Skip to main content

เครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษา กับการรีดผ้า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและสำคัญจนเป็นปัญหาระดับชาติได้ทีเดียวนะข้าพเจ้าว่า

ในบรรดาเหตุผลเท่ ๆ ของการไม่ควรใส่เครื่องแบบ ข้าพเจ้ามีเหตุผลจริงข้อหนึ่งที่ไม่เท่แต่อย่างใด และมันยังคงเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของข้าพเจ้าเสมอมา นั่นคือ ข้าพเจ้าไม่ชอบรีดผ้า ไม่อยากรีดผ้า และขอประท้วงการใส่เครื่องแบบเพื่อสิทธิในการไม่รีดผ้า

การรีดผ้าแลดูเป็นเรื่อง “ปกติ” ของผู้คนประเภทหนึ่งซึ่งมีอันจะกินในดินแดนอารยะ เครื่องแบบ และเสื้อผ้าอาภรณ์ต่าง ๆ จะดูเรียบร้อยเสริมสง่าราศีของผู้สวมใส่ก็ต่อเมื่อผ่านการซักรีดมาอย่างเนี๊ยบกริ๊บเสียก่อน เครื่องแบบตำรวจ ทหาร กลีบต้องโง้งเป๊ะฉันใด เครื่องแบบนักเรียนนักศึกษาก็ไม่ควรจะยับยู่ยี่เมื่อสวมใส่ฉันนั้น

แต่การรีดผ้าให้ได้กริ๊บได้ขนาดนั้น มันเกี่ยวข้องกับชนชั้นฐานะอยู่กราย ๆ 


ภาระของการมีเครื่องแบบ

ข้าพเจ้าเดาเอาว่าวัฒนธรรมความเรียบน่าจะเป็นวัฒนธรรมของคนมีอันจะกิน อย่างน้อยก็ต้องเข้าถึงไฟฟ้าและเทคโนโลยีเตารีด เมื่อคนคนจนถูกยัดเยียดให้รับวัฒนธรรมนี้ไปด้วยมันทำให้เกิดความยากลำบากอยู่ไม่น้อย

ที่บ้านเกิดของแม่ ข้าพเจ้าเกิดมาในยุคแรก ๆ ที่ไฟฟ้าเพิ่งเข้าถึงหมู่บ้าน และบ้านเราก็เป็นบ้านแรก ๆ ที่เข้าถึงทีวีขาวดำ ดังนั้น ในสมัยที่แม่ไปโรงเรียนจึงย่อมไม่มีไฟฟ้าใช้  เมื่อเข้าเรียนระดับอาชีวศึกษาในตัวเมืองแม่ต้องรีดผ้าด้วยเตารีดแบบใช้ถ่าน  การรีดผ้านับเป็นนวัตกรรมกันเลยทีเดียวสำหรับครอบครัวของแม่ซึ่งมีแม่และพี่ชายเท่านั้นที่ได้ไปโรงเรียน ส่วนพี่สาวของแม่อีกสองคนไม่จำเป็นต้องรีดเครื่องแบบที่สวมไปทำนาทำไร่

“ถ้าเลือกถ่านไม่ดี มันก็จะกระเด็นโดนเสื้อผ้าเป็นรู ต้องมาปะชุนกันอีก”  แม่เล่าเรื่องเตารีดแบบใช้ถ่านในขณะที่สอนข้าพเจ้ารีดผ้า นัยยะของแม่ก็คือมีเตารีดไฟฟ้าให้ใช้นี่ก็ดีถมเถไปแล้ว จงรีดไปอย่าได้บ่น แต่ข้าพเจ้ากลับคิดเถียงในใจว่าถ้ามันลำบากขนาดนั้นจะรีดกันทำไม

ครอบครัวของพวกเราไม่ได้มีอันจะกินจนสามารถมีพี่เลี้ยงหรือคนรับใช้มาทำงานพวกนี้ พวกเราจึงต้องรับผิดชอบตัวเองและช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ พวกเราพี่น้องซักผ้ารีดผ้าของใครของมันมาตั้งแต่ชั้น ป.3 ส่วนแม่รับหน้าที่รีดชุดทำงานของตัวเองและของพ่อ และบางครั้งข้าพเจ้าก็ถูกใช้ให้รีดเสื้อผ้าของพ่อด้วย ซึ่งมักจะขอแม่รีดเฉพาะเสื้อเพราะรู้สึกว่าการรีดกางเกงนั้นมันยากเกินไป 

ข้าพเจ้ายังคงสงสัยว่าจะรีดทำไม ในเมื่อใส่นั่งมันก็ยับอยู่ดี

การรีดผ้า กับ ฐานะ

เห็นในละครทีวีพวกนายทหารระดับสูงใส่เสื้อผ้ากลีบโง้งก็เพราะมีพลทหารมารีดให้ พวกคนรวยทั้งหลายมีคนรับใช้ทำหน้าที่ซักรีดผ้าโดยเฉพาะ ผ้าบางชนิดของคนรวยต้องส่งไปซักที่ร้าน ซึ่งค่าซักยังแพงกว่าค่าเสื้อผ้าของข้าพเจ้ารวมกันหลายชุดเสียอีก ถ้าเราไม่รวยขนาดนั้น เสื้อผ้าเราไม่ต้องซักหอมรีดเรียบขนาดนั้นก็ได้มั้ง ข้าพเจ้าเคยคิด

เพื่อความประหยัด แม่บอกให้รีดเฉพาะชุดนักเรียนเท่านั้น ส่วนชุดอยู่กับบ้าน หรือเสื้อกล้ามใส่ข้างในไม่ต้องเอามารีดให้เปลืองไฟ แต่การซักผ้า-รีดผ้าก็ยังเป็นยาขมสำหรับข้าพเจ้าอยู่ดี ทั้งเพราะพลาดโดนเตารีดนาบเข้าให้หลายต่อหลายหน และทั้งไม่ชอบเลยที่มีชุดนักเรียนเพียงแค่ 3 ชุด ทำให้ต้องรีบซักเพื่อเอามาเวียนใส่ให้ครบทั้งสัปดาห์ จะซักรีดทุกวัน ๆ ละเล็กน้อยแม่ก็บ่นว่าเปลืองผงซักฟอกและไฟฟ้า ต้องรวมไว้ให้ได้ปริมาณพอควรจึงค่อยซักรีดทีเดียว

ฤดูฝนทีไรล่ะคุณเอ้ย มันทรมานใจเสียนี่กระไร การซักผ้าด้วยมือที่บิดไม่หมาดพอ ทำให้แห้งไม่ทันเวลา บ่อยไปที่ข้าพเจ้าต้องรีดชุดนักเรียนทั้ง ๆ ที่มันยังเปียก แถมรีดถุงเท้าไปด้วยเพราะมันไม่แห้งเหมือนกัน เอาเตารีดนาบผ้าเปียก ๆ จนควันพวยพุ่ง กระนั้นแล้วมันก็ยังไม่แห้ง จำต้องใส่ไปทั้งเปียก ๆ ยัดเท้าเข้าไปแล้วก็อย่าได้ถอดออกจากรองเท้าทีเดียวเชียว เพราะมันจะส่งกลิ่นอวบอวลให้ได้อาย ความทรมานจากการซักรีดทำให้ข้าพเจ้าได้แต่นึกอิจฉาเพื่อนร่วมชั้นที่มีชุดนักเรียนใส่ครบห้าวัน หรือมีคนคอยซักรีดให้ ไม่เห็นมีใครบ่นว่าถูกเตารีดนาบ ผ้าเหม็นอับ หรือว่าถุงเท้ากลิ่นเหม็น เหมือนข้าพเจ้าเลย  

ในวัยกำลังกินกำลังนอน ร่างกายของข้าพเจ้ายืดเร็วเกินกำลังซื้อของพ่อแม่ จึงทำให้แม่ต้องคอยเลาะชายกระโปรงลงให้มันยาวพ้นเข่า แต่สีของผ้าด้านในที่เข้มกว่าเมื่อเลื่อนออกมาอยู่ด้านนอกที่โดนแดดเลียซีดแล้วซีดอีกมันย่อมทำให้ชายกระโปรงดูประหลาด แม่ไม่เคยรู้หรอกว่าข้าพเจ้าเกลียดการใส่กระโปรงสองสีนั่นขนาดไหน ในขณะที่เพื่อนร่วมชั้นมีกระโปรงตัวใหม่ใส่ทุกปีการศึกษา


อิสระจากการรีด  

พอถึงมัธยม ความขี้เกียจก็พอกพูนขึ้นเหมือนเงาตามตัว ข้าพเจ้ายังคงมีชุดนักเรียนสามชุดเท่าเดิม แต่ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องซักรีดระหว่างสัปดาห์อีกต่อไป เมื่อกลับจากโรงเรียนปุ๊บข้าพเจ้ารีบถอดกระโปรงออกปั๊บ สะบัด ๆ แล้วแขวนไว้ไม่ให้ใครรู้ วันรุ่งขึ้นใส่ไปใหม่  ส่วนท่อนบนนั้นเปลี่ยนวิธีไปตามฤดูกาล กล่าวคือ ในฤดูที่อากาศร้อนข้าพเจ้าจะอดทนซักรีดไปตามเดิม แต่พอถึงฤดูหนาวเมื่อไหร่ นั่นแหละช่วงเวลาอันโปรดปราน เพราะข้าพเจ้าจะรีดเฉพาะปกเสื้อนักเรียนส่วนที่เหลือจะสวมเสื้อกันหนาวทับเอาไว้ หรือหนักกว่านั้นคือขี้เกียจซักเสื้อก็จะไม่ใส่เสื้อนักเรียนข้างในเลย ในระหว่างวันไม่ว่าจะร้อนแค่ไหน ใครต่อใครก็จะไม่เห็นข้าพเจ้าถอดเสื้อกันหนาวออกเด็ดขาด

การเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เป็นสวรรค์ของคนประหยัดแรงงานอย่างข้าพเจ้าโดยแท้ สมัยนั้นมหาวิทยาลัยที่ข้าพเจ้าเข้าเรียนไม่เคร่งครัดเรื่องการสวมเครื่องแบบ ชุดนักศึกษาของข้าพเจ้าจึงมักเป็นชุดเดียวกับที่ใส่เข้านอนเมื่อคืนวาน กางเกงยีนส์ขาด ๆ ที่จิ๊กมาจากพี่ชายสามารถใส่ซ้ำอยู่หลายวันโดยไม่มีใครจับสังเกต หลายคนคิดว่ากางเกงขาดปะเพราะทำเท่ ความจริงคือมันขาดเพราะมันขาดนั่นแหละ ไม่ได้ตั้งใจทำ ส่วนเสื้อก็เป็นเสื้อเชิ้ตหรือเสื้อยืดที่จิ๊กมาจากพี่ชายบ้างยืมเพื่อนบ้างใส่วน ๆ กันไปสองสามตัวให้มันดู “ธรรมดา” จนไม่มีใครสนใจว่ามันจะเก่าหรือใหม่ สวยหรือไม่สวย 

ข้าพเจ้ากลายเป็นสิ่งประหลาดในคณะวิชาที่เต็มไปด้วยลูกผู้มีอันจะกินซึ่งนิยมใส่เครื่องแบบเรียบกริ๊บมาเข้าเรียน เพื่อให้ “ดูดี” มีสง่าราศี สมกับการเตรียมเป็นนักธุรกิจในอนาคต ข้าพเจ้ามักหลีกลี้หนีหน้าไปจากแวดวงชาวคณะไม่ใช่เพราะเรื่องเครื่องแต่งกาย แต่เป็นเพราะเพื่อนร่วมคณะนิยมจัดกิจกรรมประเภทราตรีสโมสร บังคับให้รุ่นน้องไปขายบัตร หรือไม่ก็จ่ายตังค์นั่นนี่ตลอดปี ค่าบัตรหนึ่งกิจกรรมบางทีแพงกว่าเงินที่แม่ให้ข้าพเจ้าไว้กินข้าวตลอดทั้งเดือนเสียอีก  

อย่างไรก็เถอะ สิ่งประหลาดอย่างข้าพเจ้ามันดู “ธรรมดา” เกินกว่าใครจะสนใจ ดังนั้น จะเข้าเรียนท่าไหน ชุดอะไร จะทำอะไรร่วมกับใครหรือเปล่าก็ไม่มีใครมาให้ความสำคัญ สภาวะดังกล่าวทำให้ข้าพเจ้าอยู่รอดในสังคมที่แตกต่างหลากหลายมาได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร ทั้งยังได้หันเหไปคบหากับบุคคลผู้มีลักษณะประหลาดคล้าย ๆ กันจากคณะอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่ดาดดื่นในมหาวิทยาลัย

นับเป็น โชคดีมากที่ตอนนั้นพวกเราสามารถเรียนและทำกิจกรรมในแบบที่เราชอบได้อย่างสบาย ๆ โดยไม่มีใครมาชี้หน้าด่าว่าถ้าไม่สวมเครื่องแบบนักศึกษาก็ให้ลาออกไปเสีย

พวกเราเรียนจบเป็นบัณฑิตได้อย่างภาคภูมิตามฐานานุรูปอันเหมาะสมของตนเอง ทุกวันนี้เราต่างมีการมีงานดี ๆ ทำ อยู่ในหน่วยงานทั้งที่สวมและไม่สวมเครื่องแบบ โดยไม่พบว่าการไม่สวมชุดนักศึกษาของพวกเราในครั้งอดีตได้ส่งผลให้พวกเราเติบโตมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นในสังคม 

สำหรับข้าพเจ้าเองยังคงเส้นคงวากับเสรีภาพที่จะไม่รีดผ้า ดังนั้น อย่าได้แปลกใจหากใครจะพบว่าชุดทำงานของข้าพเจ้าส่วนใหญ่เป็นเสื้อยืดกางเกงยีนส์ ซึ่งมันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานของข้าพเจ้าแต่อย่างใด


เครื่องแบบ-ลดหรือแค่กลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำ ?

เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทุกวันนี้ชุดนักเรียน-นักศึกษากลายมาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับใครหลายคน และอาจสำคัญมากกว่าการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนเสียอีก

มีคนบอกว่าการใส่เครื่องแบบจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของนักเรียนในสถาบันการศึกษา ข้าพเจ้ากลับคิดตรงกันข้ามเพราะเชื่อว่าน่าจะมีนักเรียนอีกจำนวนมากที่รู้สึกด้อยเพราะสวมกระโปรงนักเรียนสีซีด เสื้อสีหม่น รองเท้าเปื่อยยุ่ย หรือแม้กระทั่งไม่มีเครื่องแบบใส่เหมือนใครเขา การสวมเครื่องแบบของหลายสถาบันการศึกษาบางทีก็ไม่ได้ทำให้นักเรียนนักศึกษารู้สึกภาคภูมิใจดอกนะ เพราะมีการเปรียบเทียบกันอยู่ตลอดว่าเวลาว่าในประเทศนี้มีสถาบันการศึกษาอันยอดเยี่ยมสูงส่งอยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น  ขณะที่การสวมเครื่องแบบของสถาบันที่ได้ชื่อว่ายอดเยี่ยมจึงเท่ากับเป็นการตอกย้ำความรู้สึกเหนือกว่าผู้อื่นโดยอาศัยชื่อของสถาบันได้เหมือนกัน 

การบังคับสวมเครื่องแบบ (ไม่ว่าเครื่องแบบใด ๆ) ได้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่อง “ปกติ” และ “จำเป็น” เสียจนทำให้คนที่ไม่มีหรือไม่อยากสวมเครื่องแบบกลายเป็นสิ่ง “ไม่ปกติ” ของสังคมไปได้

เด็ก ๆ ตามชนบทใส่เกิบแตะบ้าง ไม่ใส่เกิบบ้าง ใส่กางเกงตูดขาด เสื้อสีกระดำกระด่างแต่ไหนแต่ไร ไม่เคยเป็นปัญหาในการดำเนินชีวิต จนกระทั่งถึงวันที่พวกเขาต้องเข้าโรงเรียน จึงทำให้พ่อแม่เริ่มกลายมามีปัญหาว่าจะหาเงินซื้อชุดนักเรียนจากไหนดี และกลายเป็นปัญหาของรัฐบาลที่จะต้องมีนโยบายในเรื่องนี้ตามมา

นักเรียนในชนบทห่างไกลจำนวนมากยังต้องใส่เสื้อนักเรียนที่รับบริจาคมาซึ่งมีชื่อของเจ้าของเดิมปักอยู่บนเสื้อ หรือมีรูที่เลาะชื่อของคนอื่นออกไป หรือมีรอยปักโย้เย้ด้วยฝีมือสมัครเล่นของแม่ให้ได้อายเพื่อน ๆ กันไปนักต่อนัก

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายให้ชุดนักเรียนฟรี พร้อมหนังสือ และอุปกรณ์การศึกษาในระดับการศึกษาภาคบังคับ แต่ก็ให้ฟรีแค่ปีละหนึ่งชุด ไม่รวมรองเท้าและถุงเท้า และสำหรับบางโรงเรียนทางโรงเรียนก็ยังคงเก็บเพิ่มค่าชุดพละ ชุดลูกเสือ-เนตรนารี บังคับใช้สมุดที่มีตราโรงเรียน กระดาษเอสี่ที่ปั๊มชื่อครู ฯลฯ  ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นมาสักเท่าไหร่

ข้าพเจ้าว่ามีอีกหลายอย่างที่รัฐบาลและครูควรคิดควรทำเพื่อปรับปรุงเรื่องการศึกษามากกว่าการมานั่งคิดกันเรื่องชุดนักเรียน ตรวจเล็บ วัดความยาวของเส้นผม ฯลฯ

ถ้าเรายอมรับความแตกต่างหลากหลายให้ดำรงอยู่อย่างเป็น “ปกติ” มากกว่าพยายามบังคับควบคุมเพื่อสร้างความเหมือนซึ่งแท้ที่จริงมันไม่ใช่เรื่อง “ปกติ” ของสังคม หากเรายอมรับให้นักเรียนนักศึกษาเลือกใส่ชุดตามที่ตนมีอยู่ ตามที่ตนเองอยากใส่ มันอาจจะทำให้นักเรียนนักศึกษายากจนรู้สึกมีตัวตนและมีศักดิ์ศรีมากเสียกว่าการถูกบังคับให้ต้องไปขวนขวายหาเครื่องแบบมาสวม ซึ่งสวมอย่างไรมันก็ไม่ช่วยให้พวกเขาเท่าเทียมกับคนที่รวยกว่าอยู่ดี 

สำหรับข้าพเจ้าการบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การ กลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมา

ใช้เวลาไปหาทางแก้ไขความเหลื่อมล้ำด้วยวิธีอื่นที่ได้ผลจริงดีกว่านะ ข้าพเจ้าว่า

 

 

 

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม   
"ไม่มีชื่อ"
"ไม่มีชื่อ"
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมันซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
"ไม่มีชื่อ"
นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ
"ไม่มีชื่อ"
ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง 
"ไม่มีชื่อ"
 
"ไม่มีชื่อ"
 ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 
"ไม่มีชื่อ"
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
"ไม่มีชื่อ"
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง     
"ไม่มีชื่อ"
เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม”
"ไม่มีชื่อ"
การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า