Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

ชาน่า


“เม้าท์แตก...ชาวเรา” วางแผงแล้ววันนี้... Behind the scene of come out the closet !ออกพรรษาแล้วนะคะแต่เชื่อว่าหากหลายคนยังรักษาศีลไม่ว่าจะอยู่ในหรือออกนอกพรรษาก็จะได้กุศลอย่างใหญ่หลวง  และเป็นสุขกันถ้วนหน้าค่ะสัปดาห์นี้ ชาน่ายังอยู่เมืองไทยก่อนจะบินไปทำงานประจำที่อเมริกา และยุโรปต้นเดือนหน้า  หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในการรวมเล่ม ... “เม้าท์แตก...ชาวเรา”  จึงอยากจะเล่าเรื่องราวความเป็นมา “กว่าจะเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คออกสู่สายตามหาชน”ตอนแรกก็เกิดอาการสองจิตสองใจ ว่าจะรวมเล่มดีมั้ย ผลกระทบจะเป็นเยี่ยงไร หลากหลายความคิด  แต่สุดท้าย แรงสั่นสะเทือนและเจตนาอย่างแรงกล้านั้นได้เข้าสิงสถิตย์ในวิญญาณ  เคยทำงานประจำพอได้พักร้อน หยุดทำงานแล้วมันเกิดอาการว่างจัด   โดยเฉพาะการกลับมาพักร้อนในฤดูฝน ช่วงพรรษา ฝนตกน้ำท่วม  ออกไปไหน ทำอะไรไม่ได้มาก จึงได้ไอเดียในการเผยแพร่ เรื่องราวหลากหลาย มากมายต่างมุมมองของวิถีเกย์กล้า เกย์บ้านนา เกย์เด็กแนว(ตะเข็บชายแดน)  เกย์โกอินเตอร์ เพราะเชื่อแน่ว่า อย่างน้อยก็คงพอจะเป็นสาระ (แน) และบันเทิงผ่านตัวอักษร เป็นหนังสือสื่อสร้างสรรค์เนื้อหาบางตอนได้ตัดต่อ เพิ่มเติมเพื่อความเหมาะสมและให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์สูงสุดชาน่าลงทุนร่วมแรง ร่วมใจกับผองเพื่อน จัดทำเล่มนี้ขึ้นมาด้วยใจรัก  แม้จะได้รับกระแสหลากหลาย  ทั้งคนที่หวั่นไหว เกรง กลัว เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  เพราะเป็นเรื่องราว “แรงได้จิต” แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นบนโลกกลมๆ ใบนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนหลายเพศ (เดี๊ยนรับรอง)  มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้ใครหลายคนยอมรับ และไม่ใช่เรื่องยากที่จะผลักดัน ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ตามความต้องการของใครหลายคน"เม้าท์แตก...ชาวเรา" เป็นการรวมเล่มจากคอลัมน์ พาเม้าท์ชีวิตชาวเกย์ ในเว็บหนังสือพิมพ์ประชาไท   จีบปากจีบคอโดย เกย์(สาว)เปรี้ยว ชาน่า ผู้ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวหลากหลายมุมมองของเกย์ไทยและต่างแดน ไลฟสไตล์ วิถีเกย์กล้า  แสนฮา สุดขำ แสบสันต์ หรือเศร้า น้ำเน่าเอาเรื่อง หลากหลายสาระและความมันส์  บนพื้นฐานของชีวิตจริงที่ต้องเกี่ยวข้องกับ ชายจริง หญิงแท้ อ่านได้ทุกเพศไม่จำกัด รับรองคุณจะวางไม่ลง"“Coming out the closet!” The Gay Living Tips, Travel, and Safe Sex Experiences. 
National Book Fair 2007, Bangkok – A new pocket book called “Coming Out the Closet!” was released officially at Anit Publishing Booth on 23rd October, 2007 during the National Book Fair 2007. 

The author “Chana”, a popular columnist in http://www.prachatai.com, told the true stories of herself and her gay gangs by using fun languages and slangs which specifically use among gays. The stories are about gay life style, relationship, social & family issues, travel, and knowledge of safe sex. “Human beings should love each other without barriers in caste or genders. If we are fulfilled with love we will protect each other from their pain and save people’s lives. Because of love, we care for each other, and encourage each other when someone is down. We provide a chance for someone to go on with their lives and give our hands to support them. I wish gays would share love and compassion with each other forever.” Introduction provided by Udomprachathorn, Wat Prabath Num Phoo. “This book is the most real book I have ever! Chana - I cannot believe what stories you have and as for myself they are all Real because I was there as well! The Gay Life.... Two Thumbs UP for You!” Stefan Engl, Asst. Food & Beverage Manager, Queen Mary 2, Cunard Line The partial of sales will be donated to the charity and HIV patient at Wat Prabaht Num Phoo, Saraburi.อ่านง่าย...ถ่ายคล่อง รับรอง แสบสันต์แสนฮา เนื้อหาแรงได้จิต แต่โดน..เจ้าค่ะตัวอย่าง....สาระ(บาน)   - สารบัญ    “เม้าท์แตก...ชาวเรา"

ชวนเม้าท์...ชีวิตชาวเรา 
1. พาเม้าท์ชีวิตชาวเกย์ Gay’s talk and Lifestyle 
2. รักเอย ...ของชีวิตเกย์ What love got to 
do ! 
3. ไซเบอร์เซ็กส์ ...เอ็กซ์ผ่านจอ Cyber Sex …XXX through screen. 

ชวนเม้าท์...โลกของเรา 
4. ฟิตเนสเพื่อสุขภาพของเกย์ For healthy life .Let’s go to Gay Fitness. 
5. ซาวน่า 
ไลฟ์สไตล์ของชาวเรา Sauna… another gay lifestyle . 
6. เป็นเกย์หรือไบ จะแสดงออกดีหรือไม่ ควรบอกใครดี Coming out ? 
7. 25 ข้อดีที่แสนประเสิร์ฐของคนที่เกิดเป็นเกย์ กะเทย คุณเห็นด้วยหรือไม่ 25 advantages for being gay. 
8. Hot line สายร้อน สายด่วนของเกย์ Gay hot line…Line is getting hotter !! 
9. เกย์สาวออฟฟิศ เคยจีบใครในที่ทำงานหรือเปล่า Are gays Flirt @ work ? 
10. วิธีสังเกตุชายคนไหนที่เป็นเกย์ How to observe gay characteristics. 
11. คิดยังไงกับการมีลูกบุญธรรมของเกย์ Adopted Child by gay . 

เม้าท์หนัง...ฟังเพลง 
12. “ Brokeback Mountain “ แตกหลังเขา เราสามเพศที่เกี่ยวข้อง Brokeback mountain..the secret love ..makes me alive.! 
13. เพื่อนกูรัก(มรึง)ว่ะ Bangkok Love story is it true love ? 
14. ความรักที่เป็นเพลงความลับ กับชู้ทางใจของมัม ลาโคนิค “Secret lover” Is a secret forever ! 

เที่ยวไป...เม้าท์ไป 
15. คัมภีร์พาเที่ยวทั่วโลกของเกย์ “Gay Guide book” a gay planet . 
16. ท่องราตรี ที่กรุงเทพ ๑ one night in Bangkok 1 
17. ท่องราตรี ที่กรุงเทพ ๒ one night in 
Bangkok 2 
18. พาเที่ยวเกาะเกย์ที่ดังของโลก The gay friendly Island,Mykonos - Greece 
19. หาดเปลือย ทำไมคนชอบไปจัง Oh my gosh !... Nude Beach
20. เกย์สัญจร พาเที่ยว เวนิสเมืองที่โรแม๊นติกมากที่สุดในโลก 
The most romantic city in the world. 
21. มหึมา Gay Cruise พาท่องล่องนาวากับเรือสำราญ wow !! Homo Titanic cruise ! 

ขอเม้าท์...เตือนใจ 
22. เตือนใจ เม้าท์เตือนภัยรายวันสำหรับชาวสีม่วงและทุกเพศ Daily warning for purple chicks ! 
23. วิธีแชทอย่างไรให้ปลอดภัย Being safe for Chatters ! 
24. ใครบอกว่า ออรัลไม่ติดโรค Oral Sex may get infected . 
25. ช่องทางโกอินเตอร์ ขายเนื้อ ค้าน้ำกามข้ามชาติ Prostitute…goes inter ! 
26. พาไปรู้จักถุงยางอนามัยสิ่งที่เกย์รักสนุกต้องใช้ Condom …a tool for having fun. 
27. ป๊อบเปอร์ สิ่งเสพติดหรือแค่สารที่ทำให้เคลิ้มยามร่วมเพศ Poppers it’s drug or just arousing sex ! 
28. เตือนเพศทั้งหลายเรือนหลังสุดท้ายของผู้ป่วยเอดส์ -วัดพระบาทน้ำพุ The last resident of HIV patients.เวลาในการทำหนังสือเล่มนี้ ...วันที่ 12 ตุลาคม 50 ตัดสินใจเข้าออฟฟิศเพื่อน (บริษัท อีดีที กรุ๊ฟ เอ็กเพรส) เพื่อเปิดเป็นฐานปฎิบัติการอำนวยการ   ระดมเรียก ตีฆ้อง ร้องป่าว ชาวเพื่อนรัก ร่วมกันทำวันที่ 13 ตุลาคม 50  ได้รับคำนิยมจากท่านเจ้าคุณประชาทร วัดพระบาทน้ำพุ  ตอนเช้าเข้าสตูดิโอ  เดอะ ไฮนิส สตูดิโอ ทองหล่อ 55 ตอนเย็นเลือกรูปและออกแบบหน้าปก วันที่ 14-16 ตุลาคม 50 สามวัน สามคืน กิน นอน ทำงานในออฟฟิศ ทั้งอาร์ตเวิร์คและ จัดหน้า โดยได้ลุย (เพื่อนวงการทีวี ) มาช่วยเต็มพลัง วันที่ 17 ตุลาคม 50  ส่งต้นฉบับเข้าสู่ โรงพิมพ์ “ภาพพิมพ์”  ซึ่งมีคุณปอ ดูแลและเอาใจใส่เป็นอย่างดี   รวมทั้งได้รับอาร์ตเวิร์คหน้าปก ซึ่งมีน้องชายคนหนึ่งที่ทำรีทัชภาพชาน่า ออกมาไม่ให้หน้าชา  ขอบอกว่าคนเดียวกันที่ทำรีทัชภาพพี่มาช่าในโฆษณาล่าสุดเจ้าวันที่ 18 ตุลาคม 50  ตรวจทาน ต้นฉบับ สองสามครั้ง ไปกลับโรงพิมพ์และออฟฟิศทองหล่อวันที่ 19 -22 ตุลาคม 50  ปฎิบัติการพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊ค  ในระหว่างนั้นได้ติดต่อผับ บาร์ ต่าง ๆ เพื่อโปรโมทหนังสือ  ตอนเย็นได้รับหนังสือส่งตรงถึงออฟฟิศ และบริษัทจัดจำหน่าย โดย อนิศ ดิสทริบิวชั่น จำกัดวันที่ 23 ตุลาคม 50  ตื่นแต่เช้า เสื้อผ้า แต่งหน้าทำผม (วิกปลอม)  โดย เดอะ ไฮนิส สตูดิโอ   เที่ยงถึงบ่ายโมง ที่งานหนังสือแห่งชาติ ไปแจกลายเซ็ง .. พิมพ์ผิด ค่ะ ลายเซ็นต์ ซึ่งได้พบปะเพื่อนพ้อง น้องพี่ คนอ่านหนังสือใหม่และเก่ามากมายสรุปเบ็ดเสร็จ 10 วัน “ฉันทำได้ “  “chana she can”ด้วยเจตนารมย์ของชาน่า และเพื่อนพ้องน้องพี่ ที่ร่วมกันทำ รายได้ส่วนหนึ่งเราจะมอบให้กับการกุศลต่าง ๆตามสมควรและวัดพระบาทน้ำพุ  นั่นคือจุดประสงค์หลัก “เรารักสังคม”  เพราะไม่ได้ให้สำนักพิมพ์ไหนทำเพื่อธุรกิจการค้า หวังผลกำไร แต่สิ่งที่เราได้คือความสุข อันพึงมีที่เราอยากจะหยิบยื่นเพื่อสังคมของเราสมัยเรียนชาน่าเคยได้รับทุนการศึกษา จากสังคมตั้งแต่ยังเด็ก จนกระทั่งล่าสุดระดับปริญญาตรีเคยได้รับทุนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพ  ในรั้วรามคำแหง  จึงได้รับการปลูกฝัง ว่าหากเรามีโอกาสเราจะตอบแทนสังคมหลายครั้งหลายครา ที่ชาน่าผ่านจังหวะวิกฤติของชีวิตที่เกือบเอาตัวไม่รอด เกือบจะไม่ได้กลับมาแผ่นดินเกิด  พอการกลับมาพักร้อนปีนี้จึงได้คิดและทำในสิ่งที่ตัวเองฝัน  เพราะชีวิตของคนเรา ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น  หากมีโอกาสคิดที่จะทำอะไรก็จงทำเสียเถิด จักเกิดผล อย่างน้อยสุดแม้อะไรจะเกิดขึ้นตอนนี้ก็ถือว่า ...เราทำดีที่สุดแล้ว  
อันดับแรกต้องขอขอบพระคุณ ประชาไท เว็บไซต์ข่าวคุณภาพเพื่อสังคมและประชาชน  ที่ให้โอกาสชาน่าได้ถ่ายทอดเรื่องราว แม้บางครั้งอาจจะมีใครหลายคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการเขียน แต่ถือว่านั่นคือกำลังใจในทุกความรู้สึกที่ได้   ขอบคุณ คุณ ภู เชียงดาว ผู้ชักนำเข้าสู่วงการ และพี่ น้องผองเพื่อน ประชาไททุกคนขอขอบพระคุณทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ทุกความคิดเห็นและทุกข้อความสนับสนุนในการเขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่อนเว็บไซต์ พันทิป ประชาไท และเว็บของชาวเราทั้งหลายมากมายค่ะมากกว่าคำขอบคุณเพื่อนนักอ่าน เพื่อนใหม่ เพื่อนเก่าที่ติดตามกันมาโดยตลอด กราบขอบพระคุณ พี่ ๆ สื่อมวลชน และสื่อทีวี วิทยุ วารสาร หนังสือพิมพ์ เว็บไซด์ต่าง ๆ ที่ช่วยแนะนำหนังสือเล่มนี้ฮ่ะ
ฝากถึงทุกท่าน...หากคิดว่า หนังสือเล่มนี้...  “เม้าท์แตก...ชาวเรา”  จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ร่วมด้วยช่วยชาน่า โปรโมทเพื่อเข้าถึงกลุ่มได้อย่างทั่วถึงนะคะ  และหากผิดพลาดประการใด ชาน่าขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียวนะคะชาน่าไม่หวังอะไรมาก แค่อยากจะแปลเป็นเก้าภาษาทั่วโลก และมีใครนำเรื่องไปสร้างเป็นหนังดังระดับฮอลลี่วู๊ด   ว๊ายยยยย  ล้อเล่น ฮ่ะ ...(นี่ขนาดไม่หวังอะไรมากนะคะ)หาซื้อได้ที่ไหน...สิ้นเดือน ตุลาคมนี้ ติดตามได้ทุกร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ทั่วไทย อาทิเช่น ร้านบีทูเอส  นายอินทร์ ซีเอ็ด บุ๊คสไมล์เซเว่น อีเลฟเว่น ทุกสาขา ราคาเล่มละ 159 บาทค่า
โอ ไม้จัตวา
ฉันเป็นคนขี้ขลาด ขี้กลัว จึงสร้างเกราะกำบังด้วยภาพของผู้หญิงปากไวใจหมาไว้ป้องกันตัวเอง เพราะรู้ว่าลึกลงไปที่กลางใจนั้น ฉันกลัวเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติฉันค้นพบเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง เมื่อคราวที่คนกลุ่มหนึ่งนำพี่ของฉันไปกักตัวไว้ และฉันบังเอิญต้องติดตามไปด้วย  เพื่อความปลอดภัย เขาว่างั้น ขณะอยู่ในรถรักษาความปลอดภัยนั้น เสียงโทรศัพท์ประสานงานไปมา สติเริ่มมาแทนที่ความกลัว ปัญญาเริ่มวิ่งพล่าน กำโทรศัพท์แน่น ในความมืดฉันแอบโทรออกจากในรถหาเพื่อนร่วมบ้านซึ่งกำลังรอฉันอยู่ ฉันป้องปากกระซิบเบาที่สุดขณะเสียงที่ดังขึ้นข้างหน้า บอกเพื่อนว่า “ฟัง” แล้วซ่อนโทรศัพท์ลงต่ำ ไม่ให้แสงไฟหน้าจอลอดออกมาได้อย่างน้อย ณ เวลานั้นก็มีคนรู้ว่าฉันอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ฉันกลัวความปลอดภัยแบบนี้ หนาวเยือกเข้าไปในจิตใจเมื่อคิดว่าเสร็จศึกแล้วเขาจะเป็นฝ่ายแพ้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากผู้ชนะค้นพบว่าเราอยู่ในสถานที่ของผู้แพ้ฉันกลัวเมื่อรถถูกทุบกระจก คนทุบรถถืออิฐจังก้าเขวี้ยงเข้าไปที่หน้ารถ ชี้หน้าด่าว่าฉันจอดรถกีดขวางหน้าบ้านเขา ทำให้เขาเลี้ยวเข้าบ้านไม่ได้ เขาเมา ทำให้ทุกอย่างดูน่ากลัวมากขึ้น จำได้ว่าเดินไปบอกพี่ว่า รถโดนทุบ พี่หันมามองเฉยแล้วบอกว่า ก็แจ้งความสิ เรียกตำรวจมา แล้วหันไปคุยกับลูกค้าต่อ ฉันอึ้ง งง แล้วทำตามอย่างว่าง่าย จากนั้นก็เป็นเรื่องของกฎหมาย  สถานีตำรวจยามดึก การเจรจาต่อรองของคนที่ก้าวร้าวรุนแรงต่อฉันสักครู่  เขายืนกุมเป้าอยู่ที่หน้าสถานีตำรวจอย่างหวาดกลัว แล้วปล่อยให้ภรรยาตัวเองมาต่อรองค่าเสียหายกับฉันฉันกลัวการทำร้ายร่างกาย กลัวเจ็บ กลัวการบังคับ ข่มขู่ ทำให้เจ็บ ทำให้อาย ที่สำคัญคือกลัวการสูญสิ้นอิสรภาพ  นั่นนำพาให้ต้องหลีกเลี่ยงการทำสิ่งผิดกฎหมายทั้งปวง เริ่มตั้งแต่ขี่มอเตอร์ไซด์ต้องใส่หมวกกันน็อคความกลัวหลายอย่างเกิดขึ้นก่อนอารมณ์อื่น ๆ ที่ตามมาเมื่อตั้งสติได้แล้ว สมาธิ และปัญญากลับมาแล้ว ฉันเริ่มกลับเข้าสู่เส้นทางของเหตุผล กฎเกณฑ์  และกฎหมาย ในหนังสือสนทนากับพระเจ้า แปลโดย รวิวาร มีตอนหนึ่งถามฉันว่า เธอจะอยู่ด้วยความรักหรือความกลัว คำเดียวแต่ชี้นำความคิด และวิถีชีวิตอีกยาวไกล มันบอกหนทางภายภาคหน้า เส้นทางของหัวใจ แน่นอนฉันย่อมเลือกการอยู่ด้วยความรัก ฉันรักการถ่ายภาพ รักโลก ทำให้สายตาของฉันมองเห็นสิ่งที่ฉันอยากเห็น  ผู้ปกครองบ้านเมืองบอกว่าบริหารบ้านเมืองด้วยความรัก  รักชาติ รักประชาชน รักพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่การกระทำหลายอย่างบ่งบอกว่าออกมาจากความกลัว  เช่น กลัวความยากจน จึงต้องสร้างความร่ำรวย แล้วบอกว่าจะแก้ปัญหาความยากจนซึ่งไม่แน่นักว่าแก้ให้ใครข้าราชการหลายคนจำนองบ้านและที่ดินนำเงินไปซุกไว้ใต้โต๊ะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เพื่อให้ได้มาซึ่งระดับขั้นและตำแหน่งที่สูงขึ้น  ด้วยเหตุผลว่า มันเป็นระบบถ้าเราไม่ทำคนอื่นก็ทำ ลูกน้องก็ทำ และสักวันหนึ่งลูกน้องก็จะแซงหน้าตนขึ้นไป เงินหนึ่งล้านบาทสำหรับผู้นำในระดับเล็ก ๆ ของสังคม เงินหลักแสนในระดับเล็กลงมา “ปีเดียวก็คืนทุน”  หรือ “น้ำท่วมครั้งเดียวก็คืนทุน”  น้องคนหนึ่งถูกคุกคามจากคนที่เคยร่วมงานด้วย  ประสบการณ์และวัยทำให้เธอหวั่นไหว แม้หัวใจเธอบอกว่าไม่กลัว แต่เมื่อพบข้อความที่เต็มไปด้วยเหี้ยห่าและสารพัดสัตว์ที่เขาส่งก็อดเครียดไม่ได้  ความกลัวเหมือนยาลดกำลังใจ ขณะความรักเหมือนยาให้กำลังใจ ในเวลาวิกฤติของเพื่อนมิตร ฉันไม่รีรอที่จะเอ่ยคำว่า ฉันเป็นห่วง และให้กำลังใจ เพราะไม่มีสิ่งใดจริงแท้และทรงพลังมากเท่ากับกำลังจากหัวใจของตัวเอง แต่การให้กำลังใจจากคนรอบข้าง บางเวลาก็เหมือนจุดประกายถ่านที่กำลังจะมอดดับให้ลุกโพลงขึ้นมาสู้กับปัญหาได้เช่นกัน ฉันบอกน้องไปว่าอย่ากลัว ถ้าเรากลัว สิ่งแรกที่จะทำร้ายเราคือความกลัว  ถ้าเธอกลัวคนรอบข้าง พ่อ แม่ พี่ ก็จะกลัวกับเธอ โชคดีที่พ่อและแม่ของเธอมีวุฒิภาวะและมีหัวใจที่เข้มแข็งอยู่ข้างกายลูกตลอดเวลา เมื่อมีปัญหาวิกฤติอย่างน้อยหัวใจที่อบอุ่นก็นำพาเส้นทางที่อบอุ่นมาให้ ฉันให้น้องดูตัวแม่ของเธอซึ่งมีชีวิตอยู่ด้วยความรัก  เธอรักโลก รักผู้คน รักธรรมชาติ  ทำให้การกระทำที่ออกมานั้นออกมาด้วยความรัก แม้แต่การแสดงออกทางการเมืองก็ยังออกมาจากความรักบ้านเมือง ไม่ใช่ความกลัวว่าผู้ปกครองจะโกงกิน เมื่อรักโลก โลกก็รักเรา สิ่งที่แม่ของเธอกลัวคืออะไรรู้ไหม ฉันถามน้อง เธอไม่รู้สิ่งที่แม่กลัวที่สุดก็คือความกลัวของเธอ นั่นคือประโยคสุดท้ายที่ฉันกลั่นออกมาจากหัวใจ และทำให้เธอ “พลันคิดได้” ก้าวเดินออกจากเส้นทางเดิมด้วยหัวใจที่แข็งแรงมากขึ้น 
ช้องนาง วิพุธานุพงษ์
A Lawyer will do anything to win a case, sometimes he will even tell the truth.Patrick Murray ครั้งที่แล้วเล่าถึงกระบวนการกว่าจะมาเป็นทนายในประเทศเกาหลีใต้ไปแล้วคราวนี้ลองมาดูในประเทศอื่นกันบ้างนะคะในประเทศเยอรมันนี ซึ่งใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) เหมือนกับบ้านเรา (อันที่จริงต้องบอกว่าเราไปเหมือนเขาต่างหาก) หลังจบชั้นมัธยม เด็กนักเรียนในเยอรมันสามารถเลือกเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ นี่เป็นข้อดีที่เห็นได้ชัดที่สุดประการหนึ่งของระบบการศึกษาเยอรมันนอกจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแล้ว อีกประการหนึ่งที่เด็กไทยน่าจะชอบก็คือ การเรียนกฎหมายในเยอรมันสามารถจัดตารางเรียนได้เอง และไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องเข้าห้องเรียนด้วยดูเหมือนจะง่ายๆ อย่างนี้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว กว่าจะเป็นทนายในเยอรมันได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยการเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยที่เยอรมันใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี แต่ก่อนที่จะออกว่าความเป็นทนายได้เต็มตัว นักเรียนกฎหมายในเยอรมันต้องผ่านกระบวนการสอบที่สำคัญสองขั้นตอนที่เรียกว่า First State Exam และ Second State Exam รวมถึงการฝึกงานต่างๆ คิดเป็นระยะเวลาในการเรียนและการสอบทั้งสิ้นประมาณ 6-7 ปีFirst State Exam เป็นการทดสอบครั้งแรกหลังจากจบมหาวิทยาลัย เงื่อนไขการมีสิทธิสอบ First State Exam ง่ายๆ มีอยู่ว่า ระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัย นักเรียนกฎหมายทุกคนต้องผ่านการสอบข้อเขียนครั้งใหญ่ก่อนสองครั้ง ต้องเขียนรายงานหนึ่งฉบับความยาวประมาณ 35 หน้า ประกอบกับพรีเซนเตชั่นในชั้นเรียนความยาวประมาณ 25 นาที รวมถึงสอบปากเปล่าในสาขาวิชาที่ตัวเองสนใจอีกหนึ่งครั้ง และมีระยะเวลาฝึกงานในสองสาขาวิชากฎหมายที่แตกต่างโดยไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงอีก 12 สัปดาห์ ทั้งหมดนี้คิดเป็นส่วนหนึ่ง หรือประมาณ 30% ของคะแนนสอบ First State Exam ทั้งหมด  หลังผ่านบททดสอบข้างต้นเรียบร้อยแล้ว นักศึกษาจึงจะมีสิทธิเข้าสอบ First State Exam โดยเป็นการสอบข้อเขียนในวิชากฎหมายแพ่ง 3 ครั้ง ครั้งละห้าชั่วโมง, วิชากฎหมายมหาชน 1 ครั้ง และกฎหมายอาญาอีก 1 ครั้ง แล้วยังต้องสอบปากเปล่าในสามสาขาวิชานี้รวมกันอีกครั้งหนึ่งด้วย ทั้งหมดนี้คือคะแนนในส่วน 70% ที่เหลือหลังหลุดรอดจากการสอบ First State Exam มาได้ ต่อไปก็มาถึงการสอบ Second State Examก่อนมีสิทธิสอบ Second State Exam นักศึกษาทุกคนต้องผ่านการฝึกงานในสถาบันกฎหมายเสียก่อนเป็นระยะเวลาสองปีโดยได้รับเบี้ยเลี้ยง อาจเป็นหน่วยงานของรัฐ ศาล อัยการ หรือสำนักงานทนายความก็ได้การสอบ Second State Exam จะเป็นตัวชี้วัดว่า นักศึกษาคนนั้นจะได้ประกอบวิชาชีพอะไร โดยผู้ที่ทำคะแนนได้สูงสุด จำนวนประมาณ 1% ของผู้เข้าสอบทั้งหมด จะได้เป็น Notary* ส่วนผู้ที่ทำคะแนนได้ในลำดับรองลงมาอีก 15% จะเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ ส่วนที่เหลืออีก 85% ก็จะเป็นทนายความ มีสิทธิว่าความได้ตามระเบียบมาตรฐานข้อสอบ รวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆในการทดสอบทางกฎหมายครั้งสำคัญทั้งสองครั้งนี้ อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานของรัฐที่ชื่อว่า “Landesjustizpruefungsamt”ชื่อยาวๆ อย่างนี้ พยายามยังไงก็อ่านไม่ออกค่ะ... แต่แปลเป็นไทยได้ง่ายๆ ว่า “หน่วยงานของรัฐสำหรับการทดสอบทางกฎหมาย” นั่นเอง* Notary Public ผู้มีอำนาจทำคำรับรองทั้งในทางข้อเท็จจริงและทางกฎหมาย เช่น รับรองความถูกต้องของลายมือชื่อ รับรองสำเนาเอกสาร คำพยาน บันทึกคำให้การที่ต้องมีการสาบาน หรือเอกสารอื่นๆ   ในบางประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) โนตารีพับลิคอาจมีอำนาจในการรับรองนิติกรรมด้วย โนตารีในยุโรปมีความสำคัญมาก เพราะสามารถมีอำนาจเทียบเท่าศาลในบางเรื่อง และยังเป็นเจ้าพนักงานของรัฐในการเก็บเอกสารสำคัญต่างๆ  กฎหมายโนตารีพับลิกมีใช้ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิตาลี ออสเตรเลีย ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับโนตารี แต่สภาทนายความฯ ได้มีความพยายามจัดให้มีบริการในลักษณะเดียวกันที่เรียกว่า Notarial Services Attorney
แพ็ท โรเจ้อร์
ผู้เขียนได้รับเชิญจากหน่วยงานหนึ่งให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษเมื่อไม่นานมานี้  รู้สึกหัวเสียกับคุณภาพของผู้เข้าประกวดเป็นอย่างมาก เพราะว่าไม่มีคุณภาพในระดับที่เรียกว่าใช้ได้เลย ปัญหานอกเหนือจากความสามารถทางภาษาอังกฤษทั่วไปแล้ว  เรื่องของเนื้อความซึ่งไม่ว่าในภาษาใดก็ตามต้องมีโครงสร้าง การผูกเรื่อง และคุณค่าทางวาทวิทยาในตัวเอง น่าเสียดายที่เมืองไทยไม่มีการสอนการวิเคราะห์วาทะอย่างเป็นแก่นสาร หากมีก็แค่การมองแบบการใช้ภาษาไทยธรรมดา หรือการใช้ภาษาอังกฤษธรรมดา ไม่มีการส่งเสริมอย่างแท้จริงในสิ่งที่เรียกว่า speech criticism/rhetorical criticism 1 การวิเคราะห์และวิพากษ์วาทะอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเก็บกดทางอารมณ์หรือการเลี่ยงความขัดแย้ง เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องใดๆก็ตามในสังคมไทย ถือเป็นเรื่องที่อาจทำให้หมางใจกันได้ ทั้งที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้น อาจทำให้เกิดการริเริ่มบางอย่างที่ดีๆได้ แต่ส่วนมากแล้วในสังคมไทย วัฒนธรรมการวิพากษ์ไม่มีเนื่องจากต้องการเลี่ยงความขัดแย้ง ทำให้การวิพากษ์เป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องการทำลายมิตรและสร้างศัตรูไปโดยปริยาย เพราะคนที่โดนวิจารณ์ไม่สามารถรับคำวิจารณ์ได้ และคนวิจารณ์ก็ไม่มีทักษะในการวิจารณ์ หรือเรียกว่าวิจารณ์ไม่เป็นเรื่องของการวิจารณ์ในสายตาฝรั่งนั้น ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป วิถีการวิจารณ์ต้องอยู่บนพื้นฐานของการหวังดีของทุกฝ่าย โดยปรารถนาที่จะให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนั้นๆให้ดีขึ้นกระจ่างขึ้น แต่ไม่ใช่ใช้อารมณ์หรือความเป็นตัวตนมากเกินไป ดังนั้นผู้รู้หลายคนจึงพยายามช่วยสร้างกรอบในการวิจารณ์ขึ้น เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ความแม่นยำ ความชัดเจน และความเป็นมาตรฐานในระดับหนึ่งของการวิจารณ์  ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงว่าจะกำจัดความเป็นอัตตวิสัยนออกไปหมด เพราะว่าการวิพากษ์ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นตัวตนของผู้วิจารณ์เสียทีเดียว การที่คนแต่ละคนต่างเกิดมาแตกต่างกัน มีระบบการกล่อมเกลาเลี้ยงดูต่างกัน ความแตกต่างนี้แหละที่ทำให้เกิดความแปลกใหม่ในเรื่องติชม ดังนั้น มุมมองที่แตกต่างและมีการนำเสนอผ่านศิลปะการวิจารณ์นี่แหละที่ทำให้มนุษย์ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์  แต่ไม่ใช่ไสยศาสตร์เพราะเรียนมาทางด้านวาทวิทยา เน้นกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement Rhetoric) มาตั้งแต่ตอนเด็กๆ อายุ 21 ทำให้มองอะไรเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น ตอนแรกก็เรียนไม่รู้เรื่องเลย เปิดฉากมาก็เรียนวิธีพูดในที่สาธารณะก่อนสองวิชา แล้วก็มาเรียน ทฤษฎีวาทวิทยา ที่เน้นตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ จนถึงปัจจุบัน และ มองไปถึงการวิเคราะห์วาทะแบบมุมมองสังคมยุคหลังสมัยใหม่ ที่ต้องมองแบบสวนกระแสหรือรื้อสร้าง  จนกลับไปสอนที่สหรัฐฯอีก ทำให้มองโลกแตกต่างออกไปไปเรื่อยๆ สิ่งที่สังคมอเมริกันสอนได้มากอย่างหนึ่ง คือสอนให้มีการคิดที่อิสระและยอมรับคำวิจารณ์ที่ไม่มีอคติจนเกินไปได้วันนั้นผู้เขียนยอมรับว่าดีใจที่มีเด็กไทยสามารถแสดงออกได้ทางภาษาอังกฤษอย่างไม่เก้อเขิน แต่สิ่งที่ไม่สบายใจคือ กระบวนการในการสร้างเนื้อหาที่ไม่แข็งแรงเท่าที่ควรจะเป็น น่าเสียดายที่ผู้ชมหลายคนมองแค่ว่าเด็กอายุเท่านี้ได้เท่านี้ และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้จบประโยค และมีหลายประโยคมารวมๆกัน อันนี้ก็ต้องมองว่าน่าจะมีการพัฒนาต่อไป ซึ่งถ้าเรามองว่าแค่นี้น่าพอใจแล้ว ก็คงไม่น่าจะคาดหวังได้มากนักว่าในเวลาต่อไปเยาวชนของเราจะสู้อะไรกับกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ เพราะคิดไม่เป็น คิดไม่ได้ เพราะฝรั่งในวัยเดียวกันนี่เค้าไปไหนๆกันหมดแล้ว อันนี้ห้ามพูดว่าเพราะเป็นภาษาอังกฤษเลยแสดงออกไม่ได้ คงไม่ใช่ผู้เขียนมีอาการปากคันที่จะเสนอความเห็นต่อผู้เข้าประกวดในวันนั้น แต่เพราะมีธุระจึงต้องออกจากงานไปก่อนหลังจากที่รวบรวมคะแนนให้ผู้ดำเนินรายการเสร็จ อีกทั้งก็ไม่ได้รับการบอกเล่าว่าจะต้องให้ความเห็นต่อผู้เข้าประกวดแต่อย่างไร  เสียดายเหมือนกันที่จะชี้แนะบางอย่าง แต่ก็กลัวว่าจะเป็นการสร้างศัตรูโดยใช่เหตุเช่นกัน วัฒนธรรมการวิพากษ์ วิเคราะห์ และวิจารณ์ จึงเป็นเหมือนของใหม่ในสังคมไทยไปเรื่อยๆ  เป็นสิ่งยากที่จะเลิกการปฏิบัติเช่นนี้ เพราะหากใครแหกคอกขึ้นมา ผู้นั้นก็จะอยู่ในสังคมนี้อย่างลำบาก คงเป็นปัญหาในสังคมอย่างหนึ่งที่เราๆท่านๆต้องจัดการกันต่อไป อย่างไม่มีวันสิ้นสุด1สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ - http://www-relg-studies.scu.edu/facstaff/murphy/courses/exegesis/rhetorical.htm - http://www.rhetoricalens.info/index.cfm?fuseaction=feature.display&feature_id=3 - http://slatin2.cwrl.utexas.edu/~roberts-miller/rhetanalysis.htm - http://www.writingcentre.ubc.ca/workshop/tools/rhet1.htm - http://en.wikipedia.org/wiki/Rhetoric - http://www.rhetorica.net/textbook/index.htm
มูน
จับเจ่ารอรถอยู่ที่สถานีขนส่งเมืองอุบลฯ ลมปลายเดือนตุลาคมพัดมาในช่วงค่ำทำให้ต้องนั่งกอดอก กำลังเกือบสัปหงกเมื่อรู้สึกเหมือนมีใครบางคนมายืนเกือบชิดหัวเข่าโงหัวขึ้นเจอกับดวงตากลมใสคู่หนึ่ง กำลังจ้องมองฉันอยู่อย่างคาดหวังเรามองตากันอยู่เงียบๆ ฉันพินิจลักษณะของเธอแล้วเดาว่า น่าจะกำลังเป็นแม่ลูกอ่อน ด้วยว่าเต้านมที่หย่อนยานนั้นดูอวบเต่ง แต่รูปร่างที่ผอมเกร็งก็บอกว่า อาการการกินคงไม่บริบูรณ์เท่าไร อาจจะถึงขั้นขาดแคลนเสียด้วยซ้ำ “หิวเหรอจ๊ะ” ฉันถามเบาๆ ไม่มีเสียงจากเธอ แต่มีคำตอบอยู่ในแววตาละห้อยคู่นั้นฉันเหลียวซ้ายแลขวาไปทั่วท่ารถที่ค่อนข้างเงียบเหงา รถโดยสารที่แล่นระหว่างอำเภอหมดไปนานแล้ว ไม่กี่คนที่เหลืออยู่กำลังรอรถอุบล-กรุงเทพฯ เที่ยวสุดท้าย เห็นแสงไฟสว่างอยู่ห่างออกไปตรงป้ายที่เขียนว่า ห้องน้ำ 3 บาท “เดี๋ยวมานะ” ฉันบอกเธอแล้วลุกเดินไปดู หวังว่าจะมีขนมปังหรืออะไรที่เธอพอจะกินได้บ้างหน้าห้องน้ำเป็นแผงขายหนังสือพิมพ์ มีหนังสือนิยายเล่มละสิบบาทกองอยู่บนชั้น กับหนังสือเรื่องย่อละครโทรทัศน์ที่กำลังฉายอยู่ 4-5 เรื่อง มีตู้แช่ใส่น้ำอัดลมกับเครื่องดื่มชูกำลัง และมะม่วงดองอีก 2-3 ถุง ใกล้กันมีแผงเล็กๆ ที่เดาว่ากลางวันอาจจะขายขนมอื่นๆ แต่ตอนนี้ว่างเปล่าหันกลับไปมอง เธอยังยืนอยู่ที่เดิมและมองตรงมาที่ฉันอย่างไม่วางตาเดินกลับมาค้นเป้ใบมอมๆ ที่แบกมาตั้งแต่สุพรรณฯ ยันอำนาจเจริญ พอถึงอุบลราชธานีมันก็ยับเยินใกล้หมดสภาพ นอกจากสมุด หนังสือ เทปบันทึกเสียง กับเสื้อผ้าเลอะๆ ที่ยังไม่ได้ซักแล้ว ก็มีแต่ยากับผ้าพันแผล และขวดที่มีน้ำเหลืออยู่ไม่กี่อึก“ทำไงดีล่ะ” ฉันบ่นกับตัวเอง เห็นเธอขยับตัวอย่างตื่นเต้นเล็กน้อย คงหวังว่าฉันจะยื่นอะไรให้ แต่พอฉันส่ายหน้า บอกว่า “ไม่มีอะไรเลยจ้ะ” เธอก็หน้าสลดหลังจากยืนอยู่จนแน่ใจว่าไม่ได้อะไรแล้ว เธอจึงค่อยๆ เดินเกร่ไปแถวๆ ถังขยะใบใหญ่ที่สูงกว่าตัวเธอมาก มีถุงขนมปลิวอยู่ที่พื้นใบหนึ่ง เธอใช้เท้าเขี่ยๆ ดู พอเห็นเป็นถุงเปล่าก็เดินข้ามไป ฉันภาวนาขออย่าให้เธอคุ้ยขยะ เพราะกลัวว่าเธอจะถูกใครๆ รังเกียจ แต่อีกใจกลับหวังแทนเธอว่า จะมีใครทิ้งถุงไก่ย่างหรือข้าวผัดที่กินไม่หมดไว้บ้างไม่รู้ว่าคำภาวนาของใครได้ผล รถซาเล้งคันหนึ่งเข้ามาจอดใกล้ๆ ห้องน้ำ เป็นรถขายลูกชิ้นปิ้ง มีหลอดไฟเล็กๆ ติดไว้ดวงหนึ่งพอให้มองเห็นลูกชิ้นในถาด คนขายเป็นชายหนุ่มผิวคล้ำ มีผ้าขาวม้าพาดคอ เขากวาดตามองปริมาณคนที่รอรถอยู่ด้วยสีหน้าเหน็ดเหนื่อยฉันรีบลุกไปสั่งลูกชิ้นสี่ไม้ ตาโรยๆ ของเขาดูมีประกายขึ้นนิดหน่อย  “ไม่ต้องอุ่นนะ” ฉันบอกเมื่อเห็นเขาเขี่ยถ่านใกล้มอดในเตาแล้ววางลูกชิ้นลงบนตะแกรงปิ้ง“ไม่ต้องรีบหรอกคุณ รถเที่ยวท้ายยังไม่มาง่ายหรอก” เขาพูดเนือยๆ“ไม่ดีกว่า เดี๋ยวร้อนเกินไป อ๊ะ ไม่ต้องจิ้มค่ะ” ฉันรีบบอกก่อนที่เขาจะจุ่มลูกชิ้นลงในโถน้ำจิ้มถือถุงลูกชิ้นไปหาเธอที่ยังเดินวนอยู่รอบๆ ถังขยะ ยังไม่ทันเรียก เธอก็หันขวับมาหาราวกับจะรู้ ฉันพาเธอไปนั่งหลังเสาต้นใหญ่ ไม่อยากให้คนขายลูกชิ้นเห็น เธอจ้องมือของฉันที่รูดลูกชิ้นออกจากไม้ ตัวสั่นด้วยความหิวและตื่นเต้น ลูกชิ้นสี่ไม้หมดในพริบตา แต่เธอคงยังไม่อิ่ม หรือไม่ก็หิวมากยิ่งขึ้น เพราะเธอเอาแต่จ้องมองถุงเปล่าในมือของฉันและเลียริมฝีปากไม่หยุด ฉันจึงลุกไปหาคนขายลูกชิ้นอีกครั้ง“ลูกชิ้นอีกสี่ไม้ค่ะ ไม่ต้องอุ่น แล้วก็ไม่ใส่น้ำจิ้ม”คนขายมองถุงเปล่าที่ฉันถือติดมือไปด้วย หน้าคล้ำเฉยของเขาไม่แสดงอารมณ์ใดๆ หยิบลูกชิ้นใส่ถุงตามสั่ง แต่จู่ๆ เขาก็หยุดมือ แล้วถามขึ้นว่า “เอาไปให้หมาใช่มั้ย” ฉันสะดุ้ง อ้าว เห็นด้วยแฮะ ไม่พอใจหรือเปล่าเนี่ย“ใช่แล้ว ก็มันหิวนี่นา สงสารมันน่ะ คงจะไม่ได้กินอะไรเลย เมื่อกี้มันกินเร็วจนดูไม่ทัน สงสัยมันไม่อิ่ม เลยต้องมาซื้ออีก” ฉันรีบอธิบายยืดยาว ไม่อยากให้เขาเข้าใจว่าลูกชิ้นคุณภาพแย่จนฉันต้องเอาไปให้หมาแต่ทันใดนั้น เขาก็ยิ้ม เป็นยิ้มใสๆ ที่ทำให้หน้าดำคล้ำนั้นสว่างขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ“รู้มั้ย มันเป็นหมาแม่ลูกอ่อนนะ” เขาบอก “มันหิวบ่อยเพราะลูกมันดูดนม” ท่าทางเขาเหมือนผู้ใหญ่ที่ตั้งใจจะอธิบายอะไรสักอย่างกับเด็ก ทั้งที่เขาคงอายุน้อยกว่าฉันหลายปี“ใครเอามันมาทิ้งท่ารถก็ไม่รู้ มันออกลูกอยู่ตรงโน้นแน่ะ” เขาชี้ไปแถวๆ ริมกำแพงอีกฟากหนึ่งของสถานีขนส่ง ฉันมองตามมือเขา เห็นแต่เงาตะคุ่มๆ ของพุ่มไม้ “ลูกมันมีสามตัว ตัวเล็กๆ ทั้งนั้น วันไหนผมมาขายแถวนี้ ผมให้มันกินลูกชิ้นทุกทีแหละ ทีละไม้สองไม้ เห็นมันแล้วคิดถึงหมาที่บ้าน”“แล้วบ้านพ่อค้าอยู่ไหนล่ะคะ” ฉันถาม“บ้านผมไม่อยู่นี่ ผมคนบ้านโป่ง ราชบุรี ผมมาหางานทำ” เขายื่นถุงให้ฉัน ในนั้นมีลูกชิ้นห้าไม้ ฉันกำลังจะอ้าปากถาม เขาก็บอกว่า“ผมแถมไม้นึง เอาให้หมา”..........แม่ลูกอ่อนกินลูกชิ้นหมดอย่างรวดเร็วอีกครั้ง เธอยืนกระดิกหางให้ฉันอยู่พักหนึ่ง จากนั้นก็วิ่งเต้านมแกว่ง ข้ามพื้นที่จอดรถของสถานีขนส่งหายไปในเงามืดของกำแพงฟากโน้น คงรีบกลับไปหาลูก พรุ่งนี้เธอจะได้กินอะไร จะอิ่มบ้างไหม หรือจะวิ่งหิวโหยต่อไป ไม่มีใครบอกได้ คนขายลูกชิ้นถีบซาเล้งจากไป พรุ่งนี้เขาจะยังขายลูกชิ้น หรือจะได้งานใหม่ หรืออาจจะเปลี่ยนใจกลับไปบ้านเกิดที่มีครอบครัวและหมาๆ รออยู่ เขาเองก็อาจจะยังตอบไม่ได้เช่นกันลมต้นฤดูหนาวพัดมาแผ่วๆ หญิงสาวคนหนึ่งนั่งพิงคนรัก มีกล่องกระดาษใบใหญ่ข้างตัว ม้านั่งปลายสถานีมีผู้ชายคนหนึ่งนอนคู้ตัวหลับอยู่ ทุกคนกำลังรอรถที่จะพาไปสู่จุดหมาย อาจเป็นปลายทางของบางคน และเป็นจุดเริ่มต้นของอีกบางคนฉันกลับมานั่งกอดเป้ใบเก่า ใจนึกถึงแม่และสมาชิกบ้านสี่ขา คิดถึงช่วงเวลาอบอุ่นของการกลับบ้าน แล้วก็คิดถึงการทำงานกับการเดินทางที่ไม่รู้จบ วันพรุ่งนี้ของแต่ละคนอาจมีความหมายไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคงเป็น “ความหวัง” ที่ทำให้เรามีกำลังใจยิ้มรับวันใหม่ที่จะมาถึง รวมทั้งเป็นเหตุผลสำคัญสำหรับการมีชีวิตอยู่
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
เพชรบุรีวางตัวอยู่อย่างน่าสนใจจากกรุงเทพฯ…ที่ว่าน่าสนใจนั่นคือ ระยะทางที่ไม่ใกล้ แต่ก็ไม่ไกลจนเกินไป แค่ชั่วเวลานั่งรถเพลินๆ ไม่เกินสองชั่วโมงก็น่าจะเข้าเขตเมืองเพชร โดยมีภาพของทุ่งนายามข้าวออกรวงสีเขียวละมุนตาและต้นตาลยืนต้นเรียงรายอยู่ปลายนา หรืออาจจะเห็นปลายจั่วแหลมๆ ของบ้านหลังคาทรงไทยหลายหลังโผล่พ้นทุ่งนาหรือรั้วบ้าน เป็นฉากทั้งหลายที่บ่งบอกว่า บัดนี้เข้าสู่ดินแดนแห่งน้ำตาลเมืองเพชรแล้วหลายวันก่อนเป็นอีกครั้งของความตั้งใจที่จะไปเยือนเพชรบุรีโดยที่ไม่ต้องมีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน มีเพียงความตั้งใจบางอย่างเกี่ยวกับบางสิ่งที่อยากไปเห็นอยากไปสัมผัสหนึ่งในปลายทางของสิ่งที่ตั้งใจในการเดินทางครั้งนี้ก็คือ การแวะเข้าไปดูหมู่บ้านไทยทรงดำหรือว่าลาวโซ่งที่อำเภอเขาย้อย อำเภอที่เป็นทางผ่านก่อนเข้าสู่ตัวเมืองเพชรที่ได้แต่เคยผ่านไปมาครั้งแล้วครั้งเล่าแต่กลับไม่เคยแวะจริงๆ จังๆ เลยสักทีอำเภอเขาย้อย ชื่อนี้เป็นชื่อเดียวกับภูเขาและถ้ำ ภาพของเขาสูงและถิ่นถ้ำจึงเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่บอกกับผู้สัญจรว่านี่คือเขตเมืองเพชร และหากใครที่ได้เคยผ่านไปมาคงเคยสังเกตว่าข้าวแกงเมืองเพชรที่ว่ามีชื่อไม่แพ้ขนมหวาน ก็มีให้ลิ้มลองเรียงรายอยู่สองข้างทางยามที่เรากำลังจะมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวจังหวัด แต่การไปครั้งนี้ไม่ได้แวะร้านข้าวแกงหรือถ้ำเขาย้อยที่เนืองแน่นไปด้วยหมู่วานร (ลิงแสม) ที่ลงมาป้วนเปี้ยนรอรับนักท่องเที่ยวอยู่แถวปากถ้ำ แต่เราแวะเข้าไปลึกกว่านั้น ในเข้าไปในเขตหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนาข้าวเขียวๆ เข้าไปตามทางสายเล็กๆ เพื่อเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ตามคำบอกเล่าที่เคยได้ยินได้ฟังมาและตามข้อมูลที่พอจะหาได้ก่อนจะมาเพชรบุรีดินแดนไทยทรงดำของตำบลเขาย้อยในปัจจุบันแทบจะไม่มีสิ่งใดที่ผิดแผกออกไปจากบ้านเรือนและชุมชนของคนไทยเชื้อสายอื่นๆ ในปัจจุบัน นอกจากอาคารภายในศูนย์วัฒนธรรมที่มีรูปร่างคล้ายกระท่อม ที่มีเสายกพื้นสูง ขนาดและรูปทรงของหลังคาที่แตกต่างออกไปจากเรือนไทยในชนบท แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างเป็นเอกลักษณ์คือรูปร่างของจั่วที่คล้ายกับกาแลของเรือนทางภาคเหนือ แต่เป็นกาแลที่ไม้ไขว้กัน ส่วนปลายของแต่ละด้วยม้วนวนเข้าหากัน ซึ่งเพียงแค่รูปแบบของสถาปัตยกรรมนี้ที่ได้เห็นก็ทำให้เรามั่นใจในความมีเอกลักษณ์ของชาวลาวโซ่ง ตามเอกสารที่มีไว้ให้หยิบอ่าน บ่งบอกประวัติของชาวไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง) ไว้ว่า “ไทยทรงดำหรือลาวโซ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองแถน แต่เดิมเป็นเมืองใหญ่ของแคว้นสิบสองจุไท ปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟู อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแผ่นดินไทยนานกว่า 200  ปี อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รัชกาลที่ รัชกาลที่ ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไปในเขตภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ที่อำเภอเขาย้อยมีประชากรมากกว่าร้อยละ 80 เป็นชาวไทยทรงดำ”ประวัติที่หยิบยกมามิได้มุ่งเน้นสิ่งอื่นหรือความเป็นอื่นในเชื้อสายความเป็นไทยทรงดำที่มีจุดกำเนิดมาจากดินแดนหนึ่งในละแวกประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเวลานานปีที่ผู้คนกลุ่มนี้ฝังตัวอยู่ในสังคมไทยและกลายเป็นคนไทยอีกชุมชนหนึ่งในที่สุด สิ่งที่หลงเหลือตกค้างทางวัฒนธรรมและศิลปะของลาวโซ่งที่ได้พบเห็นในหมู่บ้าน ณ วันนี้ก็คือรูปแบบงานทางสถาปัตยกรรม (ของตัวเรือน) และผ้าทอลายอันมีเอกลักษณ์เฉพาะและโดดเด่นไม่แพ้กัน เมื่อได้ทัศนาผ้าทอซึ่งเคยเป็นชุดแต่งกายประจำชนชาติลาวโซ่งทั้งแบบหญิงชาย (ชุดฮี สำหรับทั้งชายและหญิง ชุดฮ้างนมสำหรับผู้หญิง เสื้อสำหรับชายที่เรียกว่าเสื้อไท และเสื้อก้อมสำหรับผู้หญิง) อันเป็นลวดลายอันโดดเด่นด้วยสีแดง เหลือง เขียวหรือสีสดอื่นๆ บนผืนผ้าสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มของตัวผ้าเป็นสีพื้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเสื้อหรือกางเกง (คำว่าไทยทรงดำเองมีที่มามาจากคำว่าไทย “ซ่วง” ดำหรือกางเกงสีดำ) ผมสัมผัสได้ถึงพลังอันยิ่งใหญ่อันเปล่งประกายออกมาจากลวดลายและสีสันของผ้าทอ โดยเฉพาะชุดเสื้อผ้าโบราณอายุนับร้อยๆ ปีและเครื่องใช้จำพวกที่นอนหมอนมุ้งที่มีแสดงเอาไว้บนตัวเรือนในศูนย์วัฒนธรรมฯ แห่งนี้ ด้วยลวดลายแบบเรขาคณิตง่ายๆ ของรูปสามเหลี่ยมหรือการเดินด้ายหรือวางผ้าเป็นเส้นตรงหรือสร้างจุดตัดกันไปมา กระทั่งการสร้างสรรค์ลายภายใต้ชื่อลายง่ายๆ เช่น ลายตานกแก้ว หรือการปักลายแสนสวยลงบน ‘ผ้าเปียว’ ก็เป็นงานผ้าทอที่มีทั้งความเรียบง่ายแต่น่าทึ่งในพลังสร้างสรรค์ของคนไทยกลุ่มนี้แม้จะได้เห็นในช่วงเวลาแสนสั้นแต่ก็ผมก็เชื่อแน่ว่าคงไม่มีชาวลาวโซ่งคนไหนที่มีชีวิตอยู่ที่อำเภอเขาย้อยหรือที่อื่นๆ ในประเทศไทย ได้นำชุดเสื้อผ้า ผ้าปักและผ้าทอแสนสวยแบบที่ได้เห็นในศูนย์วัฒนธรรมฯ เอามาใช้เป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันของพวกเขา ทั้งๆ ที่แบบเสื้อผ้าก็ไม่ได้ต่างไปจากชุดสวยหรูที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์รุ่นใหม่หรือรูปแบบเสื้อผ้ายุคใหม่เท่าใดนัก การสืบต่อสืบสานและนำเสนอเรื่องราวของชีวิตไทยทรงดำให้หลงเหลือ ปรากฏ และมีพลังพอที่จะถ่ายทอดถึงความสร้างสรรค์ที่โดดเด่นให้กับผู้ที่ผ่านไปเยี่ยมชมได้ประจักษ์ ประทับใจ จนอยากที่จะเรียนรู้ให้ลึกซึ้งและเข้าถึงเรื่องราวความเป็นมาที่ก่อให้เกิดลวดลายและสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ได้ ยังคงเป็นเสมือนภาระที่หนักอึ้งสำหรับลูกหลานไทยทรงดำที่ครอบครองมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ต่อไป และผมหวังว่า “ความธรรมดาและเรียบง่าย” ในเรื่องราวของผ้าทอลายชาวลาวโซ่งคงยั่งยืนอยู่ต่อไปและมีการมองเห็นคุณค่าหรือมีการศึกษากันอย่างลึกซึ้งขึ้นต่อไป
แสงดาว ศรัทธามั่น
ดูกร... ภราดา ...  ภราดร ...  โปรดอย่าได้  ฉงนฉงายค ว า ม ห ม า ย ชี วี  เพลานี้ณ  ที่ซึ่ง  มนุษยชาติ  โ อ บ ก อ ด ป ฐ พีณ ที่ซึ่ง เวลานี้  เ ธ อ มี รั ก ป ร ะ จั ก ษ์ ใ จรั ก มิ ต้อง ฝัน ... รั ก  นั้นคือ รั ก จ ริ ง !“ ค ว า ม รั ก นั้ น ยิ่ ง ใ ห ญ่ ”เริงรำร้อง  เที่ยวท่องไปสู่จุดหมายปลายทางแห่ง   เ พ ล ง รั ก นิ รั น ด ร์ณ ที่นี่ ... ที่นั่น ... ที่โน่น! นั้นมี  รัก!เราผ่อนพักชีวา  รั ก รั ง ส ร ร ค์เ มื่ อ  วิ ญ ญ า ณ  แห่ง  รั ก  โ อ บ ก อ ด กันโ ล ก = น ร ก – ส ว ร ร ค์  เป็นฉันใด  มิ รู้ แ ล้ ว!วสันตฤดู ,  1 สิงหาคม 2550“สุดสะแนน” ,ล้านนาอิสรา , เชียงใหม่รจนา  ในวันเกิดของ “ม้า” ... นักดนตรีบรรเลงที่ “สุดสะแนน”** จากบทเพลง “รักติดปีก” ของ “จ๊อบ – บรรจบ พลอิน”พี่น้องชนเผ่า ปว่าเกอญอ(กะเหรี่ยง) ร่วมแจมบรรเลงดนตรี ณ ราตรีแห่งท้องสนามหลวง สนามราษฎร์สหายมด .. วนิดา ตันติวิทยาพิทักษณ์  คนเดือนตุลาฯผู้คงมั่น กับ “บารมี ชัยรัตน์” ซึ่งทั้งสองเป็นที่ปรึกษาของสมัชชาคนจน  ร่วมกับพี่น้องยืนบนเวที ณ ท้องสนามหลวงยามราตรี  จุดเทียนแห่งชัยให้กำลังใจพี่น้องสมัชชาคนจนพ่อแก่ – แม่แก่  และลูก หลาน แห่งสมัชชาคนจน  เดินขบวน ณ ท้องสนามหลวง – สนามราษฎร์  มาทวงหนี้จากรัฐทุกรัฐที่รุกรานรากเหง้าวิถีชีวิตของพี่น้อง –ของโลกสังคม!ประกายโชนฉานแห่งโลก เอกภพ จักรวาล
สุมาตร ภูลายยาว
สายโขงยังตัดไม่ขาด สายสวาทตัดขาดอย่างไรตัดบัวก็ยังไว้ใย ตัดน้ำใจยังมีเมตตาค่อยอิง ค่อยอาศัยกัน เอาไว้รักกันในวันข้างหน้ามาเถิด มาเถิดแก้วตา รำวงดีกว่าร่าเริงหัวใจ รำวงดีว่าร่าเริงหัวใจ....เสียงเพลงแหบพร่าลอยตามสายลมไกลออกไป จนเงียบหายไปกับโค้งขอบฟ้ากลางคืน นานครั้งชายชราจะร้องเพลง แต่บทเพลงที่ชอบร้องสม่ำเสมอคือเพลงนี้ ค่ำคืนนี้อากาศหนาวเย็นลง ชายชราจึงก่อกองไฟ เพื่อผ่อนเบาความหนาว เนิ่นนานที่กองไฟสว่างไสว แต่เมื่อฟืนที่กองสุมไว้ในตอนเย็นใกล้หมด แสงไฟก็สลัวลง เปลวไฟมีอยู่น้อยนิดเหมือนจะมอดดับลงทุกครั้งยามสายลมพัดเข้ามา พอสายลมพัดผ่านไป แสงไฟก็สว่างขึ้นมา หลังแสงไฟสว่าง แสงตะเกียงในกระท่อมก็ดับวูบลง ในกระท่อมมีเสียงกระแอมไอดังขึ้น แล้วทุกอย่างก็เดินทางไปสู่ความเงียบ...ฟ้ากลางคืน พระจันทร์แรมหนึ่งค่ำเปล่งแสงสีเหลืองนวล เงาจันทร์บนสายน้ำสั่นไหวไร้รูปทรงตามแรงไหลของสายน้ำ สายลมกลางคืนหนาวเหน็บอย่างที่เคยเป็นมาเดือนนี้ลมเหนือเริ่มพัดลงใต้เป็นสัญญาณบอกกล่าวการเปลี่ยนผ่าน ฤดูหนาวมาเยือนแล้ว สายน้ำสีขุ่นเหลืองในฤดูฝนลดความขุ่นเหลืองลงบ้าง สายน้ำไหลเอื่อยแผ่วเบา เรียวคลื่นเล็กๆ จากการไหลของน้ำเคลื่อนเข้าหาฝั่งช้าๆ หลังคลื่นลูกเก่าหายไป คลื่นลูกใหม่ก็เข้ามาแทน แม่น้ำได้ทอดตัวข้ามผ่านทุกสิ่งทุกอย่างที่เดินทางไปถึง แม่น้ำเป็นอยู่อย่างนี้มาชั่วนาตาปี และจะเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไป...ชีวิตของคนเราก็ไม่ต่างอะไรกับแม่น้ำ เพราะบางครั้งแม่น้ำก็เป็นถนนให้เรือ และสรรพชีวิตได้เดินทางผ่าน แม่น้ำนิ่งเฉยเพื่อรองรับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็นั้นแหละ ในบางครั้งแม่น้ำอาจแสดงความโกรธออกมาบ้าง ทุกครั้งที่แม่น้ำแสดงความโกรธออกมา น้ำจำนวนมหาศาลก็จะไหลบ่าท่วมทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิตคนเราก็เช่นกัน บางครั้งเราต่างทอดกายเป็นถนนให้เรื่องราวต่างๆ ได้ข้ามผ่าน บางครั้งเราก็นิ่งเฉยเพื่อรองรับเรื่องราวทั้งดี-ร้ายเช่นกันเมื่อชายชราเดินทางไปสู่การหลับ เบื้องล่างตรงท่าน้ำ เรือหาปลาถูกผูกโยงอยู่กับเสาไม้ไผ่โคลงเคลงไปตามจังหวะของคลื่น เสียงร้องของแมลงกลางคืนสะท้อนไปทั่วป่าริมฝั่งน้ำ ตุ๊กแกบนต้นไม้ส่งเสียงร้องขึ้นมาอีกครั้ง ความจริงแล้ววันนี้ทั้งวัน มันร้องมาไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้ง สิ้นเสียงร้องของตุ๊กแกตัวนั้น ตุ๊กแกอีกตัวหนึ่งที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำก็ร้องขึ้นมา เหมือนว่าตุ๊กแกสองตัวกำลังพูดคุยโต้ตอบกันข้ามฝั่งน้ำ หากสามารถรับรู้ภาษาของมันได้ เราคงได้รู้ว่าตุ๊กแกสองตัวพูดคุยโต้ตอบกันเรื่องอะไรฤดูหนาวหลังน้ำลด หาดทรายโผล่พ้นน้ำเป็นแนวยาวไปตามริมฝั่ง หาดทรายบางส่วนมีต้นไคร้ขึ้นคลุม ตรงหาดทรายที่ไม่มีต้นไคร้ขึ้นคลุมและราบเรียบเสมอกัน ชายชราได้สร้างกระท่อมขึ้นมาหลังหนึ่ง ข้างกระท่อมเป็นแปลงผัก ๔-๕ แปลง มีผักหลายอย่างอยู่ในแปลง ผักเหล่านี้ชายชราไม่เคยต้องบำรุงด้วยปุ๋ยชนิดใด เพราะตะกอนทรายที่น้ำพัดมาทับถมกัน ในนั้นจะมีชากพืชที่ถูกน้ำท่วมตายและเป็นปุ๋ยชั้นดี ผักจึงงามไร้สารเคมีพูดถึงเรื่องกระท่อมแล้ว ปีที่ผ่านมา กระท่อมหลังนี้ไม่ได้อยู่ตรงนี้ มันถูกผูกโยงอยู่ในน้ำเป็นเรือนแพ หน้าฝนปีนี้กระท่อมถูกนำกลับขึ้นมาบนฝั่ง โดยเจ้าของกระท่อมให้เหตุผลว่า มันอยู่ในน้ำนานไป ไม้ไผ่ผุ ปีนี้ก็เลยเอาขึ้นมาไว้บนฝั่งเมื่อมองดูกระท่อมและหันกลับมามองดูเจ้าของ ในความคิดของผมทั้งสองสิ่งมีบางอย่างเหมือนและแตกต่างกัน กระท่อมสร้างขึ้นมาเพื่อคุ้มแดดคุ้มฝน เสาของมันโย้ไปโย้มาจะพังแหล่มิพังแหล่ เจ้าของก็เช่นเดียวกัน ด้วยอายุที่มากขึ้น บางครั้งก็เจ็บป่วยนอนซมอยู่หลายวัน แต่กระท่อมและเจ้าของแตกต่างกันตรงที่เจ้าของยังแข็งแรง และยังทำงานที่ตัวเองถนัดได้ดี อีกทั้งสุขภาพก็ยังดี ส่วนกระท่อมโดนฝนโดนลมอีกไม่กี่ครั้งก็คงพังครืนลงบางครั้งการปลูกสร้างบางสิ่งขึ้นมาใช่ว่ามันจะดีพร้อมเสมอไป การสร้างกระท่อมของชายชราก็เช่นเดียวกัน แม้ในสายตาของคนอื่นมันดูไม่แข็งแรง แต่ก็นั่นแหละไม่มีใครเข้าใจชายชราอย่างแท้จริงว่า ทำไมแกจึงไม่สร้างให้แน่นหนาในความรู้สึกของชายชรา แกอาจไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องกระท่อมเท่าใดนัก เพราะกระท่อมที่มีอยู่หาได้เป็นสิ่งที่ชายชรายึดถือในความเป็นอยู่ของมัน ใจต่างหากที่ชายชรายึดถือ เพราะถ้าทำใจให้เป็นสุขพอเพียงกับทุกๆ สิ่งที่มีอยู่ ชีวิตก็จะมีความสุข แม้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องราวเล็กน้อยก็ตามทีแม้ช่วงนี้จะเป็นหน้าแล้ง แต่สายน้ำก็ยังไหลวนกระทบแก่งหินน่ากลัว ความกลัวเช่นนี้อาจเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงกลางวัน แต่ในเวลากลางคืนคงไม่น่ากลัวมากนัก เพราะมองไม่เห็น บางทีการมองเห็นของมนุษย์ บางครั้งมันก็นำเราไปสู่ความกลัว พูดถึงเรื่องความกลัวแล้ว มีบางคนบอกว่าสิ่งที่มองไม่เห็นน่ากลัวกว่าสิ่งที่มองเห็น เราไม่รู้หรอกว่าในความจริง ความกลัวของมนุษย์เกิดจากอะไรกันแน่ ว่ากันว่า ในฤดูหนาวกลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ขณะเวลาเดินทางผ่านไปจากนาทีเป็นชั่วโมง จากชั่วโมงเป็นหลายชั่วโมง ความหนาวเหน็บยาวนานในค่ำคืนก็ผ่อนคลายลง เมื่อแสงแรกแห่งวันปรากฏขึ้นเหนือยอดดอยด้านทิศตะวันออก เมื่ออรุณเบิกฟ้า นกจอนทรายฝูงหนึ่งก็โผบินขึ้นจากดอนทรายกลางน้ำ การดำเนินชีวิตในวันใหม่ของสิ่งมีชีวิตได้เริ่มขึ้นอีกครั้งแล้วหลังอรุณเบิกฟ้า เปลวไฟจากเตาไฟข้างกระท่อมค่อยๆ ดับลง ควันไฟสีขาวหม่นลอยล่องขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วจางหายไป ยามเช้าก่อนพระอาทิตย์จะมาเยือน ทุกอย่างรอบกระท่อมสลัวรางในม่านหมอกสีเทา หลังจมอยู่กับการหลับในค่ำคืนตอนค่อนรุ่งชายชราก็ตื่นนอน เพื่อหุงข้าว ก่อนจะออกไปหาปลา หากพูดถึงการนอนของชายชราแล้ว ในความเป็นจริงหนึ่งคืน ชายชราได้นอนเพียงเล็กน้อย เพราะช่วงตี ๒ แกจะเอาเรือออกไปช้อนกุ้งตามฟดที่วางไว้ริมฝั่ง กว่าจะกลับมาก็เกือบตี ๔ พอตี ๕ กว่าก็ตื่นขึ้นมาก่อไฟนึ่งข้าว หลังจากจัดแจงข้าวนึ่งลงในแอ๊ปข้าวเรียบร้อย ชายชราก็เดินลงไปยังเรือที่ผูกไว้ ทุกยามเช้าไม่ว่าฝนตก แดดออก สิ่งที่ชายชราทำมาเป็นประจำคือเอาเรือออกหาปลา เช้านี้ก็เช่นกัน ยามเช้าจึงเป็นจุดหมายสำหรับการเริ่มต้นของสรรพชีวิตรวมทั้งชายชราด้วย...หากสังเกตให้ดีจะพบว่า คนหาปลาที่มีเรือนิยมผูกเรือไว้กับริมฝั่ง เพื่อให้เรือได้โดนน้ำอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าหากเรือไม่ได้โดนน้ำ เวลาเอาไปใช้ ไม้ที่นำมาทำเรืออาจแตก และเรือก็จะใช้การไม่ได้ เพราะต้องนำขึ้นมาอุดรูแตกร้าวด้วยการชัน เพื่อสมานแผลแตกร้าวที่เกิดขึ้นกับเนื้อไม้ เรือหาปลาลำหนึ่งหากดูแลรักษาดีก็จะใช้ได้ ๔-๕ ปี แต่ถ้าดูแลไม่ได้ อย่างมากก็ใช้ได้เกิน ๓ ปี เมื่อพูดถึงเรือ คนหาปลาหลายคนรวมทั้งชายชราด้วย พวกเขาจะมีวิธีการเลือกไม้มาทำเรือแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมากไม้ที่นำมาทำเรือคือไม้ตะเคียน เพราะไม้ตะเคียนเป็นไม้ที่หนักกว่าไม้อื่น เวลาเอาลงน้ำแล้วจะลอยน้ำดี ทนแดดทนฝน ในการเลือกไม้มาทำเรือ ช่างทำเรือคือ คนชี้เป็นชี้ตายให้กับเรือแต่ละลำ ในการเลือกไม้มาทำเรือ ช่างที่มีความเป็นมืออาชีพจะเลือกสรรไม้ที่ถูกต้องตามตำราเท่านั้น เมื่อเรือแต่ละลำทำจากไม้ถูกต้องตามตำรา พอเอาเรือลงน้ำเจ้าของเรือก็จะหาปลาได้เยอะในการเลือกไม้มาทำเรือแต่ละครั้ง ช่างทำเรือจะเลือกเอาไม้ การเลือกเรือเพื่อใช้หาปลานั้น คนหาปลาที่มีฝีมือ และเป็นช่างไม้จะตัดไม้มาทำเอง ส่วนคนหาปลาที่ไม่ใช่ช่าง และทำเรือไม่เป็นก็จะซื้อหรือให้ช่างทำเรือให้ โดยเจ้าของเรือจะเลือกไม้ทำเรือด้วยตัวเองในการทำเรือนั้น การดู ‘ตาเรือ’ หรือการดูวงรอบที่อยู่ในเนื้อไม้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับคนหาปลาที่คิดจะทำเรือ เพราะตาเรือที่ดีที่ทำให้หมานมีอยู่ไม่กี่แห่งบนไม้หนึ่งแผ่น สำหรับการดูตาไม้มาทำเรือนั้น ช่างทำเรือจะเลือกไม้มีตา ๔ แบบอันเป็นตำราที่ตกทอดกันมา ตาบนไม้ ๔ ลักษณะคือ ‘ตาห้อยเงิบ’ หมายถึงตาบริเวณกาบเรือข้างที่คนหาปลาใช้ห้อยปลา ‘ตาสามเส้า’ หมายถึงตาสามตาบนพื้นเรือเหมือนก้อนเส้า ‘ตาซะน้ำ’ หมายถึงตาที่อยู่ระหว่างเครื่องยนต์เรือกับคนนั่ง     ’ตาปลดปลา’ หมายถึงตาที่อยู่ข้างเรือที่คนหาปลาปลดปลาออกจากเครื่องมือหาปลา คนหาปลาเชื่อว่า ตาเรือที่ทำให้หมานต้องเป็นตาด้านหัวเรือเท่านั้น นอกจากตาเรือทำให้หมาน-หาปลาได้เยอะแล้ว ยังมีตาเรือที่ไม่ทำให้หมานคือ ’ตาจี้ง่อน’ คือหมายถึงไม้ที่มีตาอยู่ข้างหลังบนพื้นเรือ เรือแบบนี้จะทำให้เจ้าของต้องเจ็บป่วยหรือหาปลาได้ไม่หมานอยู่ตลอด ’ตาปั่นพื้น’ ซึ่งอยู่ตรงกลางเรือก็จะทำให้เรือจะล่มได้บ่อย เพราะตาเรือปั่นเจาะลงไปในพื้นคล้ายสว่าน เรือลำใดที่มีตาชนิดนี้ เรือจะเสียบ่อย และหาปลาไม่ค่อยได้ วิ่งก็ไม่ค่อยออก ถึงแม้ว่ากฏเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาเหล่านี้ คนตั้งขึ้นมา และคนเรานี่เองเปลี่ยนแปลงกฏอันนั้น เมื่อคนหาปลาหรือช่างทำเรือบางคนเลื่อยไม้มาแล้ว แต่ไม้มีตาหมานอยู่ทางโคนไม้ ช่างก็จะแก้เคล็ดด้วยการเอาทางโคนไม้มาเป็นหัวเรือ เพราะมีตาหมานอยู่ แต่ส่วนมากเวลาทำเรือจะไม่ค่อยเอาทางโคนไม้มาไว้ทางหัวเรือหรอก การทำเรือนอกจากช่างทำเรือหรือเจ้าของเรือจะดูลักษณะไม้แล้ว เรือลำหนึ่งยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่าง แต่องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ ไม้ที่ถูกเลือกมาทำเรือนั่นเอง หลังจากทำเรือลำหนึ่งเสร็จสิ้นลง เมื่อเอาเรือลงน้ำครั้งแรก เจ้าของเรือก็จะทำการเลี้ยงเรือ การเลี้ยงเรือก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของเจ้าของเรือแต่ละคน เจ้าของเรือบางคนก็ให้ผู้หญิงเดินเข้าไปเหยียบย่ำตามพื้นเรือตั้งแต่หัวเรือจนถึงท้ายเรือ เวลาเหยียบก็ให้พูดไปด้วยว่า เรือลำนี้ทำไมไม้อ่อนจัง เพื่อจะได้พูดปราบแม่ย่านางเรือ พอพูดเสร็จเวลาจะลงจากเรือก็ให้ออกด้านท้ายเรือไม่ให้กลับมาออกด้านเดิม เมื่อเอาเรือออกหาปลาครั้งแรกหลังจากเลี้ยงเรือเสร็จ ปลาที่ได้ในครั้งแรก คนหาปลาจะนำปลานั้นมาทำอาหารเลี้ยงคนหาปลาคนอื่นๆ เพื่อเอาโชคเอาชัย การเลี้ยงเรือเป็นสิ่งที่คนหาปลาผู้เป็นเจ้าของเรือต้องทำอย่างเคร่งครัด และต้องปฏิบัติอยู่สม่ำเสมอ เรือของชายชราลำนี้เองก็เช่นกัน แม้ว่าไม้ที่นำมาทำเรือจะถูกต้องตามตำราในการทำเรือทุกประการ และในการเอาเรือออกหาปลาครั้งแรก ปลาที่ได้มาแกก็เอาไปทำลาบเลี้ยงคนอื่นจนหมด แต่ก็นั้นแหละในความเชื่อที่กล่าวมา มันคือเส้นแบ่งระหว่างตะวันตกกับตะวันออก และก็เป็นเรื่องยากเต็มทีที่จะให้ด้านตรงกันข้ามทั้งสองด้านเดินทางมาพบกันหลังอรุณเบิกฟ้า เช้านี้เป็นอีกเช้าที่ชายชราเอาเรือออกหาปลา หลังขึ้นไปนั่งบนเรือแล้ว แกก็ค่อยๆ พายเรือออกจากฝั่งแล้วติดเครื่องยนต์ทางด้านท้ายเรือหลังทรงตัวได้ ชายชราก็บังคับเรือเคลื่อนไปข้างหน้า เมื่อใกล้ถึงเป้าหมาย เครื่องยนต์ถูกผ่อนให้เบาลง พอถึงเป้าหมาย ชายชราก็ดับเครื่องปล่อยหางเสือหันมาจับไม้พายแล้วจ้วงพายบังคับเรือไปยังเป้าหมายเป้าหมายของชายชราคือขวดพลาสติกสีขาว ตรงขวดน้ำมีเชือกผูกขอเบ็ดจมอยู่ใต้น้ำยาวหลายเมตร หลังจากเรือจอดนิ่ง ชายชราก็ลุกขึ้นเปลี่ยนที่นั่ง โดยเปลี่ยนจากนั่งทางท้ายเรือมานั่งหัวเรือ หลังจากนั่งเรียบร้อย แกก็ใช้มืออีกข้างหนึ่งดึงเชือกขึ้นมาอย่างช้าๆเชือกที่ดึงขึ้นมาเป็นเชือกผูกขอเบ็ดที่ใส่เหยื่อเอาไว้ตั้งแต่ตอนเย็นวันก่อน เช้านี้จึงเป็นเวลากลับมาดูผลงาน ชายชราดึงสายเบ็ดขึ้นมาจนสุดปลายสายก่อนจะส่ายหน้าไปมา หลังจากปล่อยสายเบ็ดกลับลงน้ำ ชายชราก็บ่ายหัวเรือไปยังเป้าหมายใหม่ต่อไปเสียงเครื่องยนต์เรือดังขึ้นอีกครั้ง แล้วเรือและชายชราก็มุ่งหน้าไปยังเป้าหมายต่อไป เรือเคลื่อนไปข้างหน้าพุ่งตัดสายน้ำหมุนวนกลบแก่งหิน ใบหน้าของชายชราเรียบเฉยไม่หวั่นไหวต่อสายน้ำเบื้องหน้า บางทีคงเป็นความคุ้นชิน บางครั้งประสบการณ์ที่ได้จากการใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำมาเนิ่นนานจึงทำให้ความหวาดกลัวของชายชราหายไป สำหรับผมแล้ว บนสายน้ำหมุนวนกับครั้งแรกบนเรือลำเล็กกลางแม่น้ำสายใหญ่ ดูเหมือนว่าความกลัวจะเกิดขึ้นทุกชั่วยามแห่งแรงเต้นของหัวใจ
เงาศิลป์
วันเวลาที่ผ่านไป ฉันค่อยๆ คลายความกังวล แม้ว่าความรู้สึกเจ็บปวดจะมาอยู่เป็นเพื่อนเกือบตลอดเวลา แต่วิชาเกลือจิ้มเกลือ เจ็บแก้เจ็บ ยังใช้ได้เสมอ (โปรดใช้วิจารณญาณในการนำไปทดลอง)และแล้วเหมือนกรรมบันดาล (อีกแล้ว) วันหนึ่ง ฉันได้เรียนรู้ว่า คนเราได้ใช้ศักยภาพของตัวเองเพียงแค่ 60 – 70 % เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังไม่เคยรู้จักมัน และปล่อยให้มายาคติบางอย่างครอบงำ โดยเฉพาะคำว่า “อย่าทำ” .... “ไม่ควรทำ”.....หรือ “ไม่เหมาะสมที่จะทำ” และอะไรอีกหลายความคิดที่ปิดกั้นโอกาสของตัวเองกลางเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง ฉันเร่ร่อนลงเรือไปที่หาดไร่เล ตอนนั้นแทบว่าไม่มีคนไทยรู้จักหาดไร่เล นอกจากฮิปปี้และนักปีนผา (ที่ส่วนใหญ่เป็นนักปีนผาอาชีพ)ฉันเป็นนักท่องเที่ยวไทยคนเดียว และเป็นผู้หญิงท่ามกลางชาวต่างชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่มากมนัก เพราะเดือนตุลาคมยังไม่หมดมรสุม บังกะโลราคาพอประมาณมีให้เลือกเหลือเฟือ ฉันเปลี่ยนที่พักทุกคืน ย้ายไปตามมุมต่างๆ ตามความพอใจ แค่ย้ายที่นอนอ่านหนังสือเพราะฝนตกเกือบตลอดเวลาเจ็ดวันที่ฉันอยู่ที่นั่น  สามวันแรก..ฉันเตร็ดเตร่พูดคุยกับนักเดินทาง และนักปีนผา โดยเฉพาะคุณเต็ก เพื่อหาข้อมูลมาเขียนสารคดี แต่เมื่อฉันเจอกับรำพึง นักปีนผาสาว เป้าหมายการทำงานของฉันก็เปลี่ยนไปทันที“พี่ พี่มาคนเดียวเหรอ รู้ไหมผู้ชายแถวนี้ เขาหาว่าพี่อกหัก จึงมาเที่ยวทะเลคนเดียว” รำพึงบอกให้รู้เมื่อเราสนิทกันแล้ว ฉันได้แต่ยิ้ม ผู้ชายที่เธอว่า คือกลุ่มนักปีนผาที่ฉันไม่ได้พูดคุยด้วย นอกจากจักรเพียงคนเดียว เพราะฉันรู้จักเขาตั้งแต่เขาขายงานศิลปะที่ฟุตบาทถนนข้าวสาร นั่นเป็นอีกยุคหนึ่งที่ฉันสัญจรไปรู้จักกับพวกเขา และกลายเป็นมิตรภาพที่ยาวไกล จนมาพบกันอีกหนที่ไร่เล แต่เราก็ทิ้งระยะห่างต่อกัน ฉันยังอยู่โดดเดี่ยวตามชายทะเล ถ่ายรูปปู ถ่ายรูปฝนไปตามประสาคนเดินทาง“พี่ไปปีนผากับหนูเถอะ” รำพึงชวน เมื่อเห็นฉันยืนแหงนมองฝรั่งตัวโตๆ กำลังตะกายไปบนหน้าผาราวกับเป็นแมงมุม เธอเป็นครูสอนปีนผาที่เป็นผู้หญิงคนเดียวในไร่เลภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ตฉันไม่ลังเลสักนิด แต่บอกกับเธอว่าขาพี่ไม่ดีนะ มันเป็นขาที่หักไปแล้ว เธอบอกว่าการปีนผาไม่ได้ใช้กำลังขาเพียงอย่างเดียว ลองดูไหม..ฉันลิงโลดใจอยู่แล้ว คำชวนที่ตบท้ายว่า “หนูไม่คิดเงินพี่หรอก อยากให้พี่ลองดู เผื่อจะชอบ”รายละเอียดการปีนผา คงไม่ต้องอธิบาย เพราะยากที่จะบอกว่าต้องทำอย่างไรบ้าง แต่ในที่สุดฉันก็สามารถปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนจุดที่คนเริ่มต้นปีนทั้งหลายขึ้นไปได้ มันเป็นครึ่งทางของยอดเขาที่เป็นหน้าผาชัน 90 องศา ฉันนั่งอยู่บนแง่หินมองทิวทัศน์ไปไกลๆ อย่างสุขแสนสุข สุขใจจนบรรยายไม่ถูก....ใช่ค่ะ สารแห่งความสุขมันหลั่งออกมาจริงๆ ไม่ใช่เพราะใจคิดไปเอง หลังจากที่โหนต่องแต่งดูน่าหวาดเสียว และฉันพยายามจะยืดแขน ยืดมือไปเหนี่ยวแง่หินเล็กๆ เพื่อจะดึงตัวเองขึ้นไปที่สูงกว่า ส่วนเท้าที่ยันร่องหินเอาไว้กำลังเขย่งถีบส่งร่างให้สูงขึ้น เวลาขณะนั้น ในใจฉันมีแต่ความตั้งใจที่จะไปต่อให้ได้ ด้วยเสียงเชียร์ของรำพึงที่คอยตะโกนบอกว่า“พี่ต้องทำได้ อีกนิดเดียว เอ้า อึ๊บ ๆ ไปเลย ไปเลย”  ที่เธอบอกว่าไปเลยหมายความว่า ฉันต้องกล้าดีดร่างไปหาปุ่มหินอีกอันที่สูงกว่าให้ได้ ที่จริงหากไม่มีบัดดี้คอยดึงเชือกส่งร่างให้ขยับขึ้นไป ฉันคงทำไม่สำเร็จ อาจตกหน้าผาลงมาตาย แต่เพราะรู้ว่าถึงมือเท้าจะพลาด อย่างร้ายแรงฉันก็แค่ร่วงลงมาขั้นต่ำตามเดิม เพราะเชือกที่แขวนติดตัวฉันก็จะดึงให้ห้อยต่องแต่งกับหน้าผาสูงเท่านั้น (เทคนิคการปีนที่สูงแบบนี้ ฉันเคยเรียนในวิชาแคมป์ปิ้ง จึงไม่ได้หวั่นวิตก)การปีนผาสำหรับคนปกติ อาจเป็นดูธรรมดา แต่สำหรับฉัน ภาวะที่ต้องไปต่อในที่สูงให้ได้อย่างสุดกำลังนั้นเอง ทำให้ฉันตระหนักว่า..ถ้าเราทิ้งความหวาดกลัวลง สิ่งที่มุ่งมั่น..ยังมีหนทางเป็นไปได้เสมอ เพราะพลังจากภายในเรามีสำรองอยู่จริงๆที่มากกกว่าความสุขในการปีนผา คือการได้รู้จักศักยภาพของตนเอง รวมทั้งขาข้างหักยังมีโอกาสได้ทำหน้าที่ของมันต่อไป
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
เรื่องของเรื่อง คือว่า เพื่อนผมไปอินเดีย ดินแดนแห่งโลกอารยธรรมตะวันออก ..มันว่าของมันว่า ภาพสวยมากนะแก ..ผมตาโต ..เท่าไข่นกกระจอกเทศผมเลยถือโอกาสให้มันเล่าเรื่องที่อินเดียให้ฟัง ..“แก ชั้นไปอินเดียมา” มันว่า แถมต่อท้ายอย่างน่าฟัง “นั่นหน่ะ เป็นประเทศที่ชั้นอยากไปเป็นอันดับหนึ่งเชียวนะ”เมืองระดับอารยธรรมเก่าแก่ของโลก เต็มไปด้วยนักพรตในกลิ่นอายของศาสนาฮินดูอย่างในหนังสารคดี โยคีริมฝั่งแม่น้ำคงคา วัดฮินดู อย่างภาพของเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกหรือทัชมาฮาล อย่างในภาพทัวร์ท่องเที่ยว (อันหลังนี่ผมนึกภาพเอาเอง อิอิ)หลังจากที่เครื่องลงจอดเมืองกัลกัตตา สนามบินแห่งนั้นดูทรุดโทรม ที่น่าสังเกต “ชั้นมองไม่เห็นผู้หญิงเลยสักคน” มันขึ้นเสียงสูง พนักงานจะเป็นผู้ชายในชุดแต่งกายลำลอง ไม่อยู่ในยูนิฟอร์มใดใดที่ให้เชื่อได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสนามบิน นอกจาก ชายในเครื่องแบบที่มองปราดเดียวก็รู้ได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเมื่อจับแท็กซี่ออกจากสนามบินมุ่งเข้ามหานครกัลกัตตาได้ “รถติ๊ดติดว่ะแก ไม่ได้ติดแหง็กแบบบ้านเรานะแต่ดูวุ่นว๊ายวุ่นวายมากกว่า” ที่สำคัญ มันออกปากว่า ถนนอินเดียเหมือนไม่มีเลน บีบแตรอย่างเมามัน (บ่อยครั้งนานกว่า 10 วินาที) และดูเหมือนว่าทุกคนร่วมใจกันทำกิจกรรมทุกอย่างบนถนนราวกับว่าคนเมืองนี้พร้อมใจกันออกจากบ้าน .. คนเดินทาง ,ฝูงแพะ ,ไม้ไผ่ในเกวียนสำหรับสร้างปราสาทจำลองในเทศกาลทางศาสนา ,คนขี่จักรยาน ,คนทูนของบนหัว ,รถหกล้อก่อสร้าง ,รถแท็กซี่ราวกับว่าคนในเมืองนี้พร้อมใจกันออกจากบ้าน มันย้ำหญิงสาวแปะบินดี (เครื่องประดับชนิดหนึ่งที่หญิงชาวฮินดูใช้แปะระหว่างคิ้วเพื่อความสวยงาม) ในชุดสาหรี่สีฉูดฉาด (ฟ้าเหลืองชมพู บานเย็น แดงม่วงเขียว) กะเตงลูก ยืนโปรยรอยยิ้มอิดโรยอยู่บนฟุตบาธ เมื่อรถวิ่งเข้าในเขตกลางเมืองทุกอย่างจะจอแจยิ่งขึ้น ยิ่งรถติดไฟแดงจะมีเด็กๆ มาเคาะกระจกขอเงิน         “แกลองคิดดู กลางสี่แยกแท้ๆ มีคนมายืนสีฟัน อาบน้ำ กันจะจะ”โรงแรม Lytton กลางเมืองกัลกัตตา ตกแต่งสไตล์อังกฤษจ้าวอาณานิคม กลายเป็นที่พักชั่วคราวของมัน ทั้งอึม ครึมและสมถะในขณะเดียวกัน ทั้งในแง่ของสีพื้นหรือการใช้เฟอร์นิเจอร์หนุ่มวัยกลางคนขับเมอร์ซีเดส เบ๊นส์ SLK แบบสปอร์ต เปิดประทุน เข้ามาที่ลานหน้าโรงแรม “จอดปุ๊ปนะแก พนักงานแทบกระโดดเข้าต้อนรับ” ชายหนุ่มลงจากรถโยนกุญแจให้พนักงานอีกคนเอารถไปจอดไม่ไกลนัก เพิงเล็กๆ หลายหลัง ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา“เหลือเชื่อว่ะ” มันครางออกมาสองบล็อกถัดจากโรงแรม หนุ่มใหญ่นายนี้ เข็นจักรยานขนผักซะจนมองเห็นเส้นเอ็นปูดโปนชุมทางรถ คุณแม่วัยแรกรุ่นอุ้มลูกรอรถหนุ่มขายมะนาวและมันฝรั่งพร้อมตาชั่งแบบโบราณ เสนอขายสินค้าของเขาอยู่ริมฟุตบาธไม่ไกลจากชุมทางรถแท็กซี่กัลกัตตา ระหว่างรอผู้โดยสาร อ้อยอิ่งไปกับความเคลื่อนไหวที่เห็นตรงหน้ากราฟฟิตี้แบบอินเดียกลัวหาย!
วาดวลี
เพิงผักสดหน้าวัดในตอนเช้า กำลังแปรสภาพเป็นร้านเหล้าในยามค่ำ ตะวันยังไม่แตะดินดี เคาน์เตอร์ไม้เล็กๆ ก็มีลูกค้ามารอแล้วเกือบเต็มร้านชายวัยกลางคนกระดกเหล้าขาวจากแก้วทรงเหลี่ยมอยู่หน้าเพิงป้าแดง  ไม่ยี่หระต่อสายตาเมียที่ยืนค้อนอยู่ด้านหลังเธอยืนเท้าสะเอวเหมือนแม่บ้านในการ์ตูน มองสามีเงียบๆ แล้วก็เอ่ยด้วยเสียงห้วนสั้น“กระดกเข้าไป บอกว่าให้กินข้าวรองท้องก่อน ป้าแดงเอาแกงอ่อมมาถ้วยหนึ่ง”เธอไม่ได้สั่งกลับบ้าน แต่สั่งให้สามี ป้าแดงตักแกงจากหม้อใส่ชาม วางไว้บนเคาน์เตอร์ไม้ แล้วรับเงินจากผู้เป็นภรรยา เธอจากไปพร้อมผักกาดกำใหญ่ในมือ“เดี๋ยวข้ากลับไปกินข้าว” “อือ”สามีภรรยาตอบกันห้วนสั้น แต่เป็นอันเข้าใจ แววตาหลายคู่ที่อยู่ข้างๆ มองอย่างสนใจ แต่ไม่รู้สึกแปลก ชายชราผู้แก่กว่าอีกคน กระดกเหล้าแบบเดียวกัน แล้วถามไถ่“ไอ่น้องมาจั๊กข้าวเหรอ” เขาหมายถึงการ “ดื่ม” สักจอกสองจอก ก่อนจะถึงมื้อกินข้าวจริงๆ“อืออ้าย หมู่นี้กินข้าวไม่อร่อย ไม่รู้ทำไม ถ้าไม่ดื่มสักก๊งสองก๊ง กินไรไม่ลง” เขาว่าน้ำเสียงเคร่งขรึม“ก็จริงอย่างว่า อ้ายก็เหมือนกัน ค่ำมาเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ถ้าไม่ดื่มซะหน่อย นอนไม่ค่อยสบาย”สองคนปรับทุกข์  อีกคนมาใหม่ เพิ่งนั่งยังไม่ทันกระดกแก้ว ก็ตัดพ้อตามไป“ยังดี พี่สองคนแค่ดื่มก่อนมื้อ  แล้วกลับไปกินกับเมีย อย่างผมไม่มีแม่บ้าน กินให้ตายตรงนี้ก็ไม่มีใครมาตาม”ป้าแดงเจ้าของร้านรีบจ้องตาวาว ยืนจังก้าโวยวาย“อย่าๆ อ้ายหมาย อย่ามากินตายแถวนี้นะ ถ้าไม่ไหวก็กลับบ้านนา อย่ามานอนเมาแถวนี้”เสียงหัวเราะลั่นร้าน ตาแก่ยกมือตบเข่าฉาด“อะไร  ป้าแดงนิ พูดเล่นหรอก ทำมาจริงจัง เดี๋ยวก็ไปแล้ว”“ไม่ได้ๆ วันก่อนมีคนมากินเหล้าเกือบหมดร้าน”“เอ๊า ไม่ดีเหรอ ป้าจะได้ขายดีไง”ป้าแดงเงียบ คงนึกคำตอบโต้อยู่  แต่ถูกชายวัยกลางคนสะกิดเสียก่อน“นั่นๆ เขามาซื้อผักน่ะ  ไปดูก่อน”ป้าแดงค่อยๆ หันมาทางฉัน ผู้ซึ่งยืนพลิกผักไปมา เมนูวันนี้จะทำเมี่ยงปลาทู ประกอบด้วยผักสลัด ใบชะพลู  โหระพา และผักไผ่สะระแหน่ พลิกหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ เลยต้องรอให้ป้าแดงมาช่วยดู“ใบสลัดไม่มีแล้วหนู โหระพาก็หมด เหลือแต่กะหล่ำ”“เอ่อ ผักกาดแก้วล่ะป้า วันก่อนหนูเห็นป้ามีขาย”“มันแพง โลละตั้ง 30 บาท ป้าไม่เอามาแล้ว ไม่ไปดูอีกซอยล่ะ”“ไปมาแล้วค่ะ เขาปิด”ฉันตอบน้ำเสียงละห้อยด้วยความผิดหวัง ก่อนจะคิดถึงทางเลือกอื่น“อืม เอาผักกาดขาวแทนก็ได้ แล้วสะระแหน่มีไหม”“เหมือนจะหมดแล้วนะ เหลือไม่กี่อย่าง วันนี้ป้าไม่ได้ไปตลาดหรอก ตื่นสายน่ะ”ป้าแดงพูดอย่างอายๆ  หันไปมองยังอีกมุมของร้าน แล้วก็เปลี่ยนน้ำเสียง“ก็พวกนี้มันกลับกันดึก ป้าแดงปิดร้านค่ำมาก เลยตื่นสายเลย”“อ้าว”เสียงตอบโต้ตามมาทั้งกลุ่ม ฉันพยายามเงียบเสียงและไม่กล้ามอง จึงยืนพลิกดูผักต่อไป พลางรำพึงเบาๆ“สงสัยต้องเปลี่ยนเมนูล่ะป้า มีอะไรเหลือบ้างเนี่ย”“ก็มีผักบุ้งนะ” ป้าแดงไล่ลำดับ“งั้นผัดผักบุ้งเลยหนู” เสียงชายเฒ่าสวนมาอย่างหวังดี“แล้วก็มีหน่อไม้ดองนะ” ป้าแดงหยิบถุงขึ้นมาโชว์ มันดูเก่าและนาน รสชาติคงเปรี้ยวน่าดู“แกงใส่ไก่ อร่อยมาก” เสียงจากเคาน์เตอร์บาร์ส่งมาด้วยหวังดีอีกฉันแอบอมยิ้ม สงสัยจะกินข้าวลงกันแล้ว จึงคิดเมนูได้หลากหลายแบบนี้ “งั้นเอาน้ำพริกตาแดงถุงหนึ่ง  ไข่  แล้วก็แหนมค่ะ” ฉันตัดสินใจ “เยี่ยมๆ น้ำพริกป้าแดงอร่อยมาก ไข่เจียวแหนมอร่อย” คำแนะนำจากกลุ่มชายชรายังปล่อยมาเป็นระยะ ฉันอยู่ในอาการทำตัวไม่ถูก ไม่กล้าพูดคุยกับคนเมา ได้แต่ยิ้มๆ ไปตามมารยาท ก่อนจะได้ยินเสียงใครบางคนยืนอยู่ข้างหลัง“อยากกินไข่เจียวแหนมทำไมไม่บอก ไป กลับไปกินแกงผัดกาดได้แล้ว”หันไปมองตาม ถึงได้รู้ว่าภรรยาของคุณลุงมีบ้านอยู่ฝั่งตรงข้ามนี้เอง ลุงวัยกลางคนสะดุ้งเฮือก รีบซดเหล้าที่เหลือในแก้วกระดกพรวดทีเดียว แล้วรีบเดินตามเมียกลับบ้านแต่โดยดี ทิ้งเสียงหัวเราะคิกๆ ไว้เบื้องหลังของชายร่วมเคาน์เตอร์ ก่อนจะไป แกก็หันมายักคิ้วให้ทีหนึ่ง“เดี๋ยวเฮาก็จะไปแล้วเหมือนกัน” ชายโสดไร้ภรรยาบอก ระหว่างฉันยืนรอเงินทอนจากป้าแดง“อ้าว ไปเหมือนกันเหรอ ไหนบอกว่าไม่มีใครรออยู่บ้านไง”“แมวมันจะหิวข้าวเอา ไม่ได้ทิ้งไรไว้ให้เลยเนี่ย”“โห ห่วงแมว” เสียงใครอีกคนแซวขึ้น ฉันรับเงินทอนมาแล้ว จากที่อยากรีบไปเสียให้พ้น กลับชะลอฝีเท้าลง หันไปมองหน้าเขาทีหนึ่งผู้ชายร่างผอม ใบหน้าเต็มไปด้วยริ้วรอย เขาอยู่ในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาวเก่าซีด พันเอวด้วยผ้าขาวม้าสีม่วงสลับแดง ใส่รองเท้าบู๊ตสีเขียวแก่  มีมีดดายหญ้าอันใหญ่เบ้อเริ่มเสียบไว้กับผ้าขาวม้าอยู่ด้านหลัง“อือ ตอนนี้เหลือตัวเดียว แต่ก่อนมี 4 ตัวนะ มันคลอดลูกแล้วตายเลย ก็เลี้ยงมาจนโต ชื่อ แดง ดำ ขาว และ แต้ม ตัวสุดท้ายนี่สีขาวลายดำ แต้มเต็มตัวไปหมด”พูดพลางลุกขึ้นยืน กระดกเหล้าแก้วสุดท้าย พร้อมคว้ามะขามกับเกลือ ซึ่งเป็นบริการฟรีจากป้าแดงเข้าปาก เคี้ยวดังกร๊อบ ทำเอาฉันน้ำลายพุ่งกระฉูดเต็มแก้ม“อ้อ ป้า เอาปลาทู 2 ตัว”วูบนั้น ฉันเห็นแววตาเขา จะว่าทึกทักไปเองก็ได้ แววตาไม่ต่างกันนัก กับคนมีลูกมีเมียที่รีบกลับบ้านเพราะกลัวจะรอด้วยความหิวฉันและเขาออกจากร้านป้าแดงพร้อมกัน ตะวันเริ่มโพล้เพล้ สุดท้ายก็เหลือชายชราเพียงคนเดียว “เฮาะๆๆ ปิ๊กบ้านเพราะห่วงแมว ฮ่าๆๆ”เขาหัวเราะชอบใจ แล้วคว้าแกงอ่อมที่เหลือของลุงผู้ไปแล้วมาซดต่อ“ป้าแดงเอาเหล้ามาอีกก๊ง”แล้วเขาก็คงเป็นเหมือนเช่นทุกวัน ชายคนเดิมที่จะนั่งอยู่ที่แผงนี้ ไม่ว่าจะค่ำมืดอย่างไร ฉันผ่านมาทุกครั้งก็จะเห็นเขานั่งอยู่บนเก้าอี้ไม้ เท้าแขนข้างหนึ่งกับเคาน์เตอร์ มองไปมาบนถนนสายเดิม จวบจนแทบไม่มีรถแล่นผ่าน พระเข้าวัดไปหมดแล้ว แม่ค้าเก็บของจนไม่เหลือแม้แต่เจ้าเดียวไม่เคยรู้ว่าแกกลับบ้านเวลาไหน ไปทางใด ไม่มีเมียคอยแกงผักกาดไว้ที่บ้าน ไม่มีแมวรอกินปลาทูรู้เพียงแต่ว่า ถ้าวันไหนไม่มีใครมากินเหล้าเลย ป้าแดงก็ยังเหลือชายชราผู้นี้เป็นลูกค้าประจำ หากวันไหนใครคิดเมนูอาหารไม่ออก เดินไป เขาจะช่วยคิดให้สารพัด แต่หากวันไหนเขาไม่มา เราถึงจะรู้ว่า ถนนสายนี้จะช่างแสนเหงา แผงป้าแดงจะเหลือแต่ผนัง กับเก้าอี้เปล่า โดยมีฉันอดคิดเงียบๆ ไม่ได้ว่า“พรุ่งนี้ จะยังมีคุณลุงคนนี้มานั่งกินอยู่อีกไหม”

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม