Skip to main content
 
พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล
 
22 พฤษภาคม 2558 วันครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร นักศึกษานัดกันจัดกิจกรรมแสดงออก แม้จะไม่ได้บอกล่วงหน้าว่าแสดงออกว่าอะไรบ้าง แต่ก็พอเดาได้ว่ามันคือการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อการทำรัฐประหารนั่นแหละ
 
364 วันก่อนหน้านี้มีคนถูกจับกุมจากการออกมาแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะไปแล้วอย่างน้อย 166 คน (จากตัวเลขของ iLaw) ส่วนหนึ่งเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ในจำนวนนี้อย่างน้อย 24 คนถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมือง และส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร ทำให้บรรยากาศการทำกิจกรรมแสดงออกในที่สาธารณะเป็นเรื่องที่ลำบากเพราะที่ต้องอาศัยต้นทุนสูงมาก 
 
นับตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา หลังการจัดกิจกรรม “เลือกตั้งที่ลัก” ซึ่งมีคนถูกจับและดำเนินคดี 4 คน ก็ไม่มีการจัดกิจกรรมใดๆ อีกเลย ในช่วงเวลาที่แกนนำกลุ่มการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทย และนปช. เงียบกริบ ยอมสงบปากสงบคำให้กับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ สำหรับประชาชนธรรมดาที่ไม่มีกลุ่มก้อน และไม่มีเกราะป้องกันตัวจึงยิ่งยากมากขึ้นที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นอะไรและแบกรับต้นทุนทั้งหมดด้วยตัวเอง
 
การนัดกันออกมาทำอะไรในวันครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร แทบจะเรียกได้เลยว่าต้องคิดเรื่องการถูกจับไว้แล้ว แต่นักศึกษาหลายกลุ่มก็มีนัดทำกิจกรรมทั้งตอนบ่ายที่กลุ่มวายพีดีจัดเสวนา กลุ่มดาวดินที่ขอนแก่นนัดกันออกไปชูป้ายต้านรัฐประหาร และตอนเย็นที่มีการนัดไปยืน “ดูนาฬิกา” หน้าหอศิลป์ฯ ในยามที่บรรยากาศทั่วไปในสังคมถูกปิดกั้น และบีบคั้น อย่างหนัก ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามขับเคลื่อนอะไร ซึ่งความพยายามเหล่านั้นส่งพวกเขาให้ลอยเด่นเป็น “เป้าสายตา” อย่างสุดๆ 
 
 
ดั่งโคมทองผ่องเรืองรุ้งในหทัย
เหมือนธงชัยส่องนำจากห้วงทุกข์ทน
 
“นักศึกษา” เป็นความหวังในยามที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองที่มืดมนได้หรือไม่? 
 
ช่วงแรกๆ หลังการรัฐประหาร เมื่อไร้แกนนำประชาชนหลากหลายกลุ่มนัดรวมตัวกันเอง หลังโดนใช้กำลังเข้าสลายและมีคนถูกจับจำนวนมาก การนัดรวมตัวก็เลิกราไป ยังคงมีเพียงกลุ่มนักศึกษาที่พยายามจัดกิจกรรมทั้ง “อ่านหนังสือ” “กินแซนวิช” หลายกิจกรรมก็ไม่ได้จัดเพราะถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวาง 
 
กิจกรรมของนักศึกษาในยุคนี้เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้เน้นการชุมนุมใหญ่ยืดเยื้อเพื่อหวังเอาชนะในเร็ววัน เน้นแค่ได้แสดงออกเพื่อส่งสารออกไป เช่น การกินแซนวิช การดูหนังเรื่อง Hunger Games การโปรยใบปลิว การชูสามนิ้ว ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็แลกมากับการถูกจับกุมอย่างน้อย 2-3 คน นักศึกษาส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุมหลังจัดกิจกรรมจะถูกพาตัวไปไว้ที่สถานีตำรวจ พูดคุยตกลงขอให้ไม่เคลื่อนไหวอีก ลงบันทึกประจำวันและปล่อยตัว ซึ่งอาจใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นแล้วแต่กิจกรรม มีนักศึกษาเพียง “จ่านิว” หรือสิรวิชญ์คนเดียวที่ก่อนหน้านี้ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับแล้วถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีด้วย 
 
ความเป็น “นักศึกษา” ดูเหมือนจะมีประโยชน์อยู่บ้าง ทำให้ฝ่ายรัฐต้องรักษาภาพลักษณ์ ไม่อาจลงโทษให้หนักหน่วงหรือรุนแรงเกินไปได้
 
   
พายุฟ้าครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยามแผ่นดินมืดมน
 
บรรยากาศ วันที่22 พฤษภาคม 2558 โหดกว่า 364 วันที่ผ่านมาชัดเจน สถานะ “นักศึกษา” อาจไม่เพียงพอให้เจ้าหน้าที่เกรงใจ เริ่มจากกิจกรรมเสวนาของกลุ่มวายพีดี เจ้าหน้าที่สั่งห้ามจัด นำกำลังตำรวจมาเฝ้าและจับผู้เข้าร่วมไปถึง 11 คน นับเป็นการจับคนจากกิจกรรมเสวนาสาธารณะจำนวนมากที่สุด ขณะที่ทางขอนแก่น นักศึกษากลุ่มดาวดินออกมาถือป้าย 7 คน ทันทีนั้นก็โดนเจ้าหน้าที่เข้ารวบตัว พร้อมเพื่อนๆ ที่มาสังเกตการณ์ไปอีก 6 คน รวม 13 คน ทำลายสถิติการจับสูงสุดต่อหนึ่งกิจกรรมของกลุ่มวายพีดีทันที ในเวลาไล่เลี่ยกัน!!
 
กลุ่มวายพีดีได้รับการปล่อยตัวในเวลาไม่นาน ส่วนข่าวจากขอนแก่นมาแล้วว่านักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คนถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และจะต้องถูกดำเนินคดี
 
ช่วงเย็น หน้าหอศิลป์ฯ ตำรวจหลายร้อยคนยืนคุมพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว จากประสบการณ์ที่ผ่านมา คาดการณ์ได้ว่าตำรวจจะรีบรวบตัวคนที่มีลักษณะโดดเด่นคล้ายเป็นแกนนำ 3-4 คน ส่วนคนที่เหลืออยู่อาจจัดกิจกรรมไม่ได้ หรือจัดแบบลวกๆ แล้วรีบจบไป 
 
แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อนักศึกษาค่อยๆ ปรากฏตัวออกมาทีละกลุ่ม และตำรวจก็เข้าจับกุมทันทีโดยไม่ดูว่าใครเป็นใคร พฤติกรรมการเข้าจับกุมค่อนข้างรุนแรง ไม่ได้ใช้วิธีมาพูดคุยว่าขอเชิญตัวแล้วพาไป แต่ใช้เจ้าหน้าที่ทั้งนอกและในเครื่องแบบเข้าชาร์จด้วยกำลังทีละกลุ่มๆ ทีละจุดๆ เมื่อคนถูกจับตกใจก็ขัดขืนแล้วเพื่อนๆ ก็เข้ามารุมช่วยกันยื้อยุดฉุดกระชากไม่ให้ตำรวจเอาตัวเพื่อนไปได้ หลายคนเมื่อถูกจับก็ดิ้น ตำรวจต้องใช้วิธีทั้งหิ้วทั้งลาก เพื่อเอาตัวเข้าไปในหอศิลป์ จนเหตุการณ์ด้านหน้าถนนเรียกได้ว่าวุ่นวาย และโกลาหล
 
นักศึกษาไม่ได้เตรียมตัวมาพบกับเหตุการณ์ที่ใหญ่โตขนาดนี้ พวกเขาไม่มีแกนนำ ส่วนใหญ่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ไม่มีแผนการและไม่มีการจัดตั้งกันมาอย่างเป็นระบบ พวกเขาจึงตั้งรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถูก พวกเขาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการนั่งลงและพยายามเจรจา ซึ่งการนั่งหมายความว่าจะเป็นการปักหลัก และแยกตัวออกจากกลุ่มนักข่าวหรือคนที่มาสังเกตการณ์ ทำให้เป็นเป้าที่ชัดเจนและจับกุมง่ายขึ้น พวกเขายื่นข้อเสนอให้ปล่อยตัวคนที่ถูกจับทั้งหมดทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข รวมถึงนักศึกษาดาวดินที่ถูกจับที่ขอนแก่นด้วย ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของตำรวจที่มาเจรจา นั่นบีบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีทางเลือก เนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่มากกว่าจึงยกเลิกการเจรจาและดำเนินการเข้าสลายอย่างเป็นระบบ
 
วิธีการเข้าสลาย ตำรวจใช้การยืนล้อมกลุ่มนักศึกษาที่นั่งอยู่ ตำรวจชุดที่ยืนล้อมจะแหวกเป็นช่องให้ชุดจับบุกเข้ามาทีละชุด คว้าตัวคนที่นั่งอยู่ไปทีละคน แล้วยืนล้อมต่อ นักศึกษาที่นั่งอยู่ใช้วิธีร้องเพลงเพื่อผ่อนคลายบรรยากาศ พอร้องเพลงไปจนเผลอตำรวจก็บุกเข้ามาอีกทีละชุด ทำแบบนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ หากใครขัดขืนก็อาจมีตุ้บตั้บบ้างเล็กน้อย แล้วแต่จังหวัดว่านักข่าวจะจับภาพอะไรไว้ได้บ้าง พอเดาๆ ได้ว่าเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่ต้องการ คือ การเคลียร์กิจกรรมหน้าหอศิลป์ให้จบลงโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าด้วยวิธีการอะไรก็แล้วแต่ ไม่รู้ว่า “ข้างบน” ให้คำสั่งมาอย่างไร
 
นักศึกษาหลายคนรู้สึกเหมือนตัวเองถูกช็อตไฟฟ้า ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเป็นอุปกรณ์ของตำรวจหรือเกิดจากไฟรั่วบริเวณนั้น 
 
ทรงธรรม หรือ เดฟ บาดเจ็บอย่างรุนแรงไม่สามารถลุกขึ้นนั่งหรือเดินได้ เขานอนเจ็บโดยไม่มีการปฐมพยาบาลใดๆ อยู่กว่าสองชั่วโมงในหอศิลป์ ก่อนถูกพาไปโรงพยาบาลหัวเฉียว และนอนค้างอย่างน้อย 2 คืนเพื่อรักษาตัว เบื้องต้นหมอบอกว่ากระจกตาถลอก 
 
เวลาทุ่มกว่านักศึกษาทุกคนถูกจับเข้าไปในหอศิลป์ทั้งหมด รวม 38 คน ทำลายสถิติเมื่อบ่ายที่ขอนแก่นอย่างย่อยยับ! และค่อยๆ ถูกทยอยพาไปที่สน.ปทุมวัน กิจกรรมหน้าหอศิลป์ฯ ยุติลง การแสดงออกที่พวกเขาเตรียมมา ยังไม่ได้ทำเลย 
 
กิจกรรมวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เป็นการจับกุมบุคคลจำนวนมากที่สุด และมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา
 
 
ดาวศรัทธายังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย
 
มุมน่ายินดีของกิจกรรมหน้าหอศิลป์ ที่หลายคนอาจไม่ได้สังเกต คือ นักศึกษาที่มาถูกจับด้วยกันนั้น ไม่ได้จัดตั้งมาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มีที่มาหลากหลาย บางคนเป็นนักกิจกรรมเก่าที่ไม่ได้เป็นนักศึกษาแล้ว หรือเป็นนักศึกษาป.โท ป.เอก กันอยู่ อันนี้ต้องยอมรับ บางคนรวมตัวกับเพื่อนทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่แล้ว ขณะที่หลายคนก็เป็นหน้าใหม่ ไม่เคยเห็นตัวกันมาก่อน
 
นักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้มีแต่กลุ่มที่สนับสนุนเสื้อแดงหรือกลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหารมาโดยตลอดเท่านั้น
หลายคนเป็นเยาวชนที่ทำงานกับคปท. กลุ่มฮาร์ดคอร์ที่เคยออกมาไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลายคนเคยทำกิจกรรมคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง เมื่อพวกเขาเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายที่ดินและสิทธิชุมชนที่ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน พวกเขาจึงออกมาร่วมด้วย หลายคนเคยเป็นคู่อริที่ด่าทอกันอย่างหนักในเวทีอื่นๆ มาก่อน เพราะจุดยืนทางการเมืองไม่ตรงกัน แต่พวกเขาก็ออกมาร่วมในกิจกรรมนี้ด้วยกัน
 
บางคนเป็นนักกิจกรรมที่ทำงานประเด็นสิทธิชุมชน การศึกษา และประเด็นอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และยังมีกลุ่มนักศึกษาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมด้วยอีก 
 
เป็นครั้งแรกที่พวกเขามาร่วมกิจกรรมเพื่อแสดงออกในประเด็นเดียวกัน (และต้องโดนจับพร้อมกัน) จากศัตรูหรือคนที่ไม่มีทางจะคุยกันรู้เรื่องในบางวัน ก็กลายมาเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมในบางวันได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีหากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทุกกลุ่มจะมองข้ามความขัดแย้งในบางประเด็นที่เคยมีมาแล้วร่วมทางกันต่อสู้กับบางประเด็นที่ยังเห็นด้วยกันได้
 
    
ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
 
แน่นอนว่า ไม่มีใครสักคนที่หวาดกลัวสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหลังถูกจับ ขณะที่พวกเขาอยู่ที่สน.ปทุมวัน พวกเขายังโพสเฟซบุ๊กเล่าเหตุการณ์ที่ถูกทำร้าย และประกาศยืนหยัดไม่ยอมแพ้อย่างต่อเนื่อง ภาพแบบเดิมปรากฏขึ้นอีกครั้ง คือ เพื่อนๆ ที่ไม่ได้ถูกจับก็ไปรอหน้าสน.ปทุมวัน พร้อมโพสเฟซบุ๊กเชิญชวนให้คนมาให้กำลังใจและเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัว 
 
ประชาชนและเพื่อนนักศึกษาค่อยๆ ทยอยมารวมตัวกันหน้าสน.ปทุมวันกว่าร้อยคน มาถึงก็นั่งๆ นอนๆ รอเวลาซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องรอนานแค่ไหน เมื่อปฏิบัติการพลิกสถานการณ์จากเสียเปรียบเป็นได้เปรียบสำเร็จ คนที่ถูกจับอยู่ข้างในก็เริ่มการเจรจาต่อรอง 
 
 
คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
พ.อ.บุรินทร์ นายทหารพระธรรมนูญเจ้าเก่าเดินทางมาถึงในชุดลำลอง ได้ยินว่าพ.ท.ภาสกร ก็มา คนเหล่านี้เราเห็นหน้าเขาได้บ่อยๆ เวลามีคนถูกจับ เขาจะคอยเป็นคนมากระซิบตำรวจว่าให้ตั้งข้อหาหรือให้ทำอย่างไรกับคนแต่ละคน 
 
นักศึกษาทั้ง 37 คน (อีกคนอยู่โรงพยาบาล) ถูกแบ่งควบคุมตัวเป็นสามห้อง เพราะไม่มีห้องเดียวที่ใหญ่พอ พวกเขาถูกจับแยกเป็น 21 คน 11 คน และ 5 คน และไม่ได้รับอนุญาตให้เจอกันหรือปรึกษาหารือกัน เบื้องต้นทหารเสนอว่าจะตั้งข้อหาตัวหลักๆ 8-9 คนแล้วปล่อยคนที่เหลือ แต่ทุกคนเห็นตรงกันว่าไม่โอเค เพราะ “มาด้วยกันก็ต้องกลับด้วยกัน” จะตั้งข้อหาบางคนและปล่อยบางคนไม่ได้ ถ้าตั้งข้อหาก็ต้องตั้งทุกคน ทั้งที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้จักอะไรกันมาก่อน
 
เริ่มดึกบรรยากาศก็ตึงเครียด เมื่อมีคนมารอหน้าสน.ปทุมวันมากขึ้น นักศึกษาจึงยื่นข้อเสนอให้ปล่อยตัวทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น รวมทั้งเพื่อนที่ขอนแก่นด้วย พวกเขายืนยันว่าการมาแสดงออกครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การจับกุมที่ตำรวจทำเป็นสิ่งที่ผิด จึงจะไม่ยอมรับข้อเสนอใดๆ ต้องปล่อยโดยไม่มีเงื่อนไขสถานเดียว
 
ช่วงเวลาตีสองกว่าเมื่อความเครียดเริ่มเปลี่ยนเป็นความเหนื่อยล้า ตำรวจ (โดยการคุยกับทหาร) ยอมเปลี่ยนข้อเสนอเป็นสอบประวัติและปล่อยตัวทุกคนกลับบ้านพร้อมกัน โดยยังไม่ตั้งข้อหาในวันนี้(แต่วันหลังไม่แน่) ซึ่งการเดินคุยทีละห้องทั้งสามห้องผลปรากฏว่านักศึกษาก็ยังไม่ยินยอม ยังยืนยันว่าต้องปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น พวกเขาไม่ได้ทำผิดจึงไม่ยินยอมให้ถูกสอบประวัติ
 
ข่าวที่เล็ดลอดออกมาบอกว่า ในห้อง 21 คน ซึ่งมีคนที่ “หัวแข็ง” อยู่หลายคน นักศึกษาลุกขึ้นตบโต๊ะด่ากับทหารที่เข้ามาเจรจา บทสนทนาอยู่ที่เรื่องความชอบธรรมทางการเมืองมากกว่าทางออกว่าคืนนี้จะเอาอย่างไรต่อ ซึ่งนั่นทำให้บรรยากาศข้างนอกเครียดขึ้นไปอีก 
 
 
แม้ผืนฟ้ามึดดับเดือนลับละลาย
 
 
เวลาเข้าตีสี่ บรรยากาศด้านนอกสน.ปทุมวันเริ่มสับสน เพราะไม่รู้ว่าข้างในกำลังทำอะไรกัน และไม่รู้ว่าต้องรออีกนานเท่าไร หลายคนเริ่มทยอยกลับไปพักผ่อนเพราะต้องทำงานในวันรุ่งขึ้น ทำให้ปริมาณคนด้านหน้าสน.เหลือน้อยลง บางคนเริ่มเมาจากเบียร์ที่กินติดต่อกันมา 7-8 ชั่วโมงแล้วนอนหลับพับไปข้างถนน เมื่อบางคนลุกขึ้นพูดขอให้ทุกคนยืนหยัดรอคอย ก็เริ่มมีเสียงทักท้วงว่าจะต้องรออีกนานเท่าไรกัน
 
นักศึกษาด้านในเริ่มเสียงแตก บางคนพร้อมให้สอบประวัติเพื่อกลับบ้าน บางคนยังยึดมั่นในหลักการว่าไม่ได้ทำผิด และมุ่งหวังจะให้การจับกุมครั้งนี้จุดกระแสให้มีคนออกมาร่วมกันเรียกร้องมากขึ้น พร้อมต้องการเรียกร้องเพื่อช่วยเพื่อนที่ขอนแก่นด้วย แต่พวกเขาอาจจะไม่ได้ข่าวจากข้างนอกว่ากำลังเสริมที่พวกเขาหวังจะจุดกระแสนั้นเริ่มอ่อนแรงลงแล้ว 
 
บรรยากาศทางการเมืองที่อึดอัดและเงียบงันมาครบหนึ่งปีเต็ม ทำให้ความกระตือรือร้นทางการเมืองนั้นมีฝุ่นและสนิมเกาะหนาเกินไป การใช้กำลังเข้าจับกุมนักศึกษาในกิจกรรมเดียวไม่เพียงพอปลุกให้ประชาชนทั้งประเทศลุกขึ้นมาคัดค้านการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างที่พวกเขาฝัน
 
 
ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
 
ใกล้เช้า ตำรวจหลายนายนั่งหลับอยู่ในสน. ทหารหายไปแล้วไม่รู้หายไปไหน ข้อเสนอใหม่คือเปลี่ยนการสอบประวัติเป็นแค่ถ่ายสำเนาบัตรประชาชน การตกลงยินยอมไม่เคลื่อนไหวนั้นทำโดยเขียนด้วยลายมือกำกับบัตรประชาชนว่า “ไม่เคลื่อนไหว” แต่ไม่ต้องลงชื่ออะไรเลย นักศึกษาแต่ละห้องได้รับอนุญาตให้ส่งตัวแทนไปพูดคุยข้ามห้องได้ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เจอหน้าพร้อมกันทุกคน
 
นักศึกษาจำนวนหนึ่งยินยอมและเริ่มทยอยถ่ายบัตรทีละคน หลายคนเริ่มได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่พวกเขายังยืนยันจะรอเพื่อนทุกคนเดินออกไปพร้อมกัน ตัวแทนนักศึกษาพูดคุยกันจนเพื่อนยินยอมรับข้อเสนอนี้ทุกคน ตำรวจค่อยๆ พาตัวมาถ่ายบัตรทีละกลุ่มๆ ขณะที่ฟ้าเริ่มสางทีละนิดๆ
 
นักศึกษาบางคนที่ถูกแยกคนละห้องพอเจอหน้าก็โผเข้ากอดกันทันที บางคนชี้หน้ากันด้วยความตกใจว่า “มึงก็ด้วยเหรอ?” บางคนมีน้ำตาให้เห็นหลังจากความเครียดเกือบ 12 ชั่วโมงเต็ม
 
 
ดาวยังพรายอยู่จนฟ้ารุ่งราง
 
หกโมงเศษ เมื่อฟ้าเริ่มสว่าง คนหลักสิบที่นั่งเกือบหลับอยู่หน้าสน.ปทุมวันลุกขึ้นถ่ายรูป 
นักศึกษาสามสิบเจ็ดคนเดินออกมายืนคล้องแขนกัน พวกเขาร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ร่วมกันก่อนแยกย้าย (อีกครั้ง)
 
เป็นครั้งที่เท่าไรไม่รู้แล้วที่เพลงนี้ถูกร้องหน้าสถานีตำรวจ และอาจต้องร้องกันไปอีกหลายรอบกว่าที่การแสดงออกจะไม่ใช่สิ่งผิด และการจับกุมจะเป็นสิ่งที่ผิด
 
 
 
 
 
 
 
 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
                          
นายกรุ้มกริ่ม
ผมเขียนบันทึกฉบับนี้หลังจากล่วงเลยเวลาที่ผมควรจะเขียนมาปีกว่า เพื่อรำลึกถึงพี่สาวคนหนึ่งที่สอนข้อคิดให้กับพวกเราไว้มากมายโดยที่เธอไม่ได้ตั้งใจ เพื่อฝากเรื่องราวของเธอไว้สำหรับทุกคนที่พบผ่าน และเพื่อจดจารให้เธออยู่ในใจของเราเสมอ นานเท่าที่จะทำได้
นายกรุ้มกริ่ม
 หลังจากนั่งรถทัวร์ออกจากกรุงเทพฯ ตอนหกโมงเย็น ทันทีที่เท้าเหยียบตัวอำเภอละงู จังหวัดสตูล ตอนเก้าโมงเช้าของวันใหม่ ผมก็ถูกโยนขึ้นท้ายกระบะของคนไม่รู้จัก และเข้าร่วมขบวนโพกผ้า ติดธงเขียว เขียนว่า “ปกป้องสตูล” “STOP ท่าเรืออุตสาหกรรม” 
นายกรุ้มกริ่ม
  "ประกาศรัฐสภา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
นายกรุ้มกริ่ม
จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง                    อยากจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง อยากเสกสรรค์ วันอ้างว้าง ทางสับสน อยากเผื่อแผ่ แง่งามใส่ หัวใจคน
นายกรุ้มกริ่ม
                        จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางทุ่งหญ้า  จะสุมไฟ ใต้ฟ้า ท้าความหนาว จะไกวเปล เหล่ดารา พาพร่างพราว จะไล่เรียง เสียงสายราว ดาวดนตรี  
นายกรุ้มกริ่ม
  จะวาดเทียน เขียนรุ้ง ทุกทุ่งหญ้า 
นายกรุ้มกริ่ม
 
นายกรุ้มกริ่ม
เป็นยามเช้าที่วุ่นวาย และแสงแดดร้อนจัด ผมตื่นแล้วรีบวิ่งมาขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบในชั่วโมงเร่งด่วนที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน เพื่อไปให้ถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหง 
นายกรุ้มกริ่ม
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 วันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี อากง จำเลยคดีส่ง SMS หมิ่นฯ เข้ามือถือเลขาฯนายกอภิสิทธิ์ 4 ข้อความ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังโอบล้อมเมืองหลวงอยู่ไม่ห่าง ต้องลุ้นกันวันต่อวันว่านัดอ่านคำพิพากษาจะถูกเลื่อนเหมือนคดีอื่นๆ หรือไม่