Skip to main content
 
 
 
 
สิ้นสุดการสืบพยานทุกปากไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2556 สำหรับคดีนายยุทธภูมิ ที่ถูกพี่ชายตัวเองกล่าวหาดำเนินคดีตามมาตรา112 จากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูจะห่างไกลจากความผิดอันกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร
 
เหตุการณ์ของคดีนี้ เป็นอีกฉากหนึ่งที่ควรจดจำไว้เป็นบทเรียนเพื่อเล่าขานกันต่อสำหรับคนที่สนใจการทำงานเพื่อสร้างบรรยากาศความกลัวของกฎหมายหนึ่งมาตราที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดของยุคสมัย การที่พี่ชายนำถ้อยคำที่น้องชายพูดพูดกันขณะดูทีวีในบ้านสองคน และข้อความบนแผ่นซีดีที่อ้างว่าเป็นน้องชายเขียนแล้ววางไว้เฉยๆ มากล่าวหาน้องชายว่าหมิ่นฯ ในหลวง อันเป็นเรื่องภายในบ้านที่ไม่มีคนอื่นได้รับรู้รับเห็น แต่กลับมีโทษจำคุก 3-15 ปี พร้อมโทษทัณฑ์ทางสังคมอีกนับไม่ถ้วน
 
คดีนี้ตอกย้ำความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมอีกขั้น เมื่อนายยุทธภูมิไม่ได้รับการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาล ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มานานเกือบหนึ่งปีแล้ว
 
20 ส.ค.56 ตัวพี่ชายขึ้นเบิกความ ตอบคำถามอัยการอย่างฉะฉาน นอกจากกล่าวหาน้องชายว่าพูดคำหยาบคายขณะที่ในทีวีมีภาพในหลวง และเขียนข้อความหยาบคายลงบนแผ่นซีดีใต้คำว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" แล้ว พี่ชายยังยอมรับว่า ไม่ถูกกับน้องชายมานานแล้ว เคยทำการค้าขายด้วยกันแต่ทะเลาะกันรุนแรงจนต้องย้ายออกจากบ้านถึงสองครั้ง เพราะน้องชายชอบกินเหล้าเมา ชวนทะเลาะวิวาท และเคยมีเรื่องกันจนน้องชายไปแจ้งตำรวจ ด้านพี่ชายเป็นเสื้อเหลืองส่วนน้องชายเป็นเสื้อแดง เห็นว่าน้องชายเป็นคนไม่ดีไม่สำนึกในความผิดที่ทำไม่ดีกับตนจึงนำเรื่องดูหมิ่นในหลวงมาแจ้งตำรวจ ปัจจุบันแยกกันอยู่และไม่พูดคุยกัน
 
ศาลสรุปใจความได้ว่าผู้กล่าวหากับจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน 
 
เรื่องราวแบบนี้ฟังผิวเผินศาลควรจะยกฟ้องทันที แต่ความยากอยู่ตรงที่ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ของตำรวจให้ความเห็นยืนยันว่า ลายมือบนแผ่นซีดีที่พี่ชายนำมาเหมือนกับลายมือของจำเลย นั่นเป็นปมที่ยังแก้ไม่ออก ขณะที่จำเลยปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่เคยพูด และไม่ได้เขียนข้อความตามฟ้อง แต่ถูกใส่ร้ายเพราะทะเลาะกันในเรื่องอื่น ด้านภรรยาจำเลย เพื่อนบ้าน และแม่ก็เบิกความตรงกัน เชื่อว่าพี่ชายกล่าวหาใส่ร้าย ส่วนจำเลยจงรักภักดีมาตลอด
 
ปมข้อกฎหมายอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจในคดีนี้ คือ ต่อให้จำเลยกระทำตามที่พี่ชายกล่าวหาจริง ลำพังเพียงการสบถขณะดูโทรทัศน์ โดยมีพี่ชายอยู่บริเวณนั้น กับการเขียนข้อความลงบนซีดีแล้ววางไว้เฉยๆ ไม่ได้เอาให้ใครดู เมื่อไม่มีผู้รับสารโดยตรงจะถือเป็นการ "ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย" ได้หรือไม่ และการกระทำของจำเลยภายในบ้านของตัวเอง ร้ายแรงขนาดกระทบต่อ "ความมั่นคงของรัฐ" อันเป็นวัตถุประสงค์ที่กฎหมายอาญามาตรา 112 มุ่งคุ้มครองหรือไม่
 
หากการกระทำตามฟ้องคดีนี้เพียงพอที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 112 อันมีโทษจำคุก 3-15 ปีแล้ว คดีนี้คงส่งผลสะเทือนต่อบรรยากาศการถกเถียงพูดคุยกันอย่างสันติในสังคมไทย ผลักให้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นเรี่องอ่อนไหวที่ไม่อาจแม้แต่จะเอ่ยถึงกับคนในครอบครัวได้ และปิดประตูให้สถาบันพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทยถูกขังอยู่ในห้องลับเบื้องหลังความหวาดกลัวของประชาชน
 
หากศาลไม่เชื่อคำกล่าวหาของพี่ชายเพราะมีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ระยะเวลาในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เกือบหนึ่งปีคงเป็นบทเรียนชีวิตราคาแพงของยุทธภูมิและครอบครัว และเป็นกรณีศึกษาที่ไม่ควรมองข้ามไปในระบบยุติธรรมทางอาญาของไทย หากศาลเชื่อคำกล่าวหาของพี่ชายและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน แนวทางการตีความบังคับใช้กฎหมายของศาลในคดีนี้คงจะเป็นที่โจษจันกันไปอีกหลายระยะเวลา
 
หลังสืบพยานเสร็จสิ้น ยุทธภูมิและครอบครัวมีความหวังเพิ่มขึ้นเล็กๆ จากการยื่นขอประกันตัวครั้งที่ 7 ด้วยหลักทรัพย์จากกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่ยังทำหน้าที่อยู่ข้างประชาชน ก่อนที่จะเดินกลับไปห้องขังอีกครั้งเพื่อการรอคอยและพบกับความผิดหวังครั้งที่ 7 ในอีกหนึ่งวันให้หลัง
 
"13 กันยายน นัดฟังคำพิพากษา"

 

 

 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
มาเยือนจังหวัดอุดรธานีครั้งแรกในชีวิต เป็นอีกครั้งที่หลับบนรถทัวร์มาตลอดคืนอันแสนจะธรรมดา ยิ่งเดินทางแบบนี้บ่อยขึ้น ก็ยิ่งเคยชิน ถึงแอร์จะหนาว อาหารจะห่วย ก็ไม่สะทกสะท้านใดๆ ทั้งสิ้น ลงรถทัวร์ได้ไม่นาน เพื่อที่เป็นอาจารย์อยู่ที่นี่ก็มารับที่บขส. ยังไม่ทันรู้จักตัวเมืองให้ถ้วนทั่ว ประสบการณ์ใหม่ๆ ก็มายืนรออยู่ข้างหน้าอีกแล้ว
นายกรุ้มกริ่ม
           
นายกรุ้มกริ่ม
                ใต้ฟ้าผืนนี้ ... คงมี ผู้คน หลากหลาย เรื่องราว แฝงเร้น มากมาย เกิดแก่ เจ็บตาย ไขว่คว้า หากัน
นายกรุ้มกริ่ม
  อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเมืองท่ามกลางหุบเขา มีเสน่ห์เล็กๆ ในแบบของตัวเอง แม่สอดไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แต่มีคนแวะเวียนมาเยอะเพราะแม่สอดเป็นประตูผ่านแดนไปยังเมืองเมียววดีของพม่า
นายกรุ้มกริ่ม
เมื่อ "ผม" อ้าปากเรียกหา "สิทธิเสรีภาพ"
นายกรุ้มกริ่ม
      ยามเช้าใกล้รุ่งของตัวอำเภอแม่สะเรียงมีเพียงความเงียบสงัด ไร้วี่แววของรถราและผู้คน ไฟถนนสีส้มส่องผ่านม่านหมอกที่ลงหนาจัดคอยช่วยให้จิตใจของผู้มาเยือนอบอุ่นขึ้นได้บ้างบนทางสายเล็กๆ ที่ไม่รู้ว่าจะนำไปสู่สถานที่แบบใด   ผมลงจากรถทัวร์สาย กรุงเทพ - แม่ฮ่องสอนตอนตีห้าเศษ ด้วยอาการงัวเงีย งุนงง กับเป้ 1 ใบ เต้นท์ 1 หลัง เพื่อน 1 คน หลังนั่งสัปหงกตั้งแต่ออกจากหมอชิตมาตอนห้าโมงเย็น จุดหมายปลายทางที่จะไปให้ถึงคือ "งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่8" บนดอยไหนสักดอยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ไม่รู้ว่าไกลแค่ไหน ไม่รู้ว่ามันคืองานอะไร และไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทำอะไร  …
นายกรุ้มกริ่ม
               สิงหาคม 2550 นักศึกษามหาวิทยาลัย 12 ชีวิต ชาย6 หญิง6 กลั้นน้ำตายิ้มให้กับโรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง ขณะที่กระโดดขึ้นท้ายรถกระบะแล่นจากไป                    ในระยะเวลา 9 วัน พวกเขาได้อุทิศทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเนรมิตห้องเก็บของเก่าๆ ให้เป็นห้องสมุดสำหรับเด็กที่มีตัวการ์ตูนสดใส และหนังสือใหม่แกะล่องจำนวนมาก ความประทับใจ รอยยิ้ม คราบน้ำตา วันที่เหน็ดเหนื่อย และเวลาแห่งความสนุกสนาน…
นายกรุ้มกริ่ม
              “The productive forces of material life conditions the social, political and intellectual life process in general. It is not the consciousness of men that determines their being, but, on the contrary, their social being that determines their consciousness” Karl Marx Preface to A Contribution to the Critique of Political Economy     ถ้าหากปรัชญาของคาร์ล มาร์กซ์ ยังพอมีส่วนถูกอยู่บ้าง คนที่มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมอันประกอบด้วยวัตถุทางรูปธรรมแบบหนึ่งๆ จะไม่สามารถแยกแยะ(Determine) ความถูกผิดดีงามทางศีลธรรม (…