Skip to main content

 

 Rear Window เป็นภาพยนตร์สีธรรมชาติ ผลงานของยอดบุรุษที่ไม่เคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทองสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเลยคืออัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (แต่ได้ยศเซอร์มานำหน้าและมีความยิ่งใหญ่กว่าผู้กำกับหลายคนที่ได้ตุ๊กตาทองเสียอีก) ผู้เคยฝากผลงานอันลือเลื่องมากับ Vertigo (1958) North by Northwest (1959)  Psycho (1960) หรือ Strangers on a Train ที่บล็อคนี้เคยเขียนถึงมาแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสร้างในปี 1954 ซึ่งถือว่าอยู่ในยุคทองหรือจุดสูงสุดของฝีมือการกำกับภาพยนตร์ของฮิตช์ค็อก โดยเป็นการดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง It had to be Murder ของคอร์เนลล์ วูลริช

 

                            

                                      ภาพจาก damndad.com

 

       ภาพยนตร์มีตัวเอกคือชายหนุ่มนามว่าบี เจ เจฟฟรีย์ส (เรียกสั้น ๆว่า เจฟ) นำแสดงโดยเจมส์ สจ๊วต ดาราซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในฮอลลีวูดเมื่อทศวรรษที่ 40 และ 50  ภาพยนตร์ที่ทำให้เขากลายเป็นอมตะก็ได้แก่ It's a Wonderful life และ Mr. Smith goes to Washington ที่กำกับโดยแฟรงค์ คาปรา  ในเรื่องนี้ เจฟมีอาชีพเป็นช่างกล้องที่บาดเจ็บและเข้าเฝือกที่ขาจนต้องนั่งๆ นอนๆ แกร่วอยู่แต่ในหอพักของตัวเอง ในช่วงนั้นเองเขาได้แต่ฆ่าเวลาอันน่าเบื่อโดยการเฝ้าดูพฤติกรรมของเพื่อนบ้านซึ่งอาศัยอยู่อพาร์ตเมนต์ตรงกันข้ามและได้พบกับเงื่อมงำอะไรบางอย่างที่ทำให้เชื่อว่าเพื่อนบ้านคนหนึ่งซึ่งมีอาชีพเป็นเซลล์แมนได้ฆาตกรรมภรรยาของตัวเองและเจฟก็ได้ผู้ช่วยคือแม่บ้านและแฟนสาวคือลิซ่าที่นำแสดงโดยเกรซ เคลลีย์ (ผู้โด่งดังเพราะไปแต่งงานกับเจ้าชายเรนีย์ที่ 3 แห่งโมนาโคแต่ต้องเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ด้วยวัยไม่มากนัก) มาคลี่คลายความลึกลับของคดีนี้จนประสบความสำเร็จ ถึงแม้เพื่อนตำรวจที่เจฟเรียกมาไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก

      ฮิตช์ค็อกถือได้ว่าเป็นราชาแห่งหนังอาชญากรรม การสืบสวนและเขย่าขวัญอย่างแท้จริง ภาพยนตร์ของเขาไม่ได้ตั้งใจจะขายความตื่นเต้นเพียงอย่างเดียว หากแต่พาคนดูดำดิ่งลงไปในจิตด้านมืดของมนุษย์ผ่านทางภาพยนตร์จำนวนมากอย่างเช่น Spellbound (1945) Vertigo  และ  Psycho ภาพยนตร์ของเขาล้วนมีเสน่ห์สำหรับนักวิชาการได้ทำการศึกษาจิตวิทยาอย่างลุ่มลึกโดยเฉพาะทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์  และภาพยนตร์เหล่านั้นสามารถทำให้คนดูติดตรึงกับเรื่องได้ชนิดไม่กล้าลุกไปไหนด้วยความรู้สึกตื่นเต้นและใคร่รู้ตลอดทั้งเรื่อง สำหรับ Rear Window ถือได้ว่ามีจุดเด่นคือการใช้มุมกล้อง ซึ่งถือได้ว่ามีจำนวนของมุมมองน้อยมาก เกือบทั้งหมดเป็นมุมมองจากตัวเจฟเองหรือจากห้องของเขา (จนไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่ถูกเขาเฝ้ามองจะไม่สงสัยหรือไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังถูกเขาเฝ้ามอง) เช่นเดียวกับการมีอารมณ์ขันและจบแบบเน้นเอาใจคนดูมากกว่าภาพยนตร์ของฮิตช์ค็อกหลายเรื่อง 

      ท่านเซอร์ได้พาคนดูเพลิดเพลินไปกับเจฟที่ใช้ทั้งตาเปล่าสลับกับกล้องส่องทางไกลหรือที่ซูมจากกล้องถ่ายรูปเพื่อเฝ้ามองกิจวัตรของเพื่อนบ้านซึ่งค่อนข้างจะมีความหลากหลายไม่ว่านักดนตรีหนุ่มในสตูดิโอชั้นบน (ที่ยอดผู้กำกับโผล่ออกมาด้วยตามธรรมเนียมของเขาของภาพยนตร์เกือบทุกเรื่อง)   สาวนักเต้นบัลเลต์ทรงเสน่ห์ที่มีหนุ่มๆ มาติดพัน   คู่สามีภรรยาท่าทางน่าขบขันซึ่งมักมานอนตรงชานนอกห้องพร้อมกับสุนัขตัวน้อยที่ถูกปล่อยมากับตะกร้าให้ไปเล่นกับแปลงดอกไม้ที่อยู่ข้างล่างของอพาร์ตเมนต์   สาวโสดผู้เปลี่ยวเหงาที่อาศัยอยู่ชั้นล่างและกำลังตามหารักแท้ คู่สมรสใหม่ซึ่งวุ่นวายแต่เรื่องบนเตียงหรือผู้หญิงวัยกลางคน (ซึ่งน่าจะโสด) ที่เป็นนักประติมากรปั้นรูปปั้นแปลกๆ 

      ภาพยนตร์เรื่องนี้หากมองแบบผิวเผินก็เป็นภาพยนตร์ฆาตกรรมผสมแนวสืบสวนสอบสวนซึ่งมีตอนจบที่เดากันได้ไม่ยาก แต่ถ้ามองลึกลงไปจะเป็นการสะท้อนมุมมองของยอดผู้กำกับชาวอังกฤษคนนี้ที่มีต่ออเมริกันชนในยุคทศวรรษที่ 50 ได้ดีเรื่องหนึ่งผ่านบทสนทนาระหว่างตัวละครซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับความรักและการแต่งงานเช่นเดียวกับการสะท้อนภาพของสังคมอเมริกันในเมืองใหญ่ที่เพื่อนบ้านหรือคนในสังคมเดียวกันดูเหมือนจะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันน้อยมาก  ที่สำคัญภาพยนตร์ได้นำเสนอโรคทางจิตของมนุษย์นั้นคือนิสัยถ้ำมองหรือ Voyeurism คำว่าถ้ำมองในที่นี้มักจะใช้กับคนที่แอบมองคนอื่นกำลังเปลือยกายหรือมีกิจกรรมทางเพศจนติดนิสัย แต่คำนี้อาจจะใช้สำหรับคนธรรมดาที่ชอบแอบมองกิจกรรมหรือกิจวัตรของคนอื่นก็ได้ เช่นผ่านทาง Reality TV หรือถ้าวิเคราะห์ลึกไปกว่านั้นก็ได้แก่สื่อที่เราดูอยู่ทุกวันนี้ไม่ว่าโทรทัศน์ ภาพยนตร์หรืออินเทอร์เน็ตที่เป็นการเฝ้ามองวิถีชีวิตของใครก็ได้ที่ไม่ใช่เรา ว่ากันว่านิสัยเช่นนี้เป็นของฮิตช์ค็อกเอง เขาได้เพาะบ่มนิสัยเช่นนี้ให้กับคนดูให้ติดไปกับมุมมองของเจฟเกือบตลอดทั้งเรื่อง

     นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังได้แสดงว่านิสัยถ้ำมองของเจฟนั้นนอกจากความเบื่อหน่ายต่อชีวิตแล้วยังเกิดจากความคับข้องใจทางเพศ (sexual frustration)  จากการที่เขาไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ภาพยนตร์เหมือนจะบอกว่าความเป็นคนหัวเก่าของเขา(เช่นเดียวกับการถูกพันธนาการไว้กับเฝือกที่ขา) ย่อมไม่อาจทำให้เจฟมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับลิซ่าในตอนนี้ได้แม้สาวเจ้าจะ "อ่อย" และเป็นฝ่ายรุกในการเข้าพระเข้านาง แต่การแต่งงานก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นเพราะความกลัวการแต่งงานของเจฟ ด้วยสาเหตุที่ว่าเขาและลิซ่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด  เขานั้นอายุก็ไม่น้อยแล้วคือย่างเข้าสู่วัยกลางคน ดูจืดชืดและมีโลกส่วนตัวสูง ส่วนลิซ่ายังสาวและสวยเลิศแถมเปี่ยมด้วยเสน่ห์ เธอได้พยายามที่จะรบเร้าให้เขาแต่งงานด้วย แต่เจฟยังลังเลใจจากความแตกต่างกันของวิถีชีวิตเพราะเขารักอิสระชอบผจญภัยไปกับอาชีพการเป็นช่างภาพของเขา ซ้ำร้ายเจฟยังไม่ค่อยเข้าใจผู้หญิงและยังมองผู้หญิงในด้านร้ายโดยเฉพาะตัวลิซ่าซึ่งดูเป็นสาวสังคมชั้นสูง ชอบแต่งตัวด้วยชุดที่น่าจะเพิ่งมาจากเวทีนางแบบมาหมาดๆ  ด้วยปัจจัยเช่นนี้ทำให้เจฟไม่แน่ใจว่าชีวิตของเขาและเธอภายหลังการแต่งงานจะไปรอดหรือไม่แม้ลิซ่าจะยืนยันว่าเธอจะสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายของเขา โรคกลัวการแต่งงานของเจฟย่อมได้รับแรงเสริมจากการเห็นสามีภรรยาที่อยู่อพาร์ตเมนต์ตรงกันข้ามทะเลาะเบาะแว้งกันหรือแม้แต่เพื่อนตำรวจซึ่งเจฟพยายามติดต่อให้มาคลี่คลายคดีก็ดูเจ้าชู้ไปพร้อมกับความขี้หึงของภรรยาอันสะท้อนถึงชีวิตสมรสที่เป็นการผูกมัดซึ่งกันและกันซึ่งผู้ชมสามารถสัมผัสได้แม้ภาพยนตร์ใช้เพียงเสียงของเธอผ่านโทรศัพท์เพียงครั้งเดียว   ในทางกลับกันตัวเจฟเองก็ยังปรารถนาการแต่งงานและเพศรสโดยภาพยนตร์ได้บอกเป็นนัยตอนที่เขาเผลอเอาใจช่วยสาวโสดผู้เปลี่ยวเหงาหรือการที่เขาแอบมองด้วยความอิจฉาต่อคู่สมรสใหม่ที่เอาแต่เสพสุขกัน (ภาพยนตร์บอกเป็นนัยจากห้องที่ถูกปิดด้วยม่านและเงียบสงบเกือบทั้งเรื่อง)  แต่เจฟก็ต้องเปลี่ยนความรู้สึกเช่นนี้เมื่อสามีเริ่มระอากับกิจกรรมทางเพศที่ภรรยายังต้องการอยู่ไม่วาย (ภาพยนตร์นำเสนอว่าครั้งหนึ่งให้ฝ่ายชายออกมายืนนอกหน้าต่างด้วยท่าทางอิดโรยแต่ก็ถูกฝ่ายหญิงตามมาสะกิด)  

 

 

                      

                                  ภาพจาก  jocelyniswrong.com 

 

 

  ในที่สุดการเป็นนักถ้ำมองก็กลายเป็นนิสัยที่เขาเสพติดอย่างถอนตัวไม่ขึ้นดังจะเห็นได้จากตอนที่เจฟและลิซ่ามีเพียงการกอดจูบเพียงเล็กน้อยเพราะพระเอกมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับความสงสัยที่ว่าเซลล์แมนผู้นั้นได้ฆ่าภรรยาหรือไม่และดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะดีขึ้นเพราะพวกเขาได้ร่วมกันคลี่คลายปริศนาการฆาตกรรมภรรยาของเซลล์แมนซึ่งก็ใช้เล่ห์กลการอำพรางความชั่วของเขาที่ซับซ้อนตามแบบของฮิตช์ค็อก อย่างไรก็ตามตอนจบแบบมีความสุขยังมีสัญลักษณ์คือทั้งนักดนตรีที่อยู่ชั้นบนและสาวโสดที่อยู่ชั้นล่างหันมาตกหลุมรักกันราวกับจะบอกเป็นนัยว่าเจฟกับลิซ่าเป็นคู่กันแล้วไม่แคล้วกันแม้ภาพยนตร์อาจบอกไม่ชัดเจนแต่ก็ปล่อยให้ผู้ชมซึ่งปรารถนาจะเห็นคู่พระคู่นางได้แต่งงานกันจินตนาการเอาเอง แต่กลยุทธ์การดำเนินเรื่องทั้งหมดนี้ได้แสดงถึงความเป็นอัจฉริยะของฮิตช์ค็อกที่สามารถสร้างปฏิกิริยาสะท้อนกลับทางอารมณ์ระหว่างตัวเอกคือเจฟกับลิซ่า (ผู้มอง) กับเพื่อนบ้าน (ผู้ถูกมอง) ทั้งความเหมือนและความแตกต่าง นั้นคือการมองเป็นสิ่งที่กำหนดความเป็นตัวเรา (To watch is to be)  ซึ่งผมคิดว่าน่าจะถือได้ว่าเป็นทฤษฎีสำหรับสื่อสารมวลชนซึ่งน่าจะวิเคราะห์ได้ว่าเหตุใดเราจึงหมกมุ่นกับดาราหรือผู้มีชื่อเสียงจนทำให้สื่อมวลชนจำนวนมากติดตามและนำเสนอข่าวของพวกเขาอย่างใหญ่โตเสียยิ่งกว่าเรื่องสำคัญทางการเมืองหรือชะตากรรมของประเทศเสียอีกก็เพราะคนดังหรือดาราเหล่านั้นอาจจะสะท้อนตัวตนของพวกเราในระดับหนึ่งโดยเฉพาะตัวตนในอุดมคติของพวกเรากล่าวอีกแง่มุมหนึ่งคือพวกเรามีความปรารถนาอันซ่อนเร้นที่จะเป็นหรือมีคุณสมบัติดังพวกเขา

 

     ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการยกย่องจากคนรุ่นหลังอย่างมากเช่นถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในรอบ 100 ปีโดยสมาคมภาพยนตร์อเมริกันและยังมีอิทธิพลต่อภาพยนตร์หลายเรื่องซึ่งใช้ประเด็นถ้ำมองเพื่อนบ้านมาเกี่ยวข้องไม่ว่า  What Lies beneath (2000) ของ  โรเบิร์ต เซเมกิสหรือ Disturbia (2007) ของดีเจ คารูโซ กระนั้นตอนที่ผมได้ดูเรื่อง 4 แพร่งที่ตอนแรกคือ "เหงา" คือตัวเอกต้องมาแกร่วอยู่แต่ในหอพักเพราะขาเข้าเฝือกจากอุบัติเหตุ แม้ว่าเธอจะไม่ได้เฝ้ามองชีวิตของคนอื่นแล้วก็พอจะเดาได้ว่าวิญญาณของท่านเซอร์ยังคงแฝงมากับภาพยนตร์ไทยโดยเฉพาะภาพยนตร์สยองขวัญในค่ายจีทีเอชนอกจากเรื่องนี้แล้วยังรวมไปถึง The Shutter ซึ่งหยิบยืมการทำบรรยากาศแห่งความน่ากลัวและการดำเนินเรื่องแบบ  Hitchcockian มาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะฉากศพของเนตรบนเตียงนั้นเป็นการแสดงคารวะต่อภาพยนตร์ Psycho ที่โจ๋งครึ่มมาก 

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามองว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  สำหรับโวห์ลสเตเตอร์และสานุศิษย์ แม็ดนั้นทั้งไร้ศิลธรรมและไร้ประสิทธิภาพ ที่ไร้ศีลธรรมคือมันจะสร้างความเสียหายให้กับพลเรือน และที่ไร้ประสิทธิภาพคือ มันจะทำให้เกิดการยุติการสะสมระเบิดนิวเคลียร์ของทั้งคู่ ในทางกลับกัน โวห์ลสเตเตอ