Skip to main content

สืบเนื่องจากสถานการณ์ป่วนสภา ป่วนถนน และการป่วนอื่นๆ ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่สร้างสถานการณ์ อนาธิปไตย anarchy อันจะนำไปสู่ การรัฐประหาร ยึดอำนาย โดย นายทหาร และ/หรือ นายศาล เรื่องทำนองนี้ ได้เกิดมาแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2490 แล้วก็เกิดอีก เมื่อ พ.ศ. 2549 ปวศ อาจซ้ำรอยอีก และเมื่อถึงตอนนั้น กาลียุค ก็จะบังเกิดในสยามประเทศไทย

ครั้งหนึ่ง ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้นำปฎิวัติสยาม ผู้ประศาสน์การ มธก รัฐบุรุษอาวุโส และ อดีต นรม ได้เตือนเราไว้ และน่าที่ เราๆ ท่านๆ ในยุคสมัยอันสับสน เช่นนี้ จักได้สำเนียก เรียนรู้ และสร้าง "การเมืองดี" ให้กับชาติบ้านเมือง

เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2489 กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว ในขณะที่สังคมไทยกำลังค้นหาให้ได้มาซึ่งระบอบ "ประชาธิปไตย" ฯพณฯ ปรีดี ซึ่งในตอนนั้นดำรงตำแหน่ง นรม ได้กล่าวปิดประชุมสภาเมื่อ 7 พฤษภา ด้วยคำเตือนเรื่อง "ประชาธิปไตย" กับ "อนาธิปไตย" ดังนี้

"ระบอบประชาธิปไตยนั้น เราหมายถึงประชาธิปไตย อันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันไม่มีระเบียบ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรม เช่น การใช้สิทธิเสรีภาพอันมีแต่จะให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม ระบอบชนิดนี้เรียกว่าอนาธิปไตย หาใช่ประชาธิปไตยไม่ ขอให้ระวัง อย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย"

ท่านปรีดี กล่าวต่อว่า "ข้าพเจ้าไม่พึงประสงค์ที่จะให้มีระบอบเผด็จการในประเทศไทย ในการนี้ก็จำเป็นต้องป้องกันหรือขัดขวางมิให้มีอนาธิปไตย อันเป็นทางที่ระบอบเผด็จการจะอ้างได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าเราช่วยกันประคองใช้ให้ระบอบประชาธิปไตยนี้ได้เป็นไปตามระเบียบเรียบร้อย .... ระบอบเผด็จการย่อมมีขึ้นไม่ได้"

ท่านปรีดีกล่าวอย่างน่าสนใจอีกว่า "การใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ต้องทำโดยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังผลส่วนรวมจริงๆ ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว หรือมีความอิจฉาริษยากันเป็นมูลฐาน เนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว (เอ็กโกอีสม์)"

แล้วท่านปรีดี ก็เข้าสู่ไคลแมกซ์ด้วยการกล่าวว่า "โดยมีอุดมคติซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าเคารพในความซื่อสัตย์ ซึ่งมีตัวอย่างอยู่มากหลายที่ผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ได้ร่วมกิจการรับใช้ชาติกับข้าพเจ้า... แต่ผู้ซึ่งแสดงว่าซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ในภายนอก ส่วนภายในหวังผลส่วนตน หรือมูลสืบเนื่องมาแต่ความไม่พอใจเป็นส่วนตัวเช่นนี้แล้ว ก็เกรงว่าผู้นั้นก็อาจหันเหไปได้ สุดแต่ว่าตนจะได้รับประโยชน์ส่วนตนอย่างไรมากกว่า"

ท่านปรีดี จบคำปราศัย ฝากฝังไว้กับ สส. ในสภาว่า "ข้าพเจ้าหวังว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลาย คงจะใช้สิทธิของท่านด้วยความบริสุทธิ์ใจ และอาศัยกฏหมายและศีลธรรมความสุจริตเป็นหลัก ไม่ช่วยกันส่งเสริมให้มีระบอบอนาธิปไตย

ข้าพเจ้าขอฝากความคิดไว้ต่อท่านผู้แทนราษฎรทั้งหลาย โดยเป็นห่วงถึงอนาคตของชาติ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้เห็นประเทศชาติปลอดจากระบอบเผด็จการ และปลอดจากระบอบอนาธิปไตย คงมีแต่ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม

ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรมนี้เป็นวัตถุประสงค์ของคณะราษฎร ที่ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานรัฐธรรมนูญ"

ท่านปรีดีฝากฝังอะไรไว้มากมายเมื่อ 7 พฤษภา พ.ศ. 2489 ต่อมาอีก 2 วัน คือ 9 พฤษภา ท่านปรีดี ก็ถวายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ในหลวงอานันท์ รัชกาลที่ 8 ลงพระปรมาภิไธย แต่อีก 1 เดือนต่อมา คือ ในวันที่ 9 มิถุนา ในหลวงอานันท์ ก็ต้องพระแสงปืนเสด็จสวรรคต

และแล้ววิกฤตก็บังเกิด อำนาจเก่าบารมีเก่า ใส่ร้ายป้ายสี "ปรีดี ฆ่าในหลวง" ท่านปรีดีแสดงความรับผิดชอบ ลาออกจาก นรม และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ก็ขึ้นเป็นแทน รัฐบาลหลวงธำรงฯ ถูกพรรคฝ่ายค้าน คือ ประชาธิปัตย์ นำโดยนายควง อภัยวงศ์ เปิดอภิปรายในสภาฯ ไม่ไว้วางใจหลายวันหลายคืน และเมื่อล้มรัฐบาลด้วยวิถีทางรัฐสภาไม่ได้ นายควง หัวหน้าพรรคฯ ก็ร่วมมือกับ "ระบอบทหาร" ที่นำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ ทำ "การรัฐประหาร" ยึดอำนาจเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490

จากนั้นสยามประเทศ(ไทย) ของเรา ก็เข้าสู่ "ยุดมืดบอดทางการเมือง" กลายเป็น "ระบอบเผด็จการครึ่งใบ" อยู่ 10 ปีภายใต้ "ระบอบพิบูลสงคราม" ระหว่าง พ.ศ. 2491-2500 แล้วก็ต้องตกอยู่ภายใต้ "ระบอบเผด็จการเต็มใบ" ของ "ระบอบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส" อีก 15 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2501-2516 รวมแล้วกว่าจะถูกโค่นล้มไปเมื่อ "14 ตุลา" พ.ศ. 2516 ก็กินเวลาถึง 26 ปี

ท่านปรีดีของเราต้องกลายเป็น "พ่อกู นามระบือ ชื่อปรีดี แต่คนดี เมืองไทย ไม่ต้องการ" (เช่นเดียวกับ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ) ท่านต้องลี้ภัยการเมือง ลี้ภัยจาก "อนาธิปไตย" และ "เผด็จการทหารและอนุรักษ์นิยม" ไปอยู่เมืองจีนถึง 21 ปี แล้วก็จะไปจบชีวิตลงที่ปารีสเมื่อปี พ.ศ. 2526

ครับ ท่านปรีดีและคำเตือนว่าด้วย "อนาธิปไตย" กับ "ประชาธิปไตย" ทำให้เราต้องคิดใคร่ครวญหนักต่อสถานการณ์ปัจจุบัน นับตั้งแต่ "ระบอบพันธมิตร" กับการ "ล้มรัฐบาลสมัคร/สมชาย" ตลอดจน "โค่นระบอบทักษิณ" รวมทั้งสภาพการ "ป่วน" ทั้้งหลาย ทั้งปวง เราจะแก้วิกฤตครั้งนี้ได้อย่างไร เราจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิด "อนาธิไตย" อันนำมาสู่ "รัฐประหารโดยนายทหาร/นายศาล" หรือบานปลายไปจนเป็น "สงครามกลางเมือง" กลายเป็น "กาลียุค"

หากเราตระหนักในคำเตือนล่วงหน้าก่อนกาล ของท่านปรีดี ที่ท่านให้เรายึดมั่นใน "ประชาธิปไตย" ไม่นำไป "สับสน" หรือ "ปนเปื้อน" กับ "อนาธิปไตย/ป่วน" อันจะนำเราไปสู่ "ระบอบเผด็จการ" เมื่อนั้นแหละ ที่บ้านเมืองของเราจะพอมีอนาคตกันบ้าง

หรือว่าทุกอย่างจะสายเกินแก้ไปแล้ว และ ในกาลียุคสมัย "พระอิศวรศิวะเทพ" ก็จะปรากฏกายเป็น "ศิวะนาฏราช" เหนือปราสาทเขาพระวิหารและปราสาทเขาพนมรุ้ง เพื่อทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างให้สิ้นซาก แล้วให้ "พระนารายณ์วิษณุเทพ" บันดาลให้ดอกบัวผุดขึ้นมาจากพระนาภี เผย "องค์ท้าวมหาพรหม" ที่จะทรงสร้างโลกใหม่ ที่มี "สิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ" มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเสียที

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ณ เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์

22 สิงหาคม 2556

บล็อกของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
  Believe it or not, Cambodia and Siam: (when Sihanouk was young) เชื่อไหม ตอนที่ นโรดมสีหนุ พยายามกู้เอกราช  เสด็จมาเยือนไทย เยือน มธ ด้วย  
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
Incredible Cambodia  เชื่อไหม  พระบาทสมเด็จ นโรดมสีหนุ  อดีตกษัตริย์กัมพูชา  ทรงร้องเพลง "รักเธอเสมอ" 
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ไป (แต่ไม่ได้) ดู “กุ้งเดินขบวน” กับ “นารายณ์บรรทมสินธุ์” อ. น้ำยืน อุบล เมื่อช่วงครบ 6 ปีรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ผมไปเสวนาเรื่อง “ปัญหาข้อพิพาทเขตแดน ระหว่างผุ้นำกรุงเทพฯ กับ ผู้นำกรุงพนมเปญ”  คณบดีไชยันต์ รัชชกูล ม อุบล ชวนไปพูดร่วมกับ ดร ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
14 October 1973: Day of Great Joy 14 ตุลา 2516/1973 เป็นวัน "มหาปิติ" วันนั้น เมื่อ 39 ปี มาแล้ว 
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
 
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
 บทบันทึกการเดินทางเพื่อเข้ารับรางวัล ณ เมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา 
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
(โปรดส่งต่อ ล้อมกรอบ ปชส เผยแพร่ในทุกรูปแบบด้วย ครับ) ในฐานะประธานมูลนิธิ จิตร ภูมิศักดิ์  ขอส่งบทความมาเพื่อทราบ  และขอแจ้งว่า เรากำลังสร้างอนุสาวรีย์จิตร ที่บ้านหนองกุง สกลนคร ยังขาดเงินเกือบ ๑ ล้าน ๕
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชี้ คณิต ณ นคร ประธาน คอป.มีความเข้าใจที่ผิดพลาดทางประวัติศาสตร์
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
  บันทึกสองฉบับจากชาญวิทย์ เกษตรศิริ เล่าถึงเมืองฟูกูโอกะ และรางวัลฟูกูโอกะ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ  
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ