Skip to main content
 

นรัญกร กลวัชร

กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน


  


การหยิบยกประเด็นปัญหาที่ดินขึ้นมาพูดอีกครั้งของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะเรื่องโฉนดชุมชน และภาษีที่ดิน ได้จุดชนวนการถกเถียงในประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน และการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมขึ้นมาอีกครั้งในสังคมไทย ไม่ว่าประเด็นปัญหาที่ดินจะเป็นประเด็นปัญหาที่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ต้องการผลักดันแก้ไขอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นเพียงการขายฝันสร้างภาพพจน์รัฐบาลที่เป็นธรรมก็ตาม นี่ก็ถือเป็นโอกาสอันดี ที่สังคมจะได้ทำความเข้าใจในประเด็นปัญหาที่ดินทำกินในภาคชนบท อันเป็นปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย ที่ยืดเยื้อและส่อเค้าความรุนแรงไม่น้อยไปกว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น


เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ได้แถลงนโยบายเศรษฐกิจว่าด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า จะดำเนินการ "คุ้มครองและรักษาพื้นที่ ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานแล้ว เพื่อเป็นฐานการผลิตทางการเกษตร ในระยะยาว ฟื้นฟูคุณภาพดิน จัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจน และชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร"

 

การแถลงนโยบายเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่าคณะทำงานของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ได้ทำการบ้านและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินมาบ้างพอสมควร โดยเฉพาะการค้นหาทางออกในการแก้ไขปัญหาที่ดินของภาคประชาชนที่พยายามจะก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดกลไกหน่วยงานราชการ ซึ่งที่ผ่านมากว่า 30 ปี ได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรได้ แนวนโยบายของคุณอภิสิทธิ์ จึงมีคำว่าโฉนดชุมชนและธนาคารที่ดิน ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ภาคประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ได้ริเริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว หากยังไม่มีการขยายผลหรือรับรองการดำเนินการจากภาครัฐอย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง

 

คำว่าโฉนดชุมชน น่าจะเป็นคำใหม่ที่สังคมได้ยินมาไม่นาน เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ผู้เขียนจึงขออนุญาตอธิบายถึงคำคำนี้ให้มากขึ้นสักนิด ตามความรู้ที่มีอย่างจำกัดของผู้เขียน โฉนดชุมชน เป็นเอกสารสิทธิ์ที่ดินชนิดหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาแม้ไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐ แต่เกษตรกรหลายกลุ่มได้ใช้เอกสารสิทธิ์โฉนดชุมชนนี้เป็นเครื่องมือในการรักษาและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในชุมชนไว้ได้อย่างมีประสิทธิผล

 

ปัญหาการเปลี่ยนมือที่ดิน ปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกิน และปัญหาการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรและขายต่อ เกิดขึ้นในชนบทไทยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี เกษตรกรหลายกลุ่มที่ผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาแล้ว จึงสรุปบทเรียนร่วมกันว่า การมีเอกสารสิทธิ์แบบถือครองเดี่ยว หรือการมีเอกสารสิทธิ์ที่สามารถนำไปจำนองกับธนาคารได้ เป็นสาเหตุต้นๆ (รองมาจากปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และปัญหาหนี้สิน) ที่ทำให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดิน ดังนั้นการที่จะคุ้มครองไม่ให้เกษตรกรสูญเสียที่ดินอีกครั้ง จึงต้องดำเนินการช่วยเหลือกันเป็นชุมชน โดยการร่วมมือกันก่อตั้งโฉนดชุมชนและธนาคารที่ดินนั่นเอง

 

กลุ่มเกษตรกรที่มีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องสิทธิที่ดินและอยู่ในระหว่างการหาข้อสรุปร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ถูกหน่วยงานรัฐประกาศที่ป่าหรือที่รัฐอื่นๆ ทับที่ทำกิน กลุ่มเกษตรกรที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่เพิ่งหมดสัญญาเช่ากับบริษัทเอกชน หรือกลุ่มเกษตรกรที่เข้าไปจัดสรรที่ดินรกร้างและรอให้รัฐเข้าไปรับรองสิทธิ์ เกษตรกรเหล่านี้ได้ทำโครงการนำร่องและเลือกที่จะใช้โฉนดชุมชน และธนาคารที่ดินเป็นเครื่องมือในการทำงานและศึกษาเรียนรู้ร่วมกันของเกษตรกร ในการที่จะรักษาพื้นที่ทำกินของตนเองไว้ให้ได้ ท่ามกลางกระแสการโถมขาย และการเปลี่ยนมือที่ดินของเกษตรกรทั่วประเทศ

 

ผู้ที่ออกโฉนดชุมชนให้กับเกษตรกร คือองค์กรชุมชน หรือคณะกรรมการชุมชนที่ได้รับการยอมรับนับถือจากคนในชุมชน เกษตรกรผู้ที่เป็นสมาชิกยังคงสามารถทำกินและเลือกที่จะผลิตพืชผลการเกษตร หรือเลือกที่จะขายผลผลิตการเกษตรอย่างไรก็ได้ การตัดสินใจจะเป็นของครอบครัวเกษตรกร แต่เนื่องจากเอกสารสิทธิ์โฉนดชุมชน เป็นเอกสารสิทธิ์ที่พ่วงสิทธิที่ดินของเกษตรกรหลายคนไว้ในเอกสารสิทธิ์ใบเดียวกัน เกษตรกรแต่ละรายจึงไม่สามารถขายที่ดินของตนเองได้ รวมทั้งไม่สามารถนำที่ดินไปจำนองกับธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐได้ ข้อดีคือป้องกันการเปลี่ยนมือหรือการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร แต่ข้อเสียคือหากเกษตรกรมีความจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ จะนำที่ดินเหล่านี้ไปเป็นหลักทรัพย์ได้อย่างไร

 

ธนาคารที่ดินของชุมชนจะเข้ามาทำหน้าที่ลดจุดอ่อนตรงนี้ โดยการยินยอมให้เกษตรกรสมาชิกโฉนดชุมชนสามารถจำนองหรือขายที่ดินได้ แต่มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องจำนองหรือขายคืนให้กับธนาคารที่ดินเท่านั้น ในราคาที่เป็นธรรมที่ชุมชนร่วมกันกำหนด ไม่ใช่ราคาตลาดที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนกำหนด กฎเกณฑ์เช่นนี้ จึงเป็นการป้องกันไม่ให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือของนักเก็งกำไรที่ดินจากภายนอก เพราะธนาคารที่ดินจะรับซื้อที่ดินไว้ และขายต่อให้กับเกษตรกรในชุมชนที่ยังมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ หรือรอขายคืนให้กับเกษตรกรรายเดิม นี่เป็นระบบการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรผู้ยากไร้ หรือมีที่ดินทำกินน้อย อย่างมีประสิทธิผลโดยมีชุมชนหรือองค์กรชุมชนเป็นผู้กำกับควบคุม

 

ที่มากไปกว่านั้น การทำงานร่วมกันของเกษตรกรในชุมชนและองค์กรชุมชนยังได้ส่งเสริมให้สมาชิกโฉนดชุมชนทำการผลิตในระบบที่ยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยผลิตอาหารเพื่อครอบครัวและชุมชน ผสมผสานไปกับการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อเป็นรายได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สินซ้ำซาก และต้องการขายที่ดินอีก สิทธิในที่ดินของเกษตรกรเหล่านี้จึงเป็นสิทธิด้านปัจเจก ที่สามารถทำการผลิต สืบทอดต่อลูกหลาน และขายต่อได้เมื่อมีความจำเป็น ควบคู่ไปกับสิทธิด้านชุมชน ที่จะเข้ามาควบคุมเพื่อให้ที่ดินถูกขายในราคาที่เป็นธรรม ถูกจัดสรรไปให้กับคนที่มีที่ดินน้อยและต้องการทำการเกษตรจริงๆ เช่นนี้ ที่ดินที่อยู่ในชุมชน ก็จะถูกคุ้มครองให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมสำหรับคนในชุมชนในระยะยาว โดยไม่ต้องถูกเปลี่ยนมือ หรือเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ไปสู่อย่างอื่น

 

ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ใช่ชุมชนในความฝัน แต่ได้เริ่มต้นแล้วในชุมชนหลายแห่งในหลายภาค ชุมชนเหล่านี้ต้องการการสนับสนุนและขยายผลจากภาครัฐที่เป็นระบบ เท่าที่ผู้เขียนทราบที่มีการดำเนินการไปแล้วมีที่อำเภอแม่แฝก จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง และอาจจะมีอีกหลายที่ที่ผู้เขียนไม่ทราบก็เป็นได้

 

หากรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์มีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับคนจนตามที่กล่าวไว้จริง โฉนดชุมชนและธนาคารที่ดิน น่าจะเป็นนโยบายที่น่าสนใจ และมีประสิทธิภาพมากระดับหนึ่งที่จะป้องกันการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร และคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในสังคมไทยไว้ได้ ขอเพียงให้มีการสนับสนุนอย่างจริงจังเท่านั้นเอง

 

 

บล็อกของ คนไร้ที่ดิน

คนไร้ที่ดิน
ศยามล ไกยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา    การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เปิดประเด็นการปฏิรูปที่ดิน แจกสปก. นับว่าโดนใจประชาชนที่เฝ้ารอคอย สปก. 4-01 และหวังว่าวันหนึ่งจะมีการออกเป็นโฉนดที่ดินตามแรงโฆษณาของเจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมือง ปัญหาการไม่มี สปก. 4-01 ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินมีจำนวนมาก มีโครงการปฏิรูปที่ดิน แต่ยังไม่มีการปฏิรูปที่ดิน และยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนของความซ้ำซ้อนระหว่างแนวเขตของเขตปฏิรูปที่ดินกับที่ดินของรัฐประเภทอื่น เช่น พื้นที่ป่าตามกฎหมาย ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์…
คนไร้ที่ดิน
โดย... สมจิต คงทน กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน  ก่อนจะมาเป็นนารวม ชาวบ้านเขวาโคก-เขวาทุ่ง ต.สระบัว อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด ได้รวมตัวกันเพื่อดูแลและฟื้นฟูสภาพป่าสาธารณะของชุมชนที่อยู่คู่มากับหมู่บ้าน ซึ่งมีขนาดพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ไว้สำหรับหาอยู่หากิน เก็บของป่า เก็บเห็ด เก็บฟืน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตแต่เมื่อปี 2538 มีกลุ่มทุนเอกชนจากนอกพื้นที่ทั้งหมด 8 ราย มาบุกรุก แผ้วถางป่าธรรมชาติดอนหนองโมง-หนองกลางของหมู่บ้าน เป็นเหตุให้ชาวบ้านที่นี่รวมกลุ่มกันต่อสู้เพื่อรักษาที่ดินผืนนี้ไว้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
คนไร้ที่ดิน
กองเลขาฯเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ความขัดแย้งและการต่อสู้ของชนชั้นปกครองเป็นไปอย่างดุเดือดและยืดเยื้อ มากกว่า 3 ปี จนยกระดับขึ้นเป็นความขัดแย้งหลักของสังคมไทยในขณะนี้ ขั้วความขัดแย้งคือ กลุ่มทุนอนุรักษ์นิยมภายใต้อิทธิพลศักดินา ส่วนอีกฝ่ายคือ กลุ่มทุนเสรีนิยมใหม่ ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้โดยง่าย เพราะเป็นการทำศึกวัดดุลกำลัง เพื่อนำไปสู่การจัดปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจครั้งใหม่ ทั้งอำนาจในทางการเมือง อำนาจในการควบคุมระบบเศรษฐกิจและฐานทรัพยากรของสังคม ศึกช่วงชิงการยึดกุมความได้เปรียบในโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจละการผลิตครั้งนี้ “ชนชั้นผู้ชม”…
คนไร้ที่ดิน
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน  เมื่อวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามัน และเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชายฝั่นอันดามัน ได้จัดเวทีสัมมนาเรื่อง “ทางออกกรณียึดที่ดินชุมชนสัมปทานป่า-เลให้นายทุน” ที่ศูนย์การเรียนรู้ควนปริง ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง มีผู้เข้าร่วมเวทีกว่า 150 คน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาที่ดินของหน่วยงานรัฐไว้อย่างน่าสนใจ…
คนไร้ที่ดิน
ศลิษา ทองสังข์ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ปัญหาเรื่องที่ดินเป็นปัญหาทางการเมืองและโครงสร้าง ปัญหาที่ดินไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวนา หรือคนสลัม แม้แต่คนเมือง คนชั้นกลางก็ประสบปัญหาที่ดินอยู่อาศัย การใช้ประเด็นเรื่องการผูกขาดที่ดิน นักการเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล ทุนข้ามชาติ และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคมโดยรวมและผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำให้สามารถเชื่อมโยงกับสังคมโดยรวมเพื่อสร้างแรงผลักดันการกระจายการถือครองที่ดินได้ ที่ผ่านมามีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขมาตรการทางภาษีที่ดิน ตัวอย่างเช่น ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ตั้งแต่ปี 2541 เป็นเวลา 10 ปี เต็ม…
คนไร้ที่ดิน
นนท์ นรัญกร   ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 147 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งได้แก่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ พื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 A และ ป่าสงวนแห่งชาติโซน C ประมาณ 80 ล้านไร่ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การบริหารจัดการพื้นที่ป่าของของกรมอุทยานแห่งชาติ พันธุ์พืชและสัตว์ป่า มีบทเรียนหลายประการ ที่ไม่ได้ถูกนำมาถกเถียงในสังคมไทยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานให้ดีขึ้น ในขณะที่กำลังจะสร้างปัญหาใหม่ตามมา ดังที่เป็นข่าวเรื่องความพยายามใน การเซ้งพื้นที่อุทยานฯ ให้กับภาคเอกชนเช่าทำธุรกิจ บทเรียนประการแรก…
คนไร้ที่ดิน
พงษ์ทิพย์  สำราญจิตต์สังคมไทย  เป็นสังคมที่เกษตรกรและคนจนไร้ที่ดิน แทบจะไม่มีที่ยืนหรือสามารถบอกเล่าสถานะของตนเองต่อสังคมได้ โครงสร้างสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ การผลิตและการตลาด  ได้ถูกผูกขาดและกำกับควบคุมโดยคนกลุ่มเล็ก บริษัทธุรกิจเอกชนที่มีเงินลงทุนมหาศาล ในสนามเศรษฐกิจที่ถูกผูกขาดไว้แล้วเช่นนี้  แน่นอนว่าเกษตรกรรายย่อยย่อมมิอาจแข่งขันได้ นี่เป็นที่มาของสภาพการณ์ในชนบทสังคมไทยที่เกษตรกรรายย่อยกำลังกลายเป็นแรงงานรับจ้างและคนจนไร้ที่ดินมากขึ้นทุกขณะ
คนไร้ที่ดิน
                                                                                                   …
คนไร้ที่ดิน
  สมจิต  คงทนกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (โลโคลแอค)เมื่อชาวบ้านถูกฟ้องคดี"ก่อนถูกฟ้องคดีเขาเป็นคนขยัน พอถูกจับและยึดที่ดินไป  ซึ่งเป็นที่ดินที่เขาสองคนผัวเมียได้อยู่อาศัยทำกินกันมายาวนาน เขากลายเป็นคนคิดมาก ควบคุมสติตัวเองไม่ได้  ทุบตีเมียตัวเอง และเคยคิดฆ่าตัวตาย จนกลายเป็นปัญหาครอบครัว สุดท้ายก็ต้องแยกทางกัน  ส่วนลูก 2 คนก็แบ่งกันไปคนละคน"  นางเหิม เพชรน้อย ชาวบ้านตำบลบ้านนา จังหวัดพัทลุง เล่าถึงชะตากรรมชีวิตของเพื่อนบ้านครอบครัวหนึ่งที่ถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า หรือ…