Skip to main content

กิตติพันธ์ กันจินะ


บางทีแล้วการที่เราออกมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมนั้น มันก็มีรูปแบบที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามบริบทของการทำงานและพื้นที่สภาพแวดล้อม ซึ่งนั่นล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการทำงานของกลุ่มคนที่มากมายหลายประเภทเฉกเช่นดอกไม้ในสวนน่ายล


ท่ามกลางบรรยากาศสังคมอมยิ้มไม่ออกเช่นนี้ เยาวชนคนหนุ่มสาวก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่เข้าไปอยู่ในบริบทของความย้อนแย้งขัดเกลาเราเขาเช่นนี้ กล่าวคือมีทั้งเยาวชนที่เห็นด้วยกับแนวทางของซีกพันธมิตร และเยาวชนที่ไม่เห็นด้วยก็มีมาก ส่วนกลุ่ม “สองไม่เอา” นั่นก็มีไม่น้อย ทว่า กลุ่มที่ดูจะมีคือ “กรูไม่เอาสักอย่าง” เสียอีกที่มีเยอะ


คำถามเดิมๆ คือ ทำไมเยาวชนคนหนุ่มสาวหลายคนไม่สนใจใคร่ตระหนักในการบ้านการเมืองเลย อันนี้คนที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดคือ “เยาวชน” นั่นเอง ซึ่งเราไม่อาจจะบอกได้ว่าเพราะเหตุใด นั่นเพราะแต่ละคนย่อมมีเหตุปัจจัยในการให้ความสำคัญ สนใจแตกต่างกันไป


เป็นไปได้ไหมว่า บางทีเรื่องสังคมการเมืองทำนองนี้อาจไกลตัวเกินไปหรือบางทีเรื่องเหล่านี้อาจถูกทำให้ว่าเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม “ผู้สูงวัย” เท่านั้น หรือเรื่องต่างๆ เหล่านี้ซับซ้อนเกินกว่าจะใช้ปัญญาของเราเข้ามายุ่งเกี่ยว หรือแค่เรื่อง “กินขี้ปี๊นอน” ของตัวเองก็มีมากอยู่แล้ว “ชั้นจะมาปวดหัวอะไรกันอีกกับเรื่องการเมืองหว่า”


อืม....เอาเป็นว่า ผม “ไม่คาดเดา” ดีกว่าครับ ถ้าใครอยากจะรู้ว่าทำไมคนหนุ่มสาวไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมืองเท่าไหร่ ก็ลองถามๆ คนเยาว์วัยรอบๆ ข้างของท่านจะดีกว่า......


ทีนี้อีกด้านหนึ่ง ยังคงมีเพื่อนๆ เยาวชนที่สนใจใคร่ตระหนักรักบ้านรักเมืองและอยากเห็นสังคมไทยก้าวไปไกลกว่าเดิม โดยกลุ่มเหล่านี้บางกลุ่มก็ออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตร และบางกลุ่มก็เคลื่อนไหวกับกลุ่มริบบิ้นขาว และบางกลุ่มก็แอบเคลื่อนอยู่เงียบๆ


มาถึงตรงนี้ ผมต้องบอกก่อนว่ารูปแบบการพัฒนาสังคมของเยาวชนคนหนุ่มสาวนั้นมีหลากหลายรูปแบบ แต่ ณ ที่นี่ จะขอพูดถึงเฉพาะในเรื่อง “ซึ่งๆ หน้า” ก่อนนะครับ


มาว่ากันที่คนหนุ่มสาวกลุ่มที่สนใจการเมืองดูบ้าง, ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของรุ่นน้องคนหนึ่งซึ่งเรียนมัธยมปี 3 และได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่มีการจัดขึ้นโดยกลุ่มเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย


เขาเล่าว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศเราเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าด้านดีหรือร้าย เราจึงสมควรสนใจไว้ ไม่ใช่ปล่อยให้ใครทำอะไรกับประเทศก็ได้ “ที่บ้านชอบคุยเรื่องการเมืองกัน ทำให้ผมเข้าใจความเป็นไปของการเมืองมาตั้งแต่เล็ก เมื่อมีการตรวจสอบพบนักการเมืองที่ทุจริต มีการจัดชุมนุมแบบนี้ ผมจะออกมาร่วมด้วย มันดูอยู่เฉยๆ ไม่ได้”


เพื่อนที่โรงเรียนไม่ค่อยมีใครสนใจการเมือง” เด็กชายตอบ แล้วเล่าให้ฟังต่อถึงการเรียนการสอนในระบบของที่โรงเรียนจะสอนให้รู้ถึงหลักประชาธิปไตยว่าเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้สอนแบบเจาะลึกว่าประชาชนมีสิทธิที่จะกระทำอะไรได้บ้าง ทำให้เด็กคนอื่นที่ไม่รู้เรื่อง พานคิดไปว่าการชุมนุมทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน ทำให้รถติด เศรษฐกิจแย่ แต่สำหรับ กันตธัชกลับมองต่างไป เขามองว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ให้เด็กรู้ว่าประชาธิปไตยเป็นของประชาชน เป็นเรื่องของทุกคน เด็กต่อไปก็ต้องโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ต้องเรียนรู้เอาไว้

มาที่นี่ได้เรียนรู้ประชาธิปไตยแบบทางตรง ซึ่งถือเป็นทางออกของประชาชนที่สามารถแสดงออกได้ ผมเองตอนนี้เป็นเด็กแต่ก็ถือเป็นประชาชนคนหนึ่ง ต้องมาศึกษาเอาไว้ มันได้อะไรมากกว่าที่ตำราเคยสอน ที่นี่เราสามารถแสดงออกได้ มาที่นี่ก็มีเพื่อนที่มาช่วยกันทุกเย็นสิบกว่าคน มีหลากหลายโรงเรียน ระดับมหาวิทยาลัย ปริญญาโทก็มี ได้คุยเรื่องการเมืองกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน” เด็กชายตอบเสียงร่าเริง


คำสัมภาษณ์ของน้องคนดังกล่าวทำให้ผมคิดถึงระบบการศึกษาไทยที่ไม่ได้สร้างการเรียนรู้อย่างจริงจังต่อเยาวชนให้สนใจการเมือง หรือแม้แต่มองเห็นความสัมพันธ์ของตัวเองกับสังคม คำถามคือทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?


หากย้อนดูนโยบายที่เกี่ยวกับเยาวชนคนหนุ่มสาวแล้ว พบว่าในช่วงปี 2520 เป็นต้นมา ภายหลังจากเหตุการณ์ปี 6 ตุลาคม 2519 แล้ว รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเยาวชนในด้านการลดกิจกรรมอาสาพัฒนาชนบทลง แต่ให้เพิ่มกิจกรรมนันทนาการเพิ่มขึ้น เช่น กีฬาสี ชมรมเชียร์ เป็นต้น เพราะว่าช่วงตรงกลางระหว่างปี 2516 ถึง 2519 กิจกรรมนักศึกษานั้นมีความตื่นตัวมากในเรื่องการเข้าไปทำกิจกรรมในชุมชน การทำงานในหมู่บ้าน ชนบทท้องถิ่นทุรกันดารต่างๆ


แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แล้ว ทิศทางนโยบายของรัฐบาลเผด็จการทหารจึงเปลี่ยนเข็ม กำหนดหมายหมุดใหม่ให้กิจกรรมเยาวชนในสถาบันการศึกษาลดกิจกรรมพัฒนาชุมชนแต่เพิ่มกิจกรรมนันทนาการ เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้......


มาถึงตรงนี้ จุดที่ผมคิดว่าน่าสนใจกว่าคือการที่สังคมนับแต่ปี 2520 เป็นต้นมาเริ่มให้ความสำคัญกับบทบาทของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่จะมาทำกิจกรรมทางสังคมน้อยลงหรือเรียกได้ว่า “ถูกจำกัด” ไปเลยก็ว่าได้ ฉะนั้นหากความฝันและอุดมการณ์ของใครที่ไม่มั่นคงหรือเข้มแข็งพอก็เป็นไปได้ว่าจะไม่สามารถต่อยอดคนหนุ่มสาวให้เข้ามาสนใจสังคมเลย


ดังนั้น จึงเริ่มมีการปรับตัว ก่อเกิดการรวมกลุ่มของนักศึกษา ของเยาวชนที่อยู่นอกโรงเรียน นอกมหาวิทยาลัยมากขึ้น เกิดกลุ่มหนุ่มสาวในหมู่บ้าน เกิดกลุ่มเยาวชนที่ทำงานในประเด็นต่างๆ ขึ้นมา และการทำงานก็มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ปัญหามากกว่าจะเป็นเรื่องของสังคมการเมือง เนื่องเพราะการถูกจำกัดบทบาทจากรัฐและรวมถึงการเข้ามาปะทะกันระหว่างทุนนิยมกับชุมชน


ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป สังคมเริ่มมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น สิ่งแวดล้อม ยาเสพติด เอดส์ การละเมิดสิทธิมนุยษชน และปัญหาก็พัฒนาทำให้เกิดการทำงานในกลุ่มต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเพิ่มมากขึ้น จนหลายคนในหลายกลุ่มลืมไปว่า ปัญหาต่างๆ เหล่านี้มีรากเหง้าอันเกิดจากสภาพสังคมและการเมืองที่ไม่ก้าวหน้าไปไหนเลย


มาถึงตรงนี้แล้ว ผมสันนิษฐานว่าผู้ใหญ่หลายคนก็คงเริ่มจะทนไม่ได้กับพฤติกรรมทั่วไปของเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกินเที่ยวเพื่อน เรื่องเรียน เรื่องชีวิตทางเพศ ยิ่งช่วงหลังปี 2542 เป็นต้นมากระแสเยาวชนที่ถูกทำให้เป็น “ปัญหาสังคม” ก็ยิ่งทำให้เยาวชนถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นตัวปัญหา


การแก้ปัญหาของเยาวชนจึงมุ่งเน้นไปสู่การ “จำกัดสิทธิ” โดยการห้าม ควบคุม กำกับ ไม่ให้ล้ำเส้น หรืออกนอกลู่นอกทาง ทำให้เยาวชนขาดการสนับสนุนในเชิงบวก และเป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างผู้ใหญ่ เพิ่มช่องว่างระหว่างสังคม และช่องว่างระหว่างตัวเองกับคนอื่นมากยิ่งขึ้น


นั่นจึงไม่แปลกที่เยาวชนหลายคนไม่สนใจใคร่ตระหนักรักในบ้านเมืองเหมือนที่ผู้ใหญ่หลายท่านได้วิจารณ์ไว้....


ส่วนเยาวชนที่สนใจสังคมและออกมาทำกิจกรรมในด้านต่างๆ ผมคิดว่าเราควรจะคิดถึงจุดสำคัญในหลายมุม


มุมแรก คือ สนับสนุนให้เยาวชนรวมกลุ่มทำกิจกรรมทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง โดยให้เยาวชนเริ่มต้นดำเนินการด้วยตนเอง เรียนรู้ที่จะคิด วางแผน ดำเนินการและติดตามผลการดำเนินการอย่างเต็มที่โดยคำนึงถึงความเป็นพลเมืองของเยาวชนและเข้าใจในความสามารถหรือศักยภาพของคนที่ต่างกัน


มุมที่สอง คือ ต้องเชื่อมั่นว่าคนพัฒนาได้ คนมีศักยภาพ หากได้รับการส่งเสริมทักษะ วิธีคิด และโอกาสในการเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการทำงาน ทำกิจกรรมเพื่อตนเองและผู้อื่น ตลอดจนการให้คุณค่ากับเยาวชนให้ได้ตระหนักและเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ในสิ่งที่ตัวเองดำเนินการ


มุมที่สาม คือการสนับสนุนพื้นที่ทางสังคมแก่เยาวชน โดยเฉพาะการมีปากมีเสียงทางสังคม ตลอดจนการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ เช่น โรงเรียนการเมือง โรงเรียนชาวนา โรงเรียนนักกิจกรรมสังคม เป็นต้น เพื่อให้เกิดบรรยากาศว่าการเมืองและสังคมเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเรื่องของคนทุกคน – ทุกคนสามารถเข้าถึงการเมืองได้


อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญต่างๆ เหล่านี้ เริ่มมีองค์กรภาครัฐและประชาสังคมหลายแห่งที่เข้าใจและใช้หลักการดังกล่าวมาสนับสนุนการทำงานร่วมกับเยาวชนคนหนุ่มสาว มาถึงตรงนี้จุดสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเราจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทั้งระยะยาวและระยะสั้นอย่างไร เพื่อนำมาปรับใช้กับสังคมไทยในปัจจุบัน


เพราะเรา (เยาวชนหรือผู้ใหญ่) จะได้เข้าใจร่วมกันว่า ต่อไปพวกเราจะอยู่อย่างไรในสังคมไทยที่เป็นดั่งทุกวันนี้...

บล็อกของ กิตติพันธ์ กันจินะ

กิตติพันธ์ กันจินะ
ในสภาวการณ์ใกล้มรสุมช่วงนี้, คนสูงวัยมากมายเหล่านั้นต่างขะมักเขม้นทั้งกายและใจ กับการหาเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเพื่อการเข้าร่วมหรือจัดตั้งทางการเมืองครั้งใหม่อย่างสุดกำลังตัวเสริมที่พวกเขานำมาป่าวประกาศเพื่อให้ประชาชนเลือกนั้นคือ “นโยบาย” ของแต่ละพรรค (ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลมาเกี่ยวข้อง – ซึ่งมีมากจนไม่อาจกล่าวในที่นี่ได้) เช่นนี้แล้วเรามาดูกันที่นโยบายของพรรคการเมืองกันดีกว่าว่าได้กล่าวไว้อย่างไรบ้าง ก่อนที่จะเลือกหรือไม่เลือกใคร หลายนโยบายของพรรคการเมืองต่างมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปทางการเมือง โดยเฉพาะการมุ่งหวังไม่ให้อำนาจเก่าได้กลับมามีอำนาจอีกและยังมีนโยบายต่างๆ…
กิตติพันธ์ กันจินะ
 ลมฟ้าอากาศเริ่มเปลี่ยนแปรไปตามสภาพ ฝนตกเพิ่งหยุดได้ไม่นาน ลมหนาวเยือนมาพัดผ่านท้องทุ่งจนต้นข้าวโยกเอียง บ้างล้ม บางตั้งตระหง่าน ตอนเช้าๆ อากาศแถวบ้านผม, จังหวัดเชียงราย อำเภอพาน ตำบลแม่อ้อ บ้านแม่แก้วเหนือ อากาศเริ่มหนาวเย็นขึ้นทุกขณะ ชีวิตของผมทุกวันนี้ไม่เหมือนห้าเดือนก่อนที่ผ่านมา เพราะต้องย้ายสำมะโนครัวจากเชียงใหม่ กลับมาอยู่บ้านที่เชียงราย ซึ่งตลอดระยะเวลาสี่ปีที่อยู่เชียงใหม่ ผมได้พบเจอเรื่องราวหลายเรื่อง ทั้งการงาน ความรัก ชีวิต ความสัมพันธ์ เพื่อน ฯลฯ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกับตอนที่อยู่บ้านที่เชียงรายอย่างมากสภาพอากาศ ความสงบ การดำเนินชีวิต…
กิตติพันธ์ กันจินะ
มาถึงเชียงใหม่แสงแดดยามเช้าตรู่ ปลุกให้ผมตื่นจากการหลับใหล – เวลาทั้งคืนที่ผ่านมา, ผมนอนไม่ค่อยหลับ กระวนกระวายใจ และไม่เป็นอันหลับอันนอน ไม่รู้ว่าพี่บัวจะเป็นอย่างไรบ้าง จะเป็นจะตายยังไง เป็นเรื่องที่คิดมาตลอดเส้นทางพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าตรงกับฝั่งที่ผมนั่งบนรถ พนักงานบริกรประจำรถพาร่างเล็กๆ ของเขาหยิบข้าวของขนมหวานนมกล่องให้ผู้โดยสารแต่ละคน “ท่านผู้โดยสารทุกท่าน เรายินดีนำท่านมาสู่จังหวัดเชียงใหม่....” พนักงานหญิงแจ้งข่าวแก่ผู้โดยสาร ด้วยท่าทีกระฉับเฉงอรชร เชียงใหม่เช้านี้ ท้องฟ้าไม่ค่อยมีเมฆมาก พระอาทิตย์สีแดงที่เส้นขอบฟ้า ปล่อยแสงแสบปวดตา ผมลงจากรถทัวร์คันใหญ่ เดินมุงหน้าไปหารถแดง…
กิตติพันธ์ กันจินะ
ไม่น่าเชื่อเลยว่า ช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมจะได้รู้จักชีวิตในอีกมุมหนึ่งของคนที่ถูกเรียกว่า “แก๊ง” ได้มากกว่าที่คิดไว้แม้ว่าในช่วงแรกๆ ความสัมพันธ์ของผมกับเขาจะเป็นแบบ ถามเพื่อเอาข้อมูลไปทำโครงการ แต่สิ่งที่ผมได้มากกว่าการเก็บข้อมูล นั้นคือความผูกพันธ์ มิตรไมตรี และการช่วยเหลือกันและกันของเพื่อนๆ พี่ๆ ผมได้เรียนรู้ว่า ความจริงใจ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ของพวกเรา เมื่อก่อนมีเขาและมีผม แต่ตอนนี้คำว่า “เรา” มันทำให้ไม่มีเขา ไม่มีผม หลายสิ่งที่ผมได้ทำ หรือเพื่อนๆ ได้ทำไปนั้นเป็นสิ่งที่วัยอย่างพวกเราต้องเผชิญ อาจต่างกันมากน้อยคละเคล้ากันไปตั้งแต่จบมัธยมปลายมาหลายปี…
กิตติพันธ์ กันจินะ
ต้นเดือนเมษายน – เทศกาลปีใหม่เมืองหรืองานสงกรานต์ใกล้เข้ามาถึงในอีกไม่กี่วัน วันหนึ่งพี่เหน่งโทรศัพท์มาหาผมเพื่อชวนผมไปเยี่ยมรุ่นน้องคนหนึ่งที่คุกแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ผมไม่ปฏิเสธ และได้ตระเตรียมข้าวของต่างๆ เพื่อไปเยี่ยมรุ่นน้องพี่เหน่งไม่บอกว่าใครอยู่ในคุก เพราะอยากให้ผมได้รู้ด้วยตัวเองว่ามาหาใคร ไม่กี่นานพี่เหน่งก็มารับผมที่บ้านพัก แล้วรีบบึ่งรถไปยังจุดหมายโดยเร็วแดดร้อนแผดเผาไปทั่วใบหน้า รถชอบเปอร์คันโตของพี่เหน่งพาเราสองคนมาถึงคุกในไม่กี่อึดใจ พี่เหน่งเดินบ่ายหน้าเข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เพื่อขอเยี่ยมผู้ต้องขัง…
กิตติพันธ์ กันจินะ
ข้อมูลจากการพูดคุยกับคนทำงานด้านเยาวชน พบว่าวัยรุ่นชายที่อยู่ในกลุ่มมีความคึกคะนองสูง ดังนั้นในการเรียนรู้เรื่องสุขภาพ หรือการดูแลเอาใจใส่เรื่องสุขภาพ จึงเป็นเรื่องที่ถูกละเลย หรือมองข้ามความสำคัญไป หลายคนยังขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพ มีความประมาท ยกตัวอย่างเช่น การสวมถุงยางอนามัย สลับกับไม่ใส่ แกล้งดึงหัวจุกถุงยางอนามัยออกเพื่อแกล้งให้เพื่อนหญิงท้อง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการละเลยเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ไป ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเรื่องที่วัยรุ่น มีเรื่องชกต่อยกันทำให้เกิดการบาดเจ็บและถึงขั้นถูกดำเนินคดีและบางรายถูกตัดสินให้อยู่ในเรือนจำ เป็นต้นนอกจากในกลุ่มจะมีเด็กชายและ…
กิตติพันธ์ กันจินะ
หากวัยรุ่นคนหนึ่งจะเข้ามาร่วมในกลุ่มนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการสมัคร หรือทดสอบก่อน คือ ใครต้องการเข้าร่วมกลุ่มก็สามารถเข้ามาทำความรู้จักได้เลย เพียงแค่มีความเป็นเพื่อนและจริงใจเท่านั้นการเข้ามาในกลุ่มแก๊งของคนใหม่ๆ หรือการพยายามสร้างตัวแทนของกลุ่ม นับว่าไม่ได้เป็นไปตามกรอบเกณฑ์ เพราะการเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในกลุ่มแก๊ง เกิดขึ้นโดยระบบความสัมพันธ์แบบเพื่อนกับเพื่อน การเคารพผู้ที่อายุมากกว่าว่าคือรุ่นพี่ การเคารพผู้ที่อายุน้อยกว่าหรือรุ่นน้อง เป็นการสร้างความสัมพันธ์แนวราบ คือ การส่งต่อเพื่อนสู่เพื่อน พี่สู่น้อง…