Skip to main content

 

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
เมืองมุมปาก
 
มรดกชิ้นสำคัญของคณะราษฎรจากการปฏิวัติสยาม 2475 ชิ้นหนึ่งก็คือ การกระจายอำนาจในนามของการจัดโครงสร้างการปกครองประเทศใหม่ทั้งระบบ ด้วยการจัดระเบียบการบริหารราชการออกมาเป็น 3 ส่วนนั่นก็คือ ส่วนกลาง, ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะส่วนท้องถิ่น พลันที่กฎหมาย พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 เกิดขึ้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นศักราชการเมืองท้องถิ่นที่เริ่มจากตัวเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวจังหวัดเป็นหลัก สำหรับกรุงเทพมหานครที่เพิ่งเลือกตั้งเสร็จกันไปหมาดๆนั้น ก็พบว่าพึ่งเป็นอย่างที่เรารู้จักกันมาไม่นานนี้เอง บทความนี้จะปูให้เห็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองและความเป็นเมืองที่เกี่ยวพันกัน ส่วนข้อถกเถียงเกี่ยวกับการอ้างอิงว่า ระบบสุขาภิบาลที่เกิดขึ้นในปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้เขียนขอยกยอดไปบทความอื่น
 
พระนครและธนบุรี สองนคราริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ในนามของการปกครองส่วนภูมิภาค จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีอยู่แยกขาดกันตามกฎหมาย ขณะที่เส้นแม่น้ำก็เป็นทางกายภาพที่ชัดเจน รวมไปถึงสภาพความเป็นเรือกสวน และท้องร่องในจังหวัดธนบุรีที่ทำให้คาแรคเตอร์ทั้งสองแห่งแตกต่างกัน เราต้องเข้าใจก่อนว่า การเกิดเทศบาลทั้งในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีในเบื้องแรกไม่ได้ครอบคลุมเต็มพื้นที่จังหวัด เหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่จะมีการขีดเส้นแบ่งเขตตามพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นและมีคุณสมบัติถึงพร้อมนั่นคือ การเป็นเทศบาลนครได้นั้นต้องมีประชากรมากกว่า 30,000 คน ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ.2479 ขนาดพื้นที่อยู่ที่ 50.778 ตารางกิโลเมตร  และพระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงธนบุรี พ.ศ.2479 ขนาดพื้นที่ 47 ตารางกิโลเมตร [1] แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการสถาปนาการปกครองท้องถิ่นในเขตเมืองขึ้น การทำงานของเทศบาลนั้นจำต้องมี สภาเทศบาลที่ประกอบด้วย สมาชิกสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ และบริหาร ต่อหน่วยการเมืองที่เรียกว่าเทศบาลนั้น โดยหน้าที่ของหน่วยการเมืองดังกล่าว มีหน้าที่รับผิดชอบทางการคลังที่จะสัมพันธ์กับการใช้จ่ายในการดูแลท้องถิ่นที่ต้องพิจารณาเรื่องการหารายได้ รวมไปถึงอำนาจการกู้เงินด้วย บทบาทดังกล่าวครอบคลุมหลายด้านได้แก่ งานโยธาและสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งร่วมถึงไฟฟ้าและประปาด้วย, งานเศรษฐกิจท้องถิ่นที่รวมถึงตลาด โรงจำนำ, งานสาธารณสุข,  งานนันทนาการและกีฬา

เทศบาลนครกรุงเทพและนครธนบุรี ก็มี สภากรุงเทพและสภาธนบุรีตามลำดับ อย่างไรก็ตามเราพบว่าในสมัยแรกและสมัยที่สอง สมาชิกสภาทั้งสองแห่งล้วนได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล ที่เรียกว่า "สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภานครกรุงเทพและสภานครธนบุรี" ปี 2479 [2]  ซึ่งส่วนใหญ่ก็ประกอบด้วยข้าราชการ บางคนยังมีตำแหน่งพระยา นายพัน ฯลฯ เสียด้วยซ้ำ 

และต่อมาปี 2481 [3] ได้มีการแบ่งสมาชิกเป็น 2 ประเภทนั่นคือ ประเภทที่ 1 เลือกตั้งและประเภทที่ 2 คือแต่งตั้ง ขณะที่นายกเทศมนตรีที่เป็นผู้นำหน่วยการเมืองนั้นหากตีความจากพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล ก็น่าจะมาจากการแต่งตั้งของข้าหลวงประจำจังหวัด และต้องมีวิทยาฐานะที่กระทรวงมหาดไทยรับรอง
ดังที่เราเห็นการประกาศขยายเขตเทศบาลอยู่ตลอดเวลาตามกฎหมาย ส่วนเทศบาลนครกรุงเทพได้แก่ พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ.2485 (72.156 ตารางกิโลเมตร) , พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ.2497 (124.747 ตารางกิโลเมตร), พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ.2507 (238.567 ตารางกิโลเมตร) สำหรับเทศบาลนครธนบุรีก็คือ พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลนครธนบุรี พ.ศ.2498 และ พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลนครธนบุรี พ.ศ.2509 (52 ตารางกิโลเมตร) ด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นการขยายตัวของ “พื้นที่เมือง” มากขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับยุคสมัยโดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาที่มีการเคลื่อนย้ายของคนจากนอกกรุงเทพฯเข้ามามากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน และชาวต่างจังหวัดจำนวนมหาศาล
 
 
 
แผนผังเขตเทศบาลนครธนบุรี พ.ศ.2479 พื้นที่ 47 ตารางกิโลเมตร (บน)
แผนผังเขตเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ.2479 พื้นที่ 50.778 ตารางกิโลเมตร(ล่าง)
 
กดเทศบาลให้อยู่ใต้กระทรวงมหาดไทย การแทรกแซงของการเมืองระดับชาติ
ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เราพบว่า การเมืองระดับชาตินั้นอยู่ในสภาพที่ไม่มีเสถียรภาพมาตลอดเวลา เราพบว่ารัฐบาลพยายามรวบอำนาจการปกครองเทศบาลมาอยู่ในมือ ดังที่ พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้เทศบาลนครกรุงเทพ จังหวัดพระนครและเทศบาลนครธนบุรี จังหวัดธนบุรี อยู่ในความควบคุมของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2486 อันเป็นการประกาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเองซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลต้องการควบคุมอำนาจการเมืองเต็มพื้นที่ภายใต้อำนาจของผู้นำอย่างจอมพล ป.พิบูลสงคราม หลังจากที่ร่วมกับฝ่ายอักษะ และประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานหลังจากที่รัฐบาลปรีดี พนมยงค์และธำรง นาวาสวัสดิ์ถูกโค่นลงด้วยรัฐประหาร ก็นับเป็นการสูญเสียอำนาจของคณะราษฎรอย่างเป็นทางการ รัฐบาลตั้งแต่นั้นมาก็มีแนวโน้มที่จะไร้เสถียรภาพมากขึ้น ในอีกด้านก็คือต้องพยายามรวบอำนาจเพื่อควบคุมให้ตนเองยังมีบทบาททางการเมือง ดังที่เราเห็นว่าได้มีการตรากฎหมายให้ เทศบาลนครกรุงเทพ โอนกิจการประปาให้กลับไปสู่ กรมโยธาเทศบาลกระทรวงมหาดไทย ในปี 2495 ทั้งที่ในปี 2482 กรมโยธาเทศบาลพึ่งจะโอนกิจการประปามาให้ (ดูใน พระราชบัญญัติมอบกิจการประปา เทศบาลนครกรุงเทพให้กรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย จัดทำ พ.ศ.2495)
ใน พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้เทศบาลนครกรุงเทพอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2496 ได้ระบุเหตุผลที่ต้องรวบอำนาจไว้ว่า จากเดิมทีเทศบาลนครกรุงเทพอยู่ในความควบคุมดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนคร แต่มีความจำเป็นเนื่องจากมีปริมาณงานเพิ่มขึ้น และรายได้มากขึ้้น ซึ่งจะไม่สัมพันธ์กับความสำคัญของเทศบาล และอาจทำให้งานล่าช้า เพื่อแบ่งเบาภาระของจังหวัดพระนคร จึงจำเป็นให้อยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ในเวลาใกล้เคียงกันคือ ในปี 2497 [4] มีการเริ่มสร้างสะพานกรุงธนบุรี หรือสะพานซังฮี้ (เชื่อมเขตดุสิต กับ เขตบางพลัด) ไปแล้วเสร็จในปี 2500 ทำให้สามารถเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าด้วยกัน นับเป็นสะพานรถยนต์ข้ามที่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแห่งหลังจากที่มีการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเชื่อมเขตพระนครกับเขตธนบุรี เมื่อปี 2475 (ขณะที่สะพานพระราม 6 เป็นสะพานรถไฟที่เชื่อมในปี 2470) นอกจากนั้นยังมีสะพานกรุงเทพที่เปิดใช้ในปี 2502 
การเกิดโครงสร้างพื้นฐานใหม่นี้ ก็ยิ่งทำให้เมืองทั้งสองถูกเชื่อมโยงกันด้วยกายภาพมากยิ่งขึ้น
 
 
สะพานกรุงธนหรือสะพานซังฮี้ เสร็จปี 2500
ที่มาภาพ  www.thaifilm.com/imgUpload/reply478061_30072007354.jpg
 
 
สะพานกรุงเทพ เปิดใช้ปี 2502
ที่มาภาพ www.taklong.com/fujifilm/p/127805DSCF0086_resize.jpg
 
ต้นทศวรรษ 2500 เป็นช่วงเวลาหลังจากการรัฐประหารและการขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มี พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้เทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2502  กฎหมายฉบับนี้เริ่มผนวกเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีเข้าไว้ด้วยกันภายใต้กระทรวง และยังอ้างว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการจัด “รูปการปกครองนครหลวง” อยู่แล้ว อำนาจของกระทรวงมหาดไทยจึงเข้าไปควบคุมท้องถิ่นอีกครั้ง แต่ยังคงสถานะของจังหวัดกรุงเทพและจังหวัดธนบุรีอยู่ 

ที่น่าสนใจก็คือ การตรา พระราชกฤษฎีกา ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรี อยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2502  ด้วยเหตุผลที่ รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 34, 40 และ 55 พ.ศ.2511 และเปิดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครกรุงเทพ และสมาชิกสภาเทศบาลนครธนบุรีเมื่อ 1 กันยายน 2511 จึงเห็นควรที่จะทำให้เทศบาลทั้งสองพ้นจากความควบคุมของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง
 
ผนวกกรุงเทพและธนบุรีไว้ด้วยกันทั้งในระดับจังหวัดและเทศบาล
ขณะที่เริ่มก่อสร้างสะพานพระปิ่นเกล้า เชื่อมสองจังหวัดเมื่อเดือนสิงหาคม 2514 ก็พบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้งจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่และให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลตัวเองที่มีรัฐสภาปกครองอยู่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 นำเอาการปกครองแบบเผด็จการมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ในปลายปีเดียวกันนี้เองก็มีการตรากฎหมาย ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24  (21 ธันวาคม 2514)ที่มีสาระสำคัญก็คือ การรวมจังหวัดพระนครกลับจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันในระดับราชการส่วนภูมิภาค เรียกว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี โดยรัฐบาลเผด็จการทหารให้เหตุผลว่าเพื่อบริหารราชการเป็นไปอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ และทำความเจริญให้เกิดแก่ทั้งสองจังหวัด และเพิ่มพูนความสะดวกของประชาชนมากยิ่งขึ้น และในวันเดียวกันก็มี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 25 ที่มีสาระสำคัญก็คือ การรวมเทศบาลนครกรุงเทพ กับ เทศบาลนครธนบุรีเข้าด้วยกัน อันเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่น เรียกว่า “เทศบาลนครหลวง” โดยสมาชิกสภาเทศบาลมาจากการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นั่นยิ่งทำให้เราเห็นได้ชัดถึงการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอีกครั้งหนึ่ง และตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดก็เป็นนายกเทศมนตรีโดยตำแหน่ง กระทรวงมหาดไทยจึงตรึงอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นอย่างเข้มข้น
 
 
สะพานพระปิ่นเกล้า (2516) อยู่ด้านซ้าย ส่วนสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (2475) อยู่ด้านขวา
ที่มา http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2010/08/55.1.jpg
 
 
 
ตราประจำจังหวัดธนบุรีที่มีสัญลักษณ์คือพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม 
ที่ออกแบบโดยกรมศิลปากร
 
กำเนิดกรุงเทพมหานคร
การจัดการกับกรุงเทพยังไม่จบ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335  ที่ประกาศในปลายปี พ.ศ.2515 มีสาระสำคัญก็คือ การควบรวมส่วนภูมิภาค (จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี) และส่วนท้องถิ่น (เทศบาลนครหลวง) เข้าด้วยกัน มีผู้ว่าราชการจังหวัดดำรงตำแหน่งสูงสุดโดยได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี ขณะที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานครให้มีทั้งประเภทเลือกตั้งจากประชาชน และแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ใน 4 ปีแรกสมาชิกสภาจะมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด โดยพื้นที่การปกครองก็ให้แบ่งเป็น “เขต” และ “แขวง” ขึ้น ที่น่าสนใจก็คือ ในกฎหมายยังผ่อนผันให้มีตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบลและสารวัตรกำนัน ในเขตอำเภอชั้นนอกให้ดำรงบทบาทต่อไป
 
กรุงเทพมหานครหลัง 14 ตุลา 16 การเมืองท้องถิ่นที่ล่มปากอ่าว
กระแสความตื่นตัวด้านประชาธิปไตยมีผลอย่างมากต่อโครงสร้างของกรุงเทพมหานคร นั่นทำให้เกิดกฎหมาย พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 สาระสำคัญก็คือ ทำให้ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง และทำให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยเฉพาะการย้ำในบทเฉพาะกาลว่า ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือนหลังจากพระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2518 กฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ก็คือ เพื่อให้ประชาชนของกรุงเทพมหานครได้มีส่วนเข้ามารับผิดชอบในการบริหารโดยตรง,เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการให้บริหารแก่ประชาชนของกรุงเทพมหานครให้ดีขี้น และเพื่อเป็นตัวอย่างของการปกครองท้องถิ่นโดยประชาชนท้องถิ่นโดยตรง เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

นำมาสู่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนแรก ผู้ชนะนั่นก็คือ ธรรมนูญ เทียนเงิน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์  การเลือกตั้งครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2518 ที่น่าสนใจก็คือว่า ธรรมนูญ มีฐานะเป็นผู้นำลูกเสือชาวบ้านพระนคร(กรุงเทพฯ) เขาได้รับมอบหมายให้สลายการชุมนุมของลูกเสือชาวบ้านที่มาจากต่างจังหวัด น่าจะก่อนเกิดเหตุปรามปรามล้อมฆ่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ที่น่าสนใจอีกประการก็คือ แม้เขาจะอยู่ฝ่ายชนชั้นปกครอง แม้หลังเหตุ 6 ตุลา 19 จะมีการออกกฎหมายให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการจังหวัด และสมาชิกสภากรุงเทพมหานครมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในฐานะที่มีประสบการณ์การปกครองท้องถิ่น (พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2519) แต่อย่างไรก็ตามว่ากันว่า เขาไม่สามารถควบคุมความขัดแย้งภายในสภากรุงเทพมหานครได้ ในที่สุดก็ถูกปลด  ในเดือนเมษายน 2520 [5]
 
ธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากการเลือกตั้งคนแรก (2518-2520)
สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นถึงเลขาธิการพรรค
ที่มาภาพ http://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/e/e0/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%8D_%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%991.gif

จากทำเนียบรายนามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลำดับต่อๆมา พบว่าล้วนมาจากการแต่งตั้ง ได้แก่

ชลอ ธรรมศิริ (2520-2522)
เชาวน์วัศ สุดลาภา (2522-2524)
พลเรือเอก เทียม มกรานนท์ (2524-2527)
อาษา เมฆสวรรค์ (2527-2528)
 
สังเกตว่าไม่มีผู้ใดเลยที่อยู่ดำรงตำแหน่งได้ถึง 4 ปี เมื่อเทียบกับวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าราชการ
จังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง คาดเดาได้ว่า คงมีลักษณะเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดต่างๆในปัจจุบัน ที่วาระดำรงตำแหน่งขึ้นอยู่กับการเมืองระดับประเทศและผู้กุมอำนาจรัฐบาล

อย่างไรก็ตามเราพบว่าช่วงรอยต่อปลายทศวรรษ 2510 ถึงต้นทศวรรษ 2520 กฎหมายเกี่ยวกับกรุงเทพมหานครได้รับการแก้ไขอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือ หลังจาก พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 แล้ว ก็ยังพบว่ามีตามมาอีก 4 ฉบับ คือ ฉบับที่ 2 ปี 2518, ฉบับที่ 3 ปี 2519, ฉบับที่ 4 ปี 2522 และฉบับที่ 5 ปี 2523 ซึ่งสวนทางกันกับการแต่งตั้งตำแหน่งผู้ว่าฯ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การเมืองท้องถิ่นกรุงเทพมหานครถูกผูกติดอยู่กับโครงสร้างการเมืองระดับชาติอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในช่วงที่พลเอก เปรมติณสูลานนท์ ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2523-2531 (ข้อสังเกตก็คือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 5)พ.ศ.2523 ลงพระปรมาภิไธยก่อนเปรมดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการเพียง 1 วัน)

โดยเฉพาะวาระสำคัญที่กรุงเทพมหานครถูกใช้เป็นสถานที่สำคัญในทศวรรษ 2520 ได้แก่ งานรัตนโกสินทร์สมโภช 200 ปี ในปี 2525, งานพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ปี 2528, ซีเกมส์ปลายปี 2528 ซึ่งงานใหญ่ระดับนี้ จำเป็นที่รัฐบาลต้องลงมาล้วงลูกจัดการ ยังไม่นับว่าตำแหน่งผู้ว่าฯ สมัยนี้ก็เป็นเพียงแค่ข้าราชการประจำ

ในทศวรรษนี้ยังพบการเชื่อมโยงทั้งสองฝั่งด้วยทางรถเริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อยจากการเปิดสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอย่าง สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน (เชื่อมเขตสาทร/บางรัก กับ เขตคลองสาน 2525), สะพานสมเด็จพระปกเกล้า (เชื่อมเขตพระนคร กับ เขตคลองสาน 2527)
 
 

 
งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ.2525 (บน)
แสตมป์ที่ระลึกการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2528 (ล่าง)
 
ตลาดการเมืองท้องถิ่น จากสนามรบเป็นสนามเลือกตั้ง
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กลับมาอีกครั้งในปี 2528 เกิดขึ้นหลัง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ที่มีการวางโครงสร้างใหม่เพิ่มมาก็คือ การให้ความสำคัญกับพื้นที่เขตมากขึ้น นั่นคือให้มี สภาเขต และให้มีเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ซึ่งจะทำหน้าที่ต่างจากสภากรุงเทพมหานคร ที่มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทำหน้าที่อยู่ กล่าวคือ สภาเขตจะทำหน้าที่ให้ข้อคิดเห็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนพัฒนาเขตต่อ ผู้อำนวยการเขต และสภากรุงเทพมหานคร, จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเขต, สอดส่องและติดตามดูแลการดำเนินการของสำนักงานเขต ขณะที่สมาชิกสภาเน้นการดำเนินการทางด้านนิติบัญญัติ ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เลือกประธานสภากรุงเทพมหานคร เสนอญัตติ ตั้งกระทู้ถาม อภิปรายทั่วไป ซึ่งลักษณะจะคล้ายกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

นับว่าปลายทศวรรษ 2520เป็นยุคที่สงครามเย็นในภูมิภาคกำลังยุติ นายทหารอย่างพลเอกจำลอง ศรีเมือง ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็นผู้ว่าฯ ถึง 2 สมัยตั้งแต่ปี 2528-2535 ด้วยลีลาหาเสียงที่แหวกแนวและมีฐานมวลชนสำคัญกับกลุ่มสันติอโศก ซึ่งถือเป็นขาขึ้นของจำลอง ศรีเมือง อันนำไปสู่การจัดตั้งพรรคพลังธรรม ในสนามท้องถิ่น ร้อยเอกกฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา (2535-2539) ก็ลงสนามในนามพรรคพลังธรรมคว้าเก้าอี้ผู้ว่าฯ ไปได้ แต่จากนั้นก็เป็นทีของผู้สมัครอิสระอย่าง พิจิตต รัตนกุล (2539-2543) และ สมัคร สุนทรเวช (2543-2547) หลังจากสมัครแล้ว ก็เป็นการกลับมาทวงบัลลังก์กรุงเทพฯคืนจากพรรคประชาธิปัตย์ นั่นก็คือ อภิรักษ์ โกษโยธิน (สม้ยแรก 2547-2551) (สมัยที่ 2, 2551 แล้วลาออกปลายปี) และม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร (สมัยแรก 2552-2556) (สมัยที่ 2, 2556-?)

ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2551 เป็นต้นมา พบว่า พรรคพลังประชาชน/เพื่อไทย ก็ส่งตัวแทนของพรรคลงแข่งขัน แต่ก็แพ้มา 3 สมัยได้แก่ ปี 2551 ประภัสสร์ จงสงวน (พลังประชาชน) ปี 2552 ยุรนันท์ ภมรมนตรี และปี 2556 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ หรืออาจกล่าวได้ว่า หลังรัฐประหาร 2549 พื้นที่กรุงเทพมหานครเริ่มเป็นชัยภูมิที่พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคที่มีจุดยืนที่แตกต่างกันอย่างมากหลังการยึดอำนาจของทหารซึ่งมีผลต่อการเมืองในระดับท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ เสียดายที่ว่าในเวลาอันจำกัด ไม่สามารถหาข้อมูลระดับสมาชิกสภากรุงเทพฯ และสมาชิกสภาเขต จึงไม่ทราบแนวโน้มทางสถิติ และผลการดำเนินการอันเป็นรูปธรรมนัก เมื่อสื่อกระแสหลักมาจับตาอยู่ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นหลัก แต่ไม่พยายามอธิบายและตั้งคำถามกับการบริหารงานตามกลไกของส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ งานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนโฉมกรุงเทพฯ และการเดินทางวิถีชีวิตประจำวันไปอย่าง รถไฟฟ้า BTS (2542) รถไฟฟ้า MRT ยิ่งทำให้การจัดการโดยตัวกรุงเทพเองเพียงลำพังแทบเป็นไปไม่ได้
 
 
แชมป์และผู้ท้าชิง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2551
จากวิกิพีเดีย
 
 
แชมป์และผู้ท้าชิง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2552
จากวิกิพีเดีย
 
แชมป์และผู้ท้าชิง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2556
จากวิกิพีเดีย
 
ปัญหาการกระจายอำนาจของการกระจายอำนาจ
ปัญหาสำคัญที่หมักหมมมานานก็คือ การที่รัฐส่วนกลางไม่กระจายอำนาจทั้งในด้านอำนาจการเมือง และอำนาจการคลัง อำนาจการเก็บภาษี แม้ผลพวงของรัฐธรรมนูญ 2540 จะทำให้เกิดกระจายอำนาจได้มากขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ยังไม่ต้องนับว่าหลังรัฐประหาร 2549 รัฐส่วนกลางก็เริ่มไม่ไว้ใจท้องถิ่นมากขึ้นในฐานะที่เป็นหน่วยการเมืองที่ “ไร้ศีลธรรม” “โกงกิน” และไม่สามารถควบคุมได้ เราจึงเห็นทางออกของพวกเขาไปที่การให้อำนาจที่มากขึ้นกับแขนขาของราชการส่วนภูมิภาคอย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ในทางกลับกันเราจะพบเห็นการรณรงค์ขอให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญ เชียงใหม่มหานคร เชียงใหม่จัดการตนเอง หรือกระทั่งการเรียกร้องเขตปกครองพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้ที่หมายถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแต่มักถูกเข้าใจว่าจะเป็นการแบ่งแยกดินแดน

ความขัดแย้งหลังรัฐประหาร 2549 ทำให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองบ่อยครั้งมากขึ้น จากเดิมที่เป็นการชุมนุมของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(เสื้อเหลือง) ที่ไปไกลจนถึงการยึดทำเนียบรัฐบาล การยึดสนามบินสุวรรณภูมิ กลายมาเป็นการชุมนุมของฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(เสื้อแดง) การใช้พื้นที่ของฝ่ายเสื้อแดงกลับสร้างความตึงเครียดในระดับพื้นที่เป็นอย่างมากโดยเฉพาะในปี 2553 ที่ฝ่ายเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่แสดงสัญลักษณ์ของคนต่างจังหวัด วัฒนธรรมชาวบ้านด้วยยึดกุมพื้นที่ใจกลางเมืองของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะบริเวณราชประสงค์ จนในที่สุดก็เกิดการปราบปรามอย่างนองเลือดโดยกองทัพและทหารรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 

ความตึงเครียดไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 พรรคเพื่อไทยชนะ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ความขัดข้องในการดำเนินการบริหาร ปรากฏออกอย่างเป็นรูปธรรมผ่านสถานการณ์ต่างๆ ได้แก่ ปรากฏการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 หรือกรณีการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตซอลโลก ที่มีปัญหาในการสร้างสนามฟุตซอลสนามหลัก แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีถึงความไม่ลงรอยการทำงานระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นในนามกรุงเทพมหานครที่อยู่คนละฟากฝั่งทางการเมือง ซึ่งความขัดแย้งที่แสดงออกมาได้ชัดเจนผ่านแคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2556 นั่นคือ การที่พรรคประชาธิปัตย์โจมตีเรื่องเผาบ้านเผาเมืองของฝ่ายเพื่อไทย และการที่พรรคเพื่อไทยเน้นเรื่องการทำงานแบบไร้รอยต่อร่วมกับรัฐบาลกลาง

ระหว่างที่มีข้อถกเถียงเรื่องการกระจายอำนาจ ขณะที่กรุงเทพมหานครเรียกร้องให้รัฐส่วนกลางคายงบประมาณกลับคืนสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น สำหรับ กรุงเทพมหานครแล้ว ถือว่าเป็นหน่วยปกครองท้องถิ่นที่ได้รับทรัพยากรที่เป็นงบประมาณมหาศาล สำหรับปี 2556 งบประมาณแผ่นดินตั้งไว้ที่ 14,419,830,700 บาท ขณะที่เมืองพัทยาอยู่ที่ 1,473,423,700บาท  [6] 
 
ในอีกด้าน ก็พบว่ามีส่วนย่อยของกรุงเทพฯ ก็คือ เขตฝั่งธนบุรีที่เริ่มมีการกระแสที่ต้องการแยกตัวเองออกจากกรุงเทพมหานคร อันเนื่องมาจากการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน ที่น่าสนใจก็คือ แคมเปญของชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ผ่าน บก.ประชาไท)  “กู้จังหวัดธนบุรี” โดยขอให้ดำเนินการออกกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตากสินมหาราช และคืนสถานะเดิมอันเป็น “ศักดิ์” และ “สิทธิ” ของ “จังหวัดธนบุรี” และชาวฝั่งธน ที่ถูกยุบทำลายลงด้วยประกาศคณะปฏิวัติของจอมพล ถนอม กิตติขจร ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2515 [7]
 
ท้องถิ่นล่องหน?
จากกระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา เราจะเห็นแว่นตาที่สื่อกระแสหลักและนักวิชาการจำนวนมาก ต่างทุ่มเถียงอยู่เพียงการเอาแพ้เอาชนะในเกมการเลือกตั้ง และมีอยู่บ้างที่ติดตามเรื่องนโยบาย แต่แทบไม่มีเลยที่มีการกล่าวถึงระบบภายในกรุงเทพมหานคร การทำงานและผลงานของ สก. สข. ในนามขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่ต้องนับว่าพวกเขาเหล่านั้น แม้จะพูดถึงกรุงเทพ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงท้องถิ่น แต่พอพูดถึงท้องถิ่น ก็กลายเป็นท้องถิ่นในอุดมคติที่สิงสถิตอยู่ในกรุงเทพเสียอีก
 
ผู้เขียนจึงคิดว่าจำเป็นต้องเรียกร้องให้มีการทำความเข้าใจกรุงเทพมหานครในมิติของการเมืองท้องถิ่น มิเช่นนั้นแล้ว กรุงเทพมหานครก็คงจะเป็นเช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่นๆ ที่หนีไม่พ้นกับการเมืองท้องถิ่นที่ล่องหน มีตัวตนอยู่แต่ผู้คนไม่เห็นและไม่อาจรับรู้ได้เลย.
.........................
เชิงอรรถ
[1] สำหรับข้อมูลขนาดพื้นที่ของกรุงเทพมหานครดูจากนี่ กรุงเทพมหานคร. จากเทศบาลสู่กรุงเทพมหานคร (มปท :  2542), น.20-33 อ้างใน http://203.155.220.230/info/History/history_cityofbangkokandthonburi.htm (3 มีนาคม 2556)
[2] "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกผู้เริ่มการแห่งสภานครกรุงเทพ และสภานครธนบุรี" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53, วันที่ 23 มีนาคม 2479, น.4167
[3] "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 สมัยที่ 2 แห่งสภานครกรุงเทพ และสภานครธนบุรี" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55, วันที่ 13 เมษายน 2481, น.119
[4] วิกิพีเดีย. "สะพานกรุงธน". http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%98%E0%B8%99 (3 กุมภาพันธ์ 2556 )
[5] วิกิพีเดีย. "ธรรมนูญ เทียนเงิน". http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%8D_%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99 (27 กุมภาพันธ์ 2556 )
[6] "พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2556" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129, วันที่ 30 กันยายน 2555, น.1-110
[7] ประชาไทออนไลน์. "14 ตุลา ชาญวิทย์ร่อนจดหมายถึงนายกฯทำ 4 ข้อ แก้ รธน. กู้นามสยาม จังหวัดธนบุรี และกู้ ปชต.". http://prachatai.com/journal/2009/10/26149 (10 ตุลาคม 2552)

 

บล็อกของ เมืองมุมปาก

เมืองมุมปาก
ปฏิพล   ยอดสุรางค์เมืองมุมปาก