Skip to main content
 

cm 

พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ

ใครที่ไม่ได้มาเชียงใหม่หลายปี หากมาเยือนปีนี้ คงผิดหูผิดตาเลยทีเดียว

ไม่ใช่แค่งานพืชสวนโลก ไม่ใช่แค่ ช่วง ช่วง' หรือ หลิน ฮุ่ย' ไม่ใช่แค่ร้าน ไอเบอรี่' ของโน้ต อุดม ที่ทำให้หน้าตา' เมืองเชียงใหม่เปลี่ยนไป

หากแต่ยังมีเจ้าสิ่งก่อสร้างขนาดยักษ์ ที่ชื่อว่า ทางลอด' ผุดขึ้นทุกมุมเมือง ซึ่งเบื้องหลังของมัน ยังมีเรื่องราวอันยาวนานของการพัฒนา เมือง' อีกด้วย!

หลายปีมานี้ ยวดยานใน จ.เชียงใหม่ ต้องประสบกับความทุลักทุเลในการข้ามสี่แยก เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างทางลอดแยก ผุดขึ้นบนถนนสายหลักของเมืองเชียงใหม่ เช่น การก่อสร้างทางลอด 7 แห่ง บนถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี หรือถนนวงแหวนรอบกลาง ซึ่งเพิ่งแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2548 และทางลอดแยก บริเวณสี่แยกสันกำแพงสายเก่า (สี่แยกปอยหลวง) สี่แยกศาลเด็ก และสี่แยกข่วงสิงห์ บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างอย่างยาวนานหลายรัฐบาลนับตั้งแต่ปี 2546 และเพิ่งแล้วเสร็จ เปิดให้คนเชียงใหม่ใช้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

โดยทางลอดบริเวณสี่แยกสันกำแพงสายเก่า หรือสี่แยกปอยหลวง สร้างโดยบริษัทเชียงใหม่คอนสตรัคชั่น วงเงินก่อสร้าง 379 ล้านบาท ซึ่งเริ่มสัญญาเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2548 และสร้างเสร็จก่อนสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 25 มิถุนายน 2550

ส่วนทางลอดบริเวณสี่แยกศาลเด็ก และสี่แยกข่วงสิงห์ ก่อสร้างโดย หจก.จิระเทพ โดยสี่แยกศาลเด็กประมูลได้ 268.8 ล้านบาท จากราคากลาง 347.6 ล้านบาท และสี่แยกข่วงสิงห์ ประมูลได้ในวงเงิน 243 ล้านบาท จากราคากลาง 310 ล้านบาท

ซึ่งสัญญาก่อสร้างทางลอดทั้งสองเริ่มวันที่ 26 กันยายน 2546 กำหนดสิ้นสุดวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 แต่ หจก.จิระเทพ ต้องหยุดพักการก่อสร้างเป็นช่วงๆ ช่วงละหลายเดือนตั้งแต่กลางปี 2548 ให้เหตุผลว่า ต้นทุนค่าวัสดุเพิ่มขึ้นมากจากวันยื่นประมูล และขาดเงินทุน หมุนเวียนเนื่องจากสถาบันการเงินที่สนับสนุนคือธนาคารกรุงไทย ไม่ปล่อยกู้เพิ่ม

กรมทางหลวงให้ต่อสัญญาใหม่ถึง 2 ครั้ง และให้ก่อสร้างได้จนถึง 10 เมษายน 2550 แต่ผู้รับเหมาก็ทิ้งงาน เก็บอุปกรณ์ก่อสร้างไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 ทำให้ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะสะพานที่ 2 ขอนแก่น และศูนย์ก่อสร้างและบูรณะสะพานที่ 1 พิจิตร เข้ามาดำเนินการแทน

โดยนายทรงศักดิ์ แพเจริญ อธิบดีกรมทางหลวง เคยระบุว่าผู้รับเหมาต้องเสียค่าปรับ 50 ล้านบาท ขณะนี้ชำระค่าปรับแล้ว 8 ล้านบาท และกรมทางหลวงจะฟ้องร้องผู้รับเหมารายนี้เพื่อเรียกคืนเงินค่าส่วนต่างที่กรมทางหลวงต้องใช้เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จ ค่าเสียหายที่เกิดจากการทิ้งงานด้วย และตัดออกจากบัญชีผู้รับเหมางานภาครัฐ

โดยทางลอดบริเวณสี่แยกข่วงสิงห์ก็แล้วเสร็จจนได้ในเดือนพฤศจิกายน และล่าสุดทางลอดบริเวณสี่แยกศาลเด็กก็แล้วเสร็จให้รถวิ่งลอด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

000 

อันที่จริงเจ้าสิ่งก่อสร้างขนาดยักษ์ ที่ชื่อว่า ทางลอด' อาจไม่มีทางเกิดขึ้นเลยในเมืองเชียงใหม่

หากในปี 2543 ไม่มีการถกเถียงกันว่า เห็นด้วย' หรือ ไม่เห็นด้วย' กับโครงการก่อสร้างสะพานลอยข้ามจุดตัดและทางแยกสี่แยก ถ.มหิดล ใกล้สนามบินเชียงใหม่ อันเป็นถนนวงแหวนรอบเมืองสายสำคัญ

ในครั้งนั้น กรมทางหลวงทำการศึกษาพบว่า เส้นทางสาย 108 หางดง - เชียงใหม่ มีปริมาณการจราจรสูงถึง 45,232 คัน/วัน ขณะที่ถนนมหิดลซึ่งตัดผ่านกันมีปริมาณราว 25,597 คัน/วัน กรมทางหลวงจึงออกโครงการก่อสร้างสะพานลอยข้ามจุดตัดและทางแยกดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อแก้ปัญหาการจราจรแออัด คับคั่งและป้องกันปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางแยกของทางหลวงหมายเลข 108 ตัดกับถนนมหิดล รวมทั้งทางเชื่อมเข้าสู่สนามบินเชียงใหม่

โดยเริ่มเซ็นสัญญาโครงการเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2543 ด้วยงบประมาณ 236 ล้านบาท และเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2543 ตามกำหนดจะต้องแล้วเสร็จวันที่ 8 ธ.ค. 2544

แต่อย่างที่กล่าวเอาไว้โครงการนี้มีทั้งเสียง เห็นด้วย' และ ไม่เห็นด้วย'

ฝ่ายเห็นด้วยกับการก่อสร้างทางข้ามแยกแบบ ยกระดับ' ให้เหตุผลว่าเพื่อให้เมืองเชียงใหม่ขยายตัว แก้ปัญหาจราจรติดขัด เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า

ฝ่ายค้าน ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ถึงกับค้านการก่อสร้าง พวกเขาเสนอเหตุผล ของการไม่สร้างทางยกระดับ 11 ข้อ เช่น จะบดบังทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ ไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรได้จริง ฯลฯ ทั้งยังเสนอให้มีการปรับแผนก่อสร้างใหม่ จาก โครงการทางยกระดับ มาเป็น โครงการทางลดระดับ หรือเป็นโครงการอุโมงค์ใต้ดินทั้งหมด ตามโครงการเดิมก่อนที่จะประสบปัญหาเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจกระทั่งทำให้งบประมาณถูกตัดทอน

แต่ที่สุดแล้ว ทิศทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ในครั้งนั้น ก็เป็นไปตามฝ่ายเห็นด้วยกับการสร้างทางยกระดับ ด้วยถือคติที่ว่าอะไรที่คว้ามาไว้เชียงใหม่ได้ ขอให้คว้าไว้ก่อน ผิด ถูก ผลกระทบว่ากันทีหลัง [1]

อย่างไรก็ดี แม้ว่าทางยกระดับหน้าสนามบินเชียงใหม่ และอีก 2 แห่งในถนนมหิดล คือทางยกระดับสี่แยกหนองหอย ตัดกับ ถ.เชียงใหม่-ลำพูน และ ทางยกระดับข้ามทางรถไฟ จะเกิดขึ้นจนได้ และเมื่อเวลาผ่านไปไม่นานก็พบว่าทางยกระดับข้ามสี่แยกสนามบิน ไม่ได้ช่วยบรรเทาการจราจรมากอย่างที่คิด แถมยังทำให้เสียทัศนียภาพของเมืองไปอีก

 

แต่หลังจากเสียงค้านเล็กๆ ที่สี่แยกสนามบินดังขึ้น ก็ทำให้ต่อมา กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ต่างปรับแบบการก่อสร้างจุดตัดทางแยกสำคัญในเขตเมืองเชียงใหม่ ให้กลายเป็นทางลดระดับหรือทางลอดทั้งหมด อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

000

 

ในแง่หนึ่งทางลอดข้ามแยก คือผลผลิตจากการถกเถียงขอพลเมืองในเมือง เป็นความสำเร็จระดับหนึ่งของพลเมืองเชียงใหม่ อย่างน้อยก็ทำให้ทิศทางการพัฒนาเมืองพอจะอยู่ในการควบคุมของประชาชนได้บ้าง แต่นี่ก็มิใช่ชัยชนะสมบูรณ์ เมื่อข้าม ทางลอด' นี้ไปแล้ว ใช่ว่าจะถึงจุดหมาย ทิศทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่อย่าง ยั่งยืน' ยังต้องเดินทางอีกยาวไกล

แม้ว่าทางลอดข้ามแยก จะไม่บดบังทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ แม้ว่าทางลอดข้ามแยกทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้น แต่ที่สุดแล้วการแก้ปัญหาจราจรของเชียงใหม่ก็ยังไม่ตรงจุด ต้องไม่ลืมว่ายิ่งขยายถนน ก็ยิ่งสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์มากขึ้น ยิ่งถนนกว้างขึ้น ติดไฟแดงน้อยครั้งลง รถยนต์ รถคันใหญ่ ก็ยิ่งเป็นเจ้าถนน เบียดขับให้มอเตอร์ไซต์ พาหนะคนยากนับล้านคันในเชียงใหม่ ตกอยู่ในอันตรายมากขึ้น

ซึ่งทิศทางการแก้ปัญหาจราจรด้วยการขยายถนน สร้างทางข้ามแยกนี้ ยังเป็นวิธีแก้ปัญหาการจราจรไม่ถูกจุด ไม่ผิดกับประสบการณ์ของกรุงเทพมหานครในปลายทศวรรษที่ 2520 ที่เลือกสร้าง ทางด่วน' ทั้งขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 จนเพิ่งจะมารู้ตัวเมื่อไม่นานมานี้ ว่าการแก้ปัญหาการจราจรหัวใจอยู่ที่ระบบขนส่งมวลชน แต่บัดนี้ กรุงเทพฯ มีถนนและทางด่วนเป็นระยะทางรวมกัน 4,000 กว่ากิโลเมตร ขณะที่มีรางสำหรับรถไฟฟ้า เพื่อขนส่งมวลชนทั้งใต้ดินและลอยฟ้ามีเพียง 65 กิโลเมตร [2]

ชะตากรรมของเชียงใหม่เอง ก็กำลังเดินตามกรุงเทพฯ เผลอๆ จะยิ่งหลงทางกว่าด้วยซ้ำ

เพราะทุกวันนี้ เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ติดอันดับของประเทศก็จริง แต่ล้มเหลวด้านการจัดระบบขนส่งมวลชน ปี พ.ศ.2538 ‘รถเมล์เหลือง' ที่วิ่งประจำทางในตัวเมืองเชียงใหม่ขาดทุนเลิกกิจการ ปล่อยให้ สี่ล้อแดง' ผูกขาดวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารในเมือง ไม่มีการจัดเส้นทางการเดินรถแน่นอน ผู้โดยสารกับคนขับต้องต่อรองราคากันเอง และหากเป็นเส้นทางที่ไม่มีผู้โดยสารอื่นร่วมทางมากนัก คนขับก็มักเรียกร้องราคาเกินกว่า 15 บาท ที่ขนส่งจังหวัดกำหนด

ล่าสุด ในปี 2548 มี รถเมล์ขาว' รถปรับอากาศของเทศบาลนครเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ขาดแคลนระบบขนส่งมวลชนในเมืองเชียงใหม่ดีขึ้น เพราะรถเมล์ขาววิ่งในเส้นทางอ้อม วน และการปล่อยรถชั่วโมงละคัน-สองคัน หลังสองทุ่มรถเมล์หยุดเดิน ทำให้เชียงใหม่อยู่ในสภาพ มี เหมือน ไม่มีรถเมล์'!

ทางออกสำหรับคนเชียงใหม่ ใครที่พอมีปัญญาผ่อนรถก็ผ่อนทั้งรถยนต์ รถกระบะ มือหนึ่ง มือสอง แล้วแต่ทุนทรัพย์ ทำให้เมืองนี้มีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนกว่า 1 ล้านคัน ใครที่ไม่มีปัญญาผ่อนส่งก็ต้องทนต่อรองรถแดงเอาเอง

เท่ากับรัฐบาลสร้างถนนให้ทุกคนแล้ว แต่ที่เหลือคือ ราคา' ที่ทุกคนต้องจ่ายเอาเอง ทุกคนต้องลงไปขับขี่บนท้องถนนเอง ทุกคนต้องแบกรับความปลอดภัยในการเดินทางกันเอาเอง ทุกคนต้องแบกรับต้นทุนดูแลรักษายานพาหนะ น้ำมันเชื้อเพลิงกันเอาเอง และทุกคนต้องดูแลชีวิตกันเอาเอง

000

มี ทางลอด' ให้คนเชียงใหม่ลอดกันแล้ว แต่ยังไม่เจอ ทางรอด' เรื่องปัญหาจราจรสักที เพราะเมืองนี้ยังแก้ปัญหาจราจรแบบเกาไม่ถูกที่คัน

เมื่อ 7 ปีก่อน อาจารย์ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ นักวิจัยสถาบันพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะทำงาน ศูนย์ศึกษาปัญหาเมืองเชียงใหม่' (ปัจจุบันคือมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง) เคยเสนอความเห็นไว้ในเวทีสาธารณะ "ทางยกระดับในเมืองเชียงใหม่" ซึ่งจัดที่ศูนย์สตรีศึกษา เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2543 ว่า

ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาการจราจรเมืองเชียงใหม่มองแค่ความต้องการของผู้ใช้รถ แต่ไม่ได้มองว่าถนนในเมืองเชียงใหม่ไม่สามารถเพิ่มได้อีก เพราะจะทำลายสภาพความเป็นเมืองเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ ที่มีอายุถึง 700 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่ไม่ได้หวังมาดูสิ่งก่อสร้างที่ทันสมัย แต่มาดูความเป็นเมืองล้านนา ทางที่ดีทางการควรจะมีการพิจารณาทบทวนการแก้ปัญหาจราจรในรูปแบบเดิม  และหันมาส่งเสริมให้มีการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น [3]

อาจารย์ดวงจันทร์พูดไว้ 7 ปี เอามาพูดอีกทีตอนนี้ก็ยังอินเทรนด์!

แล้วเมื่อไหร่เชียงใหม่จะมีระบบขนส่งมวลชนดีๆ บ้างล่ะ จะต้องขี่รถเครื่อง'/‘ขับรถยนต์' ลอดอุโมงค์เช้า-เย็น ไปอีกนานสักเท่าไหร่กัน ^_^

 

เล่าสู่กันฟังเพิ่มเติม

[1] โศกนาฏกรรม ผิด, ถูก, ขอคว้าไว้ก่อน' นี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเมืองเชียงใหม่ เหมือนกับ การ คว้า' โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และโครงการพืชสวนโลก ไว้ก่อน ซึ่งเมื่อ 2 เมกะโปรเจคนี้เกิดขึ้น ก็สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไว้ให้กับคนเชียงใหม่สารพัด ส่วนผลประโยชน์ กำไร ที่จะตกแก่ปากท้องคนเชียงใหม่ ก็เป็นเพียงเศษเนื้อ หาได้มากมายอย่างที่ผู้สร้างโฆษณาเอาไว้

[2] อ่านบทความที่สะท้อนความล้มเหลวของการแก้ปัญหาการจราจรที่:

น้ำมันแพง ทางด่วน และระเบิดเวลา, โดย วันชัย ตัน http://www.onopen.com/2006/01/573 ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม 2549

[3] วุฒิต้านเส้นก๋วยเตี๋ยวเชียงใหม่, ไทยโพสต์ 10 กันยายน 2543 http://www.thaipost.net/index.asp?bk=sunday&post_date=10/Sep/2543&news_id=19248&cat_id=110100

บล็อกของ Hit & Run

Hit & Run
  ตติกานต์ เดชชพงศ  เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพิ่งมีโอกาสได้ไปดูฉากโหดๆ อาทิ หัวขาดกระเด็น เลือดสาดกระจาย กระสุนเจาะกระโหลกเลือดกระฉูด ในหนังไทย (ทุ่มทุนสร้างกว่า 80 ล้านบาท!) เรื่อง ‘โอปปาติก'  รู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งว่าหนังเรื่องนี้รอดพ้นเงื้อมมือกองเซ็นเซอร์ผู้เคร่งครัดมาได้ยังไง?เพราะด้วยการทำงานของหน่วยงานเดียวกันนี้ ทำให้หนังเรื่องหนึ่งถูกห้ามฉาย เพราะมีฉากพระสงฆ์เล่นกีตาร์, และฉากนายแพทย์บอกเล่าว่าตนก็มีึความรู้สึกทางเพศ แม้แต่ฉากเด็กผู้หญิงอาบน้ำ (ซึ่งเป็นเพียงตัวการ์ตูนญี่ปุ่น) ก็ยังถูกเซ็นเซอร์มาแล้ว ด้วยข้อหา ‘ทำให้เสื่อมเสียศีลธรรมอันดี'…
Hit & Run
วิทยากร บุญเรือง ผมไปเจอข่าวชิ้นหนึ่ง เหตุเกิดที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งไม่ว่าจะยังไง ข่าวชิ้นนี้ผมว่ามันสามารถสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง สำหรับสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือข่าวที่กลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรมในโรงพยาบาลศิริราช มาหากินกับพสกนิกรผู้จงรักภักดีได้ลงคอ ... (กรุณาอ่านให้จบก่อนด่า)ท่านพงศพัศ พงษ์เจริญ ตำรวจหน้าหล่อ ได้กล่าวว่า ที่โรงพยาบาลศิริราช มีเรื่องซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นนั่นคือมีกลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรม และที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง คือเป็นการก่อเหตุในเขตพระราชฐาน โดยขณะนี้ตำรวจได้รวบรวมหลักฐานแล้วเตือนไปยังแก๊งมิจฉาชีพที่ตั้งใจมาก่ออาชญากรรมว่า…
Hit & Run
พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ 26 กันยายน 2550ย่านพระเจดีย์สุเล, กรุงย่างกุ้ง   ภาพที่เห็นคือ...ประชาชนหลายพันคนออกมายืนเต็มถนนย่านพระเจดีย์สุเล ซึ่งเป็นย่านกลางเมือง โดยไม่ไกลนักมีกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าตั้งแถวอยู่เบื้องหน้า ป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าใกล้พระเจดีย์แห่งนี้"เราต้องการประชาธิปไตย" ชายวัยกลางคนผู้หนึ่งกล่าว"รัฐบาลนี้อันตรายโคตรๆ" ชายอีกคนหนึ่งกล่าวประชาชนส่วนหนึ่ง พยายามต่อสู้กับทหาร ทหารที่มีทั้งโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา กระทั่งปืน โดยประชาชนพยายามขว้างอิฐ ขว้างหิน เข้าใส่แถวแนวของทหารพวกนั้นก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ถูกทุบเป็นก้อนย่อมๆก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ถูกขว้างสุดแรงเกิด…
Hit & Run
  อรพิณ ยิ่งยงพัฒนาดูเหมือนเรื่องน่าจะจบลงไปแล้ว กับความพยายามของ สนช.กว่า 60 คน ที่เข้าชื่อกันยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อนที่สุดท้าย สนช.จะตัดสินใจถอนการแก้ไขออกไปก่อนแม้เรื่องนี้มีนัยยะที่น่าสนใจหลายประเด็น แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ กระแสความคิดที่เกิดขึ้น แม้ภายหลังการถอยและถอนการเสนอแก้กฎหมายแล้วก็ตามสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีจำนวน 242 คน โดย สนช. สามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอหรือแก้ไขกฎหมายได้ ผ่านการเข้าชื่อเพียงจำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน ยกเว้นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน…
Hit & Run
จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์นอกจาก 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย และ (อดีต) วันชาติแล้ว วันสำคัญที่เงียบเหงารองลงมา (อีกวัน) ก็คงหนีไม่พ้น 6 ตุลาคม 2519 ที่รับรู้กันว่า เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา ประชาชน เพราะเข้าใจว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สำหรับปีที่แล้ว วันนี้อาจคึกคัก เพราะถึงวาระตัวเลขกลมๆ 30 ปี ซ้ำยังเพิ่งผ่านพ้นรัฐประหาร 19 กันยายน มาหมาดๆ กระแสเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจึงยังมีอยู่ แต่พอปีนี้กระแสกลับไปเงียบเหงาเหมือนปีก่อนๆ วันที่ 6 ตุลาในปีนี้ กลายเป็นวันเสาร์ธรรมดาๆเมื่อถามถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา กับหลายๆ คน…
Hit & Run
ภาพันธ์ รักษ์ศรีทองเป็นข่าวคราวกันพักใหญ่ในรอบสัปดาห์จนผู้หลักผู้ใหญ่ต้องรีบออกมาเต้นเร่าร้อนกันทั่ว เมื่อคุณหนูสาวๆ มีแฟชั่นเทรนใหม่เป็นการนุ่งกระโปงสั้นจุ๊บจิมโดยไม่สวมใส่ ‘กุงเกงลิง’ ความนิยมนี้เล่นเอาหลายคนหน้าแดงผ่าวๆจนพากันอุทาน ต๊ายยย ตาย อกอีแป้นจะแตก อีหนูเอ๊ยย ทำกันไปได้อย่างไร ไม่อายผีสาง เทวดาฟ้าดินกันบ้างหรืออย่างไรจ๊ะ โอ๊ย..ย สังคมเป็นอะไรไปหมดแล้ว รับแต่วัฒนธรรมตะวันตกมาจนไม่ลืมหูลืมตา วัฒนธรรมไทยอันดีงามของไทยไปไหนโม๊ดดดดเรื่องนี้มองเล่นๆ เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันก็ไม่เล็ก จะว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็ไม่ใหญ่ แต่ไปๆ มาๆ คล้ายกับว่ารอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘กุงเกงลิง’…