Skip to main content

                               

       แปลจากบทความไว้อาลัยแด่ฌอง บาวดริลลารด์จากเวบ www.Telegraph.co.uk (ผู้เขียนไม่ปรากฏนาม)  ผู้แปลขออนุญาตดัดแปลงและตัดทอนเนื้อหาในบางส่วนออกไป

      

   ฌอง บาวดริลลารด์ (Jean Baudrillard) ได้ถึงแก่กรรม (เมื่อวันอังคาร 6 มีนาคม ปี 2007- ผู้แปล) ด้วยสิริอายุรวม 77 ปี เขาเป็นนักปรัชญายุคหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ชั้นแนวหน้าและนักทฤษฎีทางสังคมซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีกับแนวคิด  ความจริงที่เหนือจริง (Hyperreality) หรือทฤษฎีที่ว่า "มนุษย์สมัยใหม่ไม่สามารถบอกได้ว่าความจริงคืออะไร เพราะเขาได้หลงเข้าไปในโลกแห่ง "simulacra" นั่นคือภาพและสัญลักษณ์ได้สร้างและนำเสนอว่าเป็น "ความจริง"แทนความจริง โดยสื่อมวลชน"     คนจำนวนมากถือว่าเขาเป็นนักปรัชญาฝรั่งเศสซึ่งสำคัญที่สุดในรอบ 50 ปี

 

                                           

                      

                                           ภาพจาก sungrammata.com     

 

 

แท้จริงแล้วบาวดริลลารด์หาใช่เป็นคนแรกที่มีความคิดเช่นนี้ ในศตวรรษที่ 18  มุขนายกเบิร์กเลย์ (ชื่อเต็มๆ คือจอร์จ เบิร์กเลย์นักปรัชญาชาวอังกฤษ  -ผู้แปล)ได้สร้างทฤษฎีที่ว่า ทั้งหมดที่มนุษย์รู้จักเกี่ยวกับวัตถุหรือเหตุการณ์เป็นเพียงการรับรู้ของพวกเขาเกี่ยวกับมัน การรับรู้นี้ถูกนำเข้าไปในจิตของเขาโดยพระเจ้า กว่าศตวรรษหลังจากนั้น ความคิดของเบิร์กเลย์ถูกสรุปเป็นบทกวีโดยโรนัลด์ น็อกซ์........ ทฤษฏีของบาวดริลารด์ก็คล้ายคลึงกันเพียงแต่พระเจ้าถูกแทนที่ด้วยสื่อมวลชน ความคิดของเขาคือ ถ้าเราอยู่ในโลกแบบดิสนีย์ (Disneyesque world) ซึ่งความเข้าใจของเราถูกกำหนดโดยระบบสัญลักษณ์ที่ขับเคลื่อนโดยสื่อมวลชน และอุปกรณ์แห่งความสามารถต่อการเข้าใจเชิงประวัติศาสตร์ได้เลือนหายไป เราจะสามารถบอกว่าอะไรคือความจริง ถ้าหากมีสิ่งที่เรียกว่าความจริงอยู่จริง ๆ ?

 

    มุมมองแบบสูญนิยม (nihilism -แนวคิดที่เห็นว่าไม่มีคุณค่าใดๆ ดำรงอยู่จริง ๆ- ผู้แปล) ได้นำเขาไปสู่ข้อสรุปที่น่าตื่นเต้นเช่นในหนังสือปี 1991 ที่ว่า สงครามอ่าวไม่ได้เกิดขึ้น เขาอ้างว่าสงครามเกิดขึ้นแท้จริงในระดับสัญลักษณ์อย่างเดียว เพราะไม่มีฝ่ายไหนสามารถอ้างชัยชนะได้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในอิรัก และความขัดแย้งในตัวมันเองเป็นเพียง "วิดีโอเกม" ที่ถูกจัดฉากมาอย่างดีของเทคนิคคอมพิวเตอร์และภาพกราฟฟิกของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ความคิดของเขายังอื้อฉาวขึ้นไปอีกในเรียงความ The Spirit of Terrorism: Requiem for the Twin Towers (2002) ซึ่งบอกว่าการโจมตีของผู้ก่อการร้ายต่อตึกแฝดเวิล์ดเทรดในกรุงนิวยอร์ก หรือเหตุการณ์ 9/11 แท้ที่จริงเป็น "ภาพแฟนตาซีอันดำมืด"ที่ถูกผลิตโดยสื่อมวลชน

 

     เขาเขียนว่าในขณะที่ผู้ก่อการร้ายได้ก่อความหายนะ พวกเขาเพียงแต่นำจุดสิ้นสุดมาสู่ "ความบ้าคลั่งของอำนาจ การปลดปล่อย การเลื่อนไหลและการคาดคำนวณซึ่งหอแฝดเป็นสัญลักษณ์" เขายังเขียนต่ออีกว่า "ความหวาดกลัวของเหยื่อขณะถูกโจมตีแยกไม่ออกจากความหวาดกลัวที่คนเหล่านั้นมีต่อการดำรงชีวิตอยู่ในตึก" บทความนี้ได้นำไปสู่การประท้วงตามความคาดหมาย "มันเป็นอัจฉริยะแบบปีศาจร้ายอย่างแท้จริง "นักวิจารณ์คนหนึ่งเขียนไว้ "ในการปฏิเสธการสังหารหมู่คนนับพันๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเขาทุกข์ทรมานจากความเบื่อหน่ายอันแสนสาหัสจากสถาปัตย์สมัยใหม่อันแสนน่าเบื่อ"

 

     บาวดริลลารด์เป็นอัจฉริยะในการเอ่ยคำอันแสนฉลาดเช่น "พระเจ้ามีอยู่จริง แต่ผมไม่เชื่อในพระองค์" หรือ "ผมต้องการประจักษ์พยานต่อการหายไปของตัวผม"และ "สิ่งที่น่าเศร้าเกี่ยวกับสมองกล (artificial Intelligence) ก็คือมันขาดภาวะเทียม (artificial) ดังนั้นมันจึงขาดความฉลาด (Intelligence)" นักวิจารณ์บ่นว่าความซับซ้อนของความคิดเขาเกิดจากการพร่ำบ่นแบบเสแสร้งและบอกว่าเขาเป็นแค่นักต้มตุ๋นหรืออย่างดีที่สุดก็เป็นมุขตลกแบบแดกดันของแนวคิดหลังสมัยใหม่ แต่คนอื่นๆ ก็เห็นว่าเขาเป็นนักคิดที่มีพุทธิปัญญาอันโดดเด่นผู้ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความจริงอันเลื่อนไหลของวัฒนธรรมสมัยใหม่ยิ่งกว่าใคร

 

     บาวดริลลารด์กลายเป็นเป้าหมายสำหรับงานวิจัยจำนวนมากและกลายเป็น 1 ใน 5 หรือ 6 บุคคลที่ถูกอ้างถึงมากที่สุดในวงวิชาการ เขาได้กลายเป็นวีรบุรุษสำหรับศิลปินป็อปยุคใหม่ (Neo-pop) ในทศวรรษที่ 80 และ 90 เพราะได้ให้คำศัพท์ใหม่ๆ แก่คนเหล่านั้นในการอธิบายงานของพวกเขา ทฤษฎีของเขาที่ว่า ความจริงสมัยใหม่ประกอบได้ไม่มากไปกว่าภาพลวง หรือ simulacra ซึ่งทำให้เกิดทฤษฎีที่ว่า "ศิลปะไม่มีเป้าหมายไปมากกว่าการยกตัวเอง" ในการเคารพต่อทฤษฎีนี้ ศิลปินเช่นปีเตอร์ ฮัลเลย์และอลัน แม็คคอลลัมได้อุทิศผืนผ้าใบกว้างกว่าหลายเอเคอร์ให้กับงานที่ชื่อว่า "simulation" เมื่อบาวดริลลารด์ ได้ปรากฏตัวในพิพิธภัณฑ์วิตนีย์ ที่กรุงนิวยอร์กเมื่อปี 1987 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พวกนักสะสม พวกนักซื้อขายงานศิลปะกับศิลปินทั้งหลายต่างแห่แหนมาหาราวกับว่าเขาเป็นพระผู้ช่วยให้รอด

 

    ในภาพยนตร์ที่สร้างจากนวนิยายวิทยาศาสตร์คือ The Matrix นั้นได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีของเขาอย่างมาก ตัวเอกหลบซ่อนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายในภาพจำลองอันกลวงเปล่าตามทฤษฎี Simulacra และ Simulation ของ บาวดริลลารด์ ถึงแม้จะมีคนโวยวายกันมาก เขายังคงสุขุมและไม่เอาตัวเข้าไปผูกพันนัก "ผมยืนอยู่ห่างจากโลกซึ่งสำหรับผมไม่ใช่ความจริงที่แท้จริง" เขาอธิบาย "ดังนั้นความสุขที่ผมได้รับจากมันก็ไม่ใช่เรื่องจริงที่แท้จริงเหมือนกัน"  (นอกจาก The Matrix แล้วภาพยนตร์เรื่อง Wag The Dog ทำให้ทฤษฎีของบาวดริลลารด์ออกมาเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนในเรื่องของความพยายามของรัฐบาลอเมริกันในการใช้สื่อมวลชนสร้างภาพเช่นสงครามจอมปลอมเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นอื้อฉาวของประธานาธิบดี-ผู้แปล)

 

   ในฐานะหลานของชาวนาและลูกของข้าราชการ บาวดริลลารด์เกิดที่เมืองไรมส์ซึ่งอยู่ทางเหนือของฝรั่งเศส ในวันที่ 29 กรกฏาคม ปี 1929 หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาประจำท้องถิ่น เขาก็ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยไลซีอังรีที่ 4 ที่กรุงปารีสเป็นเวลา 1 ปี เขาเรียนภาษาเยอรมันที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ต่อมาก็ทำงานเป็นอาจารย์สอนภาษาเยอรมันที่โรงเรียนมัธยมต้นไลซี ในเวลาเดียวกันนั้นเขาก็ได้แปลงานกวีของเบโธลด์ เบรชต์ และบทละครของปีเตอร์ ไวส ออกเป็นภาษาฝรั่งเศส รวมไปถึงได้เขียนเรียงความและบทวิจารณ์สำหรับนิตยสารของพวกหัวรุนแรงที่ชื่อ Les Temps Modernes

 

     ในช่วงทศวรรษที่ 60 เขาก็หันไปเรียนสาขาสังคมวิทยาจนได้ปริญญาเอกในปี 1966 เกี่ยวกับระบบของวัตถุต่าง ๆ (The System of Objects) ภายใต้การดูแลของอังรี เลอเฟบ ในวิทยานิพนธ์เล่มนั้น เขาเสนอความคิดว่า ลัทธิบริโภคนิยมแบบอุตสาหกรรมยุคใหม่ได้สร้างระบบที่สินค้าได้กำหนดความต้องการของมนุษย์ซึ่งพวกมันเข้ามาเติมเต็มและได้ประโยชน์จากความจริงที่ว่าไม่มีขีดจำกัดต่อการบริโภคและความต้องการที่จะบริโภคมักจะทำให้คนไม่เคยรู้สึกพึงพอใจราวกับเสพภาพลามกมิปาน

 

     วิทยานิพนธ์ได้ทำให้บาวดริลลารด์มาเป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยปารีสที่เมืองนองแตร์ ซึ่งเขาได้กลายเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาสังคมวิทยา ถึงแม้เขาไม่เคยเข้าร่วมพรรคการเมือง มุมมองเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์ทำให้เขาสนับสนุนนักศึกษาที่ก่อจลาจลในเดือนพฤษภาคม ปี 1968 ซึ่งเกือบจะโค่นล้มรัฐบาลของชาร์ล เดอ โกลลงได้

 

     บาวดริลลารด์ได้พัฒนาแนวคิดจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1968 มาเป็นหนังสือชื่อ The Consumer Society (1970) ซึ่งเขาเห็นว่า สินค้าในการบริโภคได้สร้าง "ป่าดงดิบซึ่งคนป่าเถื่อนในยุคสมัยใหม่พบกับปัญหาในการมองหาภาพสะท้อนของอารยธรรม" ใน For a Critique of the Political Economy of the Sign (1972) เขาได้เสนอความคิดว่าในสังคมบริโภคนิยมของเรา คำและสัญลักษณ์ได้กลายเป็นระบบของการจัดการทางสังคม ซึ่งอำนาจของมันเหนือชีวิตของพวกเราสามารถถูกทำลายโดย "การปฏิวัติทุกด้าน"

 

 

                                                    

 

                                             แหล่งจาก /www.goodreads.com/

 

    ในหนังสือเล่มถัดมาของเขาคือ The Mirror of Production (1973) บาวดริลลารด์ได้ประกาศเลิกเชื่อในความคิดแบบมาร์กซ์พร้อมกับเสนอความคิดว่าทฤษฎีของมาร์กซ์ที่ว่าคนงานได้ "แปลกแยกจากวิถีแห่งการผลิต" นั้นมีรากฐานมาจากแนวคิดของระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 19 ดังนั้นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์จึงไม่มีความหมายในศตวรรษที่ 20 เขาได้สร้างงานเชิงวิพากษ์อย่างดุเดือดเช่นเดียวกันนี้ต่อแนวคิดแบบโครงสร้างนิยม ใน Forget Foucault (1977)

 

     ใน Symbolic Exchange and Death (1976) เขาพยายามจะอธิบายยุคร่วมสมัยว่าเป็นเวลาที่ความพยายามของสังคมในการปฏิเสธการมีอยู่ของความตายได้ทำให้มันกลายเป็น "ภาวะแห่งความไม่ปกติ" (state of abnormality) ถึงแม้มันได้ทิ้งร่องรอยเชิงสัญลักษณ์ไว้ทุกที่ ในงานชิ้นนี้เสนอความคิดเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับความจริงที่เหนือจริง วัฒนธรรมที่ถูกขับเคลื่อนโดยสื่อและเทคโนโลยีล้วนถูกกำหนดโดย "simulacra" ที่ผสมผสานความจริงกับจินตนาการ

 

     เขาได้พัฒนาแนวคิดเหล่านั้นใน Simulacra and Simulation (1981)โดยเสนอความคิดว่า สังคมทุกวันนี้สิ่งที่เป็นจริงหาใช่เป็นความสำคัญอันดับแรกเสียแล้วดังเช่นดิสนีย์แลนด์ถูกนำเสนอแบบภาพฝัน ๆ "เพื่อที่จะทำให้เราเชื่อว่าทั้งหมดนั้นเป็นความจริง ในขณะที่ตามความจริง พื้นที่ทั้งหมดในนครลอสแองเจลิสและในอเมริกาซึ่งอยู่ล้อมรอบมันหาได้เป็นจริงอีกต่อไป แต่เป็นไปตามลำดับขั้นของความจริงที่เหนือจริง (hyperreal) และของการจำลอง (simulation)"  ดังนั้นเหตุการณ์ดังเช่นฆาตกรรม การจี้เครื่องบินและภัยทางธรรมชาติจะเป็น “จริง” ก็เมื่อพวกมันได้รับการตีความให้เป็นเช่นนั้นผ่านสื่อมวลชน

 

    ในทศวรรษที่ 80 บาวดริลลารด์ได้เริ่มต้นการเดินทางรอบโลกซึ่งได้ทำให้เขาเกิดทฤษฎีใหม่ๆ ใน America (1986) เขาเห็นว่า "อารยธรรมตามรูปแบบรีสอร์ต"ของประเทศนี้พร้อมกับเตาอบไมโครเวฟ เครื่องบำบัดของเสีย และ "ความยืดหยุ่นในการถึงจุดสุดยอด" (มาจากคำว่า Orgasnomic elasticity เป็นศัพท์เฉพาะที่เขาคิดขึ้นมาเอง ซึ่งต้องใช้เวลาในการอธิบายมาก -ผู้แปล) ของพรมปูพื้นของมันทำให้เราอดจะรู้สึกถึงจุดจบของโลกไม่ได้"

 

    บาวดริลลารด์ได้ลาออกจากตำแหน่งในมหาวิทยาลัยปารีสในปี 1987 และในปีเดียวกันได้ตีพิมพ์ Cool Memories (1980-1985) ซึ่งรวมชุดความคิดของเขาที่มีต่อวัฒนธรรมสมัยใหม่ และต่อโดย Cool Memories II (1990) จากนั้นก็เป็น Illusion of the End (1992) ซึ่งเขาแสดงความเห็นว่ารูปแบบที่สื่อมวลชนได้นำเสนอเกี่ยวกับเหตุการณ์เช่นการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ได้นำไปสู่การผันกลับของประวัติศาสตร์ เหตุการณ์เช่นสงครามเย็นและการปฏิวัติทางอุดมการณ์ในศตวรรษที่ 20 ได้ถูกลบหายไปจากความจำของชาวโลกราวกับว่าพวกมันไม่เคยเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับเล่ห์กลแบบจารีตในประวัติศาสตร์ (มาจากคำว่า traditional ruse ซึ่งเขาอาจหมายถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีอย่างดาษดื่นที่คนมักยกย่องว่าสำคัญหรือจริงแท้ซึ่งแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ปฏฺิเสธ- ผู้แปล) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของมันกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสังเกตนัก

 

    บาวดริลลารด์ ชายสวมแว่นซึ่งหน้าย่นและอ้วนล่ำ ชอบสูบบุหรี่มวนโตที่มวนเองกับมือ มีความเห็นเกี่ยวกับตัวเองที่ดูมีเสน่ห์หรือดูขัดแย้งในตัวเองคือเขาเป็น "คนง่าย ๆ " ซึ่งมีแรงจูงใจขั้นพื้นฐานคือการเกลียดวัฒนธรรมและความรักในการขับรถเร็ว ในชีวิตช่วงท้าย ๆ เขาได้เกิดความสนใจต่อการถ่ายภาพ และงานของเขาถูกนำออกแสดงต่อสาธารณชน

 

    แฟลตของเขาในมองปาร์นาสเซถูกตกแต่งโดยโทรทัศน์ 50 เครื่องและภาพถ่ายตามสถานที่ต่าง ๆของสหรัฐอเมริกา  ถึงแม้เขาดูเหมือนจะถือว่าอเมริกาจะเป็นตัวอย่างสุดยอดแห่งความจริงที่เหนือความจริง เขาก็พบว่ามัน "มีชีวิตจิตใจยิ่งกว่ากรุงปารีสอย่างมาก" เขาอาจจะชื่นชมความจริงที่ว่า เขาเสียชีวิตเพียง 1  วันก่อนที่ตัวละครของค่ายการ์ตูนมาร์เวลคอมิกส์คือกัปตันอเมริกาถูกฆ่าตาย

 

 

     ฌอง บาวดริลลารด์ แต่งงาน 2 ครั้งและมีบุตร 2  คน

 

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
My Moment with the Romanov It is based on some historical facts and persons , but it is still fictitious anyways.   Chapter 1 St.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This is the second play I have written in my entire life. Now I hope some of my styles of language , cheekily imitating the Elizabethan writer I didn't mention the name here before : William Shakespeare, won't disturb you much.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายเรื่องนี้ถูกเขียนประมาณ ปี 2005 หรือ 2006  ผู้เขียนเองก็จำไม่ค่อยได้ ตัวเอกหรือผู้บรรยายเป็นคนไทยแต่ไปสอนวรรณคดีที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลินในเยอรมันช่วงที่นาซีกำลังเรืองอำนาจ อนึ่งไม่ได้มีการตรวจสอบภาษาไทยเท่าไรนัก จึงต้อขออภัยหากมีความผิดพลาดทางภาษาเกิดขึ้น&nbs
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(newly compiled and edited)  This is the first play I have ever written in my entire life.It is a sublime story about ghost, inspired by The Shock , the popular radio program of horror story telling from fan clubs via telephone.  I am also truly impressed wi
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม เกาหลีเหนือได้จัดพิธีเดินสวนสนามของกองทัพเพื่อฉลองครบรอบการก่อตั้งพรรคแรงงานหรือ Worker's Party ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเกาหลีเหนือ (ความจริงยัง
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทรัมป์ได้สร้างความฮือฮาให้กับคนไทยเพราะเผลอไปเรียก Thailand เป็น Thighland หรือดินแดนแห่ง "ต้นขา" โดยคนไทยทั่วไปไม่ซีเรียส เห็นว่าเป็นเรื่องสนุกสนานไป เพราะรู้มานาน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ช่วงนี้หลายประเทศได้ทำการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือเมื่อ 75 ปีที่แล้ว (ปี พ.ศ.1945 หรือ พ.ศ.2488) ประเทศที่ได้รับชัยชนะอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและพันธมิต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
I remember reading the interview by the last promoter of คณะราษฏร (People's Party or PP) from the Sarakandee magazine ,probably a decade ago.At that time he was ageing , frail ,but still p