Skip to main content
 
เราเรียกภรรยาของ "ลุงโอภาส" ว่า "แม่" เพราะเธอเรียกตัวเองกับเราอย่างนั้น และเวลาคุยกับเราเธอเรียกลุงโอภาสว่า "พ่อ"
จะว่าไปอายุของเราก็ใกล้ๆเคียงๆ กับลูกๆ ของเขา
 
เธอคือหญิงวัยหกสิบกว่าๆ อาชีพปัจจุบัน คือ แม่ค้าขายเข็มกลัดในตลาดนัด อาชีพในอดีตเป็นพนักงานบริษัทเอกชนตำแหน่งไม่เล็ก แต่ถูกบีบให้ลาออกหลังอายุมากขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยสนใจการเมือง ไม่เคยรู้เรื่องมาตรา 112 ไม่เคยสนใจการรัฐประหาร ไม่รู้เรื่องคดีความการขึ้นโรงขึ้นศาล เธอกลับเป็นคนเดียวที่ต้องวิ่งเข้าออกโรงพัก เรือนจำ และศาลทหาร เพื่อช่วยเหลือสามี
 
สามีของเธอ หรือ ลุงโอภาส ถูกจับตามมาตรา 112 จากการเขียนฝาผนังห้องน้ำ ศาลทหารตัดสินเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่ต่อมาตำรวจตั้งข้อหาเพิ่มจากข้อความบนฝาห้องน้ำอีกห้องหนึ่ง ลุงโอภาสจะขึ้นศาลคดีที่สองวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 2558
 
ในช่วงแรกที่ถูกจับลุงโอภาสถูกขังอยู่ที่ห้องขังของกองปราบปราม "แม่" ในอาการหวาดกลัวและสับสน ต้องวิ่งลนลานหาเอกสารประกันตัว เอาโฉนดที่ดินไปตีราคา และยังต้องซื้อข้าวซื้อน้ำไปส่งที่ห้องขังทุกวัน เพราะกลัวสามีจะอด ช่วงนั้นเธอต้องปิดร้านและมาเป็นคนแบกรับปัญหาทุกอย่างเอาไว้ ทั้งปัญหาทางการเงินและทางจิตใจ จากแม่ค้าขายเข็มกลัดธรรมดา เธอกลายเป็นคนที่มีใบหน้าอมทุกข์และมีน้ำตาที่แฝงหลายความหมายอยู่แทบทุกครั้งที่เจอกัน
 
"แม่ก็ไม่รู้ว่าพ่อเขาทำอะไรของเขานะ นี่ถ้ารู้ก่อนจะตีให้ตายเลย"
เธอเคยกล่าวไว้ด้วยอาการหงุดหงิด
 
"วันนั้นเราก็มาด้วยกันนะ พ่อเขาบอกจะแวะทำธุระที่ซีคอนแปบนึง แล้วให้เราเข้าบ้านไปก่อน ก็ไม่รู้ว่าทำไมเป็นอย่างงี้ไปได้"
เธอเล่าถึงเหตุการณ์วันที่ 15 ตุลาคม 2557 วันที่ลุงโอภาสถูก รปภ.ห้างซีคอนจับได้
 
หลังลุงโอภาสถูกจับไม่กี่วัน เราบึ่งรถจากรัชดาไปเผชิญรถติดแถวๆ ซีคอน เพื่อช่วยเธอเจรจาเรื่องกฎหมายต่างๆ กับเจ้าของตลาดที่เธอเช่าอยู่ วันนั้นผมเจอเธอเป็นครั้งแรก เอาจริงๆ เราพูดรวมกันอยู่ไม่กี่คำ เมื่อผลการเจรจาเรียบร้อยดี เธอโผเข้ากอดเราแล้วหลั่งน้ำตา
 
"พวกหนูเป็นคนดีจริงๆ แม่ไม่รู้จะตอบแทนยังไง"
นั่นคือ First Impression ของผมกับเธอ
 
 
คนที่เราเรียกว่า "แม่" กล่าวขอบคุณเราแทบทุกครั้งที่เจอ ทั้งๆ ที่หลายครั้งเราก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อเขาและเธอสักเท่าไร แต่ในภาวะที่ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ก็มีเด็กๆ รุ่นราวคราวลูกกลุ่มนึงที่อาจพอฟังเธอร้องไห้ได้เป็นบางครั้งบางคราว กระนั้น เราก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่าเบื้องหลังของด้วยสีหน้าทุกข์กังวล และแววตาที่ว้าวุ่นสับสนเหล่านั้น มีความหวาดกลัว ความเจ็บปวด หรือความรู้สึกประเภทใดอีกที่แฝงอยู่บ้าง
 
เรายังคงเรียกเธอว่า "แม่" อยู่ต่อเนื่องมา เราเจอเธออีกหลายครั้งเวลาไปเรือนจำ เธอจะมาเยี่ยมสามีวันเว้นวัน เพราะบ้านอยู่ไกลถึงศรีนครินทร์ เดินทางมาที่งามวงศ์วานทุกวันไม่ไหว นอกจากจะต้องเทียวมาเยี่ยมสามีที่เรือนจำตลอดแล้ว เธอยังต้องรับผิดชอบร้านขายของในตลาดนัดต่อ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัวเพียงคนเดียว ทหารยังมาเยี่ยมเธอที่บ้านบ้างเป็นครั้งคราวโดยไม่มีเหตุผล จากคนไม่เคยสนใจการเมือง แต่ถูกการเมืองวิ่งมาบังคับให้เธอสนใจ
 
ลุงโอภาสถูกจับและคุมขังมาตั้งแต่ 15 ตุลาคม 2557 นับถึงวันนี้ก็ครบหนึ่งปีพอดีที่ "แม่" ต้องต่อสู้มาลำพังภายใต้ความกดดันนานับประการที่อยู่นอกเหนือการควบคุมโดยมนุษย์ธรรมดาสามัญ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้ประกันตัว ระยะเวลากว่าที่ศาลทหารจะกำหนดวันนัด และความหนักเบาของโทษตามคำพิพากษา
 
เมื่อวันนัดฟังคำพิพากษาครั้งแรก คงมีน้ำตาและความดีใจที่ลุงโอภาสอาจจะเริ่มนับถอยหลังสู่อิสระภาพได้อย่างไม่นานจนเกินไป แต่น้ำตาก็เปลี่ยนสีอีกครั้งเมื่อมีคดีที่สองจากการกระทำที่ควรจะนับเป็นกรรมเดียวกันตามมาติดๆ
 
วันที่ 16 ตุลาคม 2558 ครบหนึ่งปีกับหนึ่งวัน ทั้ง "แม่" และ "ลุงโอภาส" ต้องไปลุ้นกันอีกครั้งที่ศาลทหารกรุงเทพ
 
เอาจริงๆ ผมก็อยากไปเจอเธออีกครั้ง แต่ผมไม่อยากเห็นน้ำตาใครอีกแล้ว ไม่ว่ามันจะไหลลงมาเพราะเหตุใด
 
 
 
 
ดูรายละเอียดคดีของโอภาสเพิ่มเติมได้ที่--> http://freedom.ilaw.or.th/th/case/634
 
 
 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
มาเยือนจังหวัดอุดรธานีครั้งแรกในชีวิต เป็นอีกครั้งที่หลับบนรถทัวร์มาตลอดคืนอันแสนจะธรรมดา ยิ่งเดินทางแบบนี้บ่อยขึ้น ก็ยิ่งเคยชิน ถึงแอร์จะหนาว อาหารจะห่วย ก็ไม่สะทกสะท้านใดๆ ทั้งสิ้น ลงรถทัวร์ได้ไม่นาน เพื่อที่เป็นอาจารย์อยู่ที่นี่ก็มารับที่บขส. ยังไม่ทันรู้จักตัวเมืองให้ถ้วนทั่ว ประสบการณ์ใหม่ๆ ก็มายืนรออยู่ข้างหน้าอีกแล้ว
นายกรุ้มกริ่ม
           
นายกรุ้มกริ่ม
                ใต้ฟ้าผืนนี้ ... คงมี ผู้คน หลากหลาย เรื่องราว แฝงเร้น มากมาย เกิดแก่ เจ็บตาย ไขว่คว้า หากัน
นายกรุ้มกริ่ม
  อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเมืองท่ามกลางหุบเขา มีเสน่ห์เล็กๆ ในแบบของตัวเอง แม่สอดไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แต่มีคนแวะเวียนมาเยอะเพราะแม่สอดเป็นประตูผ่านแดนไปยังเมืองเมียววดีของพม่า
นายกรุ้มกริ่ม
เมื่อ "ผม" อ้าปากเรียกหา "สิทธิเสรีภาพ"
นายกรุ้มกริ่ม
      ยามเช้าใกล้รุ่งของตัวอำเภอแม่สะเรียงมีเพียงความเงียบสงัด ไร้วี่แววของรถราและผู้คน ไฟถนนสีส้มส่องผ่านม่านหมอกที่ลงหนาจัดคอยช่วยให้จิตใจของผู้มาเยือนอบอุ่นขึ้นได้บ้างบนทางสายเล็กๆ ที่ไม่รู้ว่าจะนำไปสู่สถานที่แบบใด   ผมลงจากรถทัวร์สาย กรุงเทพ - แม่ฮ่องสอนตอนตีห้าเศษ ด้วยอาการงัวเงีย งุนงง กับเป้ 1 ใบ เต้นท์ 1 หลัง เพื่อน 1 คน หลังนั่งสัปหงกตั้งแต่ออกจากหมอชิตมาตอนห้าโมงเย็น จุดหมายปลายทางที่จะไปให้ถึงคือ "งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่8" บนดอยไหนสักดอยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ไม่รู้ว่าไกลแค่ไหน ไม่รู้ว่ามันคืองานอะไร และไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทำอะไร  …
นายกรุ้มกริ่ม
               สิงหาคม 2550 นักศึกษามหาวิทยาลัย 12 ชีวิต ชาย6 หญิง6 กลั้นน้ำตายิ้มให้กับโรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง ขณะที่กระโดดขึ้นท้ายรถกระบะแล่นจากไป                    ในระยะเวลา 9 วัน พวกเขาได้อุทิศทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเนรมิตห้องเก็บของเก่าๆ ให้เป็นห้องสมุดสำหรับเด็กที่มีตัวการ์ตูนสดใส และหนังสือใหม่แกะล่องจำนวนมาก ความประทับใจ รอยยิ้ม คราบน้ำตา วันที่เหน็ดเหนื่อย และเวลาแห่งความสนุกสนาน…
นายกรุ้มกริ่ม
              “The productive forces of material life conditions the social, political and intellectual life process in general. It is not the consciousness of men that determines their being, but, on the contrary, their social being that determines their consciousness” Karl Marx Preface to A Contribution to the Critique of Political Economy     ถ้าหากปรัชญาของคาร์ล มาร์กซ์ ยังพอมีส่วนถูกอยู่บ้าง คนที่มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมอันประกอบด้วยวัตถุทางรูปธรรมแบบหนึ่งๆ จะไม่สามารถแยกแยะ(Determine) ความถูกผิดดีงามทางศีลธรรม (…