอๆ ความขาดไม่มีวันจะเหือดหายไป เพราะเราต่างก็ขาดอะไรบางอย่างอยู่เสมอ  

แต่ก็ใช่ว่ามันจะสิ้นหวังไปทั้งหมดเพราะคงกล่าวได้ว่าความหมายมันเกิดขึ้นในกระบวนการเติมเต็มนั้น ในระหว่างที่เราพยายามจะเติมให้เต็ม โดยหวังว่ามันจะเต็ม แม้มันจะไม่มีทางเต็ม แต่มันก็ทำให้เรามีความหมายขึ้นมา แม้เพียงในบางขณะก็ตาม มันจึงไม่มีอะไรไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง แต่มันก็ไม่มีอะไรที่สวยงามสมบูรณ์  

จนกว่าเราจะมองมันอย่างให้คุณค่า ความดี ความไม่ดี ความสุข ความเศร้า ความเหงา ความโดดเดี่ยว ความเจ็บปวด ต่างๆ นานา ราวกับว่ามันจะเป็นขั้นตอนภายหลัง แต่เราก็ทำให้มันเกิดขึ้นเป็นจริงอย่างพร้อมๆ กัน หากเพียงเราทำความเข้าใจขั้นตอนเหล่านี้อย่างชะลอเลื่อนเวลา แม้เราจะไม่สามารถชะงักการเดินของเวลาได้จริงก็ตาม แต่มิใช่หรือว่า เวลาก็เป็นเพียงแค่สิ่งที่เราให้ความหมายลงไปกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่เราจะทำความเข้าใจมันผ่านสิ่งที่เราเรียกกันว่าเวลา การทำความเข้าใจอย่างละเอียดละออ มันคงทำให้เราสะท้อนย้อนคิดถึงสิ่งต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และเมื่อถึงตอนนั้นเราอาจเห็นว่าเราต่างก็สร้างความหมายให้กับสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา 

และเมื่อมองย้อนหลังกลับไปเราคงพบได้ไม่ยากว่าชีวิตนั้นช่างว่างเปล่า เพราะความหมายต่างๆ ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ภายใน แต่ความหมายของชีวิตอาจอยู่กับสิ่งเกี่ยวเนื่อง อยู่กับสิ่งรายล้อม ที่ประกอบและแฝงฝังให้ตัวตนเกิดความหมายขึ้นมาได้ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แม้เราจะโดดเดี่ยวเพียงไรก็ตาม

 

 
..ในหลายๆครั้ง ไม่เพียงแต่ตัวเอง แต่เราอาจพบว่าเราให้ความหมายแก่สิ่งต่างๆ และผู้คนที่เรารู้จักพบเจอด้วย และในหลายๆ ครั้งเราก็อาจให้ความหมายแก่สิ่งต่างๆ นั้นเพียงแค่ในแง่มุมของสิ่งที่เขาหรือเธอเหล่านั้น “ทำ” หรือพูดให้กลายเป็นสิ่งของมากไปกว่านั้นคือ “ใช้งาน” อะไรบางอย่างได้ และมันไม่ใช่แค่เพียง “ใช้” ได้ แต่ในชีวิตในโลกทุนนิยมอุตสาหกรรมภายใต้วิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ของทุกชิ้นหรือคนทุกคนต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ มันจึงเป็นสิ่งที่ “ใช้ได้” เราจึงต่างก็กลายเป็นเพียงแค่แรงงานที่สามารถสร้างความหมายให้กับชีวิตได้เพียงแค่จากงานที่ทำ หากผลิตภาพลดลง สร้างรายได้ได้น้อยลง (หรือทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น) ฯลฯ เราก็คงกลายเป็นแค่ชิ้นส่วนที่เสื่อมค่า พร้อมที่จะถูกเขี่ยทิ้งไปจากสายพาน เพื่อเปิดทางให้สิ่งใหม่หรือคนใหม่ๆ เข้ามาแทนที่อยู่ทุกอึดใจ 

ดังนั้นเมื่อเรามองสิ่งต่างๆ เพียงแค่หน้าที่  เราจึงควานหาสิ่งแทนที่ที่เราคิดว่ามันน่าจะดีกว่าสิ่งเดิมอยู่เสมอๆ เพราะเรามองสิ่งต่างๆ เพียงแง่เดียวคือในแง่ของหน้าที่การทำงานหรือเปล่าเราจึงลดทอนกันและกัน ลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็นแต่เพียงความสัมพันธ์ของหน้าที่ที่ทำให้แก่กัน นี่หรือเปล่าที่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราทำร้ายกัน บางทีเราอาจรู้ตัวแต่บางทีก็ไม่ แต่ในเรื่องราวเหล่านั้นเราต่างก็กัดกินกันไปตลอดเวลา ทำให้ใครต่อใครรอบกายเหงาและโดดเดี่ยวท่ามกลางการอยู่ร่วมกันตลอดเวลาเช่นกัน 

ในความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ใครหลายคนอาจเรียกว่าความรัก  แต่ละคนก็คงมีจินตภาพถึงความสัมพันธ์และความรักที่แตกต่างออกไป ใครหลายคนคงมองแต่เพียงการมีหน้าที่บางอย่างของความสัมพันธ์และคู่สัมพันธ์ คู่รักของเธอหรือเขาอาจกลายเป็นแต่เพียงผู้ทำหน้าที่บางอย่าง เคยหรือไม่ที่เราลดทอนอีกคนหนึ่งให้กลายเป็นแต่เพียงหน้าที่บางหน้าที่ และก็พร้อมที่จะเขี่ยสิ่งเดิมๆ ทิ้งไปเมื่อพบสิ่งใหม่ที่คาดว่าจะทำหน้าที่ได้ดีกว่า ความสัมพันธ์และความรักในแง่มุมหนึ่งมันก็กลายเป็นแต่เพียงรูปแบบของการผลิต ที่เราพร้อมจะเปลี่ยนปัจจัยการผลิตที่เราคิดกันไปเองว่ามันน่าจะดีกว่าเพื่อมาแทนที่เพื่อให้ได้ผลิตภาพมากขึ้น  

และหากจะพูดเลยไปกว่านั้นสักนิดหนึ่ง หากในกระบวนการผลิตเราสามารถคิดคำนวณต้นทุนกำไรได้อย่างละเอียดลึก ซึ้งเห็นเป็นขั้นเป็นตอนเป็นฉากๆ แต่ในความคุ้มค่าของความสัมพันธ์หรือความรักนั้น เราเคยคิดคำนวณได้อย่างถูกต้องด้วยหรือ  เราจะแน่ใจได้มากน้อยแค่ไหนว่าอะไรบ้างที่จะเป็นตัวแปรในสมการ อะไรจะถ่วงน้ำหนักมากน้อยเพียงไร หรือเพราะสิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่จะมาคิดคำนวณกันได้ และเมื่อไรก็ตามที่เราพยายามชั่งน้ำหนักถูกผิดตรงนี้ มันอาจผิดตั้งแต่ต้นแล้วก็ได้ และในความเข้าใจกันอย่างผิดๆ หรือเข้าใจเพียงแต่ในแง่มุมของตัวเอง มันอาจทำให้เราทำร้ายกัน ทั้งโดยรู้ตัว โดยที่ไม่ทันจะรู้ตัว และโดยไม่รู้ตัว 

ขณะที่ในความสัมพันธ์และกิจกรรมทางเพศ  อวัยวะเพศชายที่สามารถแข็งชูชัน อวัยวะเพศหญิงที่ยืดขยายและมีน้ำหล่อลื่น  หรืออาจหมายถึงรูทวาร (ไม่ว่าจะของใครเพศใดก็ตาม) คงเป็น “หน้าที่” ในทำนองเดียวกัน การมีสมรรถภาพหรือความสามารถในการร่วมเพศ จึงเป็นทั้งวิถีทางและเป็นเป้าหมาย (หรือความสำเร็จและการรักษา/ยืนยันความสำเร็จ) ในตัวเอง ในชีวิตทางเพศการสามารถ/ความสามารถในการร่วมเพศคงเป็นความหมายสำคัญและคงเปรียบได้ดังกิจกรรมที่ให้ความหมายของชีวิต การไม่สามารถร่วมเพศได้ หรือสมรรถภาพที่ด้อยลงไป คงเปรียบได้กับความป่วยไข้ในชีวิตและการเดินทางสู่ความตายด้วยเส้นทางที่เจ็บป่วยและเจ็บปวด หากความหมายของชีวิตขึ้นอยู่กับการทำงาน ชีวิตทางเพศก็คงขึ้นอยู่กับการทำงานทางเพศอันหมายถึงความสามารถในการร่วมเพศได้ 

ไม่เพียงแต่ชีวิตการทำงานหรือในความสัมพันธ์ แต่ชีวิตของคนเราก็คงดำเนินไปในท่วงทำนองคล้ายๆ กัน เมื่อความตายซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยแน่นอนว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่มันก็แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคนนั้นเป็นดังปลายทางของชีวิต ในการเดินทางไปสู่ความตายเราต่างค่อยๆ เสื่อมสลายไปตามเส้นทางนั้น หรือพูดอีกอย่างก็คือตั้งแต่เราถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกเราก็กำลังใกล้ความตายเข้าไปเรื่อยๆ วันเกิดและวันคล้ายวันเกิดในปีต่อๆ มามันจึงเป็นทั้งการระลึกถึงจุด เริ่มต้นและบอกเราว่าเราเดินทางมาถึงจุดไหนๆ ในหนทางที่เรียกว่าชีวิต การเฉลิมฉลองการเกิด/วันเกิดอย่างใหญ่โตมันคงเป็นทั้งความสวยงามและความน่ารังเกียจ วันเกิดจึงเป็นทั้งวันแห่งความสุขและวันแห่งความน่าสะอิดสะเอียน ในทางหนึ่งวันเกิด/วันคล้ายวันเกิดคงเปรียบได้กับการเตือนถึงสังขาร ที่เปลี่ยนแปรไปตามเวลา แต่ในอีกทางหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันมันคือสารที่พยายามจะบอกว่าเรากำลังใกล้เดินทางไปสู่ความตายมากขึ้นเรื่อยๆ 

ในแง่นี้ความตายจึงสวยงาม หรือพูดอีกแบบหนึ่งเราอาจมองได้ว่าความตายนั้นช่างสวยงามเพราะความตายอาจเปรียบกับการปลดปล่อยตัวตนที่ว่างกลวงไร้ความหมายในตัวเอง ปลดปล่อยชีวิตที่ความหมายของชีวิตต้องขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น/คนอื่นอยู่ตลอดเวลา ปัจเจกบุคคลสมบูรณ์แบบไม่อาจเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กับที่สัตว์สังคมสมบูรณ์แบบก็ไม่อาจมีอยู่จริง โครงสร้างสังคมอาจกำหนดเราแต่มันก็ไม่มีทางกำหนดได้สมบูรณ์ เราต่างสร้างและเสริมกันอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับที่เราต่างก็กัดกินกรีดเฉือนกันอยู่ตลอด เราจึงทั้งเหงาและเศร้าไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน แต่เราก็มีอิสระไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน ชีวิตและความตายอาจเป็นด้านตรงข้ามของกันและกัน แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน 

แต่บางทีชีวิตไม่ได้มีแค่ความหมายในเรื่องของความหมาย แต่มันยังมีชีวิตที่เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตัวเป็นตน มันคือความหมายในอีกแบบอีกลักษณะ เพราะคนเรามี “หัวใจ” ไม่ใช่แค่ในด้านความรู้สึก แต่คือหัวใจเป็นก้อนๆ ที่เต้นตุบๆ อยู่ในทรวงอก คอยสูบฉีดให้ชีวิตในแต่ละชั่วขณะ และมากไปกว่านั้นคือมันไม่ใช่แค่หัวใจ แต่ต้องมีลมหายใจหรืออากาศด้วยที่ทำให้คนเรามีชีวิตดำรงตนและดำเนินไป ลมหายใจและหัวใจเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถสร้างความหมายให้กับชีวิตไปได้เรื่อยๆ และความหมายของชีวิตก็ล้วนต่อเติมหรือเป็นแรงผลักดันให้เรายังคง หายใจ สองด้านของความหมายของชีวิตดำเนินไปด้วยกัน มันจึงไม่ใช่แค่ชีวิตแต่เป็นชีวิตชีวาด้วยหากการขาดอากาศหายใจทำให้เราไม่สามารถมีชีวิตต่อไป การขาดกิจกรรมที่ให้ความหมายมันก็คงเปรียบได้กับการตายในทางสังคม 

แม้ภาพยนตร์เรื่อง Air Doll ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการสวมใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปในสิ่งของ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ฉายภาพด้านกลับให้เราเห็นว่าเราก็ต่างทำให้ผู้คนกลายไปเป็นสิ่งของด้วยกันทั้งนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นแต่เพียงเรื่องราวของตุ๊กตายางที่มีชีวิตขึ้นมา แต่ใช่หรือไม่ว่าในหลายๆ ครั้งเราก็อาจเคยทำให้คนที่มีชีวิตและเลือดเนื้อกลายไปเป็นเพียงแค่ตุ๊กตายางเป่าลมเช่นกัน ถึงกระนั้น คงมิอาจปฏิเสธว่าชีวิตเราท่านทั้งหลายก็ดำเนินไปในแบบนั้น 

 

 

ป.ล. ในทำนองเดียวกัน ข้อเขียนชิ้นนี้ก็คงหนีไม่พ้นการลดทอนให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นเพียง “สิ่ง” ที่ใช้ถูกอธิบาย และผมในฐานะผู้กระทำการเขียนก็คงถูกประเมินในกรอบของความสามารถในการถ่ายทอด ความหมายของผมในฐานะผู้เขียนข้อเขียนชิ้นนี้ก็ทั้งถูกให้และถูกลดทอนภายใต้ข้อเขียนชิ้นนี้เฉกเช่นเดียวกัน เพราะในท้ายที่สุด ไม่ว่าผม หรือคุณ หรือใคร ข้อเขียนชิ้นนี้หรือข้อเขียนชิ้นไหนๆ รวมไปถึงภาพยนตร์เรื่องนี้และภาพยนตร์ทั้งหมดทั้งมวล เมื่อถูกหยิบมาพูดหรือเขียน มันก็ถูกหยิบเลือก ฉวยฉุด ยื้อยุด ทั้งหมดทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ต่อคำถามเรื่องในการดำเนินชีวิตไปในโลกว่าเราจะหลีกหนี “หน้าที่” และ “การแทนที่” ไปได้หรือไม่อย่างไร คงเป็นคำถามที่เราท่านคงต้องขบคิดกันต่อไป หรือกระทั่งว่าจะหลีกหนีไปเพื่ออะไรก็คงเป็นคำถามสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

 

ขงจื๊อ (Confucius) : แดนมังกรในอาภรณ์สีคราม

 


บริวารเงา

 

ขงจื๊อ เป็นชื่อหนึ่งที่ผมได้ยินมาเนิ่นนาน ถ้าจำไม่ผิดอาจจะเป็นหนังจีนกำลังภายในสักเรื่องหนึ่งที่อ้างชื่อนี้ขึ้นมาเพื่อพูดถึงปรัชญาในเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร ผมมารู้จักเขาอีกครั้งในห้องสมุดช่วงที่กำลังสนใจพวกวิชาปรัชญา จิตวิทยา วรรณกรรม ฯลฯ  แต่ผมกลับไปชอบปรมาจารย์จีนอีกคนคือ เล่าจื๊อ เสียมากกว่า เพราะว่าแกมีความคิดที่ 'แนว' ดี (อารมณ์ของวัยรุ่นเช่นนี้แล) อีกนัยหนึ่งก็ดูเพี้ยน ๆ อีกนัยหนึ่งก็มีอารมณ์ศิลปินกว่าขงจื๊อ

ขณะที่ผมเห็นว่าขงจื๊อเอาแต่พร่ำบ่นอะไรที่เป็นหลักจริยธรรมน่าเบื่อ ๆ ซึ่งความน่าเบื่อนี้ไม่ใช่ความผิดของขงจื๊อเสียทีเดียว แต่เป็นเพราะหลักจริยธรรมทั้งหลายเหล่านี้มันถูกกรอกหูอยู่ทุกวันในชั้นเรียน และในสื่อต่าง ๆ จน 'วัยรุ่นเซ็ง' ในโลกความจริงที่พวกเขาพบเจอมันไม่เห็นมีอะไรงดงาม ๆ อย่างที่พร่ำสอนไว้เลย

ชีวิตผมดำเนินต่อมาเรื่อย ๆ ผ่านพ้นอะไรมาหลายอย่าง ผาดโผนบ้างน่าเบื่อบ้างเหมือนชีวิตหลาย ๆ คน พบเจอชื่อใหม่ ๆ ที่ผมต้องไปค้นในห้องสมุดหรือตามอินเตอร์เน็ตจนแทบจะลืมชื่อขงจื๊อไปแล้ว มาพบชื่อเขาอีกครั้งจากป้ายโฆษณาภาพยนตร์ในห้างจนความสงสัยผมพุ่งพรวดว่าคนที่มีแนวคิดน่าเบื่อขนาดนี้ถูกนำมาสร้างเป็นหนังได้ด้วยหรือ!?

ถ้าให้พูดแบบแฟร์ ๆ หน่อยล่ะก็ ขงจื๊อเป็นคนที่มีอิทธิพลทางความคิด จิตใจ ของชาวเอเชียตะวันออกอยู่มากที่เดียว โดยต้องนับรวมไปถึงชาวเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในที่อื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องการนับถือบรรพบุรุษ เรื่องการนับถืออาวุโส เรื่องการรู้จักหน้าที่ของตนเอง ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านี้สืบทอดมาทั้งในรูปแบบของคำสอน พิธีกรรม และวิถีปฏิบัติ ที่คาดว่าชาวไทยเชื่อสายจีนทั้งหลายคงคุ้นเคยกันดี

ผมไม่ค่อยแปลกใจนักที่รู้ว่าผู้สนับสนุนรายใหญ่ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กำลังเป็นมังกรผงาดในทางเศรษฐกิจโลก และกำลังพยายามประกาศตนให้โลกรู้ด้วยศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นอกจากภาพยนตร์ของจางอี้โหมว พิธีเปิดกิฬาโอลิมปิก และภาพยนตร์มังกรสร้างชาติแล้ว จีนแผ่นดินใหญ่ยังเคยพยายามสร้างขบวนการ 5 สี แข่งกับญี่ปุ่นมาแล้ว แต่งานโปรดักชั่นนี้ยังไม่ถึงขั้นของญี่ปุ่นแน่ ๆ ล่ะ

ตัดเรื่องขบวนการ 5 สี ออกไป งานภาพยนตร์โรงใหญ่ของจีนนี้คงไม่ต้องบอกก็รู้ว่ามาพร้อมกับความอลังการณ์แน่นอน คอภาพยนตร์แนวเดียวกันคงจำ "Hero" กันได้ ซึ่งนอกจากเรื่องความอลังการณ์ จังหวะการเล่าเรื่องบางช่วงแล้ว เรื่อง ขงจื๊อ ก็มีการ 'เล่น' กับโทนสีเช่นเดียวกับ Hero เหมือนกัน (ซึ่งไว้จะพูดถึงต่อไป)

แน่ะ ๆๆๆ ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนพอได้ยินว่ามันเป็นเรื่องจีนแผ่นดินใหญ่เข้าคงพากันสงสัยแน่ ๆ ว่ามันจะเป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่ออีกหรือไม่ ตัวผมเองรู้เต็มอกว่ามันต้องมีโฆษณาชวนเชื่อแฝงมาอยู่แล้ว แต่ผมไม่สนใจ ยังไงผมก็จะดู และอยากจะให้ลองมองกันแฟร์ ๆ กว่านี้หน่อยว่า ไม่ว่าภาพยนตร์จากชาติไหน ภาษาไหน ใครสนับสนุนมันก็มีโฆษณาชวนเชื่อทั้งนั้นแหละครับ

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอภาพชีวประวัติของขงจื๊อ หรือที่รู้จักกันในยุคสมัยนั้นว่า 'ขงฉิ่ว' ผู้ที่เกิดเมื่อ 551 ปีก่อนคริสตกาลจากชีวประวัติวัยเด็กซึ่งตัวภาพยนตร์ไม่ได้เล่า ขงฉิ่วสูญเสียพ่อซึ่งเป็นนักรบไปเมื่ออายุ 3 ปี และอาศัยอยู่กับแม่ท่ามกลางความยากจนแต่ก็สนับสนุนให้เขาได้เรียนหนังสือ โดยในเรื่องนี้เริ่มต้นเล่าในฉากที่ขงฉิ่วอยู่ในวัยผู้ใหญ่ที่รับราชการมีลูกมีเมียแล้ว

และสิ่งที่เราจะได้เห็นจากขงจื๊อฉบับภาพยนตร์ คือภาพของขงจื๊อในฐานะมนุษย์ปุถุชน มากกว่าภาพของปราชญ์ต้นแบบที่ดูเลิศเลอ ไม่เชิงว่าตัวขงจื๊อที่แสดงโดยโจวเหวินฟะ จะละทิ้งความเป็นนักอุดมคติไปทั้งหมด แต่ในช่วงครึ่งแรกที่ขงฉิ่วต้องต่อกรกับ 'กลุ่มผู้มีอำนาจ' เขาไม่ได้เอาอุดมคติลุ่น ๆ เข้าไปเสยคาง แต่มีการใช้วาทศิลป์ ใช้เล่ห์กลตบตา จนคนที่เคยซึมซับแต่คำสอนของเขามาคงนึกไม่ออกว่าจะได้เห็นขงจื๊อในภาพที่ดูเป็น 'นักการเมือง' แบบนี้ (ถึงจะเป็นเรื่องเล่าก็เถอะ)

เรื่องนี้คงเหมือนกับการที่รัฐบาลจีนนำเสนอเรื่องราวของขงจื๊ออีกครั้งนั่นแหละครับ ทั้งที่ในสมัยก่อนพรรคคอมมิวนิสท์จีนต่อต้านขงจื๊อจะเป็นจะตาย มองว่าเป็นแนวคิดแบบศักดินาบ้าง อะไรบ้าง มีการยกเลิกพิธีพรรมรำลึกถึงขงจื๊อ แต่พอถึงช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาก็ค่อยรื้อฟื้นมาอีกครั้ง และในปัจจุบันพวกสื่อบันเทิงทั้งหลายของจีนก็เริ่มตามกระแสโลกมากขึ้น การจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มันก็ต้องรู้จักหาอะไร 'จับใจ' คนด้วย จริงไหม

แต่บทเรียนอย่างหนึ่งที่จีนควรรู้ไว้คือ การแข่งขันทางธุรกิจบันเทิงนี้ผู้บริโภคเขาก็อยากมีตัวเลือกหรืออยากบริโภคอะไรที่มันดู Globalized หรือดูเป็นสิ่งที่คนอื่น ๆ ทั่วโลกเขาดูกัน ฉะนั้นการไปจำกัดโรงฉายเรื่อง Avatar เพื่อเอาเรื่องขงจื๊อมาฉายจึงถูกชาวจีนก่นด่า ต่อต้าน ทำให้เรื่องขงจื๊อเสียคะแนนไปปล่าว ๆ ปลี้ ๆ เพราะคนเกิดอคติไปก่อนเสียแล้ว

เท่าที่ผมลองสำรวจบทวิจารณ์ของชาวจีนในเน็ตมา หลายคนดูจะไม่ชอบภาพยนตร์ขงจื๊อเท่าไหร่ เช่น บล็อกเกอร์จีนที่ชื่อ Han Han เขียนวิจารณ์ไว้ในบล็อกว่าหนังเรื่องขงจื๊อไม่ได้สามารถทำให้คนดูรู้สึกซาบซึ้งกับมันได้เท่าที่โจวเหวินฟะเคยคุยไว้ (โจวเหวินฟะถึงขั้นเคยบอกเลยว่า "ถ้าดูเรื่องนี้แล้วไม่ร้องไห้ ก็ไม่ใช่คนแล้ว")

อีกบทหนึ่งที่ท้าทายการแสดงของโจวเหวินฟะมากคือบทตอนที่ขงจื๊อแกต้องเผชิญกับสภาพความขัดแย้งระหว่างแนวคิดอุดมคติของเขากับโลกของความจริง อีกฉากหนึ่งที่ผมค่อนข้างประทับใจคือฉากที่หนานจื่อ พระชายาจากแคว้นหนึ่ง ที่ตัวหนังฉายภาพเป็นหญิงร้ายคอยใช้เสน่ห์เป่าหูผู้นำ เธอได้พบกับขงจื๊อ และประชันบทบาทกันอย่างกระชั้นชิด ก่อนจะทิ้งท้าย ด้วยคำพูดที่บาดความรู้สึกอย่าง "ฉันเข้าใจความเจ็บปวดลึก ๆ ในตัวคุณ"


...และหลังจากนั้นภาพยนตร์ก็ฉายภาพ 'ความเจ็บปวด' ของ ขงจื๊อที่เขาต้องหะหกระเหิน ไปพร้อมกับเหล่าลูกศิษย์ลูกหา ภาพของขงจื๊อที่ดูรุ่งโรจน์และเป็น 'นักการเมือง' ที่ประสบความสำเร็จในช่วงแรก ๆ เริ่มกลายเป็นภาพของวีรบุรุษตกอับ (Tragic Hero) ที่ยังคงยืนยันวิถีทางความเชื่อของตนเอง และสั่งสอนผู้คนโดยไม่สนว่าจะถูกต่อต้าน

เนื้อเรื่องในช่วงหลังนี้ ผมว่าภาพยนตร์ยังสื่อออกมาไม่ได้อารมณ์เท่าช่วงแรก ๆ หลายบทหลายตอนดูไม่ปะติดปะต่อ และทำให้รู้สึกถึงความอิหลักอิเหลื่อของการพยายามอิงประวัติดั้งเดิมกับการเสริมแต่งจินตนาการที่ไม่ได้เน้นไปทางใดทางหนึ่ง จนทำให้คนที่ดูเพื่อ 'เอาประวัติ' ก็ไม่ได้ประโยชน์ คนที่ดูเพื่อความบันเทิง (เช่นผม) ก็จะไม่ได้รับรสชาติความเป็นหนังอย่างเต็มที่

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือการที่ภาพยนตร์พยายามเน้นโทนสีน้ำเงิน/คราม อย่างมากทั้งฉากและเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะฉากที่มีขงจื๊ออยู่ ถ้าว่าตามหลักศิลปะแบบซื่อ ๆ แล้ว สีน้ำเงินเป็นสิ่งที่สื่อถึงความสุขุม สติปัญญา และความสุภาพ ขณะเดียวกันก็เป็นวรรณะสีเย็น

ขณะที่ดูเรื่องนี้อยู่ก็ไพล่นึกไปถึงปราชญ์จีนอีกคนที่ชื่อเล่าจื๊อซึ่งผมได้พูดถึงตอนต้น จากหนังสือต่าง ๆ ที่ผมอ่านมารู้สึกว่าทั้งเล่าจื๊อและขงจื๊อ ต่างก็เป็นปรัชญาคนละสาย คนละขั้ว ขงจื๊อออกจะเน้นเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร เรื่องในเชิงรัฐศาสตร์และจริยศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ขณะที่เล่าจื๊อเน้นพูดถึงปรัชญาที่จับต้องไม่ค่อยได้ แต่ก็มีความหมายลึก ๆ บางคนถือว่าเล่าจื๊อเป็นนักเสรีนิยม หรือนักคิดแนวอนาธิปไตยคนแรกทีเดียว

แต่อย่างที่ขงจื๊อบอกไว้ว่า เล่าจื๊อสำหรับเขาแล้วเปรียบเหมือนมังกร ซึ่งยากจะเข้าถึงและใช่จะได้เห็นในชีวิตปกติ ผมหวังว่าจะได้เห็นฉากวิวาทะทางปรัชญาของปราชญ์สองท่านนี้อยู่เหมือนกัน ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม แต่ตัวหนังก็นำเล่าจื๊อออกมาในฉากหนึ่ง ที่แต่งด้วยเทคนิคภาพจนดูเหมือนเป็นเทพอะไรสักอย่างโผล่มาชี้แนะขงจื๊อ และขงจื๊อก็น้อมรับฟัง เราเลยอดดู 'ดราม่า' ไป

เนื้อหาของภาพยนตร์ยังสะท้อนความขัดแย้งระหว่างแคว้นต่าง ๆ  การแย่งชิงอำนาจ รวมถึงการกดขี่จากประเพณีของผู้มีอำนาจ เช่นการต้องฝังบ่าวไพร่ไปพร้อมกับนายเมื่อนายเสียชีวิต แน่นอนว่าแนวความคิดของขงจื๊อไม่ก้าวหน้าเท่ายุคปัจจุบันที่มีเรื่องของหลักการสิทธิมนุษยชน (ที่ในบ้านเรายังดูไม่ค่อยมีมาตรฐานเท่าไหร่) เรื่องรัฐสวัสดิการ (ที่ดูลม ๆ แล้ง ๆ พิกล) ฯลฯ แต่สำหรับในยุคนั้นแล้วหลาย ๆ เรื่องก็ถือว่าก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องการศึกษาที่ขงจื๊อคิดว่าทุกชนชั้นควรมีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน เรื่องการละเลิกพิธีกรรมป่าเถื่อนที่ไม่เคารพคุณค่าของมนุษย์ ฯลฯ 

และการที่ได้เห็น 'พระเอก' คนนึงต่อสู้กับ 'ผู้มีอำนาจ' อยู่ในโลกภาพยนตร์ มันก็ชวนให้เอาใจช่วยอยู่ไม่น้อย (พล็อตสูตรสำเร็จแบบนี้ ตราบใดที่มันยังตอบสนองมนุษย์ได้ มันก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป)

...แม้คำว่า 'คุณธรรม' ที่ขงจื๊อ ชอบอ้างถึง ในปัจจุบันมันจะถูกนำมาปู้ยี้ปู้ยำโดยกลุ่มที่มีอำนาจตรวจสอบคนอื่น แต่ตนเองตรวจสอบไม่ได้ก็ตาม


 

ตัวอย่างภาพยนตร์