Skip to main content

สาละวิน,ลูกรัก  


เมื่อคืนลูกมีไข้ขึ้นสูง แม้เช้านี้อาการไข้ของลูกจะลดลงแล้วแต่ตัวลูกก็ยังอุ่นๆ เหมือนเครื่องอบที่เพิ่งทำงานเสร็จใหม่ๆ แม่จึงตัดสินใจให้ลูกขาดโรงเรียนอีกหนึ่งวัน

ลูกเป็นไข้มาหลายวันแล้วแม่จึงให้ลูกผักผ่อนอยู่กับบ้านเกือบตลอดสัปดาห์ แม่คิดว่าเพราะอากาศช่วงนี้ค่อนข้างผันผวน 

โดยเฉพาะช่วงเช้าซึ่งยังคงหนาวเย็นเหมือนหน้าหนาว แต่เราจำต้องขี่มอเตอร์ไซด์ฝ่าอากาศหนาวจากบ้านใกล้เมืองเพื่อไปถึงโรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยเสือเฒ่าเป็นระยะทางกว่าเจ็ดกิโลเมตร ลูกจะนั่งด้านหน้ามีผ้าห่มแขวนไว้หน้ารถให้ลูกซุกซ่อนตัวป้องกันความหนาวยามรถวิ่ง

 


ถนนสู่หมู่บ้าน

 
พอตกบ่ายแม่รู้สึกว่าอากาศช่างร้อนอบอ้าว รถที่วิ่งแหวกอากาศแทนที่จะเย็นสบายกลับกลายเป็นลมร้อนอ้าว แผดเผาจนลูกต้องซุกซ่อนหน้าเข้ากับผ้าห่มผืนเดิม อาการหวัดของลูกจึงเป็นๆหายๆ อยู่นานเป็นเดือน


เส้นทางเจ็ดกิโลเมตรที่ว่าก็ยังเป็นเส้นทางที่แปลกที่สุดในโลกก็ว่าได้ เราจะตัดผ่านน้ำทุกๆห้าร้อยเมตร นั่นคือมีลำห้วยสายหนึ่งที่คดโค้งไปมาตัดผ่านถนนกว่าสิบสายเลยทีเดียว


แม่ต้องขี่รถด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อก่อนแม่เคยล้มอยู่หลายครั้งด้วยความลื่นของถนน  จนเกิดความชำนาญและรู้เทคนิคในการขับ แต่แม่ก็ไม่เคยประมาทที่จะลดความเร็วเวลาขับขี่ผ่านลำน้ำ


ถนนตัดผ่านลำห้วย


ย่างเข้าหน้าร้อนไม่เท่าไร แม่รู้สึกว่าปีนี้คงต้องแล้งกว่าทุกๆ ปี น้ำที่เคยเจิ่งนองบนถนนบางสายมุดหายไหลอยู่ใต้พื้นถนน  แทนที่แม่จะดีใจที่ไม่ต้องคอยระวังถนนลื่น กลับรู้สึกใจหายที่เห็นปรากฏการณ์ความแห้งแล้งเกิดขึ้นในรอบห้าปีได้อย่างชัดเจน

ทั่วโลกเองก็เป็นอย่างนี้ประสบปัญหาภัยแล้งและไฟป่าที่กำลังจะตามมา โดยเฉพาะแม่ฮ่องสอนที่ป่าส่วนใหญ่จะผลัดใบจนต้นโก๋น ใบไม้แห้งกลายมาเป็นเชื้อเพลิงยามเมื่อไฟป่าถูกจุดขึ้นที่ไหนสักแห่งกลายเป็นมังกรไฟลามไปทั้งป่า 


ว่ากันว่าไฟป่าเกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เกิดจากการเผาด้วยมือของมนุษย์มากกว่าไฟป่าตามธรรมชาติที่ต้นไม้เสียดสีกันจนลุกไหม้  รัฐจึงรณรงค์ไม่ให้ชาวบ้านจุดไฟเผาป่า แต่อีกมุมหนึ่งของชาวบ้าน ไฟกับป่าหนีกันไม่พ้นในหน้าแล้ง


ชาวบ้านจึงต้องผ่อนหนักให้เป็นเบาด้วยการชิงเผาในสวนของตัวเอง เพื่อทำแนวกันไฟไม่ให้ไฟป่าลุกลามกินอาณาเขตกว้าง คือชาวบ้านเป็นผู้จุดไฟก็จริงแต่ก็สามารถควบคุมไม่ให้ไฟลุกลามไปทำลายความอุดมสมบูรณ์ของป่าทั้งป่า


แต่สำหรับแม่การกำจัดต้นเพลิงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าการชิงเผาจะจัดการไฟได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่  หรือการห้ามจุดไฟเลยอาจจะนำมาซึ่งการสูญเสียครั้งใหญ่ก็เป็นได้


ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เขตป่าไม้จึงมีโอกาสพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการเก็บใบตึงมาทำหลังคาใบตองตึง สร้างรายได้และช่วยลดโลกร้อนแบบที่ไม่ต้องทำตามในโฆษณาทีวีก็เห็นผลได้แบบทันตา

คงมีเพียงจังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้นที่เราจะเห็นกระท่อมหลังคามุงใบตองตึงมีอยู่ทั่วไปตามชนบท  ด้วยหาง่าย แม้ซื้อหาก็มีราคาถูก คือตับละสองบาทห้าสิบ  กระท่อมหลังย่อมๆใช้ประมาณไม่เกินห้าร้อยตับ แล้วแต่ว่าจะให้มีความหนามากน้อยเพียงใด  



หลังคาครึ่งใบไม้-ครึ่ง สังกะสี


ที่บ้านพือพือ(ย่า)ก็ยังคงใช้ใบตองตึงมุงหลังคา ทุกๆ สองถึงสามปีจึงจะมีการรื้อเปลี่ยนใหม่  เวลารื้อ-มุงหลังคาใหม่ก็จะใช้วิธีลงแขก  โดยที่ชายหนุ่มในหมู่บ้านมาช่วยกันทำให้เสร็จภายในหนึ่งวัน  เจ้าบ้านก็จะเลี้ยงข้าวปลาอาหารจนอิ่มหนำ  เมื่อเพื่อนบ้านประสงค์จะรื้อ-มุงหลังคาก็จะใช้วิธีเวียนกันไปลงแขก

การลงแขกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาวบ้านมีความร่วมใจกันสามัคคีเกื้อกูล และมีคนมากพอที่จะช่วยกันทำงานให้เสร็จเร็วขึ้นเหนื่อยน้อยลง แต่เมื่อชุมชนของเราแตกออกเป็นหลายหมู่บ้าน ส่วนหนึ่งกลับเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพบ้านในสอย

 


แม่บ้านเย็บใบไม้ทำ หลังคา


บ้านของพือพือจึงมีหลังคาเป็นสังกะสีครึ่งหนึ่งเป็นใบตองตึงครึ่งหนึ่ง เมื่อลูกชายและลูกสาวอีกสองคนตัดสินใจเดินทางไปประเทศที่สาม(อเมริกา) ตามพี่สาวคนโตและครอบครัวที่ไปอยู่ที่นู่นก่อนแล้ว ด้วยเหตุผลเดียวคือสังกะสีไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆเหมือนใบตองตึง     

แต่บ้านหลังคาสังกะสีร้อนแสนร้อน เวลาฝนตกใส่เสียงดังสนั่น ไม่เพราะหูเหมือนฝนสาดใบตองตึง ที่ทั้งนุ่มและชื้นเย็น จะดีก็แต่หน้าหนาวที่อบอุ่นกว่าบ้านหลังคาใบตองตึงบ้าง


บ้านของเรามุงกระเบื้องแม้ว่าแม่อยากจะมุงใบตองตึงเหมือนกระท่อม  แต่ในระยะยาวเราจะต้องปวดหัวกับการเกณฑ์คนมาช่วยมุงหลังคาทุกๆสามปีเป็นอย่างน้อย


เพื่อนแม่คนหนึ่งมาสร้างบ้านพักตากอากาศไว้ที่แม่ฮ่องสอน บ้านไม้สักทั้งหลังแต่มุงด้วยใบตองตึง หลายปีผ่านไปพอจะกลับมาพักหลังคาใบตองตึงรั่วจนเป็นรูโบ๋  ไม้สักผุพังเพราะโดยฝนตกใส่อยู่หลายปี


ปีนี้ราคาใบตองตึงแพงขึ้น อาจจะเพิ่มอีกตับละห้าสิบสตางค์ถึงหนึ่งบาทก็เป็นได้ในช่วงท้ายฤดูกาลเก็บใบไม้ใครขยันก็มีรายได้ แค่เดินออกไปไม่กี่ก้าวเก็บใบไม้มาถักร้อยจากหนึ่งเป็นร้อยจากร้อยเป็นพัน เก็บเงินใส่กระเป๋าแบบลดโลกร้อน.


รักลูก

แม่

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…