Skip to main content

แนวทางการจำกัดอำนาจศาลทหารไม่ให้มีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนในระบบกฎหมาย

 

ศุภณัฐ บุญสด

 

แนวคิดเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดีพลเรือนของศาลทหาร

            เหตุผลที่ถูกนำอ้างเพื่อสนับสนุนความจำเป็นที่ต้องมีศาลทหารไว้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและพลเรือนที่เป็นสมาชิกของกองทัพขึ้นโดยเฉพาะให้แตกต่างออกไปจากการดำเนินคดีพลเรือนทั่วไปที่ปกติต้องกระทำโดยศาลยุติธรรมหรือศาลอาญาโดยมากจะเป็นเหตุผลเรื่องลักษณะเฉพาะขององค์กรฝ่ายทหาร โดยลักษณะเฉพาะประการแรก องค์กรฝ่ายทหารมีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติภารกิจทำสงครามกับรัฐอื่นซึ่งมีองค์ประกอบหรือเงื่อนไขในการทำงานแตกต่างอย่างมากจากการปฏิบัติภารกิจขององค์กรอื่น ๆ และลักษณะเฉพาะประการที่สอง เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจดังกล่าวของทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทหารจะต้องมีการรักษาระเบียบวินัยภายในองค์กรที่เคร่งครัดกว่าองค์กรของรัฐอื่น ๆ  ดังนั้น การมีผู้บังคับบัญชาทหารหรือตุลาการทหารที่มีความเข้าใจถึงลักษณะเฉพาะในภารกิจและการบริหารงานบุคคลขององค์กรฝ่ายทหารมาพิจารณาการกระทำความผิดของทหารย่อมส่งผลดีต่อความเป็นเอกภาพในหมู่ทหารและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร และจากเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการกำหนดกรอบแนวคิดเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลทหารให้จำกัดอยู่เฉพาะบุคคลที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายทหารอันได้แก่ เจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกองทัพ รวมถึงกำหนดเขตอำนาจในทางเนื้อหาคดีของศาลทหารให้มีอำนาจพิจารณาคดีจำกัดอยู่ที่การกระทำความผิดอาญาทั่วไป ความผิดตามกฎหมายทหารและความผิดวินัยทางทหารที่บุคคลข้างต้นเป็นหลัก[1]

            แต่อย่างไรก็ตามในบางประเทศก็ได้มีการออกแบบกฎหมายสร้างข้อยกเว้นให้ในกรณีที่รัฐต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรง ศาลทหารสามารถขยายเขตอำนาจไปพิจารณาคดีพลเรือนที่กระทำความผิดทางอาญาที่กระทบต่อความมั่นคงแทนศาลยุติธรรมหรือศาลอาญาได้ โดยการสร้างข้อยกเว้นเช่นนี้มีเหตุผลหลักมาจากความจำเป็นที่ต้องอาศัยกระบวนพิจารณาคดีที่เด็ดขาดและรวดเร็วของศาลทหารในการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงให้ได้[2]

            แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างข้อยกเว้นดังกล่าวก็ได้รับการโต้แย้งอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางหลักการระหว่างประเทศซึ่งปรากฏในร่างหลักการว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมในศาลทหาร (UN Draft Principles Governing the Administration of Justice through Military Tribunals) ได้พยายามสร้างความตระหนักในข้อ 5 ว่า ศาลทหารไม่ควรมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนในทุกสถานการณ์ โดยรัฐจะต้องรับประกันว่าพลเรือนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาไม่ว่าข้อหาใดจะต้องได้รับการพิจารณาคดีในศาลยุติธรรม[3] โดยความกังวลหลักที่ไม่ต้องการให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนมาจากการต้องการพิทักษ์สิทธิในการได้รับการพิจารณาโดยคณะตุลาการที่เป็นอิสระ เป็นกลาง และสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)[4] และเมื่อปี ค.ศ. 1998 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้เคยมีคำพิพากษาไว้ในคดี INCAL v. TURKEY ว่าการที่นาย Ibrahim Incal ชาวตุรกีที่ถูกศาลความมั่นคงแห่งชาติที่มีตุลาการหนึ่งในองค์คณะเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ตัดสินจำคุกและปรับจากการเผยแพร่เอกสารทางการเมือง เป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีที่ขัดต่อสิทธิในการรับการพิจารณาจากตุลาการที่เป็นอิสระตามข้อ 6 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Convention on Human Rights)[5] โดยคำพิพากษาดังกล่าวนี้ได้มีผลผูกพันธ์ต่อมาในคดีของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปอีกคดีคือ Öcalan v. Turkey  ในปี ค.ศ. 2005

            สำหรับแนวคิดที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้ศาลทหารมีเขตอำนาจพิจารณาคดีเหนือบุคคลพลเรือนดังกล่าวมีความแตกต่างกันโดยตั้งอยู่บนระหว่างด้านหนึ่งที่ต้องการในการพิทักษ์สิทธิของปัจเจกบุคคลโดยประกันการได้รับการพิจารณาจากตุลาการที่เป็นกลางและอิสระกับอีกด้านที่ต้องการขยายอำนาจให้กับฝ่ายบริหารในการใช้ศาลทหารเป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่นคงของรัฐและควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ จึงส่งผลให้ระบบกฎหมายในแต่ละประเทศออกแบบเขตอำนาจของศาลทหารทั้งในทางบุคคลและเนื้อหาแห่งคดีแตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตามหากเราย้อนกลับไปที่เหตุผลหลักที่ต้องก่อตั้งศาลทหารขึ้นมาตามที่กล่าวไว้ในวรรคแรกข้างต้น ปัญหาที่ว่าการใช้ศาลทหารที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของทหารให้มาพิจารณาคดีของพลเรือนที่ถูกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาทั่งไปซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากทหารโดยสิ้นเชิงจึงเป็นกลายจะมาเป็นคำถามสำคัญต่อไปว่าระบบกฎหมายไทยควรจะอนุญาตให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนหรือไม่  

เขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดีพลเรือนของศาลทหารในระบบกฎหมายต่างประเทศ

            การออกแบบระบบกฎหมายเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลทหารเหนือบุคคลและเหนือเนื้อหาของคดีที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่พลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาในข้อหาต่าง ๆ ของต่างประเทศ มีความแตกต่างในรายละเอียดในเชิงรายละเอียดอยู่มาก แต่เมื่อเราพิจารณาแล้วจะสามารถแบ่งแยกระบบที่เกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือนออกมาได้ 2 ระบบ กล่าวคือ

            ระบบที่ 1 ระบบกฎหมายไม่อนุญาตให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพลเรือน ไม่ว่าในสถานการณ์ใด หากศาลยุติธรรมยังสามารถทำการได้ โดยกลุ่มประเทศที่อยู่ภายใต้ระบบนี้เช่น สหราชอาณาจักร[6] สหรัฐอเมริกา[7] ฟิลิปปินส์[8] และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)[9] โดยในกลุ่มประเทศนี้มีความเคร่งครัดอย่างมากในการจำกัดเขตอำนาจของศาลทหารทางบุคคลให้จำกัดอยู่เฉพาะเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกองทัพเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่าการออกแบบระบบกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ในระบบนี้มุ่งให้ความสำคัญกับคุ้มครองสิทธิในการได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมของพลเรือนเป็นหลัก

            ระบบที่ 2 ระบบกฎหมายอนุญาตให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนเฉพาะความผิดทางอาญาบางข้อหาหรือในสถานการณ์พิเศษ โดยเกาหลีใต้และสาธารณรัฐฝรั่งเศส อยู่ภายใต้ระบบนี้ สำหรับเกาหลีใต้ได้บัญญัติรับรองสิทธิในการรับพิจารณาคดีที่เป็นธรรมเป็นหลักไว้ว่าศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารคดีพลเรือนซึ่งไม่ใช่สมาชิกของกองทัพ แต่ได้สร้างข้อยกเว้นไว้ว่าศาลทหารย่อมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนได้ หากพลเรือนกระทำความผิดเกี่ยวกับความลับทางทหารหรือการจำหน่ายอาหารที่เป็นพิษ ไม่ว่าในสถานการณ์ใด หรือมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก[10] และเช่นเดียวกัน สำหรับฝรั่งเศส เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว แม้ว่าศาลยุติธรรมยังสามารถทำการได้ ศาลทหารก็สามารถขยายเขตอำนาจในแง่บุคคลมาพิจารณาคดีพลเรือนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาร้ายแรงซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของรัฐได้ทันที[11] จึงกล่าวได้ว่ากล่าวได้ว่าการออกแบบระบบกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ในระบบนี้มุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงของรัฐเป็นหลักเหนือสิทธิในการได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมของพลเรือน

สภาพปัญหาเขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดีพลเรือนของศาลทหารในระบบกฎหมายไทย

            (1) ปัญหาของระบบกฎหมายไทยที่กำหนดให้ศาลทหารมีเขตอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน

            ระบบกฎหมายไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ได้ออกแบบเขตอำนาจของศาลทหารในสภาวะปกติให้มีอำนาจพิจารณาคดีข้าราชการทหาร พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหารขณะกระทำความผิดและเชลยศึกที่กระทำความผิดอาญาและความผิดตามกฎหมายทหารเท่านั้น[12] โดยไม่ปรากฏว่าในสภาวะไม่ปกติกฎหมายอนุญาตให้เขตอำนาจศาลทหารเหนือบุคคลใดและการกระทำความผิดใดบ้าง แต่เมื่อพิจารณาที่ตัวบทกฎหมายอื่น ๆ ที่ใช้ในสภาวะไม่ปกติเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐอย่าง พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ได้กำหนดว่าเมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้วกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนที่กระทำความผิดอาญาต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกได้[13] และเมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้วศาลทหารถือว่าเป็นศาลทหารในเวลาไม่ปกติซึ่งไม่สามารถอุทธรณ์-ฎีกา[14] จึงกล่าวได้ว่ากล่าวได้ว่าระบบกฎหมายไทยออกแบบเขตอำนาจศาลทหารที่มุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงของรัฐเป็นหลักเหนือสิทธิในการได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมของพลเรือน

            (2) ปัญหาการบังคับใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนของศาลทหารภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ             

            ภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การรัฐประหารครั้งนี้คณะรัฐประหารมุ่งใช้ศาลทหารเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครองและปราบปราบพลเรือนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศจำนวน 3 ฉบับโดยอ้างฐานอำนาจในฐานะรัฐาธิปัตย์และผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึก[15] กำหนดให้พลเรือนที่กระทำความผิดทางอาญาเกี่ยวกับความมั่นคงและประกาศ คำสั่งคณะรักษาสงบแห่งชาติดังต่อไปนี้ นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร ได้แก่

            1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

            2) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 ประมวลกฎหมายอาญา

            3) ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

            4) ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490

            5) ความผิดทางอาญาอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตามข้อ 1 - 4

         โดยสถิติจากกรมพระธรรมนูญนับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2559 อันเป็นวันที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 55/2559 กำหนดให้พลเรือนที่กระทำบรรดาความผิดตามข้อ 1-5 นับตั้งแต่วันที่ออกคำสั่งดังกล่าวเป็นต้นไปให้กลับมาอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม โดยสรุปมีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารจำนวน 1,886 คดีและนับเป็นจำเลย จำนวน 2,408 คน โดยข้อมูลถึงเดือนเมษายน 2561 มีจำนวนคดีของพลเรือนที่ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารจำนวน 369 คดี เป็นจำเลยรวมทั้งสิ้น 450 คน[16]

ข้อเสนอเกี่ยวกับการจำกัดเขตอำนาจของศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือนของระบบกฎหมายไทย

            แม้ว่าปัจจุบันหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะได้มีการออกคำสั่งหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙/๒๕๖๒ ยุติอำนาจของศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือนที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารลงและได้มีการสั่งให้มีการโอนคดีที่พิจารณาคดีพลเรือนต่าง ๆ ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหารกลับมาอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่าระบบกฎหมายไทยที่อนุญาตให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือนสร้างปัญหาในการคุ้มครองสิทธิในกระบวนพิจารณาคดีทางอาญาของพลเรือนอย่างมาก จึงสมควรให้ปรับปรุงระบบกฎหมายโดยให้ความสำคัญสิทธิของประชาชนโดยห้ามมิให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนเพื่อป้องกันมิให้ศาลทหารถูกใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายของผู้ถืออำนาจรัฐอีกต่อไป โดยมีรายละเอียดในการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายดังนี้

            ประการแรก ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 เพื่อรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของบุคคลที่เป็นพลเรือนซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหมซึ่งจะได้รับประกันว่าไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ไม่อาจถูกพิจารณาโดยศาลทหาร

            ประการที่สอง ดำเนินการยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 7 มาตรา 7 ทวิ และมาตรา 7 ตรี เพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนอีกต่อไป     

 



[1] พันตรี สายยันต์ ขุนขจี, “ระบบศาลทหาร,” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ป, 2549, น.21-22

[2] William Feldman, “Theoiries of Emergency Power: A Comparative Analysis of American Martial Law and the French State of Siege,” Cornell International Law Journal, Vol. 38, Iss. 3, 2005, p. 1021 – 1048.  

[3] Draft Principles Governing the Administration of Justice Through Military Tribunals, principle No.5.

[4] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง, ข้อ 14.

[5] Incal v. Turkey, 9 June 1998 

[6] อ้างแล้วในเชิงอรรถ 92, น.49.

[7] รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 และคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดี Duncan V. Kahanamoku อ้างใน Everett, Robinson O. “Military Jurisdiction over Civilians”. Duke Law Journal, Vol.1960, No.3 (Summer,1960), pp.366-415

[8] รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ค.ศ.1987 มาตรา 5 ข้อ 18

[9] รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐจีน ค.ศ.1947 มาตรา 9

[10] รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ค.ศ.1945 มาตรา 29 (2)

[11] อ้างแล้วในเชิงอรรถ 93

[12] พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 13 และมาตรา 16

[13] พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 7 มาตรา 7 ทวิ และมาตรา 7 ตรี

[14] พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 61

[15] ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 38/2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 50/2557

[16] รายงานสิทธิมนุษยชนประจำปี 2017 โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าถึงได้ที่ https://www.state.gov/documents/organization/277365.pdf

 

 

บล็อกของ ศุภณัฐ บุญสด

ศุภณัฐ บุญสด
แนวทางการจำกัดอำนาจศาลทหารไม่ให้มีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนในระบบกฎหมาย ศุภณัฐ บุญสด แนวคิดเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดีพลเรือนของศาลทหาร
ศุภณัฐ บุญสด
ประวัติของมาตรา 44 และการตรวจสอบโดยศาลศุภณัฐ บุญสด
ศุภณัฐ บุญสด
ห้านาทีของการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารศุภณัฐ บุญสดนาทีที่หนึ่ง : เจตนารมณ์ของการรัฐประหาร