Skip to main content
นายยืนยง


ชื่อหนังสือ : ประวัติย่อของแทรกเตอร์ฉบับยูเครน
A SHORT HISTORY OF TRACTORS IN UKRAINIAN

ผู้เขียน : MARINA LEWYCKA

ผู้แปล : พรพิสุทธิ์ โอสถานนท์

ประเภท : นวนิยายแปล พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2550

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน


และแล้วฉันก็ได้อ่านมัน ไอ้เจ้าแทรกเตอร์ฉบับยูเครน เมียงมองอยู่นานสองนานแล้วได้สมใจซะที

ซึ่งก็สมใจจริงแท้แน่นอนเพราะได้อ่านรวดเดียวจบ (แบบต่อเนื่องยาวนาน) จบแบบสังขารบอบช้ำเมื่อต่อมขำทำงานหนัก ลามไปถึงปอดที่ถูกเขย่าครั้งแล้วครั้งเล่า


ประวัติย่อของแทรกเตอร์ฉบับยูเครน เป็นนวนิยายสมัยใหม่ที่ใช้ภาษาง่าย ๆ แต่ดึงดูดแบบยุคทุนนิยมเสรี ตัวละครล้วนมีเสน่ห์เย้ายวนชวนให้เกาะติดชะตากรรมในภายภาคหน้า และขอร้องว่าไม่ต้องคาดเดาตอนจบเพราะนวนิยายสมัยใหม่มักไม่เร่อร่าเน้นหนักในตอนจบของเรื่อง เหมือนอย่างยุคของกีร์เดอโมปัสซัง

ที่เน้นนักหนาว่าต้องจบแบบหักมุม พลิกทุกความคาดหมาย ทำเอาผู้อ่านหัวใจเดาะเป็นทิวแถว


ฮ่า ๆ

ฉันนึกถึงตอนสำคัญ ๆ ของเรื่องแล้วยังอดหัวเราะคนเดียวไม่ได้ โอย..ตายแล้ว ฉันอ่านนวนิยายเรื่องนี้จบโดยที่ไม่ป่วยเป็นโรคปอดบานมาได้อย่างไรกัน ขอยืนยันความฮาทุกรูขุมขนอีกครั้งเลยทีเดียวเชียว หากใครเคร่ง ๆ คร่ำ ๆ เครียด ๆ อยู่ล่ะก็ รับประกันได้คุณจะหายเป็นปลิดทิ้ง แต่ขอบอกอีกทีว่า มันไม่ใช่ความฮาเหลวเป๋วประเภทที่เราจะพบได้กลาดเกลื่อนตามจอโทรทัศน์ หรือหนังสือบริหารเหงือกแนวอุดมเดี่ยวไมโครโฟน อะไรทำนองนั้น แต่เป็นความฮาประเภทอุดมด้วยเชิงอรรถ และผสมด้วยความเหี้ยมโหดอันเป็นบาดแผลฉกรรจ์ของชนชาติยุโรปจากมหาสงคราม


นอกจากความขำขันที่พิลึกปนซาดิสม์แล้ว ผู้เขียนยังได้แสดงให้เห็นถึงมุมมองอันเฉียบคม พลิกพลิ้ว และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคม ระบบการปกครอง รวมถึงจิตสำนึกของความเป็นชาตินิยมไว้อย่างกลมกลืน เน้นว่า ไม่มีอะไรที่จะกลมกลืนยิ่งกว่านี้หรอก


มาเริ่มเรื่องกันดีกว่า


สองปีหลังจากแม่ตาย พ่อตกหลุมรักแม่ม่ายทรงเสน่ห์ผมบลอนด์ชาวยูเครน เขาอายุแปดสิบสี่ เธออายุสามสิบหก เธอพรวดพราดเข้ามาในชีวิตของเราราวกับลูกระเบิดขนปุยสีชมพู กวนน้ำครำ และนำเอาโคลนตมแห่งความทรงจำเน่าเฟะขึ้นสู่ผิวน้ำ ปลุกวิญญาณบรรพบุรุษให้สะดุ้งตื่นลืมตา


น่าอัศจรรย์แค่ไหนที่เพียงย่อหน้าแรก (จริง ๆ ผู้เขียนไม่ได้ใช้ย่อหน้า) ก็สามารถบอกเล่าเค้าโครงเรื่องทั้งหมดได้ ไม่น่าเชื่อใช่ไหมล่ะ


จากนั้นลูกสาวสองคนที่ล้วนอยู่ในวัยกลางคนและมีครอบครัวแล้ว ก็เริ่มทำสงครามขับไล่ วาเลนติน่า,

แม่ม่ายทรงสะบึ้มชาวยูเครน เพื่อนร่วมชาติของพวกเธอให้กลับบ้านเกิดเมืองนอนไปซะ แต่เดิมครอบครัวนี้เป็นชาวยูเครนอพยพมาตั้งรกรากอยู่ในอังกฤษ สุดท้ายไม่ว่าวาเลนติน่าผู้ยอมหย่าจากสามี ทิ้งยูเครนประเทศแม่ไว้กับอาชญากรรมจากฝีมือของนักการเมือง หอบลูกชายวัยรุ่นกระโจนเข้าหาชีวิตใหม่ในโลกตะวันตกจะสมหวังได้กอบโกยทรัพย์สมบัติเงินทองจากพ่อม่ายวัยแปดสิบปีหรือไม่ เหล่านี้เป็นเพียงเค้าโครงภายนอกที่จะดึงดูดเราให้เดินไปพร้อมกับคำบอกเล่าของผู้เขียน


แต่แท้จริงแล้ว เค้าโครงเรื่องย่อยที่แฝงตัวอยู่อีกชั้นหนึ่ง และลึกเข้าไปอีกชั้นแล้วชั้นเล่านั้น ได้ดำเนินผ่านวิธีคิด และการดำเนินชีวิตของตัวละครแบบที่แบ่งเป็นขั้วคู่ขัดแย้งไว้ตลอดเรื่อง และเป็นขั้วคู่ขัดแย้งที่แสดงออกชัดเจนว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกันตั้งแต่ต้น แม้กระทั่งพี่น้องคู่นี้ เวร่า และน้องสาวนาเดซห์ดา

(นาเดีย) สองพี่น้องทะเลาะกันอย่างหนักเรื่องมรดกหลังงานศพของแม่


เวร่าเกิดและเติบโตอย่างรันทน ท่ามกลางความแร้นแค้นและน่าประหวั่นพรั่นพรึงของสงคราม ทั้งสงครามกลางเมืองและสงครามโลก ได้รู้เห็นและซึมซับเลือด น้ำตา ความตายมาตั้งแต่เกิด ความโหดร้ายทารุณของประเทศสังคมนิยม และนาซีเยอรมันที่เข้าแย่งชิงยูเครนบ้านเกิดของเธอ ทำให้เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เธอจึงเป็นทุนนิยมเต็มตัว ขณะที่นาเดซห์ดาถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาของสันติภาพในประเทศผู้ชนะสงครามอย่างอังกฤษ โดยที่เธอไม่เคยรับรู้เรื่องราวแสนโหดร้ายปางตายของคนในครอบครัวระหว่างเผชิญกับสงคราม เธอเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่นิยมพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ครั้นหนึ่งมันเกือบได้ฆ่าคนในครอบครัวของเธอ


ผู้เขียนใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 (ฉัน-นาเดซห์ดาผู้เป็นน้องสาว) เป็นผู้เล่าเรื่องทั้งหมด เธอเล่าถึงสัมพันธภาพระหว่างพี่สาวไว้ในหน้า 296


เวร่ากับฉันอายุห่างกันสิบปี-เป็นสิบปีที่ฉันมีวงเดอะบีทเทิลส์ การเดินขบวนประท้วงสงครามเวียดนาม การลุกฮือของนักศึกษาในปี 1968 และการกำเนิดของเฟมินิสต์ ซึ่งสอนให้ฉันมองผู้หญิงทุกคนว่าเป็นพี่น้องกัน-ผู้หญิงทุกคนยกเว้นพี่สาวของฉัน


แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้เล่าผ่านบริบททางประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลก มีการแทรกเชิงอรรถไว้อธิบายอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียอรรถรสของนวนิยาย และที่สำคัญนี่ไม่ใช่เรื่องจากบันทึกความทรงจำอันแสนทารุณ โหดเหี้ยมอย่างที่เราเคยอ่านจากบันทึกของแอนแฟรงค์ หรือเรื่องอื่น ๆ แต่เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า นอกจากความสูญเสียที่เราซาบซึ้งจนไม่อยากพูดถึง สงครามได้ให้อะไรอื่นอีกกับผู้คนและกับสังคมอีกบ้าง ซึ่งหัวใจของเรื่องอยู่ตรงที่การสลับเปลี่ยนขั้ว เช่น จากคนที่นิยมคอมมิวนิสต์สุดขั้วกลับกลายเป็นนายทุนใหญ่และกำลังรีดนาทาเร้นเพื่อนร่วมชาติ ร่วมอุดมการณ์ไปได้ และล้วนเป็นขั้วคู่ขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นฝ่ายตรงข้ามกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกับ แนวคิดแบบเฟมินิสต์ นั่นเอง


โดยที่ผู้เขียนได้สร้างให้ตัวละครที่เป็นพ่อ ซึ่งเป็นวิศวกรผู้ชาญฉลาดแต่อยู่ในวัยที่เกือบจะช่วยตัวเองไม่ได้ และไร้สมรรถภาพทางเพศ ขณะเดียวกันก็เป็นตาแก่ตัณหากลับ ให้เขาเป็นผู้เขียนประวัติย่อของแทรกเตอร์ของยูเครน ประเทศแม่ของเขา และพร้อมกับประวัติย่อดังกล่าวที่ผสมผสานเข้ามาในเค้าโครงเรื่องภายนอกนั่นเองที่ผู้เขียนก็ได้บอกเล่าถึงสัญลักษณ์ทั้งหมดของเรื่องไว้ในนั้นด้วย


เอาล่ะ “พวกเธอจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับแผ่นดินอันเป็นที่รักของเรา” หน้า109

ในประวัติศาสตร์ของยูเครน แทรกเตอร์มีบทบาทที่ขัดแย้งสมัยก่อน ยูเครนเป็นประเทศของชาวไร่ ชาวนาและสำหรับประเทศที่มุ่งพัฒนาขีดความสามารถด้านเกษตรกรรมเช่นนี้ การเปลี่ยนจากแรงงานคนไปใช้เครื่องจักรนับว่าสำคัญอย่างยิ่ง แต่กระบวนการให้ได้มาซึ่งเครื่องจักรแทนมนุษย์นั้นเลวร้ายสาหัส


หลังการปฏิวัติในปี 1917 รัสเซียกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีจำนวนกรรมกรผู้ใช้แรงงานในเมืองเพิ่มสูงขึ้น กรรมกรเหล่านี้ถูกคัดสรรมาจากชาวชนบทตามหัวเมือง แต่ถ้าชาวไร่ชาวนาต่างละทิ้งถิ่นฐานบ้านนอก คนเมืองทั้งหลายจะเอาอะไรกิน


คำตอบของสตาลินต่อปัญหาสองแพร่งนี้ก็คือ การบัญชาให้ชนบทต้องกลายเป็นย่านอุตสาหกรรมเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จากที่ชาวชนบทเคยถือครองที่ดินคนละเล็กละน้อย ที่ดินทั้งหมดต้องเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันเพื่อทำฟาร์มขนาดใหญ่และดำเนินการภายใต้หลักการของโรงงาน ฯลฯ


การเกิดขึ้นของแทรกเตอร์นับว่ามีนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์ด้วยความที่มันทำให้การไถนาแต่ละแปลงของชาวนาแต่ละครอบครัวกลายเป็นหนึ่งเดียว แม้ไม่ประสบความสำเร็จ ฯลฯ แต่อุตสาหกรรมแทรกเตอร์ในยูเครนกลับเฟื่องฟู ฯลฯ การจองเวรของสตาลินไร้ซึ่งความปรานี เขาใช้ความอดอยากหิวโหยเป็นเครื่องมือ ในปี 1932 ผลผลิตทั้งหมดในยูเครนถูกยึด และขนส่งไปมอสโกและเลนินกราด เพื่อปากท้องของกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม เนยและข้าวจากยูเครนถูกนำไปขายลดราคาในปารีสและเบอร์ลิน ชาวตะวันตกผู้ไม่ประสาต่างพากันยินดีกับความมหัศจรรย์ของผลผลิตจากโซเวียต แต่ผู้คนตามหมู่บ้านของยูเครนต่างพากันอดตาย นี่คือโศกนาฎกรรมที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของเรา แต่บัดนี้กำลังถูกเปิดเผย (โดยฝีการเขียนของนายวิศวกรผู้อาวุโสแต่มีกำลังมีความรักร้อนแรงเมียสาว)


ขณะที่สองคนพี่น้องที่คอยแต่จะทะเลาะกันทุกนาที ต่างพยายามหาวิธีกำจัดนังวายร้ายวาเลนติน่าให้ออกไปจากชีวิตของพ่อ ประวัติย่อของแทรกเตอร์ฉบับยูเครนก็ค่อย ๆ คลืบคลานออกจากปลายปากกาของพ่อเป็นภาษายูเครน


จนกระทั่ง หน้า 176 เทคโนโลยีแห่งสันติในรูปของแทรกเตอร์ ไม่เคยถูกเปลี่ยนเป็นอาวุธแห่งสงครามที่เหี้ยมเกรียมเท่ากับการกำเนิดขึ้นของรถถังวาเลนไทน์ ตอนนี้เขาเขียนขึ้นระหว่างที่ทะเลาะกับภรรยาสาวที่เพิ่งแต่งงานกัน ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องที่เขากำลังเขียนอยู่


หน้า 286 เมื่อสงครามสิ้นสุด ก็เป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนาและความก้าวหน้าอย่างหาที่เปรียบมิได้ในประวัติศาสตร์ของแทรกเตอร์ ขณะที่มีดดาบถูกแปรเปลี่ยนเป็นใบคันไถอีกครั้ง และโลกที่หิวโหยเริ่มคิดว่ามันจะเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร เกษตรกรรมที่เฟื่องฟู อย่างที่เรารู้กันอยู่ทุกวันนี้ คือความหวังเดียวของเผ่าพันธุ์มนุษย์ และด้วยเหตุนี้แทรกเตอร์จึงมีบทบาทสำคัญยิ่ง


จากนั้นแทรกเตอร์ก็ถูกพัฒนาโดยวิศวกรผู้ชาญฉลาดของชาติต่าง ๆ ทั้งอังกฤษ โซเวียต อเมริกัน

ประวัติย่อฯจบลงตรงที่แทรกเตอร์เป็นประดิษฐกรรมที่ทรงอำนาจและมันถูกนำมาใช้พลิกฟื้นทุ่งหญ้าแพรี่อันกว้างใหญ่ไพศาลของโลกตะวันตกอย่างบ้าคลั่ง จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมอีกครั้ง

เขาจบประวัติย่อฯอย่างสวยงามในหน้า 369 ว่า

แต่ที่ต้องนำมากล่าวเสริมก็คือความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความยากจนซึ่งแพร่ขยายไปทั่วโลกก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งเบื้องหลังการกำเนิดขึ้นของฟาสซิสต์ในเยอรมันและคอมมิวนิสต์ในรัสเซีย การเกิดขึ้นพร้อมกันของสองอุดมการณ์เกือบจะนำมนุษยชาติไปสู่การล่มสลายของเผ่าพันธุ์ ฯลฯ


เรื่องจบลงแล้ว ทั้งประวัติย่อของแทรกเตอร์ฉบับยูเครนที่เขียนโดยพ่อวิศวกร พร้อมทั้งการสิ้นสุดของสงครามขับไล่วาเลนติน่าให้กลับไปอยู่ยูเครนบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ โดยการรวมพลังระหว่างคู่พี่น้องผู้ไม่เคยลงรอยกันเลย นาเดซห์ดา สาวเฟมินิสต์ผู้ค่อย ๆ กลืนอุดมการณ์ของตัวเอง และเวร่าผู้เก็บกดความทรงจำแสนทารุณที่ค่อย ๆ ผ่อนปรนขึ้น พร้อมกันนั้นความทรงจำในอดีตอันแสนขมขื่นก็ค่อย ๆ เผยตัวขึ้น ก่อนที่มันจะค่อย ๆ เดินกลับไปสู่ที่ที่มันจากมา ...


สงครามได้สร้างให้เราเป็นอย่างนี้ และสงครามก็เปลี่ยนให้เราเป็นอีกอย่าง โดยที่ไม่เคยลืมบาดแผลในอดีตเลย เพียงแต่ไม่อยากจะนึกถึงเท่านั้น


ความจริงนวนิยายเรื่องนี้มีความพิเศษ น่าสนใจอีกหลายประเด็นมากกว่านี้ โดยเฉพาะว่าเราจะได้เห็นถึงรูปแบบการเขียนนวนิยายหรือเรื่องแต่งที่ผสมเอาบริบททางประวัติศาสตร์ หรือเรื่องจริงเข้ามาไว้ด้วยกัน เป็นรูปแบบการเขียนที่น่าสนใจ แม้นว่านักเขียนไทยหลายคนก็ได้นำวิธีนี้มาเขียน แต่การตีความหรือขยายความ หรือแม้กระทั่งการแสดงทัศนะต่อสังคม ต่อชีวิต ยังดำเนินไปด้วยน้ำเสียงคร่ำเคร่งอย่างนักวิชาการที่เขียนประวัติศาสตร์ฉบับประชาชนอะไรทำนองนั้น ซึ่งเป็นการลดทอนสุนทรียรสของนวนิยายไปอย่างน่าเสียดาย


ถ้าอ่านบทความนี้แล้วยังมองไม่เห็นว่ามันจะตลกขบขันตรงไหนเลยสักนิด อาจหาว่าฉันเป็นพวกเส้นตื้นก็ตาม แต่ขอแนะนำให้ไปอ่านนวนิยายโดยด่วน (นี่ไม่ใช่คำโฆษณาชวนเชื่อแบบทุนนิยมและสังคมนิยมทั้งสิ้น) และจะได้พบกับความรู้สึกเช่นเดียวกัน ก็มันช่างตรงเผงเจ๋งเป้งเหมือนได้อ่านเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศของเราเองยังไงยังงั้นเลย ใช่ประเทศไทยนี่แหละ ดินแดนอันอุดมด้วยทรัพยากร ประเทศเกษตรกรรมของระบอบศักดินาล้าหลัง แล้วก็เปลี่ยนคมใบไถนาไปเป็นมีดดาบของทุนนิยมสามานย์ ถึงทุกวันนี้ที่คอมมิวนิสต์ขี่ดาวเทียม หรือศักดินากับทุนนิยมได้ผสมข้ามสายพันธุ์กันแล้วมีหน้าตาเป็นอย่างไร ฉันเองยังเสียวสันหลังวาบอยู่บ่อยไป เวลาสบตากับตัวเองในกระจกเงา.



บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 ‘ นายยืนยง ’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยพิมพ์ครั้งที่ ๑ผู้เขียน ผู้แปล  : ::::::เดวิด หนีสุดชีวิต   ( I am David )วรรณกรรมแปล   /  นวนิยายเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีนกันยายน   พ.ศ.๒๕๔๙Anne Holmอัจฉรัตน์  ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม เดวิด…
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    ภาพเหมือน  ( The Portrait ) ประเภท    :        วรรณกรรมแปล จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ คมบาง พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    ตุลาคม ๒๕๔๔ ผู้เขียน        :    นิโคไล  โกโกล ผู้แปล        :    ดลสิทธิ์  บางคมบาง    จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ  CHRISTOPHER  ENGLISH …
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ :    ไตร่ตรองมองหลักประเภท :                บทความพุทธปรัชญา     จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์ศยามพิมพ์ครั้งที่ ๒ :    กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๓  :  แก้ไขปรับปรุงผู้เขียน :    เขมานันทะบรรณาธิการ :    นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ในกระแสนิยมปัจจุบัน  แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร  และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง …
สวนหนังสือ
โดย นายยืนยงเรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทยผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ  โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น …