Skip to main content

นรุตม์ เจริญศรี

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ The ASEAN-Korea Next Generation Policy Expert Program ระหว่างวันที่ 17-23 มีนาคม 2562 ณ กรุงโซล และเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสขยายกรอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศเกาหลีใต้มากกว่าที่เคยมีมา เพราะแต่เดิมนั้นผู้เขียนเองมักจะทำวิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไม่เคยได้มีโอกาสอ่านหรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับเกาหลีใต้เลย โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก The Korea Foundation และสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (Institute of Strategic and International Studies: ISIS)

ก่อนการเดินทาง ผู้เขียนได้ลองเริ่มหาอ่านเอกสารต่างๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบทวิภาคี และที่มีกับอาเซียนแบบพหุภาคี แต่ก็ทำให้ประหลาดใจว่า เอกสารที่มีเนื้อหาลักษณะดังกล่าวนั้นมีน้อยมาก จนแทบจะหาความหลากหลายของประเด็นของการวิเคราะห์มาอ่านไม่ได้ โดยเฉพาะภาษาไทยที่องค์ความรู้เรื่องเกาหลีมีอยู่อย่างจำกัดมาก ในขณะที่ภาษาอังกฤษเองก็มีไม่มากเช่นเดียวกัน

กลุ่มที่ร่วมเดินทางด้วยกันเป็นอาจารย์และนักวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมาจากประเทศพม่า ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

คณะเดินทางได้เข้ารับฟังการบรรยายและเยี่ยมชมการทำงานของหลายหน่วยงาน เช่น The Korea Foundation, Ministry of Unification, Ministry of Foreign Affairs, Asan Institute for Policy Studies, Presidential Committee on New Southern Policy, Ministry of National Defence, Nurimaru APEC House, ASEAN Culture House, The United Nations Peace Memorial Hall และ The United Memorial Cemetery 

ประเด็นหลักที่น่าสนใจและเหมือนจะเป็นประเด็นที่โครงการต้องการให้เราเห็นภาพมากในการเดินทางในครั้งนี้คือนโยบาย "New Southern Policy" ของเกาหลีใต้

นโยบาย New Southern Policy เป็นนโยบายต่างประเทศภายใต้การนำของ Moon Jae-In ที่ถูกประกาศออกมาในปี ค.ศ. 2017 นโยบายนี้เป็นความพยายามที่ต้องการจะลดการพึ่งพิง (ทางการเมืองและเศรษฐกิจ) ของเกาหลีใต้ที่มีกับสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ไปหาประเทศอื่น ๆ ซึ่งได้แก่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นคู่ค้าทางการค้าและการลงทุนใหญ่เป็นอันดับที่สองของเกาหลีใต้ โดยจะเห็นได้จากปี ค.ศ. 2017 นั้นมูลค่าทางการค้าระหว่างเกาหลีใต้และอาเซียมีมูลค่ารวมกันกว่า 149.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2020 จะมีผู้คนเดินทางเยือนระหว่างกันมากกว่า 15 ล้านคน

ไม่เพียงแต่การที่เกาหลีใต้ต้องการลดการพึ่งพิงกับสี่ประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นแล้ว แต่ปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ก็ทำให้เกาหลีใต้หันมาสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับจีนเหนือประเด็นการใช้อาวุธต่อต้านขีปนาวุธของสหรัฐฯ หรือความไม่แน่นอนของตลาดเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ กับจีนทำสงครามการค้าระหว่างกัน เป็นต้น 

ในช่วงแรกนี้ นโยบาย New Southern Policy จะเริ่มให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน ก่อนที่จะขยับขยายไปหาอินเดีย เกาหลีใต้เน้นการให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ ผ่านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA) ผ่าน Korea International Cooperation Agency (KOICA) เมื่อพิจารณามูลค่าของ ODA ที่ KOICA มอบให้กับประเทศอื่น ๆ แล้วจะพบว่า เป้าหมายหลักของ ODA นั้นมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาสาธารณูปโภคทางเศรษฐกิจและการบริการ รองลงมาด้วยสาธารณูปโภคทางสังคมและการบริการ ในขณะที่ภูมิภาคที่ได้รับงบประมาณสูงสุดคือเอเชีย ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่าร้อยละ 52.7 รองลงมาด้วยแอฟริกา (ข้อมูลจาก KOICA

เพื่อให้ดำเนินการประสานงานความสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้นโยบาย New Southern Policy เป็นไปอย่างราบรื่น รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ประสานงานที่มีชื่อว่า "Presidential Committee on New Southern Policy" และมอบหมายให้อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่เคยประจำอยู่ที่สถานทูตเกาหลีใต้ประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ผู้ซึ่งมีเครือข่ายความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ หรือบุคลากรของสำนักงานเลขาธิการอาเซียน และประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นผู้ดูแลคณะกรรมการชุดนี้

ผู้เขียนได้สอบถามประเด็นเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของเกาหลีใต้ที่มีกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะที่มีกับโครงการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในแถบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทย ดูเหมือนว่าทางเกาหลีใต้เองนั้นก็มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ชัดเจนและไม่ได้มียุทธศาสตร์ที่บูรณาการเหมือนที่เห็นจากของประเทศจีนหรือญี่ปุ่น แต่ประเทศที่เกาหลีใต้เหมือนจะเน้นย้ำให้ความสำคัญมากที่สุดในแง่เศรษฐกิจก็คือเวียดนาม เพราะเวียดนามเป็นคู่ค้าอันหนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียน และมีบริษัทของเกาหลีใต้มากกว่า 5,500 บริษัทตั้งอยู่ในเวียดนาม (ข้อมูลจาก The Korea Times

สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ สิ้นปี ค.ศ. 2019 นี้ รัฐบาลเกาหลีใต้จะจัดการประชุม Korea-Mekong Summit โดยจะมีประเทศเข้าร่วมประชุมประกอบไปด้วยพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ต่อไปก็คือ รัฐบาลเกาหลีใต้จะดำเนินนโยบาย New Southern Policy โดยเน้นกรอบความร่วมมือมิติและประเด็นใด และหากเกาหลีใต้ต้องการเน้นความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย เกาหลีใต้จะใช้นโยบายอย่างไรในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation – BIMSTEC) ที่เป็นกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค (subregional initiatives) ที่เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้เข้าไว้ด้วยกัน เพราะจีนและญี่ปุ่นได้ดำเนินโยบายที่เน้นการเชื่อมโยงทางกายภาพและเชิงโครงสร้างระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้เข้าไว้ด้วยกันแล้ว

หากเกาหลีใต้เข้ามาดำเนินนโยบายในลักษณะเดียวกัน เราอาจจับตามองต่อไปว่าเกาหลีใต้จะใช้นโยบายลักษณะใด และเน้นความร่วมมือด้านใดเป็นพิเศษ จะเป็นด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคแบบที่จีนและญี่ปุ่นเน้นหรือไม่ หรือจะเน้นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เราอาจจะได้เห็นต่อไปในสิ้นปีนี้

----------

เกี่ยวกับผู้เขียน: นรุตม์ เจริญศรี เป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บล็อกของ นรุตม์ เจริญศรี

นรุตม์ เจริญศรี
หากใครติดตามวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ เนื้อเรื่องภายในก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งกัน (bully) กันในสังคมเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของนักเรียนในโรงเรียน การกลั่นแกล้งกันมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางตรง ทางอ้อม แล้วก็ส่งผลต่อจิตใจของเด็กวัยรุ่นอย่างมาก วรรณกรรมที่ออกมาก็สะท้อนภาพการ
นรุตม์ เจริญศรี
ภายใต้เป้าหมายในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันของภูมิภาค (regional connectivity) ในอาเซียนภายใต้ “แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master plan on ASEAN connectivity 2025: MPAC) เป้าหมายและเครื่องมือรวมไปถึงแนวคิดพื้นฐานนั้นตั้งอยู่บนวิธีคิดแบบเน้นตลาดเป็นหลัก (market-oriented app
นรุตม์ เจริญศรี
One of the main issues of 
นรุตม์ เจริญศรี
ผู้เขียนได้มีโอกาสนำเสนอความคิดทางวิชาการในการประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงเมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคม 2563 และอยากนำเอาประเด็นที่ได้นำเสนอไว้มาเขียนบอกเล่าให้ฟังต่อกัน
นรุตม์ เจริญศรี
การเมืองระหว่างประเทศยังคงเป็นเรื่องของการต่อสู้กันของประเทศมหาอำนาจในการพยายามเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลในมิติต่างๆ ที่ผ่านมา นักวิชาการจำนวนมากได้เห็นปรากฏการณ์ของการที่ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและญี่ปุ่นแข่งขันกันในเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาระบบการเชื่อมโ
นรุตม์ เจริญศรี
(ไม่เปิดเผยเนื้อหาสาระสำคัญของหนังสือ)
นรุตม์ เจริญศรี
นรุตม์ เจริญศรี
นรุตม์ เจริญศรี
ประเทศสมาชิกของ CPTPP (ที่มา:
นรุตม์ เจริญศรี
นรุตม์ เจริญศรีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
นรุตม์ เจริญศรี
อัตลักษณ์ทางการแข่งขันของประเทศเอสโตเนีย ระหว่าง ค.ศ.1991-2011 โดย สมพงค์ พรมสะอาด