Skip to main content

 

        ว่ากันว่าขณะกำลังถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ราโชมอน (Rashomon)  ผู้ช่วยทั้ง 3 คนของอาคิระ คุโรซาวาผู้กำกับภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นและโลกได้เข้ามาหาเขาพร้อมกับบ่นว่าไม่เข้าใจในความซับซ้อนของเนื้อเรื่อง คุโรซาวายืนยันให้คนทั้ง 3 กลับไปอ่านให้ดีเพราะเขาได้ตั้งใจเขียนเนื้อเรื่องให้สามารถเข้าใจได้ในแบบที่ไม่มีใครคุ้นเคยมาก่อน ในที่สุดยอดผู้กำกับต้องใช้ความพยายามในการอธิบายจน 2 ใน 3 คนเข้าใจแต่คนสุดท้ายก็ยังไม่หายงงอยู่ดี คงเช่นเดียวกับผู้ชมในสมัยนั้นที่เดินออกจากโรงที่ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูก                              

     อย่างไรก็ตามราโชมอนซึ่งถูกนำออกมาฉายในปี 1950  ถือได้ว่าเป็นสื่อกลางทางวัฒนธรรมที่ให้โลกกลับมารู้จักญี่ปุ่นอีกครั้งภายหลังจากที่ม่านหมอกแห่งสงครามได้เข้าปกคลุมญี่ปุ่นจนอยู่ในคราบของปีศาจร้ายกระหายสงครามมามากกว่า 2  ทศวรรษ ราโชมอนยังเป็นภาพยนตร์สำคัญเรื่องแรกของคุโรซาวา เพราะนอกจากคุโรซาวาจะได้รับรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิสปี 1951 แล้ว ราโชมอนเหมือนเป็นประตูที่เปิดทางให้เขาผลิตภาพยนตร์อันทรงคุณภาพและเป็นอมตะอีกมากมายสำหรับโลก เมื่อใครพูดถึงชื่ออาคิระ คุโรซาวา เชื่อได้ว่าเลยว่าจะต้องนึกถึงภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องต้น ๆ  เช่นเดียวกับ Seven Samurai  (ที่เรารู้จักกันเป็นภาษาไทยคือเจ็ดเซียนซามูไร) Ikiru, Yojimbo , Hidden Fortess และ Ran เป็นต้น เป็นที่น่าสนใจว่าคุโรซาวากำกับภาพยนตร์กว่าสิบเรื่องก่อนราโชมอนแต่ชื่อเสียงของเขายังคงอยู่ในแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น ราโชมอนได้มีส่วนช่วยให้ภาพยนตร์ของคุโรซาวาไม่ว่ายุคก่อนและยุคหลังจากนั้นเป็นที่ชื่นชอบและคารวะสำหรับผู้ชมทั่วโลกรวมไปถึงผู้กำกับภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดระดับโลกหลายท่านไม่ว่าสตีเวน สปีลเบิร์ก จอร์จ ลูคัส  มาร์ติน สกอร์เซซี และโรเบิร์ต อัลต์แมน  สำหรับคนไทยได้รู้จักราโชมอนในฐานะละครเวทีที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นผู้เขียนและดัดแปลงมา (ซึ่งแน่นอนว่าท่านคงได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ของคุโรซาวามาด้วยไม่มากก็น้อย) หรือล่าสุดผู้กำกับอย่างหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุลที่เอาทำเป็นแบบฉบับไทยๆ ภายใต้ชื่อ “อุโมงค์ผาเมือง” เมื่อปี 2011   อย่างไรก็ตามราโชมอนนี้ทรงพลังถึงขนาดกลายเป็นต้นตำรับของเนื้อเรื่องซึ่งดำเนินตามมุมมองหรือการบอกเล่าของตัวละครที่แตกต่างกันจนมีคนตั้งชื่อว่าเป็นผลกระทบของราโชมอนหรือ Rashomon effect  ตัวอย่างของภาพยนตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากราโชมอนได้แก่ Outrage , Unusual suspect , Courage Under Fire และ Hero ของจาง อี้โหมว หรือแม้แต่ภาพยนตร์ของจตุรงค์ ม๊กจกอย่างเช่น “โกยเถอะโยม” ก็มีกลิ่นของ ราโชมอนโชยมาแรงมาก แต่ด้วยความอ่อนด้อยของตัวภาพยนตร์ก็ได้ทำให้กลยุทธ์ที่ภาพยนตร์นำเสนอไม่สามารถสื่ออะไรได้เลย

 

 

                                                        

 

                                        ภาพจาก wikimedia.org

 

              ราโชมอนเดิมเป็นชื่อของประตูเมืองโตเกียวซึ่งถูกสร้างในสมัยเอฮังคือประมาณปี 789 และคุโรซาวาได้นำมาเป็นชื่อเรื่องโดยนำเสนอภาพเป็นประตูเก่าและพุพังอันเป็นสัญลักษณ์ของความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมของสังคมญี่ปุ่น นอกจากนี้คุโรซาวายังได้รับอิทธิพลจากนวนิยายเรื่อง In a Grove ของ อาคุตากะวะ เรียวโนสุเกะซึ่งเป็นนักเขียนและกวีของญี่ปุ่นประมาณต้นศตวรรษที่ 20    ราโชมอนในฐานะภาพยนตร์มีรูปแบบฟิล์มนัวร์ (Film Noir) ที่มีบรรยากาศแห่งอาชญากรรมพร้อมตัวละครประเภทหญิงก็ร้าย ชายก็เลวบนความสัมพันธ์ที่หักหลังไม่จริงใจต่อกัน แต่ราโชมอนทรงพลังกว่าภาพยนตร์ประเภทนี้เรื่องอื่นๆ คือมีปรัชญาอันลึกซึ้งพร้อมการดำเนินเรื่องที่แปลกแหวกแนวไม่เหมือนใครหรืออาจจะเรียกว่าภาพยนตร์อินดี้ (Independent film) ในสมัยนั้นก็ว่าได้ สิ่งที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้คือความชาญฉลาดของภาพยนตร์ในการจัดภาพแสงเงาและการเคลื่อนไหวของธรรมชาติรอบตัวละครที่ทรงพลังและแฝงด้วยสัญลักษณ์ที่บ่งบอกปรัชญากับอารมณ์ภายในของตัวละครแม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์ขาวดำผสานอย่างแนบเนียนไปกับเพลงประกอบซึ่งบางครั้งฟังเนิบนาบเหมือน Boléro เพลงแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ของเมอริส ราเวลแต่แฝงด้วยความชั่วร้ายและความรุนแรงที่รอเวลาระเบิดออกมาดังในหลายฉากเพลงประกอบก็เกรี้ยวกราดจนน่าตกใจ ลักษณะเด่นของคุโรซาวาอีกประการหนึ่งก็คือการให้ผู้แสดงมีการเคลื่อนไหวที่พริ้วและการแสดงใบหน้าดูเหนือจริงเหมือนละครโนห์เช่นเดียวกับเรื่อง Throne of Blood ภาพยนตร์อีกเรื่องของคุโรซาวาซึ่งดัดแปลงมาจาก Macbeth ของวิลเลียม เช็คสเปียร์

    

    โปรดระวัง เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อเรื่อง

     ภาพยนตร์เริ่มต้นจากฉากประตูราโชมอนซึ่งกำลังถูกฝนตกลงมากระหน่ำ ภายใต้ประตูไม้อันเก่าคร่ำคร่านั้นชาย 3 คนได้แก่ชายตัดฟืน คนเดินทางและพระได้มานั่งหลบฝน ชายตัดฟืนซึ่งนั่งจับเจ่าก็ได้ระบายความคิดและอารมณ์ของเขาผ่านเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งให้แก่ชายทั้ง 2 ฟัง เรื่องเริ่มต้นจากโจรป่านามว่าทาโจมารู (รับบทโดยโตชิโร มิฟูเนดาราคู่บุญของคุโรซาวา)  กำลังนอนเล่นอยู่ในป่าได้พบกับ 2 สามีภรรยาคือตาเกฮิโรและมาซาโกะเดินทางผ่านมาตามลำพัง ด้วยกามตัณหาเพียงเพราะลมพัดกิโมโนให้ทาโจมารูเห็นขาขาวของมาซาโกะซึ่งนั่งอยู่บนหลังม้าแม้เธอจะมีหมวกและผ้าปิดหน้าก็ตาม  โจรป่าก็หลอกลวงจับซามูไรหนุ่มมัดเชือกและเข้าปล้ำข่มขืนภรรยาของเขาอย่างไม่ปราณี อันถือได้ว่าคุโรซาวามีความกล้าหาญอย่างมากต่อการเผชิญหน้ากับกรรไกรของกองเซ็นเซ่อร์เพราะฉากข่มขืนในยุคนั้นถือได้ว่าเป็นฉากที่แรงอยู่ไม่เบา ในเวลาต่อมามีชายวัยกลางคนได้เดินทางไปตัดฟืนในป่าและได้พบศพของตาเกฮิโรเข้า จึงแจ้งความตำรวจและตำรวจสามารถจับตัวทาโจมารูได้อย่างง่ายดายเพราะทาโจมารูท้องเสีย (ถ้าเขาปกติดี ดูท่าทางของตำรวจแล้วอย่างไรก็คงจะจับตัวไม่ไหว)   ศาลจึงเบิกตัวทั้งโจรและเจ้าทุกข์คือมาซาโกะมาให้ปากคำ และภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือนจะผันตัวไปเป็นภาพยนตร์สยองขวัญเพียงชั่วขณะเพราะผู้เป็นพยานยังรวมถึงตาเกฮิโรซึ่งกลายเป็นวิญญาณมาเข้าทรง   

   ความน่าอัศจรรย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือในที่สุดแล้วทั้งโจรและเจ้าทุกข์ทั้ง 2  ต่างเล่าเหตุการณ์แตกต่างราวกันไปคนละเรื่องและภาพยนตร์ก็ไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้กับใครสักคนเดียว ดังนั้นการเล่าของแต่ละคน (และผี) ล้วนแต่เข้าข้างตัวเองหรือทำให้ตัวเองดูดีทั้งสิ้น  ฉากในศาลถือได้ว่าเป็นรูปแบบการนำเสนอภาพที่แหวกแนวมากคือให้ตัวละครแต่ละตัวหันหน้ามาทางจอและพูดกับคนดูราวกับคนดูคือผู้พิพากษา (หรือพระเจ้า) เสียเอง หากเราดูภาพยนตร์เรื่อง “มือปืน” ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลจะเห็นว่าท่านได้นำเสนออิทธิพลจากภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มๆ ในตอนต้นเรื่อง ภาพยนตร์ยังสร้างความงงงวยให้คนดูเข้าไปอีกโดยการปิดท้ายให้คนตัดฟืนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทาโจมารูกับเหยื่อทั้ง 2  ให้พระและคนที่เดินทางผ่านมาฟังด้วยเนื้อเรื่องที่ไม่เหมือนกับของใครเลย ภาพยนตร์จบลงโดยที่ไม่ได้บอกเลยว่าความจริงเป็นอย่างไรกันแน่อันเป็นการเชื้อเชิญให้คนดูใช้ความคิดในการตีความเอาเอง นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้แม้แต่ผู้ช่วยของคุโรซาวาเองก็ไม่เข้าใจ

 

 

                   

 

                          (ภาพจาก 2.bp.blogspot.com)

 

     ลองมาคิดเล่นๆ ว่าถ้าภาพยนตร์รีบเฉลยว่าความจริงเป็นอย่างไร ราโชมอนคงจะไม่เป็นอมตะเช่นนี้ เพราะพลังของภาพยนตร์คือปรัชญาแนวอัตถิภาวนิยมที่ว่า Truth is subjectivity (ความเป็นจริงเป็นอัตวิสัย) มนุษย์แต่ละคนต่างรับรู้ความเป็นจริงในมุมมองที่แตกต่างกันออกไปหรือตามมุมมองที่ตัวเองต้องการให้เป็น แต่ในกรณีนี้ภาพยนตร์ยังได้โยงมายังการโกหกหลอกลวงอันสอดรับกับสารของภาพยนตร์ในช่วงแรกๆ ที่นำเสนอธรรมชาติของมนุษย์ในด้านร้ายดังที่พระซึ่งนั่งคุยกับคนตัดฟืนรำพึงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในศาลว่าเลวร้ายยิ่งกว่าภัยพิบัติทั้งปวงโดยเหตุการณ์เหล่านั้นคือตัวแทนของความมืดบอดภายในจิตใจมนุษย์นั่นเอง แต่ในช่วงท้ายของเรื่องคุโรซาวาได้แย้มให้เห็นถึงธรรมชาติด้านบวกของมนุษย์นั่นคือคนตัดฟืนซึ่งถูกจับได้ว่าแอบขโมยดาบซึ่งเป็นของกลางไปตัดสินใจรับเอาเด็กทารกซึ่งถูกทิ้งอยู่ไม่ไกลจากนั้นมาเลี้ยงดู เมื่อฝนหยุดตกเขาก็เดินจากไปภายใต้สายตาของพระซึ่งยืนตื้นตันใจในความมีเมตตาของเขา อันเป็นร่องรอยของแนวคิด มนุษยนิยมซึ่งได้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์หลายเรื่องของคุโรซาวา

 

    ขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยแนวคิดของคุโรซาวาที่ปรากฎในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาซึ่งผมเชื่อว่าหากเราได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่บ่อยครั้งแล้วจะทำให้สามารถเข้าใจฉากทางการเมืองไทยหรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างของเราได้ดีในระดับหนึ่ง

 

   "Human beings are unable to be honest with themselves about themselves. They cannot talk about themselves without embellishing."

 

   “ มนุษย์นั้นไม่สามารถซื่อสัตย์ต่อเขาเองเกี่ยวกับเรื่องของตัวเอง พวกเขาไม่สามารถพูดเกี่ยวกับตัวเองโดยปราศจากการเติมแต่ง”

 

You can contact me via "Atthasit Muang-in"  in facebook 

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามองว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  สำหรับโวห์ลสเตเตอร์และสานุศิษย์ แม็ดนั้นทั้งไร้ศิลธรรมและไร้ประสิทธิภาพ ที่ไร้ศีลธรรมคือมันจะสร้างความเสียหายให้กับพลเรือน และที่ไร้ประสิทธิภาพคือ มันจะทำให้เกิดการยุติการสะสมระเบิดนิวเคลียร์ของทั้งคู่ ในทางกลับกัน โวห์ลสเตเตอ