Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

20 วันแล้ว ‘อับดุลลายิบ ดอเลาะ’  วัย 42 ปี เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ทำให้ ‘กูรอสเมาะ ตูแวบือซา’ ภรรยาอายุ 34 เกิดตั้งคำถาม เกิดความคลางแคลงใจ สงสัย และไม่เชื่อใจว่าสามีของเธอตายโดยไม่ทราบสาเหตุได้อย่างไร

16.30 น. วันที่ 8 ธันวาคม 2558 ณ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี เธอพร้อมลูกชายทั้ง 3 และญาติอีก 1 คน เข้าปรึกษาถึงแนวทางในการเรียกร้องความเป็นธรรม พร้อมแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน

‘กูรอสเมาะ’ อยากมีคณะกรรมการแสวงหาความจริงกรณีการตายของสามีเธอ แต่เธอไม่ต้องการให้ทหารเป็นคนตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เพราะสามีเธอตายในค่ายทหาร  เธอไม่ค่อยไว้วางใจกระบวนการยุติธรรมของราชอาณาจักรไทยอีกแล้ว เธอจึงพยายามดึงองค์กรภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เธอไว้วางใจ อย่างมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และเธออยากดึงองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเข้ามาด้วย

“รัฐต้องเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ ก๊ะ (กูรอสเมาะเรียกแทนตัวเอง) ไม่ยอม ก๊ะจะสู้ให้ถึงที่สุด หากกลไกกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับอาแบได้แล้ว ก๊ะก็หวังที่จะพึ่งกลไกกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ก๊ะจะสู้จนกว่ากลไกกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับอาแบได้แล้ว ก๊ะถึงจะยอมจำนนแล้วปล่อยให้เป็นเรื่องของพระเจ้าที่จะให้ความเป็นธรรม”  กูรอสเมาะ ต้องการความเป็นธรรม

 

ฉายภาพชีวิตครอบครัวและการร่วมฝ่าฟันของ ‘อับดุลลายิบ-กูรอสเมาะ’

‘กูรอสเมาะ ตูแวบือซา’ ใช้ชีวิตร่วมกับ ‘อับดุลลายิบ ดอเลาะ’ มากว่า 16 ปีแล้ว มีลูกด้วยกัน 3 คน ‘ ลุกมาน’ ในวัย 16 ‘บุรฮาน’ อายุ 12 และ ‘อัสรี’ 6 ปี เป็นผู้ชายล้วน

ประมาณ 2541 แรกๆ ที่ใช้ชีวิตด้วยกันนั้น ‘กูรอสเมาะ’ และ‘อับดุลลายิบ’ ช่วยกันขายไก่สด เนื้อสดในตลาดยะลา

ครั้น 2545 ‘กูรอสเมาะ’ และ‘อับดุลลายิบ’ มี ‘บุรฮาน’ ลูกชายคนที่ 2 ‘กูรอสเมาะ’ จึงตัดสินใจไปทำงานในโรงงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดยะลาคนหนึ่งได้ค่าจ้างวันละ 200 บาท ส่วน‘อับดุลลายิบ’ ก็รับซื้อของเก่า ทำอยู่ได้ 3-4 ปี จนสามารถเก็บเงินซื้อเครื่องเลื่อยยนต์ตัดไม้ และรถยนต์คันหนึ่ง

ประมาณปี 2551 ‘อัสรี’ ลูกชายคนที่ 3 ก็ถือกำเนิด ‘กูรอสเมาะ’ และ‘อับดุลลายิบ’ จึงตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านที่บ้านเกิดของ ‘กูรอสเมาะ’ ที่คอลอตันหยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี  เธอเปิดร้านชำค้าขาย ส่วน‘อับดุลลายิบ’ รับจ้างตัดไม้ รวมถึงทำการเกษตรปลูกแตงโม ปลูกมะเขือ พอถึงช่วงฤดูกาลทำนา ‘อับดุลลายิบ’ ก็ทำนาไว้

“สถานะก็ไม่ถึงกับแย่นัก เพราะอาแบ (สามี) สามารถแก้ปัญหาได้ พอเวลาตกงานก็จะทำอาชีพปลูกโน้นปลูกนี่”

กูรอสเมาะ เล่าเกี่ยวกับสถานภาพทางเศรษฐกิจ และการต่อสู้ดิ้นรนร่วมกันสร้างครอบครัวร่วมกับอับดุลลายิบ

 

ย้อนประวัติการถูกตรวจค้น 4 ครั้ง ก่อนถูกจับกลางดึก 11 พฤศจิ’ 2558

2-3  ปีที่ผ่านมา ทหารมาตรวจค้นบ้านของ ‘อับดุลลายิบ-กูรอสเมาะ’ ถึง 4 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2556 กูรอสเมาะจำได้ว่าเป็นวันศุกร์หลังเกิดเหตุระเบิดที่ ม.3 บ้านกาแลสะนอ ตำบลคลองใหม่ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี จากนั้นเครื่องบินเฮลิปคอปเตอร์หลายลำ แล้วทหารก็ปิดล้อมบ้านของเธอพร้อมด้วยอาวุธครบมือ โดยที่ ‘อับดุลลายิบ’ ไปทำงาน ไม่ได้อยู่บ้าน ทหารบอกเธอว่าโทรศัพท์ของเธอมีการติดต่อกับคนร้ายที่ก่อเหตุ

“ก๊ะซื้อโทรศัพท์มือถือจากวัยรุ่นคนหนึ่ง ก๊ะเองก็ไม่รู้ว่าบ้านเขาอยู่ไหน โทรศัพท์เครื่องนั้นเล่นเกมส์ได้ด้วย ก๊ะเห็นเขาก็มาขายให้ก๊ะ โดยบอกว่าโทรศัพท์นี้สามารถเล่นเกมส์ได้ ลูกก๊ะก็ชอบ ลูกก๊ะก็จะไม่ต้องไปเล่นเกมข้างนอก กะก็เลยซื้อให้กับลูก แล้วเจ้าหน้าที่ก็จับโทรศัพท์ที่ซื้อไป เขาก็รับตัวกะไปสอบสวนที่โน้น ตอนสอบสวนกะก็พูดไป”

กูรอสเมาะ เล่าถึงประสบการณ์การถูกจับเข้าค่ายอิงคยุทธบริหารของเธอ

ครั้งที่ 2 ในปี 2557 เจ้าหน้าที่ทหารบอก ‘กูรอสเมาะ’ ว่าบ้านเธอมีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ‘กูรอสเมาะ’ จำได้ว่าเธอกำลังไปขายหัวมันที่ตลาดนัดบารู สะพานชลประทาน ตอนนั้นทหารมากันเยอะ แล้วญาติคนหนึ่งตามมาตามเธอถึงการปิดล้อมบ้านของทหาร เธอตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเพื่อกลับไปเอา เงิน แหวน สร้อยข้อมือ ที่อยู่บนบ้าน

เจ้าหน้าที่ทหารไม่ให้ ‘กูรอสเมาะ’ ขึ้นไป ทหารจับเธอ แต่เธอสะบัดหลุดแล้วขึ้นไปเอาของ ทหารกับเธอทะเลาะกันนาน ทหารโกรธเธอมาก หลังจากที่ขึ้นไปเอาทรัพย์สินของเธอ แล้ว ‘กูรอสเมาะ’ ก็โชว์ให้ทหารดูว่าเธอกลับไปเอาของๆ เธอจริงๆ

“ เงินของก๊ะ น้อย แต่ว่าก๊ะใช้ได้ประมาณ 10 วัน แค่นี้ก็มากแล้วกับก๊ะ นั้นแหละที่กะหวง คนบนบ้านก็ไม่มีใครสักคน” กูรอสเมาะ สะท้อน

ครั้งที่ 3 ก็ในปี 2557 กองปราบปรามยาเสพติดบุกค้นบ้านของเธอ แต่ก็ไม่พบอะไร  ตำรวจขอสำเนาทะเบียนบ้าน เธอก็ให้ และเธอต้องลงลายมือชื่อไปบนกระดาษอะไรแผ่นหนึ่งในครั้งนั้นด้วย

“มีคนแจ้งบอกบ้านว่าบ้านก๊ะขายยาเสพติด ก๊ะก็บอกว่า  ลูกกะยังเล็ก คนโตอยู่ปอเนาะ ก๊ะไม่รู้ว่าอะไร หรือว่า จำผิดบ้าน พอดีใกล้บ้านกะเป็นร้านเกม ร้านข้างเป็นร้านเกม เขาบอกว่า เขาจำเป็นต้องค้น กะก็ให้ค้น แล้วเจ้าหน้าที่ที่มาด้วยบอกว่า ลูกยังเล็กเป็นไปไม่ได้จะขายยาเสพติด กะก็ตอบเขาว่า หากบ้านกะขายยาเสพติดข้าวของบ้านกะคงไม่มีแค่นี้หรอก เพราะยาเสพติดก็ต้องรวย เพราะเงินเยอะ ตอนนั้นก็ไม่มีอะไร”  กูรอสเมาะ เล่า

ครั้งที่ 4  วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ทหารมาตอนตี 1 พอลืมตา เธอเห็นเจ้าหน้าที่ทหารหลายนายมาส่องไฟใต้ถุนบ้านเธอ เธอตกใจ กระทั่ง ‘อับดุลลายิบ’ สามีของเธอก็ตื่นตกใจมากจนตัวสั่น

‘กูรอสเมาะ’ ทำใจดีสู้เสือออกไปเปิดประตูถามว่าใครมา เจ้าหน้าที่ทหารขอค้นบ้าน เธอไม่กล้าที่จะเปิดประตู หรือถ้าเปิดประตูก็ให้นำกำนันมาด้วย แต่ ‘อับดุลลายิบ’ บอกให้เปิดประตูเธอก็เลยลงไปเปิดประตู แล้วทหารก็นำตัวสามีเธอไปในเวลา 03.00 น. ทหารบอกเธอว่ามีคนซัดทอด ‘อับดุลลายิบ’ เป็นผู้ต้องสงสัย

“อาแบ (คำเรียกอับดุลลายิบ) ไม่ระวังตัว เพราะอาแบไม่ใช่คนผิดอะไร เขาเป็นคนธรรมดา ตอนเช้าทำงาน ตอนค่ำ ก็เรียน อัลกุรอ่าน เรียนกีตาบ หากพูดถึงเวลาว่างก็คือ เวลานอนเท่านั้น จะบอกว่าเขาเข้ากับขบวนการฯ นี้จะไม่เชื่อ เขาว่างในวันศุกร์หนึ่งวันเท่านั้น ถ้าอาแบเรียนเรียนคัมภีร์อัลกรุอ่าน คืนนี้  คืนพรุ่งนี้อาแบก็เรียนตำรากีตาบต่อ เวลาเรียนประมาณ 4 วันต่อสัปดาห์ เวลาว่างก็ไม่มี  ไหนกลางวันก็ทำงานอีก” กูรอสเมาะ สะท้อน

 

ฉากก่อน‘อับดุลลายิบ’ ตายไม่โดยทราบสาเหตุในค่ายอิงคยุทธฯ

‘อับดุลลายิบ ดอเลาะ’ ถูกคุมขังอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร 24 วัน ‘กูรอสเมาะ’ ไปเยี่ยม ‘อับดุลลายิบ’ ทุกวันบางวันได้คุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ บางวันได้แค่ทักทาย แค่ยื่นข้าวยื่นน้ำให้  ‘กูรอสเมาะ’ จดจำการไปเยี่ยม ‘อับดุลลายิบ’ ได้เกือบทุกครั้ง

บ่าย 2 โมงครึ่งของวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ‘กูรอสเมาะ’ ไปเยี่ยม อับดุลลายิบ’ ครั้งแรก ทางค่ายอิงคยุทธฯให้เยี่ยมนาน 15 นาที ขณะที่วันต่อมา คือ 12 พฤศจิกายน ประมาณ บ่ายสองครึ่ง ครั้งที่ 2 ค่ายให้เยี่ยมประมาณ 15 นาที

พอครั้งที่ 3 ให้เยี่ยมแค่ 3 นาที แค่ให้สลาม (กล่าวทักทาย) ให้ข้าว ให้น้ำเท่านั้น ไม่ได้คุยอะไร ครั้งที่ 4 ได้เข้าเยี่ยม 10 นาที และวันต่อๆ มา ‘กูรอสเมาะ’ ก็ไปเยี่ยม อับดุลลายิบ’ ตามปกติ

กระทั่งวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ‘กูรอสเมาะ’ ไปเยี่ยม ‘อับดุลลายิบ’ ในตอนเย็น และได้คุยกัน 15 นาที ‘อับดุลลายิบ’ บอกกับ ‘กูรอสเมาะ’ ถึงความกลัว ความเหนื่อยล้า และความท้อแท้กับชีวิตตัวเอง

วันที่ 3 ธันวาคม 2558 ก่อน ‘อับดุลลายิบ’ ตาย 1 วัน ‘กูรอสเมาะ’ ไปเยี่ยม ‘อับดุลลายิบ’ ตั้งแต่เช้า แต่ได้เยี่ยมแค่ 3 นาที ได้ให้แค่ข้าวและน้ำเท่านั้น

เมื่อวาน ‘กูรอสเมาะ’ ได้ยิน ‘อับดุลลายิบ’ บอกถึงความกลัว ‘กูรอสเมาะ’ จึงให้กำลังใจ ‘อับดุลลายิบ’ ว่า

“ถึงอย่างไรอาแบก็จะได้กลับบ้าน อาแบต้องขอดุอาอ์  อ่านอัลกุรอ่านให้เยอะๆ มีแต่ อาแบกับอัลลอฮ์เท่านั้น หมั่นขออภัยโทษจากอัลเลาะห์ให้มากๆ และต้องทำให้ตัวให้แข็งแรง เดะ รออาแบที่บ้านกับลูก”

‘อับดุลลายิบ’ บอกกับ ‘กูรอสเมาะ’ ว่า  ให้เธอขอดุอาฮ์ และ ละหมาดฮายัต (ขอพร) ให้เขาให้เยอะๆ ซึ่งเมื่อ ‘กูรอสเมาะ’ ได้ยินก็ไม่เข้าใจความหมายว่าหมายความว่าอย่างไร ‘กูรอสเมาะ’ ขอเปิดเสื้อของ‘อับดุลลายิบ’  แถวๆ เอว แต่ ‘อับดุลลายิบ’ ก็สะบัด

“สงสัยว่าทำไมเขาถึงให้แค่ 3 นาที กลัวว่าจะมีอะไร พอจะเปิดดูเสื้ออาแบเขาก็สะบัด เพราะเจ้าหน้าที่เขากำลังประกบดูอย่างใกล้ชิดระหว่างที่ก๊ะเยี่ยมอาแบ ก๊ะจึงกลัวว่าหากขืนเปิดเสื้ออาแบ เดี่ยวอาแบจะโดนทำร้ายอีก เท่าที่กะฟังคนอื่นเขาบอกว่าคนที่อยู่ในค่ายมักโดนซ้อมกะก็รู้สึกอย่างนั้น”  กูรอสเมาะ ตั้งข้อสังเกตุ

วันเวลา-วินาทีที่ ‘กูรอสเมาะ’ รู้ว่า ‘อับดุลลายิบ’ กลายเป็นศพ

7 โมงเช้า ของวันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2558  ทหารจากฐานบ้านน้ำดำ 3 นายขับรถจักรยานยนต์มาในขณะที่ ‘กูรอสเมาะ’ ขายของหน้าบ้าน ทหารบอกว่าพวกเขามีธุระกับเธอเธอถามกลับว่ามีธุระอะไร ทหารนั้นก็ตอบเธอว่า จะพาเธอไปรับ ‘อับดุลลายิบ’ กลับบ้าน ‘กูรอสเมาะ’ พยายามถามให้แน่ชัดว่า แน่ใจแล้วใช่ใหม ที่สามารถพา ‘อับดุลลายิบ’ กลับบ้านวันนี้ ทหารก็บอกว่าใช่ แล้ว ‘กูรอสเมาะ’ ก็เดินทางไปด้วยความดีใจที่ ‘อับดุลลายิบ’ ได้กลับบ้าน

พอไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร ทหารคนหนึ่งพูดคุยกระซิบกับอีกคนหนึ่ง พอทหารอีกคนหนึ่งมาก็กระซิบกันอีก ‘กูรอสเมาะ’ จึงให้ ‘อับดุลราแม มะลาแม’ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลคอลอตันหยง ที่มาด้วยถามทหารเหล่านั้น ทหารนั้นบอกผู้ใหญ่บ้านว่า ‘อับดุลลายิบ’ ไม่อยู่แล้ว

“ก๊ะก็ถามว่า ไม่อยู่นั้น ไม่อยู่แบบไหน ไม่มีที่อยู่ เพราะอะไร  ก๊ะเข้าใจว่า ไม่มีที่อยู่  ก๊ะไม่คิดว่า ไม่อยู่นี้คือการเสียชีวิตเพราะก๊ะไปเมือวานเขายังแข็งแรงอยู่” กูรอสเมาะ เล่าถึงวินาทีก่อนจะความหมายของการไม่อยู่ของสามี

ครั้นพอผู้ใหญ่บ้านบอกกับเธอว่า สามีของเธอได้เสียชีวิตแล้ว เธออ่อนแรงแทบเป็นลมล้มพับ ต่อมาสักพักทหารก็เรียกเธอเข้าไปพบข้างใน และเธอยังไม่เชื่อว่า ‘อับดุลลายิบ’ เสียชีวิตจริงๆ เพราะเมื่อวานตอนเธอมาเยี่ยมเขายังแข็งแรง

เธอถามทหารกลับไปว่า แน่ใจแล้วใช่ใหมว่า ‘อับดุลลายิบ’ สามีเธอเสียชีวิตแล้ว ทหารก็ตอบว่าใช่ ตอนนั้น ‘กูรอสเมาะ’ แทบช๊อก หน้ามืด อ่อนแรงทำตัวไม่ถูก

ทหารใช้เวลาจัดการตู้คอนเทนเนอร์นานมาก ทหารบอกว่ากำลังทำความสะอาดไม่รู้ว่าทำความสะอาด หาก‘กูรอสเมาะ’ จะดูศพ เดี่ยวจะประชุมในตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำเป็นห้อง ห้องของเขาใกล้กับห้องที่เขาคุมตัวผู้ต้องสงสัย

“ตอนนั้นอาแบก็อยู่ในห้องที่เขาถูกควบคุมตัว ใช้เวลานานกว่าจะได้ดู อาแบ เพราะเขาทำความสะอาด หลังจากนั้นขณะที่แม่ยายกำลังร้องไห้ เจ้าหน้าที่ผู้หญิงจะมาจับไหล่ก๊ะ ก๊ะสะบัดทั้ง 2 ข้างที่เขาพยายามจะจับ กะไม่ยอมให้จับ หลังจากนั้นเขาก็ยื่น ผ้าเย็น น้ำ และยาดม ก๊ะก็ปฎิเสธ

“เขาบอกว่าก๊ะไม่เอาอะไรสักอย่างเลยหรอ ก๊ะก็ตอบว่า ก๊ะแข็งแรง ไว้ให้พวกเธอใช้กันเถอะ แล้วเขาพยายามจะจับก๊ะ เขากลัวว่าก๊ะจะล้ม ก๊ะชี้หน้าเขาทั้ง 2 คนเลย ห้ามจับ ก๊ะแข็งแรง เขาเองก็เหมือนไม่กล้า ตอนที่กะร้องไห้อยู่บนเก้าอี้” กูรอสเมาะ เล่าถึงวินาที่ที่เธอรู้ว่าสามีของเธอตายแล้ว

นานกว่าทหารจะจัดการตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อจัดการเสร็จ ก็มีการประชุมเกิดขึ้นมีทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี

แล้วทหารก็ถาม ‘กูรอสเมาะ’ ว่าจะพาศพ ‘อับดุลลายิบ’  กลับไปเลยหรือว่าจะชันสูตร แล้วทหารก็ให้หมอจากโรงพยาบาลหนองจิกดูลักษณะการตายของ ‘อับดุลลายิบ’  ฟุบบนพรมปูละหมาด และดูที่ฝ่ามือศพ

“ก๊ะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเสียโดยไม่มีสาเหตุ” เธอ เชื่อ

แล้วหมอตรวจเบื้องต้น  หลังจากนั้นก็มีการประชุมอีกครั้งหนึ่ง หมอบอกว่า ได้ตรวจในปาก และในร่างกาย ไม่พบสิ่งปกติแต่อย่างใด

“อาแบของฉันเป็นแบบนี้ เพราะพวกมึงทำ และเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเสียโดยไม่มีสาเหตุ เมื่อวานเขายังแข็งแรง จะเอาเรื่องให้ถึงทีสุด จะอย่างไรๆก็จะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด ” กูรอสเมาะ สบถ พร้อมตบโต๊ะ

ครั้นเมื่อ ‘วีฟาอี มอลอ’ ญาติอีกคนของเธอมาถึง เธอจึงได้รับการแนะนำให้เสนอมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นคณะกรรมการ ฯ ‘กูรอสเมาะ’ จะเอาศพอับดุลลายิบกลับไปฝังเลย แต่ถูกทัดทานโดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมให้ตรวจชันสูตรเบื้องต้นก่อน

.

เผยแพร่ครั้งแรก : สำนักข่าวฟาตอนีออนไลน์,22 ธันวาคม 2558,http://www.fatonionline.com/1111

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

แผลใหม่ปาตานีในค่ายทหาร 1: เหตุเกิดในอิงคยุทธบริหาร ‘อับดุลลายิบ’ ตายปริศนา 

แผลใหม่ปาตานีในค่ายทหาร 2 : เมีย ‘อับดุลลายิบ’ ไม่ไว้ใจรัฐหวังพึ่งภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศ

 

บล็อกของ ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ