Skip to main content

สาละวิน,ลูกรัก


หากมีคำถามจากใครสักคนถามแม่ว่า เดือนไหนของปีที่รู้สึกว่ายาวนานกว่าเดือนอื่นๆ คำตอบของแม่อาจจะแตกต่างออกไปจากคนอื่นๆ เพราะแม่คิดว่าเดือนที่มีจำนวนวันน้อยที่สุดเป็นเดือนที่แม่รู้สึกว่ายาวนานกว่าทุกๆเดือน


ความรู้สึกว่าเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่ยาวนานกว่าใคร อาจจะวัดไม่ได้เป็นจำนวนวันเพราะว่ามันตีค่าเป็น “ความรู้สึก” แม่มีเหตุผลหลายอย่างประกอบความรู้สึกอันนี้ สิ่งหนึ่งก็คือ หลายสิ่งที่ดีเกิดขึ้นกับแม่ในเดือนนี้เสมอ ๆ

 


เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่น่าจดจำ มีอากาศที่อบอุ่นพอเหมาะกับการเดินทางท่องเที่ยว แม่ยังรู้สึกว่าในแต่ละวันจะผ่านไปอย่างเชื่องช้า


ยามเช้าของกุมภาพันธ์เรามักตื่นขึ้นมาโดยเร็วด้วยอากาศที่ไม่หนาวจนเกินไป และสายหมอกที่ยังเคลียคลุมจนดูเหมือนว่ายังเช้าอยู่แม้จะสายมากแล้ว กว่าแสงแดดอุ่นจะกรุ่นขึ้นจนร้อนผ่าวก็ปาเข้าไปเกือบเที่ยงวัน


พอบ่ายคล้อย เราจะรู้สึกร้อนนิดๆจนบางครั้งต้องสลัดผ้าลงอาบน้ำในแม่น้ำลำคลองที่ไหนสักแห่ง เพลินอยู่กับสายน้ำจมดิ่งอยู่กับห้วงแห่งความสุข และเอื่อยช้าไปกับกาลเวลาที่หยุดนิ่งรอบๆตัว


แม่พบรักเดือนกุมภาพันธ์ และคลอดลูกอันเป็นที่รักในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนนั้นแม่รู้สึกถึงการรอคอยวันเกิดของตัวเองในวันเริ่มต้นของเดือนมีนาคม การรอคอยทำให้รู้สึกว่ากุมภาพันธ์ช่างแสนนาน


แต่แม่รู้แล้วว่า แม่กลับจดจำเหตุการณ์ต่างๆในเดือนกุมภาพันธ์ได้ดีและชัดเจนกว่าเดือนเกิดของตัวเอง ที่ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วและบางครั้งก็รวดร้าวจนอยากลบเลือน


คล้ายป่าที่เปลี่ยนสีผลัดใบในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งงดงามและรวดร้าว ต้นไม้ทิ้งใบรายเรียงสีน้ำตาลเข้มคลุมผืนป่า เหลือเพียงกิ่งก้านแอ่นฟ้อนทาบทาท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม รอคอยฤดูแล้งอันโหดร้ายที่กำลังมาเยือนอย่างเชื่องช้า


มีนา เมษา และพฤษภา ที่ป่าทั้งป่าหลับใหลก่อนถูกปลุกให้ตื่นอีกครั้งด้วยฝนแรกที่ฉ่ำชื้น ทว่าฤดูฝนแม่ก็ไม่ค่อยชอบเท่าไรนัก


ฤดูฝนเป็นฤดูกาลแห่งมือผู้กุมหว่านเมล็ดพันธ์ ผู้กุมชะตามกรรมของมนุษย์ทุกคนบนโลก สายฝนทำให้ฟ้าและดินเท่าเทียมกัน


แต่สายฝนทำให้ชื้นแฉะและอับโชคสำหรับแม่ นั่นเป็นการสรุปโดยใช้เพียง “ความรู้สึก” อาจเป็นเพราะท้องฟ้ามักวิปโยคในหน้าฝน เรามักจะอดทำกิจกรรมกลางแจ้งในตอนกลางวันเมื่อฝนหลั่งลงมา และความหดหู่จะแทรกซึมเข้าไปในจิตใจของแม่ในยามค่ำคืนที่ฝนพรำ


กุมภาพันธ์ปีนี้ สาละวินอายุครบสามขวบ ลูกเองก็รอคอยวันสุดท้ายของเดือน เมื่อแม่บอกลูกว่าจะมีเค้กวันเกิดให้เหมือนทุกๆ ปี ลูกคงจำเค้กวันเกิดในปีก่อนๆ ได้เพียงรางเลือน เพราะลูกยังไม่เข้าใจถึง “วันเกิด” ของตัวเอง แต่แม่ก็สัญญากับตัวเองไว้ว่าจะสร้าง “ความทรงจำ” ที่ดีให้ลูกในทุกๆ เดือนกุมภาพันธ์

 


เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเราเดินทางท่องเที่ยวด้วยกัน แม้ไม่ได้วางแผนอะไรไว้แต่ความรู้สึกเรียกร้องให้ออกเดินทางคงเกิดขึ้นจากความงดงามของธรรมชาติรอบตัวของเดือนกุมภาพันธ์ แม่เลือกเส้นทางตัดผ่านภูเขาและสายน้ำ


เรามีเพียงพาหนะสองล้อที่แบกพวกเราทั้งสามขึ้นเขาลงห้วยสู่ป่าสนวัดจันทน์ แม่นึกถึงเพลงที่มีเนื้อหาว่า “ภูบ่สูง แต่ว่าห้วยมันลึก ภูบ่ลึกแต่ว่าเมืองมันไกล ภูบ่เล็กแต่ว่าฟ้ามันใหญ่....” ใครเลยจะลึกซึ้งถึงความหมายของมันเท่ากับเราสามคนในยามนี้ ก็ในเมื่องูใหญ่ที่เรียกว่าถนนทางหลวงซอกซอนไปได้ทุกที่และดูเหมือนจะฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น


แต่เส้นทางที่เราไปเป็นเส้นทางที่ตัดผ่านหมู่บ้านเล็กๆกลางป่าใหญ่ บางครั้งเรารู้สึกว่าเราไม่ได้ขี่รถบนถนน แต่กำลังเดินเล่นบนสันเขาที่เชื่อมระหว่างสันเขาอีกลูกไปสู่อีกลูกไม่รู้จบ และบางทีก็รู้สึกราวกับว่าเราเคลื่อนตัวไปบนทะเลทรายนุ่มนิ่ม ในขณะที่ล้อรถจมลงไปบนดินแดงที่ลึกกว่าคืบ


เราป่ายปืนด้วยสองล้อสูงขึ้นไปสูงขึ้นไป พ่อของลูกรู้สึกตื่นเต้นกับตัวเองและภาพบรรยากาศรอบตัว เราอยู่สูงจากภูเขาที่มองลงไปเห็นเป็นทิวแถวอยู่ไกลๆ ก่อนจะลัดเลาะเข้าสู่ป่าสนผืนใหญ่ที่มีเขตแดนเชื่อมต่อหลายอำเภอ


ป่าสนยามนี้แตกต่างไปจากเมื่อห้าปีก่อนที่แม่เคยสัมผัสคงเป็นเพียง “ความรู้สึก” เพราะนอกจากป่าสนจะเติบโตขึ้นกว่าเดิมก็คงไม่มีอะไรแตกต่างเมื่อชาวบ้านแถบนี้ต่างก็ดูแลต้นไม้ของเขามานานชั่วนาตาปีไม่เปลี่ยนแปลง


เราพบปะมิตรสหายร่วมเดินทางที่วัดจันทน์ ก่อนจะมุ่งสู่เมืองเชียงใหม่ เราสามคนใช้เวลาท่องเที่ยวที่นั่นอยู่หลายวัน เป็นการเดินทางที่แสนเหนื่อยและน่าจดจำอีกครั้งในชีวิตของแม่


ซึ่งรียกได้ว่าเป็นการเดินทางท่องเที่ยวรอบสองปีของเรา แม่เก็บรูปถ่ายการเดินทางไว้ให้ลูกดูตอนโตเก็บภาพประทับใจไว้ในลิ้นชักแห่งความทรงจำ และบันทึกถึงลูกอันเป็นที่รักก่อนที่เดือนกุมภาพันธ์จะจากไป

 

รักลูก

แม่

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…