<p>&#39;ภฤศ ปฐมทัศน์&#39; </p><p>เกิดช่วงกลาง 80&#39;s เติบโตมากับ 90&#39;s อิ่มเอมกับทั้งความหลากหลายและสะเปะสะปะของ 2000&#39;s<br /> <br />เพราะดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และชีวิตก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงคิดว่าดนตรีในฐานะศิลปะแขนงหนึ่ง มันจึงเป็นได้ทั้งเครื่องมือบอกเล่าความคิดของศิลปิน ขณะเดียวกันก็มีส่วนสะท้อนชีวิตอันหลากหลายของผู้คนในสังคมด้วย<br /> <br />คอลัมน์ Music ของประชาไทจึงเป็นเหมือนพื้นที่สำรวจค้นลึกเข้าไปในดนตรี ทั้งในแง่ของสุนทรียะทางรูปแบบ เนื้อหาที่สัมพันธ์กับสังคม รวมถึงวัฒนธรรมที่แวดล้อมดนตรีแขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก วัฒนธรรมย่อย (Subculture) ไปจนถึง วัฒนธรรมคนนอก (Outsider culture)<br /> <br />ผู้เขียนเป็นแค่นักฟังดนตรีคนหนึ่ง ที่พอมีความรู้และรักในความหลากหลาย<br />ยินดีเสมอหากผู้อ่านจะร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะ<br /> <br />สามารถแวะไปดูได้อีกที่คือ บล็อก <a href="http://parid.prachatai.com/" target="_blank" title="http://parid.prachatai.com/">Melody Obscurity</a> http://parid.prachatai.com/</p>

บล็อกของ parid

บทครุ่นคำนึงหลังงาน World Musiq ที่เซ็นทรัลเวิร์ล

6 February, 2010 - 16:53 -- parid

ภฤศ ปฐมทัศน์

ผมได้ยินข่าวเรื่อง "จังหวะแผ่นดิน World Musiq & World Bar B Q" วันเดียวก่อนวันงานนั่นเอง ได้ยินคุณทอดด์ ทองดี พูดผ่านวิทยุว่าจะมีศิลปินจากหลายประเทศทั่วโลกมาเข้าร่วม และมีการแสดงร่วมกันของเพื่อแสดงให้เห็นว่าดนตรีมันไร้พรมแดน

ผมเองเข้าใจความรู้สึกของคนที่พูดอะไรที่เป็นอุดมคติครับ และรู้สึกที่สิ่งที่คุณทอดด์แกพูดแกไม่ได้ตอแหล (แบบพวกอ้างศีลธรรม) ผมรู้สึกได้จากน้ำเสียงและการไหว้วอนขอให้ภาครัฐและกระทรวงวัฒนธรรมหันมาสนใจ ทำให้รู้สึกว่าแกมีความตั้งใจตรงนี้จริง ๆ

แต่ว่าอุดมคติที่สวยงามบางทีมันเป็นแค่สิ่งที่ฉาบเคลือบอะไรที่ยังแหว่งโหว่อยู่ภายใน ซึ่งมันยากที่จะชี้ตัวว่าความแหว่งโหว่นี้เป็นความผิดของใคร เรื่องนี้ผมจะพูดในภายหลัง ในตอนนี้ผมกำลังรู้สึกสนุกกับสิ่งที่ได้เห็นอยู่บนเวที ที่ลานของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล

งานจำพวกศิลปินกับลานเบียร์นี้มีให้เห็นกันทั่วไป แต่สิ่งที่โดดเด่นในงานนี้คือวงดนตรีที่เข้าร่วม แน่นอนว่าผมไม่เคยได้ยินเพลงจากวงดนตรีของทวีปแอฟริกามาก่อน ถึงผมจะพอเดาทางได้จากอิทธิพลของดนตรีซึ่งส่งผ่านไปยังดนตรีของคนผิวสีแบบอื่น ๆ เช่น เร้กเก้, แจ็ซซ์ , ฟังค์ หรืออิเล็กโทรนิกบางจำพวก เนื่องจากดนตรีของชาวแอฟริกันโดดเด่นมากในส่วนของการให้จังหวะ (Rhythm Section)

และวง Yunasi วงจากประเทศเคนย่าที่มาเล่นในงานนี้ก็ทำได้น่าประทับใจ พวกเขาแสดงสดได้เยี่ยมและเอนเตอร์เทนคนดูได้อยู่หมัด ราวกับเคยผ่านเวทีประมาณนี้มานักต่อนักแล้ว ดนตรีของวง Yunasi ไม่เชิงเป็นแนวแอฟริกันดั้งเดิมเสียทีเดียว เพราะมันคือการผสมผสานกันของดนตรีสมัยใหม่โดยยังคงความเป็นแอฟริกันไว้ในส่วนของจังหวะเท่านั้นเอง ผมเคยลองฟัง Yunasi จากแหล่งอื่นครั้งหนึ่งก็พบว่าเสียงกีต้าร์ในเพลงนั้นสุดละม้ายคล้ายของเพลงเซิ้งภาคอิสานบ้านเราเหลือเกิน ขณะที่เสียงขลุ่ย (ซึ่งจริง ๆ มาจากเสียงคีย์บอร์ด) ในงานนี้ก็ไม่วายชวนให้นึกถึงเพลงพื้นบ้านของบ้านเราอยู่ดี

ตัวนักร้องของวง Yunasi บอกว่าดนตรีในบ้านเขามีไว้เฉลิมฉลอง เพลงของพวกจึงเต็มไปด้วยจังหวะเต้นรำสนุก ๆ วง Yunasi อาจเป็นแค่อีกวงหนึ่งที่นำเสนอความเป็นเคนย่าในแบบร่วมสมัย เพราะเคนย่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางดนตรีสูงมากแห่งหนึ่ง

 

การแสดงของวงต่อมาเป็นวงดนตรีจากชนเผ่าของไต้หวัน ผมไม่ทันได้ฟังเพลงแรก ๆ เพราะมัวไปดูการแจมกลองและเครื่องให้จังหวะในอีกมุมหนึ่ง จนเริ่มเมาจากเครื่องดนตรีเน้นจังหวะทั้งหลายแล้วจึงวกกลับมาดูเวที

ประเทศไต้หวันก่อนหน้าการเข้ามาของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ มีชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่หลายสิบกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเชื้อสายออสโตรเนเชี่ยน คือเชื้อสายของหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้อย่างชาวอินโดนีเซีย หรือ ฟิลิปปินส์ พวกเขาต้องต่อสู้ขับเคี่ยวเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา

ในแง่ของดนตรีแล้ว ชาวพื้นเมืองของไต้หวันมีบทบาทในวงการดนตรีป็อบของไต้หวันอย่างมาก แต่ก็ในแง่ของดนตรีป็อบแบบเต็ม ๆ ล่ะครับ เช่น นักร้องสาวที่ชื่อ A-mei ที่ร้องเพลงด้วยภาษาจีนกลาง ส่วนดนตรีของชนเผ่าไต้หวันที่นำมาแสดงในงานนี้ พอผมได้ฟังเมโลดี้จากเสียงร้องของเขาแล้วก็พาลนึกถึงดนตรีพื้นบ้านของชนเผ่าที่ราบสูงทางภาคเหนือ (ซึ่งผมมีโอกาสได้ฟังสดหลายครั้งมาก ส่วนใหญ่ในงานที่จัดเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเรื่องพม่า) ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้

แน่ละว่าดนตรีพื้นบ้านหลายพื้นที่ในโลกอาจมีลักษณะบางอย่างร่วมกันอยู่ เนื่องจากมนุษย์แม้จะอยู่ในต่างวัฒนธรรมกันแต่ก็ล้วนมีความรู้สึกบางอย่างในแบบของมนุษย์ทั่วไปที่แสดงออกผ่านศิลปะที่เรียกว่าดนตรี แต่ลึก ๆ แล้วผมเชื่อว่ามันต้องมีจุดต่างที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละวัฒนธรรมอยู่

เวลาเราพูดถึงดนตรีที่เป็นพื้นฐานของโลกแล้ว มักจะมีแต่คนพูดถึงดนตรีคลาสสิก เนื่องจากประวัติศาสตร์ของดนตรีทางตะวันตกถูกรวบรวมมาสอนกันแบบนี้ (และผมเองก็ยอมรับว่าเรียนรู้ทฤษฎีอะไรหลายอย่างจากดนตรีคลาสสิกเหมือนกัน) อาจมีนักวิชาการบางสายที่เน้นไปศึกษาเรื่องดนตรีของชนเผ่าพวก Ethnic music อยู่บ้าง และมีบางคนที่เน้นพูดถึงชนชาวแอฟริกันในแง่ของความเป็นต้นธารอารยธรรมทางดนตรีที่แท้จริง (บางคนเสนอว่าจังหวะร็อคไม่ได้เพิ่งจะมีในศตวรรษที่ผ่านมา แต่มีมาตั้งแต่ชนชาวแอฟริกันรู้จักเคาะจังหวะกันแล้ว)

โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบคำว่า World music หรือ Ethnic music เท่าไหร่ คำว่า World music (ที่แปลตรงตัวว่าดนตรีโลก) มันเหมือนเป็นคำที่วงการป็อบตะวันตกคิดมาเพื่อใช้เรียกดนตรีอะไรสักอย่างที่พวกเขาไม่เคยรู้จัก และส่วนใหญ่จะเป็นดนตรีพื้นบ้าน ไม่ก็ป็อบที่มีอิทธิพลจากดนตรีพื้นบ้าน ขณะที่คำว่า โฟล์ค (Folk) กลับถูกใช้เรียกดนตรีพื้นบ้านยุโรปเสียมากกว่า

แต่ผมเชื่อว่าดนตรีมันไม่ได้มาจากที่ใดอื่นไกลนอกจากอะไรพื้น ๆ รอบตัวมนุษย์ ดนตรีป็อบหลายแขนงซึ่งปัจจุบันมีชื่อเรียกเป็นร้อยเป็นพัน มีพื้นฐานมาจากดนตรีพื้นบ้านทั้งนั้น และการเรียกว่า World music พูดตรง ๆ คือมันเหมือนการบรรจุหีบห่อแบบเอ็กโซติก (Exotic) เข้าไปแบบเหมารวม แล้วไม่ได้ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์เฉพาะของมันจริง ๆ

(...เอาง่าย ๆ มันเหมือนกับเวลาที่ชาวต่างชาติบอกว่าไอ่พวกคนจีน คนญี่ปุ่น คนพม่า นี้หน้าตาเหมือนกันไปหมด เรียกว่าเป็น World Faces ซะดีไหม)

ดนตรีบลูส์ (Blues) มันก็คือดนตรีพื้นบ้านของทาสผิวดำพลัดถิ่นที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นดนตรีที่ไม่ได้เล่นแต่กับในหมู่คนผิวดำอีกต่อไป ทั้งยังกลายเป็นพื้นฐานของดนตรีแนวอื่น ๆ ส่วนดนตรีพวกเรกเก้ และสกา ก็พัฒนามาจากดนตรีพื้นบ้านของจาไมก้าที่เรียกว่าเมนโต (Mento)

ขณะที่คำว่า Ethnic music อาจใช้อธิบายดนตรีของชนกลุ่มน้อยได้ แต่ในระยะยาวมันจะกลายเป็นการแบ่งดนตรีพื้นเมืองของพวกเขาออกจากดนตรีพื้นเมืองของ 'ชนกลุ่มใหญ่' เสียเปล่า ๆ ผมอาจคิดแบบโหดร้ายต่อผู้นิยมรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมไปเสียหน่อยว่า ในความเป้นจริงแล้วดนตรีพวกนี้ควรถูกทำให้ป็อบหรือปรับเข้ากับดนตรีร่วมสมัยให้ได้

ผมก็เป็นคนที่ไม่ได้คิดว่า เราควรรักษาความเป็นพื้นบ้านอะไรเอาไว้แบบแช่แข็ง อย่างที่ผมเปรยไว้ก่อนหน้านี้ ถ้าคนผิวสียังคงแช่แข็งบลูส์เอาไว้ ป่านนี้เราคงไม่มีแจ็ซซ์ให้ฟัง และแม้ดนตรีป็อบตะวันตก อย่างพวกร็อค หรือแดนซ์ จะมีอิทธิพลอย่างมากทั่วโลก แต่ผมเชื่อว่าตัวดนตรีป็อบในแต่ละประเทศเองก็มีคาแรกเตอร์ของมันอยู่ และตรงจุดนี้แหละคือความไร้พรมแดนที่แท้จริง

(...จุดนี้ขออภัยด้วยที่ผู้เขียนยังหาคำอธิบายเป็นทฤษฎี หรือเป็นคำพูดไม่ได้ว่ามันมีลักษณะเฉพาะยังไง แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งมันมาจากความเป็นโฟล์คในตัวของทุกคนนั่นแหละครับ)

ผู้ขึ้นเวทีรายต่อไปคือหลวงไก่ นักร้องลูกทุ่งจากภาคใต้ เป็นตัวแทนของประเทศไทยในวันนี้ อาจเป็นเพราะช่วงเวทีของเขาเป็นช่วงเวลาที่ดึกไปหน่อย และพบเจอกับวัฒนธรรมคนดูที่แตกต่าง ทำให้หลวงไก่ดูตื่นเวทีไปนิด ความพยายามแสดงให้เห็นวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างเพลงหนังตะลุง ก็ดูไม่สามารถสื่อสารกับผู้ชมได้มากนัก และโดยส่วนตัวผมคิดว่า การจะแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทย ไม่จำเป็นต้องใช้เพลงพื้นบ้านขนาดนั้นก็ได้

แต่ต่อมาหลวงไก่ก็กลับมากับดนตรีลูกทุ่งร่วมสมัยแบบไทย ๆ ในเพลงดังที่ชื่อ "ขวัญใจพี่หลวง" ซึ่งผมว่านี่แหละคือความเป็นไทยในระดับของวัฒนธรรมมวลชนจริง ๆ และเรื่องการแสดงดนตรีสดแง่มุมทางวัฒนธรรมของมันไม่ได้มีแต่เรื่องดนตรีอย่างเดียว การสื่อสาร ทักทาย หรือเอนเตอร์เทนคนดู ก็เป็นส่วนหนึ่ง

หลวงไก่และวงพยายามเอนเตอร์เทนคนดูด้วยการทักทายและปล่อยมุขกันแบบตลกคาเฟ่ แต่ในงานที่ครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติและกลุ่มคนดูที่เป็นชนชั้นกลางในเมือง เสียงตอบรับจึงเป็นความเงียบ ตรงนี้ผมแอบคิดเองเออเองว่าไม่ใช่ว่ามุขเขาไม่ขำ แต่คงเป็นเรื่องของกลุ่มคนดูเองที่ไม่ได้แสดงปฏิสัมพันธ์กับเวที

ตรงนี้หลวงไก่แกถึงขั้นแสดงความน้อยใจ เปรย ๆ ว่าได้มาแสดงเวทีแบบนี้เป็นครั้งแรก ทุกครั้งเคยแต่ไปแสดงในงานวัดให้คนที่กินเหล้าขาว ไม่เคยมาแสดงในลานเบียร์แบบนี้

แต่ชีวิตคือ เดอะ โชว์ มัสโก ออน แกยังคงไม่เลิกปล่อยมุขแม้จะไม่มีปฏิกิริยาตอบรับมากนัก (ผมเห็นมีวัยรุ่นบางกลุ่มดูเชียร์ ๆ แกอยู่) และต่อด้วยการคัฟเวอร์เพลงของเสือ ธนพล ซึ่งคนที่ผ่าน "18 ฝน" มาแล้วคงคุ้นเคยดี

จบงานในคืนนี้แม้ว่าดนตรีต่างชาติ ต่างภาษา จะสามารถข้ามผ่านพรมแดนของผู้ฟังในคนละซีกโลกได้ ผมอาจจะยินดีกับการที่ผู้จัดสนใจศิลปินเป็น Mass อย่างหลวงไก่ นำมาขึ้นเวทีเดียวกับศิลปินหลากหลายชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีพรมแดนบางอย่างในระดับของกลุ่มผู้ฟังที่ท้าทายให้ก้าวข้าม

พรมแดนทางรสนิยมยังคงบดบังให้ผู้ฟังดนตรีคลาสสิคหลายคนดูถูกดนตรีป็อบ ผู้ฟังดนตรีป็อบกระแสหลักทับถมดนตรีป็อบกระแสรอง เหล่าผู้ฟังกระแสรองก็เดียจฉันท์กระแสหลักเป็นการตอบโต้

ผมออกจากลานที่เต็มไปด้วยการสังสรรค์ของแสงสีที่หลากหลาย มานั่งครุ่นคิดถึงโลกความจริง

...คลอด้วยเสียงเพลงโฆษณาในรถไฟฟ้า ที่ให้ความรู้สึกต่างจากจังหวะกลองแอฟริกันโดยสิ้นเชิง

สุดท้ายนี้ก็ขอเก็บบรรยากาศงานวันแรกมาฝากกันหน่อย
ต้องขออภัยด้วยที่คุณภาพไม่ดีเท่าไหร่ทั้งจากคุณภาพกล้องและฝีมือคนถ่ายเอง

(...ช่วงท้าย ปลาย ๆ นาทีที่ 2 มีเซอร์ไพรซ์ ...This is it!!)
 

อยู่อยุธยา

19 August, 2008 - 01:47 -- parid

   

ขึ้นหัวไว้ไม่ได้หมายความว่าตัวผมเองกำลังหลบหน้าหลบตาไปอยู่ที่อยุธยาแต่อย่างใด ช่วงที่หายไปเพราะจำต้องไปปฏิบัติภารกิจทั้งส่วนตัวและไม่ส่วนตัว พอได้จังหวะแล้วจึงเข้ามาเขียนงานที่ห่างหายไปนานอีกครั้ง

หลายคนคงนึกได้แล้วว่าหมายถึงผลงานใหม่ของมาโนช พุฒตาล ซึ่งผมได้ซีดีผลงานล่าสุดของเขา ทั้งสองชิ้นมาพร้อมกันมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสได้ฟังเมื่อไม่นานมานี้เอง

สิ่งที่ผมหวังจากชื่อมาโนช พุฒตาลคือตัวงานดนตรีหลังจากที่เขาห่างหายจากการออกอัลบั้มเพลงไปพักนึง ("ชีวิตที่เจ็บปวดของคนป่วย" เหมือนออกมาให้หวังอะไรบางอย่างเล่น ๆ แล้วก็หายไป) เราอาจได้รู้จักเขาในฐานะนักจัดรายการวิทยุในคลื่นที่ปิดตัวลงไปแล้ว ใครหลายคงติดใจในท่วงท่าลีลาการจัดรายการของ "บุตรนายเฉลียวกับนางอำไพ" คนนี้ ขณะที่บางคนอาจคิดถึงเขาในฐานะคนทำดนตรี โดยเฉพาะแนวโปรเกรสซีฟ ร็อค อย่างอัลบั้ม "ในทรรศนะของข้าพเจ้า" ที่คมคายทั้งเนื้อหาและตัวเพลง แล้วเชื่อได้ว่าต้องมีคนที่ชื่นชมตัวเขาในทั้งสองบทบาท

ผมเปิดแผ่นลำดับที่หนึ่ง "อยู่อยุธยา" เล่นไปในขณะที่ครุ่นคิดถึงเจตนาว่าทำไมมาโนช พุฒตาลที่มีต้นทุนทางสังคมอยู่พอสมควรถึงเลือกทำงานแบบต้นทุนต่ำ ทำแบบ Self-Release ไม่พึงพาค่ายใด หรือเป็นเพราะบริบททางธุรกิจดนตรีในปัจจุบัน ทำให้เลือกเล่นกับพื้นที่ที่ต่างออกไป คิดในแง่ร้ายกว่านี้หน่อยคือนี่เป็นช่องทางเดียวที่เหลือ

 


In ayuthaya

 (ในครั้งนี้ผู้เขียนเองขออนุญาตใช้รูปแบบถ่ายเองนะครับ เนื่องจากรูปอัลบั้มสองอัลบั้มนี้หายากมาก
อาจจะดูขัด ๆ ตาหน่อย Wink)

 

ผลงานลำดับที่หนึ่ง  "อยู่อยุธยา" เป็นงานเดี่ยวที่แบ่งเป็นสองแทร็ก แทร็กแรกเป็นเพลงที่เจ้าตัวบอกว่าเอาเพลง "อยุธยา" (เมืองเก่าของเราแต่ก่อน) มาร้องเล่นจนแปลงเนื้อเป็นของตนเองกลายเป็นเพลงยาวสิบนาที (มีแทรกเล่าเรื่องในช่วงกลางเพลง) ส่วนแทรกที่สองยาวยี่สิบกว่านาที จริง ๆ แล้วตัวเพลงเป็นเพลงเดียวกับแทร็กแรกแต่คราวนี้ตัวอาซัน (มาโนช) เองออกมาพูดอธิบายความเพิ่มเติมในแต่ละท่อนด้วย

ด้วยความเป็นงานแบบอะคูสติกแบบเรื่อย ๆ ที่ไม่มีการเล่นแบบร็อคที่หนักแน่น หรือการเรียบเรียงที่ซับซ้อนสำหรับผู้ที่หวังจะได้ฟังงานแบบเดียวกับอัลบั้ม ".ในทรรศนะของข้าพเจ้า" คงมีผิดหวังกันไปบ้าง แต่สำหรับคนที่ชอบแกจัดรายการวิทยุ เจอเล่นไปพูดไปแบบนี้คงหายคิดถึงกันไปหลายโยชน์

อย่างไรก็ดี บรรยากาศของเพลงโฟล์คแบบ "มาเดี่ยว" ของแกก็ยังมีเสน่ห์ไปอีกแบบ ไม่นับว่าเนื้อเพลงนี้ฟังก็รู้ว่าเขียนออกมาจากใจ ใช้ภาษาง่าย ๆ แต่เล่าเรื่องได้เห็นภาพ มีแกมขี้เล่นเสียเล็กน้อย เคร่งขรึมขึ้นบ้างในช่วงหลัง เขาเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของอยุธยาเมื่อ 20 ปีที่แล้วกับปัจจุบัน แน่นอนว่าตัวเพลงมันต้องสะท้อนและวิพากษ์สภาพในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็มีอารมณ์แบบโหยหาอดีตกวักมือเชื้อชวนอยู่อย่างเสียมิได้

ผมฟังไปต้องระวังไป เพราะแม้จะไม่ได้อยู่อยุธยาเอง แต่ภาพสวย ๆ ของอยุธยาเมื่อยี่สิบปีที่แล้วจากถ้อยเสียงบอกเล่าของอาซันมันก็ชวนให้ถูกฉุดไปอยู่ในเวลานั้นแล้วปฏิเสธปัจจุบัน ผมชอบเนื้อเพลงที่ฟังดูมาจากใจ แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเห็นด้วยเสียหมด

อัลบั้มลำดับแรกเป็นเหมือนการทักทายเรียกน้ำย่อยก่อนจะมาถึงอัลบั้มลำดับที่สอง ที่คราวนี้ร่วมทำงานกับ สมพงศ์ ศิวิโรจน์ อดีตมือกีต้าร์วงมาลีฮวนน่า ในชื่อที่ตรงไปตรงมาเอามาก ๆ อย่าง "มาโนช พุฒตาล บุตรของนางเฉลียวกับนางอำไพ & สมพงศ์ ศิวิโรจน์ บุตรของนายเลื่อนกับนางซุ่นลิ่น"

ในอัลบั้มนี้มีเพลง 4 เพลง และมีการพูดคุยถึงเบื้องหลังและแรงบันดาลใจในรูปแบบกึ่ง ๆ รายการวิทยุอีก 3 แทร็ก ต่อกัน อย่างเพลง "(กนกพงศ์) คนฟังเสียงฝน" ที่นอกจากจะเป็นเหมือนเพลง Tribute ให้กับกนกพงศ์ สงสมพันธ์ ผู้จากไปแล้ว ทางอาซันเองก็บอกว่ามันแต่งออกมาจากความประทับใจในเวลาได้ฟังเสียงฝนด้วย ดนตรีในเพลงนี้มีท่อนเวิร์สที่ฟังแล้วชวนให้นึกถึงโฟล์คนิ่ง ๆ ของ นิค เดรก แถมยังได้กีต้าร์ติดบลูส์แซมมาอย่างได้อารมณ์

ในส่วน "เพลงช้าง" เป็นเพลงที่มาจากแรงบันดาลใจของ สมพงศ์ ศิวิโรจน์ ที่เริ่มมาจากการตั้งคำถามว่าขณะที่มีคนบอกว่าช้างใกล้สูญพันธุ์ แต่กลับเจอช้างอยู่ได้บ่อย ๆ ตามถนนหนทาง เริ่มมาก็เว่ากันซื่อ ๆ และสมพงศ์เองก็เล่นยังคงเล่นบทบาทเว่ากันซื่อ ๆ ตลอดทั้งเพลงจึงให้อารมณ์แบบเพลงพูดขี้เล่น ๆ อยู่อย่างเสียมิได้ หีบเพลงปากกับเสียงคอรัส มีช้าง-มีช้าง-มีช้าง ยิ่งช่วยขับเน้นความขี้เล่นเสียจนอาจทำให้รู้สึกฉงนฉงายว่าต้องการสื่อเรื่องช้างหรือมากกว่านั้น แม้จะได้ฟังเจ้าตัวพูดถึงแรงบันดาลใจเอง ก็ยังไม่ค่อยเชื่ออยู่ดี ดันไปรู้สึกว่าเขาพูดความจริงไม่หมดเสียนี่

"บอกดวงจันทร์ฉันเหนื่อย" เป็นเพลงเรียบ ๆ ที่ผมดันฟังแล้วชอบเอามาก ๆ อาซันบอกว่าเนื้อเพลงนี้เริ่มมาจากอารามอยากมีเพลงที่พูดถึงดวงจันทร์อย่างศิลปินอื่น ๆ เขาบ้าง (เช่น Cat Steven มี Moonshadow อะไรแบบนี้เป็นต้น)  เนื้อเพลงที่พูดถึงทั้งความรักและชีวิตในแบบคนที่ผ่านโลกมานาน แม้เพลงจะจบได้แบบยังไม่ถึงฝั่งเท่าไหร่ก็ตาม

"อย่าสิ้นหวัง" เป็นโฟล์คมาตรฐานสุด ๆ มีทั้งเนื้อหาและดนตรีที่อาจหาฟังได้เมื่อสัก 10-20 ปีมาแล้ว ไม่รู้ว่าจงใจหรือเป็นเพราะเสียงร้องของสมพงศ์ ด้วยหรือเปล่าที่ทำให้รู้สึกว่าเพลงนี้มันแอบ Lo-fi ทำให้ยิ่งเหมือนกับกำลังฟังจากเทปคาสเซทท์ยังไงอย่างนั้น เหมาะกับคนที่ชอบอะไรแบบโอลดี้วินเทจจ์ดีจริง

ในอัลบั้มหลังนี้ยังคงเป็นโฟล์คที่มีทั้งความขี้เล่นและลุ่มลึก อาจจะดูมีอะไรเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาหน่อย ช่วงพูดคุยในตอนหลัง (ซึ่งยาวกินเวลาเกินครึ่งแผ่น) ฟังดูธรรมชาติเป็นกันเอง ทั้งมาโนชและคุณสมพงษ์เองยังพอกันตั้งคำถามกลัวว่าการที่ออกมาพูดถึงแรงบันดาลใจในเพลงต่าง ๆ มันจะจำกัดจินตนาการ จำกัดการตีความของคนฟังหรือเปล่า

ผมก็แอบตอบให้ตรงนี้เลยว่า สำหรับผมแล้ว ไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ มันอาจลดเสน่ห์ในความ "กำกวม" ไปบ้าง (แม้แต่เพลงช้างที่สุดจะตรงไปตรงมา...เว้ากันซื่อ ๆ ขนาดไหน ผมเองก็ยังไม่วายสงสัยว่ามันต้องแอบซ่อนอะไรอยู่) แต่ก็ทำให้งานดูกระจ่างแจ่มแจ้งดี อีกนัยหนึ่งก็แสดงความใกล้ชิดระหว่างผู้ผลิตกับผู้เสพงาน ยิ่งแทร็กที่พูดถึงแรงบัลดาลใจใน "อยู่อยุธยา" นี้ ยิ่งทำให้รู้สึกตัวเพลงดูมีพลังขึ้นด้วยซ้ำ

การเผยถึงแรงบันดาลใจจะไม่เป็นปัญหาตราบใดที่มันไม่ถูกผูกขาดทำให้เป็น "ความจริงหนึ่งเดียว"และผมเป็นคนเชื่อว่า ผลงานนั้นแยกออกมาจากตัวศิลปิน หากมีใครตีความเนื้อหาแย้งไปจากที่ศิลปินออกมาบอกเอง ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เผลอ ๆ ความเห็นของเขาอาจจะสะกิดให้ตัวศิลปินเองนึกอะไรบางอย่างเพิ่มเติมออกก็ได้

ผมถึงคิดว่า "อยู่อยุธยา" จึงเป็นอัลบั้มที่เหมาะแก่การพักผ่อนสำหรับคนที่เจอเรื่องยุ่งยาก และยังคงรู้สึกยากลำบากกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย (ผมเองก็เป็น) ให้ได้เห็นภาพอดีตหวาน ๆ (ที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของ) ชั่วคราว แล้วก็ตื่นขึ้นมาต่อสู้กับกงล้อของการเวลาที่หมุนต่อไป

.

.

ในโลกที่ไม่มี "ความจริงหนึ่งเดียว" ให้ต้องเชื่อตามอีกแล้ว

ชีวิตปุถุชนและการเปลี่ยนแปลงใน Viva la Vida ของ Coldplay

21 June, 2008 - 00:27 -- parid
http://parid.prachatai.com/wp-content/viva-la-vida.jpg

ช่วงที่ผ่านมาผมขอลาพักจากการเขียนคอลัมน์ไปชั่วคราว ไม่ได้ลากิจ และยังไม่ได้ลาออกจากการเขียนคอลัมน์แน่นอน เพียงแต่หลบจากความเหนื่อยล้าจากหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อไปเติมพลังให้ตัวเองเท่านั้น

ในช่วงที่พักจากการเขียนคอลัมน์ไป ก็คิดว่าจะลองหลบมุมสงบ ๆ อยู่ ปิดหูปิดตาตัวเองจากสิ่งรอบข้างดูสักพัก … แต่แล้วก็ไม่สำเร็จ ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวบางอย่างที่ทำให้ผมต้องรู้สึกถึงความย่ำแย่ น่าเบื่อหน่ายไม่รู้จบของประเทศที่ผมอยู่อีกครั้ง

จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่ง (ซึ่งสื่อบางแห่งดูจะพยายามแปลงให้เขากลายเป็นเพศอื่นอยู่เสมอ…ซึ่งผมว่าเขาคงไม่เดือดร้อนอะไร) เขาไม่ได้เป็นคนดีอะไรนักหนา แต่ก็ไม่ได้เป็นคนเลวขนาดที่ว่าเห็นแล้วต้องเบือนหน้าหนี เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่บังเอิญมีโอกาสสวมสูทออกทีวีให้พวกท่านได้หาเรื่องด่าอยู่เสมอเท่านั้น

สิ่งที่ทำให้ผมหงุดหงิดคือ เขาถูกรังแกด้วยเรื่องที่ฟังดูขำขันเหลือเกินในโลกที่ Freedom of Speech ควรจะเป็นของประชาชนได้แล้ว เป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐบาล แต่ไม่เห็นมีใครออกมาวิจารณ์พวกนี้ในพื้นที่สาธารณะบ้าง การวิจารณ์รัฐบาล (ที่แม้จะมาจากการเลือกตั้ง) เป็นเรื่องดี ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าโครงสร้างอำนาจรัฐมันมีมากกว่ารัฐบาล มันยังมีผู้ที่คอยออกมาโจมตี ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายแค้นหรือพวกขุนนางกังฉินทั้งหลาย ซึ่งพวกหลังนี้รอดพ้นการวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ทุกครั้ง

เป็นเรื่องธรรมดาในวงการนี้ที่มีแพ้มีชนะ ท่ามกลางผู้คนที่ต้องสูดกลิ่นเน่าเหม็นของมันต่างรู้เรื่องนี้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ถูกรังแกไล่ต้อนจนมุมโดยพวกขุนนางอำนาจนิยมจะแพ้พ่ายเสมอไป เพราะปลาบางตัวมันทำเบ่งใหญ่ได้แต่ในหนองน้ำเล็ก ๆ ที่มันคิดว่านั่นเป็นทั้งโลกของมันแล้ว แต่ไม่รู้หรอกว่าเมื่อหนองน้ำเล็ก ๆ นั่นกลายเป็นบึงใหญ่ขึ้นมา มันอาจจะต้องเจอปลาอีกกี่ตัวที่ใหญ่กว่ามันโดยไม่ต้องเบ่ง

01011001 : นิยายวิทยาศาสตร์ในร็อคโอเปร่า และการตามหาวิหคเพลิง

10 May, 2008 - 02:30 -- parid

 

นิยายวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเล่าอิงจินตนาการพร้อมกับความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ นักทฤษฎีแบ่งนิยายวิทยาศาสตร์ออกไว้เป็นสามยุคใหญ่ ๆ คือ ยุคคลาสสิก' ที่มักพูดถึงอนาคตภายใต้อวกาศกว้างใหญ่ไพศาล มองอนาคตอย่างก้าวหน้าและอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งความเจ็บปวดหลังยุคอุตสาหกรรมที่ยังมีการกดขี่กันของมนุษย์ทำให้ ยุคที่สอง' ของนิยายวิทยาศาสตร์เริ่มมีท่าทีวิพากษ์สังคมเข้ามาปะปน บางเรื่องก็มีประเด็นทางสังคม อย่างการเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ บ้างก็มีจินตนาการของรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ มาจนถึง คลื่นลูกที่สาม' ก็มองโลกในแง่ร้ายอย่างสุดกู่

จินตนาการก้าวหน้า ล้ำสมัย ไม่ได้ทำให้มนุษย์เดินทางไปบนเส้นทางที่น่าพิศมัย แต่กลับสร้างโลกแบบ Dystopia ขึ้นมา โดยได้อิทธิพลจากแนวคิดหลังสมัยใหม่และภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์

เนื้อหาเชิงนิยายวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักปรากฏอยู่ในงานแนว Progressive Rock และ Industrial บางสาย และ Ayreon ซึ่งเป็นวงโปรเจกท์จากมันสมองของ Arjen Lucassen ก็เล่นแนว Progressive Rock/Metal โดยมีเนื้อหาแบบนิยายวิทยาศาสตร์อยู่แทบทุกอัลบั้ม

ในอัลบั้มล่าสุดที่ใช้ชื่อเป็นเลขดิจิตอลคือ 01011001 ก็ยังคงมีเนื้อหาวิทยาศาสตร์เชิงจินตนาการอยู่เช่นเคย และดูเหมือนจะอ้างอิงไปถึงเนื้อหาจากอัลบั้มเก่าๆ แบบไม่ต่อเนื่องกันด้วย

01011001 เป็นตัวเลขดิจิตอลที่แปลงออกมาได้เป็นตัวอักษร Y ชื่อของดาวเคราะห์ที่กลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่า Forever อาศัยอยู่

พวก Forever นี้เองเป็นสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการ (?) จนเป็นอมตะและไร้ความรู้สึก (อาจจะไม่ถึงขั้นโดยสิ้นเชิง) พวกเขาอยู่กับความอมตะของตัวเองไปเรื่อยๆ อย่างไร้ความหมาย ต่อมาพวกเขาจึงคิดจะสร้างมนุษย์ขึ้นมาบนโลกโดยการส่งรหัสพันธุกรรมผ่านมากับอุกกาบาต พวก Forever หวังว่ามนุษย์จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ สำเร็จลุล่วง' แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อการเวลาผ่านไป มนุษย์เริ่มทำลายกันเองจนกระทั่งสูญสิ้น

ตัวเนื้อหาของอัลบั้มนี้ทำให้ผมนึกถึงการ์ตูนเรื่อง ฮิโนโทริ - วิหคเพลิง' ผลงานของ เท็ตสึกะ โอซามุ' อย่างเสียมิได้ โดยเฉพาะภาคโลกอนาคต ฮิโนโทริเป็นเรื่องเล่าของวิหคเพลิงอมตะ (น่าจะเอามาจากตำนานนกฟินิกซ์) ที่มีคนเชื่อว่าหากได้ดื่มเลือดนกตัวนี้แล้วจะมีชีวิตนิรันดร์ไม่แก่ไม่ตาย เรื่องของวิหคเพลิงมีอยู่หลายตอน บางตอนมีเนื้อเรื่องภายใต้ฉากแบบย้อนยุค (อาจอิงประวัติศาสตร์เล็กน้อย) ขณะที่บางตอนมีฉากเป็นโลกอนาคต (เล่าแบบนิยายวิทยาศาสตร์)

มีอยู่ตอนหนึ่งเล่าถึงเมืองย้อนยุคที่มีราชินีชื่อ ฮิมิโกะ' ตั้งตัวเป็นสมมติเทพ ไม่ว่าจะทำนายอะไรผู้คนก็จะต้องเชื่อ (หรือถูกบังคับให้เชื่อ) แต่คำทำนายหรือคำสั่งของราชินีฮิมิโกะ ก็มักจะนำมาซึ่งความสูญเสียของผู้บริสุทธิ์ ผู้คนที่ไม่ทำตามคำสั่ง (แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม) จะถูกลงโทษ แต่ถึงจะมีอิทธิพลมากมาย ราชินีฮิมิโกะก็เป็นมนุษย์ที่มีเกิดแ่ก่เจ็บตาย เมื่อเธอพบว่าตัวเองแก่ตัวลงก็เริ่มหมกมุ่นอยู่กับการสั่งให้คนตามล่าวิหคเพลิง เพื่อตนจะได้ดื่มเลือดแล้วเป็นอมตะ การหมกมุ่นอยู่กับการตามหาวิหคเพลิงทำให้สุดท้ายบ้านเมืองก็ระส่ำระส่ายและค่อยๆ อ่อนแอลงเรื่อยๆ

ในภาคโลกอนาคต พูดถึงการที่มนุษย์ต้องลงไปสร้างเมืองกันอยู่ใต้ผืนโลกเพราะบรรยากาศบนโลกนั้นเป็นที่ๆ มนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป (เว้นแต่นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องคนหนึ่งที่อาศัยในโดมเฉพาะ และพยายามสร้างชีวิตใหม่ให้อยู่บนผิวโลกแบบนี้ได้) แต่ถึงแม้พัฒนาการทางเทคโนโลยีจะก้าวไกลขนาดไหน อะไรอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย

หากในตอนย้อนยุคผู้คนเชื่อคำทำนายและ (จำต้อง) ทำตามคำสั่งของราชินีจนบ้านเมืองอ่อนแอ ผู้คนในยุคอนาคตก็มีสิ่งที่เรียกว่า สมองกล' คอยคำนวนสิ่งต่างๆ และสั่งออกมาให้คนต้องทำตาม สมองกล แม้ว่าจะมีคณะผู้แทนฯ แต่พวกเขาส่วนใหญ่เชื่อการคำนวนของ สมองกล' ไร้หัวจิตหัวใจ มากกว่าจะเชื่อมนุษย์ที่มีความรู้สึกด้วยกันเอง สมองกล' สั่งให้ยืนก็ต้องยืน สั่งให้นั่งก็ต้องนั่ง จนกระทั่งมีคนใช้การคำนวนของ สมองกล' มาเป็นข้ออ้างในการประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม มนุษย์ยุคอนาคตทำสงครามกันเองจนกระทั่งสูญสิ้นไป

มันคือความงมงายที่ต่างยุคสมัย มนุษย์ยุคหนึ่งเจ็บปวดยากแค้นจากคำทำนายของสมมติเทพที่มนุษย์สมมติกันขึ้นมาเอง ขณะที่อีกยุคหนึ่งต้องมาทำลายกันเพียงเพราะเชื่อในสิ่งไร้ชีวิต...ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเองเช่นกัน

กลับมาที่ Ayreon จากอัลบั้มก่อนๆ ที่มีทั้งการเดินทางผ่านห้วงอวกาศและกาลเวลาไปสำรวจประวัติศาสตร์ จนถึงอัลบั้มก่อนหน้าคือ The Human Equation หรือ สมการมนุษย์' ที่เน้นดำดิ่งลงไปสำรวจจิตใจมนุษย์ผ่านความรู้สึกหลากหลาย สำหรับอัลบั้ม 01011001 ก็เน้นกลับมาพูดถึงการเดินทางผ่านห้วงอวกาศอีกครั้ง

เนื้อหาของ 01011001 ได้ผสมผสานกับแนวคิดหลากหลายจากนิยายวิทยาศาสตร์ไว้แบบที่คอแนว Sci-fi คงคุ้นเคยกับมันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่อง ผู้สร้าง' ที่เป็นสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการสูงจากแดนไกลโพ้น เรื่อง Missing Link ของวิวัฒนาการมนุษย์ อุกกาบาตที่นอกจากนำพาความวินาศมาแล้ว ยังนำพาการกำเนิดใหม่มาด้วย ฯลฯ

นอกจากเรื่องราวที่ร้อยกันเป็น Concept album แล้ว อัลบั้มนี้ก็มีแบบฉบับของ Arjen อีกอย่างคือการที่เขาได้เชิญแขกรับเชิญจากหลายวงมาร่วมโปรเจกท์ โดยเฉพาะนักร้องที่มาร่วมขบวนกันคับคั่งโดยมีทั้งนักร้องนำชายหญิงจากวงเมทัลหลากหลายแนว แน่นอนว่า 01011001 จะต้องเป็นอัลบั้ม ร็อคโอเปร่า' อลังการอีกอัลบั้มหนึ่งของ Arjen อย่างไม่ต้องสงสัย

หากเทียบกับ The Human Equation ที่ให้นำหนักของเสียงร้องที่ตอบโต้กันแบบโอเปร่าแล้ว ทั้งการใช้เสียงร้องและดนตรีใน The Human Equation ฟังดูมีเอกลักษณ์ เต็มไปด้วยสีสันและความมีชีวิตชีวา ขณะที่ 01011001 ฟังดูเยือกเย็น ทึมทืบ และไร้ชีวิต ซึ่งน่าจะเป็นความจงใจให้เข้ากับคอนเซปท์ที่แตกต่าง เพราะ สมการมนุษย์' นั้นมีการปะทะกันระหว่างความโกรธแค้น ความเจ็บปวด ความหวัง ความรัก ความรู้สึกผิด ความหยิ่งยโส ความปรารถนา การใช้เหตุผล ฯลฯ ขณะที่อัลบั้มหลังนี้พูดถึงสิ่งมีชีวิตแต่ไร้ชีวา-ปลอดความรู้สึกอย่างพวก Forever

ในช่วงแรกๆ ของอัลบั้ม เพลง Age of Shadow, Comatose, Liquid Eternity เป็นฉากบรรยายสภาพความมีชีวิตอย่างไร้ชีวาของ Forever และมี Forever จำนวนหนึ่งคิดอยากจะกลับไปมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดิม บางทีอาจถึงขั้นเฝ้าฝันจะกลับไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเกิดดับแบบเดิม ไม่ใช่พวกอมตะอย่างที่เป็นอยู่ ขณะที่ Forever อีกจำนวนหนึ่งทัดทาน...เพลงเปิดคือ Age of Shadow ทำออกมาได้หนักแน่นและเผยบรรยากาศของความเป็นจักรกลปลอดความรู้สึกได้อย่างดี

"Would you prefer the pain and suffering we had?
Would you prefer to be in peril, even dead?
Would you prefer to live the life we've loved to play?
Would you prefer to live a mortal life instead?"

"คุณอยากกลับไปมีความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมานเช่นที่เคยมีน่ะหรือ?
คุณอยากกลับไปพบกับภัยอันตราย กระทั่งความตายน่ะหรือ?
คุณอยากกลับไป ใช้ชีวิตที่พวกเราละเลงเล่น?
คุณอยากกลับไป มีชีวิตเยี่ยงสัตว์โลกที่แก่ตายได้น่ะหรือ?"

- Liquid Eternity -

เพลงในอัลบั้มนี้เล่าเรื่องสลับกันไประหว่างฝ่าย Forever กับชีวิตของมนุษย์บนโลกในยุคร่วมสมัย ซึ่งโทนของดนตรีจะปรับให้ฟังง่ายและฟังดูร่วมสมัยตามเนื้อหาไปด้วย เช่นเพลง Connect the Dots เป็นเพลงที่ดนตรีเรียบง่ายและสะท้อนภาพชีวิตวัยทำงานของชนชั้นกลางไว้อย่างตรงไปตรงมา

"I hugged the wife and drove to work today
It was only a few miles
Was in a hurry but the lights were changing up ahead
So I stepped on the gas

I checked the web and left it on over night
Downloading all the latest files
Fear, revere, the torrent flows into my lap
And I disconnect"

 "ฉันกอดภรรยาก่อนขับรถออกจากบ้านไปทำงาน
ทั้งที่ระยะทางก็แค่ไม่กี่ไมล์
ฉันรีบมากแต่สัญญาณไฟก็เปลี่ยนอย่างไม่เป็นใจ
เลยเหยียบคันเร่งให้รถพุ่งไป

ฉันเปิดเว็บและปล่อยมันทิ้งไว้ทั้งคืน
เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ใหม่ล่าสุด
หวาดกลัวระคนยำเกรง ไฟล์ทอร์เรนต์ไหลมาสู่หน้าตัก
แล้วฉันก็หยุดเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์"

- Connect the Dots -

เพลงนี้จบด้วยประโยค "เราอาจจะตายในวันพรุ่ง แต่ก็มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้" (We're dying tomorrow. We're living for today.) อีกเพลงที่พูดถึงชีวิตมนุษย์ร่วมสมัยคือ Web of Lies บัลลาดนุ่มๆ ที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวสองคนคือ PX กับ Simone ที่คุยกันผ่านอินเทอร์เน็ต

แม้ในเนื้อหาจะไม่สื่อไปในทางบวกหรือลบ แต่ชื่อเพลงมัน (ซึ่งจะแปลว่า โครงข่ายแห่งการหลอกลวง' หรือ เว็บแห่งการหลอกลวง' ก็ได้) ดูจะสะท้อนการมองโลกในแง่ร้ายของ Arjen อยู่พอสมควร

Arjen Lucassen

เพลง Beneath the Waves, Newborn Race และ Ride the Comet ก็เล่าเรื่องของการที่พวก Forever ต้องการสร้างชีวิตใหม่บนโลกโดยผ่านรหัสพันธุกรรมที่ส่งไปพร้อมกับอุกกาบาต สองเพลงแรกค่อยๆ บิวท์ส่งมาถึงเพลง Ride the Comet ที่หนักแน่นเต็มพลังร็อคโอเปร่าภายใต้ฉากแบบอวกาศล้ำยุค

มาจนถึง The Fifth Extinction ที่ทรงพลังไม่แพ้เพลงเปิดอัลบั้ม เล่าถึงอุกกาบาตที่ถูกส่งมาบนโลกจนทำให้เกิดการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ของเจ้าโลกในยุคนั้น คือ ไดโนเสาร์ (เพลงจะเรียกอ้อมๆ ว่า Reptile-สัตว์เลื้อยคลาน) ตามด้วย Waking Dreams ที่มีคอรัสสวยๆ และโซโล่คีย์บอร์ดเพราะพริ้งพูดถึง Missing Link ที่ทำให้เกิดการวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์

The truth is in here ย้อนกลับมาเล่าเรื่องของมนุษย์ร่วมสมัย พูดถึงชายผู้หนึ่งชื่อ Mr.L คุยให้ฟังว่าได้ฝันเห็นภาพอนาคตที่เย็นยะเยือกไร้ชีวิต แต่พยาบาล (ซึ่งเสียงอย่างกับหุ่นยนต์) ก็บอกว่าเขาแค่เพ้อและควรได้รับการพักผ่อน เพลงที่ผมชอบมากอีกเพลงคือ Unnatural Selection ที่มี Forever สองฝ่ายเห็นการพัฒนาของมนุษย์แล้วมีความเห็นต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ามนุษย์เป็นชีวิตที่งดงาม ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าพวกนี้จะลุกขึ้นมาทำลายกันเองในที่สุด ลูกเล่นบางส่วนของเพลงนี้ฟังดู Sophisicate ไปหน่อย แต่นับว่าเป็นเพลงที่เรียบเรียงดนตรีได้ดีมากเพลงหนึ่งทีเดียว

"Can you see the fire in their eyes?
Can you hear the anguish in their cries?
Can you see the beauty in their eyes?
Can you sense the love within their hearts?
I can taste the freedom we once had
I can touch their pain when they feel sad
I can smell the fragrance of the air
I remember times we used to share"

"คุณมองเห็นไฟคุโชนในแววตาของพวกเขาไหม?
คุณได้ยินความรวดร้าวจากเสียงร้องของพวกเขาไหม?
คุณมองเห็นความงามในดวงตาพวกเขาหรือเปล่า?
คุณรู้สึกถึงความรักในหัวใจของพวกเขาไหม?
ฉันได้ลิ้มรสชาดของอิสรภาพที่พวกเราเคยมี
ฉันสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดยามพวกเขาเศร้า
ฉันได้กลิ่นหอมหวนอวลอยู่ในอากาศ
ฉันจดจำถึงวันเวลาที่พวกเราเคยใช้ร่วมกันได้"

- Unnatural Selection -

แต่ในอัลบั้มร็อคโอเปร่าที่เย็นเยือกทืมทึบก็ไม่ปล่อยโอกาสให้มองอะไรในแง่ดีกันมากนัก เพราะจุดจบของอัลบั้มนี้คือ The Sixth Extinction ที่ไม่ปราณีกับความรู้สึกอ่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น เป็นจุดจบแบบเดียวกับเรื่องวิหคเพลิงในภาคอนาคต

ผลงานชุดล่าสุดของ Ayreon นี้มีเนื้อหาที่เชื่อมโยงไปถึงอัลบั้มเก่าๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น The Final Experiment, Universal Migrator แม้กระทั่งอัลบั้มที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศอย่าง The Human Equation ก็มีเนื้อหาบางอย่างเชื่อมกับอัลบั้มนี้อยู่เหมือนกัน

ในประโยคสุดท้ายของอัลบั้ม The Human Equation คือ "Emotion...I Remember" (ความรู้สึกหรือ...ฉันนึกออกแล้ว) โดยที่ใน 01011001 เองส่วนหนึ่งก็พูดถึงการต่อสู้กันระหว่างความด้านชา กับความเป็นมนุษย์ที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก

แน่นอนว่าจินตนาการเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์ และในเรื่องเล่าแนววิทยาศาสตร์นี้เอง ไม่ว่ามันจะพูดถึงความวิจิตรสวยงามของเทคโนโลยี หรือโลกอนาคตที่น่าหวาดผวาก็ตาม มันก็เป็นจินตนาการของโลกในวันพรุ่ง ที่เชื่อมโยงกับโลกในวันนี้อยู่ไม่มากก็น้อย

ผมหวังแค่ว่า เราจะได้เห็นโลกในจินตนาการที่ผู้คนพ้นไปจากความงมงาย
ไม่ว่าจะจาก สมองกล' หรือ สมมติเทพ' ก็ตาม

 

 

Dropkick Murphys วงดนตรีขวัญใจสหภาพแรงงานจากบอสตัน

3 May, 2008 - 13:08 -- parid

 

"The disgraced values of the company man
Are why you fight and sacrifice
Don't bend or break for their one-way rules
Or run from battles you know you'll lose"

"คุณค่าของคนทำงานที่ถูกลดทอน
คือเหตุผลที่คุณเสียสละ ต่อสู้ และวิงวอน
คุณไม่อาจฝ่าฝืนกฏเหล็กของพวกเขาได้
หรือแม้จะทั่งจะหนีจากการดิ้นรนที่คุณรู้ว่าจะแพ้โดยไม่อาจทำอะไร"

- Tomorrow's Industry

Dropkick Murphys เป็นวงพังค์ร็อคที่มาจากการรวมตัวของชาวไอริชที่อพยพมาอาศัยในเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐฯ มีผลงานที่พอให้คนต่างแดนได้รู้จักบ้างคือเพลงประกอบภาพยนตร์ The Departed ที่ชื่อ "I'm Shipping Up to Boston" นักวิจารณ์บางแห่งบอกว่าเพลงนี้ส่งกลิ่นอายของความกร้าวแกร่งแบบคนงานคอปกน้ำเงิน

dropkick-murphys.jpg

วงชื่อแปลกวงนี้รวมตัวกันครั้งแรกในช่วงกลาง 90's พวกเขาเริ่มเล่นดนตรีกันโดยอาศัยชั้นใต้ดินในร้านตัดผมของเพื่อนเป็นที่จัดแสดง พอพบว่ามีคนชอบก็เริ่มอัดอัลบั้มและออกทัวร์ โดยในยุดแรก ๆ Dropkick Murphys เล่นพังค์ในแนวย่อยที่เรียกว่า Oi!

ต้องอธิบายสักนิดว่าแนวที่ชื่อว่า Oi! (แปลกพอ ๆ กับชื่อวง)  นี้เป็นพังค์ที่เดิมทีมาจากชนชั้นแรงงานอังกฤษ พวกแนวนี้ไม่ค่อยเล่นเนื้อหาการเมืองเท่าไหร่ แต่จะเน้นพูดถึงชีวิตประจำวัน บางครั้งก็พูดถึงฟุตบอล เหล้ายาปลาปิ้ง มีบ้างที่บางครั้งก็ต่อยอดไปถึงสังคมได้อย่างเรื่องถูกปลดจากงาน ด่าตำรวจ จิกรัฐบาล (สองอย่างหลังนี้ก็มีในพังค์แนวอื่น ๆ เหมือนกันครับ)

จะว่าบางทีในความเป็นเนื้อหาแบบ Oi! มันก็เป็นภาพสะท้อนสังคมในอีกแบบ ที่อาจไม่สวยงามแบบเพื่อชีวิต มีท่าทีขี้เล่นแบบลูกทุ่งไทย ขณะเดียวกันก็แฝงอารมณ์ไม่พอใจสภาพความเป็นอยู่จากเบื้องลึกภายใน มาจากการเก็บกดไม่มีที่ระบาย จนไม่พ้นต้องมาระบายกับคนที่ต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดเหมือนกัน เพลงอย่าง FightStarter Karaoke ก็ชวนให้นึกถึงภาพแบบนั้นอยู่

"Riot tonight
everybody let's go gonna start a fight
but with who I don't know

This world is not what it seems
These beer balls are ruining my dreams."

"ออกลุยในคืนนี้
ทุกคนพร้อมจะมีเรื่องต่อยตี
กับคนที่ไม่รู้กระทั่งว่าเป็นใคร

เพราะโลกมันไม่เป็นดังที่คาดไว้
เหล้ายาก็ไม่อาจบรรเทา
ความฝันที่ถูกทำลาย"

- FightStarter Karaoke

ด้วยความเป็นวัยเฮ้ว เนื้อหายุคแรก ๆ ของ Dropkick Murphys เลยแสดงออกอย่างวัยรุ่น ด้วยท่าทีดิบ ๆ แบบเพลงที่ว่ามา มีบ้างที่เป็นเรื่องเซ็งตำรวจ เบื่ออำนาจรัฐบาล เช่นเดียวกับวงแนวนี้โดยทั่วไป แต่พอพวกเขาเติบโตขึ้น พื้นเพชีวิตพวกเขาที่มาจากคนระดับล่าง ๆ ของสังคมก็เริ่มทำให้พวกเขามองอะไรลึกขึ้น หรืออย่างน้อยก็มองผ่านชีวิตจริงมากขึ้น

จนกระทั่งสหพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมสหรัฐฯ (AFL-CIO) ได้ ชวนให้พวกเขาไปเล่นในวันแรงงานสากลปี ค.ศ. 2001 พวกเขาดีใจมาก ไม่คิดว่าวงที่เคยเล่นเหมือน "หนูในชั้นใต้ถุน" (เป็นคำที่พวกเขาตัวเรียกเองตอนนั้น-ผมไม่ได้ตั้งให้นะ) จะมีโอกาสได้เล่นโชว์ในงานที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย

Dropkick Murphys ไม่เพียงแค่เกี่ยวข้องกับวันแรงงานเท่านั้น พวกเขายังมีส่วนร่วมกับสหภาพ International Brotherhood of Electrical Workers (IBEW) อีกด้วย เนื้อหาในอัลบั้มหลัง ๆ ของวงพังค์ไอริชก็เริ่มพูดถึงชีวิตแบบปากกัดตีนถีบของคนงาน อิสรภาพและทางเลือกที่จำกัดเพราะฐานะทางเศรษฐกิจ อย่างเนื้อเพลง Worker's Song หรือ "เพลงคนงาน" ยังคงพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับกรรมาชีพระดับล่างในหลายประเทศได้อย่างจริงแท้

"We're the first ones to starve the first ones to die
The first ones in line for that pie-in-the-sky*
And always the last when the cream is shared out
For the worker is working when the fat cat's** about"

"พวกเราจะเป็นพวกแรกที่อดอยาก พวกแรกที่จะตาย
เป็นพวกแรกที่ไปต่อแถวรับฟังคำสัญญาอันงมงาย
แต่จะเป็นพวกสุดท้าย ที่ได้ลิ้มรสครีมที่ได้แบ่งคนอื่นไป
เพราะคนงานต้องก้มหน้าทำงาน ขณะที่แมวอ้วนอยู่เฉยไม่ทำอะไร"

- Worker's Song

(*pie-in-the-sky เป็นสำนวนแปลว่า ขนมพายบนสรวงสวรรค์ สื่อถึงการให้คำสัญญาแบบที่ไม่สามารถทำได้ในความเป็นจริง)

(** Fat Cat หรือแมวอ้วน เป็นสำนวนใช้เรียก คนรวยที่แสวงหาหนทางสู่อำนาจ)

กลุ่มแฟนเพลงของพวกเขาก็หลากหลายขึ้น ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจทำให้ทั้งคนงานคอปกน้ำเงิน (ที่ทำงานใช้แรงงานในโรงงาน ยามรักษาความปลอดภัย ฯลฯ) และคนงานคอปกขาว (พนักงานออฟฟิศ เลขาฯ เสมียน ฯลฯ) ต้องประสบปัญหาอะไรใกล้เคียงกัน ไม่แปลกหากเพลงของ Dropkick จะสามารถเป็นเพื่อนใจ ร่วมเรียงเคียงบ่ากับคนทำงานทั้งสองรูปแบบได้

dropkick-murphys-03-st-patrick-day.jpg

Dropkick Murphys ในงาน St. Patrick Day 2002

(รูปถ่ายโดย Angela Giovine , ที่มา http://www.dropkickmurphys.com/)

ในอัลบั้มล่าสุดของ Dropkick คือ The Meanest of Times นั้น Ken Casey บอกว่า มีเนื้อหาที่สะท้อนเรื่องราวของกรรมชาชีพออกมาในมุมมองที่มองโลกในแง่ดี เท่าที่ได้ฟังมาบางเพลงของ Dropkick ก็มีเนื้อหาแฝงเรื่องของชาวไอริชอพยพไว้ด้วย

ดนตรีส่วนใหญ่ของ Dropkick Murphys ไม่พ้นเป็นพังค์ที่ Live and Loud แต่ก็ยังได้ผสานดนตรีพื้นบ้านของไอริช-เชื้อชาติเดิมของพวกเขาลงไปด้วย อย่างบางเพลงก็มีปี่แบ๊กไปป์ (บ้านเราเรียกปี่สก็อตฯ) ก็ลอยเด่นออกมาน่าจดจำ ตรงนี้ถือเป็นการปรับตัวทางวัฒนธรรมที่มีความหมาย และในปี ค.ศ. 2002 แสดงในงาน St. Patrick's day ที่รัฐบอสตัน ซึ่งมันคงเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาภาคภูมิใจไม่น้อย เพราะงาน St. Patrick เป็นการเฉลิมฉลองที่สำคัญของชาวไอริชทั่วโลก ซึ่งเป็นทั้งงานรื่นเริงและงานแสดงทางวัฒนธรรม

ใช่ที่ว่าตัวดนตรีเองไม่อาจเปลี่ยนโลกแบบปุบปับหรือทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้นอย่างทันตาเห็นได้ แต่วงดนตรีชาวไอริชวงนี้ก็ได้ใช้เป็นเครื่องมือรวบรวมเงินทุนช่วยเหลือให้หน่วยงานที่เคลื่อนไหว หรือแม้แต่เป็นหมุดหมาย เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ของคนที่รวมตัวกัน

ศิลปะทุกอย่างมันทำเพื่อศิลปะในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่หากศิลปะกับชีวิตคนมันยังแยกกันไม่ขาด มันก็ต้องเกี่ยวพันกับสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างน้อยสำหรับคนอเมริกัน Dropkick Murphys ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในทางเลือก สำหรับวันพรุ่งนี้ของยุคอุตสาหกรรม

แอบส่องทางเลือกที่สามบนแผงซีดีไทย Disorder และ ภูมิจิต

19 April, 2008 - 08:41 -- parid

การยึดติดในสถาบันหรือรางวัลว่าเป็นตัววัดความเก่งกาจของศิลปินดูเป็นเรื่องหน้าขำอย่างหนึ่งในโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับความหลากหลาย คิด ๆ ดูว่าแนวดนตรีในโลกนี้ถ้านับรวม Sub-Genre ทั้งหลายเข้าไปด้วยแล้วก็มีมากจนนับแทบไม่ไหว แต่รางวัลจากสถาบันทั้งหลายมันแบ่งง่าย ๆ แค่ ป็อบ ร็อค อาร์แอนด์บี ซึ่งไม่อาจตอบรับกับความหลากหลายได้ และพาลจะทำให้เป็นการขีดเส้นขั้น ผูกขาดรูปแบบบางอย่างไว้ก็ได้ว่า "เสียงดี" ต้องเป็นเสียงแบบนี้ การเรียบเรียงที่ดีต้องเป็นแบบนี้ ๆ ฯลฯ ผมถึงคิดว่า เราควรจะไม่ไปยึดติดอะไรมากกับรางวัลที่มาจากการตัดสินของคนไม่กี่คนบนหิ้ง

เรื่องศิลปะที่มาจากการผูกขาดรสนิยมมันชวนให้รู้สึกย่ำแย่ฉันใด เรื่องการเมืองที่มาจากการผูกขาดของคนบนหิ้งก็ชวนให้รู้สึกย่ำแย่ฉันนั้น การพยายามสกัดไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันโดยอ้างว่าจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองปกป้องตัวเองได้ มันก็ฟังดูเป็นการย่ำอยู่กับที่แล้วก็เป็นการปกป้องพวกพ้องที่อาจจะไม่ใช่นักการเมืองแต่อยู่บนหิ้งโดยอ้อม ๆ เช่นกัน

--------------------------

สิ่งที่อยู่บนหิ้งเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือเรื่องศิลปวัฒนธรรมจะต้องถูกตั้งคำถามบ้างว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของประชาชน หรือแม้แต่เป็นตัวแทนของ Minority ได้จริงหรือเปล่า

ชะแว๊บมาพูดถึงสิ่งที่น่าจะเป็น "ทางเลือกที่สาม" ในวงการของดนตรี สำหรับคนที่ไม่ค่อยปลาบปลื้มกับดนตรีกระแสหลัก และมีรสนิยมที่ต่างออกไป ผมพยายามหลีกเลี่ยงคำว่าอินดี้อย่างสุดชีวิตเพราะคำ ๆ นี้ ในปัจจุบันมันถูกนำไปแปลงความหมายโดยผู้มีบารมีนอกค่ายเพลงจนทำให้คนเข้าใจผิด ๆ ถูก ๆ และใครที่ไม่รู้จริงก็มักจะด่าเหมามันหมด

ช่วงนี้มีโอกาสได้ฟังอยู่สองวงคือ Disorder วงแนวเมทัลที่เน้นการใส่จังหวะแบบกรู๊ฟเสริมอิทธิพลจากฮาร์ดคอร์ บ้างอาจจะเรียกวงนี้ว่าเป็นแนวเมทัลเพื่อชีวิต !? ซึ่งน่าจะจงใจหมายถึงเนื้อเพลงที่ที่หันมาพูดถึงสังคมรอบตัวแทนการอยู่กับแฟนตาซี

อัลบั้มที่วงนี้เพิ่งออกมาคือ This's order ที่ผมฟังโดยรวมแล้วคงต้องพูดแบบบั่นทอนกำลังใจหน่อยว่า ในแง่ของดนตรีโดยรวมแล้วยังไม่สุดและไม่มีอะไรที่เด่นเป็นพิเศษออกมา เพลงช้าสองเพลงที่ดูหลุดโทนหน่อย ๆ เพราะดีครับ โดยเฉพาะสายลมที่จากไป ทั้งเนื้อหาและดนตรีมันชวนให้นึกถึงพวกเพื่อชีวิตจริง ๆ

เนื้อหารวม ๆ ของอัลบั้มนี้แล้วมันชวนให้นึกถึงเมทัลวิพากษ์สังคมอีกวงหนึ่ง ซึ่งถ้าจะให้พูดแล้วส่วนใหญ่ยังหนีไม่พ้นกรอบคิดเดิม ๆ ซึ่งไม่ค่อยต่างอะไรกับการแค่ได้ระบายอารมณ์ดิบ ๆ ออกมาเท่าไหร่ เว้นอยู่เพลงเดียวเท่านั้นที่ผมคิดว่าเข้าท่าคือเพลง หลอกตัวเอง ...ที่ถ้าหากอัลบั้มนี้เป็นคอนเซปท์อัลบั้มแล้วล่ะก็ มันเป็นเพลงปิดอัลบั้ม (ไม่นับ Instrumental Outro) ที่เหมาะสมทีเดียว

 

อีกวงหนึ่งที่หน้าปกเด่นตระหง่านออกมาคือวงที่ชื่อภูมิจิต ในอัลบั้ม Found and Lost ถ้าไม่รู้จักมาก่อนจะพยายามเดาไปหลายเลยว่ามันเป็นวงแนวอะไรกันแน่ ด้วยน่าปกและชื่อเพลงที่น่าสนใจทำให้ผมลองเอามาฟังดูก็พบว่ามันเป็นเพลงทีแม้จะยังคงพื้นฐานแบบป็อบร็อคเอาไว้ แต่ก็เจือด้วยนีโอ-ไซคีเดลิก บางเพลงออกเป็นชูเกส (Shoegaze) เลยทีเดียว

หลายเพลงในอัลบั้มนี้ฟังเพลินและเชื่อว่าตั้งใจทำได้ดีทีเดียว แต่บางเพลงก็ธรรมดาไปหน่อย ด้านเนื้อหานี้แหวกออกมาจากวงนอกกระแสวงอื่นอยู่เหมือนกัน เรียกว่ามีแนวทางของตัวเองดี เพลงอย่าง New World Order พูดถึงอะไรที่ไม่ค่อยได้ยินจากปากของศิลปินไทยเท่าไหร่นัก แต่การถ่ายทอดเพลงนี้ยังมีลักษณะที่ชวนให้รู้สึกว่ามันจริงจังก็จริงจังไม่สุด บางประโยคของเนื้อเพลงทำให้โทนจริงจังในเพลง "หลุด" ออกมาเล็กน้อย

ทางวงภูมิจิตเคยบอกไว้ว่าอัลบั้มนี้เหมือนเป็นคอนเซปท์อยู่กลาย ๆ เกี่ยวกับชีวิตเด็กชายคนหนึ่งที่อาจจะชื่อภูมิจิตก็ได้ โดยพูดถึงสิ่งที่เขาได้พบเจอผันผ่านมาในชีวิต มีทั้งเรื่องความประทับใจใน "เมฆสีรุ้ง" เรื่องวุ่นวายใน "มากมายก่ายกอง" ดนตรีของสองเพลงนี้ฟังได้แบบเรื่อย ๆ

ขณะที่เพลงที่ดูตรงไปตรงมามากที่สุดในอัลบั้มอย่าง "รอผล..." ที่พูดถึงการรอผลสอบเอนทรานส์ ผมว่าเพลงนี้มีวิธีการเล่าเรื่องแบบที่ชวนให้รู้สึกได้มากกว่าช่วงท้าย ๆ ที่เริ่มพูดถึงอะไรในเรื่องสัจธรรมที่ฟังดู Sophisicate เกินไปหน่อยเมื่อเทียบกับการพูดถึงอะไรที่จับต้องได้ในช่วงต้น ๆ ของอัลบั้ม (ในอีกแง่หนึ่งเพลงอย่าง "อัตวินิบาตกรรม" กับ "รักคือความทุกข์ สุขคือนิพพาน" อาจจะดูเข้ากับปกอัลบั้ม แต่ผมคิดว่าถ้าจะทำเป็นคอนเซปท์อัลบั้มเนื้อหาของเพลงไม่น่าจะทิ้งห่างแบบไม่มีจุดเชื่อมโยงขนาดนี้)

อย่างไรก็ตามผมก็ยอมรับวงนี้ในแง่ความสดใหม่ ขณะเดียวกันก็ของมองโลกในแง่ดีรอดูพัฒนาการทั้งด้านดนตรีด้านเนื้อหาของพวกเขาต่อไป 

 

เอมี่ ไวน์เฮาส์ กับภาพลักษณ์แสบๆ ในสายตาสื่อ

29 March, 2008 - 04:43 -- parid

อะไรๆ ในโลกนี้มันน่าสนใจไปหมดแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีแต่ผู้คนหันไปมอง หันไปพูดถึง เก็บมาเล่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง ช่วยผลิตซ้ำ และแม้กระทั่งสร้างคู่ตรงข้ามให้กับคนที่ไม่รู้ และ/หรือ ไม่อยากรู้ :P

ขณะเดียวกันสิ่งที่ผมคิดว่ามันน่าสนใจมาก ๆ โคตร ๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือสิ่งที่อยู่ในซอกหลืบไม่ค่อยมีคนสนใจ มันดูเหมือนการได้ค้นพบอะไรบางอย่างที่อาจจะทำให้เราอัศจรรย์ใจหรือทำให้ผิดหวังก็ได้


เพียงแต่ในทุกวันนี้ไอ้สิ่งที่อยู่ในซอกหลืบจริงๆ มันหายากขึ้นทุกที ในวงการเพลงอินดี้อะไรทั้งหลายก็มีชื่อวงทั้งต่างประเทศและในประเทศผุดผาดขึ้นมาให้จำกันไม่ทัน และพอลองเจียดเวลา (อันน้อยนิด) จากการทำมาหากินมาลองฟัง ก็รู้สึกว่ามันไม่มีวง "เข้าหู" เลยสักวง จะด้วยประสบการณ์ที่ยังมีมีไม่มาก จะด้วยการมาสเตอร์ริ่งงานในภาวะที่งบน้อยด้อยทุน หรือจะอะไรก็ตามแต่ มันทำให้ผมเสียกำลังใจในการพยายามจะติดตามและให้ความสนใจงาน So-Called อินดี้ เหล่านี้เหมือนกัน คิดให้เข้าข้างตัวเองน้อยกว่านี้หน่อยอาจะจะเป็นเพราะว่างานพวกไม่ใช่รสนิยมของผมก็เป็นได้

นึกถึงตอนช่วงก่อนๆ ที่ผมมีโอกาสได้ฟังงานจากศิลปินสาวชาวอาเจนติน่าที่ทำป็อบร็อคได้ดีไม่แพ้งานเดวิด โบวี่ ยุค 70's ขณะเดียวกันผมก็คุ้ยอินเตอร์เน็ตไปพบงานของนักดนตรีโฟล์คสาวชาวอเมริกันที่ทำตัวลึกลับๆ แต่งานเธอมีเสน่ห์ และที่ผมชอบอีกอย่างคือเธอบอกว่าตัวเองขี้อาย เวลาที่ใครมาฟังเพลงของเธอต่อหน้าเธอจะรู้สึกแปลกๆ จนถึงขั้นเปรียบตัวเองว่าเป็นโอตาคุทางดนตรี เลยทีเดียว

(ผมว่าตรงนี้ก็เป็นเสน่ห์อีกอย่าง ที่เธออยู่ในซอบหลืบ ไม่ใช่เพราะอยากสร้างความเด่นแบบใหม่ เพียงแต่ว่าตัวเธอเองขี้อายเองต่างหาก ตั้งคำถามเสียหน่อยว่า "งาน" ดนตรีมันจำเป็นต้องผลิตจากนักดนตรีที่ชอบ PR ตัวเองด้วยไหม?)

การมีงานดนตรีที่หลากหลายและพัฒนารูปแบบไปเรื่อยๆ มันเป็นเรื่องดี และเป็นเรื่องที่ทั้งศิลปินและนักฟังเพลงทั้งหลายต้องการแน่ๆ แต่ภาวะที่ผมได้ฟังงาน so-called อินดี้บางวงแล้วรู้สึกว่ามันไม่ค่อยต่างอะไรกับงานศิลปินกระแสหลักเลย แค่มีการมาสเตอร์ริ่งที่ไม่ดีเท่า (ในแง่นี้อาจมีบางคนชอบ โดยเฉพาะงานแบบ Lo-fi หรืองานที่เน้นคุณสมบัติอย่างอื่นมากกว่าความละเอียดอ่อนในการเรียบเรียง) ชื่อเสียงที่รู้จักกันเป็นแค่ก๊กๆ หย่อมๆ (จนบางทีไอ่แบบนี้อาจกลายเป็นการแบ่งคู่ตรงข้ามอย่างใหม่ก็ได้) หรือจุดขายอื่นๆ ถ้าเป็นแบบนี้มันก็น่าตั้งคำถามว่าวงการ so called อินดี้ จะนำไปสู่ความหลากหลายได้จริงหรือไม่

(ผมไม่อยากเหมารวมอินดี้ทั้งหมด มีบางค่ายที่ผมชอบเป็นการส่วนตัว แม้ผมจะมีโอกาสแค่ได้ฟังเป็นบางวง แต่รู้สึกว่ามันมีอะไรที่มากกว่าอินดี้ทั่วไป)

ย้อนกลับมา...ย้อนกลับมาพูดถึงสิ่งที่ผมบอกไว้แต่แรกว่ามันน่าสนใจและเป้นที่จับตา อย่างเรื่องของศิลปินรางวัลแกรมมี่อวอร์ดในปีนี้ที่ดูจะชวนช็อคลุงๆ ป้าๆ บางคนเหมือนกัน เพราะ ผู้ที่ได้รางวัลคือ Amy Winehouse สาวแสบที่มักจะมีข่าวเรื่องเหล้ายาบ่อยๆ สมชัวร์เนมไวน์เฮาส์ของเธอเสียจริงๆ

amy_winehouse_back_to_black_cover.jpg

คุณ Amy Winehouse ผู้นี้ ได้รับรางวัลเลิกเหล้าดีเด่น อ๊ะ! ไม่ใช่ ได้กวาดรางวัลแกรมมี่อวอร์ดมาถึงห้ารางวัล คือบันทึกเสียงดีเด่น, เพลงดีเด่น, เสียงร้องหญิงดีเด่นในการแสดง จากเพลง Rehab (ที่แปลว่า "เลิกเหล้า") อัลบั้ม Pop Vocal ยอดเยี่ยมจากอัลบั้ม Back to Black และ และตัวเธอเองก็ได้รับรางวัลนักแสดงหน้าใหม่

สารภาพตามตรงแล้วผมไม่ได้ค่อยฟังแนว R&B สักเท่าไหร่ แต่เท่าที่ได้ฟัง Amy Winehouse แล้ว ผมขอประเมินแบบคนที่ไม่ค่อยฟัง R&B ว่า เสียงเธอดีใช้ได้ทีเดียว แต่สิ่งที่เธอหนีไม่พ้นเมื่อเธอเป็นทั้งศิลปินและคนในวงการบันเทิง สื่อบันเทิงจึงมักเอาเธอมาเล่นบ่อยๆ จนถึงบัดนี้ไม่ว่าจะเรื่องพฤติกรรมเฮ้วๆ ส่วนตัว (ถ้าเธอเป็นร็อคสตาร์ไอ่พฤติกรรมเฮ้วๆ นี้อาจจะถูกเอาไปบูชา ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะบูชากันไปทำป๊ะอะไร) หรือเรื่องที่ว่าเธอติดเหล้าติดยาจนต้องเข้ารับการบำบัด

ซึ่งทางต้นสังกัดก็ฉลาดเฉลียวพอจะ หาเพลงที่เหมือนใช้เรื่องของตัวเธอเองมาเล่า อย่างในเพลงมาเป็นหมัดเด็ด ซึ่งก็คือเพลง Rehab ที่ไม่วายแอบขายภาพหญิงแสบของเธอผู้กำลังจะปฏิเสธการไปรับการบำบัด (แต่ในชีวิตจริงเธอดันได้ไปในที่สุด) ด้วยข้ออ้างที่...พอฟังขึ้นอยู่เหมือนกัน

They tried to make me go to rehab but I said no, no, no
Yes I been blind but when I come back you'll know, know know
I ain't got the time
And if my daddy thinks I'm fine
You tried to make me go to rehab but I won't go, go, go

- Rehab

มีครั้งหนึ่งที่ปาปาราสซี่ทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยม! ด้วยการไปถ่ายรูปเธอตอนเดินเท้าเปล่าออกมาจากบ้านตอนเช้าและใส่เพียงบรากับกางเกงยีนส์เท่านั้น (ไม่เห็นน่าตะลึงตรงไหน ลองเธอไม่ใส่บราด้วยสิค่อยว่ากัน) ซึ่งก็มีประชดปาปาราสซี่พวกนี้ไว้ใน MV เพลง You know I'm no good เรียบร้อย

ดูเหมือนเธอเป็นหญิงแสบใช่ไหม แน่นอน! เป็นหญิงแสบที่ทางต้นสังกัดปั้นให้เป็น ถือว่าต้นสังกัดทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม! ไม่แพ้ปาปาราสซี่เลยแม้แต่น้อย แถมยังเอามาขายภาพลักษณ์แบบหญิงแสบได้อีกต่างหาก กำไรทั้งนั้น ปาปาราสซี่เห็น MV นี้แล้วจะโกรธน่ะเหรอ พวกนี้คงรู้สึกว่าพวกตนทำหน้าที่ได้ลุล่วงแล้วต่างหาก

พูดถึงเรื่องสิลปินขี้ยาแล้ว คงหลบจะไม่พูดถึง Pete Doherty ไปได้ ปัจจุบัน Pete อยู่กับวงที่ชื่อ Babyshambles จากเดิมที่อยู่กับวง The Libertine ซึ่งเป็นวงแนว Britpop เช่นเดียวกัน Pete ถูกเพื่อนๆ ในวงขับออกมาเพราะความขี้ยาของเขานี่แหละ

แน่นอนว่านอกจากตัว Pete เองแล้ว ตัวสื่อบันเทิงเก็บเรื่องราวที่พีทเกี่ยวข้องกับยาได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่องราวนัดกันมา ไม่ว่าเขาจะเดินหน้าเหี่ยวซูบนัยตาลึกโหลออกไปหาอะไรมาสูด จะเมาไปต่อยตีกับใคร หรือแม้กระทั่งเจอตำรวจจับก็กลายเป็นข่าวได้เสียทุกครั้ง (ไม่ต้องห่วง พีทเคยเข้ามาใช้บริการวัดถ้ำกระบอกของไทยแล้วครั้งหนึ่ง)

ที่ไม่น่าให้อภัยคือสื่อที่เรียกตัวเองว่าเป็น "ทางเลือก" อย่าง NME ดันเอาตานี่มาเชิดชู ถึงขึ้นให้รางวัลฮีโร่แห่งปีมาแล้ว ใครที่รู้ไต๋อาจจะจับได้ว่า NME ไม่น่าเชื่อถือสักเท่าไหร่เพราะนอกจากจะต่อต้านดนตรีกระแสหลักที่ทำมาขายแบบที่ตัวเองก็ไม่ได้มีอะไรดีไปกว่ากันแล้ว (ก็ "ขาย" เหมือนกันอยู่ดี) ยังทำตัวเป็นคุณพ่อช่างปั้น เชิดชูศิลปินบางวงอย่างออกนอกหน้าจนแทบจะทำสกู๊ปเกี่ยวกับอาหารเช้าหรือกางเกงในลายโปรดของวงนั้นได้เลยทีเดียว

ผมไม่ได้จะบอกว่าคนติดเหล้าติดยาเป็นคนไม่ดีหรืออะไร และไม่คิดจะใช้คำอธิบายเก่าเก็บว่าเด็กๆ จะเลียนแบบเอา เพียงแต่การเอาเรื่องที่ดูเหมือน "แหกคอก" มาเป็นจุดดึงดูดอย่างหนึ่งมันก็เหมือนเป็นแค่ขบถแบบปาหี่ ไม่ว่าการกระทำแหกคอกนั้นจะเป็นสิ่งที่มาจากตัวศิลปินเองหรือเป็นแค่การสร้างภาพก็ตาม

อาจจะชวนให้ความหมั่นไส้นิดๆ เวลาสื่อมักจะเอาเรื่องความขี้ยาของศิลปินมาเล่น ซึ่งบางทีมันก็ถูกทำให้มองว่าเป็นเรื่องแหกขนบ แต่ที่สุดแล้ว มันก็เป็นแค่สิ่งที่ทำให้คนที่ตามข่าวรู้สึกบันเทิงไปกับการมีเป้าหมายใหม่ๆ ให้เอาไปด่าหรือเอาไปบูชาเท่านั้นเอง (ซึ่งถ้าทัศนะมันหลากกว่าการแค่ด่าเช็ดหรือเทิดทูนบูชามันคงจะดีกว่านี้) พูดให้ตรงกว่านี้ก็คือเรื่องพวกนี้มันไม่ได้ดูเก๋าโจ๋อะไรเพราะมันไม่ได้ต่างกับข่าวดาราตบกันแบบที่พวกคุณชอบด่าเลย

ไม่นับว่าเนื้อหาของอีกหลาย ๆ เพลงในอัลบั้ม Back to Black ของ Winehouse นี้ออกแนวปกป้องตัวเอง และมีท่าทีสะบัดหน้าแบบฉันไม่แคร์ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็ไม่ได้เป็นการลุกขึ้นมาท้าทายอะไรอย่างจริงจัง ความเป็นสาวแสบมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ออริจินัลเท่าไหร่แล้ว ดูจะเป็นการผลิตซ้ำจนพาลจะทำให้สาวไม่แสบดูกลายเป็นคนเฉิ่มเชยไปอีกต่างหาก ทั้ง ๆ ที่สาวเฉิ่มเชยพวกนั้นอาจจะมีอะไรลึก ๆ ที่เป็นขบถแบบไม่ต้องโชว์ออฟออกมาก็ได้

มาถึงตรงเสียงร้องมีเสน่ห์และดนตรีสนุก ๆ ของเธอ น่าจะเป็นอะไรที่ควรให้ค่ามากกว่าไหม ให้ตายสิ ! ผมนึกถึงสาวโฟล์คอเมริกันที่บอกว่าตัวเองเป็นโอตาคุทางดนตรีขึ้นมาตงิด ๆ ผมไม่รู้หรอกนะว่าเธอเล่นยาหรือไม่ หรือไปกระทืบปาปาราสซี่คนไหนมาบ้าง แต่ผมว่า...
...ความ "ขี้อาย" ของเธอนี่แหละขบถสุด ๆ

Serj Tankian : เมื่อหัวเรือของ System of a Down ออกลุยเดี่ยว

15 March, 2008 - 03:01 -- parid

รูป Ad จาก http://www.electthedead.co.uk/

วง System of a Down เป็นวงดนตรีอเมริกันที่สมาชิกทั้ง 4 คนล้วนเป็นชาวอาร์เมเนียน ดนตรีของพวกเขา บางคนก็เรียกว่าเป็นอัลเตอร์เนทีฟ บ้างก็ว่าเป็นนูเมทัล บ้างก็พยายามจำกัดความง่ายๆ ว่าเป็นฮาร์ดร็อค แต่ถ้าให้เรียกแบบกินความหมายครอบคลุมที่สุดล่ะก็ คงต้องบอกว่าพวกเขาเป็นวงร็อคที่แพรวพราว สอดผสานดนตรีในพรมแดนอื่นๆ เข้ากับซาวน์พื้นฐานแบบยุค 90's และขณะเดียวกันก็มีพลังขับเคลื่อนแบบพังค์

นอกจากจะเป็นที่รู้จักกันในฐานะของวงร็อคหลากกลิ่นแล้ว แฟนเพลงหลายคนยังชอบเนื้อหาวิจารณ์สังคมและการเมืองของพวกเขาที่เข้าใจทำให้ถูกจริตคนบางกลุ่มได้ บวกกับดนตรีหนักๆ จากหลายๆ เพลงแล้ว มันใช้เป็นยาแก้เครียดได้ดีทีเดียว

แต่หลังจากที่วง System of a Down หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า SOAD ทำงานกันมาได้ราวสิบปี ก็ประกาศแยกย้ายกันไปชั่วคราว เปิดโอกาสให้แต่ละคนไปทำงานในพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไซด์โปรเจกท์นาม Scars on Broadway ของมือกีต้าร์ Daron Malakian หรืองานเดียวของนักร้องนำ Serj Tankian ที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้

แน่นอนว่าใน Elect the Dead งานเดี่ยวของ Serj Tankian ในชุดนี้ เรายังคงได้ยินเสียงร้องในสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ของ Serj อยู่เช่นเคย ขณะเดียวกันก็ยังมีดนตรีหลากกลิ่นและรสเคยคุ้นในแบบ SOAD เพียงแต่มันก็ยังไม่เต็มพลัง ไม่ถึงใจเท่ากับ System of a Down ยกขบวนมาเองอยู่ดี อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าอัลบั้มนี้กลับเปิดพื้นที่ทางอารมณ์ให้เต็มมากกว่าตอนที่ Serj ร่วมงานกับวง

เพลงเปิดอัลบั้มอย่าง Empty Wall ก็เป็นร็อคที่ใส่มาเต็มสูบ บรรเลงความโกรธและผิดหวังได้ถึงใจ เนื้อเพลงพูดถึงการที่รัฐบาลปิดข่าวการเสียชีวิตของทหารอเมริกันที่ออกปฏิบัติหน้าที่ เปรียบเสมือนกักขังเราไว้ในกำแพงที่แสนว่างเปล่า ปิดกั้นไม่ให้เรามองเห็นความจริง

Tankian ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคนที่ต่อต้านจักรวรรดิ์นิยมอเมริกามาแต่ไหนแต่ไร เขาได้เคยเขียนบทความที่ชื่อ Understanding Oil ออกมาเพียงสองวันหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งมันไม่ใช่บทความที่น่ามองข้ามเลยในช่วงนั้น เพราะบทความมีเพียงแค่การเรียกร้องสันติภาพแบบตื้นๆ แต่มีความเห็นทางการเมืองที่ตรงไปตรงมา ทั้งยังมีการออกมาชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้นำสหรัฐฯ กับ ผู้นำในโลกตะวันออกกลาง ว่ามี Power installment (การสร้างความสัมพันธ์ลับด้วยการเกื้อหนุนทางอำนาจ) ที่สหรัฐฯ จะนำพวกเขามาใช้ประโยชน์ในภายหลัง

บทความนี้ ทำให้ Serj ถูกมองอย่างเข้าใจผิดว่าเป็นพวกหาความชอบธรรมให้กับการก่อการร้าย อย่างไรก็ตามขณะที่ Serj ตอบโต้วิธีการของอเมริกา แต่เขาก็ยังต่อต้านกลุ่มศาสนนิยมสุดโต่ง รวมถึงผู้นำที่เขาบอกว่ามาจาก Power Installment ของสหรัฐฯ เองด้วย ใครที่มีแนวคิดแบ่งขั้วแบบล้าหลังอาจจะบอกว่าไอ่หมอนี่แค่สองไม่เอา แต่ไม่ได้คิดเอาเสียเลยว่าเขาก็แค่มีจุดยืนทางการเมืองอีกแบบหนึ่งที่อาจจะไม่สามารถไปเหมารวมเข้ากับฝ่ายไหนได้เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม Understanding Oil ก็มีจุดด้อยสุด ๆ อยู่ที่วิธีการแก้ปัญหาที่เขาเสนอยังดูห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่ดี

โยงใยมาสู่อัลบั้ม Elect the Dead เพลงหนึ่งที่ Serj ตั้งคำถามกับการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือคือ Praise the Lord and Pass the Ammunation ที่ออกเป็นนูเมทัลมีท่าทีประชดประชัน ขณะที่ Feed us พูดถึงการปฏิบัติการทางการทหารว่า แทนที่จะช่วยปลดปล่อยและทำให้ประชาชนกลับมาเลี้ยงชีพตัวเองได้ แต่กลายเป็นว่าพวกเขาถูกทำให้พ้นจากการครอบงำเก่า เพื่อไปสู่การครอบงำอย่างใหม่เท่านั้น ดนตรีในเพลงนี้แอบสอดผสมโฟล์กเศร้าๆ เข้ามาก่อนจะโยงไปสู่ท่อนร็อคหนักๆ

"You lead us,
When you need to feed us,
You comfortable delete us,
When you need your fetus..."

- Feed Us

เพลงที่ผมชอบมากในอัลบั้มนี้ คือเพลงธรรมดาๆ ที่ Serj ทำออกมาได้อย่างเต็มอารมณ์คือ Saving Us กับ Sky is Over

เพลง Sky is Over เป็นร็อคหมองๆ ที่แอบใส่ลูกเล่นแบบ SOAD ในท่อนแยก เนื้อเพลงเหมือนจะพูดถึงโลกร้าย แต่ก็แอบเล่นคำในประโยคสุดท้าย ส่วนเพลง Saving Us นั้นสวยทั้งทำนองและภาษาในเนื้อเพลง ขณะที่หากดูเนื้อผ่านๆ จะสามารถตีความเป็นเพลงรักธรรมดา แต่เสียงประสานที่เป็นแบกกราวน์ในเพลงนี้กลับชวนให้รู้สึกว่ามันพูดถึงอะไรที่ใหญ่กว่านั้น และเมื่อได้ดูมิวสิควิดีโอของเพลงนี้แล้วก็ชวนให้เจ็บจี๊ดขึ้นมาทันที

MV เพลง Saving Us ฉายภาพคนไร้บ้านคนหนึ่ง เดินเข็นรถไปตามที่ต่างๆ ในเมือง ทุกคนเมียงมองในใจก็คิดอะไรต่างกันไป และดูเหมือนแต่ละคนต่างก็สนใจแต่ในประเด็นของตัวเอง จนไม่มีใครมีที่ทางเผื่อเหลือให้กับเขาเลย ส่วนตัวผมชอบ MV นี้มาก แม้ว่าช่วงกลางเพลงมันจะมีฉากเว่อร์แดกและตอนจบอาจจะน้ำเน่าสำหรับบางคนก็ตาม

ความสนุกอีกอย่างหนึ่งของอัลบั้มนี้คือ การที่มันมีมิวสิควิดีโอสำหรับทุกเพลงและในแต่ละเพลงก็มีผู้กำกับต่างกันไป ทำให้เราได้เห็นการตีความเพลงต่างในมุมต่าง ๆ หลากหลาย โดยที่เราอาจจะยังไม่เคยนึกถึงก็ได้

อย่างเพลง Sky is Over ก็มีมิวสิควิดีโอถึงสองเวอร์ชั่น หรือเพลง Honking Antelope ที่เนื้อเพลงมันพูดถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมถิ่นที่หายไป (ของอินเดียแดง?) แต่มิวสิควิด๊โอมันกลับทำออกมาเป็น CG กับเรื่องราวล้ำยุค ดูแล้วขัดแย้งกันดี

อย่างไรก็ตามกับบางเพลงคงต้องดูบริบทด้วยว่ามันพูดจากมุมมองวิพากษ์อเมริกัน ที่เป็นเสรีนิยมใหม่มาจนพรุนแล้ว เพลงอย่าง The Unthinking Majority จึงอาจจะใช้วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอเมริกาได้ แต่กับประเทศที่ยังไม่แม้แต่จะหลุดพ้นจาก "ยุคมืด" ยังไม่มีเสรีในเรื่องสำคัญ ๆ คงไม่ได้อยู่ในบริบทที่จะเอามาวิจารณ์กันได้ อย่างไรดีการใช้จังหวะขัด ลูกเล่น กับอารมณ์หนักหน่วงในเพลงนี้คงถูกใจขา SOAD ไม่น้อย (ขอโทษด้วยผมชอบแยก "เนื้อหา" กับ "รูปแบบ" ออกจากกันน่ะ)

ขณะที่เพลง Money ที่ดนตรีจากเปียโน สลับกับท่อนร้องและการเปลี่ยนจังหวะกระทันหันทำให้มีสีสันดี แต่เนื้อเพลงก็ไม่มีมุมมองอะไรใหม่ หรือลึกไปกว่าการโทษเงินอย่างเดียว (ทั้งที่ยังไงคนเราก็ยังต้องใช้เงิน)

Serj Tankian อาจจะเป็นศิลปินที่เข้าใจในสังคม เข้าใจในการเมืองระดับหนึ่ง แต่ยังมีอะไรบางอย่างทางความคิดที่เขายังก้าวไม่พ้น เลยอาจกลับกลายเป็นการพูดถึงเรื่องเดิม ๆ ที่ไม่ได้มีแง่มุมก้าวหน้าไปกว่าเดิมอย่าง Money หรือเพลง Honking Antelope ที่ออกแนวอนุรักษ์แบบโรแมนติกไปหน่อย (ทั้งที่ดนตรีมันไม่โรแมนติกเลย ดูเหมือนมันกำลังแอบวิพากษ์อะไรที่ตรงกันข้ามกับแนวคิดเชิงอนุรักษ์อยู่ด้วยซ้ำ) ผมเข้าใจว่าการเขียนเนื้อเพลงที่พูดเรื่องซับซ้อนมันยาก ยิ่งต้องให้ Sync กับดนตรีด้วยมันยิ่งยากไปใหญ่ แต่ผมเชื่อว่าถ้าคนเรากระตือรือร้นละเรียนรู้มากพอ และซึมซับอะไรไว้ได้ จะสามารถปลดปล่อยมันออกมาจากใจจริงได้เอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ใครบางคนอาจรู้จัก Axis of Justice ซึ่งเป็นกลุ่มที่ Serj ร่วมตั้งกับ Tom Morello (จากวง Rage against the Machine ที่มีทิศทางแนวคิดคล้ายๆ System of a Down) รวบรวมพลพรรคนักดนตรีหลากหลายวงในการรณรงค์ทางสังคมในประเด็นต่าง ๆ เริ่มจากประเด็นการเหยียดเชื้อชาติที่แกดูจริงจังดี คลับคล้ายคลับคลาว่าจะมีการรณรงค์เรื่องคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงที่ผ่านมาด้วย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการรวมกลุ่มกัน

ก็ได้แต่หวังว่าทั้ง Serj และ Tom ที่ต่างก็มีต้นทุนทางสังคม (และทางสินทรัพย์เพราะคงได้ส่วนแบ่งจากการออกทัวร์อยู่ไม่น้อย ;P) คงจะไม่ทำให้ Axis of Justice กลายเป็นเพียงกลุ่มรณรงค์ทางฉากหน้าที่ไร้พลัง แล้วกลายเป็นช่องทางใหม่ในการโปรโมทตัวเองเท่านั้น อย่าได้ทำให้คนที่ชื่นชมการเขียนเนื้อร้องและความสามารถทางดนตรีของคุณต้องผิดหวัง เพราะถึงตอนนั้น...

...ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครมาทำเพลงวิจารณ์พวกคุณ แบบที่พวกคุณทำเพลงวิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯ ;)

ดูคลิป Saving Us ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=9Wk38bW8whc

 

 

'พลังงานแสงอาทิตย์' ในอัลบั้มล่าสุดของแจ็ค จอห์นสัน

8 March, 2008 - 03:30 -- parid

 

Sleeping Through The Static

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวคราวเกี่ยวกับคอนเสิร์ตแนวอนุรักษ์ธรรมชาติอะไรพวกนี้ออกมาหลากหลายมากมายอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะคอนเสิร์ตต้านโลกร้อนที่เข้าใจเกาะกระแสเรื่องที่คนทั่วโลกสนใจ (แต่ไม่รู้ว่าเข้าใจลึกไปในระดับไหน) มาสร้างเวทีคอนเสิร์ตให้สนุกสุดเหวี่ยง เวลามีคนมาถามความเห็นผมเรื่องนี้ ผมมักจะหัวเราะ หะ ๆ แล้วตอบว่ารู้สึกเฉย ๆ ถ้ามันจะดีมันก็ดีในแง่ที่มีคอนเสิร์ตมาให้สนุกกัน ส่วนศิลปินก็ได้หน้าได้ตากันไป เพราะโดยส่วนตัวผมไม่คิดว่าศิลปินจะรู้ลึกรู้จริงรู้จังอะไรกันเรื่องนี้มากมาย

ไม่ต้องกระไรมาก ผมจะยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงเรื่องหนึ่ง คือเมื่อหลายปีก่อน ผมได้รู้เรื่องที่มีคนอยากจะจัดคอนเสิร์ตรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในทีแรกผมก็รู้สึกสนใจว่ามีคนเล่นดนตรีที่เข้าใจประวัติศาสตร์ตรงนี้ด้วยหรือ (ขออภัยผมไม่ได้จงใจดูถูกสติปัญญาของนักดนตรี แต่เท่าที่ผมเจอมาเป็นแบบนี้จริง ๆ) แต่พอผมได้รู้จักเขา ก็ดูท่าว่าเขาจะไม่ได้รู้ประวัติศาสตร์ของวันวันนี้ลึกไปกว่าว่ามันมีคนตายเลย (เผลอ ๆ ที่ลุงหมักพูดว่าตายหนึ่งศพยังจะฟังดูน่าเชื่อถือกว่าให้ไอ่หมอนี่พูดถึงเสียอีก)

นั่นทำให้เวลามีคนจัดคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะเป็น Live Aid ที่มีภาพของการช่วยเหลือประเทศโลกที่สาม หรือพวก Earth day/Live Earth ที่เป็นแนวอนุรักษ์ธรรมชาติก็ตาม ผมมักจะไม่รู้สึกถึงประเด็นที่พวกนี้พ่วงมากับการจัดคอนเสิร์ตด้วยสักเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่ศิลปินพวกนี้พูดบนเวทีมันก็เป็นสิ่งที่พูดกันมาแต่ไหนแต่ไร อยู่แล้ว ไม่พักต้องชวนให้เข้าใจว่าประเด็นพ่วงมาพวกนี้มันทำให้งานคอนเสิร์ตทั้งหลายดูดีขึ้นกว่าการเป็นแค่ความบันเทิงธรรมดา ทั้งที่จะให้มันเป็นความบันเทิงโดด ๆ ไปเลยก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไรนี่นา

โดยส่วนตัวผมจึงสนใจ เนื้อหากับ รูปแบบทางดนตรีที่ศิลปินสื่อออกมามากกว่าประเด็นพ่วงที่ชวนให้รู้สึกว่ามันเบาหวิวลอยลม

แต่คราวนี้ มันไม่ใช่แค่ไลฟ์คอนเสิร์ทน่ะสิ ประเด็นสีเขียวมันถูกโยงใยมาสู่เรื่องขั้นตอนของการผลิตงานด้วย แล้วถ้ามีใครมาถามความรู้สึกผมในเรื่องนี้ผมก็จะหัวเราะ หะ ๆ แล้วตอบว่ารู้สึกเฉย ๆ อยู่ดี ไม่ก็เลี่ยงไปพูดเรื่องตัวผลงานเลยว่ามันดีมันแย่ยังไง มันเจ๋งกว่าอัลบั้มที่ไม่ได้ใช้พลังเขียวในการผลิตด้วยเหรอ?

แต่ในคอลัมน์นี้ ยังไงผมก็ขอพูดถึงมันเสียหน่อย ว่าจริง ๆ แล้วอัลบั้ม Sleeping Through The Static ของ Jack Johnson ที่มีคนเชียร์นักหนาในเรื่องของการบันทึกเสียงโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (ถึงขั้นโยงไปถึงเรื่องโลกร้อน) มันมีคนเคยทำมาก่อนแล้ว คือ วงร็อคที่ชื่อ Wolfmother ไม่พักต้องบอกต่ออีกว่า เจ้า Andrew Stockdale นี้มันแสดงตัวตนว่า เขียวเอาการ ไม่นับแค่ขั้นตอนการอัดเพลง ไอ่หมอนี่ยังรณรงค์ใช้จักรยาน การใช้ไบโอดีเซล (ซึ่งแลกมาด้วยการไปเบียดเบียนการกินอยู่ของคนจน) การใช้พลังงานทางเลือกจากแสงอาทิตย์ จนล่าสุดหมอนี่มันจริงจังถึงขั้นจะค้นหาโน้ตที่ให้เสียงแบบเขียว ๆ สำหรับการบันทึกลงอัลบั้มต่อไปเลยทีเดียว

ผมนับถือเจ้า Stockdale ในแง่ของการที่มันจริงใจกับความคิดตัวเอง แต่ถ้ามีคนมาถามเรื่องนี้ ผมก็คงจะบอกว่า เฉย ๆ กับประเด็นพ่วงและพฤติกรรมแบบเขียว ๆ ของเขาอยู่ดี และจะบอกต่อด้วยว่า อัลบั้มที่ได้รางวัลยอดเยี่ยมสาขาการแสดงแบบฮาร์ดร็อคในปี 2006 นั้น ยังขาด ๆ เกิน ๆ ไม่เร้าใจพอ ถ้าอัลบั้มหน้าจะทำให้เต็มที่กว่านี้ก็คงดี แล้วไอ่โน็ตเขียว ๆ อะไรนั่น ผมก็อยากรู้อยากเห็นอยู่เหมือนกันว่ามันจะให้เสียงออกมายังไง

อย่างไรก็ดี อัลบั้มต่างประเทศที่ผมคิดว่ามันปลุกอารมณ์เขียวได้มาก ๆ โดยไม่ต้องหาประเด็นพ่วงมาเป็นจุดขายคือ Harvest Moon ของ Neil Young จริง ๆ หลายเพลงจากอัลบั้มอื่น ๆ ของ นีล ยังค์ มันก็มีเรื่องราวแนวอนุรักษ์แบบติดกลิ่นฮิปปี้หน่อย ๆ แต่ในอัลบั้มนี้ ตัวดนตรีมันสร้างจินตภาพแบบโรแมนติกของท้องทุ่งอเมริกันได้ ดีเยี่ยม (ดีจนน่ากลัวก็ว่าได้) ไตเติ้ลแทรกที่ชื่อ Harvest Moon (ดวงจันทร์แห่งการเก็บเกี่ยว-หมายถึง ดวงจันทรฺ์ที่ขึ้นในช่วงหัวค่ำของฤดูใบไม้ผลิ ช่วยชาวไร่ชาวนาในการเก็บผลผลิต) แม้ว่าเนื้อเพลงมันจะเป็นเพลงรักที่หวานแบบเรียบ ๆ แต่แบคกราวน์ของดนตรีมันช่างชวนให้นึกถึงพลังแบบเขียว ๆ ที่แฝงอยู่เบื้องหลัง

ดนตรีของ Jack Johnson ในอัลบั้มก่อนหน้านี้ ก็มีพลังแบบเดียวกันอยู่ครับ แต่เปลี่ยนฉากจากท้องทุ่งเป็นหาดทรายที่มีกลิ่นอายของแดดฤดูร้อน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะ Jack Johnson เกิดและเติบโตมากับริมฝั่งชายหาดของฮาวาย ได้คลุกคลีกับวัฒนธรรมของนักเล่นกระดานโต้คลื่น จนบางครั้งมีคนแปะป้ายให้ดนตรีป็อบร็อคนุ่ม ๆ ของเขารวมไปกับแนว Surf

ในฐานะที่เป็นทั้งนักเซิร์ฟและคนท้องถิ่น ตัว Jack Johnson เองจึงมีแนวคิดเชิงอนุรักษ์ติดตัวมาด้วยเป็นธรรมดา เพราะปัญหาธรรมชาติบางอย่างมันส่งผลกระทบต่อคลื่นทะเลนักโต้คลื่นส่วนหนึ่ง จึงเกิดความคิดแบบนักอนุรักษ์ บางที่ถึงขั้นมีเป็นแนวท้องถิ่นนิยมแบบสุดโต่ง มีการปักเขตแดนชัดเจน กีดกันไม่ยอมให้นักท่องเที่ยวหรือคนต่างถิ่นเข้ามาเล่นโต้คลื่นเลยทีเดียว

 

Jack Johnson

 

เพลงของ Jack Johnson ในอัลบั้มที่ผ่าน ๆ มา (ไม่นับ Curious George ที่ผมไม่ได้ฟัง แต่คาดว่าคงไม่ต่างจากอัลบั้มอื่นก่อนหน้า) บ่งบอกตัวตนอย่างหนึ่งของเขา คือ ความเรียบง่ายสบาย ๆ เพราะไม่ว่าเขาจะทำดนตรีออกมาแบบไหน มันก็ฟังดูนุ่มละมุนหูไปหมด พูดแบบภาษาวัยรุ่น (ด้วยคำที่ตกเทรนไปแล้ว) ว่าเพลงพี่แกชิลชิลมาก แม้ว่าเนื้อหาจะกำลังวิพากษ์วิจารณ์อะไรอยู่

 

“Where’d all the good people go?

I’ve been changing channels

I don’t see them

On the T.V. shows”

 

- Good People

 

พอพูดถึงความชิลชิล ในดนตรีของ Jack แล้ว เนื้อหาของพี่แกเองก็ชิลชิล แม้ในเนื้อหาของเพลงจะวิจารณ์ความเป็นไปในสังคม มันก็ยังสะท้อนวิธีคิดแบบบริสุทธิ์ (ใกล้ ๆ กับคำว่าไร้เดียงสา เพียงเปลี่ยนขั้วประจุบวกกับลบ) จากตัวแกเองออกมาอยู่ดี

โดยส่วนตัวผมชอบเนื้อเพลงแกอยู่เหมือนกัน แต่ผมให้ค่ามันในแง่ของการผ่อนคลายมากกว่าการเก็บมาคิดด่อ เนื้อหาอื่น ๆ ส่วนใหญ่ของ Jack ถ้าไม่ใช่เรื่องเรียบง่ายสบาย ๆ ของชีวิตประจำวันอย่าง Banana Pancake ก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์แบบหวาน ๆ อย่าง Do You Remember , Better Together ฯลฯ

แต่นั่นแหละ เพลงของ Jack Johnson มันช่างชวนให้ฝันหวานกลางแสงอาทิตย์

จนมาถึงอัลบั้มล่าสุดคือ Sleep Through the Static ที่ดูเหมือนว่าเขาใช้แสงอาทิตย์เป็นพลังงานในการบันทึกเสียง แต่กลับไม่ได้ปล่อยให้มันสาดส่องเข้ามาในดนตรีเขาด้วย ตั้งแต่เพลงแรกถึงเพลงสุดท้าย มันชวนให้รู้สึกได้เลยว่า แสงอาทิตย์ละมุนละไมในดนตรีของเขาหายไป

ไม่เพียงวิธีบันทึกเสียงเท่านั้นที่ใช้วิธีในเชิงอนุรักษ์ เพลงหนึ่งของอัลบั้มนี้คือ All at Once ก็บอกว่าเป็นเพลงที่เขียนถึงเรื่องโลกร้อน แต่ดูเนื้อหาแล้วมันก็มีอยู่ท่อนเดียวจริง ๆ ที่ (แค่) เฉียด ๆ ให้คิดถึงเรื่องโลกร้อน

“Around the sun some say,

it’s gonna be the new hell some say

it’s still too early to tell, some say

it really ain’t no myth at all.”

 

- All at Once

หรือเพลง Sleep Through the Static เอง ที่วิจารณ์นโยบายของบุช แต่เนื้อเพลงมันไม่ชวนให้รู้สึกอะไร ว่าก็ว่า ดนตรีมันชิลชิลเกินกว่าจะชวนให้นึกอะไรตามเนื้อ ยิ่งถ้าฟังแต่ดนตรีอย่างเดียวไม่ได้อ่านเนื้อตามคงไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อ้อ ! ลุงแจ็คเองก็หันมาพูดเรื่องนี้อีกคนเหรอ ! (หลังจากที่มีคนแห่แหนกันมาพูดถึงจนเงียบเสียงกันไปหมดแล้ว)

สิ่งที่พอจะทำให้ผมชอบอยู่บ้างในอัลบั้มนี้ คือเสียงคีย์บอร์ดในเพลง Enemy หรือกับเพลง If I had eyes ที่ใส่ความคึกคักขึ้นมาหน่อย และแน่นอนว่าอัลบั้มนี้ก็ไม่ขาดเพลงรักเนื้อหาหวาน ๆ อย่างใน Angel กับ Same Girl ที่บางทีก็กลัว ๆ ว่าแกจะมัวแต่วนเวียนกับลูกเมียแกจนความหวานจะเริ่มกลายเป็นความเลี่ยน เว้นแต่เพลง Go On ที่เขียนถึงลูกชายแกที่กำลังโต พูดถึงการยอมให้อิสระกับเขาได้ลองผิดลองถูก เสียดายที่ดนตรีซ้ำ ๆ โทนเดียวของแจ็คมันไม่ช่วยให้รู้สึกตามเพลงนี้เท่าไหร่ เป็นการให้อิสระที่ฟังดูไม่มีชีวิตชีวาเอาเสียเลย

อัลบั้ม Sleep Through the Static ไม่มีเพลงไหนที่ดนตรีโดดเด่นออกมา แม้เพลง They do They Don’t ที่พยายามจะซีเรียส แต่ไม่เป็นผล ลุงแจ็คแกชิลชิลเกินกว่าจะพูดถึงอะไรซีเรียส ๆ จริง ๆ อันนี้ต้องยอมรับ

แน่นอนว่าอัลบั้มนี้จึงกลายเป็นการติดอยู่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ระหว่างความผ่อนคลายที่อับแสงจนไม่ชวนให้สดใส ขณะเดียวกัน สิ่งที่เขาพยายามจะสื่อก็ถูกดนตรีที่มีพื้นสีเดียวกลบจนมิด แยกไม่ออกว่าเพลงไหนแกพูดเรื่องซีเรียส เพลงไหนแกพูดเรื่องทั่ว ๆ ไป (ถ้าไม่ได้อ่านเนื้อ) ในสื่ออย่าง BBC บอกว่านั่นเป็นเพราะแจ็คแกใช้หัวใจมากกว่าใช้สมอง แต่ผมก็อยากจะบอกว่า มีคนที่ใช้หัวใจสื่อออกมาได้ยอดเยี่ยมกว่าในประเด็นเดียวกันคือ Bruce Springsteen ผมถึงรู้สึกตามเพลงของ Springsteen ได้ขณะที่แทบไม่รู้สึกอะไรเลยกับ Jack Johnson อัลบั้มนี้

ผมเชื่อที่เว็บโมโจวิจารณ์ไว้มากกว่าว่า โลกที่ยังคงมีความยากจน มีสงคราม และความไม่แน่นอนนี้ มันต้องได้รับการเผชิญหน้า และมันก็เกินกำลังกว่าที่ความสามารถทางการแสดงออกของ Jack Johnson จะไปถึงได้

ยังไม่นับว่าการที่มีแต่คนแห่แหนพูดถึงมิติใหม่ของการบันทึกเสียงโดยใช้ พลังงานแสงอาทิตย์ มันจะช่วยอะไรเรื่องพลังงานได้มากขึ้นจริง ๆ น่ะหรือ หลายคนคงรู้กันว่าความหวังดีนี้อาจกลายเป็นแค่การเพิ่มจุดขายอย่างหนึ่งเท่านั้น แล้วตัวผู้ซื้อเองคงจะแค่รู้สึกว่า โอ้ ! เราได้ทำดีกับโลกแล้ว เรามีความสุขแล้วจึงคิดว่าทำแค่นี้พอแล้ว ง่ายดี ไม่ได้คิดจะทำอะไรต่อไปไกลกว่านั้น

เรื่องของพลังงานมันจึงไม่ใช่อะไรชิลชิล ที่แค่ใช้ของบางอย่างหรือละเว้นบางอย่างแล้วมันจะจบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ถ้าอยากแก้ปัญหาจริง ๆ มันก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการรณรงค์ทางการเมืองอย่างจริงจัง แล้วต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านอื่น ๆ ด้วย เช่นเรื่องผลกระทบต่อคนจนที่เข้าถึงทรัพยากรได้ยากกว่าอยู่แล้ว

และแน่นอน ถ้าใครมาถามผมถึงเรื่องการบันทึกเสียงแบบอนุรักษ์พลังงานของ ลุงแจ็คในอัลบั้มนี้ ผมก็ยังจะหัวเราะ หะ ๆ แล้วตอบว่ารู้สึกเฉย ๆ เผลอจะชอบอัลบั้มก่อน ๆ มากกว่า ต่อให้มันบันทึกเสียงด้วยพลังงานนิวเคลียร์ก็ตาม

 

Aviv Geffen : นักดนตรีผู้เป็นไอดอลของฝ่ายซ้ายอิสราเอล หรือเพียงแค่นักสันติภาพเพ้อฝัน (จบ)

29 February, 2008 - 20:14 -- parid

 

"ผมคงจัดเป็นพวกปีกซ้ายนั่นแหละ และพอเวลาผ่านไปผมก็รู้สึกแข็งแกร่งขึ้น ผมให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์มากกว่าอิฐบล็อกหรือกำแพงศักดิ์สิทธิ์ ผมเชื่อในการมีชีวิตอยู่ ผมคิดว่าแทนที่คำถามจะเป็นพวกคุณเชื่อในพระเจ้าหรือเปล่า' มันควรจะเป็นว่า พระเจ้าเชื่อในพวกเราหรือเปล่า' ต่างหาก ใครจะรู้ได้"

- Aviv Geffen -

 

Memento Mori

"Officer, it's better to be a coward that is alive
than to be a dead hero
You fight with tanks and guns
I fight with pen and paper
You call me a draft dodger
Memento Mori..."

- Memento Mori (2)

จริงๆ แล้ว ไม่เพียง Aviv Geffen เท่านั้นที่เป็นที่รู้จักของชาวอิสราเอลโดยทั่วไป พ่อของเขาเอง Yehonatan Geffen (เป็นที่รู้จักในนาม Jonathan Geffen เสียมากกว่า) ก็มีชื่อเสียงอยู่เหมือนกัน

ผู้คนรู้จักพ่อของ Aviv ในฐานะของ นักเขียน, กวี, นักหนังสือพิมพ์, นักแต่งเพลง และ ผู้แต่งบทละคร ซึ่งเขาได้แต่งเอาไว้ ทั้งเรื่องสำหรับเด็กและสำหรับผู้ใหญ่

ประวัติของโจนาธานผู้เป็นพ่อก็มีอะไรเศร้าๆ ปนอยู่ หนึ่งในนั้นคือเรื่อ่งที่แม่ของ Jonathan (ย่าของ Aviv) เสียชีวิตเพราะกินยามากเกินขนาด ขณะที่เขามีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเขาเชื่อว่าแม่เขาฆ่าตัวตาย หลังจากนั้นสองปี เขาก็เลิกเป็นทหารแล้วย้ายมาอยู่ที่เมือง Tel-Aviv เริ่มต้นเขียนบทกวี ก่อนที่ต่อมาโจนาธานจะหันมายึดอาชีพเป็นผู้สื่อข่าวให้กับหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ชื่อ Maariv เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เขามักจะโดนวิจารณ์ในเรื่องทัศนะซ้ายจัดของเขาอยู่เสมอ จนบางครั้งก็ถึงขั้นถูกข่มขู่เอาชีวิต ซึ่งนอกจากรุ่นพ่อเขาจะโดนแล้ว Aviv Geffen ผู้เป็นรุ่นลูกก็โดนอย่างเดียวกัน แต่พวกเขาทั้งสองต่างก็ไม่แคร์ในคำขู่ ยังคงยืนยันทำในสิ่งที่ตนเชื่อต่อไป

Aviv Geffen เคยพูดไว้ว่า "มีการขู่เอาชีวิตผมอยู่หลายครั้งมาก บางคนก็ขอให้เพลงของผมถูกแบนไปเสีย แต่ผมคิดว่าผมมีข้อความสำคัญมากๆ ที่จะส่งไปยังผู้คน"

พ่อของ Aviv Geffen มีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่ความขัดแย้งเรื่องดินแดนทวีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้น และคนรุ่นเดียวกันที่ดำรงชีวิตอยู่ร่วมยุคสมัย ต่างก็มีบาดแผลความทรงจำจากการประหัตประหารกัน เช่นเดียวกับที่รุ่นปู่ของเขาก็มีความทรงจำจากสงครามโลก

ก่อนหน้าที่จะมาร่วมกับโปรเจกท์วง Blackfield ตัว Aviv Geffen ได้เป็นปากกระบอกเสียงให้วัยรุ่นหนุ่มสาวระบายความคับข้องใจจากคนในยุคสมัยเดียวกันผ่านทางบทเพลง และบทเพลงหนึ่งในนั้นคือ Cloudy Now ซึ่งเพลงนี้ทำให้มีเสียงตอบรับจากวัยรุ่นอิสราเอลจำนวนมากหันกลับมาถามเขาว่า "คุณต้องการจะเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า?"

ผมรู้สึกเฉยๆ กับการประกาศจุดยืนที่จะอยู่กับฝ่ายซ้ายของเขา แต่กลับรู้สึกดีกว่าในแง่ของการที่เขาใช้ความป๊อบปูล่าให้เป็นประโยชน์ ใช้มันเป็นกระบอกเสียงให้กับอุดมการณ์ที่ตนมี เพราะผมเชื่อทั้งในแนวทาง "ศิลปะเพื่อศิลปะ" และ "ศิลปะเพื่อสังคม" ขณะที่ "ศิลปะเพื่อศิลปะ" ที่เน้นด้านรูปแบบและการแสดงออกทางความรู้สึก ไม่จำเป็นต้องเป็นที่นิยมก็ได้ จะสามารถตอบสนองคนจำนวนมากหรือน้อยเพียงใดก็ไม่มีปัญหา แต่โดนส่วนตัวคิดว่า "ศิลปะเพื่อสังคม" มันต้องมีรูปแบบที่เป็น Mass Appeal เพื่อที่จะสื่อสารกับคนในสังคมให้เข้าใจได้ และผมจะเกลียดมากถ้ามันเป็นศิลปะกึ่งขู่เข็ญแข็งกระด้างไร้ความเป็นมนุษย์

พอมาถึงรุ่นลูก กระแสการเรียกร้องสันติภาพในหมู่หนุ่มสาว อาจจะทำให้ภาพเสมือนฝันร้ายแต่ครั้งก่อนพร่าเลือนไป แต่จะแน่ใจได้ล่ะหรือว่าฝันร้ายจบลงแล้วจริงๆ หรือเพียงแค่เปลี่ยนโฉมหน้า ให้คนในยุคปัจจุบันรับกับมันได้เพียงเท่านั้น เพราะไซออนนิสท์ ที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นว่าตนถูก และแฝงฝังด้วยความคิดเชื้อชาตินิยมก็ยังคงมีอยู่

ถ้ามองในอีกทาง จะไปโทษชาวอิสราเอลในรุ่นหลังๆ คงไม่ได้เหมือนกัน เพราะพวกเขาไม่ได้มีส่วนในประวัติศาสตร์ทำให้เกิดความวุ่นวายนี้ขึ้น แค่บังเอิญมีเชื้อชาตินี้มาตั้งแต่เกิดเท่านั้น นอกจากนี้ชาวอิสราเอลในระดับล่างยังเชื่อว่า บาดแผลของพวกเขาจากสงครามโลกครั้งที่สองมีมากพออยู่แล้ว แค่อยากมีแผ่นดินอยู่ไว้ทำมาหากินอย่างสงบสุขบ้าง และดูเหมือนแรงงานข้ามชาติที่อพยพเข้าไปอยู่ในสถานที่นั้นคงต้องการอย่างเดียวกัน

การที่ Geffen ไม่เห็นด้วยกับการที่ชาวอิสราเอลเข้ายึดครองปาเลสไตน์ ถึงควรถูกตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วชาวอิสราเอล รวมถึงแรงงานอพยพหลายคน ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าหรือเปล่า

Cloudy Now

"In a violent place we call our country
Is a mixed up man and I guess that's me
The sun's in the sky but the storm never seems to end"

-Cloudy Now -

ในภาพยนตร์ฮอลลิวูดหลายเรื่อง มักจะพูดถึงชาวยิวที่ถูกกระทำจากสงครามโลกครั้งที่สอง และประเด็นที่ยกมาเล่นกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการล่าล้างเผ่าพันธุ์จากเผด็จการเชื้อชาตินิยมนาซี ถ้าพูดในเชิงมนุษย์ธรรม มันเป็นเรื่องที่ชวนให้รู้สึกเห็นอกเห็นใจพวกเขาอยู่ไม่น้อย แต่ต้องไม่ลืมว่าการผลิตซ้ำความรู้สึกเห็นอกเห็นใจแบบนี้ออกมา มันจะกลายเป็นการให้ความชอบธรรมไซออนนิสท์ที่หลายคนก็มีแนวคิดแบบเชื้อชาตินิยมเช่นเดียวกันหรือไม่ และคงไม่ต้องนับว่าประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนโดยผู้ชนะสงครามนี้ ต้องอาศัยการตรึกตรองกันเสียหน่อยว่ามันจะไม่กลายเป็นโฆษณาชวนเชื้อของประเทศมหาอำนาจประเทศใดไปเสีย

และหากใครศึกษาประวัติศาสตร์มาบ้างคงพอจะทราบว่า แต่เดิมชาวยิวไม่ได้อยู่ในแผ่นดินผืนนี้อย่างหนาแน่น จะมีอยู่ก็เพียงเป็นชุมชนเล็กๆ ที่กระจัดกระจาย จนกระทั่งชาวยิวได้ถูกรวมเข้ามาในดินแดนครั้งหนึ่งเมื่อสมัยตุรกีเข้ามามีอำนาจ

ก่อนที่ต่อมาประเทศในยุโรป (รวมที่ไม่ใช่ยุโรปอย่างรัสเซียไปอีกหนึ่งประเทศ) ได้พยายามเข้ามามีอำนาจในปาเลสไตน์ เพราะในสมัยก่อนบางประเทศในยุโรปต้องการดินแดนนี้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าไปสู่ทวีปเอเชีย แต่พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้มาก ทำให้ประเทศเหล่านี้ (โดยเฉพาะอังกฤษ) หันมาผลักดันสนับสนุนการถือสิทธิครองดินแดนของชาวยิวในอิสราเอลแทน กลุ่มขบวนการไซออนนิสท์เอง ก็เกิดจากการหนุนหลังของประเทศอังกฤษด้วยเช่นกัน

แต่ผมก็ไม่อยากให้มองว่าใครเป็นฝ่ายดี ใครเป็นฝ่ายร้าย เพราะเกมการแย่งชิงที่ชนชั้นนำใช้พวกเราเป็นตัวเบี้ยตัวหมากมาต่อสู้กันเอง ได้ทำให้เราต้องมาละเลงเลือดและน้ำตา มากมายเกินอสงไขย ผ่านยุคสมัยมาถึงปัจจุบัน มันก็ได้กลั่นตัวขึ้นไปเป็นเมฆทึบหนา มันบดบังสายตาจนมองเห็นได้ยากว่าอะไรดี? อะไรร้าย? อะไรที่ควรปกป้อง? อะไรที่ควรทำลาย? อะไรคือฉัน? อะไรคือเธอ? อะไรคือพวกเรา? อะไรคือพวกมัน? อะไรคือความสงบสุข? อะไร...อะไรกันที่มันเดือดพล่านอยู่ในใจเรา!?

ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหนุ่มสาวร่วมสมัยเดียวกัน ถึงนึกอะไรไม่ออก นอกจากการเฝ้าฝันถึงสันติภาพลมๆ แล้งๆ เพราะว่า เมฆหมอกทึบๆ มันทำให้อะไรๆ มืดดำเกินกว่าจะมองได้ชัดแจ้งว่าพวกเขาควรจะไปทางทิศไหน ตัวผมเองก็อยากให้ทุกคนตื่นขึ้นมา ลุกขึ้นมา มาช่วยกันมองหาทางภายใต้ท้องฟ้ามืดครื้มนี้

แต่ถ้าหากคุณบอกว่านักสันติภาพทั้งหลายกำลังเพ้อฝันแล้วล่ะก็ ผมก็อยากจะบอกว่า พวกเราล้วนเพ้อฝันพอๆ กันหมด

ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่กระทำการโดยไม่นึกถึงว่าใครเป็นศัตรูใครเป็นผู้บริสุทธิ์ ใช้ความเจ็บปวดของผู้คนเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการตอบโต้อีกฝ่าย รวมถึงคนที่คลั่งชาติแล้วเกลียดชังแบบเหมารวมอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่เลือกที่จะแยกแยะ และคิดว่าว่าหากพวกนี้ถูกกำจัดไปให้หมด (โดยรัฐที่ไม่ค่อยน่าไว้วางใจ) ไปแล้วความสงบสุขจะบังเกิดได้

มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ น่ะหรือ จะบอกไว้ตรงนี้ก็ได้ว่า

...พวกคุณก็เพ้อฝันสิ้นดี!


 

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ parid