Skip to main content

คำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” คงมีคนแปลไว้หลายอย่าง สำหรับฉันสองความหมายที่น่าสนใจคืออำนาจในการเลือก และอำนาจในการปฏิเสธ  ถ้ามีสองอำนาจนี้ก็นับว่ามีศักดิ์ศรี แต่ถ้าไม่มี คืออยากจะมี แต่เอาเข้าจริงก็เลือกไม่ได้ ปฏิเสธไม่ได้ ใครเขายัดเยียดอะไรให้มาก็ต้องจำทนยอมรับ ฉันว่านั่นแหละ “ไม่มีศักดิ์ศรี”

เวลาพูดถึงคนที่ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรามักนึกถึงคนด้อยอำนาจในสังคม คนชายขอบต่าง ๆ ที่ถูกคนมีอำนาจมากกว่ากำหนดชะตาชีวิตของพวกเขา ถูกกระทำจากนโยบายรัฐ ถูกให้ภาพหรือสร้างวาทกรรมในทางลบ ถูกรังเกียจเดียดฉันท์ ฯลฯ

ความจริงแล้วในชีวิตประจำวัน เราอาจรู้สึกถึงเรื่องศักดิ์ศรี จากการมีหรือไมมีอำนาจในการเลือกหรือปฏิเสธเรื่องง่าย ๆ 

แท็กซี่ที่ไม่มีวันจะกดมิเตอร์

บ่ายแก่วันหนึ่งฉันลงเครื่องบินที่สนามบินเชียงใหม่ และจะต้องเดินทางต่อไปนอกเมืองในระยะทางประมาณยี่สิบกว่ากิโลเมตร ท่านที่เคยเดินทางไปเชียงใหม่โดยไม่มีญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงมารับคงพอทราบอยู่บ้างว่าการเดินทางด้วยรถสาธารณะออกจากสนามบินเชียงใหม่นั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย เพราะไม่มีรถประจำทางวิ่งผ่าน

หากจะขึ้นรถรับจ้างไม่ประจำทางเช่นสี่ล้อแดงที่นาน ๆ ผ่านมาสักทีเราก็จะต้องมีข้อมูลพอสมควรสำหรับการต่อราคาจ้างเหมา หากจะเลือกแท็กซี่จากบริษัทที่ประจำการอยู่ที่สนามบินซึ่งแม้ว่าจะติดคำว่า “มิเตอร์” ก็ตาม เราต้องกระเป๋าสตางค์หนักมากพอที่จะจ่ายในราคาที่ไม่สมเหตุสมผล

เพราะมันเป็น “แท็กซี่มิเตอร์มิเตอร์” ที่ไม่มีวันจะกดมิเตอร์เด็ดขาด

“360 บาท” นั่นคือสนนราคาที่นาง (นาย) หน้า หรือพนักงานสาวของบริษัทเดินรถที่เคาท์เตอร์บอกกับฉัน  

“โห ทำไมแพงจัง” ฉันหลุดปากออกไป

ฉับพลันนางสะบัดหน้าสวย ๆ ที่ฉาบเครื่องสำอางไว้สักสองเซนติเมตรไปทางอื่น และไม่อยากหันมาเจรจากับฉันอีกต่อไป

 ฉันเดินไปบู้ธถัดไปและถูกเชิ่ดใส่ในทำนองเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ฉันหุบปากสนิทไม่หลุดคำว่า “แพง” ออกไปอีก นอกจากพยายามขอต่อราคาลงสักนิดอย่างสุภาพ แต่พนักงานสาวสวยคงรำคาญวัฒนธรรมต่อราคาแบบสินค้าแบกะดิน ทั้ง ๆ ที่แท็กซี่ของเธอมันระดับมาตรฐานสากลที่มนุษย์มนาเขาคงไม่ต่อราคากัน   

ฉันเดินออกมานอกอาคารเจอสาวสวยอีกรายเดินเรียกหาลูกค้า ฉันเข้าไปถามราคาเหมือนเดิม ราคาก็แบบเดิม และถูกเชิ่ดใส่เหมือนเดิม  ราคาและกิริยาของนางทั้งสามช่างเป็นมาตรฐานเดียวกันเสียจริง

คราวนี้ฉันโมโหจึงเชิ่ดใส่บ้าง  คิดในใจ “แพงแบบนี้กูไม่ไปของมึงหรอก ตังค์อ่ะมี แต่กูไม่จ่ายราคานั้นเด็ดขาด”  

ในเที่ยวมา ฉันโทรเรียกแท็กซี่ไปรับจากจุดเดียวกันนี้เพื่อมาส่งสนามบิน ในราคาที่ไม่ได้ต่อรองคือ 300 บาท ซึ่งนับว่าแพงมากแล้วสำหรับระยะทางเพียงยี่สิบกว่ากิโลเมตร ในเที่ยวกลับจึงไม่มีเหตุผลอันใดที่ฉันจะต้องจ่ายเพิ่มอีก 60 บาทในระยะทางเดียวกัน

ความจริงคนที่เดินทางผ่านสนามบินคงมีฐานะดีพอควร ไม่ยากที่จะมีผู้มารับ-ส่งด้วยรถส่วนตัว  แต่หากไม่มีรถส่วนตัวจริง ๆ  พวกเขาก็คงไม่รู้สึกว่าเหลือบ่ากว่าแรงที่จะจ่ายตามราคาที่ถูกเรียก และคงมีไม่กี่คนที่จะคิดไปต่อรองให้เสียศักดิ์ศรีและเสียความดูดีและดูรวยของพวกเขาและเธอ   

ส่วนผู้ที่เดินทางด้วยรถทัวร์ซึ่งมีฐานะหลากหลายกว่า ก็อาจมีหลายวิธีเดินทางไปสถานีขนส่งอาเขต  หากเรียกรถแดงและถูกโก่งราคามหาโหดก็คงจะต่อรองกันไปตามเกรดสินค้าที่เขามีไว้ต่อราคา

ไอ้ฉันมันผิดเองที่สะเหร่อข้ามคลาส ไปต่อราคาสินค้าเกรดไฮโซ คงถูกแล้วชอบแล้วที่จะโดนพนักงานสะบัดบ๊อบใส่

ศักดิ์ศรี คืออำนาจในการเลือก และความสามารถในการชูคอ

ขณะนั้นฉันภูมิใจตนเองเหลือเกินที่ปฏิเสธสิ่งที่เชื่อว่ามันไม่สมเหตุสมผล ทั้ง ๆ ที่ฉันก็ไม่ได้คิดหรอกว่าไอ้สิ่งที่กำลังทำอยู่นั่นมันก็ดูช่างไร้เหตุผลด้วยเหมือนกัน ส่วนต่างเพียง 60 บาท ทำให้ฉันต้องตุปัดตุเป๋มานั่งตั้งหลักอยู่ที่หน้าอาคารสนามบิน ท่ามกลางไอแดดปลายเดือนเมษายนอันร้อนระอุ อวัยวะภายในจะกลายเป็น ตับอบ ไตอบ ไส้อบ ม้ามอบ ได้ในเวลาไม่ช้า ครั้นแบกเป้เจ็ดกิโลกว่าผ่านเครื่องตรวจเอ็กซเรย์เข้าไปนั่งตากแอร์ในตัวอาคารอีกก็ขี้เกียจ   

นั่งร้อนไปอีกพักใหญ่ จนผู้โดยสารที่ลงเครื่องในช่วงเวลาเดียวกันกลับไปจนหมด คนขับแท็กซี่ในเครื่องแบบสีฟ้าเดินผ่านไปผ่านมาแต่ไม่มีใครมาสนใจใยดีฉัน  สารรูปของฉันมันคงดูน่าทุเรศทุรัง สะพายเป้เก่าขาด หัวฟูกระเซอะกระเซิงจนไม่น่าจะเจรจาพาทีด้วย  เห็นสีหน้าคนขับแท็กซี่เมินเฉยเช่นนั้น ฉันคิดในใจ “เฮ้ย..มีตังค์นะเว้ย ฉันมีตังค์ และนี่ก็บินกลับมาจากต่างประเทศ อย่ามามองฉันแบบนั้น”

นั่งชูคอ ทำหน้าตา “ไม่แคร์” ไปอีกพักใหญ่ ขณะในใจกำลังกังวลอย่างที่สุดว่าจะพาตัวเองออกไปจากที่ตรงนี้ได้อย่างไร

“หรือว่าจะยอมกลับไปตกลงจ่าย 360 บาท”  

“ไม่เด็ดขาด เราต้องมีศักดิ์ศรี” ใจหนึ่งคิด 

“มีศักดิ์ศรีแล้วไง มึงก็ต้องมานั่งร้อนอยู่นี่ ยอม ๆ เขาไปก็จบ” อีกใจหนึ่งด่า

ช่วงเวลานั้นนั่นเองที่ฉันเข้าใจลึกซึ้งถึงคำว่าอำนาจและศักดิ์ศรี บางทีคนเราก็ยอมทำอะไรโง่ ๆ ให้ตัวเองเดือดร้อนเพื่อนามธรรมบางอย่างเช่นคำว่า “ศักดิ์ศรี” แต่แน่ใจหรือว่าเรามี “ทางเลือก” มากพอที่จะชูคอปฏิเสธ

หรือฉันต้อง “จัดการตนเอง” ?

ฉันไพล่คิดไปถึงปัญหาประดามีในบ้านในเมือง โดยเฉพาะในเมืองเชียงใหม่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่และสำคัญของประเทศ แต่กลับมีปัญหาระบบขนส่งมวลชนที่แก้ไม่เคยได้มานานหลายสิบปี ฉันสงสัยมากกว่าคนเชียงใหม่ทนกับสภาพเช่นนี้อยู่ได้อย่างไร หรือว่าความจริงพวกเขาไม่ได้ทน เพราะไม่รู้สึกว่ากำลังทน แต่เคยชินกับมันและรับมือกับมันด้วยวิธีการของตัวเอง

สโลแกน “เชียงใหม่จัดการตนเอง” แว่วเข้ามาในหู... “แต่นาทีนี้จะจัดการตัวเองยังไงดีล่ะ” เป้ก็หนักแบกจนหลังแอ่น แดดก็ร้อนเรียกฝ้าบนใบหน้า และสังขารยังอ่อนแรงขนาดนี้ จะลุกจากหน้าอาคารเดินออกไปยังไม่มีแรง

คนเชียงใหม่เขาอยู่กันยังไงนะฉันชักสงสัย ปัญหาระบบขนส่งมวลชนที่เรื้อรัง คงทำให้คนเชียงใหม่จำนวนมาก “จัดการตนเอง” ด้วยการซื้อรถส่วนตัว ไม่ว่าเป็นมอเตอร์ไซค์ หรือรถยนต์ รวมทั้ง “รถคันแรก” ภายใต้นโยบายรัฐบาลที่ใครต่อใครพากันด่าปาวๆ

แต่หากเราต้อง “จัดการตนเอง” ด้วยการแบกรับค่าใช้จ่ายและหนี้สินส่วนตัวกันขนาดนั้น หรือต้องมานั่งคิดสร้างทางเลือกให้ตนเองในสภาวะที่ไม่มีทางให้เลือกมากพอแบบที่ฉันกำลังเผชิญอยู่นี้ เราจะมีผู้บริหารบ้านเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นไว้ทำอะไร และจะเสียภาษีรายปีและรายวันกันไปทำไม

ฉันคิดว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของฉันเลยที่จะต้องมา “จัดการตนเอง” เพื่อพาตัวเองไปยังจุดหมายให้ได้ แต่ฉันต้องการให้คนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง หรืออย่างน้อยก็หมายถึงคนที่กินเงินภาษีของฉันไปจัดหาทางเลือกให้มากพอที่ฉันจะสามารถเลือกได้อย่างเต็มใจและรู้สึกว่ามี “ศักดิ์ศรี”

มันควรเป็นทางเลือกในราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่บีบให้ผู้บริโภคจำยอมต้องเลือกเพราะไม่มีทางอื่นให้เลือก ไม่ว่าจะเรื่องการคมนาคมหรือเรื่องอื่น ๆ ก็ตาม

และอย่ามาผลักภาระให้ฉันต้องมาคิดว่าทางเลือกที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไรและจะทำอย่างไร ถ้าฉันคิดเองได้ฉันคงไปเป็นผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่ไปแล้ว  ฉันเพียงบอกได้ว่าฉันอยากจะได้อะไร ชอบอะไร และไม่ชอบอะไร

คนที่ฉันเลือกไปบริหารนั่นแหละที่ต้องมีหน้าที่ไปคิดให้ว่าจะสร้างทางเลือกที่ดีได้อย่างไรบ้าง ส่วนเวลาที่เหลือในชีวิตของฉันนั้นฉันต้องเอาไปใช้ประกอบสัมมาอาชีพทำมาหากินเลี้ยงปากท้อง

อย่าผลักภาระให้ฉันต้องคิดหาทางเลือกเพื่อจะมาจัดการตนเองในทุก ๆ เรื่องเลย

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ความในใจของหนึ่งในสองสิ่งมีชีวิตที่ถูกจำกัดให้อยู่ร่วมกับความแปลกหน้าที่เลื่อนไหลไปบนผิวทางอันไม่ราบเรียบของเมืองหลวง
"ไม่มีชื่อ"
“ทำอะไรขาย ใคร ๆ ก็หวังรวยกันทั้งนั้น แต่เกษตรยั่งยืนไม่เคยตอบคำถามชาวบ้านว่าจะรวยแน่ไหม ไม่มีใครบอกมาสักคนว่าขายข้าวอินทรีย์แล้วจะรวยเป็นล้าน ไม่มีใครบอกว่าจะพาชาวบ้านรวย”    --------------------------
"ไม่มีชื่อ"
สำหรับคนอีกจำนวนมาก ระดับการศึกษาอาจช่วยให้ชีวิตดีขึ้นก็จริง แต่ไม่มีวันที่พวกเขาจะทัดเทียมกับคนอื่น ๆ ได้เลย เพราะต้นทุนชีวิตในด้านอื่นมีไม่มากพอที่จะเป็นบุญหนุนส่งได้
"ไม่มีชื่อ"
เราอาจรู้สึกถึงเรื่องศักดิ์ศรี จากการมีหรือไม่มีอำนาจในการเลือกหรือปฏิเสธเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน 
"ไม่มีชื่อ"
 หากคุณได้รับโอกาสให้มีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ราวฟ้ากับเหว  ชีวิตใหม่ของคุณควรจะเป็นของใคร เยาวชนจากประเทศพม่าถูกเรียกร้องให้ทำเพื่อ “ชาติ” และประชาชนของกองกำลังกู้ชาติ ขณะที่พวกเขามีชีวิตของตนเอง มีครอบครัว และญาติพี่น้องที่ต้องดูแล
"ไม่มีชื่อ"
นักท่องเที่ยวหลายคนก็คงเป็นแบบฉัน ไปเที่ยวบ้านของเขา แต่กลับมองไม่เห็นคนที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งเราได้เหยียบย่างเข้าไป
"ไม่มีชื่อ"
คนไทยจำนวนมากจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงหงสาวดีที่ย้อนไปไกลกว่าสามศตวรรษตั้งแต่ช่วงเวลาที่พวกเรายังไม่เกิด และโดยที่พวกเรายังไม่เคยเดินทางมาถึง “บะโก” คนไทยจำนวนมากมีอคติกับ “คนพม่า” เพราะเจ็บจำกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ราวกับว่าคนพม่าและกรุงหงสาวดียังแช่แข็งอยู่ดังเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และทั้ง ๆ ที่พวกเขายังไม่เคยรู้จักมักจี่หรือแม้แต่พูดคุยกับ “คนพม่า” เลยสักครั้ง
"ไม่มีชื่อ"
วัยชราเป็นวัยปริศนาที่เข้าใจได้ยากไม่แพ้วัยอื่น ๆ ที่สำคัญมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จัดการได้ยาก เราจัดการคนอื่นไม่ค่อยได้ พอ ๆ กับที่เราไม่ชอบและไม่ยอมให้ใครมาจัดการตัวเรา
"ไม่มีชื่อ"
เหตุผลเหล่านั้นก็ยังไม่อันตรายเท่ากับเหตุผลที่ว่าเรา “ชินชา” เพราะตกอยู่ภายใต้สภาวะของการถูกควบคุมนานเกินไปจนกระทั่งไม่อาจรู้สึกอีกต่อไปว่าเรากำลังถูกควบคุม  ยิ่งไปกว่านั้นเรายังอาจเห็นดีเห็นงามกับการควบคุม และกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้ระบบการควบคุมแบบนั้นทำงานได้อย่างทรงพลังมากขึ้น
"ไม่มีชื่อ"
การปลูกฝังและยึดมั่นถือมั่นกับค่านิยมย้อนยุคจนเกินพอดีกลายเป็นการสร้างปัญหาครอบครัว เพิ่มช่องว่างระหว่างคนต่างวัยที่เติบโตมาต่างยุคสมัย และทำให้วัยรุ่นวัยเรียนมีปัญหาชีวิตจนเกินความจำเป็น
"ไม่มีชื่อ"
เหตุใดการทำงานพัฒนาตามแนวทางที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็น “องค์รวม” หรือมีลักษณะบูรณาการ  จึงละเว้นที่จะทำความเข้าใจความคิดและชีวิตทางการเมืองของชาวบ้านผู้เป็น “ศูนย์กลาง” ของการพัฒนา