<p><strong>สุเจน&nbsp; กรรพฤทธิ์</strong><br /><br />เริ่มออกเดินทางและสนใจงานสารคดีตั้งแต่เรียนปี 2 ที่ธรรมศาสตร์? หลังจากนั้นก็โดดเรียนหนีเที่ยวเป็นระยะๆ พร้อมทำกิจกรรม? ในรั้วมหาวิทยาลัย และขีดเขียนงานสารคดีจนกลายมาเป็นอาชีพ</p><p>เริ่มเส้นทางสื่อมวลชนครั้งแรกที่นิตยสาร ATG ? จากนั้นผันตัวมาเป็นนักข่าวที่ นสพ. ผู้จัดการรายวัน เซกชั่นปริทรรศน์? ก่อนจะย้ายออกมาเป็นนักเขียนประจำกอง บก.นิตยสารสารคดี จนถึงปัจจุบัน</p><p>ฝันอยากจะเที่ยวอุษาคเนย์ให้ทั่วสักครั้งในชีวิต?เพื่อทำความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน</p>

บล็อกของ sujane

อุษาคเนย์ที่รัก : หนังสือเพื่อความไม่คับแคบต่อเพื่อนบ้านและตนเอง

26 January, 2010 - 00:00 -- sujane

ด้วยมรดกจากยุคสมัยอาณานิคม ทำให้เราไม่สนใจเพื่อนบ้าน อันเนื่องมาจากเดิมที เวลามีเรื่องเกี่ยวกับกัมพูชา เราติดต่อกับฝรั่งเศสโดยตรง ไม่ต้องติดต่อกับกัมพูชาในกรุงพนมเปญ เช่นเดียวกับเวลามีเรื่องว่าด้วยพม่า เราติดต่อกับอังกฤษแทนที่จะติดต่อกับพม่าที่ย่างกุ้ง ฉะนั้น นี่คือสิ่งตกค้างจากสมัยอาณานิคม ซึ่งชนชั้นนำไทยก็ยังตกอยู่ในบรรยากาศนี้ ยังคงติดต่อกับประเทศตะวันตก โดยไม่สนใจเพื่อนบ้าน ดังนั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับเพื่อนบ้าน เพราะเขาอยู่ติดกับเรา”


ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ผู้ก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



ตามรอย "ศรีบูรพา" ถวิลหา "กุหลาบ สายประดิษฐ์" ที่ "มิตาเกะ"

11 June, 2008 - 00:45 -- sujane

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน
แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

ข้อความสุดท้ายที่ ม.ร.ว.กีรติ เขียนให้นพพรก่อนเสียชีวิต
จากนวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ของ “ศรีบูรพา”

1

วันปลายฤดูใบไม้ร่วงปี 2550 , อุทยานแห่งชาติชิชิ บู ทามาไก ประเทศญี่ปุ่น
ท่ามกลางอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส แทบไร้สุ้มเสียงหรือสำเนียงใดรอบตัว สิ่งที่ปรากฎตรงหน้าคือความเงียบ
ผมพบตัวเองอยู่ท่ามกลางทิวสนอายุนับพันปีที่ยืนต้นสูงเสียดฟ้า
ข้างหน้า คือทางเดินเล็กๆ ทอดยาวลับหายเข้าไปในราวป่า

20080611 sujane 1
ช่วงหนึ่งของเส้นทางเดินป่าบนภูเขามิตาเกะซัง

ครั้งหนึ่งที่ &#8220;นครวัด&#8221;

1 October, 2007 - 03:45 -- sujane
“See Ankor and die”

อาร์โนลด์ ทอยน์บี
นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ

- 1 -

มิถุนายน 2550 , เมืองเสียมเรียบ

pic01
"บรมวิษณุโลก" หรือ "นครวัด"

ที่ชั้นบนสุดของปราสาทนครวัด ผมพบว่ารูปอัปสรายามต้องแสงอาทิตย์ที่สาดมาทางทิศอัสดงคตนั้นงดงามอย่างน่าตื่นตะลึง แต่พอตัดสินใจยกกล้องดิจิตอลขึ้นบันทึกภาพ ก็จะพบว่าเลข “0” สว่างวาบอยู่บนหน้าปัด - - บอกสถานะกล้องว่าไม่สามารถบันทึกภาพได้อีกต่อไปเว้นแต่จะลบภาพเก่าที่บันทึกในช่วงตลอด 3 วันที่ผมสัญจรอยู่ในแถบภาคเหนือของภาคเหนือของกัมพูชาออกสัก 7-10 ภาพ

ยืนอึ้งอยู่พักใหญ่ ผมก็ยอมจำนน ด้วยครั้นจะหันไปพึ่งกล้องฟิล์มติดเลนส์เอนกประสงค์ 24-120 มม. ที่เอามาด้วยก็ทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะฟิล์ม 20 ม้วนที่เตรียมมาก็ใช้ไปจนหมดตั้งแต่วันวาน ทั้งประเมินแล้วว่าตนเองใจไม่แข็งพอที่จะลบภาพปราสาทต่างๆ ที่ไม่รู้ว่าในชีวิตนี้จะมีโอกาสสัญจรมาเยือนอีกเมื่อใดออกจากหน่วยความจำได้ลงคอ

ตัดใจยืนนิ่งซึมซับบรรยากาศยามเย็นที่ค่อยๆ ทิ้งตัวลงโอบคลุมปราสาทอันขรึมขลัง สังเกตความเคลื่อนไหวรอบตัว ตั้งใจจดจำทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้มากที่สุด

pic02
เสน่ห์ของนครวัดยังคงมีให้ค้นหาแม้อดีตอันเรืองโรจน์จะเลยมาแล้วเกือบพันปี

ห่างไปไม่ถึง 50 เมตร นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ทยอยลงจากปรางค์ประธานปราสาทนครวัดอย่างช้าๆ แต่ละคนมีสีหน้าหวาดเสียวอยู่ไม่น้อยเพราะต้องไต่บันไดที่ลาดชันเกือบ 70 องศาผ่านความสูงราวตึก 5 ชั้น แขวนชีวิตเอาไว้กับลวดสลิงที่ทางการขึงเอาไว้ให้พยุงตัวระหว่างลงไปสู่ชั้นล่าง

บางที ภาพตรงหน้าผมนี้ อาจเป็นสิ่งเดียวที่คอยย้ำเตือนว่ากำลังอยู่ในปราสาทหินอายุเกือบพันปีในพุทธศักราช 2550 มิใช่ในช่วงที่มันถูกสร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 1656-1695 โดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

การที่ผมต้องรอคิวเพื่อที่จะไต่ลงจากชั้นบนสุดของปราสาทก็เป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนมโนสำนึกว่าในอดีต สถานที่นี้สร้างขึ้นสำหรับเทพเจ้าเท่านั้น มิได้สร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์เดินดินอย่างผมปีนป่ายขึ้นมาชื่นชมความงาม

ด้วยดินแดนขอมสมัยโบราณ ได้อิทธิพลทางศาสนาจากอินเดีย โดยเฉพาะความเชื่อตามคติพราหมณ์-ฮินดู อันเป็นบ่อเกิดลัทธิ “เทวราชา” ที่เชื่อว่ากษัตริย์คือเทพเจ้าที่อวตาร (แบ่งภาค) ลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ ทั้งยังเป็นที่มาของประเพณีที่กษัตริย์ขอมทุกพระองค์ต้องสร้างเทวาลัยถวายเทพเจ้าหรือนัยหนึ่งคือสร้างให้ตนเอง เพื่อที่เวลาที่จากโลกนี้ไปแล้ว จะได้ไปหลอมรวมกับเทพเจ้าที่ตนนับถือไม่ว่าจะเป็น พระศิวะ หรือ พระวิษณุ อีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น เทวาลัยหรือปราสาทเหล่านี้จึงเป็นที่ประทับของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ ต้องสร้างให้มีลักษณะเป็นศาสนาสถานที่โดยวางผังตามคติฮินดูเรื่องเขาพระสุเมรุซึ่งเชื่อว่าที่ประทับของเทพอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยมหานทีสีทันดร โดยสถานที่นี้นั้นถือเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

ความเชื่อเช่นนี้เอง ที่มีพลังถึงขั้นทำให้พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สั่งประชากรในอาณาจักรให้เคลื่อนย้ายก้อนหินนับหมื่นก้อนที่นักโบราณคดีคาดการณ์ว่ามีปริมาตรกว่า 6 แสนลูกบาศก์เมตรจากแหล่งตัดหินที่ภูเขาพนมกุเลนซึ่งอยู่ห่างออกไป 50 กิโลเมตร แล้วสร้างมหาปราสาทที่กว้าง 850 เมตร ยาว 1 กิโลเมตร มีปรางค์ประธานสูง 65 เมตร ยังไม่นับปรางค์องค์รองอีก 4 ยอดที่มีความสูงลดหลั่นกันไป

ทั่วปราสาท มีเสาหินหนักกว่า 10 ตัน (1,000 กิโลกรัม) ไม่ต่ำกว่า 1,800 ต้น ระเบียงโดยรอบมีภาพสลักหินเล่าเรื่องราวคติฮินดู อาทิ รามายณะ มหาภารตะ รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ยาวหลายกิโลเมตร โดยภาพสลักนี้ปรากฏอยู่ทุกตารางนิ้วของกำแพงจนแทบไม่เหลือที่ว่าง ซึ่งความอัศจรรย์นี้เอง ทำให้หลายคนไม่เชื่อว่านี่เป็นผลงานของมนุษย์ แต่น่าเป็นการนิรมิตของเทพมากกว่า !

ดังเช่นความเชื่อของชาวเขมรต่อนิทานเรื่อง “นางนาคกับพระทอง” ที่เล่าถึง “พระทอง” โอรสกษัตริย์เมืองหนึ่งซึ่งคิดขบถแล้วถูกลงโทษโดยการเนรเทศ จากนั้นพระองค์ได้ไปทำสงครามแย่งดินแเดนจามแล้วพบกับนางนาคจนแต่งงานกัน เป็นผลให้พญานาคซึ่งเป็นพ่อเขยเนรมิตเมืองให้อยู่ พร้อมปกป้องคุ้มครองให้เกิดความมั่งคั่งและมั่นคง ต่อมาพระองค์มีพระโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า “เกตุมาลา” ที่พระอินทร์ถือว่าเป็นลูก จึงมีการส่ง “เวศุกรรมเทวบุตร” ลงมาสร้างปราสาทหินถวาย

ไม่เฉพาะชาวเขมรเท่านั้น ในหมู่ชาวต่างชาติก็มีลักษณะความเชื่อดังกล่าวอยู่เช่นกัน เพราะเมื่อ 400 ปีก่อน นักบวชชาวสเปนรูปหนึ่งที่เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาคริสต์เขียนบทความกล่าวถึงนครวัดว่า
“…นี่เป็นเมืองที่ชาวโรมันสร้างขึ้น…”

ก่อนที่การค้นคว้าทางโบราณคดีในชั้นหลังจะทำให้เราทราบว่าผู้สร้างคือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แล้ว โดยยังทราบถึงฟังก์ชั่นของนครวัดด้วยว่าเป็น “วัด” ในศาสนาฮินดู นอกจากนี้ยังเป็น “สุสาน” สำหรับฝังศพกษัตริย์อีกด้วย ดังที่นักปราชญ์ไทยท่านหนึ่งผูกคำศัพท์แล้วเรียกว่า “มฤตกเทวาลัย” นั่นเอง

pic03
ภาพสลักพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในกระบวนทัพบนระเบียงปราสาทนครวัด

pic04
ภาพสลักทหารสวมเกราะในกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

- 2 -

ความจริง “นครวัด” มิใช่ชื่อดั้งเดิมของปราสาทหินแห่งนี้

หลักฐานต่างๆ ชี้ว่าเดิมนครวัดชื่อ “บรมวิษณุโลก” อันหมายถึงพระวิษณุเป็นเจ้า - - เทพเจ้าที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 นับถือ ไม่ใช่ “นครวัด”

เพียงแต่ชื่อ “บรมวิษณุโลก” ถูกสลักในจารึกซึ่งพบในภายหลังถูกลืมเสียสนิทจากความรับรู้ของชาวเขมรรุ่นตั้งแต่พุทธศักราช 1974 ลงมา เพราะกองทัพสยามสมัยสมเด็จเจ้าสามพระยาได้บุกโจมตีเมืองพระนครหลวงจนแตกแล้วทำลายเสียราบคาบ ทำให้กษัตริย์ขอมองค์หลังๆ ต้องย้ายราชธานไปให้ไกลจากกรุงศรีอยุธยาที่กำลังทวีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทิ้งปราสาทสำคัญอย่างบรมวิษณุโลกไว้ให้รกร้างอยู่กลางป่าทึบ

นานวันเข้า คนเขมรรุ่นต่อมาก็ไม่รู้ว่าเมืองพระนครหลวงอันเป็นที่ตั้งของปราสาทนครวัดอยู่ที่ใด พอเจอเข้ากับบรมวิษณุโลกของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งใหญ่โตโอฬารก็เข้าใจผิดว่านี่คือเมืองพระนครหลวง เลยไพล่เรียกไปว่า “นอกอร” หรือ “อังกอร์” อันหมายถึง “นคร”

ส่วน “นครวัด” น่าจะมีที่มาจากการที่ปราสาทแห่งนี้ถูกเปลี่ยนรูปแบบใช้งานมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในภายหลัง โดยมีการนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานและดัดแปลงบางส่วนของปราสาทเป็นพระอุโบสถเช่นบริเวณ “ห้องพระพัน” ที่คนเขมรออกเสียงว่า “ห้องเปรียะเปือน” โถงด้านทิศตะวันตกอยู่ระหว่างชั้นสองกับชั้นสามของตัวปราสาทที่สันนิษฐานว่า ครั้งหนึ่งเคยมีพระพุทธรูปนับพันองค์ประดิษฐานอยู่และส่วนหนึ่งก็น่าจะถูกย้ายขึ้นมายังชั้นบนสุดของปราสาทที่ผมยืนรอคิวลงสู่พื้นดินในเวลานี้

ระหว่างรอ เพื่อนร่วมทางท่านหนึ่งยังตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะเปลี่ยนฟังก์ชั่นใช้งานไปเพียงใด แต่นครวัดก็ยังหลงเหลือร่องรอยของคติฮินดูอยู่อย่างชัดเจน “อย่างอุบายในการให้ผู้ที่มากระทำการสักการะบูชาเทพเจ้า ต้องค้อมตัวคารวะเทพเจ้าในขณะที่ขึ้นสู่ชั้นยอดปราสาทโดยสร้างบันไดที่สูงชันซึ่งไม่ได้ออกแบบมาสำหรับมนุษย์ที่พวกเรากำลังไต่ขึ้นลงอยู่นี้”

ซึ่งก็คงจริง เพราะด้วยความสูงของมัน ผมก็ไม่คิดว่ามนุษย์ยุคก่อนจะมีธุระอะไรบนนี้เว้นแต่กษัตริย์ที่ต้องกระทำการสักการะบูชาเทพเจ้า

เพียงแต่ในยุคที่กระแสการท่องเที่ยวครอบคลุมไปทั่วโลก ตรรกะนี้ดูจะเลือนลางไปเสียแล้ว

pic05
นี่คาดว่าน่าจะเป็นแม่ทัพของละโว้ นัโบราณคดีสนใจภาพนี้มากในประเด็นเรื่อง "จำนวนร่ม" (ฉัตร) ที่มีมากกว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

- 3 -

สำหรับคนไทย ไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งของนครวัดคือภาพสลักส่วนหนึ่งบนกำแพงระเบียงทิศใต้ฝั่งตะวันตก ณ ชั้นแรกสุดของปราสาท ที่เล่าเรื่องการยกทัพไปตีอาณาจักรจามของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ยาวเกือบ 1 กิโลเมตร โดยจัดแบ่งเป็นกองทัพจากเมืองต่างๆ อย่างชัดเจน

ส่วนหนึ่งของกระบวนทัพ มีจุดเด่นตรงที่ทหาร ๓ คนหันหลังคุยกันอย่างสนุกสนานในระหว่างเดินทัพ และที่นั้น ในอดีต เคยมีอักษรขอมโบราณซึ่งแปลได้ว่า “นี่ เสียมกุก” จารึกอยู่ อันทำให้ผู้พบเห็นคิดไปว่าเป็นกองทัพสยามจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ปัจจุบันจากรึกนั้นสูญหายไปแล้ว)

pic06
"นี่ เสียมกุก"

นี่เอง ทำให้ชาวสยามยุค 2007 อย่างผมอุทานในใจด้วยความสนเท่ห์ว่า โอ ! ช่างแกะสลักชาวขอมโบราณช่างสื่อลักษณะชนชาติสยามที่รักสนุกแม้แต่ในยามสงครามได้อย่างยอดเยี่ยมเสียนี่กระไร

แต่ข้อมูลทางวิชาการก็บอกผมว่ามีการตีความภาพนี้แตกต่างกันไป

จิตร ภูมิศักดิ์ ตีความภาพนี้ว่าเป็น “ชาวสยามจากลุ่มน้ำกก” โดยยกหลักฐานด้านนิรุกติศาสตร์ (อักษรศาสตร์) ว่า กุก ในภาษาไทยอ่านว่า กก โดยระหว่างที่อาณาจักรขอมของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 รุ่งเรืองนั้น ชาวสยามแห่งลุ่มน้ำกกที่นำโดยขุนเจื่องซึ่งพงศาวดารล้านนาระบุว่าเป็นผู้ครองอาณาจักรเชียงแสน และเป็นบรรพบุรุษของพ่อขุนเม็งรายมหาราชก็กำลังรุ่งเรืองและทำการรบอยู่กับเมืองแถง ซึ่งชาวแถงเอง ก็มักส่งทหารไปช่วยจามรบขอมอยู่เสมอ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ ที่จะมีการช่วยเหลือกันทางทหารระหว่างสองอาณาจักร

ขณะที่ ศ.ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ตีความว่านี่เป็นกองทหารจากสุโขทัย เพราะเอกสารจีนเรียกคนไทยว่า “เสียม” มานานแล้ว ทั้งยังพิจารณาว่า ทหารแต่งตัวแบบคนป่าที่สลักอยู่นั้นมีใบหน้าที่คล้ายกับคนไทยคือหน้ารูปไข่ คิ้วโก่ง ดังนั้นนี่จึงน่าเป็นกองระวังหน้าจากสุโขทัยที่ส่งมาช่วยเมืองแม่ในฐานะประเทศราช

ส่วนนักวิชาการฝรั่งเศสตีความว่านี่เป็นทหารรับจ้างชาวสยาม

ส่วนประเด็นเรื่องการไร้ระเบียบวินัยของทหารนั้น ถ้าเราพินิจภาพนี้ให้ละเอียดโดยเปรียบเทียบกับภาพอื่นก็จะพบว่า ในภาพสลักของพลทหารของละโว้ก็มีบางคนหันหน้าหันหลังคุยกันอยู่เช่นกัน เพียงแต่ไม่เด่นชัดเท่าทหารสยามเท่านั้น

ขณะที่ปัญหาการตีความนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน วันที่ผมสัญจรไปเยี่ยมๆ มองๆ ดูกองทหารเสียมกุก ก็พบเสียงเซ็งแซ่ของทัวร์ไทยปี 2007 ที่เข้ามาไม่ต่ำกว่า 10 คณะ ซึ่งทุกคณะเมื่อผ่านมาตรงนี้ก็จะมีการหยุดวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นาๆ ไม่ว่าจะเป็น “นี่ทหารไทย” - - “เอนี่มันนิสัยคนไทย” - - หรือแม้แต่กระทั่ง “เสียดายถ้านครวัดยังเป็นของไทยคงมีการศึกษาได้มากกว่านี้”

ซึ่งทัศนะหลังสุดนั้น อันตรายอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ด้วยถ้าพิจารณาประวัติศาสตร์ช่วงที่มีการก่อสร้างนครวัดให้ดีแล้ว ช่วงนั้นเป็นเวลาก่อนเกิดสิ่งที่เรียกว่าอาณาจักรของคนไทยนานหลายร้อยปี

ถ้ามองแบบประวัติศาสตร์ชาตินิยม นครวัดก็จะเกิดก่อนอาณาจักรแรกของคนไทยคือสุโขทัย (พ.ศ. 1781-1981) ราว 86 ปี (พ.ศ.1656-1695) ทั้งยังเกิดก่อนอยุธยา (พ.ศ.1893-2310) เกือบ 2 ศตวรรษ ดังนั้นการเหมาว่านครวัดในจังหวัดเสียมราฐที่สยามเคยยึดมาเป็นเมืองขึ้นเป็นระยะๆ ตั้งแต่อยุธยาจะเกี่ยวข้องกับรัฐชาติไทยสมัยใหม่ที่เพิ่งเกิดเมื่อปี 2475 จึงเป็นเรื่องที่หาคำอธิบายไม่ได้อย่างสิ้นเชิง และเป็นการสร้างความรับรู้ที่ก่อปัญหาอย่างยิ่ง

pic07
ฟังก์ชั่น "วัด" แบบพุทธเถรวาทของนครวัดปรากฎเด่นชัดในปัจจุบัน ในภาพเป็นพระที่อยู่ภายในปรางค์ประธานของนครวัด

- 4 -

เย็นวันนั้น ผมเดินลงจากชั้นบนสุดของปราสาทด้วยความหวาดเสียวปนเสียดาย

จะว่าไปแล้ว นี่เป็นความไม่ประสาอีกประการหนึ่งในการเตรียมตัวเดินทางมาที่นี่ ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับนครวัดที่จินตนาการเอาไว้ผิดไปเสียหมดเมื่อมาถึงสถานที่จริงไม่ว่าความงาม ความขรึมขลัง ที่อัศจรรย์ที่สุดคือ ขนาดปราสาทซึ่งนักโบราณคดีท่านหนึ่งเปรียบไว้อย่างเห็นภาพว่า ถ้านำปราสาทหินพนมรุ้งหรือปราสาทหินพิมายไปเทียบ มันจะมีขนาดเพียงแค่ซุ้มประตูหนึ่งของนครวัดเท่านั้น !

ยังไม่รวมความวิจิตรพิสดารของลวดลายถูกสลักเสลาเอาไว้บนทับหลัง กำแพง ฯลฯ

และความอัศจรรย์ ความงาม และความวิจิตรของปราสาทหินแห่งนี้เอง เป็นเหตุให้หน่วยความจำและฟิล์มทั้งหมดที่เตรียมไปไม่พอ และทั้งหมดนี้หากตั้งใจเดินดูอย่างพินิจพิจารณา 3 วันก็ไม่น่าพอ

ถึงตอนนี้ ไม่ว่าจะอย่างไร สำหรับผมนครวัดก็เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอยู่ดี

แม้ในปี 2007 นี้ จะมีฝรั่งหัวใสในนามองค์กร The New Open World Corporation (NOWC) จัดอันดับ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่แทนที่ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบันที่เคยจัดอันดับไปแล้วด้วยคะแนนโหวตผ่านอินเทอร์เน็ต ในลักษณะเดียวกันกับที่ใช้ในรายการอคาเดมี่แฟนเทเชียโดยนครวัดถูกเขี่ยออกจากลิสต์ไปตามระเบียบ

เพราะคุณค่าของบางอย่างมันวัดไม่ได้จากการโหวตที่ไม่มีมาตรฐานและกฎเกณฑ์กำกับ

ต้องไม่ลืมว่าการโหวตทางอินเตอร์เน็ตนั้น ปัจจัยสำคัญก็คือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรแต่ละประเทศที่มีการส่งสถานที่ของตนเองเข้าแข่งขัน ลองคิดดูว่า กัมพูชาจะมีประชากรสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เมื่อเทียบกับประเทศอย่างจีน อิตาลี สหรัฐอเมริกา เปรู จอร์แดน อินเดีย เม็กซิโก กรีซ สเปน ชิลี ฝรั่งเศส ตุรกี ญี่ปุ่น รัสเซีย เยอรมัน อังกฤษ ออสเตรเลีย ฯลฯ ซึ่งรายได้ต่อหัวประชากรและการพัฒนาทางเศรษฐกิจล้ำหน้ากว่ากันมาก

แน่นอน วันหนึ่งผมจะต้องกลับไปอีกครั้ง

กลับไปเพื่อศึกษานครวัด และไปซึมซับความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมขอมอันเป็นต้นรากทางวัฒนธรรมหลายอย่างของคนไทยปัจจุบัน
ถึงตรงนี้ บางทีคงต้องยืมคำของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่เอ่ยแก้คำของอาร์โนลด์ ทอยน์บี ที่ว่า See Ankor and again and again… etc.

pic08
ดูกันใกล้ๆ กับ “นี่เสียมกุก” อารมณ์ขันแฝงปริศนาของช่างแกะสลักขอมโบราณที่คนไทยชอบตั้งคำถามว่า นี่เป็นบรรพบุรุษของเราหรือเปล่า

Subscribe to RSS - บล็อกของ sujane